Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

คลินิกนอกเวลาราชการ - บัตรทองเบิกได้ หรือ ไม่ ? ( แต่ถ้าฉุกเฉินเข้า ER ฟรี อยู่แล้ว )

 

แจง กรณี รพ.แยกรักษาไม่ฉุกเฉินนอกเวลา ถือเป็นทางเลือกให้ ปชช. แต่สิทธิบัตรทองยังอยู่

“หมอชาตรี” ระบุ กรณีบาง รพ.แยกบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ ประชาชน สิทธิบัตรทองยังสามารถเข้ารับบริการตามสิทธิเหมือนเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น ย้ำเป็นทางเลือกให้กับประชาชน รพ.ต้องไม่รอนสิทธิผู้ป่วย

นพ.ชาตรี บานชื่น

นพ.ชาตรี บานชื่น ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ครอบคลุมบริการพื้นฐาน ทั้งการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ รวมถึงบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต โดยมีหน่วยบริการทุกระดับทั่วประเทศร่วมกันดูแล “ผู้ป่วยฉุกเฉิน” โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน ไม่สามารถรอเวลาเพื่อรับบริการต่างจากผู้ป่วยทั่วไป โรงพยาบาลจึงจัดบริการห้องฉุกเฉินเพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ แต่จากข้อมูลการเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลพบว่า ในช่วงนอกเวลาราชการ ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน บางแห่งมีจำนวนมาก จึงจัดแยกจัดบริการผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินนอกเวลาราชการ อย่างคลินิกพิเศษ ออกจากบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน

ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน ป้องกันความขัดแย้งจากการรอรับบริการที่แพทย์จำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินก่อน ทั้งลดแรงกดดันปฏิบัติหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ จึงมีโรงพยาบาลบางแห่งจัดบริการนี้เพื่อถือเป็นทางเลือกให้กับประชาชน แต่เนื่องจากทำให้โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งด้านบุคลากรที่ให้บริการ ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ จึงต้องจัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์พื้นฐานของกองทุนรักษาพยาบาลที่ได้รับ

“ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินที่รับบริการนอกเวลาราชการในโรงพยาบาลที่แยกบริการรองรับ ที่เป็นหน่วยบริการตามสิทธิขึ้นทะเบียนบัตรทอง การเบิกจ่ายค่ารักษายังเป็นไปตามสิทธิประโยชน์พื้นฐาน ทั้งค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นต้น เพียงแต่ต้องจ่ายสนับสนุนค่าจัดบริการเพิ่มเติมเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากประชาชนที่เจ็บป่วยไม่ฉุกเฉิน แต่ยืนกรานจะรับบริการที่ห้องฉุกเฉินก็เป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก”

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในการจัดบริการนอกเวลาราชการสำหรับผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนคือโรงพยาบาลต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบก่อน แต่อาจยังทำได้ไม่ทั่วถึง ประกอบกับมีโรงพยาบาลที่เปิดบริการนอกเวลาราชการมากขึ้น จึงมีเรื่องร้องเรียนมายัง สปสช. และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาร่วมกัน ทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และมีมติร่วมกัน เน้นสื่อสารกับประชาชนให้เข้าใจว่า สิทธิบัตรทองของประชาชนที่ได้รับ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพียงแต่โรงพยาบาลจัดบริการเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนต้องร่วมสนับสนุนค่าบริการบ้างเท่านั้น

อย่างไรก็ตามหน่วยบริการต้องระวังไม่รอนสิทธิ แม้ว่าผู้ป่วยจะรับบริการที่คลินิกนอกเวลาราชการ แต่สิทธิประโยขน์พื้นฐานเบิกจ่ายกองทุนบัตรทองยังอยู่ โรงพยาบาลเก็บเงินผู้ป่วยได้เฉพาะค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการจัดบริการเท่านั้น และการเข้ารับบริการยังต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชนเอง เรื่องนี้หากทำได้ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ เพราะประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง หรือกองทุนรักษาพยาบาลอื่นไม่ได้เสียประโยชน์ แต่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดในห้องฉุกเฉิน ลดความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและผู้ให้บริการ ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น เรียกว่าเป็นผลดีกับทุกฝ่าย

************************************
 

 

แนะผู้ป่วย ‘บัตรทอง’ ร้องเรียนขอคืนเงิน หากถูก รพ.เก็บค่ารักษานอกเวลาราชการ

กก.ควบคุมคุณภาพฯ สปสช. ชี้ โรงพยาบาลไม่มีอำนาจเก็บค่ารักษาบริการนอกเวลาราชการจากผู้ป่วยบัตรทอง เหตุไม่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับให้ดำเนินการได้ แนะหากถูกเก็บเงินให้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการฯ ยืนยันโรงพยาบาลต้องชดใช้พร้อมดอกเบี้ยสถานเดียว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว

น.ส.สุภัทรา นาคะผิว กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่เข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายหรือระเบียบใดๆ รองรับการดำเนินการดังกล่าว ฉะนั้นหากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจริงก็เท่ากับเป็นการลิดรอนสิทธิผู้ป่วย

“กรณีที่โรงพยาบาลขึ้นป้ายว่าหากเข้ารับการรักษานอกเวลาราชการจะถูกเก็บค่ารักษาพยาบาล 100 บาท หรือเท่าไรก็ตามนั้น หากผู้ป่วยร้องเรียนมายังคณะกรรมการควบคุมฯ สปสช. เราก็จะวินิจฉัยว่าโรงพยาบาลต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้ป่วยด้วย นั่นเพราะโรงพยาบาลไม่มีสิทธิเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองในทุกๆ กรณี” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้ให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลตามสิทธิทั้งในกรณีฉุกเฉิน กรณีที่มีความจำเป็น ตลอดจนกรณีอื่นๆ ทั้งในและนอกเวลาราชการ และหากพิจารณาตามประกาศของบอร์ด สปสช.ก็จะพบว่าไม่ได้มีข้อใดที่เปิดช่องให้โรงพยาบาลเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองได้ เว้นแต่ให้สามารถร่วมจ่าย 30 บาทได้ตามความสมัครใจของผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้นยืนยันว่าโรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินผู้ป่วยบัตรทองได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้แต่อย่างใด

“ส่วนตัวคิดว่าหากจะประนีประนอม โรงพยาบาลสามารถเปิดเป็นเคาน์เตอร์หรือคลินิกพิเศษแยกออกมาได้ กล่าวคือเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยบัตรทองว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายเงิน คือควรจะทำเป็นทางเลือก ไม่ใช่บังคับ” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา ย้ำอีกว่า แนวคิดการเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาทำการของ สธ.นั้นเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และ สปสช.ก็ไม่ได้มีอำนาจอะไรไปก้าวล่วงหรือไปสั่งห้ามไม่ให้หน่วยบริการจัดบริการได้ ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่การดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวจะต้องแยกออกไปให้ชัด คือจะเปิดคลินิกพิเศษก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องเปิดเคาน์เตอร์สำหรับผู้ป่วยบัตรทองด้วย โดยผู้ป่วยจะเลือกใช้สิทธิบัตรทองหรือจะรับการรักษาในคลินิกพิเศษก็เป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยเอง

“ถ้าโรงพยาบาลขึ้นป้ายเก็บค่าบริการนอกเวลาทำการ แล้วผู้ป่วยมาร้องว่าถูกเรียกเก็บเงิน คณะกรรมการควบคุมฯ มีทางเดียวก็คือต้องสั่งให้โรงพยาบาลคืนเงิน นั่นเพราะต้องเข้าใจด้วยว่ากฎหมายให้สิทธิผู้ป่วยบัตรทองใช้สิทธิรับบริการในกรณีที่จำเป็นด้วย เช่น ถ้าผู้ป่วยยืนยันว่าไม่สามารถเข้ารับบริการในเวลาราชการได้ เนื่องจากติดภารกิจต้องทำงาน มีเวลามารับบริการได้แค่หลังเวลาเลิกงานเท่านั้น เขาก็มีสิทธิมาได้ โดยไม่มีกฎหมายใดห้ามไม่ให้เขามา” น.ส.สุภัทรา กล่าว

น.ส.สุภัทรา ระบุอีกว่า เมื่อผู้ป่วยมีความจำเป็น ก็เป็นเรื่องของเขาที่จะอธิบายความจำเป็นนั้นๆ ว่าเหตุใดต้องมารับบริการนอกเวลาราชการ แต่ถ้าต้องการที่จะเก็บค่ารักษาจริงๆ ทางบอร์ด สปสช.ก็ต้องออกมาเป็นประกาศให้ชัดเจนว่าสามารถให้ดำเนินการได้ ซึ่งหากออกประกาศมาแล้วทางคณะกรรมการควบคุมฯ ก็ต้องปฏิบัติตาม แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีประกาศใดๆ ให้อำนาจ หากมีคนร้องเข้ามา เราก็ต้องสั่งให้คืนเงิน เพราะการดำเนินการของหน่วยพยาบาลจะเข้ามาตรา 59 คือเรียกเก็บเงินในกรณีที่ไม่มีสิทธิเรียกเก็บ

***********************************
 

 

สธ.ยืนยัน โรงพยาบาลเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้

ที่ปรึกษา รมว.สธ. ยืนยัน โรงพยาบาลสามารถเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องเป็นผู้ป่วยทั่วไปไม่ฉุกเฉิน และเก็บได้ไม่เกิน 110 บาท เหตุ รพ.มีค่าใช้จ่าย-เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพิ่ม ย้ำแค่จ่ายค่าบริการเพิ่ม ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ยังเหมือนเดิมตามสิทธิ

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข ชี้แจงกรณีโรงพยาบาลจัดเก็บค่าบริการผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งเข้ามารับบริการนอกเวลาราชการ โดยยืนยันว่า โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้ตามระเบียบของ สธ. แต่ต้องไม่เกิน 110 บาท

นพ.กิตติศักดิ์ อธิบายว่า โรงพยาบาลทุกแห่งให้บริการผู้ป่วยบัตรทองในเวลาราชการอย่างเต็มที่ แต่นอกเวลาราชการนั้น หากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุก็สามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน (ER) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนผู้ป่วยทั่วไป หรือผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน และสมัครใจเข้ารับบริการในคลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลา ทางหน่วยบริการสามารถกำหนดค่าบริการการให้บริการนอกเวลาได้

“โรงพยาบาลสามารถกำหนดค่าบริการได้ตามหลักการเล่มเขียวของ สธ. ซึ่งจะต้องไม่เกิน 110 บาท โดยกรณีนี้ต้องเป็นผู้ป่วยที่สมัครใจมาใช้บริการนอกเวลาเท่านั้น หากไม่สมัครใจก็กลับไปใช้บริการในเวลาได้” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากค่าบริการนอกเวลาราชการจำนวนไม่เกิน 110 บาทแล้ว สิทธิอื่นๆ ของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยบัตรทอง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หรือสวัสดิการข้าราชการ ยังคงเหมือนเดิม กล่าวคือผู้ป่วยบัตรทองก็ได้รับการรักษาตามสิทธิประโยชน์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ผู้ประกันตนก็ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาอื่นๆ หรือข้าราชการก็ยังเบิกได้เช่นเดิม

“ผู้ป่วยเพียงแต่จ่ายค่าบริการนอกเวลาเพิ่มแค่นั้น ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ยังเหมือนเดิม” นพ.กิตติศักดิ์ ระบุ

นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า หากผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับบริการนอกเหนือเวลาราชการ และเกินเวลาที่คลินิกพิเศษนอกเวลาราชการเปิด ผู้ป่วยก็ยังสามารถเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินได้ แต่การเข้ารับบริการดังกล่าวอาจกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยที่ฉุกเฉินอยู่ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงได้จัดห้องแยกไว้ต่างหาก ซึ่งจุดนี้โรงพยาบาลก็สามารถเก็บค่าบริการนอกเวลาราชการได้ แต่ต้องไม่เกิน 110 บาทด้วยเช่นกัน

“การให้บริการนอกเวลาราชการ ทั้งคลินิกนอกเวลา คลินิกพิเศษ ห้องแยกจากห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มทั้งในแง่ของทรัพยากรและบุคลากร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเก็บจากผู้รับบริการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดสิ่งที่ขอย้ำคือต้องเป็นผู้ป่วยที่สมัครใจมาใช้บริการนอกเวลาราชการเท่านั้น ถ้าไม่สมัครใจก็กลับไปใช้บริการในเวลาได้ ซึ่งโรงพยาบาลก็ให้บริการอย่างเต็มที่แน่นอน” นพ.กิตติศักดิ์ ยืนยัน

ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข กล่าวด้วยว่า หลักการนี้แตกต่างกับสิ่งที่หนึ่งในกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สปสช. ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในคณะกรรมการฯ ระบุว่า โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บค่าบริการใดๆ จากผู้ป่วยบัตรทองได้เลย

“ถ้าไม่สามารถเก็บเงินได้เลย จะมาเมื่อไรก็มาได้ จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไข้มาโรงพยาบาลเมื่อใดก็ได้ แล้วเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในเวลาราชการ ซึ่งควรจะได้พักผ่อนในช่วงนอกเวลา ก็จะต้องรับภาระหนัก และไปกินเวลาของคนไข้ฉุกเฉินด้วย” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว

นพ.กิตติศักดิ์ อธิบายต่อไปว่า กรณีที่อ้างว่าบัตรทองให้สิทธิประชาชนเข้ารับบริการตามความจำเป็นได้นั้น ความจำเป็นหมายถึงผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยอุบัติเหตุ ไม่ใช่ผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่ฉุกเฉิน ซึ่งในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ได้แยกค่าบริการออกมาแล้ว แต่ไม่ได้เน้นว่าในเวลาหรือนอกเวลา แต่ที่ผ่านมาเคยมีมติของบอร์ด สปสช.ว่าการให้บริการของหน่วยบริการต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง นั่นหมายถึง 8.30-16.30 น. รวม 5 วัน ก็จะ 40 ชั่วโมง แต่ในกรณีนี้เป็นการให้บริการนอกเวลา

“ท่านประธานคณะกรรมการควบคุมฯ ก็ได้ชี้แจงแล้วว่า การเข้ารับบริการของผู้ป่วยบัตรทองนอกเวลาที่คลินิกนอกเวลาหรือคลินิกพิเศษนอกเวลา จะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มตามที่หน่วยบริการกำหนด” นพ.กิตติศักดิ์ ยืนยัน

*************************************
 

 

สรุปสิทธิบัตรทองเข้า ER นอกเวลาไม่เสียเงิน แต่ต้องคิดว่าฉุกเฉินจริง และให้คิวอาการหนักก่อน

"รศ.พญ.ประสบศรี" ชี้ ป่วยฉุกเฉินของสิทธิบัตรทองหมายรวมถึงฉุกเฉินในมุมของผู้ป่วยด้วย ไม่ต้องถึงระดับสีแดงก็รับบริการที่ห้อง ER ได้โดยไม่ต้องเสียเงิน แต่ต้องรอคิวให้หมอรักษาผู้ป่วยหนักก่อน หรือเลือกจ่ายเงินรับบริการคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการก็ได้

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีการเก็บค่าบริการรักษาพยาบาลนอกเวลาราชการว่า กรณีนี้ต้องเคลียร์ให้ชัดเจนก่อนว่านอกเวลาราชการคือเวลาของผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ใช่เวลาของคนที่อยากจะมารับบริการเมื่อไหร่ก็มาได้ อย่างไรก็ดี ในส่วนของผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะแตกต่างจากประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการตรงที่คำว่าฉุกเฉินในระบบบัตรทองจะครอบคลุมไปถึงความฉุกเฉินในมุมของคนไข้ด้วย หมายถึงให้เข้าใจถึงความรู้สึกของคนไข้ด้วยเพราะว่าบางครั้งคนไข้ไม่เข้าใจว่าอะไรคือฉุกเฉิน ดังนั้นถ้าคิดว่าอาการที่ตัวเองเป็น เป็นปัญหาฉุกเฉิน ก็สามารถใช้บริการได้

"ห้องฉุกเฉินเปิดให้สำหรับทุกสิทธิแต่ต้องเฉพาะที่เป็นกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ซึ่งในกรณีคนไข้สิทธิอื่นที่ไม่ใช่บัตรทอง มีเฉพาะคนไข้สีแดงที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ถ้าเป็นสิทธิบัตรทองจะคลอบคลุมไปถึงสีเหลืองและเขียวด้วย เป็นกติกาที่มีตั้งแต่ตอนเริ่ม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่ากรณีฉุกเฉินของคนไข้บัตรทอง เรารวมถึงความฉุกเฉินที่คนไข้พิจารณาด้วย" รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ดี ในการรับบริการในห้องฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นการเจ็บป่วยที่ผู้ป่วยคิดว่าฉุกเฉินจริงๆ เช่น ปวดท้องแล้วคิดว่าเป็นปัญหาฉุกเฉิน แต่ถ้ามาโรงพยาบาลแล้วทางโรงพยาบาลบอกว่ายังไม่ใช่ฉุกเฉินสีแดง อาจเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว คนไข้ก็จะไม่ถูกปฏิเสธการให้บริการแต่ต้องเข้าระบบการจัดลำดับความสำคัญที่ว่าคนไข้ฉุกเฉินสีแดงต้องได้รับการดูแลก่อน และเมื่อให้บริการแล้วจะเรียกเก็บเงินไม่ได้

"แต่ไม่ใช่ว่าคนไข้บอกว่ากลางวันฉันไม่ว่าง ฉันจะมาเวลานอกราชการ มารับบริการตามใจฉันไม่ได้ ทำได้อย่างเดียวคือมีอาการและคิดว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินจึงขอมาใช้บริการที่ห้องฉุกเฉิน ต้องนั่งคอยตามการจัดลำดับความเร่งด่วนของคนไข้ ถ้าคนไข้เดินเข้ามาบอกว่าจะขอทำแผล แบบนี้คงไม่ใช่ฉุกเฉิน หรือเพิ่งเลิกงานเลยจะมาตรวจ แบบนี้ก็ไม่ใช่ ก็ต้องไปคลินิกนอกเวลาราชการที่มีการคิดเงิน หรืออีกอย่างคือนั่งรอที่ห้องฉุกเฉินจนกระทั่งคนไข้ฉุกเฉินหมดก่อน แล้วค่อยทำแผล แบบนี้ก็ไม่ต้องคิดเงิน ถ้าถูกคิดเงินก็มาอุทธรณ์คณะกรรมการควบคุมฯ ของ สปสช.เพื่อขอเงินคืนได้ ขณะเดียวกันเราก็พยายามประชาสัมพันธ์กับโรงพยาบาลว่าหลังหมดเวลาราชการแล้วไม่ใช่ทุกเคสจะต้องเก็บเงินหมด ต้องเข้าใจด้วยว่าสิทธิบัตรทองไม่เหมือนกับประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการอย่างไร" รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่โรงพยาบาลเปิดคลินิกนอกเวลาและถ้าคนไข้บัตรทองไม่อยากใช้เวลารอคอยบริการที่ห้องฉุกเฉิน จะไปใช้คลินิกพิเศษนอกเวลาก็สามารถไปรับบริการได้ จุดนี้เป็นความยินยอมพร้อมใจของผู้ป่วย ซึ่งเท่าที่ประสบพบเจอมาพบว่าการเปิดคลินิกนอกเวลาราชการเช่นนี้ ชุมชนในพื้นที่เห็นด้วย 100% เพราะได้รับทราบว่าโรงพยาบาลมีงานในห้องฉุกเฉินหนักมาก ต้องแบ่งเบาภาระออกไปให้หมอห้องฉุกเฉินดูเฉพาะคนไข้ฉุกเฉินจริงๆ ขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้มากมาย ค่ายา ค่าตรวจ ฯลฯ ยังอยู่ในสิทธิ์ทั้งหมด เพียงแต่จ่ายเพิ่มในส่วนของค่าพิเศษที่ต้องจ้างหมอ พยาบาล มาอยู่เวรนอกเวลาราชการเท่านั้นเอง ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายๆ แห่งเปิดบริการคลินิกนอกเวลาคู่ขนานไปกับห้องฉุกเฉินและได้รับผลตอบรับที่ดี ประชาชนชื่นชอบอย่างมาก

*************************************

ย้ำ รพ.ไม่สามารถเรียกเก็บเงินคนไข้บัตรทองที่มานอกเวลาด้วยอาการฉุกเฉิน-มีเหตุอันควรได้

กรรมการบอร์ด สปสช.ภาคหวั่นโรงพยาบาลเข้าใจผิดเรียกเก็บเงินคนไข้บัตรทองที่มารับบริการนอกเวลาทุกกรณี แจงหากคนไข้บัตรทองไม่ประสงค์เข้ารับบริการในคลินิกพิเศษนอกเวลา เพราะคิดว่าอาการที่มาเป็นอาการฉุกเฉินในมุมของคนไข้ หน่วยบริการต้องจัดระบบบริการไว้รองรับต่างหากด้วย ย้ำในกรณีที่ผู้ป่วยบัตรทองมา รพ.ด้วยอาการฉุกเฉินหรือมีเหตุอันควร ห้ามเรียกเก็บเงินในกรณีเหล่านี้

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวถึงกรณีที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดให้บริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาและเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยบัตรทองว่า คนไข้ที่เข้ารับบริการอาจมีหลายประเภท บางคนมีเจตนาเข้าคลินิกพิเศษเพราะต้องการความสะดวกสบายหรือพบเแพทย์เฉพาะทางก็สามารถทำได้เพราะมีกติกาของ สธ. ออกมารองรับ

อย่างไรก็ดี ในส่วนของคนไข้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินหรือมีเหตุอันควร และไม่มีเจตนาเข้ารับบริการในคลินิกพิเศษ ทางโรงพยาบาลหรือหน่วยบริการก็ต้องจัดระบบบริการไว้ให้ด้วยว่าจะให้ไปรับบริการที่ไหนที่จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เช่น เด็กเป็นไข้ แม้อาจจะไม่ได้ฉุกเฉินมากนัก แต่ในมุมคนไข้อาจรู้สึกว่าฉุกเฉิน จะรอถึงเช้าก็กังวลใจ ขณะที่แพทย์อาจจะมองว่ากินยาลดไข้ก็หายแล้ว ไม่ต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ ซึ่งในมุมของ สปสช. ต้องมีมุมมองของผู้ป่วยมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาด้วย ไม่ใช่เฉพาะมุมของผู้ให้บริการฝ่ายเดียว ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นป่วยฉุกเฉินระดับสีเขียว เหลือง หรือแดง ก็สามารถเข้ารับบริการได้

"เรื่องนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ตั้งทีมมาพิจารณา เราคุยกันว่าถ้าคนไข้มีอาการฉุกเฉินไม่ว่าสีอะไรก็ตาม หน่วยบริการต้องจัดระบบบริการให้เขาได้รับการรักษา เป็นระบบคู่ขนานไปกับคลินิกนอกเวลาสำหรับคนไข้ที่ไม่ประสงค์จะใช้ช่องทางพิเศษ" ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว

ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าวอีกว่า ประเด็นดังกล่าวมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพหลายครั้งแล้ว และมีความเข้าใจผิดของโรงพยาบาลในการติดป้ายประกาศเรียกเก็บเงินเป็นระยะๆ ซึ่งที่ประชุมก็ได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือซักซ้อมความเข้าใจไปยังโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะถ้าไม่ทำความเข้าใจร่วมกัน สุดท้ายก็จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น

"ก็เป็นไปได้ว่าอาจเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ดังนั้นจึงอยากให้แก้ตั้งแต่ต้นน้ำ โรงพยาบาลอาจมีความยุ่งยากที่ต้องจัดหลายระบบ ทั้งคลินิกพิเศษ ห้องฉุกเฉิน แล้วยังต้องมีอีกหนึ่งระบบมารองรับคนไข้บัตรทองที่ไม่ได้ฉุกเฉินรุนแรงสีแดงและไม่อยากประสงค์ไปใช้คลินิกพิเศษ แต่มติมันออกมาอย่างนั้น ถ้าคุณไม่สามารถจัดระบบบริการได้ แล้วเขาจำเป็นต้องไปใช้คลินิกพิเศษนอกเวลา คุณก็ไม่มีสิทธิเก็บเงินเขา เพราะโรงพยาบาลไม่ได้จัดระบบที่ไม่ต้องเสียเงินไว้ต่างหากสำหรับเขา" ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว




Create Date : 07 มกราคม 2562
Last Update : 10 พฤษภาคม 2562 14:49:09 น. 1 comments
Counter : 2321 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณnewyorknurse, คุณhaiku


 

สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่มีประโยชน์มากค่ะ


โดย: newyorknurse วันที่: 7 มกราคม 2562 เวลา:3:06:13 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]