happy memories
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2558
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
6 พฤษภาคม 2558
 
All Blogs
 
เสพงานศิลป์ ๒o๕





ภาพจากเวบ deviantart.com





"ฉันได้จากโลกนี้ไปแล้วโดยไม่เสียใจ

เพราะฉันได้อุทิศชีวิตของฉันให้กับ

บางสิ่งที่เป็นประโยชน์

ในฐานะเป็นผู้รับใช้ที่ต่ำต้อย

ในงานศิลปของฉัน

ชีวิตนั้นสั้น....แต่ศิลปะยืนยาว


ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี





Romance - Yuhki Kuramoto








วัดบรมนิวาส



ความงดงามทรงคุณค่าหลังบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนาสถาน
'วัดบรมนิวาส-วัดปทุมวนาราม'



"วัด" นอกจากเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวพุทธ และมากด้วยความงามทางศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ ยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มีความเกี่ยวพันกับพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกอย่างแนบแน่น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยกองสื่อสารองค์กรภายนอก ฝ่ายสื่อสารองค์กร จึงจัดกิจกรรม "Press Tour อนุรักษ์ศาสนสถาน ทรงคุณค่าศิลปกรรม ร่วมธำรงพระศาสนา" พาสื่อมวลชนเยี่ยมชมวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร และวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดในโครงการอนุรักษ์และทำนุบำรุงศาสนสถานอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์และการเผยแผ่พุทธศาสนา ของสำนักงานทรัพย์สินฯ พร้อมร่วมฟังบรรยายประวัติของศาสนสถาน และความเป็นมาการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยนายสด แดงเอียด ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินฯ ด้านการศาสนา ประวัติศาสตร์และโบราณคดี เมื่อวันที่ ๒o มีนาคม ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา


ในช่วงเช้า คณะสื่อมวลชนเดินทางเข้าเยี่ยมชมวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ซึ่งตั้งอยู่บริเวณริมคลองมหานาค เดิมมีผู้สร้างวัดไว้ ใช้ชื่อว่า "วัดพระราชรินทรอาศน์" แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ต่อมาทายาทผู้สร้างได้ถวายวัดไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ก่อสร้างพระเจดีย์ ระเบียงคต กำแพงแก้ว ศาลาท่าน้ำ และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ จนแล้วเสร็จ และพระราชทานนามว่า วัดบรมนิวาส


วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ถือเป็นวัดนอกกรุงที่เป็นธรรมยุติกนิกายในช่วงแรก (ช่วงเวลาใกล้เคียงกับวัดดอกไม้หรือวัดบุปผารามวรวิหารในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวัดธรรมยุติกนิกาย วัดแรกของฝั่งธนบุรี) และเพราะบรรยากาศที่เปี่ยมไปด้วยความเงียบสงัดจึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นพระอารามหลวงธรรมยุติกนิกายนอกกรุงเคียงคู่กับวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นพระอารามหลวงธรรมยุติกนิกายในกรุง


งานศิลป์อันโดดเด่นภายในวัด ได้แก่ พระทศพลญาณ องค์พระประธานในพระอุโบสถ ลวดลายปูนปั้นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎบริเวณหน้าบัน และภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของขรัวอินโข่ง จิตรกรเอกสมัยรัชกาลที่ ๔ สำหรับภาพจิตรกรรมนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิรูปการวาดภาพจากแบบไทยประเพณีมาเป็นงานจิตรกรรมแนวใหม่ที่ผสมผสานหลักทัศนียวิสัยแบบ ๓ มิติ อันเป็นการวาดแบบตะวันตกแล้ว ยังเป็นภาพปริศนาธรรมที่มีนัยลึกซึ้งแสดงถึงความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปินด้วย


จากนั้นคณะสื่อมวลชนเดินทางไปเยี่ยมชมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร อันเป็นวัดที่สร้างเคียงคู่กับพระราชวังปทุมวัน (ปัจจุบันคือวังสระปทุม) โดยในอดีต พื้นที่แถบปทุมวันเป็นเพียงท้องทุ่งชานพระนคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงมีพระราชประสงค์ให้สร้างพระราชวังเป็นที่ประทับพักผ่อน และมีพระราชดำริให้สร้างวัด เพื่อสะดวกแก่การทำบุญและเป็นศูนย์กลางสร้างความเจริญให้แก่พื้นที่แถบนั้น ทรงอัญเชิญพระสายน์ พระเสริม และพระแสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปจากลาว มาประดิษฐานภายในวัด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุดสระน้ำและปลูกบัวพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงพระราชทานนามวัดว่า "วัดปทุมวนาราม" ด้วย


สำหรับงานศิลปะภายในวัดนั้นเน้นที่ "ดอกบัว" ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรมแสดงเรื่องเทพบุตร เทพธิดามาประพาสสวนสระบัวในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ การผูกลายซุ้มประตูหน้าต่างเป็นลายดอกบัว ซึ่งนอกจากจะพ้องกับนามของพระอารามแล้ว ยังถือเป็นเครื่องบูชาพระพุทธปฏิมาประธานอีกด้วย


ครั้นกาลเวลาผ่านไป งานศิลปะและสถาปัตยกรรมของวัดทั้งสองแห่งชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงเข้ามาร่วมบูรณปฏิสังขรณ์เพื่ออนุรักษ์ศาสนสถานให้กลับมางดงามดังเดิม และจะเกิดประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้อนุชนคนรุ่นหลังเห็นความสำคัญของศาสนสถาน และร่วมด้วยช่วยกันทำนุบำรุงสืบสานพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่ประเทศไทยสืบไป.





วัดปทุมวนาราม



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
กระทู้พันทิป
wikipedia.org
คอลัมน์ "วิถีไทย" นสพ.ไทยโพสต์ ๓ พ.ค. ๒๕๕๘















เทวสตรี แสดงรูปเคารพชิ้นสำคัญ



กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กำหนดจัดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๕๘ เรื่อง “เทวสตรี : คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดนิทรรศการ ในวันจันทร์ที่ ๒๗เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


นายบวรเวท รุ่งรุจี เปิดเผยว่า เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๕๘ กรมศิลปากรกำหนดจัดนิทรรศการเรื่อง เทวสตรี :คติพุทธ พราหมณ์ และความเชื่อในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องคติความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับทางสตรีในประเทศไทย โดยแสดงผ่านหลักฐานจากรูปเคารพเนื่องในศาสนา ตามความเชื่ออันหลากหลายของผู้คนแต่ละยุคสมัย เนื้อหานิทรรศการแบ่งการจัดแสดงเป็น ๔ ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ส่วนที่ ๑ เทวสตรี : คติความเชื่อจากอดีตกาลส่วนที่ ๒ เทวสตรีในศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู: พลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ของสตรีจัดแสดงรูปเคารพเทวสตรีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ค้นพบในประเทศไทยสมัยต่างๆ เน้นการแสดงออกด้านอำนาจ โดยมีวัตถุชิ้นสำคัญๆ อาทิ เทวสตรี (นางปารวตี) ศิลปะสุโขทัย พระลักษมี ศิลปะอยุธยา พระสุรัสวดี หรือนางพรหมมี ศิลปะลพบุรี ส่วนที่ ๓ เทวสตรีในศาสนาพุทธ: ผู้ทรงพลังแห่งพุทธิปัญญาจัดแสดงรูปเคารพ






เทวสตรีในศาสนาพุทธ เน้นการแสดงออกด้านปัญญา อาทิ พระนางปรัชญาปารมิตา ศิลปะลพบุรี นางตาราแปดกร ศิลปะศรีวิชัย และส่วนที่ ๔ พระแม่ เจ้าแม่ ในความเชื่อท้องถิ่น: ขุมพลังแห่งธรรมชาติจัดแสดงรูปเคารพของเทวสตรีตามความเชื่อท้องถิ่น อาทิ พระแม่ธรณีบีบมวยผม พระแม่โพสพ ตำราแม่ซื้อ (หนังสือสมุดไทยขาว)


ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ ๒๙ เมษายน ถึงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ (ยกเว้นวันจันทร์ - วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังจัดพิมพ์หนังสือประกอบนิทรรศการเรื่องดังกล่าว เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ผู้เข้าชมและบุคคลทั่วไปอีกด้วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓, ๐ ๒๒๒๔ ๔๗๐๒







ภาพและข้อมูลจาก
finearts.go.th















ร่วมสืบสานชมศาสตร์ศิลป​์แห่งการแสดง



ละครเวทีประวัติศาสตร์หนึ่งเรื่องนั้นสามารถบอกถึงข้อมูลในอดีตของชนชาติต่าง ๆ ได้อย่างละเอียด ทั้งเสื้อผ้า ฉากประกอบ และบทประพันธ์ที่เข้าใจง่าย เพื่อเป็นการสืบสานสนับสนุนให้ศิลปะแขนงนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น มหาวิทยาลัยรังสิตจึงได้จัดการแสดงละครเพลงประวัติศาสตร์ “ซูสีไทเฮา เดอะมิวสิคัล” รอบพิเศษ ให้เหล่าบุคคลสำคัญทางด้านต่าง ๆ ทั้งศาสตร์และศิลป์ร่วมรับชมแบบเต็มตา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ณ ศาลาดนตรีสุริยเทพ ม.รังสิต เมื่อวันก่อน ท่ามกลางการเฝ้าฯรับเสด็จของเหล่านักศึกษาที่รอชมพระบารมีอย่างปลื้มปีติ


ก่อนทอดพระเนตรละครเวทีเหล่านักศึกษาได้แสดงขบวนเฉลิมพระเกียรติถวายอย่างยิ่งใหญ่เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ ๕ รอบ จากนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดสถาบันจีน-ไทย ภายในมหาวิทยาลัย มีจุดประสงค์ให้เป็นสถานที่สร้างผลงานวิจัยด้านต่าง ๆ ทั้งการแพทย์ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรมที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศไทย-จีน พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานทางวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านจีนศึกษา จากนั้นเสด็จฯ ไปยังศาลาสุริยเทพ หอแสดงดนตรีขนาด ๑,๑oo ที่นั่ง มีระบบเวทีที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งในประเทศไทย เพื่อทอดพระเนตรละครเวทีซูสีไทเฮาที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมอมตะของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ องค์ศิลปินเกียรติยศ เฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมหน้าด้วยทีมนักแสดงและแขกคนสำคัญ อาทิ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี, คุณหญิงบุญนำ อุไรรัตน์, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, อภิรักษ์ โกษะโยธิน, ภัทรา–วิทูร ศิลาอ่อน, ชาติศิริ โสภณพนิช, สมศักดิ์ เมธาอดิศัย วิจิตร เมธีเถกิง, ม.ล.อุบลวดี ชยางกูร ณ อยุธยา เป็นต้น


เมื่อการแสดงผ่านไปเป็นที่ประทับใจของผู้ชมในโรงละครจนเสียงปรบมือดังกึกก้อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานช่อดอกไม้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, สุรุจ ทิพากรเสนี ผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง, เกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้กำกับการแสดง, กัญภัส ศรีณรงค์ นักแสดงนำ และ ผศ.เด่น อยู่ประเสิรฐ คณบดีวิทยาลัยการดนตรี และผู้กำกับดนตรีในละครเวทีเรื่องนี้ ก่อนเสด็จฯ กลับ


อธิการบดี ดร.อาทิตย์ เปิดเผยว่า การเสด็จฯ มาทรงเปิดอาคารนิทรรศการและทอดพระเนตรการแสดงละครเวทีในครั้งนี้ เป็นนิมิตหมายอันดีที่จะส่งเสริมสถาบันให้ก้าวไกล ในอนาคต ในบริบทของมิตรภาพที่มีให้กันระหว่างจีน-ไทย ที่พระองค์ทรงวางรากฐานไว้อย่างมั่นคง







ภาพและข้อมูลจาก
komchadluek.net












ภาพ "แสงสุวรรณภูมิ"



จากแสงเงาสู่แสงสุวรรณภูมิ ปรีชา เถาทอง



เป็นโอกาสดีมากที่เราจะได้ชื่นชมศิลปะระดับครูจากผลงานของ ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทอง ในนิทรรศการ "แสงสุวรรณภูมิ สู่วัฒนธรรมอาเซียน" งานแสดงผลงานล่าสุดของศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปรีชา เถาทอง สนับสนุนโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ผ่านโครงการสืบสานประเพณี ส่งเสริมค่านิยมและความเป็นไทย กิจกรรมเผยแพร่ผลงานศิลปินแห่งชาติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดและวาดภาพฝีพระหัตถ์ในนิทรรศการเมื่อเร็ว ๆ นี้


ผลงานสร้างสรรค์เต็มพื้นที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน เต็มไปด้วยพลังศิลปะที่กระทบใจคนดู เปิดจินตนาการไปสู่ความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งมีความหมายว่า "แผ่นดินทอง" ผ่านรูปทรงโบสถ์ วิหาร และบริเวณในบรรยากาศที่ซับซ้อนของแสงเงา ถือเป็นลายเซ็นของปรีชา เถาทอง





สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ​ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิดงานนิทรรศการ



ทุ่มเทให้กับวงการศิลปะนานกว่า ๔๕ ปี ทำหน้าที่เป็นทั้งอาจารย์สอนศิลปะและศิลปินผู้สร้างสรรค์ อาจารย์ปรีชาให้สัมภาษณ์หลังเปิดนิทรรศการที่มีศิลปินชั้นนำ ศิลปินรุ่นใหม่ ลูกศิษย์ ผู้สนใจงานด้านศิลปะมาให้กำลังใจอย่างอบอุ่นว่า การดูงานศิลปะต้องได้ความรู้สึก เริ่มเห็นความงาม ความพอดี ความพอเพียง ความเป็นเอกภาพของแนวคิด รูปแบบและเทคนิคที่กลมกลืนกัน ได้เห็นความคิดของศิลปินและความหมายจากสิ่งที่กระทบใจเรา สุดท้ายได้ปัญญา ซึ่งในงาน ไมเคิล แองเจโล, ถวัลย์ ดัชนี, จักรพันธุ์ โปษยกฤต ทำให้คนรู้แจ้งในหลักคิดงานศิลปะของศิลปิน





สมเด็จพระเทพฯ ทรงวาดภาพฝีพระหัตถ์ด้วยสีอะครีลิค



อย่างไรก็ตาม ศ.เกียรติคุณปรีชาบอกว่า งานศิลปะของตนก้าวข้ามจากทฤษฎีที่เริ่มจากแสดงความรู้สึก ความสงบ ความลึกลับ ความศักดิ์สิทธิ์ มาใช้รูปแบบแสงเงาที่ปรากฏอยู่บนสถาปัตยกรรมเป็นโครงสร้างสำคัญในการแสดงออก สร้างสรรค์แบบนี้มาหลายสิบปี นิทรรศการนี้เป็นความงามของการประกอบรูป ไม่ใช่งานนามธรรม มีงานจิตรกรรม ศิลปะจัดวาง และยังได้ชักชวนศิลปินอีก ๒๓ คน มาบอกเล่าเรื่องราวดินแดนสุวรรณภูมิเหมือนกัน แต่ศิลปินแสดงออกหลากหลายตามความคิด แต่มีเอกภาพในนิทรรศการนี้






"แสงสุวรรณภูมิ คือ แสงแห่งปัญญา" เป็นคำยืนยันของศิลปินชั้นครูผู้นี้ อาจารย์ปรีชาบอกผู้คนในดินแดนแถบสุวรรณภูมิกำเนิดวัฒนธรรมข้าว วัฒนธรรมด้านอาหาร ด้านเกษตร ศาสนา และศิลปะ อย่างการเขียนลายพรรณพฤกษา ไทย เขมร ลาว พม่า เวียดนาม บรูไน มาเลเซีย มีลวดลายเอกลักษณ์ของตน แต่ทุกลายล้วนจับเอาธรรมชาติมาเป็นรูปทรงทั้งสิ้น แต่เกิดเป็นลายความจริงใหม่ของคนสุวรรณภูมิ เป็นแรงบันดาลใจให้ตนนำลายพรรณพฤกษาของแต่ละชาติมาเป็นจิ๊กซอว์รวมเป็นภาพจิตรกรรมสีอะ ครีลิกบนผ้าใบขนาดใหญ่ "แสงสุวรรณภูมิ (แสงแห่งปัญญา)"


"แสงสุวรรณ ภูมิ เป็นความงามทางความรู้สึกและความงามทางความคิด สร้างจากความบริสุทธิ์ใจ ก้าวข้ามทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ไปแล้ว โดยเฉพาะงานชิ้นนี้ คือ ๑ วิสัยทัศน์ ๑ อัตลักษณ์ ประชาคมอาเซียน" ศิลปินแห่งชาติกล่าว






ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้นอกจากเป็นการก้าวข้ามการทำงานศิลปะของศิลปินแล้ว ยังกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มองรากของตัวเอง ศ.เกียรติคุณปรีชากล่าวว่า คำว่า "สุวรรณภูมิ" ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเป็นชื่อสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของไทย คนส่วนใหญ่คงเคยได้ผ่านเข้า-ออก แต่ความหมายของสุวรรณภูมิกว้างไกลมาก ไม่ใช่แค่ทวารวดี ศรีวิชัย สุโขทัย เชียงแสน อยุธยา รัตนโกสินทร์ แต่ย้อนหลังไป ๔,ooo กว่าปี มีการตั้งถิ่นฐานของผู้คน เห็นได้จากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี หากเราภูมิใจกับดินแดนนี้ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ อย่ามองแค่ ๗๖ จังหวัด






สนใจงานศิลปะในนิทรรศการ "แสงสุวรรณภูมิ สู่วัฒนธรรมอาเซียน" โดย ศ.เกียรติคุณปรีชา เถาทองจัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๗ เมษายน-๑๕ มิถุนายน ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ นิทรรศการครั้งนี้เจ้าตัวเชื้อเชิญศิลปินด้านต่าง ๆ อาทิ ทัศนศิลป์ เพลง เพลงพื้นบ้าน วรรณกรรม กวี นาฏกรรม ร่วมถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดผ่านศิลปะส่วนตน ทั้งงดงามและน่าสนใจทั้งนั้น.







ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
matichon.co.th
culture.go.th















แถลงข่าวงาน "ขุนพลอักษร ละคร เพลง"
๑oo ปีชาตกาล แก้วฟ้า อัจฉริยกุล



โหมโรงเรียกน้ำย่อยก่อนจะถึงวันจัดคอน เสิร์ต สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ พร้อมด้วย โฉมฉาย อรุณฉาน ที่ปรึกษาวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ไปอัดเทปรายการ "ศิลป์สโมสร" ในช่วงไทยบันเทิง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อประชาสัมพันธ์งาน "๑oo ปีชาตกาล แก้วฟ้า รัตนศิลปิน" ออกอากาศในวันพุธที่ ๖ พฤษภาคมนี้ เวลา ๑๑.oo-๑๒.oo น. และออกอากาศซ้ำในเวลา o๑.oo-o๒.oo น.ในคืนวันเดียวกัน


สิ่งที่น่าสนใจในเทปรายการนี้คือ ครูสุเทพ จะขับร้องเพลง "น้อยไจยา" ซึ่งเป็น "บทละครซอ" หนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนาที่เกือบสูญหายหากไม่มีการสืบสานและส่งต่อให้คนรุ่นหลัง โดยเมื่อปี ๒๕o๙ มีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่องน้อยไจยา มีบทเพลงประกอบที่ประพันธ์คำร้องโดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล โดยใช้ทำนองเพลงล่องน่านและเงี้ยวลาดั้ง เดิม แต่เรียบเรียงเป็นดนตรีไทยสากล ขับร้องโดย สุเทพ วงศ์กำแหง


ส่วน โฉมฉาย อรุณฉาน จะขับร้องเพลง "จดหมายรักสลักบนพื้นทราย" แต่งคำร้องโดย ครูแก้ว อัจฉริยะกุล ทำนองเพลงสากล "Love letter in the sand" ทั้งสองเพลงนี้คือตัวอย่างที่จะบรรเลงบนเวทีคอนเสิร์ต "ขุนพล อักษร ละคร เพลง" เนื่องในโอกาส ๑oo ปีชาตกาล "แก้วฟ้า" รัตนศิลปิน ตอน "จากหนัง ละคร ย้อนมาเป็นเพลง แก้ว อัจฉริยะกุล" ในวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคมนี้ เวลา ๑๓.๓o-๑๗.๓o น. ที่หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์


นอกจาก สุเทพ วงศ์กำแหง และ โฉมฉาย อรุณฉาน ในวันแสดงคอนเสิร์ต ๒๔ พ.ค. แฟนเพลงยังจะได้พบกับ สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติจะมาขับร้องคู่กับครูสุเทพในเพลง "ใต้ร่มมลุลี" จากบทละครเวทีและหนังเรื่อง "จุฬาตรีคูณ" จากนั้นร้องเดี่ยวเพลง "หนึ่งในร้อย" และพบกับศิลปินแห่งชาติอีกท่านคือ ชรินทร์ นันทนาคร มาขับร้องบทเพลง "ลมสวาท" และ "ฟ้าคลุ้มฝน" ทั้งนี้บรรเลงดนตรีโดยวงกาญจนะผลิน ควบคุมโดย จิรวุฒิ กาญจนะผลิน


จะมีการจัดแถลงข่าวการจัดงาน "ขุนพล อักษร ละคร เพลง" เนื่องในโอกาส ๑oo ปีชาตกาล "แก้วฟ้า" รัตนศิลปิน ในวันอังคารที่ ๑๒ พฤษภาคม เวลา ๑๓.oo น. ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ และกรมประชาสัมพันธ์ โดยจัดแสดงคอนเสิร์ต ๒ รอบในวันเสาร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม และวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม





ครูแก้ว อัจฉริยะกุล



รายละเอียดคอนเสิร์ต “ขุนพลอักษร ละคร เพลง” เนื่องในโอกาส ๑๐๐ ปีชาตกาล “แก้วฟ้า” รัตนศิลปิน จัดแสดงในวันเสาร์ที่ ๒๓ – อาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ จัดโดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ฯ และ กรมประชาสัมพันธ์ ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีสัมพันธ์ ถนนพระรามที่ ๖


วันเสาร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๘ -- เวลา ๑๓.๓๐ น. - ๑๗.๓๐ น. ตอน : จากชีวิตสู่บทเพลง “แก้ว อัจฉริยะกุล” พบกับสุนทรียรสในบทเพลงครูแก้ว นำโดย สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ โฉมฉาย อรุณฉาน และนักร้องวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมด้วย การขับร้องประสานเสียง วงสวนพลู อำนวยเพลงโดย อาจารย์ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ศิลปินแห่งชาติ คอนเสิร์ตวันเสาร์ สำรองที่นั่งได้ที่ : ม.ล. ปราลี ประสมทรัพย์ โทร. ๐๘๑ – ๘๐๖ – ๑๔๕๖


วันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๘ -- เวลา ๑๓.๓๐ น. - ๑๗.๓๐ น. ตอน : จากหนัง – ละคร ย้อนมาเป็นเพลง “แก้ว อัจฉริยะกุล” พบกับเพลงดังหนัง – ละคร ผลงานครูแก้ว นำโดย ๔ ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหง สวลี ผกาพันธุ์ ชรินทร์ นันทนาคร จินตนา สุขสถิต ร่วมด้วย วินัย พันธุรักษ์ อุมาพร บัวพึ่ง ชรัมภ์ เทพชัย จิตติมา เจือใจ ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล ฯลฯ

วงดนตรีกาญจนะผลิน ควบคุมโดย จิรวุฒิ กาญจนะผลิน

พิธีมอบรางวัลการประกวดบทละครวิทยุ และการแสดงละครวิทยุที่ชนะการประกวด

คอนเสิร์ตวันอาทิตย์ สำรองที่นั่งได้ที่ : คุณวนิดา พานิชเจริญ โทร. ๐๘๑ - ๘๑๒ - ๑๑๖๕ และ คุณชัชชวลี ฐิติวัลค์ โทร. ๐๘๗ - ๕๙๖ - ๗๕๘๙


บัตรราคา ๒,๐๐๐ บาท - ๑,๕๐๐ บาท - ๑,๐๐๐ บาท - ๗๐๐ บาท - ๕๐๐ บาท และ ๓๐๐ บาท



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
manager.co.th
FB สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย














๗๘ ปี ตำนานแห่งสายน้ำ นายสมนึก ทองมา (ชลธี ธารทอง)



เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับนายสมนึก ทองมา (ชลธี ธารทอง) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) ปี พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดจัดโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา ๒ เมษายน ๒๕๕๘ : คอนเสิร์ต “๗๘ ปี ตำนานแห่งสายน้ำ” นายสมนึก ทองมา (ชลธี ธารทอง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ตามรอยเบื้องพระยุคลบาท “วิศิษฏศิลปิน” ผ่านบทเพลงลูกทุ่งไทย ในคอนเสิร์ตที่รวบรวมผลงานการแต่งเพลงของครูชลธี ธารทอง ถ่ายทอดบทเพลงโดยศิลปินเพลงลูกทุ่ง มากมายกว่า ๔๐ ท่าน บรรเลงเพลงด้วยวงออร์เคสตร้าภายใต้การอำนวยเพลงโดย นายสถาพร นิยมทอง ผู้อำนวยเพลงฝีมือลำดับต้นๆ ของเมืองไทย





ครูชลธี ธารทอง



รายได้จากการจำหน่ายบัตรจะนำทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเสด็จพระราชกุศลสภากาชาดไทย ในฐานะองค์อุปนายิกาสภากาชาดไทย


รายชื่อศิลปินเพลงลูกทุ่งที่มาร่วมขับขานบทเพลงของครูชลธี ธารทองในคอนเสิร์ตครั้งนี้

๑. สุนารี ราชสีมา
๒. ศิรินทรา นิยากร
๓. ฝน ธนสุนทร
๔. หนู มิเตอร์
๕. คริสตี้ กิ๊ปสัน
๖. แมงปอ ชลธิชา
๗. อ๊อด โฟร์เอส
๘. ดำรงค์ วงศ์ทอง
๙. จอมขวัญ กัลยา
๑๐. อัมพร แหวนเพชร
๑๑. มนต์สิทธิ์ คำสร้อย
๑๒. สัญญา พรนาราย
๑๓. ใบเฟิร์น ไมค์ทองคำ
๑๔. จ่อย ไมค์ทองคำ
๑๕. ตุ้ม จ่านกร้อง
๑๖. สดใส รุ่งโพธิ์ทอง
๑๗. อาภาพร นครสวรรค์
๑๘. โย่ง นง พวง จำอวดหน้าม่าน (รายการคุณพระช่วย)
๑๙. ไวพจน์ เพชรสุพรรณ
๒๐. ขวัญจิต ศรีประจันต์
๒๑. อ้อยทิพย์ ปัญญาธรณ์
๒๒. เพลิน พรหมแดน
๒๓. ผ่องศรี วรนุช
๒๔. ชัยชนะ บุณณโชติ
๒๕. ชินกร ไกรลาศ
๒๖. ดาวรุ่งชิงช้าสวรรค์
๒๗. เอิ้นขวัญ กัลยา
๒๘. อ๊อฟ ศุภณัฐ
๒๙. เปาวลี พรพิมล
๓๐. ตั๊กแตน ชลดา
๓๑. ต่าย อรทัย
๓๒. ไมค์ ภิรมย์พร
๓๓. เด่นชัย สายสุพรรณ์
๓๔. ศรเทพ ศรทอง
๓๕. ไชยา มิตรชัย
๓๖. กุ้ง สุทธิราช
๓๗. ศรเพชร ศรสุพรรณ
๓๘. เสรีย์ รุ่งสว่าง
๓๙. เอกชัย ศรีวิชัย
๔๐. ดวงดี ศรีวิชัย
๔๑. เจนภพ จบกระบวนวรรณ
๔๒. ฝ้าย ธนวรรณ
๔๓. แดน สี่ดาว
๔๔. กมลาสน์ เอียดศรีชาย
๔๕. ครูชลธี ธารทอง


ข้อมูลทั่วไป

ชื่อคอนเสิร์ต : ๗๘ ปี ตำนานแห่งสายน้ำ นายสมนึก ทองมา (ชลธี ธารทอง)
วันแสดง : วันเสาร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๐๐-๑๘.๐๐ น.
สถานที่ : หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
บัตรราคา : ๓,๐๐๐ และ ๒,๐๐๐ บาท (ชั้น ๑) / ๑,๐๐๐ บาท (ชั้น ๒) / ๕๐๐ บาท (ชั้น ๓)



ภาพและข้อมูลจาก
wikipedia.org
thaiticketmajor.com















แปรรูปเศษไม้เป็นชุดแจกันสุดเก๋ ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



ท่ามกลางผลงานศิลปะของกลุ่มนักศึกษารุ่นใหม่ แจกันฝีมือของ “จินต์จุฑา เผื่อนประไพ” หรือ “พู่กัน” นักศึกษาสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่โดดเด่น สร้างความแปลกตา ชวนจินตนาการ และเป็นสินค้ารักษ์โลก


ชุดแจกันจากเศษไม้แปรรูป คือ ชื่อผลงานคอลเลคชั่นแรกในชีวิตของจินต์จุฑา ซึ่งมีอาจารย์ ศรศิลป์ โสภณสกุลวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นที่ปรึกษา วางตำแหน่งเป็นผลิตภัณฑ์สีเขียว (Green Product) โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบให้ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ตรงความต้องการของผู้ที่รักและหลงใหลในการแต่งบ้าน ทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


จินต์จุฑา เล่าว่า โรงงานหลาย ๆ แห่งใช้วัสดุไม้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตชิ้นงาน เช่น งานเฟอร์นิเจอร์ โรงงานทำบูธ ทำฉาก และงานโครงสร้างต่าง ๆ ซึ่งจะมีเศษไม้ที่เหลือใช้จากการใช้งานเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะถูกนำไปกำจัดทิ้งโดยการเผาหรือฝัง ซึ่งไร้ประโยชน์และก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงมีแนวคิดที่จะนำเศษไม้เหล่านั้น โดยเฉพาะไม้แปรรูปที่มีเนื้อแข็งปานกลาง เนื้อไม้มีสีเข้ม ค่อนไปทางสีแดง มีความแข็งแรงทนทาน เช่น ไม้ตะเคียน ไม้ชิงชัน ไม้เต็ง ไม่มะม่วง ซึ่งเลือกอย่างคละชนิดคละสี มาออกแบบและพัฒนาเป็นชุดแจกันเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์ ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะและรักษาสิ่งแวดล้อม


“ศิลปะอันสร้างสรรค์นี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากความเป็นเหลี่ยมมุมและพื้นผิวจากรูปทรงของก้อนหินต่าง ๆ ซึ่งมีความสวยงามในตัวเองตามธรรมชาติอยู่แล้ว โดยการออกแบบจะนำลักษณะของก้อนหินที่มีทั้งกลม ๆ แป้น ๆ หรือเหลี่ยม รวมถึงดัดแปลง เสริมด้วยจินตนาการ แต่ยังคำนึงถึงความจำเป็นในเรื่องประโยชน์ใช้สอย ตามหลักการออกแบบผลิตภัณฑ์” เจ้าของไอเดีย กล่าว


“เทคนิคการผลิต จะผลิตด้วยวิธีการกลึงไม้ให้เป็นรูปทรงพื้นฐาน แล้วนำมาขัดแต่ง ตัดให้เกิดรูปทรงใหม่ตามที่ต้องการ และใช้เทคนิคการจัดโทนสีอย่างกลมกลืน มีความประณีต และเน้นรูปลักษณ์ที่มีความร่วมสมัย การออกแบบแจกันนี้ มีด้วยกันทั้งหมด ๓ แบบ แบบแรกเป็นแจกันชุด ซึ่งมีความพิเศษ คือ สามารถต่อกัน หรือถอดมาโชว์แบบแยกชิ้นเดี่ยว ๆ ได้ แบบที่สองเป็นแจกันคู่ และแบบที่สามเป็นแจกันเดี่ยวทรงเตี้ย”


“นี่เป็นผลงานคอลเลคชั่นแรกในชีวิต จากความรู้ที่สั่งสมจากมหาวิทยาลัย การค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ นิตยสาร และการศึกษาดูงานต่าง ๆ รวมถึงประสบการณ์ตรงจากผู้ประกอบการด้านจัดและจำหน่ายดอกไม้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและผลิตงานไม้ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดดอกไม้”


ปัจจุบัน จินต์จุฑา ยังกระตือรือร้นและเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มุ่งสู่ตลาดอาชีพทางด้านศิลปะและจะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ออกมาเรื่อย ๆ อย่างเช่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เธอได้เข้าร่วมแสดงโชว์ผลงานในนิทรรศการศิลปนิพนธ์ ๗ ห้องเครื่อง ร่วมกับเพื่อน ๆ ในชั้นปีที่ ๔ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ณ River City Shopping Center ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสได้ถ่ายทอดให้กับน้องนักศึกษารุ่นหลัง เพื่อเป็นแนวทางในการต่อยอดและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ต่อไป และมีความฝันที่จะจัดนิทรรศการเดี่ยวของตนเองในอนาคต


ดูเหมือนออกแบบแจกันเหล่านี้จะเป็นสิ่งเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ไปด้วยจิตสำนึกความรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อม นักออกแบบที่อยากแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือผู้ที่สนใจชุดแจกันจากเศษไม้แปรรูปนี้ สามารถติดต่อได้ที่ o๘-๔๖๔๔-๗๒๓๒







ภาพและข้อมูลจาก
banmuang.co.thcampus.truelife.com















เสวนา "มองชีวิตผ่านดาว"



ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ร่วมกับ สำนักพิมพ์เพื่อนดี และนิตยสารสกุลไทย ขอเรียนเชิญร่วมงานเสวนา
“มองชีวิตผ่านดาว” โหราศาสตร์ในนวนิยายของ กฤษณา อโศกสิน พบกับ...กฤษณา อโศกสิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านวรรณกรรมมากว่า ๖๐ ปี ผ่านนวนิยายกว่าร้อยเรื่อง


นอกจากนี้ยังให้ความสนใจในวิชาโหราศาสตร์อันเป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงการโคจรของดวงดาวที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์ จนสามารถนำมาถ่ายทอดผ่านนวนิยายได้ถึง ๖ เรื่อง ได้แก่ 'แมลงและมาลี' 'ล่องทะเลดาว' 'ลมพัดชายน้ำ' 'จันทร์ยาตรา' 'ดาดฟ้าดาว' และ 'จ้าวอสุรินทร์'


ร่วมเสวนาโดย...โฉมฉาย อรุณฉาน, ผ.ศ. ดร.สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์, ผ.ศ. ดร.ญาดา อารัมภีร อรุณเวช, ผ.ศ. ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ดำเนินรายการโดย... ชมัยภร แสงกระจ่าง (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์)


** ปิดท้ายการเสวนาด้วยการจับฉลากหาผู้โชคดี ที่จะได้ดูดวงกับนักเขียนคนดัง **
วันเสาร์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๒.๓๐ – ๑๗.๐๐ น. ณ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น ๔ (สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่าน ตรงข้ามวัดหัวลำโพง)


สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ โทร. ๐-๒๒๑๘-๙๘๙๓-๕ และที่ chulabook.com







ภาพและข้อมูลจาก
chulabook.com















ถ่ายทอด 'ศิลปะงานมัดย้อม' ชี้ทางอาชีพผู้ต้องขังพ้นโทษ



คณะศิลปกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จัดโครงการ "อบรมวิชาชีพศิลปะการออกแบบและเทคโนโลยี" การออกแบบลวดลายและพัฒนางานมัดย้อมแก่ผู้ต้องขังในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จังหวัดปทุมธานี เพื่อสร้างโอกาสและเป็นช่องทางในการเลือกประกอบอาชีพหลังจากพ้นโทษ


ผู้ช่วยศาสตราจารย์อริยา สุอังคะวาทิน คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เผยว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผู้ต้องขังที่อยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เพื่อเสริมสร้างโอกาสและชี้ช่องทางในการเลือกประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวเมื่อพ้นโทษ และเป็นอีกหนึ่งโครงการของทางคณะฯ ที่จัดขึ้นเพื่อบริการวิชาการแก่สังคมอย่างต่อเนื่อง


นายสุระจิตร แก่นพิมพ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า ผู้ต้องขังเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสค่อนข้างจำกัดในเรื่องการใช้ชีวิตและการศึกษาหาความรู้ ทางคณะจึงจัดโครงการขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ผู้ต้องขัง ให้มีโอกาสในการนำทักษะความรู้เกี่ยวกับศิลปะงานมัดย้อมไปใช้ประโยชน์และเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการประกอบอาชีพ เพราะงานมัดย้อมมีการลงทุนที่ไม่แพง เรียนรู้ได้ง่าย และใช้ความคิดสร้างสรรค์

"คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากรหลักในการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งใช้เวลาในการอบรมเพียง ๓ วัน เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้ผ้า สีในการทำการมัดย้อม การออกแบบลวดลายในการทำผ้ามัดย้อม เทคนิคการมัดย้อม และการนำผ้าไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยผู้ต้องขังที่เข้าร่วมจะได้รับการฝึกปฏิบัติจริงเป็นรายบุคคล ที่สำคัญยังช่วยบำบัดและขัดเกลาจิตใจผ่านผลงานศิลปะไปในตัว เพื่อลดความเครียด โดยมีนักศึกษาจากทางคณะ เข้าร่วมถ่ายทอดศิลปะงานมัดย้อม" อาจารย์สุระจิตรกล่าว


นายใจเพชร ศรีรักษา และนายสุพพัต หวันชิตนาย นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาออกแบบแฟชั่นและศิลปะสิ่งทอ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ทั้งสองคนเชื่อว่า "โอกาสที่ดีมอบและส่งต่อกันได้เสมอ เมื่อมหาวิทยาลัย ให้โอกาสอาจารย์และนักศึกษาได้มาถ่ายทอดความรู้ อาจารย์และนักศึกษาก็มอบความรู้ต่อไปให้กับบรรดาผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังก็สามารถส่งต่อความรู้นี้ให้กับเพื่อนผู้ต้องขัง ตลอดจนครอบครัวของเขาเมื่อพ้นโทษ และใช้ทำมาหากินได้


ผู้ต้องขังชายวัย ๔๓ ปีที่เข้าร่วมอบรมรายหนึ่ง เผยว่า เหลือเวลาอีกไม่กี่ปีก็จะพ้นโทษ ความรู้ที่ได้รับจากโครงการนี้สามารถเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างสุจริตในอนาคตได้ เพราะงานมัดย้อมลงทุนไม่แพง เพียงแค่มีผ้าที่จะใช้มัดย้อม สีย้อมผ้า เชือก หนังยาง เกลือ กะละมังเคลือบ และเตาแก๊ส ซึ่งอุปกรณ์ส่วนใหญ่ก็หาได้ภายในบ้านอยู่แล้ว


"กิจกรรมตลอดทั้ง ๓ วันมีความน่าสนใจ ซึ่งวันสุดท้ายมีการเดินแฟชั่นโชว์ผลงานจากผู้ต้องขังที่ได้รับการอบรมจากโครงการ พร้อมด้วยเหล่านักศึกษาสาวสวย สร้างสีสันและความประทับใจอย่างมาก อยากให้มีโครงการแบบนี้เรื่อยๆ เหมือนเป็นการเสริมสร้างทักษะชีวิตให้กับคนที่ท้อแท้ มีความเครียด ได้มีกำลังใจ ได้เรียนรู้ช่องทางการประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ"


ศิลปะงานมัดย้อมที่ มทร.ธัญบุรี ถ่ายทอดนี้ จะจุดประกายหรือเป็นจุดเริ่มต้นในการเลือกประกอบอาชีพอย่างสุจริตของผู้ต้องขังได้ เพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวต่อไป.



ภาพและข้อมูลจาก
ryt9.com
newsplus.co.th















มาลีมาเล่า ผ่าน……ระพีลีลา



ดอกไม้ สื่อสากลแฝงความหมายและความรู้สึกดีดี ที่มอบให้แด่คนสำคัญกันมายาวนาน ถูกถ่ายทอดในรูปแบบนูนต่ำ ที่สร้างสรรค์ด้วยเกรียงสีน้ำมัน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ผู้วาดประทับใจสมัยประถมศึกษาปีที่ ๖ เรียนรู้ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบันความประทับใจในเทคนิค ความรักในหมู่มวลดอกไม้นานาพันธุ์ ได้ถูกถ่ายทอด บอกเล่าในรูปแบบเฉพาะของผู้วาด ผ่านงานแสดงศิลปะเดียวครั้งแรกในชีวิต “มาลีมาเล่า” ระพีลีลา


นิทรรศการ : มาลีมาเล่า ผ่าน……ระพีลีลา
ศิลปิน : ระพี ลีละสิริ
วันที่ : ๓ – ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘
สถานที่ : People’s Gallery P1-P2 ชั้น ๒ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : o๒-๒๑๔-๖๖๓o



ภาพและข้อมูลจาก
artbangkok.com















ครูอ๋ายชวนปักผ้าอีกบรรยากาศแบบไทย ๆ


งานที่คุมธีมด้วย วัฒนธรรมดอกไม้ไทย ชิ้นที่ ๗ นี้

หยิบเอาพานพุ่มมาประยุกต์ให้ออกแนว graphic ที่สวยงามเด่นสะดุดตา

โดยมีแรงบันดาลใจจากหนังสือ Dok Mai Thai/ Sakul Intakul

Class เดียว วันเดียวเท่านั้น

วันเสาร์ที่ ๑๖ พ.ค. ๒๕๕๘ / ๑o.oo-๑๘.oo น.

ที่พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ / สามเสน ๒๘

สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่เบอร์ o๒-๖๖๙- ๓๖๓๓



ภาพและข้อมูลจาก
FB พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้















An Original by the Originals



นิทรรศการกลุ่มครั้งแรกของสตูดิโอภาพพิมพ์ “ดิ อาร์คะวิสท์” สตูดิโอที่มุ่งเน้นกระบวนการพิมพ์ภาพพิมพ์มือด้วยเทคนิคสกรีนพริ้นท์ ซึ่งในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทางสตูดิโอเชิญเหล่าศิลปินตั้งแต่รุ่นเล็ก ไปจนถึงรุ่นใหญ่ จำนวน ๑๒ ท่าน ที่เชี่ยวชาญศิลปะหลากหลายแขนง มาร่วมสร้างสรรค์ชิ้นงานอันเป็นเอกลักษณ์ ผ่านกระบวนการทางความคิดในเชิงเทคนิคภาพพิมพ์สกรีนพริ้นท์ ให้เป็นงานภาพพิมพ์ร่วมสมัยที่น่าสนใจและท้าทายให้ผู้ชมงานได้เห็นชั้นเชิงทางเทคนิคอันแยบยล ไปจนเห็นคุณค่าที่เกิดจากการสร้างสรรค์ชิ้นงานร่วมกัน จวบจนการต่อยอดทางความคิดที่ส่งผลสะท้อนกันไปมาระหว่างช่างพิมพ์และศิลปิน


นิทรรศการครั้งนี้ บอกเล่าผ่านศิลปิน ๑๒ ท่าน ได้แก่ สันติ ลอรัชวี ผู้เป็นทั้งคิวเรเตอร์และกราฟิกดีไซเนอร์ (Practical Design Studio), ธีรนพ หวังศิลปคุณ (TNOP DESIGN), จิรายุ คูอมรพัฒนะ ศิลปินและนักทำภาพประกอบ, จักรกฤษณ์ อนันตกุล ศิลปินสตรีตอาร์ทและกราฟิกดีไซเนอร์, คณิตา มีชูบท ศิลปินปะติมากรรมกระดาษและนักวาดภาพประกอบ, สุทธิภา คำแย้ม ศิลปินนักวาดภาพประกอบและนักเดินทาง, มิญชญา ชโยสัมฤทธิ์ (The Archivist), เมย์ ไวกิตติพงษ์ Pianissimo Press Shop), เดือน จงมั่นคง Deun Chongmankhong ศิลปินถ่ายภาพและนักดนตรี, พิม จงเจริญ Teaspoon Studio), วุฒิพงษ์ มหาสมุทร Free Typewriter) และ จารุตม์ จันทร์ประภานนท์ Jark กราฟฟิคดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ ด้วยเบื้องหลังอันแตกต่างของตัวศิลปินแต่ละท่านทำให้การทำงานร่วมกันมีทั้งความยาก ง่าย ล้ำลึก แยบยล แตกต่างกันไป ซึ่งทุกคนจะได้เห็นพร้อมกันจากการชมนิทรรศการกลุ่มในครั้งนี้


นิทรรศการกลุ่มครั้งนี้มุ่งเน้นกระตุ้นให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเป็น Original ของงานศิลปะแต่ละชิ้นที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อผลงานชิ้นหนึ่ง คือชิ้นงานภาพพิมพ์ด้วยมือ ซึ่งโดยกระบวนการแล้ว แต่ละชิ้นเองก็เรียกได้ว่าเป็น Original ในตัวเอง และอีกชิ้นหนึ่ง คือชิ้นที่ศิลปินนำไปสร้างสรรค์เพิ่มเติมต่อ เมื่อศิลปินแต่ละท่านจัดแสดงงาน ๒ ชิ้นงานคู่กัน เราจะพบเสน่ห์แห่งชิ้นงานที่เป็น Original ผ่านความรู้สึกที่แสดงออกมาในแต่ละชิ้นงานด้วยความตั้งใจของช่างพิมพ์และศิลปิน


นิทรรศการ “An Original by the Originals”
นิทรรศการศิลปะภาพพิมพ์กลุ่ม โดย พริ้นท์สตูดิโอ The Archivist
๗ พฤษภาคม - ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘
เปิดงานวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น. เป็นตันไป























ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com














PURE


"PURE" Arts Thesis Exhibition

วันที่ : ๕-๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘

สถานที่: โถง ชั้น ๑

โดย สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ วิทยาลัยเพาะช่าง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com















นิทรรศการ โดย วารี แสงสุวอ



มนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถมีความรู้สึกต่อประสบการณ์จากการดำเนินชีวิต บางครั้งเป็นความทรงจำที่สร้างความรู้สึกดี ฝังลึกไว้ในจิต แต่บางครั้งก็เป็นความทรงจำที่ทำให้ระลึกถึงข้อผิดพลาดในชีวิต สร้างบาดแผลในใจ หากระลึกถึงความรู้สึกและประสบการณ์นั้น แม้จะเป็นความทรงจำที่ดีหรือไม่ก็ตาม ควรคิดคำนึงและมองให้เป็นประโยชน์ เปลี่ยนความรู้สึกนั้น ให้เกิดเป็นแรงผลักดัน กระตุ้นเตือนสามัญสำนึกด้วยสติสัมปชัญญะ เพื่อให้ก่อเกิดพลังใจ เกิดปัญญา อันจะนำไปสู่การดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติ รอบคอบ สมดุล


PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเชิญชมนิทรรศการ “Shape of Remembrance” โดย “วารี แสงสุวอ” พิธีเปิดนิทรรศการ วันเสาร์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.oo น. ณ PSG Art Gallery คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กรุงเทพฯ



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com















รั้ง



แกลอรี่ซีสเคป เชียงใหม่ มีความยินดีขอเชิญท่านเข้าร่วมเป็นเกียรติ ในการเปิดนิทรรศการศิลปะ “รั้ง” ผลงานของคุณเจษฎา ตั้งตระกูลวงศ์ ในวันที่เสาร์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๙.oo น. ถึง ๒๑.oo น. โดยผลงานดังกล่าวจะจัดแสดงที่แกลอรี่ถึงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.oo น. ถึง ๒๑.oo น. ทุกวันยกเว้นวันจันทร์


ผลงานศิลปะแบบการจัดวางของคุณเจษฎาครั้งนี้เป็นการจัดวาง แบบเจาะจงพื้นที่ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากผนังด้านนอกของแกลเลอรี่ ที่ใช้ไม้ไผ่มาสานเป็นเส้นตาราง ในนิทรรศการนี้ไม้ไผ่จะถูกนำมาใช้เป็นเส้น ในการผสานพื้นที่ห้องนิทรรศการกับผนังด้านนอกแกลเลอรี่ให้กลายเป็น พื้นที่เดียวกัน และเส้นไม้ไผ่จะถูกสอดประสานให้เกิดรูปทรงสามมิติ ที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะของการไขว่คว้าหาหลักยึดเหนี่ยว เพื่อไม่ให้ถูกฉุดดึงไปตามกระแส



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com















เชียงรายบ้านฉัน


นิทรรศการกลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์เชียงราย ครั้งที่ ๓


"เชียงรายบ้านฉัน"


เปิดนิทรรศการวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๘.oo น.


นิทรรศการจัดแสดงวันที่ ๙-๓o พฤษภาคม ๒๕๕๘


ณ ขัวศิลปะ เชียงราย



ภาพและข้อมูลจาก
wikalenda.com















Art for the Ocean



เขาไม่ใช่ชายผู้ชื่นชอบดอกไม้มากเป็นพิเศษ และไม่กล้าบอกใครต่อใครด้วยว่าดอกไม้ของเขาเป็นศิลปะที่สวยงามและสร้างสรรค์เป็นที่สุด เขาแค่อยากใช้มันเป็นสัญลักษณ์กระตุ้นเตือนให้ผู้คนใช้สิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวให้คุ้มค่า แม้แต่ขยะที่คิดจะทิ้งไปให้ไกลตัว เขาหวังว่าทุกคนจะมองเห็นความสวยงามในความน่ารังเกียจของมัน


นิทรรศการ Art for the Ocean จัดโดยกลุ่ม Green Pace เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้เราได้รู้จักกับเขา อลิญญะ ศิลปินลาวสัญชาติฝรั่งเศส ผู้นำขยะที่เก็บได้จากท้องทะเลบางแสนโดยเฉพาะขวดพลาสติด มาสร้างสรรรค์เป็นงานศิลปะรูปดอกไม้ เพื่อสะท้อนถึงวิกฤตของขยะที่ส่งผลกระทบต่อท้องทะเลในปัจจุบัน ดังที่มีข้อมูลเผยออกมาว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ ๖ ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก


นอกจากนี้ อลิญญะยังป็นวิทยากรในกิจกรรม Workshop การทำงานศิลปะจากขยะ ให้กับผู้ที่สนใจด้วย วัดจากงานศิลปะเพียงไม่กี่ชิ้นที่นำเสนอในนิทรรศการและกิจกรรมเล็กๆที่เขามีส่วนร่วมในครั้งนี้ Green Pace อาจไม่จำเป็นต้องเชิญให้เขาบินข้ามน้ำข้ามทะลมาไกลจากฝรั่งเศส แต่เพราะความสนใจเรื่องการทำงานศิลปะจากขยะของอลิญญะที่มีมานานหลายสิบปี อีกทั้งไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องขยะจากท้องทะเล ก็เป็นได้














“ข่อยหนีจากเมืองลาวไปตอนอายุ ๑๗ ปี ถึงตอนนี้ไปอยู่ฝรั่งเศสได้ ๔๑ ปีแล้ว”


ภาษาลาวสำเนียงเวียงจันทน์ของอลิญญะ ถูกนำมาใช้สื่อสารอีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นเวลา ๔๑ ปีแล้วเช่นกัน ที่เจ้าตัวยังไม่เคยได้มีโอกาส กลับไปเยือนเวียงจันทน์อีกเลย นับตั้งแต่ที่จากไปเมื่อปี ๑๙๗๔ ช่วงเวลาหนึ่งปีก่อนที่คอมมิวนิสต์จะบุกลาว


อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้อลิญญะต้องไปฝรั่งเศส แต่เขาไปเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ไปเพื่อหาช่องทางเรียนต่อ หลังจากที่เคยเข้าเรียนที่โรงเรียนของฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์มาหลายปี


เมื่อยังไม่มีเงินเพื่อจ่ายค่าเรียน ชีวิตในช่วงแรก ๆ ของอลิญญะที่ฝรั่งเศส จึงต้องทำงานเป็นพนักงานจัดร้าน ในร้านขายถ้วยชามซึ่งนำเข้าจากเมืองจีน และถือเป็นร้านเดียวในปารีส ณ ขณะนั้น ที่บรรดาร้านอาหารจากทั่วฝรั่งเศสจะต้องมาซื้อถ้วยชามไปใช้งาน














จัดถ้วยชามอยู่หนึ่งปีในเวลาต่อมา จึงมีโอกาสเข้าเรียนด้านการวาดภาพสถาปัตย์ ในโรงเรียนฝึกอาชีพของรัฐบาลฝรั่งเศส และจบออกมาทำงานเป็นผู้ช่วยสถาปนิกในปารีสอีก ๑ ปี กระทั่งพ่อแม่ และสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวได้ย้ายจากเวียงจันทน์มาอยู่ที่ฝรั่งเศสด้วยกันทั้งหมด แต่ไปอยู่เมืองอื่นที่ไม่ใช่ปารีส เนื่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสไม่อยากให้มีคนกระจุกตัวอยู่ในปารีสมากเกินไป อีกทั้งการจะหาบ้านเช่าในปารีสก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วก่อนจะมาเป็นศิลปินที่มุ่งเน้นทำงานศิลปะจากขยะและของเหลือใช้ อลิญญะมาสนใจทำงานศิลปะได้อย่างไร


“อ้ายข่อยเฮ็ดศิลปะ เฮียนศิลปะอยู่ฝรั่งเศส แต่ข่อยบ่ได้เฮียน ข่อยมักศิลปะ มักไปเบิ่ง Exhibition มักแต่บ่กล้าเฮ็ด”


อลิญญะเล่าถึงพี่ชายเขาที่ได้เรียนศิลปะ ขณะที่เขาไม่เรียนมา แต่มีความชอบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากพี่ชายและจากการที่ได้ไปชมผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการต่าง ๆ หลังจากที่มีแต่ความชอบแต่ไม่กล้าลงมือทำมาโดยตลอด วันหนึ่งสถานการณ์ก็ทำให้ได้ค่อยๆฝึกฝนตนเอง


เนื่องจากอลิญญะไปซื้อบ้านเก่ามาปลูกเพื่ออาศัย แต่เมื่อไม่มีเงินมากพอที่จะซ่อมแซม ปรับปรุง และตกแต่งบ้าน จึงต้องไปเสอะหา และขอซื้อลดราคา บรรดาเศษวัสดุต่าง ๆ ทั้งเหล็กและไม้ เพื่อนำมาใช้งาน รวมถึงต้องฝึกฝนใช้เครื่องมือ เพื่อลงมือทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง














ช่วงเวลานี้ทำให้อลิญญะหวนนึกถึงอดีตของตัวเอง เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ที่เวลาอยากได้ของเล่นต้องลงมือทำเอง นอกจากจะไม่มีเงินซื้อ สมัยนั้นยังไม่มีร้านขายของเล่น อีกทั้งเศษวัสดุที่ต้องการจะนำมาทำเป็นของเล่นก็ยังมีไม่มาก


“ตอนข่อยเป็นเด็กน้อยอยู่เมืองลาว คนกะบ่มีเงินท่อได๋ บ่มีฮ้านเครื่องเล่น ให้ไปซื้อ แต่เด็กน้อยสมัยนี้ มีฮ้าน มีพ่อแม่ซื้อให้ แล้วสมัยก่อนยังบ่มีเศษเครื่องกระป๋อง (อาหารกระป๋อง) ยังบ่มีหลาย ถ้ามีหนึ่งอันกะเก็บไว้ใช้งานอย่างอื่น ตอนเป็นเด็กน้อยข่อยมักเฮ็ดเครื่องเล่น เอากระป๋องมาเฮ็ด เอาล้อมาใส่ แล้วกะยู้ไปให้มันแล่น(ผลักหรือลากไปให้มันวิ่ง)”


จนวันหนึ่งได้รู้จักกับเพื่อนที่ทำงานด้านภาพยนตร์ และได้ช่วยทำฉาก ทุกๆครั้งอลิญญะจะเก็บบรรดาเศษวัสดุที่เหลือทิ้งหลังการถ่ายทำภาพยนตร์มาประดิษฐ์เป็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน กระทั่งเริ่มมีคนมาจ้างให้เขาทำของตกแต่ง รวมถึงดีไซเนอร์ชื่อดังของอเมริกา ที่นอกจากมาจ้างให้เขาทำโพเดียมให้ยังมายังจากให้ทำต้นไม้ประดิษฐ์จากเศษวัสดุไปโชว์ในงานอีเว้นต์ นับตั้งแต่ปี ๒oo๓ เป็นต้นมา เวลาพบเห็นเศษวัสดุอะไร อลิญญะก็มักเก็บมาทำดอกไม้... และดอกไม้


เขาบอกว่าไม่ต้องการเลียนแบบธรรมชาติ แต่ต้องการสื่อให้คนรู้ว่า ของไร้ค่า ที่เราคิดจะทิ้งมันไป หรือที่ถูกทิ้งตามท้องถนน ที่เรารังเกียจ ไม่กล้าหยิบ สามารถเปลี่ยนมาเป็นสิ่งสวยงามได้ และสิ่งหนึ่งที่จะสื่อแทนสิ่งสวยงามได้ดีที่สุดคือ ดอกไม้


“ถ้าข่อยเปลี่ยนให้มันมาเป็นดอกไม้ คนกะอยากซื่นซม อยากเบิ่ง แล้วถ้าคนได้เบิ่งดอกไม้ของข่อย เขากะสิฮู้สึกว่า โอ้ ...แทนที่สิทิ่ม เก็บไว้เฮ็ดแนวได๋ที่มันมีราคาดีกว่า”














ปี ๒oo๖ นอกจากไปร่วมเป็นเกียรติ แต่ยังต้องทำหน้าที่ขนดอกไม้ไปเอ้ (ตกแต่ง) ในงานดอง (งานแต่งงาน) ของเพื่อนที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีแขกคนหนึ่งในงานได้เห็นดอกไม้ของเขาแล้วรู้สึกประทับใจ จึงโทรศัพท์ไปเล่าให้นักจัดงานศิลปะคนหนึ่งฟังและเมื่อนักจัดงานศิลปะคนนั้นได้เข้าไปดูตัวอย่างผลงานของอลิญญะในเวบไซต์ ในเวลาต่อมาจึงเชิญอลิญญะไปแสดงผลงานที่เวนิส ทำให้อลิญญะได้มีโอกาสแสดงผลงานและร่วมกิจกรรมอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งในอเมริกา เม็กซิโก อังกฤษ ฯลฯ


ไม่ว่าไปเมืองไหน เขาก็จะเก็บขยะหรือวัสดุเหลือใช้ที่พบเห็นเมืองนั้นมาทำเป็นดอกไม้ ดังนั้นเวลาก้มหน้ามองเห็นขยะที่สามารถนำมาใช้งานได้ สำหรับอลิญญะแล้วจึงไม่ต่างอะไรกับการก้มหน้ามองเห็นดอกไม้ที่กำลังแย้มบาน


กระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศส ที่ทำงานให้กับ Green Pace ในไทย กลับไปเยี่ยมบ้าน และได้ไปซื้อผลงานดอกไม้ของเขา รวมถึงได้เห็นสวนประติมากรรมดอกไม้ในบ้าน ที่เขากำลังทำอยู่ จึงชวนให้เขามาร่วมกิจกรรมที่เมืองไทย เนื่องจากในปีนี้ Green Pace ทำแคมเปญเกี่ยวกับเรื่องทะเล อลิญญะไม่รีรอที่จะตอบตกลงเพราะอยากร่วมงานกับ Green Pace มานาน แต่ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักกับใครเป็นการส่วนตัว














เมื่อมาถึงเมืองไทยอลิญญะและทีมอาสาสมัคร ได้ลงพื้นที่ที่บางแสน จ.ชลบุรี ขยะที่เขาพบมากที่สุดและเลือกนำมาสร้างงานให้คนได้ชมในนิทรรศการ คือ ขวดน้ำดื่มทำจากพลาสติก ที่บรรดานักท่องเที่ยวโยนทิ้ง เขานำแหกับไม้ไผ่ มาทำเป็นปลาตัวใหญ่ลอยอยู่ท่ามกลางดอกไม้ทำจากขวดพลาสติกจำนวนมาก เพื่อรณรงค์ไม่ให้คนทิ้งขยะหรือขวดพลาสติกเหล่านี้ลงทะเล ซึ่งจะทำลายที่อยู่อาศัยของปลา และคล้ายเป็นหนึ่งเสียงแทนปลาว่า “ขอให้ฉันได้อยู่ท่ากลางดอกไม้ทะเลที่สวยงาม ไม่ใช่ขวดพลาสติก”


“ตอนนี้อาจสิบ่เป็นหยัง แต่ในอนาคตอีกสิบปีซาวปี ทะเลสิยังมีปลาอยู่บ่ กะบ่ฮู้ได้”


เสร็จสิ้นกิจกรรมที่ประเทศไทย อลิญญะจะต้องกลับไปเดินหน้าทำส่วนประติมากรรมดอกไม้ที่บ้านของเขาต่อไป ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองปารีสราว ๖o หลัก (กิโลเมตร) และยินดีที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทุกกิจกรรม ที่มองว่าดอกไม้ของเขาจะเป็นเสียงเล็กๆที่ช่วยกระตุ้นเตือนไม่ให้ผู้คนไม่ทิ้งขยะทำลายโลก ก่อนจากกัน ถามเขาว่าตั้ง ๔๑ ปี แล้ว ที่ไม่ได้กลับลาว มาถึงเมืองไทยใกล้ลาวขนาดนี้ “บ่กลับไปเยี่ยมยามลาวบ่”










อลิญญะบอกว่า เวลานี้เขาไม่มีญาติพี่น้องเหลืออยู่ที่ลาวสักคน และยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนของประเทศไหนเป็นพิเศษ อีกทั้งเขาก็ไม่ใช่คนที่มีเชื้อสายลาวโดยตรง เพราะพ่อเป็นคนจีน และแม่เป็นคนเวียดนามที่มาอยู่ประเทศลาว ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ฝรั่งเศส พ่อของเขาเปิดร้านรับถ่ายภาพพอร์ตเทรตและถ่ายภาพแต่งงาน


“แม้ว่าข่อยจากเมืองลาวไปฝรั่งเศส แต่ตามแท้ข่อยก็บแม่นคนลาว ย้อนว่า พ่อแม่ข่อยมาจากเมืองจีน เมืองเวียด แล้วในชีวิตนี้ข่อยก็บ่เคยไปเมืองจีนจักเทื่อ ข่อยกะบ่ฮู้สึกว่าเมืองจีนเป็นเมืองข่อย แล้วข่อยใหญ่อยู่เมืองลาวกะบ่แม่นเมืองของข่อยคือกัน ย้อนว่าข่อยอยากเรียนหนังสือ ข่อยกะไปเมืองฝรั่ง แต่เมืองฝรั่งกะบ่แม่นเมืองของข่อย ข่อยคิดว่าข่อยคือคนๆหนึ่งอยู่ในโลก เมืองใดฮับข่อยอยู่ ข่อยกะอยู่ ข่อยอยู่ได้สะดวก กะดีใจอยู่ ข่อยบ่ผูกพันคือคนไทย แม่นอยู่ เพราะว่าเจ้าเกิดเมืองไทย อยู่เมืองไทยตลอด เจ้าก็รู้สึกว่าเมืองไทยเป็นบ้านของเจ้า”


แต่ทุกครั้งที่ไปร่วมกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม อลิญญะจะแนะนำตัวเองในฐานะ “ศิลปินลาวจากฝรั่งเศส” ด้วยเหตุผลที่ว่า


“ย้อนว่า ถ้าข่อยบอกคนว่าข่อยเป็นฝรั่ง ข่อยก็เบิ่งบ่คือคนฝรั่ง หน้าข่อยบ่แม่นฝรั่งเด้ (หัวเราะ) ข่อยใหญ่ที่เมืองลาว แต่ข่อยก็บ่แม่นคนลาว ข่อยปากคำลาวกับอ้ายน้องของข่อย ฮู้ว่าเมืองลาวอยู่เอเชีย ข่อยเคยอยู่เมืองลาว ๑๗ ปี ตามแท้คนต้องแนะนำข่อยว่า คนฝรั่งเศสมาแต่เมืองลาว แต่เขาเสนอข่อยคือคนลาวมาแต่ฝรั่งเศส”



ภาพและข้อมูลจาก
FB นิทรรศการ
manager.co.th















ขับเคลื่อนจิตวิญญาณ

ประชาสัมพันธ์นิทรรศการของศิลปินในกองทุนศิลปินเชียงราย (ขัวศิลปะ)


นิทรรศการ"ขับเคลื่อนจิตวิญญาณ" โดย กฤษฎา รักษาศิลป์ (ครูเค)


เปิดงาน วันอังคารที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๗.oo น.


ณ โซนแสดงนิทรรศการอภิสแควร์ เชียงราย


นิทรรศการจัดแสดงวันที่ ๑-๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๘


ห้องแสดงงานเปิดทุกวัน เวลา ๑o.oo-๒๑.oo น.(เข้าชมฟรี)



ภาพและข้อมูลจาก
FB ขัวศิลปะ




บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะ



บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ Hawaii_Havaii

Free TextEditor





Create Date : 06 พฤษภาคม 2558
Last Update : 6 พฤษภาคม 2558 23:24:47 น. 0 comments
Counter : 3131 Pageviews.

haiku
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 161 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add haiku's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.