กรีนพีซดำรงอยู่เพราะโลกอันบอบบางใบนี้สมควรมีผู้ปกป้อง โลกต้องมีวิธีแก้ปัญหา ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการลงมือทำ
 
Livable City ยุค 4.0 หรือ 0.4 ? มองจุดเริ่มต้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่าน Mayday, Khon Kaen Smart City



บทความ โดย จินตนา ประชุมพันธ์

ทุกวันนี้คนไทยในเมืองใหญ่กำลังเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศจากการคมนาคมและการขนส่งซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตทางสุขภาพ โดยมีฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM2.5 เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ไทยเราต่างมองข้าม หากแต่ในเวทีโลกอย่างองค์การอนามัยโลกหรือธนาคารโลกต่างถกเถียงและหาทางแก้ไขกันมานานแล้ว   

ด้วยขนาดที่เล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ อาจเทียบอย่างง่ายว่าคือ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม ซึ่งแน่นอนว่าขนจมูกของเราไม่สามารถกรองได้ ทำให้ PM 2.5 สามารถเข้าสู่ร่างกาย กระจายสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด และผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลต่อการทำงานของร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังและโอกาสในการมะเร็งได้

และปัญหาหลักของประเทศไทยเราก็คือไม่ได้มีการนำค่า PM 2.5 นี้มาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและการหาแนวทางป้องกัน

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนเล็กๆ ที่ตระหนักถึงมลภาวะปัญหาหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Develoment Goals) เพื่อหาแนวทางในการรับมือ และผลักดันให้ผู้คนได้ตระหนักถึงมลภาวะที่ย่ำแย่ ผ่านคน 3 กลุ่มจากงานเสวนา Livable City เมืองน่าอยู่ ยุค 4.0 หรือ 0.4 ? โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ Urban Design and Development Center กังวาล เหล่าวิโรจนกุล ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ เคเคทีที (KKTT)  และ กลุ่ม Mayday อุ้ม- วิภาวี กิตติเธียร และหนูลี-สุชารีย์ รวิธรชาดา ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทย

และนี่คือวิธีการรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนของพวกเขา

GoodWalk - กรุงเทพฯ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี

ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ รองผู้อำนวยการ Urban Design and Development Center หรือ UDDC กล่าวถึงต้นเหตุหลักของปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ว่ามีปัจจัยหลักมาจากการคมนาคมขนส่งซึ่งส่งผลให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เมื่อเราหายใจเข้าไปโดยไม่รู้ตัวก็เป็นปัญหาในเชิงสุขภาพเป็นภัยเงียบตามมา

จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าเราจะสามารถลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร โครงการ เมืองเดินได้ (Goodwalk) เมืองเดินดี จึงเป็นคำตอบ เพื่อส่งเสริมการเดินเท้าและลดใช้การคมนาคมขนส่งซึ่งปัจจัยลำดับต้นๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน

โดย ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ ได้กล่าวถึงประโยชน์ของการเดินเท้าว่าสามารถลดความเสี่ยงของโรคอ้วนได้ประมาณ 10% และส่งผลต่อเศรษฐกิจตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่คนเดินเท้าเข้าถึง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดย่านสร้างสรรค์ ก่อเกิดเป็นสังคมที่ผู้คนจะได้มาพบปะทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอีกด้วย

ตัวอย่างของเมืองที่มีการพัฒนาที่ดี อย่างโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ประเทศหนึ่งที่มีแผนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่มุ่งพัฒนาเมืองโดยให้ความสำคัญกับ “คน” มากกว่ารถยนต์ มุ่งเน้นพัฒนา 3 สิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน คือ การสร้างสวนสาธารณะ เพื่อเป็นการกระตุ้นผู้คนให้ออกมาเดิน และสนับสนุนให้ผู้คนได้เข้ามาใช้พื้นที่ส่วนรวมร่วมกัน

การพัฒนานี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับคนอย่างเท่าเทียมกัน คนขับรถไม่ได้มีสถานะสูงกว่าคนเดินถนน อีกหนึ่งความสำคัญที่เราไม่ควรละเลยมากๆ

คนกรุงเทพฯ พร้อมจะเดินหรือเปล่า?

คำถามแรกที่เราถกเถียงกันคือ “คนกรุงเทพฯ พร้อมจะเดินหรือเปล่า?” ทาง UDDC จึงได้ทำการศึกษาและผลปรากฎว่าข้อมูลที่ได้ออกมาทำให้เราตกใจเหมือนกัน เพราะคนกรุงเทพฯ นั้นเต็มใจที่จะเดินในระยะใกล้เคียงกับคนญี่ปุ่นและคนอเมริกา อีกทั้งยังมากกว่าคนฮ่องกงเสียอีกแน่นอนว่าการเดินนี้สอดคล้องกันกับบทบาทกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ​ ที่ผู้คนย้ายมาอยู่คอนโดตามแนวรถไฟฟ้า และการพัฒนาระบบราง 12 สายของกรุงเทพฯ ​ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เมืองเปลี่ยนโฉม และคนจะเดินเท้ามากขึ้น เพราะต้องเดินทางเข้าไปใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า

"จากการสำรวจพบว่าระยะทางเฉลี่ยที่ไกลที่สุดที่คนกรุงเทพฯ พอใจที่จะเดินเท้าไปยังสถานที่ต่างๆ คือ 797.6 เมตรหรือ 9.97 นาที ในขณะที่คนญี่ปุ่นเดินได้ 820 เมตร คนอเมริกาเดินได้ 805 เมตร และคนฮ่องกงเดินได้ 600 เมตร” (อ้างอิง:https://www.uddc.net/th/node/288)

แน่นอนว่าการเดินนี้สอดคล้องกันกับบทบาทกับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ​ ที่ผู้คนย้ายมาอยู่คอนโดตามแนวรถไฟฟ้า และการพัฒนาระบบราง 12 สายของกรุงเทพฯ ​ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เมืองเปลี่ยนโฉม และคนจะเดินเท้ามากขึ้น เพราะต้องเดินทางเข้าไปใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า

ทำอย่างไร กรุงเทพฯ จึงจะเป็นเมืองที่เดินได้จริง

เราแบ่งการทำงานออกเป็น 3 เฟส คือ

1. เป้าหมายในการเดิน (Destination)

จากการศึกษาพบว่า เกาะรัตนโกสินทร์ บางรัก สีลม พื้นที่ที่เป็นย่านธุรกิจ มีเป้าหมายสำหรับการเดินเยอะ หมายความว่ามีสาธารณูปโภคต่างๆ ตอบโจทย์ แสดงว่าถ้ารัฐควรมาลงทุนเพื่อปรับปรุงตรงนี้เพื่อให้ผู้คนได้มาเดินกัน

2. สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดิน

ส่วนสำคัญที่สุด กายภาพเมืองไม่ได้ถูกปรับให้เหมาะสมมากขึ้น ทางเท้ายังมีสิ่งกีดขวาง ทุกคนต้องคอยเลี่ยงทั้งรถยนต์ ทั้งรถจักรยานยนต์ อีกทั้งหลุมบ่อต่างๆ ถนนกรุงเทพฯ ถูกออกแบบให้รถยนต์ต้องมาก่อน คนเดินเท้าถูกผลักให้ขึ้นไปอยู่บนสะพานลอย อีกทั้งตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนแก่ก็ปีนไม่ค่อยไหว ทางสำหรับคนพิการก็ไม่สามารถใช้ได้จริง เหล่านี้คือภาพความจริงของการเดินในกรุงเทพฯ ที่หลายคนต้องเคยประสบ

3. ทางแก้ปัญหา เพื่อหาคำตอบว่า เราจะออกแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างไร ไปปรับปรุงเป้าหมาย และสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเดิน ก็จะส่งผลให้พื้นที่ที่ “เดินได้”นี้ กลายเป็นพื้นที่ที่ “เดินดี”

ตอนนี้เรารู้กันแล้วว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพให้เราไปบริหารปรับปรุงได้ เพียงแค่รอการเข้าไปบริหารจัดการ

สามารถเข้าไปดูคะแนนเมืองเดินได้ในพื้นที่ที่คุณอยู่อาศัยได้ที่ goodwalk.org

Khon Kaen Smart City - ขอนแก่น เชื่อมเมือง เชื่อมคน

กังวาล เหล่าวิโรจนกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen Think Thank – KKTT) กล่าวถึงโครงการขนส่งสาธารณะเปลี่ยนเมือง หรือ Smart Bus ซึ่งเป็นโครงการในระยะที่ 1 ว่าเกิดขึ้นโดยบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองซึ่งเป็นกลุ่มเอกชนที่เกิดขึ้นโดยคนขอนแก่นที่มีความรักในบ้านเกิด อยากให้วันข้างหน้าลูกหลานไม่จำเป็นต้องเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ วิ่งเข้าหาความเจริญในเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว จึงร่วมกันวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ขอนแก่นเป็นเมืองที่น่าอยู่

“แต่เดิมการเดินทางในขอนแก่น นอกจากรถส่วนบุคคลแล้ว ก็มีเพียงสองแถวและรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนถบนท้องถนนและก่อให้เกิดมลภาวะ อีกทั้งเรายังสังเกตเห็นว่าขอนแก่นกำลังเติบโต รถเริ่มมากขึ้น ไฟลท์บินเริ่มเต็ม เมืองมันกำลังเติบโตขึ้น และเขตเมืองเก่าก็เริ่มเงียบ สิ่งเหล่านี้มันส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ เราจึงรวมตัวกันเพื่อที่จะหาทางแก้ปัญหาและวางแผนล่วงหน้า”

Smart Bus คือคำตอบ

การเชื่อมโยงกันของการคมนาคมขนส่ง อย่าง จักรยาน ระบบขนส่งสาธารณะ และการเดิน  เป็นสิ่งที่ช่วยฟื้นฟูเมืองเก่าได้ด้วย จึงเริ่มโครงการ Smart Bus กันขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวก เชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ ในขอนแก่นให้เชื่อมถึงกัน ทั้งตัวเมือง มหาวิทยาลัย บขส. และสนามบิน ทำให้เราสามารถจัดระเบียบ ควบคุมคุณภาพ พร้อมทั้งมีแอพพลิเคชันที่สามารถบอกเส้นทางและตำแหน่งรถได้แบบเรียลไทม์ มั่นใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย ที่สำคัญคือมีไวไฟฟรี ตอบโจทย์ยุค Thailand 4.0 ทำให้คนอยากใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น

และมีแผนที่จะเชื่อมโยงไปกับการคมนาคมขนส่งในส่วนต่างๆ อย่างรถไฟรางเบาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และเชื่อมต่อไปยังรถสองแถวที่มีอยู่เดิมโดยปรับเส้นทางให้สั้นลงแต่ยังคงรายได้

การเชื่อมโยงเอกชนและรัฐ

ตอนนี้ทางท้องถิ่นก็กำลังดำเนินการสร้างรถไฟรางเบา อีกไม่นานจะกลายเป็นเส้นทางหลักของคนในเมือง จากนั้นจะมีการวางแผนให้ Smart Bus เป็นจุดเชื่อมต่อไปพร้อมกับรถสองแถว เรียกว่ามาเติมเต็มเส้นทางการเดินทางของขอนแก่นให้สมบูรณ์

และตอนนี้ได้กลุ่ม Mayday มาช่วยเรื่องของการประชาสัมพันธ์เส้นทาง รณรงค์ให้ผู้คนใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ ทำการเดินทางให้ง่าย สะดวกสบาย และเข้าถึงผู้คนมากขึ้น

หากเป็นไปได้ อาจไปเชื่อมโยงกับบัตรผู้มีรายได้น้อย ที่ตอนนี้สามารถใช้บริการได้เฉพาะในกรุงเทพฯ​ ให้ขยายมาปรับใช้ที่ขอนแก่นได้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพได้

ให้ภาครัฐและเอกชนได้เดินไปพร้อมกัน

Mayday - ขนส่งสาธารณะ มิตรต่อคนเดินทาง

Mayday กลุ่มคนที่มองเห็นปัญหาของการใช้บริการขนส่งสาธาณะในกรุงเทพฯ อย่างรถเมล์ ว่าเพราะเหตุใดผู้คนถึงใช้บริการน้อยทั้งๆ ที่เรามีขนส่งสาธารณะต่างๆ มารองรับ แต่กลับเห็นว่ามีรถยนต์จดทะเบียนส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อให้เกิดมลพิษทางอากาศโดยตรง และทำอย่างไรจะทำให้ผู้คนหันมาใช้รถเมล์กันมากขึ้น

วิภาวี กิตติเธียร และสุชารีย์ รวิธรชาดา ได้มาแชร์แนวคิดและประสบการณ์ในการทำงานกับกลุ่ม Mayday ถึงปัญหาหลักที่ทำให้ผู้คนไม่ใช้บริการขนส่งสาธารณะว่าเกิดจากความไม่สะดวกสบาย

วิภาวี กิตติเธียร กล่าวถึงปัญหาหลักของรับขนส่งสาธารณะคือ “ถ้าเรามีรถยนต์อยู่ในมือ โอกาสที่เราจะใช้รถเมล์นั้นน้อยมาก การจะไปขึ้นรถเมล์อุปสรรคมันเต็มทางไปหมดเลย กว่าจะไปถึงหน้าปากซอย ขึ้นไปแล้วก็ไม่รู้ว่าจะมีที่ให้นั่งหรือเปล่า ไหนจะเรื่องความสะอาด และความปลอดภัย กว่าจะถึงที่หมาย ฉะนั้นแล้วถ้าคนมีรถยนต์อยู่ในมือ ย่อมเลือกทางที่สะดวกสบายที่สุด โดยมั่นใจแน่ๆ ว่าจะไปถึงที่หมายแบบครบ 32 อยู่ในสภาพปกติแน่นอน สิ่งแรกที่รถเมล์ต้องคำนึงถึงคือสะดวกพอที่จะให้คนรู้สึกว่าเขาอยากจะใช้งานไหม”

และ สุชารีย์ รวิธรชาดา มองว่า “ถ้าเทียบรถเมล์บ้านเรากับของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ของเราก็ไม่ได้แย่ถึงขนาดว่าใช้บริการไม่ได้ รถแอร์เราก็มี เส้นทางการวิ่งก็ค่อนข้างครอบคลุม เข้าถึงหลากหลายพื้นที่ ทั้งชานเมืองและใจกลางเมือง สามารถเชื่อมต่อกับโหมดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ เรือ หรือรถไฟฟ้าได้หมด แต่ว่าปัญหามันอยู่ที่ว่ามันเหมาะกับการใช้ชีวิตของเราหรือเปล่า

อย่างที่เห็นรถเมล์ไทยเราดัดแปลงตัวรถมาจากรถบรรทุกสิบล้อคันใหญ่ๆ บันไดมันต้องปีนขึ้นไป มันไม่เหมือนรถต่างประเทศที่เราสามารถเข็นรถเข็นขึ้นได้เลย เขาทำมาสำหรับเป็นรถโดยสารโดยเฉพาะ โมเดลของเราใช้มา 20 ปี แล้ว ด้วยนิสัยคุ้นชินกับแบบนี้ตามนิสัยคนไทยก็ทำต่อไปเรื่อยๆ การตระหนักรู้ของคนยุคใหม่ ที่คิดต่างเห็นต่าง อาจเป็นพลังเล็กๆ แล้วสะสมกัน บอกว่า เฮ้ย รถมันสูงไป ถ้าคุณแก่คุณพิการจะขึ้นรถอย่างไร”

เป้าหมายหลักของ Mayday คือ อยากให้ขนส่งสาธารณะเป็นทางเลือกแรกในการเดินทางของคน ภายใต้การมีส่วนร่วมของคนหลากหลายฝ่าย แบ่งเป็น 2 ประการหลัก

1. การสื่อสารกับผู้ใช้งาน เช่น รถเมล์สายที่วิ่ง 24 ชม. หรือรถเมล์ที่ไปถึงสนามบินดอนเมืองได้ในราคาแค่ 30 บาท แล้วเราได้ไปถึงที่หมายได้เร็วพอๆ กับการขับรถส่วนบุคคล เพราะขึ้นทางด่วนตรงไปที่ปลายทาง

2. การรวมกลุ่มเพื่อเปลี่ยนแปลง โดยการรวมตัวกันของคนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง อยากให้ขนส่งสาธารณะของเราดีขึ้น เช่น โครงการป้ายรถเมล์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะเรารู้ว่าอุปสรรคหลักๆ คือ คนไม่รู้ว่ารถเมล์สายนี้ไปไหน เราจะรู้ได้จากเวลาเพียงไม่กี่วินาทีในการมองข้างรถเมล์ที่วิ่งผ่าน ก่อนจะต้องมารอขึ้นคันถัดไป เราเลยมองว่า ถ้าเราเพิ่มป้ายที่ให้ข้อมูลตรงนี้จะทำให้มีคนมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มเติมพร้อมทั้งระบุจุดเชื่อมต่อให้ด้วย ว่าสามารถไปต่อเรือ BTS MRT หรือไปหัวลำโพงได้

นี่คืองานหลักๆ ของ Mayday ที่ทำอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ได้สร้างการมีส่วนร่วมจากคนหลากหลายกลุ่มที่มาร่วมกันออกแบบป้าย ตัวอักษร สี สัญลักษณ์ เพื่อตอบโจทย์กับคนใช้งานที่อาจตาบอดสีด้วย

ลดมลภาวะ เพื่อก้าวเข้าสู่การพัฒนายุค 4.0

สุชารีย์ รวิธรชาดา ถ้าถามถึงดัชนี เราคงบอกไม่ได้ว่าดัชนีลดลงเท่าไหร่ แต่จะเห็นชัดหากปริมาณผู้ใช้บริการรถยนต์ลดลง และหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น อัตราการเผาผลาญก็จะน้อยลง อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็น้อยลง ฝุ่นก็จะน้อยลงไปด้วย

เพราะฉะนั้นเมื่อไรที่เราสามารถสร้างการตระหนักให้คนเห็นว่าขนส่งสาธารณะเป็นตัวเลือกแรกของการเดินทางได้ ทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดการพัฒนาตรงนี้ได้ เชื่อว่าตัวเลขมันจะปรากฎขึ้นมาเอง ว่าค่าฝุ่นละอองมันจะลดน้อยลงเรื่อยๆ  

ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ “ถ้าเราคิดว่าคนส่งมวลชนคือคำตอบอันใหญ่อันหนึ่ง” แปลว่าเราก็ต้องมีการระดมสมองทั้งระบบ ตอนนี้ระบบขนส่งมวลชนมีหลายหน่วยงานที่ดูแลซ้อนทับกันอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างกรุงโซลประเทศเกาหลี ก็เคยปฏิรูประบบขนส่งมวลชนใหม่ทั้งหมด ช่วงนั้นก็วุ่นวายกันอยู่เป็นเดือน แต่ตอนนี้ทุกอย่างเข้าสู่ระบบของมันได้ พอเทคโนโลยีมันถึงแล้ว มันจะช่วยเปลี่ยนแปลงทั้งระบบได้

การที่เราบอกว่าประเทศเราเป็น 4.0 การจัดการมลพิษและขนส่งมวลชนคือคำตอบ

ทีนี้ก็ต้องมามองกันว่า เราจะมีนโยบายที่จะกระตุ้นให้คนใช้ขนส่งมวลชนกันมากน้อยแค่ไหน

อย่างฝรั่งเศสถ้าวันนี้รัฐประกาศออกมาว่ามีมลพิษทางอากาศเยอะ วันนี้รถไฟใต้ดินปล่อยฟรีทันที อะไรแบบนี้  มันอยู่ที่ว่าเรื่องนี้เราสามารถลิงค์ระหว่างเรื่องมลพิษกับขนส่งมวลชนกลับมาได้มากน้อยแค่ไหน

การสร้างความเท่าเทียม เพื่อเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ

ทัศนคติของคนที่ในปัจจุบันมองว่ารถเมล์คือระบบขนส่งสาธารณะของผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นเราจึงต้องปรับทัศนคติตรงนี้ให้ดีขึ้น ด้วยการพัฒนารถเมล์ให้สะดวกสบาย และคนทุกกลุ่มรายได้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้คนหันมาใช้บริการรถเมล์และเลือกรถเมล์เป็นขนส่งสาธารณะทางเลือกหลัก

วิภาวี  กล่าวว่า “มันควรเป็นใครก็ได้ทุกกลุ่มมาใช้งาน ไม่จำเป็นแค่ว่าต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยมาใช้งาน  เพราะถ้าดูตามเส้นทางการวิ่งในกรุงเทพฯ รถเมล์เป็นระบบขนส่งเดียวที่ครอบคลุมเส้นทางมากที่สุด ศักยภาพของเส้นทางมีอยู่แล้ว ทีนี้ก็ต้องมาช่วยกันปรับปรุงเติมเต็มให้ได้ทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล”

ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ กล่าวเสริมว่าเราควรสร้างมาตรฐานรถเมล์ให้เทียบเท่ากับต่างประเทศเพื่อที่จะไม่เกิดภาพการมองที่ว่ารถเมล์เป็นของคนจนเท่านั้นแต่ใครๆ ก็สามารถใช้บริการรถเมล์ได้  

“เวลาเราไปเมืองนอก เราไม่ได้รู้สึกว่ารถเมล์เป็นของคนจน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไทเป รถเมล์เป็นการเดินทางที่สะดวกมาก เมื่อก่อนตอนไม่คุ้นทางก็ขึ้นใต้ดิน พบว่าต้องเดินไกล พอตอนหลักไอทีมันเวิร์คขึ้นสามารถเสิร์ชหาสายรถเมล์จากโรงแรมไปถึงปลายทางได้เลย google ทำให้เราสามารถกะเวลาให้ สะดวกมาก บางที่รถใต้ดินไปไม่ถึง ก็มีรถเมล์เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ดีมากๆ ฉะนั้นก็ควรเอามาปรับใช้กับของเราเอามาคิดต่อก็เป็นตัวเชื่อมของตรงนี้ได้”  

ให้ข่าวสารแก่ประชาชน เพิ่มทางเลือก นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Develoment)

ดร. พรสรร วิเชียรประดิษฐ์ เสนอว่าเราควรหานำเสนอมีการนำเสนอข่าวสารทางสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกและโอกาสตัดสินใจในการเลือกเดินทาง

“การให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องของมลพิษในอากาศ ที่ตอนนี้มีทีมนวัตกรรมสยามจากจุฬาฯ ​ลงมาทำ ด้วยการไปตั้งเซ็นเซอร์วัด pm 2.5 ไว้ แล้วก็เปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชน แต่เราต้องคิดกันต่อว่าเราจะโยงข้อมูลข่าวสารเหล่านี้เข้ามาหาประชาชนได้อย่างไร เพื่อให้เขาได้ตัดสินใจ หากสิ่งแวดล้อมมีความเสี่ยง อากาศไม่ดีมากๆ เขาก็สามารถเลือกได้ว่าเขาจะไม่เดิน เขาสามารถเลือกใช้การสัญจรทางอื่นได้”

พร้อมกันนี้ วิภาวี กิตติเธียร ได้เสนอให้ภาครัฐปรับระบบการจัดการอย่างเป็นระบบ และควรตระหนักถึงปัญหาของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

“จริงๆ ทุกอย่างมันต้องเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งระบบ ทั้งการเดินเท้า ระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ ราง เสริมกันทั้งภาคประชาชนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของเราเพื่อให้เมืองมันดีขึ้น รวมไปถึงภาครัฐที่ต้องมองถึงการใช้งานจริงและการมีส่วนร่วมของคน ให้ทุกอย่างเกิดขึ้นและพัฒนาพร้อมกันไปทั้งระบบ ได้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้คนหันมาใช้รถสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัว เพราะตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น”

นอกเหนือจากภาครัฐที่จะต้องยกประเด็นเรื่องของมลพิษทางอากาศให้เป็นวาระที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศของไทยให้มีการวัดค่าตามหลักขององค์การอนามัยโลก เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนแล้ว

สิ่งหนึ่งที่เราควรสร้างการตระหนักถึงคือการเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้รับรู้ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

ทั้งนี้อาจต้องมีการปรับระบบการจัดการกันว่าประเทศไทยจะก้าวไปเป็น Thailand  4.0 เป็นเมืองที่เล็งเห็นถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Develoment) หรือก้าวถอยหลังไปเป็น Thailand 0.4 เมืองที่เทคโนโลยีเติบโตหากแต่ขาดการต่อยอดไปสู่ความยั่งยืน

อ้างอิง


ติดตามกรีนพีซเพิ่มเติมที่




Create Date : 25 มกราคม 2561
Last Update : 25 มกราคม 2561 13:20:00 น. 0 comments
Counter : 621 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

greenpeacethailand
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




ในพ.ศ.2514 กลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ จากเมืองแวนคูเวอร์ แคนาดา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์แห่งโลกสีเขียวและมีสันติสุข ได้แล่นเรือหาปลาเก่าๆ ออกจากแวนคูเวอร์ แคนาดา นักกิจกรรมเหล่านี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกรีนพีซ เชื่อว่าบุคคลไม่กี่คนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

ภาระกิจของพวกเขาคือการ "เป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุ" ของการทดลองนิวเคลียร์ใต้ดินที่เกาะอัมชิตกา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันตกของรัฐอลาสก้า ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

อัมชิตกาเป็นสถานหลบภัยของนากทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ 3,000 ตัว และเป็นบ้านของนกอินทรีย์หัวล้าน เหยี่ยวต่างถิ่น และ สัตว์ป่าอื่นๆ มากมาย

ถึงแม้ว่าเรือเก่าๆ ของพวกเขา คือ ฟิลลิส คอร์แมก ถูกขัดขวางก่อนที่จะไปถึงอัมชิตกา แต่การเดินทางครั้งนี้จุดประกายเล็กน้อยให้แก่ความสนใจของสาธารณชน

สหรัฐอเมริกายังคงจุดระเบิดอย่างหนักหน่วง แต่เสียงเพรียกแห่งเหตุผลมีผู้ได้ยินแล้ว การทดลองนิวเคลียร์บนเกาะอัมชิตกาได้สิ้นสุดลงในปีเดียวกัน และเกาะแห่งนั้นได้ถูกประกาศให้เป็นสถานหลบภัยของนกทั้งหลาย

ปัจจุบัน กรีนพีซเป็นองค์กรนานาชาติที่ให้ความสำคัญแก่การรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก


คุณพร้อมที่จะร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือยัง?
มีหลายวิธีที่คุณสามารถทำได้ตอนนี้!


หลายคนอาจจะคิดว่าการดูแลรักษาโลกเป็นเรื่องยาก แค่ลำพังเราอาจทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วแค่เพียงสองมือเล็กๆของเราก็สามารถทำเพื่อโลกได้มากมาย อ่านต่อ

ติดตามกรีนพีซเพ่ิมเติมได้ที่:

Facebook | Twitter | Instagram | YouTube
[Add greenpeacethailand's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com