Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผ่าปัญหา ‘หมอสมองไหล’ กับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา



แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผ่าปัญหา ‘หมอสมองไหล’ กับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

แนวคิดการเพิ่มอัตรา “ค่าปรับ” กับแพทย์ที่เรียนจบแล้วผิดสัญญาไม่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐ จาก 4 แสนบาท เป็น 5 ล้านบาท ของ นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อแก้ปัญหาแพทย์ “สมองไหล” จากภาครัฐสู่ภาคเอกชนนั้น ได้รับทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ

ในมุมหนึ่งมีเสียงสนับสนุนว่า “ยาแรง” ขนานนี้จะช่วยยับยั้งปัญหาให้หยุดชะงักลงได้ ทว่าในอีกมุมหนึ่งกลับมองว่ามาตรการดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (ขอบคุณภาพจาก WAY Magazine.org)

สำนักข่าว HFocus พูดคุยกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข เพื่อฉายภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ

“ถ้าพูดตรงๆ แนวคิดนี้คงไม่ได้แก้ไขปัญหาทั้งหมด” อาจารย์ธีระวัฒน์ เริ่มบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมา

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าซับไพร์มของแพทย์ในประเทศไทยไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเราพุ่งเป้าพิจารณากันแต่ในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองในรายละเอียดว่าแพทย์ยังมีชีวิตอยู่เท่าใด อยู่ในพื้นที่เท่าใด และช่วงอายุเท่าใด

ทั้งนี้ ทางแพทยสภา โดย พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รักษาการเลขาธิการแพทยสภา ได้รวบรวมข้อมูลจนถึงปลายปี 2561 พบว่าจริงแล้วๆ บุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในการบริบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงเรียนแพทย์ในรูปของแพทย์ประจำบ้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นแพทย์อายุน้อยทั้งสิ้น

“เวลาเราพูดถึงปัญหาแพทย์กระจุกตัวไม่กระจาย โดยมักพูดกันต่อว่าจริงๆ แล้วกำลังคนเพียงพอนั้น แท้ที่จริงแล้วมันไม่เพียงพอ เพราะว่าช่วงอายุของการทำงานจริงๆ มีอยู่แค่ 2-3 หมื่นคนเท่านั้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้แพทย์ “กระจุกตัวไม่กระจาย” ก็ต้องถามต่อว่าเหตุใดแพทย์จึงอยู่ไม่ได้ในระบบ ?

----- แพทย์ต้องการความมั่นคง สังคมต้องการ ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ -----

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้แพทย์อยู่ไม่ได้ในระบบมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ 1.ภาระงานมีมากเกินไปในขณะที่กำลังคนมีจำกัด 2.ผู้ป่วยมีความต้องการรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเกิดความอึดอัด เพราะไม่สามารถสร้างความพอใจให้กับตนเองและผู้ป่วยได้

“ประการแรกคือแพทย์ทนไม่ไหว ประการต่อมาคือเรื่องของความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ ความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมไปถึงความมั่นคงในชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ตรงนี้จะเห็นได้ว่าแพทย์ที่ใช้ทุนเสร็จเรียบร้อยก็มักจะกลับมาเรียนต่อ ซึ่งการเรียนต่อตรงนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการเผชิญชีวิตต่อภายภาคหน้า

“เพราะต้องยอมรับว่าสังคมในปัจจุบันนี้ต่างร้องเรียกหาผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนต้องการตรวจ รักษา ผ่าตัดกับผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแพทย์ก็ต้องหาอะไรที่ตอบสนองความต้องการของสังคม และตอบสนองความมั่นคงของตัวเองด้วย ในกรณีนี้ต้องถามคำถามต่อว่าแล้วจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร” อาจารย์ธีระวัฒน์ ตั้งคำถาม

อาจารย์แพทย์รายนี้ ตั้งประเด็นต่อว่า ทางออกของปัญหาคือการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทะลักออกไปข้างนอกจนแก้ปัญหาการกระจุกตัวได้เองเช่นนั้นหรือ และในขณะที่แพทย์ทะลักออกไปข้างนอกแล้วทุกคนยังเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ เมื่อแพทย์ไม่สามารถแข่งขันกันได้ในเมืองใหญ่ก็จะกระจายออกไปด้านนอกเองเช่นนั้นหรือ

“การแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้มักพบได้ในเมืองใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่สุดแล้วระบบเช่นนี้ในตอนท้ายก็ล่มจม เพราะด้วยวิทยาการอะไรต่างๆ มันมุ่งตรงไปที่การรักษา เมื่อพุ่งเป้าไปที่การรักษาแล้วก็จะนำมาซึ่งนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยี หรือเครื่องมือหัวใจเทียม ปอดเทียม ฯลฯ

“แต่ที่มาของนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ก็คือเงินทองงบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นหากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้โดยที่ไม่กลับมามองถึงประเด็นสำคัญคือเรื่อง “การส่งเสริมป้องกัน” และ “ความตระหนักรู้ในสภาพความเป็นจริงของประชาชนเอง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ก็คงมีปัญหาตามมา” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

----- สร้างบรรยากาศตระหนักรู้สุขภาพ หนุน ปชช.ดูแลตัวเอง -----

ในฐานะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ชี้ประเด็นว่า ทางออกของปัญหาคือประชาชนเองต้องตระหนักว่าการดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกับความตระหนักรู้ในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ แต่สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นคือการรับรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพ และการรับรู้ว่าโรคต่างๆ ไม่เกิดขึ้นมาภายใน 5-10 ปี หากแต่เป็นการสะสมมาอย่างยาวนานเป็น 10-20 ปี แล้วจึงแสดงอาการออกมา

“คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ความตระหนักรู้เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้ ส่วนตัวคิดว่านั่นคือระบบการศึกษา ซึ่งไม่ใช่การศึกษาของแพทย์ แต่เป็นการศึกษาตั้งแต่เด็กอนุบาล การศึกษาในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ เมื่อตระหนักรู้แล้วก็จะทำให้การป้องกันได้ผล” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

สำหรับการป้องกันที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงในข้างต้นนั่นคือการป้องกันในตัวเอง แต่ยังมีการป้องกันอีกส่วนหนึ่งคือการป้องกันโดย “หน่วยงานรัฐ” ซึ่งการให้ความรู้โดยภาครัฐนั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และนั่นคือที่มาของ “ระบบสาธารณสุขมูลฐาน” ที่พยายามจะเปลี่ยนสถานีอนามัยให้มีความพร้อมมากขึ้น กำหนดให้มีแพทย์ประจำเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที

“ในกรณีนี้หากนำแพทย์ลงไปเฉยๆ ก็จะมีความยากเย็นแสนเข็ญ เพราะตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เดิมทีในอดีตหากเริ่มต้นด้วยการคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นโรค แล้วเริ่มป้องกันตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว ปัจจุบันจะไม่มีคนไข้เดินเข้าโรงพยาบาลมากมายเช่นนี้

----- โน้มน้าวด้วยสวัสดิการ – ผลิตผู้เชี่ยวชาญเพื่อชุมชน -----

“เพราะฉะนั้นเรื่องระบบสาธารณสุขมูลฐานในขณะนี้ ถ้าส่งหมอเข้าไปในพื้นที่เมื่อใด หมอคนนั้นต้องรอบจัด คือต้องเป็นหมอที่เก่ง เก่งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เฉียดเต็มขั้น หรือเข้ามาครึ่งทางของตัวโรคแล้ว แต่ถ้าหากคนที่ลงไปตรงนั้นเป็นแค่หมอที่ให้ความรู้ การป้องกันเท่านั้นคงไม่เพียงพอ เพราะประชาชนเริ่มกลัวตายขึ้นมาแล้ว เขาเห็นว่าเบาหวาน น้ำตาล สูงมากแล้ว

“ประเด็นคือในขณะนี้หมอไม่ใช่แค่การคัดกรองคนที่เริ่มป่วย แต่เป็นการลงไปเพื่อรักษาคนที่ป่วยแล้ว และป่วยมาครึ่งทางแล้ว เพราะฉะนั้นความยากของมันก็คือถ้าหากจะนำหมอที่รอบจัด หรืออยู่ในระดับเช่นนี้ลงไปในพื้นที่ได้ ก็จะต้องดึงหมอที่กำลังกระจุกตัวอยู่ในขณะนี้ ด้วยการให้ความสำคัญเขา ให้ชื่อเสียง ให้เขารู้สึกว่าเขามีเกียรติ เขากำลังทำหน้าที่สำคัญ และที่สำคัญคือเขาต้องสามารถเลี้ยงตัวได้ และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้"

“ดังนั้นการดำเนินการก็คือเริ่มนำเอาผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอยู่แล้วแต่ยังกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ อาจจะต้องจูงใจว่าแทนที่จะแก่งแย่งกันในเมืองอย่างยากลำบาก ลองไปอยู่ในบรรยากาศสบายๆ คุณภาพชีวิตดีๆ ในพื้นที่ แล้วยังได้ค่าตอบแทนมหาศาล โดยคิดค่าตอบแทนตามภาระงานที่เกิดขึ้น คือทำงานมากก็ควรได้ค่าตอบแทนมาก” อาจารย์ธีระวัฒน์ ลำดับความเชื่อมโยงของปัญหา

เขา กล่าวอีกว่า หากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเมื่อแพทย์เรียนจบแล้วใช้ทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาจะกลับมาศึกษาต่อหรือฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ของเขา ควรจะฝึกอบรมให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ในภูมิลำเนาของตัวเอง เช่น ในเขตนั้นมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่งก็ให้แพทย์ไปศึกษาอยู่ที่นั่น แล้วจบออกมาก็ไปอยู่ในภูมิลำเนาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีพี่เลี้ยงอยู่ในเขตตรงนั้นด้วย

----- ฉายสภาพความเป็นจริง - เปลี่ยน ‘Mindset’ ของรัฐบาล -----

แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นจริง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า หากต้องการทำให้แนวคิดข้างต้นประสบผลสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปลี่ยน “Mindset” หรือกระบวนการทางความคิดของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐใหม่

“เราต้องเปลี่ยน mindset ของ ก.พ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) รวมถึงสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง คือในหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านี้ จะคิดถึงเรื่องการตัดเงิน การตัดงบ แต่ไม่ได้คิดถึงความจำเป็น แม้ว่าความจำเป็นจะมีอย่างมหาศาล แต่เขาไม่ฟังหรอก เขามีหน้าที่ตัดเฉยๆ ดังนั้นหากเราทำให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเข้าใจในสภาพความเป็นจริง ก็คิดว่าน่าจะสามารถพูดจากันได้” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ระบุ

สำหรับเรื่องของงบประมาณนั้นนับเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องพูดกันต่อ “อาจารย์ธีระวัฒน์” ยืนยันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่ดีสำหรับประเทศไทย แต่จำเป็นต้องทำให้ประเทศเห็นปัญหาร่วมกันว่า ในโรคๆ หนึ่ง หรือในโรคเดียวกันนั้น หากเพิ่งเกิดขึ้นจะรักษาได้รวดเร็ว แต่หากเป็นมากแล้วจะรักษายาก มีความซับซ้อน และใช้งบประมาณมหาศาล

ดังนั้นเวลาที่จะพูดให้ประชาชนตระหนักรู้ จำเป็นต้องพูดความจริงว่าประเทศกำลังประสบปัญหาอะไรอยู่ ฉะนั้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเลิกพูดว่า ขณะนี้ให้สิทธิประโยชน์ตรงนั้นตรงนี้เพิ่มขึ้น แต่รัฐบาล กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่ สปสช.ต้องออกมาพูดด้วยเสียงเดียวกันว่าตัวเลขจริงๆ เป็นอย่างไร คนไข้ที่เป็นโรคแล้วเข้าโรงพยาบาลรัฐ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงๆ โดยไม่คิดกำไรเป็นเท่าใด

“ต้องพูดความเป็นจริงกันว่าเราใช้งบประมาณไปเท่าใด มีแพทย์มีพยาบาลกี่คนมาช่วยในการรักษาผู้ป่วยในห้องไอซียู หรือผ่าตัดใหญ่เท่าใด คือชี้ให้เขาเห็นว่าเราใช้กำลังคน กำลังเงิน เครื่องมือ อุปกรณ์ ทรัพยากรต่างๆ ไปเท่าใด เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเห็นและต้องร่วมกันรับรู้ว่า ถ้าเขาไม่ดูแลตัวเองหรือไม่ปฏิบัติตัวให้ดี ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศก็จะล่ม” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ พูดชัด

----- ระบบสาธาณสุขของชาติล่ม ‘คนจน’ ก้มหน้ารับเคราะห์กรรม -----

ระบบสาธารณสุขทั่วประเทศล่มแล้วเป็นอย่างไร ? ในฐานะกรรมการปฏิรูปซึ่งเห็นภาพกว้างของระบบสาธารณสุขในประเทศไทย เขา อธิบายว่า เมื่อระบบสาธารณสุขของประเทศล่ม ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับคนจน ซึ่งเป็นคนด้อยโอกาสเป็นอันดับแรก

“ถ้าประชาชนไม่ดูแลตัวเองเช่นนี้ เมื่อระบบล่มคนจนก็จะตายก่อน ซึ่งจริงๆ แล้ว คนจนหรือคนด้อยโอกาสคือกลุ่มคนที่ควรได้รับความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก แน่นอนว่าเมื่อเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เราก็ต้องให้เขาหมด แต่หากเขาเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็จะให้เขาเฉพาะในสิ่งที่เขาขาดแคลน และที่ต้องเข้าใจต่อก็คือไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับในระดับเดียวกัน

“อย่างคนขี่รถเบนซ์มาแล้วใช้สิทธิ 30 บาท ก็เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ เพราะเขาเหล่านั้นสามารถเข้าถึงแพทย์และการรักษาได้โดยกลไกต่างๆ อาจจะไม่ได้ยืนต่อแถวเอง หรือมีความสนิทสนมเกรงอกเกรงใจกัน ดังนั้นอีกประเด็นที่ต้องพูดกันต่อคือ “ความเสียสละของคนไทย” ซึ่งก็คือการรู้ว่าตัวเองพออยู่ได้ และยังมีคนอื่นที่ลำบากมากกว่าเราอีกเป็น 10 ล้านคน เราก็ไม่ควรเอาตรงนี้เพื่อที่จะแบ่งไปให้คนอื่น เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยน Mindset ของคนไทยทั้งประเทศด้วย” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ในฐานะที่เป็นแพทย์และอาจารย์แพทย์ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ให้ภาพต่อไปว่า แพทย์ที่รักษาคนไข้ไม่ได้จะรู้สึกเป็นทุกข์ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ยากลำบากไม่ได้ หนำซ้ำตัวเองยังดูแลครอบครัวของตัวเองไม่ได้ด้วย ดังนั้นคนไข้เห็นแพทย์ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าแพทย์ก็มีความทุกข์ ขณะเดียวกันแพทย์ย่อมเข้าใจว่าคนไข้ที่เดินมาหานั้นมีความทุกข์มหาศาล

“ถ้ามีความเห็นอกเห็นใจกันว่าต้องอยู่ได้ และต้องยอมรับว่าขณะนี้เราใช้เงินก้อนเดียวกัน ดังนั้นขณะนี้เป็นสถานการณ์ที่ต้องพูดความจริง ไม่ใช่มาด่ากันว่ารัฐบาลไม่ควรซื้อเรือดำน้ำ เพราะถึงไม่ซื้อเรือดำน้ำก็นำเงินนั้นมารักษาได้เพียงครู่เดียว เพราะขณะนี้ค่าใช้จ่ายมันมหาศาลมาก ผมคิดว่าในสถานการณ์นี้เราไม่ควรหาตัวผู้ร้าย หาแพะรับบาป อย่ามาหาว่ารัฐบาลไม่ดี รัฐบาลจะล้ม 30 บาท หรือจะโทษประชาชนว่าไม่ดี ไม่รู้จักดูแลตัวเอง

“คือถ้าเราเปลี่ยนการด่า การหาแพะ หาตัวผู้ร้าย มาเป็นการเข้าใจปัญหาอันหนึ่งอันเดียวกัน ผมคิดว่าถ้าไม่เปิดความหายนะที่เกิดขึ้นจริงให้ทุกคนรับทราบ ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขเลย” อาจารย์ธีระวัฒน์ ขมวดประเด็น

----- เรารักษาทุกโรคไม่ได้ – แนะรื้อใหญ่สิทธิประโยชน์ -----

การรักษาทุกโรคในมุมมองของ “ศ.นพ.ธีระวัฒน์” อาจไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เขา ยืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่สามารถรักษาทุกโรคได้

อาจารย์แพทย์รายนี้ ขยายความว่า สิ่งที่ต้องคิดต่อจากนี้ก็คือยาที่จะนำมาใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพในแต่ละโรคนั้น ควรจะใช้ยาอะไรจึงจะมีความเหมาะสม นั่นเพราะปัจจุบันมีตำรับยาเป็นจำนวนมาก มีทั้งยาที่สามารถ “ชะลอ” โรคได้จริงๆ และยาที่ทำหน้าที่เพียง “บรรเทา” อาการเท่านั้น

“ยาที่ชะลอโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ ต้องมาเป็นเบอร์ 1 แต่การใช้ยาในปัจจุบันเรากลับใช้ยาบรรเทาอาการ ยกตัวอย่างโรคมะเร็ง ซึ่งต้องใช้ยาให้สอดคล้องกับยีนส์ อย่างการรักษามะเร็งปอด หากใช้ยาตามยีนส์จะมีมูลค่ายา 1 ล้านบาท เราก็ควรกลับมาดูแล้วว่าใน 1 ล้านบาทนั้น ทำให้คนไข้อยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อได้กี่ปี เราจำเป็นต้องมีข้อมูลตรงนี้ ไม่ใช่อยู่ได้นานแต่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดเวลา

“เราต้องคิดนอกกรอบว่ายาที่เอามาใช้ในปัจจุบันมันเหมาะสมและจำเป็นหรือไม่ เราเข้าใจว่าทุกคนอยากให้คนรัก คนในครอบครัว หรือตัวเองมีชีวิตที่ยืนยาว แต่การจะยืดชีวิตคนออกไปนั้นเราต้องดูว่าเขาเหล่านั้นสามารถอยู่ต่อได้ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี หรือเป็นเพียงการยืดชีวิตเพื่อให้เขาทุกข์ทรมานต่อไป

“เราไม่ได้หมายความว่าถ้าไม่มีเงินแล้วจะปล่อยให้ตาย ไม่ใช่ แต่นี่เป็นหลักปฏิบัติว่าในเมื่อเราใช้เงินก้อนเดียวกัน เราก็ต้องตายด้วยกัน แต่คุณภาพชีวิตต้องดีไปจนถึงวันเสียชีวิต แต่หากคุณเปิด google ดูแล้วเจอว่าปัจจุบันมีนวัตกรรมการรักษาขนาดนี้แล้ว นั่นเป็นสิ่งที่คุณต้องช่วยตัวเอง เราช่วยไม่ได้ ประเด็นก็คือต้องมีการทบทวนตำหรับยาใหม่ทั้งหมด” อาจารย์ธีระวัฒน์ เสนอ

มากไปกว่านั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อไปก็คือการกลับมาทบทวนชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพใหม่ทั้งหมด

“การมุ่งแต่เพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นเรื่อยๆ ไม่สอดคล้องกับความจริงของประเทศ มันคือการสร้างผลงานเท่านั้น แต่การสร้างผลงานเหล่านั้นกลับสร้างภาระมากขึ้นๆ เพราะการให้สิทธิประโยชน์โดยที่ไม่มีเงินมา ผลกระทบก็จะตกอยู่กับผู้รักษา

“เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนไม่กล้าแตะ เพราะเกี่ยวข้องกับคะแนนเสียง ฐานทางการเมือง แต่ถ้าไม่ได้มองเรื่องนี้และพูดกันด้วยข้อเท็จจริง ผมเสนอหลายครั้งแล้วว่ากระทรวงสาธารณสุขต้องเอาความจริงของแต่ละโรคมาตีแผ่ เช่น ผ่าไส้ติ่ง ในระดับปกติอยู่ที่เท่าใด ถ้าผ่าไส้ติ่งที่แตกแล้วอยู่ที่เท่าใด และความต้องการความพิเศษในการรักษา มันลามไปถึงแพทย์ที่ใช้ทุนในต่างจังหวัด และมีภาระงานมาก ถ้าเขาทำคลอดพลาดหรือผ่าไส้ติ่งแตกขึ้นมา คำถามแรกที่ศาลถามก็คือคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือไม่

“ตรงนี้ก็ต้องเปลี่ยนเรื่องความเข้าใจของประชาชน และความเข้าใจทางด้านกฎหมาย คือถ้าเราต้องการให้แพทย์ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญทำการรักษาในทุกตารางเมตรของประเทศไทย คุณจะต้องรออีกนานมากจึงจะมีแพทย์ในระดับนั้นๆ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ทิ้งท้าย

https://www.hfocus.org/content/2018/07/16017





Create Date : 09 มกราคม 2562
Last Update : 9 มกราคม 2562 22:46:47 น. 0 comments
Counter : 917 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]