หนึ่งในโรคทางสายตายอดฮิตที่มักพบในผู้สูงวัย คงหนีไม่พ้นโรคต้อกระจกที่เกิดจากความผิดปกติของดวงตา จนทำให้ประสาทสัมผัสทางตาเสื่อมสภาพลงหรืออาจถึงขั้นร้ายแรงที่สุดก็คือ สูญเสียการมองเห็นไปเลย บทความนี้จะพามาทำความรู้จักกับโรคนี้ว่า ต้อกระจกคืออะไร เกิดจากอะไร การสังเกตอาการต้อกระจกระยะเริ่มแรก และวิธีการรักษาต้อกระจกทำได้อย่างไรบ้าง
ต้อกระจก (Cataract) คืออะไร?
โรคต้อกระจกคือ ภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตา มีลักษณะขุ่นในดวงตาขึ้น ทำให้เกิดอาการตาพร่ามัว มองเห็นไม่ชัดเจน พบได้บ่อยในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งปกติแล้วนั้นเลนส์ตาจะมีลักษณะใส มีหน้าที่รวมแสงให้ตกลงบนจอประสาทตาพอดี ทำให้สามารถมองเห็นภาพที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน เมื่อเกิดภาวะต้อกระจก จะทำให้จอประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่ หรือแสงไม่สามารถเข้าไปตกกระทบในตาได้เหมือนปกติ จึงเกิดการมองเห็นที่ผิดแปลกไปจากเดิม ยิ่งเลนส์ตาขุ่นมากขึ้น ก็จะทำให้ประสาทสัมผัสทางด้านการมองเห็นลดน้อยลงตามไปด้วย
สาเหตุของโรคต้อกระจกคืออะไร?
สาเหตุของการเกิดโรคต้อกระจกนั้น เกิดจากความผิดปกติหรือการเสื่อมของโปรตีนที่อยู่ภายในดวงตาของเรา จนทำให้แสดงอาการเลนส์นัยน์ตาขุ่นและแข็งขึ้น ส่วนใหญ่มักจะพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากการใช้งานหนักมาโดยตลอดชีวิต หรือเรียกได้ว่าเสื่อมตามช่วงวัยเมื่อมีอายุที่มากขึ้น แต่ใช่ว่าคนอายุน้อยจะไม่เกิดอาการต้อกระจกเลย การเกิดความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์มารดา ทำให้ลูกเกิดมามีภาวะต้อกระจก หรือการเกิดอุบัติเหตุทางดวงตาก็สามารถทำให้ต้อกระจกตาเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจจะพบเคสนั้นๆ ได้น้อยกว่าในผู้สูงวัย
สาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิดภาวะต้อกระจกตา
-
การประสบอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง
-
เคยผ่าตัดจอประสาทดวงตา ทำให้ดวงตาอ่อนแอง่ายขึ้น
-
การมีโรคประจำตัวที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะต้อกระจกตาขึ้นได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เป็นต้น
-
มีโรคทางดวงตาอื่นๆ เช่น ม่านตาอักเสบ ติดเชื้อ สายตาสั้นมากๆ หรือเคยผ่าตัดดวงตามาก่อน
-
การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์สะสมเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดอาการตาเป็นต้อกระจกได้
-
กรรมพันธุ์หรือความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อภายในครรภ์มารดา
-
การได้รับรังสีเข้าร่างกายบ่อยๆ เป็นเวลานานจนเกิดการสะสมภายในร่างกาย
อาการของโรคต้อกระจก
อาการของโรคต้อกระจกอาการเริ่มต้น มีดังนี้
-
ตาเริ่มพร่ามัว มองได้ไม่ชัดเจน หรือมองเห็นเหมือนมีหมอกควันมาบดบังไว้ ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ
-
ภาพที่มองเห็นมีความชัดเจนลดลง หรือเกิดภาพซ้อนขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวไม่เท่ากัน ทำให้การหักเหของแสงไปที่จอประสาทตานั้นเกิดความผิดพลาด จะมองเห็นได้ไม่ชัดเท่าแต่ก่อน
-
ตายตาสั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือค่าสายตาเปลี่ยนแปลงบ่อย การมองเห็นระยะใกล้นั้นดีกว่า
-
การมองตอนกลางคืนแย่ลง หรือมองเห็นแสงไฟกระจายไปหมด
-
มองเห็นสีต่างๆ เพี้ยนไปจากเดิม หรือภาพที่เห็นจางลงได้
-
ต้องการแสงสว่างเพื่อใช้ในการมองเห็นมากขึ้นหรือการทำกิจกรรมต่างๆ
-
สายตาไวต่อแสง สู้แสงสว่างไม่ค่อยได้
-
ในกรณีที่ต้อกระจกสุกนั้น ลักษณะจะเห็นเป็นสีขาวแทนที่จากสีดำตรงรูม่านตา ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ขึ้นได้ เช่น โรคต้อหิน ภาวะการอักเสบในดวงตา ซึ่งอาจจะทำให้ปวดตาได้ ตาแดง หรือร้ายแรงที่สุดคือ การสูญเสียการมองเห็นไปเลย
การวินิจฉัยอาการของโรคต้อกระจก
การวินิจฉัยอาการของโรคต้อกระจกควรได้รับการตรวจสอบกับแพทย์จักษุโดยเฉพาะ มีขั้นตอน ดังนี้
-
ตรวจระดับการมองเห็น (visual acuity) เบื้องต้น
-
ตรวจด้วยโดยใช้เครื่องมือ slit lamp ซึ่งจะตรวจดูกระจกตาก่อน เพื่อประเมินอาการเบื้องต้น หลังจากนั้นจะตรววจหามุมดวงตา หากมุมตามีขนาดแคบ จะต้องทำการยิงเซอร์เพื่อขยายรูม่านตาก่อน สุดท้ายคือการตรวจลักษณะขนาดม่านตา
-
ตรวจต้อกระจกอย่างละเอียด โดยการขยายม่านตา จะทำการหยดยาหยอดตาที่มีประสิทธิในการขยายรูม่านตา ซึ่งจะทำให้คนไข้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น แต่ตัวยาจะสามารถออกฤทธิ์ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นภาพก็จะกลับมามัวเหมือนเดิม
*ข้อควรระวังในการใช้ยาหยอดตา ในคนไข้ที่มีมุมตาแคบอาจส่งผลให้เกิดภาวะต้อหินเฉียบพลัน เสี่ยงต่อตาบอดได้ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการรักษาอยู่เสมอ
-
การตรวจขั้วประสาทตา จอประสาทและจุดรับภาพของม่านตา ต้อกระจกไม่ใช้สาเหตุเดียวที่ทำให้ประสาทการมองเห็นของเราลดลง จึงต้องมีการตรวจขั้วประสาทตา จอประสาทและจุดรับภาพชัดร่วมด้วย หากมีอาการปกติจะได้รักษาควบคู่กันได้เลย
วิธีรักษาโรคต้อกระจก
วิธีรักษาต้อกระจกในช่วงระยะแรกเริ่มของการเกิดภาวะต้อกระจกนั้น จะเป็นการสวมใส่แว่นตาที่แก้ไขปัญหาสายตาสั้น ที่สามารถทำให้คนไข้มองเห็นได้อย่างชัดเจน ในตอนนี้จะยังไม่มีการให้ยาหยอดตาต้อกระจกหรือการจ่ายยารักษาต้อกระจกเพื่อรับประทาน หากคนไข้มีอาการแย่ลงหรือเป็นหนักขึ้น ถึงขั้นเริ่มมองเห็นไม่เห็น วิธีแก้ไขคือการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งการผ่าตัดเพื่อรักษาต้อกระจกทำได้ 2 วิธีคือ
-
การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ (Phacoemulsification with Intraocular Lens)
ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากใช้เวลาไม่นานประมาณ 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง ไม่ต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลให้เสียเวลา โดยแพทย์จะเริ่มหยอดยาชาเฉพาะหรือฉีดยาเฉพาะที่ทำให้เกิดอาการชา เพื่อบล็อคการเคลื่อนไหวของดวงตา จากนั้นแพทย์จะเปิดช่องกระจกตาประมาณ 2.4 - 3 มม. แล้วสอดเครื่องมือสลายต้อกระจกเข้าไป พร้อมใช้พลังงานความถี่สูงระดับอัลตราซาวนด์เข้าสลายต้อกระจกออกจนหมด จากนั้นใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนที่ โดยเลนส์ที่ใช้จะขึ้นอยู่กับ ลักษณะดวงตา ความต้องการและค่าสายตาของคนไข้ เช่น เลนส์ชัดระยะเดียวหรือหลายระยะ แผลที่ได้จากการทำวิธีนี้จะมีขนาดเล็กมาก เนื่องจากไม่ต้องเย็บแผล หลังทำคนไข้จึงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เลย แต่ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าตาเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ และทานยาหรือหยอดยาตาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
-
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction with Intraocular Lens)
เป็นวิธีการรักษาต้อกระจกที่ไม่ได้รับความนิยมในสมัยปัจจุบันแล้ว เนื่องจากเป็นวิธีการที่เหมาะกับต้อกระจกสุกที่แข็งมากๆ จนไม่สามารถใช้วิธีการสลายด้วยเครื่องสลายต้อคลื่นอัลตราซาวนด์ได้ โดยแพทย์จะเริ่มเปิดแผลระหว่างกระจกตาดำและผนังตาขาวด้านบนของลูกตา มีความยาวประมาณ 10 มม. จากนั้นนำตัวเลนส์แก้วตาที่เป็นต้อกระจกออก แล้วจึงใส่เลนส์ตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่ ซึ่งจะใช้เลนส์แบบชัดระยะเดียว เนื่องจากมีระยะการมองเห็นไกล สามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต และเริ่มเย็บปิดแผลให้สนิทเป็นอันเสร็จเรียบร้อย
วิธีปฏิบัติตัวหากเป็นโรคต้อกระจก เพื่อไม่ให้อาการแย่ลง
วิธีการดูแลตัวเองหากมีภาวะเป็นต้อกระจก สามารถทำตามได้ ดังนี้
-
การเปลี่ยนแว่นสายตาให้เหมาะสมกับค่าสายตาจริงของตัวเอง สามารถช่วยให้การมองเห็นดีขึ้นได้ และช่วยไม่ให้อาการต้อกระจกเป็นหนักกว่าเดิมอีกด้วย
-
พยายามอย่าขยี้ตา เพราะจะทำให้ตาระคายเคือง อักเสบ พร่ามัว หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้
-
พยายามสวมแว่นตากันแดดเมื่ออยู่ข้างนอก เพื่อป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต
-
พักสายตาเป็นระยะๆ หากจำเป็นต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน
-
พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
-
หลีกเลี่ยงการใช้ยาจำพวกกลุ่มสเตียรอยด์
ในกรณีที่ทำการผ่าตัดรักษาต้อกระจกมานั้น ควรปฎิบัติตัวตามข้อแนะนำต่อไปนี้
-
หลังจากการผ่าตัดควรนอนพัก ไม่ควรใช้สายตาทันทีหลังการรักษาต้อกระจก
-
หลีกเลี่ยงการใช้สายตาทำงานหนัก และกิจกรรมที่ส่งผลให้ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน เช่น การออกกำลังกาย การยกของ การไอหรือจามแรงๆ เป็นต้น
-
หลังการผ่าตัดต้อกระจก ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและทานยาอย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาด
-
หลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาสัมผัสกับการน้ำโดยตรง อาจจะใช้เป็นผ้าสะอาดชุบน้ำแล้วบิดให้แห้ง เช็ดหน้าหรือรอบดวงตาแทน
-
หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือขยี้ตาตรงๆ
-
สวมแว่นตาทุกครั้งที่ออกไปข้างนอก
-
ไปพบแพทย์ตามที่นัดไว้ทุกครั้ง เพื่อติดตามอาการจนกว่าแผลจะหายสนิท
คำถามที่พบบ่อย
ตอบคำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับโรคต้อกระจก
ต้อกระจกทำให้ตาบอดได้ไหม?
ต้อกระจกเกิดจากภาวะเลนส์แก้วตามีความขุ่นมัวเมื่อมีอายุมากขึ้น ในคนไข้บางรายที่มีอาการหนักหรือมีโรคแทรกซ้อน จนเกิดการอักเสบและติดเชื้อ อาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น (ตาบอดสนิท) ได้เลย โดยอาการจะเป็นไปอย่างช้าๆ อาจจะเป็นทั้งสองข้างพร้อมกันหรือเป็นข้างเดียวก็ได้เช่นกัน
ควรผ่าตัดต้อกระจกเมื่อไหร่?
การผ่าตัดต้อกระจกควรทำเมื่อโรคนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา หรือสามารถรักษาต้อกระจกได้เลยก่อนมีภาวะอื่นๆ แทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน หรือเกิดอาการต้อสุกเกินไป
สรุปเรื่องต้อกระจก
หลายคนคงจะทราบอยู่แล้วว่าภาวะต้อกระจกส่วนใหญ่นั้นเกิดกับคนที่มีอายุมากขึ้น หากคุณไม่อยากเป็นโรคต้อกระจกในอนาคต แนะนำให้ตรวจเช็คสุขภาพดวงตาอย่างสม่ำเสมอในทุกปี เพราะดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมากๆ ในการรับประสาทสัมผัสด้านการมองเห็น ถึงแม้ว่าโรคต้อกระจกจะสามารถป้องกันและมีวิธีการรักษาให้หายขาดได้ โดยมีวิธีการรักษาต้อกระจก 2 วิธี คือ การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์ กับการผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง ซึ่งมีความแตกต่างกันบ้าง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ แต่ราคาผ่าต้อกระจกนั้นก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นกัน ดังนั้นควรรักษาดวงตาทั้งสองข้างเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นจะดีกว่า