happy memories
Group Blog
 
<<
กันยายน 2557
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
30 กันยายน 2557
 
All Blogs
 
หลังคาใบตอง


68-หลังคาใบตอง

ชื่อภาพ : ตูบใบตองตึง
สถานที่ : กระต๊อบริมทุ่งนา แม่แจ่ม
เทคนิค : สีน้ำบนกระดาษ
ขนาด : ๒๘ x ๓๘ เซนติเมตร




หลังคาใบตอง


อยู่ตูบฟาก-ฝาไม้ไผ่มุงหลังคาใบตอง
กั้นห้องนอนหนึ่งห้อง มีชานกว้างไว้ชมดาว
ลองนึกภาพสิที่รัก นอนหนุนตักถอนสะอื้น คืนหนาว-หนาว
ยิ่งยามเพ็ญพระจันทร์ทอสีทองส่องสกาว
อาบท้องทุ่งนวลขาวดั่งแก้มเรื่อแม่เนื้อทอง



ขึ้นต้นก็ฟรุ้งฟริ้งเชย-เชย ชวนคุณเพ้อ (เล่น-เล่น) ว่าที่จริงกระต่ายน้อยก็ละเมอหมายจันทร์อันสูงสุดสอย


รู้แก่ใจว่าคุณไม่มีวันหรอกที่จะผละจากห้องหับปรับอากาศ ทิ้งชีวิตสำเร็จรูปแบบชาวกรุงเทพฯ (ศรีวิไล) มาอยู่ในกระท่อมวินเทจ ตูบน้อยทรงหมาแหงน ที่เหลืออยู่แต่ภาพอดีตบนบัตรอวยพรปีใหม่ สมัยพ.ศ. ๒๕oo หรอก


ผมเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก ที่คนเราจะอพยพโยกย้ายไปจากถิ่นกำเนิด จากสภาพแวดล้อมที่คุ้นชิน ไม้ชายทะเลไม่งามเมื่อนำมาปลูกในหุบเขา ไม้บนยอดเขาหน้าผาสูง ก็ยากที่จะเติบโตแข็งแรงเมื่อโยกย้ายไปปลูกที่ราบลุ่ม (ปรงสี่ต้นที่ผมเพาะเลี้ยงตายเกลี้ยง ทั้งที่ฟูมฟักอย่างดี)


แต่ผมก็ยังไม่สิ้นหวัง (ตราบที่ยังมีแรงเกลี้ยกล่อมคุณ)


กระท่อมชาวนาที่คุณเห็นในภาพเขียนนี้ เขาเรียกว่าตูบ หลังคาตูบมุงด้วยใบตองตึง แล้วใช้ลำไม้ไผ่ผ่าครึ่งทับ กันลมเปิงปลิว-คุณสังเกต ชาวบ้านจะลากชายคาเตี้ยเรี่ยดินเลย ยิ่งตูบ (กระต๊อบ) ของชาวเขา จะรวมห้องครัวห้องนอน (ยกเว้นห้องน้ำ) ไว้ใต้ชายคาที่จะลากลงมาปิดติดพื้นแบบไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวันเลย (บ้านถึงต้องมีชาน มีลานไว้ให้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง)


แต่บ้านชาวเขานิยมมุงด้วยใบคา ใบก้อ ใบไผ่ ซึ่งมีมากในป่าดิบที่แวดล้อม


พูดแล้วก็นึกถึงบ้านชาวอีก้อ และชาวม้งที่ผมคุ้นเคย ส่วนมากใช้ 'ใบก้อ' เป็นหลังคา ใบก้อนี้คือปาล์มชนิดหนึ่ง ให้คุณนึกถึงใบลานหรือใบตาล รูปร่างใกล้เคียงประมาณนั้นแหละ อายุการใช้งานก็ยืนยาวกว่าใบตองตึง


ใบตองตึงมีอายุการใช้งานแค่ปีสองปี ถ้ามุงถี่แน่นก็จะยืดอายุไปได้สาม-สี่ปี ถึงจะเปลี่ยนมุงใหม่ ใบตองตึงเป็นชื่อรวม นอกเหนือจาก 'ใบตึง' แล้ว ใบไม้ที่นำมาไพมุงหลังคา หรือล้อมทำฝาบ้าน (เขาเรียก "ถึม") ก็ยังมีใบไม้เหียง ใบไม้สัก เขาเลือกเอาแต่ไม้ที่มีใบใหญ่หนา เป็นไม้ในป่าแพะ (ป่าละเมาะ) ซึ่งจะเป็นป่าโปร่งกั้นป่าดิบดงดำอีกชั้นหนึ่ง


ใบเหียง ใบตึงที่ว่า น่าจะคือใบของต้น 'พลวง' ของคนภาคกลางนะ (คล้ายใบซาดของคนอีสาน) ใบตองตึงสด ๆ ก็นิยมนำมาใช้ห่อข้าวนึ่งร้อน ๆ ห่อหมู ปลา เป็นกรวย และกล่อง ถาด (ควัก) ใส่เห็ด ผลหมากรากไม้วางขาย เรียกว่าใบตองตึงก็คือพลาสติกของคนโบราณ ข้าวห่อใบตองตึงมีกลิ่นหอมเฉพาะ สู้กับหอมใบตองกล้วยได้...


คำพูดขึ้นต้นนิทานที่ว่า "สมัยก่อนคนเรายังโง่อยู่..." นั้น น่าจะเปลี่ยนใหม่นะ ต้องว่า "สมัยก่อน คนเราฉลาดปราดเปรื่องยิ่งนัก"


เขาไม่รู้จักหรอกคำว่า 'อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม' มลภาวะ 'ลดโลกร้อน' 'รีไซเคิล' 'ภาวะเรือนกระจก-ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ...' อะไร ๆ ที่ฟังไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้


ยิ่งถ้าเกิดมีใครมาโพนทะนาเชิญชวนชาวประชาให้ไปปลูกป่า (บนหน้ากระดาษและในจอโทรทัศน์) แล้ว เขาคงหัวร่องอหาย และว่า "โอ คุณเจ้าขา ป่านี่ปลูกกันได้ด้วยหรือ (ปลูกสวนครัว สวนหน้าบ้านให้แจ่มก่อนเหอะ) เพราะป่ามันปลูกตัวมันเองทดแทนหมุนเวียนเป็นวงวัฏอยู่แล้ว ขอให้รู้จักป่าให้จริงเถอะ รู้จำแนกแยกแยะ รู้ใช้สอยทำประโยชน์


คนกับป่าพึ่งพาอาศัยอยู่กินกันมานานแล้ว และคงจะอยู่กันต่อไปอีกนานเท่านาน ถ้าคุณทั้งหลายไม่รักษ์โลกกันแค่น้ำลายฟูมปาก แต่ในชีวิตจริงยังซื้ออาหารที่ใช้กล่องโฟมบรรจุ ยังใช้แก้วกระดาษ พลาสติก ยังใช้ตะเกียบ ช้อน อะไรต่อมิอะไรที่ใช้ครั้งเดียว-ทิ้งไปกองเป็นภูเขาขยะ ลดจำนวนต้นไม้ในป่า เพิ่มภาระใหญ่บนไหล่ชาวโลกด้วยกัน


แยกขยะเถิด ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ช่วยกันท่านเจ้าขา ทุกบ้านทุกช่องต้องแยกขยะ แยกขยะ แยกขยะ


เรื่องและภาพ โดย พิบูลศักดิ์ ละครพล
จากคอลัมน์ "ผ่านตามาตรึงใจ" นสพ.กรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์ ๒๘ ก.ย. ๒๕๕๗
เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจวันอาทิตย์









คุณพิบูลศักดิ์ลงภาพสีน้ำงาม ๆ และถ้อยคำเพราะ ๆ ใน เฟซบุค
เห็นแล้วชอบมาก ๆ ขออนุญาตเอามารวมกับบล็อกนี้ด้วยกันค่ะ










"สวัสดี ความเดียวดาย เพื่อนเก่า"

หมอกบาง-เบาลอยเรี่ยตามลาดเชิงเขา
ฤดูหนาวผิวปากเป็นเพลง"เปล่าเปลี่ยวอีกครั้ง"
ชวนให้คิดถึงทรากกระท่อมความฝัน
และบ้านแห่งความรักที่ผุพัง
ครั้งแล้ว-เล่า.....

ดุ่มเดินเหงา-เหงา
ไปตามทางเดียวดายสายเดิม-กลับคืนสู่เหย้า
ผ่านทุ่งข้าวในแสงเงาสีเขียว
ของความหวัง

"อีกครั้งแล้วสินะ อีกครั้ง"-เขาบอกกับตัวเอง
"อย่าเชียวนะ...อย่าทีเดียวเชียว"

"เก็บน้ำตาไว้รดน้ำศพหัวใจคนอ่อนแอเถิด ! "

๒๓/๙/๕๗
ตี ๕.๓๐ น.ลงจากรถทัวร์สี ฟ้าหม่น













ใครจักห้ามรักให้ ไม่ระทม
ขมแสนขมแค่ไหน ต้อง"ไปต่อ"

ขอบคุณภาพฝีมือ Hanatist














LOVE NOSTALGIA
ปลอบโยนหัวใจ
(รักคือผู้อพยพของความรัก)

เธอกลัวความทรงจำใจ จะหล่นหาย
หากกับความเดียวดาย มิไหวหวั่น
ความฝัน ไร้เหตุผล ใจ คน นั้น
ความจริงจึง เฝ้าฝัน อย่างแผ่วเพ้อ

คิดถึง คิดถึง คิดไม่ถึง
หอมหวานตราตรึง อยู่เสมอ
เมื่อความจริง นัดหัวใจ ให้พบเจอ
ความฝันก็ หลบละเมอ เพ้อเพียงพบ

โปรดละเมอ วันละนิด ว่าคิดถึง
ความรักจึง โผจูบใจ ไม่รู้จบ
อดีตอันขาดแคลน กลับคืนครบ
รักคือผู้อพยพของความรัก

อย่ากลัวเลย...
ความทรงจำ แห่งหัวใจ ไม่หล่นหาย
ต่อเจียนตาย ยิ่งตราตรึง ประหนึ่งสลัก
ประติมากรรมใจสลาย ยิ่งใหญ่นัก
อกจึงหัก ใจจึงหาย กันหลายครั้ง

มาชา
๒๖/๓/๕๗ NOSTALGIA.














ฉันไม่ใช่นักยืนยันความหวั่นไหว
มองออกไปนอกหน้าต่าง
ชิงช้าว่างเปล่า
หรืออาจเป็นเช้าวันพรุ่งนี้.....
๒๘/๙/๕๗

เขียนโปสการ์ดรูปห้องนอนซ้ำ-ช้ำ เป็นการ ทำ(ธรรม)สมาธิ รำงับสติที่กระเจิดกระเจิง














คนฉลาดรักจิตวิญญาณของตน
คนโง่รักแต่ทรัพย์สมบัติ

ขงจื้อ







บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า กรอบจากคุณsomjaidean100

Free TextEditor




Create Date : 30 กันยายน 2557
Last Update : 30 กันยายน 2557 10:02:02 น. 0 comments
Counter : 4322 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.