ชีวิตคน ไม่ยืนยาว เหนือกาลเวลา จงทำดี มีธรรมา ติดตัวเอย
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2560
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 ธันวาคม 2560
 
All Blogs
 
พฤติกรรมโครงสร้างกับพฤติกรรมมนุษย์

 
                พฤติกรรม ของโครงสร้าง คือสัจธรรม             เป็นพฤติกรรม ไม่เสแสร้ง ให้สับสน
                เกี่ยวข้องกับ แรงที่มา กระทำโดน                  ก่อเกิดผล หน่วยแรงเครียด เปลี่ยนรูปร่าง

                โครงสร้างต้าน ตามกำลัง ความแข็งแรง          ร่วมออกแรง ช่วยกันต้าน เพื่อคงร่าง
                ความยุติธรรม ต่อทุกส่วน ธรรมชาติสร้าง         เป็นตัวอย่าง ต่อพฤติกรรม มนุษย์เอย

                พฤติกรรมโครงสร้าง ( Structural Behavior ) เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ( deformation ) ของโครงสร้าง เมื่อมีปัจจัยภายใน และ/หรือ ภายนอกโครงสร้างมากระทำ เช่น น้ำหนักโครงสร้าง น้ำหนักบรรทุกจร แรงลม แรงแผ่นดินไหว อากาศ ความชื้น และการทรุดตัว เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้เกิดหน่วยแรง ต่างๆ เกิดขึ้นภายในโครงสร้าง เช่น หน่วยแรง ( stress ) และหน่วยแรงเครียด ( strain ) เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
                การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโครงสร้าง จะขึ้นอยู่กับระบบของโครงสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับรอยต่อภายในชิ้นส่วนของโครงสร้าง และคุณสมบัติของจุดต่อเชื่อม ( joint ) ชิ้นส่วนโครงสร้าง เป็นต้น หน้าที่ของชิ้นส่วนโครงสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนักและฐานรองรับน้ำหนัก ประเภทของฐานรองรับน้ำหนัก ( support ) ซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงปฎิกิริยา ( reaction ) ความแข็งแรง ( stiffness ) และสัดส่วนการรับน้ำหนัก ( distribution factor ) ของโครงสร้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนักตามความแข็งแรงของชิ้นส่วนโครงสร้าง ชิ้นส่วนที่มีความแข็งแรงกว่า จะมีสัดส่วนในการรับน้ำหนักมากกว่าชิ้นส่วนที่แข็งแรงน้อยกว่า เป็นความยุติธรรมที่ธรรมชาติสร้างมาให้ ไม่มีการเอาเปรียบกันเหมือนพฤติกรรมของมนุษย์บางสังคม และน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งสภาพอากาศ ความชื้น และการทรุดตัวของฐานราก เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับสภาพของน้ำหนักและแรงกระทำ ภูมิอากาศ และการทรุดตัวของฐานราก ที่มีผลต่อโครงสร้าง
                พฤติกรรมมนุษย์ ( Human Behavior ) ก็เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต เช่น คน สัตว์ และพืช จะมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับโครงสร้าง เมื่อมีปัจจัย ต่างๆ มากระทำ ย่อมมีพฤติกรรมตอบสนอง เช่น ดีใจเมื่อสมหวัง หรือเศร้าใจเมื่อผิดหวัง เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป แต่มนุษย์มีการศึกษา เรียนรู้ เลียนแบบ และเสแสร้ง จึงทำให้วิเคราะห์พฤติกรรมได้ยากกว่า แต่ก็สามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริงได้ โดยใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของมนุษย์
                พฤติกรรมโครงสร้างและพฤติกรรมมนุษย์ สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น พฤติกรรมโครงสร้างจะใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุความบกพร่องของโครงสร้าง เพื่อแก้ไขโครงสร้างให้แข็งแรงและใช้งานได้ปลอดภัย ส่วนพฤติกรรมมนุษย์จะใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รักษาผู้ป่วยทางจิต และเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
                ผมจึงเขียน เรื่อง พฤติกรรมโครงสร้างกับพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อเป็นความรู้ ให้กับผู้สนใจที่เข้ามาอ่าน เนื้อเรื่องประกอบด้วย ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโครงสร้าง แรงที่กระทำต่อโครงสร้างและพื้นที่รับแรงของโครงสร้าง ความแข็งแรงและสัดส่วนการรับน้ำหนักของโครงสร้าง พฤติกรรมมนุษย์ และประโยชน์ของพฤติกรรม ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโครงสร้าง
                การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ( deformation ) ของโครงสร้าง เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติ เมื่อมีปัจจัยภายใน และ/หรือ ภายนอกโครงสร้างมากระทำ เช่น น้ำหนักโครงสร้าง น้ำหนักบรรทุกจร แรงลม แรงแผ่นดินไหว อากาศ ความชื้น และการทรุดตัว เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้เกิดหน่วยแรง ต่างๆ เกิดขึ้นภายในโครงสร้าง เช่น หน่วยแรง ( stress ) และหน่วยแรงเครียด ( strain ) เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง
                การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโครงสร้าง จะเกี่ยวข้องกับระบบของโครงสร้าง หน้าที่ของชิ้นส่วนโครงสร้าง ประเภทของฐานรองรับน้ำหนัก ( support ) ความแข็งแรงของวัสดุ น้ำหนักบรรทุก และอากาศ ความชื้น และการทรุดตัวของฐานราก ดังนี้
                ระบบของโครงสร้าง แบ่งเป็น
                -- ระบบหล่อในที่
                -- ระบบกำแพงรับน้ำหนัก
                -- ระบบสำเร็จรูป
                -- ระบบอัดแรง เป็นต้น
 

โครงสร้างหล่อในที่

 
โครงสร้างระบบกำแพงรับน้ำหนัก

 
โครงสร้างระบบสำเร็จรูป

 
โครงสร้างระบบอัดแรง

                ปัจจัยเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับรอยต่อภายในชิ้นส่วนของโครงสร้าง คุณสมบัติของจุดต่อเชื่อม ( joint ) ชิ้นส่วนโครงสร้าง เช่น เป็นจุดต่อเชื่อมแบบยึดหมุน ( hinge joint ) แบบยึดเลื่อน ( roller joint ) หรือแบบข้อแข็ง ( rigid joint ) เป็นต้น และความแข็งแรง ( stiffness ) และสัดส่วนการรับน้ำหนัก ( distribution factor ) ของชิ้นส่วนโครงสร้างที่จุดต่อเชื่อม ส่งผลต่อการถ่ายน้ำหนัก การแอ่นตัว ( deflection ) การโก่งเดาะ ( buckling ) และการเซ ( sway ) เป็นต้น
                หน้าที่ของชิ้นส่วนโครงสร้าง แบ่งเป็น
                -- พื้น พื้นไร้คาน ( flat slab )
                -- คาน
                -- เสา
                -- โครงถัก ( truss )
                -- โครงข้อแข็ง ( rigid frame ) เป็นต้น

 
 
โครงถัก

 
โครงข้อแข็ง

                ปัจจัยเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนักและฐานรองรับน้ำหนัก เช่น
                พื้น เป็นโครงสร้างวางบนคานหรือเสา แล้วแต่กรณี ทำหน้าที่รับน้ำหนักบรรทุกและถ่ายน้ำหนักลงคานหรือเสา แล้วแต่กรณี เมื่อพื้นรับน้ำหนักจะเกิดโมเมนต์ดัดหรือโมเมนต์ดัดและโมเมนต์บิด แล้วแต่กรณี ทำให้พื้นแอ่นหรือโก่งตัว เกิดรอยแตกร้าวที่บริเวณท้องพื้น ( ผิวล่าง ) หรือหลังพื้น ( ผิวบน ) เนื่องจากแรงดึงจากโมเมนต์ดัด และหน่วยแรงเฉือน ทำให้พื้นเกิดรอยแตกร้าวที่บริเวณขอบพื้นรอบคานหรือเสา แล้วแต่กรณี เนื่องจากแรงเฉือนจากน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักบรรทุกและโมเมนต์บิด แล้วแต่กรณี
                คาน เป็นโครงสร้างวางบนเสา ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากพื้นและถ่ายน้ำหนักลงเสา เมื่อคานรับน้ำหนักจะเกิดโมเมนต์ดัดหรือโมเมนต์ดัดและโมเมนต์บิด แล้วแต่กรณี ทำให้คานแอ่นหรือโก่งตัว เกิดรอยแตกร้าวที่บริเวณท้องคาน ( ผิวล่าง ) หรือหลังคาน ( ผิวบน ) เนื่องจากแรงดึงจากโมเมนต์ดัด และหน่วยแรงเฉือน ทำให้คานเกิดรอยแตกร้าวที่บริเวณใกล้ขอบเสา เนื่องจากแรงเฉือนจากน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักบรรทุกและโมเมนต์บิด แล้วแต่กรณี
                เสา เป็นโครงสร้างวางบนฐานราก ทำหน้าที่รับน้ำหนักจากพื้น คาน และเสาที่อยู่บนหัวเสา และถ่ายน้ำหนักลงฐานราก เมื่อเสารับน้ำหนักจะเกิดหน่วยแรงแรงตามแนวแกน และ/หรือ โมเมนต์ดัด แล้วแต่กรณี ทำให้เสาโก่งเดาะ และ/หรือ แอ่นตัว แล้วแต่กรณี เกิดรอยแตกร้าวที่บริเวณรอบตัวเสา เนื่องจากหน่วยแรงตามแนวแกน และ/หรือ แรงดึงจากโมเมนต์ดัด แล้วแต่กรณี
                โครงถัก ( truss ) เป็นโครงสร้างวางบนหัวเสา ทำหน้าที่รับน้ำหนักตามแนวแกนและถ่ายน้ำหนักลงเสา เมื่อโครงถักรับน้ำหนักจะเกิดหน่วยแรงแรงดึงหรืออัด ทำให้โครงถักแอ่นตัว ยืดตัว หรือโก่งเดาะ เนื่องจากน้ำหนักบรรทุก แรงดึง หรือแรงอัด ตามลำดับ

 
การแอ่นตัวของโครงถัก

                โครงข้อแข็ง ( rigid frame ) เป็นโครงสร้างวางบนฐานราก ทำหน้าที่รับน้ำหนักตามแนวแกนและโมเมนต์ และถ่ายน้ำหนักลงฐานราก เมื่อโครงข้อแข็งรับน้ำหนักจะเกิดหน่วยแรงดึงหรืออัดและโมเมนต์ดัด ทำให้โครงข้อแข็งแอ่นตัว ยืดตัว หรือโก่งเดาะ เนื่องจากน้ำหนักบรรทุก แรงดึง หรือแรงอัด ตามลำดับ
                การแอ่นตัวของโครงข้อแข็ง จะต่างจากโครงถักซึ่งเป็นโครงข้อหมุน โดยที่มุมของชิ้นส่วนโครงสร้างที่จุดต่อเชื่อม ( joint ) จะคงมุมเท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งต่างจากโครงข้อหมุน

 
การแอ่นตัวของโครงข้อแข็ง

ประเภทของฐานรองรับน้ำหนัก ( support ) แบ่งเป็น
                -- แบบยึดหมุน ( hinge )
                -- แบบยึดเลื่อน ( roller )
                -- แบบยึดแน่น ( fixed ) เป็นต้น

 
ฐานรองแบบยึดหมุน ( hinge support )

 
ฐานรองแบบยึดเลื่อน ( roller support )

 
ฐานรองแบบยึดแน่น ( fixed support )

                ปัจจัยเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับแรงปฏิกิริยา ( reaction ) ส่งผลต่อการรับน้ำหนักของชิ้นส่วนโครงสร้าง หรือฐานราก
                ความแข็งแรงของวัสดุ แบ่งเป็น
                -- ความสามารถในการรับน้ำหนักของชั้นดินเดิม
                -- ความสามารถในการรับน้ำหนักของคอนกรีต
                -- ความสามารถในการรับน้ำหนักของเหล็กเสริม
                -- ความสามารถในการรับน้ำหนักของไม้
                -- ความสามารถในการรับน้ำหนักของเหล็กรูปพรรณ
                -- ความสามารถในการรับน้ำหนักของวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
                ปัจจัยเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับน้ำหนัก ในส่วน ต่างๆ ของโครงสร้าง ส่งผลต่อการใช้งานอาคาร มีความปลอดภัยตามมาตรฐานและข้อกำหนด
                น้ำหนักบรรทุก แบ่งเป็น
                -- น้ำหนักโครงสร้าง
                -- น้ำหนักบรรทุกจร
                -- แรงลม
                -- แรงแผ่นดินไหว เป็นต้น
                ปัจจัยเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับการกำหนดน้ำหนัก ประเภท ต่างๆ ที่กระทำต่อโครงสร้าง เพื่อหาค่าสูงสุด ที่เกิดขึ้นกับโครงสร้าง เช่น การแอ่นตัว ( deflection ) การเซ ( sway ) โมเมนต์ แรงเฉือน แรงตามแนวแกน และแรงปฏิกิริยา เป็นต้น ในรูปแบบน้ำหนัก ( load patterns )
                การกำหนดน้ำหนัก ประเภท ต่างๆ ที่กระทำต่อโครงสร้าง จะทำในรูปแบบของกรณีน้ำหนัก ( load case ) โดยกำหนดให้น้ำหนักทุกประเภทหรือบางประเภท กระทำพร้อมกัน ดังนั้น รูปแบบน้ำหนัก จะประกอบด้วย ประเภทของน้ำหนักและกรณีของน้ำหนัก ดังนี้
                น้ำหนัก แบ่งเป็น
                -- น้ำหนักโครงสร้าง ( DL )
                -- น้ำหนักบรรทุกจร ( LL )
                -- แรงลม ( WL )
                -- แรงแผ่นดินไหว ( EQ ) เป็นต้น
                กรณีน้ำหนัก แบ่งเป็น
                -- น้ำหนักโครงสร้าง ( DL )
                -- น้ำหนักโครงสร้าง + น้ำหนักบรรทุกจร ( DL + LL )
                -- น้ำหนักโครงสร้าง + น้ำหนักบรรทุกจร + แรงลม ( DL + LL + WL )
                -- น้ำหนักโครงสร้าง + น้ำหนักบรรทุกจร + แรงแผ่นดินไหว ( DL + LL + EQ ) เป็นต้น
                ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของโครงสร้าง ซึ่งแปรผันตามรูปแบบน้ำหนัก
                อากาศ ความชื้น และการทรุดตัวของฐานราก
                ปัจจัยเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและฐานราก ส่งผลต่อรอยแตกร้าว เช่น รอยแตกร้าวแบบไม่มีทิศทางแน่นอน เนื่องจากแรงดึงจากการยืดและหดตัวของโครงสร้างหรือวัสดุ รอยแตกร้าวตามยาวของเสา คาน หรือแนวของเหล็กเสริม เนื่องจากแรงดันของเหล็กเสริมที่เป็นสนิมจากความชื้น รอยแตกร้าวแนวเฉียง เนื่องจากแรงดึงจากการทรุดตัวของฐานราก เป็นต้น

 
รอยแตกร้าวตามแนวเหล็กเสริมพื้น เนื่องจากแรงดันของเหล็กเสริมที่เป็นสนิมจากความชื้น

 
รอยแตกร้าวตามยาวของคาน เนื่องจากแรงดันของเหล็กเสริมที่เป็นสนิมจากความชื้น

 
รอยแตกร้าวตามยาวของเสา เนื่องจากแรงดันของเหล็กเสริมที่เป็นสนิมจากความชื้น

 
รอยแตกร้าวแนวเฉียง เนื่องจากแรงดึงจากการทรุดตัวของฐานราก

แรงที่กระทำต่อโครงสร้างและพื้นที่รับแรงของโครงสร้าง
                แรงที่กระทำต่อโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัจจัยภายใน และ/หรือ ภายนอกโครงสร้าง เช่น น้ำหนักโครงสร้าง น้ำหนักบรรทุกจร แรงลม แรงแผ่นดินไหว อากาศ ความชื้น และการทรุดตัว เป็นต้น สามารถจำแนกตามลักษณะของแรง ได้เป็นแรงตามแนวแกน แรงแรงเฉือน แรงดัด และแรงบิด ดังนี้
                แรงตามแนวแกน ได้แก่ แรงดึง และแรงอัด โดยที่แรงดึงจะทำให้โครงสร้างเกิดการยืดตัว ส่วนแรงอัดจะทำให้หดตัวหรือโก่งเดาะ พื้นที่รับแรงและพื้นที่ที่เกิดการวิบัติของโครงสร้าง จะอยู่บริเวณเดียวกันและมีทิศทางตั้งฉากกับแนวแรงที่มากระทำ

 

                แรงเฉือน เป็นแรงที่ทำให้โครงสร้างขาดออกจากกัน พื้นที่รับแรงและพื้นที่ที่เกิดความวิบัติของโครงสร้าง จะอยู่บริเวณเดียวกันและมีทิศทางขนานกับแนวแรงที่มากระทำ
 

                แรงดัด เป็นแรงที่ทำให้โครงสร้างโค้งงอ เกิดการยืดตัวและหดตัวที่บริเวณริมนอกสุดแต่ละด้านของโครงสร้าง พื้นที่รับแรงและพื้นที่ที่เกิดความวิบัติของโครงสร้าง จะอยู่บริเวณเดียวกันและมีทิศทางตั้งฉากกับแนวแกนที่ถูกดัด
 

                แรงบิด เป็นแรงที่ทำให้โครงสร้างขาดออกจากกัน พื้นที่รับแรงและพื้นที่ที่เกิดความวิบัติของโครงสร้าง จะอยู่บริเวณเดียวกันและมีทิศทางตั้งฉากกับแนวแกนที่ถูกบิด
                แรงบิดจะคล้ายกับแรงเฉือน แต่ต่างกันตรงทิศทางของพื้นที่รับแรงและพื้นที่ที่เกิดความวิบัติ เมื่อเทียบกับแนวแกนที่ถูกบิดและแนวของแรงเฉือน ตามลำดับ

 

ความแข็งแรงและสัดส่วนการรับน้ำหนักของโครงสร้าง
                คุณสมบัติของจุดต่อเชื่อม ( joint ) ชิ้นส่วนโครงสร้าง เกี่ยวข้องกับความแข็งแรง ( stiffness ) และสัดส่วนการรับน้ำหนัก ( distribution factor ) ของโครงสร้าง โดยเฉพาะจุดต่อเชื่อมแบบยึดแน่น ( fixed joint ) ชิ้นส่วนที่มีความแข็งแรงกว่า จะมีสัดส่วนในการรับน้ำหนักหรือต้านทานได้มากกว่าชิ้นส่วนที่แข็งแรงน้อยกว่า เป็นความยุติธรรมที่ธรรมชาติสร้างมาให้ ไม่มีการเอาเปรียบกันเหมือนพฤติกรรมของมนุษย์บางสังคม
                ความแข็งแรงหรือความแข็ง ( stiffness ; k ) ของโครงสร้าง จะขึ้นอยู่กับอัตราส่วนของพิกัดยืดหยุ่น ( elasticity ; E ) และโมเมนต์เฉื่อย ( moment of inertia ; I ) เทียบกับความยาว ( length ; L ) ของวัสดุชิ้นส่วนโครงสร้าง ดังสมการ
                k = 4*E*I/L
                สัดส่วนการรับน้ำหนัก ( distribution factor ; DF ) ของโครงสร้าง จะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของแต่ละชิ้นส่วน เทียบกับความแข็งแรงของทุกชิ้นส่วนที่จุดต่อเชื่อม ( joint ) ชิ้นส่วนโครงสร้าง ดังสมการ
                DF ; Ki = ki/∑k
                Ki คือสัดส่วนการรับน้ำหนักของชิ้นส่วน i
                ki คือความแข็งแรงของชิ้นส่วน i
                ∑k คือผลรวมความแข็งแรงของทุกชิ้นส่วนที่จุดต่อเชื่อม ( joint ) ชิ้นส่วนโครงสร้าง
                i คือชิ้นส่วนโครงสร้าง มีจำนวนตั้งแต่1 – n ชิ้นส่วน
                ตัวอย่างการคำนวณความแข็งแรงและสัดส่วนการรับน้ำหนักของชิ้นส่วนโครงสร้าง ดังนี้

 

                โครงข้อแข็ง ( rigid frame ) คอนกรีตเสริมเหล็ก ดังภาพ ประกอบด้วย เสาขนาด 0.35*0.35 ม. คานขนาด 0.30*0.60 ม. จงหาความแข็งแรงและสัดส่วนการรับน้ำหนักของชิ้นส่วนโครงสร้าง ที่จุดต่อเชื่อม ( joint ) ชิ้นส่วนโครงสร้าง
                วิธีทำ
                ความแข็งแรงของชิ้นส่วนโครงสร้าง
                ชิ้นส่วน 1 ; I1 = 0.35*0.35^3/12 = 0.00125 m^4
                               k1 = 0.00125/5.00 = 0.00025
                ชิ้นส่วน 2 ; I2 = 0.30*0.60^3/12 = 0.0054 m^4
                               k2 = 0.0054/5.00 = 0.0011
                ชิ้นส่วน 3 ; I3 = 0.35*0.35^3/12 = 0.00125 m^4
                               k3 = 0.00125/4.00 = 0.000313
                หมายเหตุ : กรณีชิ้นส่วนโครงสร้าง ที่จุดต่อเชื่อม ( joint ) ชิ้นส่วนโครงสร้าง ใช้วัสดุประเภทเดียวกัน สามารถลดรูปสมการเป็น k = I/L ได้
                สัดส่วนการรับน้ำหนักของชิ้นส่วนโครงสร้าง ที่จุดต่อเชื่อม ( joint ) 2
                ชิ้นส่วน 1 : K1 = 0.00025/( 0.00025+0.0011) = 0.185
                ชิ้นส่วน 2 : K2 = 0.0011/( 0.00025+0.0011) = 0.815

                สัดส่วนการรับน้ำหนักของชิ้นส่วนโครงสร้าง ที่จุดต่อเชื่อม ( joint ) 4
                ชิ้นส่วน 2 : K2 = 0.0011/( 0.0011+0.000313) = 0.780
                ชิ้นส่วน 3 : K3 = 0.000313/( 0.0011+0.000313) = 0.220
พฤติกรรมมนุษย์ ( Human Behavior )
                พฤติกรรม คือ การกระทำตามความรู้สึกหรือความประพฤติ เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต เช่น คน สัตว์ และพืช จะมีพฤติกรรมเช่นเดียวกับโครงสร้าง เมื่อมีปัจจัย ต่างๆ มากระทำ ย่อมมีพฤติกรรมตอบสนอง เช่น ดีใจเมื่อสมหวัง หรือเศร้าใจเมื่อผิดหวัง เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้พฤติกรรมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป แต่มนุษย์มีการศึกษา เรียนรู้ เลียนแบบ และเสแสร้ง จึงทำให้พฤติกรรมมนุษย์ต่างจากสัตว์ พืช และโครงสร้าง ทำให้วิเคราะห์พฤติกรรมได้ยากกว่า แต่ก็สามารถวิเคราะห์ข้อเท็จจริงได้ โดยใช้ระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นไปตามพฤติกรรมของมนุษย์
                พฤติกรรมมนุษย์ ส่งผลต่อสังคมทั้งด้านดีและด้านร้าย เช่น ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง หรือความวุ่นวาย เป็นต้น พฤติกรรมของมนุษย์ที่กระทบต่อความวุ่นวายของสังคม หรือความปลอดภัยของชีวิต จะแก้ไขได้ด้วยศีลธรรมและกฎหมายที่เป็นประชาธิปไตย
                ศีลธรรมจะช่วยขัดเกลาจิตใจคน ให้มีความสำนึกต่อความชอบผิด ดีชั่ว มีความเมตตา กรุณา มีความกตุญญู กตเวที และมีหิริ โอตตัปปะ เป็นต้น และควบคุมสันดานดิบของคน เพื่อเปลียนคนให้เป็นมนุษย์ ( แปลว่าจิตใจสูง )

 

                กฎหมายจะใช้เพื่อควบคุมและลงโทษคนร้าย ให้มีความสำนึก และกลับใจเป็นคนดีมีศีลธรรม เพื่ออยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข
 

ประโยชน์ของพฤติกรรม
                พฤติกรรมโครงสร้างและพฤติกรรมมนุษย์ สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง
                พฤติกรรมโครงสร้างจะใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุความบกพร่องของโครงสร้าง เพื่อแก้ไขโครงสร้างให้แข็งแรงและใช้งานได้ปลอดภัย
                พฤติกรรมมนุษย์จะใช้ในการวิเคราะห์สาเหตุความผิดปกติของพฤติกรรมมนุษย์ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รักษาผู้ป่วยทางจิต และเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อควบคุมและลงโทษคนร้าย เป็นต้น
                ที่กล่าวมานี้ ผมหวังว่า ผู้สนใจที่เข้ามาอ่าน คงได้ความรู้และมีความเข้าใจ ในพฤติกรรมโครงสร้างกับพฤติกรรมมนุษย์ ดียิ่งขึ้น
                ผมกราบมารดาและบิดา ที่ให้การอบรม สั่งสอน และส่งเสริมให้การศึกษา ให้เป็นคนดี มีศีลธรรม และมีการศึกษา และคารวะครูและอาจารย์ ที่ถ่ายทอดความรู้ ให้เป็นคนมีวิชาการ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 


Create Date : 22 ธันวาคม 2560
Last Update : 3 ตุลาคม 2562 15:15:53 น. 0 comments
Counter : 7997 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

วิศวกรที่ปรึกษา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ประกอบอาชีพวิศวกรโครงสร้างและวิศวกรโยธา

ไม่สนับสนุนการออกแบบและก่อสร้างอาคาร รวมทั้งงานต่อเติมที่ผิดกฎหมายต่อพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522


New Comments
Friends' blogs
[Add วิศวกรที่ปรึกษา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.