happy memories
Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2558
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
24 พฤษภาคม 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๒๑o





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto










'ปนัดดา' ชวนชมนิทรรศการ 'พระผู้สร้างรอยยิ้ม



"หม่อมปนัดดา" เผยรัฐบาลจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพฯ ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖o พรรษา ภายใต้หัวข้อ “พระผู้สร้างรอยยิ้ม” ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ยกพระจริยวัตรงดงามเป็นขวัญและแรงบันดาลใจให้กับทั้งคนไทยและต่างชาติ


ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ ๕ รอบ วันที่ ๒ เม.ย. ๒๕๕๘ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ได้ร่วมกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย และบริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ภายใต้หัวข้อ “พระผู้สร้างรอยยิ้ม” โดยกำหนดจัดนิทรรศการ ดังนี้ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ ๑-๘ เม.ย. ๒๕๕๘ ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ เม.ย. ๒๕๕๘ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๗-๑o พ.ค. ๒๕๕๘ ณ หอประชุมมหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ภาคกลาง ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๔ พ.ค. ๒๕๕๘ ณ หอประชุมพิพัฒน์มงคล องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม และภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๔-๗ มิ.ย. ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมช้างเผือก องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่


สำหรับรูปแบบนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “พระผู้สร้างรอยยิ้ม” แบ่งเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ ๑ พระปรีชาสามารถ ตกแต่งพื้นที่ด้วยการ์ตูนลายฝีพระหัตถ์ จัดแสดงหนังสือพระราชนิพนธ์ ภาพวาดฝีพระหัตถ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ จุดลงนามถวายพระพร และการจำหน่ายสินค้าจากร้านภูฟ้า ส่วนที่ ๒ พระจริยวัตร จัดแสดงพระฉายาลักษณ์ที่แสดงถึงพระจริยวัตรที่งดงามเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้ม โดยแบ่งตามช่วงพรรษา ตั้งแต่ช่วงพรรษา ๑-๑๒ พรรษา “เจ้าหญิงน้อยรอยยิ้มพิมพ์ประจักษ์” ช่วงพรรษา ๑๓-๒๔ พรรษา “งามพระจริยวัตรสยามบรมราชกุมารี” ช่วงพรรษา ๒๕-๓๖ พรรษา “เสด็จตามรอยพระยุคลบาททั่วปฐพี” ช่วงพรรษา ๓๗-๔๘ พรรษา “สานสัมพันธไมตรีด้วยพระเมตตา” และช่วงพรรษา ๔๙-๖o พรรษา “คือพระผู้สร้างรอยยิ้มแก่ปวงชน” และส่วนที่ ๓ พระกรุณาธิคุณ จัดแสดงเรื่องราวพระราชกรณียกิจและพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยจัดแสดงดนตรี และฉายภาพยนตร์ประกอบเพลง “พระผู้สร้างรอยยิ้ม”


ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในศาสตร์หลายด้านหลายแขนง เป็นที่เทิดทูนชื่นชมยินดีแก่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศ อีกทั้งยังทรงปฏิบัติพระภารกิจมากมาย แม้จะทรงเหนื่อยยากตรากตรำเพียงใด เราก็ยังคงเห็นรอยแย้มพระสรวลอยู่ตลอดเวลา พระจริยวัตรอันงดงามนี้เป็นขวัญและแรงบันดาลใจให้คนไทยมีความมานะอุตสาหะ มีความปิติ และยิ้มตามอย่างมีความสุข สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงเป็น “พระผู้สร้างรอยยิ้ม” ของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง


"ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกคนร่วมแสดงความจงรักภักดี และลงนามถวายพระพรตามสถานที่ต่าง ๆ ที่จัดไว้ รวมทั้งร่วมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน"ม.ล.ปนัดดากล่าว



พระฉายาลักษณ์และข้อมูลจาก
manager.co.th
chaoprayanews.com














แต้มสีสันวันสบาย...สบาย



เตรียมพบกับการแสดงผลงานภาพวาดกว่า ๑oo ชิ้น จากปลายพู่กันของกลุ่มผู้มีใจรักศิลปะ ๓๖ ท่าน ที่ฝึกฝนวาดภาพเป็นงานอดิเรกจนมีความชำนาญ


หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีแนวคิดที่อยากสนับสนุนผู้ที่สนใจศิลปะการวาดภาพเป็นงานอดิเรก ให้มีโอกาสนำผลงานที่สร้างสรรค์ไว้มาจัดแสดง เพื่อให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจในงานศิลปะมากขึ้น


จึงจัดให้มีนิทรรศการ “แต้มสีสันวันสบาย...สบาย” ประกอบด้วยผลงานจากกลุ่มบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมกันนำผลงานภาพวาดที่ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๑o๙ ชิ้น จาก ๑๘๕ ชิ้น มาจัดแสดง


ผลงานส่วนใหญ่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อการผ่อนคลายจากความเคร่งเครียดกับภารกิจประจำวัน จึงหยิบยกเอาเนื้อหาเรื่องราวที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน อาทิ ภาพทัศนียภาพอันสวยสดงดงามของธรรมชาติ ภาพมวลดอกไม้หลากสีสันในฤดูกาลต่าง ๆ และภาพบุคคลที่มีความประทับใจ ผ่านเทคนิคสีน้ำ สีอะคริลิค และอื่นๆ ตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อแสดงทักษะทางด้านศิลปะการวาดภาพ และจุดประกายให้ผู้ชมทั่วไปเกิดความสนใจและอาจมีแนวโน้มอยากฝึกฝนเรียนรู้ในอนาคตต่อไปด้วย


นิทรรศการ “แต้มสีสันวันสบาย...สบาย” วันที่ ๘ พฤษภาคม - ๓o มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ระหว่างวันที่ ๘ พฤษภาคม - ๓o มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ (ทุกวัน ยกเว้นวันพุธ) เวลา ๑o.oo - ๑๙.oo น. ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ โทร. o-๒๒๘๑-๕๓๖o-๑



























ภาพและข้อมูลจาก
manager.co.th














สมเด็จพระเทพฯ​ ทรงตระหนักถึงแหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์



เป็นที่ทราบกันดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนพระทัยในศาสตร์และศิลป์หลากหลายสาขา อย่างงานด้าน “พิพิธภัณฑ์” ก็เป็นโครงการตามพระราชดำริที่สำคัญด้านหนึ่ง เนื่องจากทรงตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของพิพิธภัณฑ์ ในฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้แก่สังคมไทย เนื่องในโอกาสที่ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา และพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้เปิดดำเนินการมาครบ ๓ ปี พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ จึงได้จัดเสวนาเรื่อง “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานด้านพิพิธภัณฑ์” เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์ถึงความสนพระราชหฤทัยและพระอัจฉริยภาพในด้านที่ทรงมีความรอบรู้และเข้าใจงานพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี โดยมี คุณชวลี อมาตยกุล รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเคยถวายงานในด้านพิพิธภัณฑ์ร่วมเป็นวิทยากร ที่ห้องประชุม พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เมื่อวันก่อน


คุณชวลี อมาตยกุล เปิดประเด็นว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศเนื่องจากเวลามีน้อย จะทรงสนพระราชหฤทัยไม่กี่ที่ นั่นคือ สวน, ร้านหนังสือ, พิพิธภัณฑ์ และแหล่งเรียนรู้มหาวิทยาลัย ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์มาแล้วทั่วโลก ทำให้ทรงมีความรอบรู้และเข้าใจงานพิพิธภัณฑ์เป็นอย่างดี มีพระราชดำริว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดีไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เก็บรวบรวมสิ่งของ แต่ต้องเป็นแหล่งความรู้สำหรับคนทุกเพศทุกวัย จึงทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำการบริหารจัดการงานพิพิธภัณฑ์ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ และยังทรงพระราชดำริสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงของสะสมส่วนพระองค์ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีพิพิธภัณฑ์ ๕ แห่งที่ทรงมีพระราชดำริในการก่อตั้ง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย, พิพิธภัณฑ์บัว และพิพิธภัณฑ์พระตำหนักบ้านสวนปทุม


"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า...อยากให้วังสระปทุมเป็นพิพิธภัณฑ์ถวายสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า...สมเด็จพระเทพฯ ทรงสนองพระราชดำรินั้นด้วยทรงดำเนินการจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงรับสั่งว่า...จะให้เป็นแหล่งเรียนรู้พระราชประวัติของสมเด็จพระพันวัสสาฯ...จึงมีการนำของเก่าเก็บมาทำทะเบียนแล้วจัดแสดง ซึี่งการซ่อมบำรุงแบบอนุรักษ์ต้องคงสภาพเหมือนเดิมมากที่สุดแต่ให้ใช้งานได้ด้วย เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเปิดและทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ ทรงแนะนำว่าในตู้ควรมีอะไรจัดแสดงบ้าง ทรงพระเกษมสำราญอย่างมาก


แต่ก่อนเริ่มทำพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโอกาสให้ดิฉันและคุณไหม (ปิยวรา ทีขะระ เนตรน้อย) ตามเสด็จไปชมพิพิธภัณฑ์อัลเบิร์ดมิวเซียมที่อังกฤษ ดูเรื่องของการจัดแสดงสิ่งของต่าง ๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าการจัดแสดงที่ดีควรเป็นอย่างไร ในส่วนของพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาฯ ค่อนข้างส่วนพระองค์ การจัดแสดงทั้งหลายได้ไอเดียมาจากอังกฤษหรือที่จีนที่มีการจำลองของจัดแสดงมาโชว์ทุกอย่างต้องไม่ไปขัดแย้งกับการจัดแสงและต้องไม่ทำให้วัตถุเสียหายระหว่างจัดแสดง นี่คือการเตรียมการของพระองค์ท่านว่าต้องรู้ก่อนว่าจะทำอะไรแล้วเตรียมไปตามนั้น อย่างตอนไปดูพิพิธภัณฑ์ของฟรอยด์ จะมีแฟมิลี่ ทรี (แผนภูมิการลำดับญาติ) ก็ได้ไอเดียมาจัดแสดง ที่ยุโรปมักปลูกฝังให้เด็กสนใจพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจัง สังเกตได้ว่าแทบทุกแห่งจะมีเด็ก ๆ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ บางพิพิธภัณฑ์มาร่วมทำกิจกรรมได้ อย่างการวาดภาพ การประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ" คุณชวลี กล่าวพร้อมเสริมว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีรับสั่งจะทำอย่างไรที่จะปลูกจิตสำนึกการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ บ่อยครั้งที่ทรงพานักเรียนนายร้อยฯ ที่ลงเรียนวิชาประวัติศาสตร์มาชมพิพิธภัณฑ์พร้อมกับทรงบรรยายด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ยังทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ซึ่งทุกวันนี้เมืองไทยยังไม่มีหน่วยงานสอนบุคลากรด้านพิพิธภัณฑ์โดยตรง จึงทรงคัดเลือกคนแล้วส่งไปฝึกอบรมที่หน่วยงานอนุรักษ์ ม.ศิลปากร อีกทั้งส่งไปฝึกงานอนุรักษ์์ที่ชิคาโก เพราะงานพิพิธภัณฑ์ถ้าจัดเก็บไม่ดีก็จะไม่มีสิ่งของดี ๆ มาจัดแสดง


ด้าน ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ ซึ่งมีโอกาสตามเสด็จไปชมพิพิธภัณฑ์มาแล้วทั่วโลก เสริมว่า ที่โปรดทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์นั้นเนื่องจากเป็นสถานที่บันทึกความรู้ของคน เพราะคนไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยสันชาตญาณอย่างเดียวแต่อยู่เพื่อสั่งสมความรู้ไปพร้อมกัน อย่างพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ที่เป็นสิ่งบันทึกความเจริญของคน ขยายความให้เข้าใจง่ายคือผ้าที่ใช้ในโอกาสต่าง ๆ มีที่มาที่ไป อย่างสังคมไทยมักมอบผ้าผืนใหม่ให้ผู้ใหญ่ในโอกาสสำคัญ เป็นต้น ผ้าจึงบันทึกความเจริญทางอารยธรรมของมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ เป็นการประมวลสติปัญญาของมนุษย์


“จริง ๆ แล้วคนเราไม่มีอนาคต สิ่งที่เรารู้ได้มากคืออดีต เวลาเสด็จจะไม่ทอดพระเนตรเฉพาะสิ่งของจัดแสดงแต่ทอดพระเนตรที่มาที่ไปของการได้มาด้วย ตั้งแต่หา เก็บ รู้ที่มาที่ไป เพราะหากไม่รู้ที่มาก็คงไม่มีคุณค่า พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้รับพระกรุณาธิคุณทรงแนะนำมากมาย ทรงรับสั่งอย่าไปกังวลว่าอะไรดีไม่ดีแต่ให้ดูทุกอย่างที่เป็นความรู้ ทว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทยคือดูแล้วไม่กระตุ้นปัญญาเลย วัฒนธรรมที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือการพูดคุยกัน สัมมนา ดูว่าตามหลักฐานเป็นอย่างไร ความเห็นที่หลากหลายทำให้เกิดความสมบูรณ์ทางความคิด พิพิธภัณฑ์เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักคิดและไมาเอนเอียงมาก” คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














เดี่ยวเปียนโนรำลึก ๙๒ ปี 'สมเด็จพระพี่นาง'



เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ เป็นปีที่ ๙๒ ของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการดนตรีคลาสสิก กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงร่วมกับคณะกรรมการทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสถาบันดนตรี อูอีโน กาคูเอน ประเทศญี่ปุ่น จัดแสดงเดี่ยวเปียโนถ่ายทอดบทเพลงโชแปง โดยสุดยอดนักเปียโนระดับแนวหน้าของญี่ปุ่น โดยแถลงข่าวแจกแจงรายละเอียดไปเมื่อวันก่อนที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


จุมพจน์ เชื้อสาย เลขาธิการทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกฯ กล่าวว่า นับแต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงก่อตั้งทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ ในปี ๒๕๔๓ ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อส่งเสริมดนตรีคลาสสิก สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตลอดจนพัฒนาวงการดนตรีคลาสสิกของไทยให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ภายใต้พระปณิธาน “พัฒนาพรสวรรค์ สรรค์สร้างคีตกวี ผลิตนักดนตรีสู่สากล” โดยทรงรับเป็นองค์ประธานและองค์อุปถัมภ์ นับแต่นั้นมามีนักเรียนทุนรวมกว่า ๕o คนแล้ว ปีนี้คณะกรรมการทุนรู้สึกภาคภูมิใจ ที่จะได้จัดกิจกรรมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ โดยเชิญ อ.ยูกิโอะ โยโกยามา จากสถาบันดนตรี อูอีโน กาคูเอน นักดนตรีชื่อดังระดับแนวหน้าของญี่ปุ่นมาแสดงเดี่ยวเปียโน และสอนมาสเตอร์ คลาสเซส ให้แก่นักเรียนดนตรีในประเทศไทย ซึ่ง อ.ยูกิโอ เป็นชาวญี่ปุ่นอายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลการแข่งขันโชแปง เปียโน คอมเพทิชั่น ด้วยอายุเพียง ๑๙ ปี และเป็นคนแรกที่ได้รับการบันทึกในกินเนสบุคถึง 2 ครั้งว่าได้บรรเลงเพลงของโชแปงทั้งหมดติดต่อกันโดยใช้เวลา ๑๔ ชั่วโมง ทำลายสถิติโลก


“ไฮไลท์อยู่ที่การแสดงครึ่งหลังจะเป็นเพลงของโชแปงทั้งหมด ซึ่งเขาเป็นนักเปียโนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดในญี่ปุ่นที่เล่นเพลงของโชแปง จนประเทศโปแลนด์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโชแปง ยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน ๑oo นักเปียโนทั่วโลกที่มีความสามารถและเผยแพร่ผลงานของโชแปงได้โดดเด่น นอกจากนี้หลังจากการแสดง ทางสถาบัน อูอีโน กาคูเอน ยังมีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกฯ ในการคัดเลือกนักเรียนดนตรีจากประเทศไทยไปศึกษาต่อที่ประเทศญี่ปุ่นในโอกาสอันควร นับเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งคณะกรรมการรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง” จุมพจน์ กล่าว


ด้าน ดาวลดา พันธ์วร ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวเสริมว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเกื้อกูลอุปถัมภ์พสกนิกรไทยทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมภายใต้ความรับผิดชอบของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมนั้น ทรงพระกรุณารับวงดุริยางค์เยาวชนไทยไว้ในพระอุปถัมภ์ฯ ยังความปลาบปลื้ม และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ในครั้งนี้จึงนับเป็นวาระสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่จะได้ดำเนินงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ในการร่วมจัดแสดงนตรีคลาสสิกน้อมรำลึกพระกรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อวงการดนตรีคลาสสิก


ขณะที่ พรพรรณ บันเทิงหรรษา หนึ่งในนักเรียนทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำการแสดงเปียโน คณะดุริยางค์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกในพระอุปถัมภ์ฯ สมัยที่เรียนอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เสด็จทอดพระเนตรคอนเสิร์ต และทรงเยี่ยมนักเรียนทุนด้วยพระองค์เองถึงห้องเรียน ทำให้รู้สึกปลาบปลื้ม เมื่อเรียนจบตั้งใจจะสืบทอดพระปณิธานของพระองค์ท่านโดยการถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีคลาสสิกให้กับนักศึกษาต่อไป ซึ่งคอนเสิร์ตครั้งนี้น่าจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ หันมาสนใจดนตรีคลาสสิกได้ไม่มากก็น้อย


ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถร่วมชมการแสดงเดี่ยวเปียโนระดับโลกนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันศุกร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม เวลา ๑๙.๓o น. ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ติดต่อรับบัตรโทร. o-๒๒๔๗-oo๒๘ ต่อ ๔๑๑๙ และทุนส่งเสริมดนตรีคลาสสิกฯ โทร. o-๒๖๕๓-๒๕๙๓ส







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














การแสดงเฉลิม 60 พรรษา บรมราชกุมารี



เมื่อวันที่ ๑o มกราคม ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาระดับอนุบาลขึ้น ณ พระที่นั่งอุดรในพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เพื่อให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ซึ่งทรงมีพระชนมายุ ๓ พรรษา ๙ เดือนได้รับการศึกษาในระดับอนุบาล ต่อมาได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน จังทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายชั้นเรียนอนุบาลมาที่ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ต่อมาเมื่อมีจำนวนนักเรียนมากขึ้นและจะต้องจดทะเบียนสถานศึกษา เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕o๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้พระราชทานนามโรงเรียนว่า “โรงเรียนจิตรลดา” พร้อมพระราชทานมหาพิชัยมงกุฎให้ใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของโรงเรียนอีกด้วย ชาวจิตรลดาจึงได้ถือเอาวันที่ ๑o มกราคม ของทุกปีเป็นวันสถาปานาโรงเรียนจิตรลดานับแต่นั้นมา


ในปี ๒๕๕๘ เป็นปีที่สำคัญยิ่งขของโรงเรียนจิตรลดา ด้วยเป็นปีมหามงคลสมัยเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์บริหารโรงเรียนจิตรลดา และศิษย์เก่าจิตรลดารุ่นที่ ๕ เจริญพระชนมายุ ๖o พรรษา และโรงเรียนจิตรลดาก่อตั้งครบ ๖o ปี คณะครู นักเรียน นักศึกษา ทั้งศิษย์เก่าและปัจจุบัน และผู้ปกครอง ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้จัดกิจกรรม “เฉลิม ๖o พรรษา สยามบรมราชกุมารี ฉลอง ๖o ปี โรงเรียนจิตรลดา”


สำหรับกิจกรรม “เฉลิม ๖o พรรษา สยามบรมราชกุมารี ฉลอง ๖o ปีโรงเรียนจิตรลดา” ประกอบด้วยหลายกิจกรรม โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๘ อาทิ งานจิตรลดาวิชาการ โครงการเทศน์มหาชาติ โครงการบรรพชาสามเณรและบวชศีลจาริณี เป็นต้น และกิจกรรมไฮไลท์ ได้แก่ งานแสดง “เฉลิม ๖o พรรษา สยามบรมราชกุมารี ฉลอง ๖o ปีโรงเรียนจิตรลดา” ในวันที่ ๑๖-๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ เป็นการแสดงสื่อผสมระหว่างนาฎศิลป์และดุริยางคศิลป์ผสมผสานการแสดงละครเวที ดนตรีไทย ดนตรีสากล ซึ่งใช้นักแสดงทั้ง ครู ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ผู้ปกครอง ศิลปินดารานักแสดงรับเชิญ และทีมงานกว่า ๙oo คน





ท่านผู้หญิงสุนามัน ประนิช, ท่านผู้หญิง ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์,
ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ และคุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
<



การนี้ ดร.ทัศนีย์ บุณยคุปต์ คุณครูคนแรกของโรงเรียนจิตรลาด ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียน, ท่านผู้หญิงสุนามัน ประนิช ครูประจำชั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชั้นอนุบาล - มศ. ๕ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาโรงเรียน, ท่านผู้หญิงอังกาบ บุณยัษฐิติ อธิการบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา ผู้จัดการและผู้อำนวยการ โรงเรียนจิตรลดา, คุณหญิงจามรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รองอธิการบดี วิทยาลัยเทคโนโลยีจิตรลดา และรองผู้อำนวยการ โรงเรียนจิตรลดา พร้อมด้วย ครูเสนีย์ เกษมวัฒนากุล หัวหน้าสายดนตรีไทยและนาฎศิลป์, นภัสกร มิตรธีรโรจน์ ครูพิเศษสายวิชาดนตรี และ ดลชัย บุณยะรัตเวช ผู้ควบคุมดูแลการจัดการแสดง ร่วมให้รายละเอียด


การแสดงชุดนี้แบ่งเป็น ๒ องก์ โดยองก์ที่ ๑ “ปฐมพงศ์วงศ์จักรี” ที่จะแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี และความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยต่อสถาบันพระมหากษัริย์ ซึ่งการแสดงในชุดนี้คือการได้รับอนุญาตให้นำ หุ่นพญานาควาสุกรี ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๓ มาใช้ในการแสดงชุดชักนาคดึกดำพบรรพ์ หรือ การกวนเกษียรสมุทร ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวประวัติศาสตร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละรัชสมัยจะมีการแสดงที่ให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของแต่ละยุคสมัย องก์ที่ ๒ “ดั่งดวงใจ” เป็นการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ชุด มัจฉานุกุมารา - ยกรบ ที่ปรับปรุงบทจากบทกรมศิลปากร ตั้งแต่ตอนกำเนิดมัจฉานุ ไปจนถึงตอนยกรบ สลับการแสดงละครเพลงจิตรลดา ปิดท้ายด้วยวงดนตรีมหาดุริยางค์


ในการนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีร จะเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.oo น. และ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จพระดำเนินทอดพระเนตรการแสดงในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.oo น.


การแสดง “เฉลิม ๖o พรรษา สยามบรมราชกุมารี ฉลอง ๖o ปีโรงเรียนจิตรลดา” จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๖-๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ ทำการแสดงวันละ ๑ รอบ โดยรอบการแสดงวันที่ ๑๖ มิถุนายน บัตรราคา ๑oo,ooo บาท ๘,ooo บาท ๕,ooo บาท ๓,ooo บาท ๒,ooo บาท ๑,ooo บาท และ ๓oo บาท ส่วนรอบวันที่ ๑๗ มิถายน บัตรราคา ๒o,ooo บาท ๑๕,ooo บาท ๑o,ooo บาท ๕,ooo บาท ๒,ooo บาท และ ๕oo บาท รอบการแสดง โดยรายได้จากการจัดงานจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมทบมูลนิธิ “สยามบรมราชกุมารี เพื่อโรงเรียนจิตรลดา” ซื้อบัตรได้ที่ห้องประชาสัมพันธ์โรงเรียน โทร. o๒-๒๘o-๔๘๓o-๑ ต่อ ๑๑๑๑





นภัสกร มิตรธีรโรจน์ , ครูเสนีย์ เกษมวัฒนากุล และ ดลชัย บุณยะรัตเวช



ภาพและข้อมูลจาก
naewna.com
chitraladaschool.ac.th
photoontour.com














การคัดแสดงนักแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ



โอกาสเดียวเท่่านั้น สำหรับหรับเยาวชนผู้ที่มีใจรักการแสดงโขน ที่จะได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงโขนพระราชทาน ชุด พรหมาศ ประจำปี ๒๕๕๘


คณะกรรมการจัดการแสดงโขนพระราชทานเปิดรับสมัครเยาวชนผู้มีอายุ ๑๕ - ๒๕ ปี เข้ารับการคัดเลือกนักแสดงรุ่นใหม่ เพื่อร่วมสืบสานศิลปะวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ตั้งแต่วันที่ ๖ พฤษภาคม จนถึงวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ มีรายละเอียด ดังนี้


- สามารถสมัครด้วยตนเองได้ที่กองงานความร่วมมือภายนอก สำนักงานทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ (เทเวศน์)


- สมัครผ่านทางไปรษณีย์ สามารถส่งใบสมัครและเอกสารประกอบการสมัครมาได้ที่
กองงานความร่วมมือภายนอก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
๑๗๓ ถ. นครราชสีมา เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑o๓oo


(**ถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ**)
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองงานความร่วมมือภายนอก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โทร. o๒-๗๘๗-๖๘๔o-๒
หมายเหตุ - ดูรายละเอียดการสมัคร พร้อมดาวน์โหลดใบสมัครและเอกสารการสมัครได้ที่ //www.khonperformance.com



ภาพและข้อมูลจาก
FB Khon Performance














๑oo ปีชาตกาล 'ครูแก้ว อัจฉริยะกุล'



ในบรรดาครูเพลงไทยสากลในบ้านเรา ถ้าเอ่ยชื่อ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล หรือ แก้วฟ้า เชื่อว่า ส่วนใหญ่จะคุ้นหูจากเพลงผลงานของท่าน หรือบางคนอาจจะเคยฟังละครวิทยุที่ท่านเป็นเจ้าของคณะ "แก้วฟ้า” ที่แพร่เสียงไปทั่วประเทศ ครูแก้วเกิดเมื่อปี ๒๔๕๘ ถึงวันนี้ ท่านจะมีอายุครบ ๑oo ปี ครูแก้วสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ท่านยังเป็นนักประพันธ์เพลงที่เขียนด้วยสำนวนกวีกว่า ๓,ooo เพลง ที่เราคุ้นกันและกลายเป็นเพลงอมตะ ได้แก่ บทเพลง จากเรื่อง “จุฬาตรีคูณ” อันมีเพลง จุฬาตรีคูณ จ้าวไม่มีศาล อ้อมกอดพี่ ใต้ร่มมลุลี และปองใจรัก ซึ่งไพเราะเป็นอมตะทุกเพลง ส่วนเพลงอื่นๆ อาทิ กรุงเทพราตรี ขอพบในฝัน คิดถึง ชื่นชีวิต นางฟ้าจำแลง ปาหนัน ผู้แพ้รัก พรพรหม ฟ้าคลุ้มฝน ริมฝั่งน้ำ ลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง วังน้ำวน หงส์เหิน ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเพลงที่อยู่ในใจของคนฟังเพลงเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ นอกจากประพันธ์เพลงแล้ว ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ยังเป็นนักเขียน นักแต่งเพลง นักแปลบทภาพยนตร์ ท่านเป็น “อัจฉริยะ” สมกับนามสกุลจริง ๆ


ปีนี้ ครบ ๑oo ปี ของครูแก้ว จึงมีงานใหญ่ ๒ งานด้วยกัน คือ คอนเสิร์ต “ขุนพลอักษร ละคร เพลง” จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยร่วมกับสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ และกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องในโอกาส ๑oo ปีชาตกาล “แก้วฟ้า” รัตนศิลปิน โดยจะจัดถึง ๒ วัน ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระรามที่ ๖


ในวันแรก คือ วันเสาร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม เวลา ๑๓.๓o-๑๗.๓o น. จะใช้ชื่อตอนว่า จากชีวิตสู่บทเพลง “แก้ว อัจฉริยะกุล” พบกับสุนทรียรสในบทเพลงครูแก้ว นำโดย ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง โฉมฉาย อรุณฉาน และนักร้องวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์


พร้อมด้วย วงประสานเสียง “สวนพลู” อำนวยเพลงโดยศิลปินแห่งชาติ ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล สำรองที่นั่งได้ที่ ม.ล.ปราลี ประสมทรัพย์ โทร. o๘-๑๘o๖-๑๔๕๖


ส่วนในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม เวลาเดียวกัน จะเป็นตอน จากหนัง-ละคร ย้อนมาเป็นเพลง “แก้ว อัจฉริยะกุล” พบกับเพลงดังหนัง-ละคร ผลงานของครูแก้ว นำโดยสี่ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธุ์ ชรินทร์ นันทนาคร จินตนา สุขสถิต ร่วมด้วย วินัย พันธุรักษ์ อุมาพร บัวพึ่ง ชรัมภ์ เทพชัย จิตติมา เจือใจ ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล ฯลฯ วงดนตรีกาญจนะผลิน บรรเลง ควบคุมโดย จิรวุฒิ กาญจนะผลิน


และยังมีพิธีมอบรางวัลการประกวดบทละครวิทยุ และการแสดงละครวิทยุที่ชนะการประกวดด้วย สำหรับคอนเสิร์ตวันอาทิตย์ สำรองที่นั่งได้ที่ วนิดา พานิชเจริญ o๘-๑๘๑๒-๑๑๖๕ หรือ ชัชชวลี ฐิติวัลค์ o๘-๗๕๙๖-๗๕๘๙ รายได้จากคอนเสิร์ตทั้งสองวัน จะนำไปสร้างรูปปั้นครูแก้ว และมอบรายได้ให้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ


และยังมีอีกคอนเสิร์ต ในช่วงปลายเดือนนี้ คือ คอนเสิร์ต “รำลึก ๑oo ปี ชาตกาล ครูแก้ว อัจฉริยะกุล” เพื่อรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของครูเพลงผู้เป็นตำนานแห่งสยาม ร่วมขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ วินัย พันธุรักษ์ ดาวใจ ไพจิตร อุมาพร บัวพึ่ง และเจษฎา ธรรมวนิช


โดยจะเป็นครั้งแรกที่ผลงานของครูจะถูกถ่ายทอดและบรรเลงโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย ในวันที่ ๓o-๓๑ พฤษภาคม เริ่มเวลา ๑๖.oo น. ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จำหน่ายบัตรที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์


นี่คือ สองคอนเสิร์ต เนื่องในวาระครบ ๑oo ปีชาตกาล ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ที่คนรักเพลง ไม่ควรพลาดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญนี้



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ช่างเหน่ง นักเลงศิลปะ
ขุนอิน



ถ้าย้อนไปเมื่อ ๖o ปีก่อนหน้านี้ในวงการดนตรีนาฏศิลป์ไทยจะต้องรู้จักชื่อของ ครูสาคร ยังเขียวสด เพราะด้วยท่านเป็นศิลปินที่มีความสามารถหลากหลายไม่ว่าจะเป็นนักแสดงโขน ละคร ขับร้องฟ้อนรำ และต่อมาสิ่งที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงมากที่สุดนั้นก็คือ "หุ่นละครเล็ก" ที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงจนผู้คนในยุค พ.ศ. ๒๕๓๘ ต่างจะรู้จักชื่อเสียงเรียงนามของท่านและคุ้นเคยกับชื่อเล่นของท่านว่า "ครูโจหลุยส์" หรือพ่อหลุยส์ เพราะในปี ๒๕๓๘ นั้น ครูโจหลุยส์ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง แต่สำคัญที่สุดก็คือท่านทำให้การแสดงหุ่นละครเล็กนั้นเป็นที่ได้รับความนิยมในบ้านเรารวมถึงยังได้ไปสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศอีกต่างหากด้วยครับ


ครูโจหลุยส์ ด้วยความที่ท่านเป็นคนที่มีความสามารถหลากหลายในการแสดงรวมถึงยังเป็นนายช่างที่ถนัดในการประดิษฐ์งานปั้นศีรษะเทพและครู รวมถึงทำหัวโขนต่างๆ ได้อย่างชำนาญการ ซึ่งในจุดนี้จึงทำให้บุตรของท่านทั้ง ๙ คนมีความสามารถที่ต่างกันออกไปโดยบางคนก็เก่งในเรื่องโขนละคร หุ่นละครเล็ก บางคนกลายเป็นนักร้องนักดนตรีปี่พาทย์ในระดับชั้นครู แต่ในวันนี้ผมจะเขียนถึง บุตรชายครูโจหลุยส์คนที่ ๖ ที่มีชื่อว่า ช่างเหน่ง หรือคุณสุนทร ยังเขียวสด ซึ่งต้องบอกว่าบุตรชายของครูโจหลุยส์ท่านนี้มีความสามารถที่หลากหลายเหมือนกับบิดาของเขามากที่สุดในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๙ คนนั่นเองครับ


ย้อนไปเมื่อประมาณ ๒o ปีกว่า ๆ ที่ผ่านมาผมได้รู้จักกับคุณสุนทร ยังเขียวสด ครั้งเมื่อผมได้ประชันวงปี่พาทย์กับวงครูวิบูลย์ธรรม เพียรพงศ์ ตอนนั้นช่างเหน่งเป็นมือกลองให้วงครูวิบูลย์ธรรม เพียรพงศ์ ผมก็มีความรู้สึกว่าเขาเป็นนักดนตรีไทยหรือพวกปี่พาทย์ที่มีฝีมือดีในระดับประชันได้ แต่ต่อมาภายหลังก็ได้เห็นช่างเหน่งไปทำงานอยู่กับพี่ ๆ น้อง ๆ ของเขาที่โรงละครนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก สวนลุมไนท์บาซาร์ จึงได้เห็นฝีมือของเขาในการเชิดหุ่นละครเล็ก ที่ต้องใช้ลีลาท่าเต้นของการแสดงโขนเป็นหลัก จากนั้นตัวผมก็เริ่มที่จะมีความคุ้นเคยกับช่างเหน่ง และในช่วงที่ตัวผมกำลังโด่งดังกับภาพยนต์เรื่องโหมโรง ก็ได้ออกเดินสายตีระนาดเอกไปทั่วประเทศทั่วโลก ช่างเหน่งจึงบอกผมว่า จะเขียนรางระนาดเอกเป็นลายถมทองเอาไว้เพื่อให้เป็นรางระนาดเอกประจำตัวของขุนอิน ซึ่งตอนแรกผมเองก็ไม่แน่ใจว่ามันจะดีหรือจะสวยจริงอย่างที่เขารับรองหรือเปล่าแต่ก็ด้วยความเกรงใจในความเป็นเพื่อนที่ปรารถนาดีต่อกันผมก็เลยต้องลองเอารางระนาดเอกไม้สักส่งไปให้ช่างเหน่งไปเขียนลายถมทองโดยใช้ทองคำเปลว ๑oo %


หลังจากที่เขียนเสร็จช่างเหน่งได้นำรางระนาดเอกที่เขียนลายถมทองมาส่งให้ผม โดยคิดราคาแบบโปรโมชั่นคือคิดแค่ค่าทองคำ ฟรีค่าแรง ซึ่งในครั้งแรกที่ผมได้เห็นรางระนาดเอกลายถมทองที่ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปพระราหู ตรงตามที่ผมเกิดวันพุธกลางคืน ส่วนโขนรางระนาดทั้งด้านซ้ายและขวาก็เป็นรูปพระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จที่อยู่ด้านนอก ส่วนโขนด้านในซ้ายและขวาก็จะเป็นพ่อแก่ฤาษีกไลโกฏ ซึ่งเป็นองค์เทพที่ผมนับถือมากที่สุด ซึ่งบอกได้เลยว่างดงามสวยสุดสะดุดตามากที่สุดเท่าที่ผมได้เคยรางเห็นระนาดเอกมาในทุก ๆ ที่ ผมจึงได้ใช้รางระนาดเอกที่ช่างเหน่งเขียนให้ผมนี้เป็นรางประจำตัวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และก็จะเลือกใช้ในงานต่างๆ ที่สำคัญอย่างเช่นถ่ายโฆษณาเครื่องดื่ม เอ็ม ๑๕o แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย ได้นำรางระนาดเอกรางนี้ไปให้ "ผู้พันเบิร์ด" พ.ท.วันชนะ สวัสดี ใช้บรรเลงเพื่อถ่ายทำภาพยนต์เรื่องตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


ปัจจุบันนี้ช่างเหน่ง ได้หันมาจับงานด้านประดิษฐ์ศีรษะครู รวมถึงปั้นหัวโขนทุกชนิดที่ใครๆ เห็นแล้วจะต้องชื่นชมในความสวยงาม นอกจากนี้ช่างเหน่งยังรับเขียนเสื้อเป็นรูปลายเครื่องดนตรีไทยและลายไทยทุกชนิดแบบที่ใช้มือเขียนสด ๆ หรือแฮนด์เมด และยังรับสัก หรือ Tattoo เป็นลายไทยแบบใช้จินตนาการอีกต่างหาก ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจสั่งทำศีรษะครูหรือหัวโขนแบบต่าง ๆ หรือจะเพ้นท์เสื้อ สักยันต์ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร.o๙-๖๑๘๗-๘๑oo ผมรับรองว่าราคาถูกกว่าหน้าร้านทุก ๆ ร้านครับ หรือถ้าจะชมผลงานและฝีมือการทำงานก็สามารถชมได้ที่ เฟซบุ๊ก Soontorn Yangkhieosod แต่ตอนนี้ถ้าใครจะสั่งศรีษะครูหรือหัวโขนก็ต้องใช้เวลานานพอควรเพราะเนื่องจากช่วงนี้ช่างเหน่งได้รับงานออกแบบสร้างพระพุทธรูปตามวัดวาอารามต่าง ๆ รวมถึงยังมีคิวแสดงหุ่นละครเล็กกับพี่สาวคนโตในนาม "คณะสาครนาฏศิลป" ซึ่งก็คือชื่อคณะดั้งเดิมของครูโจหลุยส์ คุณพ่อของเขานั่นเองแหละครับ และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ "ช่างเหน่ง นักเลงศิลปะ" นายช่างที่เต้นกินรำกิน ตัวจริงเสียงจริงในยุคนี้ครับ



ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














'สุรุจ ทิพากรเสนี' พญามังกรแห่งศิลปะ.



เป็นอีกเรื่องราวดี ๆ ที่อยากบอกต่อค่ะ...


ละครเวทีฟอร์มดีเรื่อง "ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล" เพิ่มรอบแล้ว!!


หลังจากกลับมารีสเตทใหม่ในปีนี้ และจัดแสดงที่ศาลาดนตรีสุริยะเทพ มหาวิทยาลัยรังสิตผ่านไปแล้ว และจะย้ายวิกมาเปิดการแสดงที่โรงละครเมืองไทยรัชดาลัย ในวันที่ ๓o พฤษภาคมนี้ ซึ่งปรากฏว่าตั๋วจองเต็มทุกที่นั่งแล้ว!!


กระนั้นเสียงเรียกร้องยังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จน "อ.จุ้ย" สุรุจ ทิพากรเสนี ผู้อำนวยการสร้าง ต้องลุกขึ้นมาประกาศ เพิ่มการแสดงอีก ๑ รอบ ต่อเนื่องในค่ำวันที่ ๓๑ พฤษภาคมนี้ (ข่าวว่าบัตรเดินเร็วมากซะด้วย)


วันนี้ นอกจากจะแสดงความยินดีในฐานะผู้ชมคนหนึ่งแล้ว ยังอยากจะเอ่ยถึงบุคคลที่เป็นทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้าผลงานคุณภาพเรื่องนี้สักหน่อยค่ะ เพราะหากไม่มีท่านนี้แล้ว ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าเราจะได้เห็นงานดี ๆ อย่างนี้อีกเมื่อไหร่


คนสำคัญท่านนี้ก็คือ "อ.จุ้ย" สุรุจ ทิพากรเสนี ที่ในแวดงวงดนตรีรู้จักดี ท่านเป็นนักร้องคุณภาพระดับแนวหน้าของประเทศ มีผลงานทั้งร้องและประพันธ์เพลงมากมาย แสดงละครเวทีมาแล้วหลายเรื่อง และจัดคอนเสิร์ตมาแล้วหลายครั้ง


ล่าสุด อ.จุ้ย เป็นผู้อำนวยการสร้าง,ประพันธ์บทและเพลง“ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล” ทั้งยังรับบท "ลิเลียนยิง" มหาขันทีคู่ใจพระนางซูสีไทเฮาอีกด้วย


ดิฉันถามถึงที่มาที่ไป และรายละเอียดการผลิตละครเรื่องนี้ ผ่านรายการ "เนชั่นมิตรไนท์" ช่วง "โอเพ่นอาย" ที่จะออกอากาศในวันพุธที่ ๒o พฤษภาคมนี้ เวลา ๒๓.๔o น.ช่องเนชั่นทีวีค่ะ


ซึ่ง อ.จุ้ย เล่าว่า ได้แรงบันดาลใจมาจากการได้อ่านหนังสือ "ซูสีไทเฮา" ของอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อ่านรวดเดียวจนจบ ก่อนนอนก็เฝ้าแต่คิดถึงฉากที่สะเทือนใจ


"ผมมีคำถามว่า เหตุใดผู้หญิงคนหนึ่ง จึงกล้าที่จะต่อสู้กับผู้ชายที่มีอำนาจที่สุดในแผ่นดินจีน และก้าวมาอยู่เหนืออำนาจนั้น และที่สำคัญ ทำอย่างไรจึงสามารถรักษาอำนาจนั้นไว้ได้ยาวนานจนวันสุดท้ายของชีวิต ผมจึงคิดว่า หากว่าเป็นละครเพลง คงจะสนุกสนานเข้มข้นน่าติดตามไม่น้อยครับ"


จากความประทับใจ มาสู่บทเพลงอันยิ่งใหญ่กว่า ๓o เพลง ซึ่งหากไม่ใช่ "กูรู" ผู้เอกอุจริง คงไม่สามารถทำได้งดงามปานนี้


เพลง "นี่หรือคือสัญญา-สู่ฟ้าเหนือบัลลังก์มังกร" อ.จุ้ย ได้แต่งเสร็จสมบูรณ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเพลงเอกของเรื่องอย่างยิ่งใหญ่สมเกียรติจริง ๆ


"หลังจากนั้นก็เขียนบทละคร แล้วแต่งเพลงตรงที่เราเห็นว่าควรจะเป็นเพลง แล้วก็ผูกเรียงฉากต่าง ๆ ให้ครบรส"


ยังมีเรื่องราวของการคัดเลือกนักแสดง และต้องดูแลส่วนอื่น ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการที่ตัดสินใจร่วมแสดงด้วย


"ก็ไม่มีอะไรมากครับ คือว่าอยากเล่น จากที่ได้อ่านหนังสือหลายต่อหลายรอบ เขียนบท แต่งเพลงมา ทำให้รู้สึกผูกพัน กับบทพระนางซูสีอย่างมาก การได้เล่นเป็นขันทีคู่พระทัย จึงเข้าใจในบท และมีความรู้สึกรักพระนางจริง ๆ ทำให้แสดงได้ไม่ยากนัก"


ดิฉันว่า ถ้าอยากรู้จักและสัมผัสถึงผลงานอันน่าทึ่งของผู้ชายคนนี้อย่างเต็ม ๆ ตา ขอเชิญมาชม "ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล" รอบสุดท้าย ๓๑ พฤษภาคมนี้ค่ะ


แล้วจะเข้าใจอีกด้วยว่า ทำไมบุคคลที่มากความสามารถผู้นี้ ถึงได้หลงรักพระนางซูสีไทเฮาอย่างหมดใจ !!







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net














ประกวดเครื่องเบญจรงค์ไทย



ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ขอเชิญชวนนิสิตนักศึกษา เข้าร่วมประกวดในโครงการหัตถศิลป์ทรงคุณค่า วิจิตรเลิศล้ำเครื่องเบญจรงค์ไทย ในหัวข้อ “เลอค่าภูมิปัญญาไทย” ประเภทสร้างสรรค์และต่อยอด โดยสามารถออกแบบผลงานได้ไม่จำกัดสี และไม่จำกัดรูปทรง ใช้เครื่องกระเบื้องได้หลากหลาย หรือนำเอกลักษณ์ความเป็นเบญจรงค์ไปใส่ในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ได้ตามความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อยอดและอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ และส่งผลงานในรูปแบบคอนเซ็ปต์บอร์ด ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ จ.พระนครศรีอยุธยา และงานหัตถศิลป์เครื่องเบญจรงค์ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้ร่วมจัดแสดงผลงานที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๘


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม //www.facebook.com/benjarongbangsai โทรศัพท์ ๐๒-๕๕๙-๓๒๗๑-๔ ต่อ ๒๔๑ โทรสาร ๐๒-๕๕๙-๒๙๕๗-๘ อีเมล์ benjarongbangsai@gmail.com



ภาพและข้อมูลจาก
thailandexhibition.com














ปลุกพลัง 'เยาวชนเมืองน่าน' ผ่านเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน



“เมืองน่าน” เมืองแห่งต้นน้ำที่ถูกจ้องมองจากสังคมภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางความวิตกกังวลของผู้ใหญ่เร่งหาทางแก้ไข อีกทางหนึ่งได้ฝากความหวังอนาคตเมืองไว้กับเยาวชนที่เป็นActive Citizen ที่เป็นทัพหน้า พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนเมืองน่านให้ฝ่ากระแสโลกาภิวัฒน์ไปได้


อย่างเช่นโรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดนโครธาราม ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน หนึ่งในโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ส่งสามเณรนักเรียนเข้าร่วมโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน จำนวน 3โครงการ คือ โครงการค่ายฝึกยอดนักเทศน์มหาชาติ โครงการปลูกข้าวนาอินทรีย์ และโครงการต้องตุงพันชั้น (ตุงปันชั้น) โดยมีสามเณรนักเรียนทั้งโรงเรียนจำนวน 120 รูป ระดับชั้นม.1-ม.6 เข้าร่วมเรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตดั้งเดิมเพื่อไม่ให้ลืมรากเหง้าของตนเองและพร้อมเป็นคนรุ่นใหม่ที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม


นายเสวียน ศิริแก้ว หัวหน้าฝ่ายวิชาการ ผู้ดูแลสามเณรนักเรียน ได้ย้ำถึงแนวคิดของโรงเรียนที่จะส่งเสริมให้สามเณรนักเรียนได้เรียนรู้จากลงมือทำเองผ่านกิจกรรมนอกห้องเรียนโดยมีครูเป็นที่ปรึกษา “เริ่มตั้งแต่ปี 2547 ทางโรงเรียนมองเห็นปัญหาว่าเยาวชนมีสิ่งเร้าจากภายนอกเข้ามาเยอะมากเช่นสื่อต่างๆ ที่รุมเร้า จึงคิดจะหาวิธีสร้างภูมิต้านทานให้กับสามเณรนักเรียน ประกอบกับช่วงนั้นทางโรงเรียนมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุนให้จัดโครงการเยอะมาก
พระปลัดคงศิลป์ ภทฺทราวุโธ ผู้อำนวยการโรงเรียน คิดว่าควรใช้การทำโครงการเป็นตัวช่วยในการบ่มเพาะภายในใจของสามเณร และเป็นโครงการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนด้วย


ทั้งสามโครงการที่เข้าร่วมกับทางมูลนิธิสยามกัมมาจลนั้น ซึ่งเป็นโครงการที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตประจำวันของคนในชุมชนและสามเณรหลังจากลาสิกขาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำนา จะได้มีความรู้ในการทำนาสามารถไปประกอบอาชีพและรู้คุณค่าของข้าว เป็นคนไม่เห็นแก่ตัว ส่วนเรื่องการทำเทศน์ ก็ฝึกให้สามเณรเป็นเด็กที่มีสมาธิ เนื้อหาการเทศน์สอดแทรกเรื่องการให้ สามเณรได้ฝึกจากเป็นผู้รับอย่างเดียวจะได้กลายเป็นผู้ให้ด้วย จะซึมซับเข้าไปในตัวแบบไม่รู้ตัว และเรื่องการทำต้องตุงก็เป็นการฝึกความใจเย็น มีสมาธิ และเสริมทักษะด้านศิลปะด้วย สามเณรนั้นไม่ใช่เข้าโครงการแค่ปีเดียวแต่จะร่วมตั้งแต่ม.๑ – ม.๖ และมีการสอนจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องด้วย โรงเรียนมีความคิดต่อยอดทั้งสามโครงการนี้ ที่จะทำให้เป็นหลักสูตรบูรณาการเข้าไปอยู่ในวิชาเรียนด้วย เพราะเห็นประโยชน์ว่าการฝึกนิสัยเด็กผ่านโครงการเหล่านี้นั้นได้ผลทำให้สามเณรของโรงเรียนนี้ได้รับการเชื่อถือจากชุมชน จากการประพฤติปฏิบัติตัวทั้งยังบวชอยู่และลาสิกขาไปแล้ว”


โครงการค่ายฝึกยอดนักเทศน์มหาชาติ ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้แก่ สามเณรฤทธิพงค์ ปายสาร สามเณรสุวิทย์ ศรีน้ำเที่ยง สามเณรอนุวัตร แซ่ลี สามเณรสรวิชญ์ ขัติยศ และสามเณรอนุกุล สิทธิ เนื่องจากการเทศน์มหาชาติเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร คือชาติสุดท้ายก่อนที่จะเกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า และในสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่จะเข้าวัดเพื่อจะไปฟังเทศน์มหาชาติในวันลอยกระทงของไทย เป็นศาสนพิธีท้องถิ่น จึงอยากจะสืบสานประเพณีเทศน์มหาชาติไม่ให้สูญหายไป เป็นการอนุรักษ์การเทศน์มหาชาตินี้ไว้ให้เป็นเอกลักษณ์ของล้านนาสืบต่อไป และในช่วงที่มีการจัดงานเทศน์มหาชาตินั้น จะมีการสอดแทรกประเพณี เก่าแก่ต่าง ๆ เช่น พิธีสวดเบิก ตีกลองสะปัดชัย ตีกลองปูจา ฟ้อนล่องน่าน และในบางคัมภีร์ของการเทศน์มหาชาติก็มีภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) ซึ่งเป็นโอกาสที่จะได้มีการฝึกภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง)ได้ด้วย


สามเณรฤทธิพงค์ ปายสาร ได้สะท้อนการเรียนรู้ว่า “ได้ฝึกฝนการเทศน์ทำนองแบบพื้นเมืองน่าน ซึ่งยากมาก ทำให้รู้ประวัติพระเวสสันดรอย่างลึกซึ้งขึ้น ตอนเรียนมาก็รู้แบบเผิน ๆ ทำให้ซาบซึ้งกับเนื้อหาได้นำมาปรับใช้กับตัวเองว่า เช่นการให้ทานตรงนี้เรามีไหม เรามาทำแบบนี้ได้ไหม ได้ซึมซับเรื่องความใจบุญ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น การเทศน์ทำให้เราสงบ มีสมาธิ อย่างเมื่อก่อนอารมณ์ร้อนก็ปรับให้เย็นขึ้น และทำให้โยมพ่อ โยมแม่เกิดความปลื้มปิติที่เห็นเราเทศน์ได้ปลุกพลัง “เยาวชนเมืองน่าน” วัฒนธรรมชุมชน thaihealthด้วย บอกว่าอยากให้เผยแพร่


ความรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ส่วนญาติพี่น้องก็ภูมิใจไปเทศน์ที่ไหนก็ตามไปฟังให้กำลังใจ”


โครงการปลูกข้าวนาอินทรีย์ ผู้รับผิดชอบโครงการได้แก่ สามเณรธีรพงษ์ ตาลาว สามเณรชาคร สมจารย์ สามเณรพลพล ธัญญาผล สามเณรจักรพันธ์ สุภรักษ์ และสามเณรคณิศร ปุกคาม เกิดจากความพยายามของคณะครูในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการให้กันสามเณรนักเรียน จากประสบการณ์และปฏิบัติจริงในสถานภาพเป็นสามเณร อันจะเป็นการปลูกคุณธรรมให้เกิดขึ้นในตัวของผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับทั้งยังปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดขึ้นในการเรียนรู้จากพื้นที่จริง นอกเหนือจากการเรียนการสอนของครูในห้องเรียน ได้สอนให้รู้ว่าข้าวเป็นอาหารหลักของมนุษย์และได้อธิบายในหลักการสำคัญและประโยชน์ของข้าวให้กันสามเณรนักเรียนได้เข้าใจได้เห็นคุณค่าของข้าว


สามเณรจักรพันธ์ สุภรักษ์ ได้สะท้อนการเรียนรู้ “ได้การวางแผนในการทำงาน ได้ประสบการณ์ในการปลูกข้าวเพราะได้ปฏิบัติจริงสามารถนำไปเป็นอาชีพได้ ได้ความรู้เรื่องข้าวอินทรีย์การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เกิดประโยชน์กับตัวเอง ทำให้รู้คุณค่าของข้าวมากขึ้นว่ากว่าจะเป็นข้าวต้องเหนื่อยและยากลำบาก เมื่อก่อนฉันข้าวก็เหลือบ้างแต่ตอนนี้ฉันให้หมดไม่ทิ้ง พ่อแม่ก็ดีใจเพราะเมื่อก่อนตอนเป็นฆราวาสไม่ค่อยได้ช่วยงานที่บ้านแต่พอเห็นมาทำนาก็สนับสนุนว่าดี และการทำนาได้ญาติโยมจากบ้านหนองบัวมาช่วยสอน รู้สึกดีที่ลุง ๆ เขาเสียสละเวลามา และผลทำให้เกิดการเปรียบเทียบให้ญาติโยมเห็นว่าการปลูกข้าวแบบอินทรีย์กับใช้ปุ๋ยเคมีได้ผลแตกต่างกันอย่างไร อะไรที่ปลอดภัยกว่า ทำให้ชุมชนได้เกิดการเปรียบเทียบและได้คิดแต่เขาจะเปลี่ยนมาปลูกข้าวแบบเราหรือเปล่าก็แล้วแต่เขา”


โครงการต้องตุงพันชั้น (ตุงปันชั้น) ผู้รับผิดชอบโครงการได้แก่ สามเณรนิธิกร ศรีนวล สามเณรอิทธิชัย เดชฤทธิ์ สามเณรติณภพ สกุลคำ สามเณรสุริยะ สมเงิน และสามเณรวชิรวิทย์ กองโกย เริ่มจากสามเณรได้ไปสืบค้นภูมิปัญญาชาวล้านนาและพบว่ามีการทำต้องตุงพันชั้นที่เริ่มสูญหายไปจากชุมชน ทางโรงเรียนจึงเห็นความสำคัญนำมาจัดทำเป็นโครงการและเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาสอน นอกจากอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านแล้วยังเป็นการพัฒนาทักษะด้านศิลปะแก่สามเณรให้มีความรู้ความสามารถทางด้านงานช่างฝีมือสามารถนำไปใช้ในการเรียนต่อหรือการประกอบอาชีพได้ต่อไป


สามเณรนิธิกร ศรีนวล ได้สะท้อนการเรียนรู้ “ได้เรียนรู้ประวัติของการทำต้องตุง รู้เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราไว้ ได้ทักษะด้านงานฝีมือ มีความรู้ติดตัว ทำให้มีสมาธิในการเรียนมากขึ้น เรียนดีขึ้น เมื่อก่อนไม่ค่อยนิ่งเท่าไร ความยากของการทำต้องตุงคือถ้าทำพลาดไปนิดหนึ่งจะเสียเลยต้องทำใหม่จึงทำให้ตั้งใจทำมาก ๆ คิดว่าน่าจะนำไปเป็นอาชีพได้ เกิดประโยชน์ให้กับชาวบ้านเพราะต้องตุงเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจชาวบ้าน เป็นสิ่งสิริมงคลที่นำไปบูชาที่บ้านด้วย อยากให้ต้องตุงไม่สูญหาย อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์กันเอาไว้”


นี่คือภาพของเยาวชนในอีกสถานะหนึ่งที่ไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้พร้อมเป็นActive Citizen ร่วมกันอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรม วิถีชีวิตดั้งเดิมให้อยู่คู่กับชุมชน เมืองน่านไปอีกนานภายใต้โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน มูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้วัดโป่งคำ สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)







ภาพและข้อมูลจาก
thaihealth.or.th














แอร์โรว์จัดการประมูลภาพวาดโครงการ 'ครอบครัวช้างในหัวใจฉัน'



สืบเนื่องจากผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายแอร์โรว์ (ARROW) บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ ได้จัดโครงการประกวดวาดภาพจิตรกรรมในหัวข้อ "ครอบครัวช้างในหัวใจฉัน" เพื่อหารายได้ร่วมสนับสนุน "โครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ ๖o พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" เนื่องในโอกาสปีมหามงคล สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖o พรรษา โดยมีศิลปินส่งภาพเข้าร่วมการประกวดวาดภาพจิตรกรรมทั้งสิ้นจำนวน ๑๒o ภาพ และได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ, ศาสตราจารย์เกียรติศักดิ์ ชานนนารถ ศิลปินแห่งชาติ และอาจารย์ธงชัย รักปทุม ศิลปินแห่งชาติ เป็นกรรมการตัดสินรางวัล ซึ่งได้ประกาศผลรางวัลไปแล้ว เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา


สำหรับการประมูลภาพวาดในครั้งนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการได้คัดเลือกภาพวาด เพื่อนำเข้าร่วมการประมูลภาพวาดรวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๑ ภาพ โดยก่อนงานการประมูลภาพจะเริ่มขึ้น ได้รับเกียรติจากคุณบุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในงาน พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ร่วมด้วยคุณสมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ ARROW ขึ้นกล่าวเปิดงาน พร้อมมอบรางวัลแก่ผู้ได้รับรางวัลชมเชย รวม ๓ รางวัล โดยศิลปินผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ชื่อภาพ: วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของช้างไทย ศิลปิน: นายประเทือง ก่ำพัด รางวัลรองชนะเลิศ ชื่อภาพ: ครอบครัวช้างในหัวใจฉัน ศิลปิน: นายสราวุธ กันไพรี รางวัลชมเชย ๓ รางวัล ได้แก่ ชื่อภาพ: วิถีคชสาร ศิลปิน: นายเดโช โกมาลา ชื่อภาพ: อดีต-ปัจจุบัน ศิลปิน: นายตนุพล เอนอ่อน ชื่อภาพ: ครอบครัวช้างในหัวใจฉัน ศิลปิน: นายเชี่ยวชาญ ทิพย์วงศ์


บรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจ ทั้งแขกผู้มีเกียรติร่วมการประมูล แขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานศิลปินผู้มาร่วมงาน และแขกผู้มีเกียรติอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยมีคุณเบ็กกี้-รมิดา รัสเซลล์ มณีเสถียร, ดีเจอ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ และคุณวีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา เลขานุการการประกวด เป็นผู้ดำเนินการประมูลภาพร่วมกัน ด้วยท่วงท่าลีลาและอารมณ์ของความสนุกสนาน ผสานการยกป้ายช่วงชิงกันด้วยราคาให้ได้มาซึ่งภาพที่หมายตาไว้ในครอบครอง


เมื่อช่วงเวลาของการประมูลภาพวาดเสร็จสิ้นลงตามกำหนดเวลา จึงปรากฏภาพวาดที่ได้ยอดเงินจากการประมูลสูงสุด ชื่อภาพ: บ้านของช้าง ศิลปิน: นายจักรี คงแก้ว ด้วยจำนวนเงิน ๑๓๕,ooo บาท อีกทั้งรายได้จากการประมูลภาพวาดในครั้งนี้ส่วนหนึ่ง ได้บริจาคเพื่อสมทบทุน "มูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ" สนับสนุน "โครงการคืนช้างสู่ป่าเฉลิมพระเกียรติ ๖o พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" สร้างความปราบปลื้มยินดีแก่แขกผู้มีเกียรติและศิลปินทุกท่านซึ่งให้เกียรติมาร่วมงานกันอย่างถ้วนหน้า.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
thaibangkoknews.blogspot.com














Colourful Colouryo #2



นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่สองของ โยทะกา จุลโลบล ศิลปิน พิธีกรรายการ Daradaily Art showและคอลัมนิสต์ รวมถึงอดีตขวัญใจสื่อมวลชนในการประกวดราชินีช้างปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ซึ่งนิทรรศการครั้งนี้ได้ห่างหายจากนิทรรศการครั้งแรกมากกว่า ๓ ปี ด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา กับสีสันที่มากมายที่เกิดขึ้นในชีวิต ดังนั้นในครั้งนี้จึงเป็นการรวบรวมผลงานมาจัดแสดงถึง ๒ คอลเลคชั่นด้วยกัน โดยในครั้งนี้ เป็นการรวบรวมผลงานถึงสองคอลเลคชั่นมารวมไว้ด้วยกัน โดยคอลเลคชั่นแรกใช้ชื่อว่า “หน้ากากแรด (Rhino mask)” โดยศิลปินได้นำหน้ากากแรดมาแทนความหมายของการต่อสู้อุปสรรคที่เกิดขึ้นในชีวิต และคอลเลคชั่นที่สองในชื่อ“Real isn’t Real” จริงที่ไม่จริง คอลเลคชั่นนี้ศิลปินได้วาดภาพที่เป็นภาพportrait โดยเน้นเส้นสายที่ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่เน้นที่สีสันสดใสเป็นแบบอัตลักษ์ของตนเอง และในขณะที่ใช้เส้นที่ดูเรียบง่าย แต่ภาพดังกล่าวก็สามารถโชว์ถึงอัตลักษณ์ของบุคคลนั้นอย่างชัดเจน


ภายในงานยังมีผลงานของศิลปินรับเชิญมากมายได้แก่ อ.สมภพ บุตราช, อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ, อาจารย์ธวัชชัย สมคง, อาจารย์อลงกรณ์ หล่อวัฒนา, อาจารย์วัชระ กล้าค้าขาย, อาจารย์ชัชวาล รอดคลองตัน, อาจารย์วุฒิกร คงคาและคุณสุริยา นามวงษ์


Exhibition duration: 29 April 2015 – 28 June 2015
Place: Mangkud café and gallery 94/87 Ratchapruek 34 Taling Chan Bangkok 10170
Tel.024320968







ภาพและข้อมูลจาก
allevents.in
FB Mangkud Cafe














“พรรฦก” โดย ชฤต ภู่ศิริ



“พรรฦก” โดย ชฤต ภู่ศิริ นิทรรศการระหว่างวันที่ ๙ เมษายน – ๓o พฤษภาคม ๒๕๕๘
ณ อาร์เดลเธิร์ดเพลส แกลเลอรี (ทองหล่อซอย ๑o)


นิทรรศการ “พรรฦก” นำเสนอผลงานภาพถ่ายภายใต้แนวความคิดเกี่ยวกับการสื่อสะท้อนถึงหลากหลายความเป็นไปในสังคมไทยที่ผู้คนมากมายชินชาจนกลายเป็นความปกติธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นการเพิกเฉยต่อความปลอดภัยในการเดินทางด้วยจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันน็อก การเปิดเผยสื่อลามกอนาจารให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างง่ายดาย หรือการปล่อยปละละเลยให้ภาพการข่มขืนใช้กำลังรุนแรงในครอบครัวกลายเป็นภาพชินตาในละครโทรทัศน์ ผลงานภาพถ่ายสะท้อนความมักง่ายและเรื่อยเฉื่อยต่อความถูกต้องของสังคมไทยสร้างสรรค์โดยศิลปินภาพถ่ายมืออาชีพ ชฤต ภู่ศิริ



























































ภาพและข้อมูลจาก
FB นิทรรศการ


















ภาพและข้อมูลจาก
nanmee.com




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 24 พฤษภาคม 2558
Last Update : 24 พฤษภาคม 2558 23:52:11 น. 0 comments
Counter : 2079 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.