กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
ต้นกล้าท้าหมอกควัน พลังเยาวชนต่อกรกับปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ



บทความ โดย ฐิติกร ศรีชมภู

กลายเป็นประเด็นร้อนสำหรับวิกฤตการณ์หมอกควันพิษ PM2.5 ที่กำลังปกคลุมกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครเท่านั้นที่เจอกับวิกฤตการณ์ฝุ่นพิษ ขณะนี้หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ก็กำลังประสบปัญหานี้ด้วยเหมือนกัน

หากเช็คดูจากค่าคุณภาพอากาศของเว็บไซต์ www.aqicn.org จะเห็นได้ว่าหลายอำเภอในเชียงใหม่ และลำปางมีค่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะประเด็นเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นที่เร่งด่วน ประกอบการทางภาครัฐไม่มีการขยับนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ จึงทำให้คนกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นถึงปัญหานี้และคิดที่จะนำพลังของเยาวชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในบทความนี้เราชวนคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งได้จัดโครงการ “ต้นกล้าท้าหมอกควัน” โครงการดีๆ จากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ดร. ว่าน วิริยา ผู้ช่วยหัวหน้าศูนย์ฝ่ายกิจกรรมสัมพันธ์เป็นหัวหน้าโครงการ โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เยาวชนในเขตภาคเหนือตอนบนให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหมอกควัน และสร้างเครือข่ายเยาวชนเพื่อให้มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ปัญหาหมอกควันในชุมชน อีกทั้งเพื่อสร้างโรงเรียนต้นแบบในการลดการเผาในชุมชนของตนเอง ความคาดหวังของโครงการนำร่องที่นี้สามารถกระตุ้นให้โรงเรียน และชุมชนโดยรอบตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน จนนำไปสู่ผลลัพธ์คือ การแก้ปัญหาหมอกควันในชุมชนของตนเองได้อย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม

อะไรคือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาจารย์เริ่มโครงการนี้

โครงการนี้เริ่มมาจากภาคเหนือพบปัญหาจากการเผาในที่โล่งเป็นระยะเวลามากว่า 10 ปี และปัญหานี้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ค่อนข้างมาก เราเลยคิดโครงการที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะปลูกฝังให้กับเยาวชนให้ทราบและตระหนักถึงปัญหาและการแก้ปัญหาในอนาคตด้วย โครงการนี้จะเน้นไปที่ตัวเยาวชน โรงเรียน รวมทั้งครูที่ต้องสอนเด็กเรื่องสิ่งแวดล้อมให้นักเรียนในชั้นเรียนอยู่แล้ว นอกจากนี้เราอยากสร้างสีสันจากงานวิจัยที่เราทำกันมาเป็นสิบๆ ปี ที่คนทั่วไปอาจเข้าถึงยาก เพราะเป็นการตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารภาษาอังกฤษ จึงกลายเป็นที่มาของโครงการนี้

เปิดตัวโครงการ "ต้นกล้าท้าหมอกควัน" (ภาพ: Somporn Chantara)

มีวิธีการให้ความรู้เด็กอย่างไรที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องหมอกควันเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับพวกเขา

เราจัดทำเอกสารการอบรมซึ่งจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาหมอกควันเกิดจากอะไร แล้วถ้าหากเกิดแล้ว จะส่งผลกระทบถึงใครบ้าง เราจะพยายามยกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เพราะว่าเราใช้ข้อมูลที่เราได้มาจากในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ป่าไปปลูกพืชไร่ และการเผาหลังช่วงฤดูการเก็บเกี่ยว ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนบน เรายังมีข้อมูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงปริมาณฝุ่นในอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับจุดความร้อนที่ตรวจได้จากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงฤดูแล้ง และพบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานของประเทศไทยไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปีซึ่งสอดคล้องกับภาวะของการเกิดปัญหา และเมื่อพูดถึงมลพิษ PM2.5 เราจะมีคำอธิบายให้ซึ่งเป็นภาพของ USEPA องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของทางสหรัฐฯ ที่เขาได้ทำสื่อการสอนขึ้นมา โดยใช้เป็นการเปรียบเทียบเส้นผมของคนเรา ว่าโดยเฉลี่ยแล้วเส้นผมของคนเรามีขนาดเท่าไหร่ เราไม่สามารถมองเห็นฝุ่น PM2.5 ด้วยตาเปล่าได้ แต่เราสูดหายใจเข้าไปทุกวัน ไม่มีทางทราบได้เลยว่าในฝุ่นนั้นมีอะไรบ้าง

กิจกรรมในโครงการ ​"ต้นกล้าท้าหมอกควัน" (ภาพ: ศูนย์การศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ในทีมโครงการของเราได้ตรวจวัดเก็บตัวอย่างทั้ง PM10 และ PM2.5 ในช่วงฤดูหมอกควันอยู่แล้ว และเรายังวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยว่าใน PM2.5 ประกอบด้วยอะไรบ้าง และมีสารอะไรที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง โดยการนำเสนอเราจะนำเสนอควบคู่ระหว่าง PM10 และ PM2.5 ว่ายิ่งฝุ่นเล็กก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มากกว่า เพราะว่าฝุ่นสามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจได้ลึกกว่า เข้าไปถึงถุงลมปอด หลอดเลือดหัวใจ

และเรายังมีการสอนวิธีการป้องกันการเกิดมลพิษทางอากาศ เนื่องจากการเกิดไฟป่ามีปัจจัยมาจากความแห้งแล้ง การเพิ่มจำนวนพื้นที่ป่า ก็เป็นการป้องกันอีกทางหนึ่ง เรามีการเชิญวิทยากรมาให้ความรู้เรื่องการปลูกป่า มีการสาธิตและฝึกปฏิบัติการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุมชื้นในพื้นที่ป่า  

การแก้ไขปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืนในคำนิยามของโครงการนี้คืออะไร

เราต้องการให้การอบรมมีการถ่ายทอดต่อ ทำไมเราถึงเชิญอาจารย์ คุณครูมาด้วย เพราะว่าอาจารย์อยู่ได้นานกว่าเด็ก และเราคิดว่าเราเริ่มจากโรงเรียนน่าจะเป็นจุดที่ดี ก่อให้เกิดกิจกรรมในโรงเรียนเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่อง จริงๆแล้วมีกลุ่มชาวบ้านที่เข้มแข็งอยู่หลายกลุ่มและเราคิดว่าระหว่างเด็กนักเรียนและชาวบ้านเองจะมีความเชื่อมโยงกันได้ง่ายกว่า

ต้นทุนชีวิตของเด็กเชียงใหม่กับมลพิษทางอากาศ

จริงๆแล้วไม่ใช่เฉพาะเด็กในเชียงใหม่ แต่เด็กในทุกพื้นที่ก็เจอปัญหานี้ได้ ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหามลพิษแบบไร้พรมแดน แม้แต่ว่าคนที่เผาอยู่ในประเทศเรา มันก็ยังเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนบ้านด้วย หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราเผาก็ยังเผื่อแผ่มาถึงเราได้ด้วย สภาพภูมิอากาศใกล้เคียงกัน แต่อาจจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยเช่นภาคตะวันตกกับภาคตะวันออก การร่วงของใบไม้ก็ต่างกันเนื่องจากความชื้นในป่า ถ้าความชื้นมีมาก ใบไม้ในป่าก็จะยังไม่ผลัดใบ พอเริ่มแห้งจัดๆใบไม้ก็จะผลัดลงมาเยอะ เพราะฉะนั้นโอกาสของการเกิดไฟป่าก็จะมีมากในช่วงที่แล้งจัด เพราะว่ามันขึ้นอยู่กับว่ามวลอากาศนั้นจะเคลื่อนที่ไปทางไหน ปัญหานี้จึงไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นปัญหาที่จะต้องแก้ใขร่วมกันทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนในพื้นที่เอง คนต่างพื้นที่ด้วย เพราะอย่างที่บอกไม่ว่าแหล่งกำเนิดจะอยู่ที่ไหนก็สามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปหาคนที่อยู่ห่างไกลได้ด้วย

หมอกควันบดบังทัศนวิสัยของเมืองเชียงใหม่, 22 เม.ย. 2559

เชียงใหม่เองเป็นเมืองใหญ่ เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่ในเมืองเองก็มักจะมีปัญหาในเรื่องของภูมิแพ้ค่อนข้างมาก เนื่องจากมลพิษทางอากาศ นอกจากนี้ยังมีมลพิษจากด้านอื่นๆอีก ดังนั้นเด็กในเมืองจะมีโอกาสสัมผัสกับมลพิษได้มากกว่าเด็กในชนบทตลอดทั้งปี แต่ว่าเด็กในชนบทเองก็มีโอกาสได้รับมลพิษอื่นๆ ด้วยเหมือนกัน เช่น เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการเผาเยอะ เช่น ที่บ้านเผาขยะเอง  ไม่ได้มีการจัดเก็บเป็นระบบ ก็อาจจะมีปัญหาของสุขภาพ มีงานวิจัยของ ดร. ทิพวรรณ ประภามณฑล นักวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เปรียบเทียบมลพิษทางอากาศและสุขภาพของเด็กนอกเมืองกับในเมืองพบว่าในช่วงฤดูหมอกควัน เด็กนอกเมืองที่อยู่ในพื้นที่การเผา มีโอกาสที่จะสัมผัสกับมลพิษมากกว่าเด็กในเมืองด้วยซ้ำ หรือว่าเด็กชาวเขาที่บ้านมีการใช้ฟืนในการทำกับข้าวหรือใช้ก่อไฟในฤดูหนาว ก็มีโอกาสที่จะสัมผัสกับมลพิษได้มากเช่นกัน

จากการเริ่มที่ปลูกฝังเยาวชนจะมีแรงกระเพื่อมไปถึงการเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายหรือไม่

เราก็คาดหวังนะคะว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้วย เพราะเราคิดว่าเยาวชนจะเป็นตัวกระตุ้นที่ดีในชุมชนของเขาเองแต่ว่าในเชิงนโยบายแล้วมันก็ยากอยู่เพราะว่าที่ผ่านมาเป็นลักษณะท๊อปดาวน์ จะเป็นนโยบายของรัฐบาลส่วนกลางแล้วมีนโยบายให้ทางท้องถิ่นจัดการ แต่ว่าในท้องถิ่นเองเขาก็สามารถเริ่มโครงการของตัวเองได้ด้วย เพราะว่ามันจะมีงบประมาณที่ลงไปในระดับจังหวัด ระดับอำเภออยู่แล้วในเรื่องของการจัดการไฟป่า และการรณรงค์เรื่องการห้ามเผา

นับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เล็งเห็นถึงพลังของน้องๆเยาวชนต้นกล้าเล็กที่ในอนาคตจะมาเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตามนอกจากพลังของเยาวชนแล้ว หน่วยงานรัฐและชุมชนก็เป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมอกควันเพื่อให้ประชาชนและทุกๆคนมีอากาศที่ปลอดภัยไว้หายใจ


ร่วมลงชื่อขออากาศดีคืนมาได้ที่ https://act.gp/2qNm9Vm

ที่มา : https://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/61309/


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




Create Date : 28 มีนาคม 2561
Last Update : 28 มีนาคม 2561 14:12:03 น. 0 comments
Counter : 593 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com