เกาต์
เกาท์
เกาต์ เป็นภาวะที่มีกรดยูริกในเลือดสูง และ มีการตกตะกอนของกรดยูริกในข้อ และ อวัยวะต่าง ๆ
ผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกาต์มากกว่าผู้หญิง 20 เท่า และมักจะพบในผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี
ส่วนในผู้หญิงจะพบได้บ่อยเมื่ออายุมากกว่า 50 ปี หรือ ช่วงวัยหมดประจำเดือน
โรคเกาต์เป็นโรคเรื้อรัง แต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือควบคุมอาการได้ ... ถ้ารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น หลีกเลี่ยงสาเหตุนำที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และรับประทานยาติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ
อาการ และอาการแสดง …
• มีการอักเสบ ของ หลังเท้า ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อมือ หรือ ข้ออื่น
• เกิดการอักเสบฉับพลัน โดยข้อที่อักเสบจะ บวม แดง ร้อน และ ปวดมากชัดเจน หลังจากได้รับการกระตุ้นจากสาเหตุต่าง ๆ
ข้อที่อักเสบจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 - 3 ชั่วโมง และข้อมักจะอักเสบเต็มที่ภายใน 24 ช.ม ผิวหนังในบริเวณข้อที่มีการอักเสบจะมีลักษณะแห้ง และบวมแดงเป็นมัน บางคนอาจจะมีไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว อาการอาจค่อย ๆ ทุเลาไปได้เอง จนหายสนิท ระหว่างที่ไม่มีอาการ จะไม่มีความผิดปกติใด ๆ ให้เห็น
• ระยะแรกจะมีการอักเสบครั้งละ 1-2 วัน เป็นข้อเดียว ปีละ 1-2 ครั้ง (ร้อยละ 60 จะมีอาการอีกภายใน 1 ปี) ถ้าไม่ได้รับการรักษา การอักเสบจะเป็นถี่ขึ้น จำนวนวันที่อักเสบนานขึ้น เป็นหลายข้อพร้อมกัน และกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง มีก้อนผลึกกรดยูริก ทำให้ข้อผิดรูป และ ข้อเสียอย่างถาวรได้
• ผู้ป่วยจะมีโอกาสเกิด นิ่วในไตได้ประมาณร้อยละ 20 และ มีโอกาสเกิด ไตวายได้ประมาณร้อยละ 10
• ในผู้ที่เป็นมานานก็อาจมี ก้อน ซึ่งเกิดจาก การตกผลึกของกรดยูริกใต้ผิวหนัง ในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ข้อศอก ข้อเท้า ใบหู ซึ่งถ้าก้อนใหญ่ก็อาจจะแตก และมีสารคล้ายชอล์กสีขาวออกมา แต่ถ้าก้อนไม่แตกเอง ก็ไม่ควรไปผ่า
• ผู้ที่มีลักษณะต่อไปนี้แสดงว่าเป็นโรคเกาต์แบบรุนแรง เช่น ปริมาณกรดยูริกในเลือดสูง มีก้อนผลึกกรดยูริก เริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อย มีอาการไตอักเสบ หรือ มีนิ่วในไต เป็นต้น
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเกาต์
• ประวัติความเจ็บป่วย อาการและอาการแสดงของการอักเสบ โดยเฉพาะถ้าอาการดีขึ้นจาก ยาโคชิซีน
• เจาะน้ำในข้อเพื่อตรวจผลึกของกรดยูริก
• ตรวจกรดยูริกในเลือด ปกติผู้ชายน้อยกว่า 7 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้หญิงน้อยกว่า 6 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
• เอกซเรย์กระดูกหรือข้อ ในระยะแรกจะปกติ แต่ในรายที่เป็นมาก เป็นมานาน จึงจะพบความผิดปกติ
การวินิจฉัยโรคเกาต์โดยอาศัย ประวัติ และลักษณะอาการแสดง ไม่ได้อาศัยการเจาะตรวจยูริกในเลือด
ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเจาะเลือดทุกคน เพราะถึงแม้ว่าเจาะเลือดแล้วกรดยูริกสูงแต่ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้เป็นโรคเกาต์ แต่ ถ้ามีประวัติ และอาการของโรคเกาต์ ถึงแม้ว่ากรดยูริกในเลือดไม่สูง ก็จะรักษาแบบโรคเกาต์
มีผลการวิจัย พบว่า
- ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยที่มีข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์ มีระดับกรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับปกติ - ร้อยละ 20 ของคนปกติ (ไม่มีข้ออักเสบ) มีระดับกรดยูริกสูงกว่าค่ามาตรฐาน
แพทย์จะเจาะเลือด เมื่อจะให้ยาลดการสร้างกรดยูริกหรือยาเพิ่มการขับกรดยูริก เพื่อดูว่าตอบสนองต่อยาดีหรือไม่ หรือ เพื่อดูว่าจะหยุดการรักษาได้หรือยัง (จะหยุดยา เมื่อระดับกรดยูริกในเลือด ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์)
สาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ …
- การบาดเจ็บ หรือ ข้อถูกกระทบกระแทก
- อาหารไม่ได้ทำให้เกิดโรคเกาต์ แต่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้
• เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก (ไก่ เป็ด ห่าน) น้ำต้มกระดูก กุ้งชีแฮ้ ปลาหมึก หอย ซุปก้อน น้ำซุปต่าง ๆ กะปิ ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีนกระป๋อง ปลาอินทรีย์
• พืชบางชนิด เช่น ถั่วต่าง ๆ เห็ด กระถิน ชะอม ใบขี้เหล็ก สะตอ ผักโขม หน่อไม้ ผักคะน้า แตงกวา
• ของหมักดอง เหล้า เบียร์ หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ
- อากาศเย็น หรือ ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงเช้า หรือ ก่อนฝนตก เป็นต้น
- ยา เช่น แอสไพริน ยารักษาวัณโรค ยาขับปัสสาวะ ( ซึ่งใช้เป็นยาที่ใช้ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง )
สำหรับอาหาร ... ต้องบอกไว้ก่อนว่า คนที่เป็นโรคเกาต์ ไม่ใช่ว่าต้องเลี่ยงอาหารทุกอย่างตามนั้น นะครับ
เพราะ ของแสลง ที่กระตุ้นให้เกิดอาการแต่ละคน ก็ไม่เหมือนกัน ... แล้ว ผู้ที่รักษาต่อเนื่อง คุมอาการได้ดี ก็สามารถทานอาหารได้ทุกอย่าง เพียงแต่ อาหารบางอย่าง อาจจำกัดปริมาณ ...
จึงต้องคอยสังเกตว่า อาหารอะไรที่เป็นของแสลง สำหรับ ตนเอง ..แล้วก็หลีกเลี่ยง ..
ปัจจุบัน นี้ มีแพทย์หลายท่านเชื่อว่า ไม่ต้องจำกัดอาหารแล้ว เนื่องจากปริมาณสารพิวรีน ( ที่จะกลายเป็นกรดยูริกในร่างกาย ) นั้น มีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับ ปริมาณกรดยูริกที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง ในแต่ละวัน ...
แต่เท่าที่ผมได้รักษาผู้ป่วยมา พบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่มีอาการอักเสบของข้อ เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันหลังจากที่ได้รับประทานอาหารบางอย่าง ( ของแสลง ) ..
ผมจึงยังแนะนำให้สังเกต และ หลีกเลี่ยง ของแสลง นั้น แต่ไม่ใช่ว่าให้หยุดหมดทุกอย่างนะครับ ... เพราถ้าหยุดหมดก็ไม่มีอะไรกินกัน ยิ่งในผู้สูงอายุก็ทานอะไรไม่ค่อยได้อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็น ความดัน เบาหวาน หัวใจ ก็จะกลายเป็นการทรมานคนไข้ ขึ้นไปอีก ...
แนวทางการรักษา …
1.หลีกเลี่ยง สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ ซึ่งแต่ละคน ก็จะไม่เหมือนกัน
2.ลดการใช้งานของข้อที่อักเสบ ถ้าในช่วงที่มีอาการปวด อาการอักเสบมาก อาจจำเป็นต้องใส่เฝือกชั่วคราว
3.รับประทานยา ซึ่งจะแบ่งเป็น
3.1 ยาบรรเทาอาการปวดลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์
ยากลุ่มนี้จะเป็นยาบรรเทาอาการปวด ลดการอักเสบเท่านั้นไม่ได้รักษาโรคโดยตรง จะใช้ในช่วงที่มีอาการปวด อาการอักเสบมาก เมื่ออาการอักเสบลดลงก็ไม่จำเป็นต้องกินยากลุ่มนี้อีก
ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้คือ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจพบอาการบวมบริเวณหน้า แขน ขา ได้
3.2 ยารักษาโรคเกาต์โดยเฉพาะ มีชื่อเรียกว่า " โคชิซีน " ในช่วงที่มีอาการอักเสบมากก็อาจจะต้องรับประทานในปริมาณมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยามากขึ้นด้วย
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ผิวหนังเป็นผื่นคัน ซึ่งถ้าเกิดมีอาการข้างเคียงมากก็จะต้องลดปริมาณยาลง หรือ หยุดยาไว้ก่อน
ยานี้ยังใช้เป็นยาป้องกันการอักเสบด้วย ซึ่งจะต้องรับประทานวันละ 1 - 2 เม็ด ติดต่อกันเป็นเวลานาน 1 - 2 ปี
3.3 ยาลดการสร้างกรดยูริก และ ยาเพิ่มการขับถ่ายกรดยูริก ซึ่งจะต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานอย่างน้อย 1-3 ปี
ยากลุ่มนี้จะใช้เมื่ออาการอักเสบของข้อดีขึ้นแล้ว (ข้อไม่มีอาการบวมแดง ไม่มีอาการปวดข้อ ไม่มีไข้) เพราะ ถ้าใช้ยากลุ่มนี้ในขณะที่กำลังมีการอักเสบ จะทำให้การอักเสบเป็นมากขึ้น
ขณะที่ใช้ยากลุ่มนี้ จะต้องดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่วในไต
ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงคือ ผื่นผิวหนัง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ ในผู้ป่วยที่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ กิน ๆ หยุด ๆ จะเสี่ยงต่อการแพ้ยามากขึ้น จึงไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินยาอย่างสม่ำเสมอได้
ไม่ควรใช้ยานี้ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หญิงตั้งครรภ์หรือในช่วงให้นมบุตร ผู้ที่มีนิ่วในไตหรือนิ่วในถุงน้ำดี
4. ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อที่อักเสบ จะใช้ในกรณีที่มีการอักเสบอย่างรุนแรง และผู้ป่วยไม่สามารถกินยาได้ เท่านั้น เพราะ การฉีดยาเข้าข้อจะมีผลเสียค่อนข้างมาก เช่น มีโอกาสติดเชื้อในข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง เกิดข้อเสื่อมเร็วขึ้น และกล้ามเนื้อที่อยู่รอบข้อจะลีบเล็กลง
ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการฉีดยาเข้าข้อ
เพิ่มเติมภาพบทความที่ลงใน นิตยสาร Men'sHealth ฉบับ Sept 2012 ผมอยู่บ้านนอก เลยต้องใช้วิธีสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ แต่ก็ถือว่า คุณ T.A.dynamic เขียนสรุปเนื้อหาได้ดี นำมาฝากกัน ไม่เห่อ ไม่เห่อ จริงจริ๊งงงงงง ^_^
............................
https://www.facebook.com/SOSspecialist/photos/a.857752197612737.1073741828.822694754451815/894073160647307/?type=1&theater #มะเฟืองแก้เก๊าท์จริงหรือลวง ???
ตอนนี้ กระแสมะเฟืองแก้เก๊าท์ กำลังมาแรงนะครับ มีคำถามส่งมาใน inbox เรื่องนี้ทุกวัน หมอเลยอยากชี้แจงให้ทุกท่านเข้าใจก่อนว่า จริงหรือลวงอย่างไร ?
1 .#เราต้องเข้าใจก่อนว่าโรคเก๊าท์คืออะไรและเกิดขึ้นอย่างไร ? ตอบ : โรคเก๊าท์คือ โรคปวดข้อชนิดหนึ่ง โดยมักเกิดการปวดข้อใหญ่ๆ ปวดแบบทันทีทันใด มีอาการปวดด้วย เช่น ข้อนิ้วหัวแม่โป้งเท้า - ตาตุ่ม แต่สามารถเกิดกับข้ออื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน โรคเก๊าท์ เกิดจากร่างกายไม่สามารถขับ #สารพิวรีนจากอาหาร ได้ ทำให้ สารพิวรีน ไปค้างในกระแสเลือดและเปลี่ยนเป็น ผลึกยูริกไปสะสมตามข้อและเกิดการอักเสบตามมา
2. #เราต้องทราบว่ามะเฟืองมีคุณสมบัติอย่างไร ? ตอบ ข้อดีของมะเฟืองมีมากมาย เช่น มีสาร Antioxident / มี Vitamin C มากรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน / #ลดน้ำตาลและ สร้าง glycogen #ดังนั้นมะเฟืองจึงเหมาะมากที่เป็นผลไม้ในผู้ป่วยเบาหวาน
3 #เราต้องทราบว่ามะเฟืองมีข้อเสียไหม ? ตอบ มะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูง ผู้ป่วยโรคไตและ #ผู้ป่วยที่ต้องฟอกไตไม่ควรกินมะเฟือง นอกจากนี้แล้วมะเฟืองมีฤทธิ์ต้านการออกฤทธิ์ของยาบางตัวโดยเฉพาะ #ผู้ป่วยที่กินยาลดไขมันและยาคลายเครียดตามคำแนะนำแพทย์จึงไม่ควรบริโภคมะเฟือง
ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าว เรา #ยังไม่พบว่ามะเฟืองสามารถขับสารฟิวรีน ออกจากกระแสเลือดได้นะครับ ดังนั้นจึงไม่สามารถรักษาโรคเก๊าท์ได้ครับ ด้วยความปรารถนาดีจาก #ทีมแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว
อ่านข้อมูลของมะเฟืองได้ที่ มุลนิธิหมอชาวบ้านะครับ https://www.doctor.or.th/article/detail/8866 ........... เรื่องแบบนี้ ถ้าผู้ป่วยอยากจะลอง .. ผมไม่เคยห้ามผู้ป่วยเลย เพราะ ถึงแม้ทดลองแล้วไม่ได้ผลดี ผลเสียอย่างมากก็ปวดข้อ ทรมาน ไม่ถึงกับเสียชีวิต .. และ การห้าม ก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะผู้ป่วยเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว ที่มาถามหมอเพียงแค่ต้องการคำยืนยันเพิ่มเติมเท่านั้น หมอบอกไม่ช่วย ผู้ป่วยก็ยังเชื่ออยู่ ถ้าหมอห้าม ก็อาจกลายเป้นทะเลาะกัน ดังนั้น ถ้ามีผู้ป่วยมาถาม ผมก็จะตอบว่า " ตามที่หมอเรียนมา ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ ถ้าอยากจะทดลองดูก็ได้ แต่โดยส่วนตัวหมอไม่แนะนำ " https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-03-2008&group=5&gblog=8 ปล. ประสบการณ์ส่วนตัว ..เคยมีผู้ป่วยในคลินิกผม มาถามแล้วก็ไปทดลองทั้ง มะเฟือง มะนาว ใบขี้เหล็ก ใบสาบเสือ ฯลฯ ที่แชร์กันในเนตในเฟส ... ผ่านไปสักพัก ก็ปวดอักเสบกลับมา ยังไม่เคยมีคนไข้คนไหน ที่กลับมาบอกเลยว่า กินแล้วหาย .
สรุป กระเทียมมาปั่นผสมกับมะนาว รักษาโรคเกาต์ได้ ... ไม่จริง นะครับ
สามารถติดตามบทความต่อได้ที่นี่...>>>https://oryor.com/อย/detail/media_specify/739
สูตรการรักษาแปลก ๆ โดยเฉพาะที่อ้างว่า การรักษาที่หมอไม่เคยบอก ฯลฯ .. ก็ให้คิดไว้ก่อนเลยว่า " ไม่จริง " ... อะไรที่มันดี หมอบอกหมด เพราะ ถ้ามันดีจริง ผู้ป่วยก็ดี หมอก็ดัง ^_^ ...
ที่หมอไม่บอก ก็เพราะ มันไม่ดี บอกไปหมอก็โดนด่า เสียชื่อหมอ นะครับ
""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""" อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว 3 สิงหาคม 2565 ระดับกรดยูริกในเลือดกับการเกิดโรคเกาต์ ถึงเทศกาลการตรวจสุขภาพประจำปี (อีกแล้ว) คำถามที่ได้รับเป็นประจำคือ กรดยูริกของฉันสูงกว่าค่าปรกติ ฉันจะเป็นเกาต์ไหม และหลาย ๆ คนมองคำว่า กรดยูริกในเลือดสูง เท่ากับ เป็นโรคเกาต์กันเลยทีเดียว เพื่อไปหาคำตอบนี้ ผมก็ไปพลิก ไปค้นวารสารต่าง ๆ ย้อนกลับไปหลายสิบปี ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงของความรู้ ความเชื่อและการปฏิบัติมาหลายประการ จะขอมาเล่าให้ฟังสนุก ๆ นะครับ 1. ในอดีต ความรู้ทางการแพทย์เรื่องของ protein receptor ที่คอยควบคุมสารเคมีระหว่างเซลล์ ความรู้เรื่องยีนควบคุมโปรตีน ความรู้เรื่องของการแพทย์แม่นยำ ยังมีน้อยมาก ประเด็นการเกิดเกาต์ ก็มุ่งเน้นไปที่ระดับกรดยูริกในเลือด ซึ่งก็ไม่ผิดนะครับ แต่เมื่อเรามีการพัฒนาไปมากขึ้นเราก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง 2. ระดับกรดยูริกในเลือด กับ การตกตะกอนยูริกในข้อ กลับพบว่าไม่ได้สัมพันธ์กันสักเท่าไร และอะไรที่เป็นเหตุให้กรดยูริกมาอยู่ในข้อจนเกิดเกาต์ปัจจุบันก็ยังหาคำตอบได้ไม่หมด ปัจจุบันด้วยความรู้ทางพันธุกรรมและการศึกษา Genome-Wide Association Studies เราพบยีนมากมายที่เกี่ยวข้องกับสมดุลกรดยูริก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการสร้างหรือการขับกรดยูริก 3. สมดุลกรดยูริก เป็นผลลัพธ์ของการผลิต (การดูดซึมและการสร้าง) กับการขับออก ดังนั้นเมื่อเราเห็นค่าสมดุลกรดยูริกที่เราวัดได้ว่าสูง ก็ต้องคิดว่าเกิดจากสร้างมากหรือขับออกลดลง ซึ่งในความเป็นจริงแห่งการเกิดโรคเกาต์ มันจะเกิดจากการขับออกที่ลดลงเสียมากกว่า แต่เรามักจะไปหาว่าอาหารอะไรที่ยูริกสูงแล้วลดมันเสีย มันก็ดีนะครับ แต่ไม่ตอบโจทย์เท่าไร 4. การขับออกที่ลดลงก็จะมุ่งประเด็นไปที่การขับออกที่ท่อไต เกือบ 90% ของกรดยูริกที่เกินเกิดจากตรงนี้ นอกจากไตเสื่อมไตวายแล้ว กลไกการขับออกที่ท่อไตด้วยโปรตีนขับออกก็สำคัญมาก และเราพบยีนสำคัญที่ควบคุมโปรตีนนั้นเช่น SLC22A12, SLC2A9, ABCG2 จริง ๆ มีอีกหลายตัวเลยนะ ผมยกมาที่มีการศึกษาชัด ความผิดปกติของยีนต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้การทำงานของโปรตีนบกพร่องหรือขาดการทำงานไป แน่นอนกรดยูริกจะคั่ง 5. นอกจากนี้ ยีนดังกล่าวยังไปควบคุมโปรตีนสำคัญในการจัดการยูริกที่อวัยวะอื่นอีกด้วย ที่มีการศึกษามากคือ SLC2A9 ที่ปรากฏบนกระดูกอ่อนผิวข้อ ที่น่าจะอธิบายเรื่องการตกตะกอนของผลึกยูริกในข้อได้ และเจ้ายีนตัวนี้ยังไปควบคุมโปรตีนที่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบางจุด ที่น่าจะอธิบายการเกิดก้อนเกาต์ (gouty tophus) ที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ หรือ ยีน ABCG2 พบที่ตับและลำไส้ ที่ควบคุมโปรตีนขับกรดยูริกนอกพื้นที่ไต ก็น่าจะมีส่วนของการรักษาสมดุลกรดยูริกด้วย 6. หลังจากมีการศึกษาเรื่องสมดุลการสร้าง การขับออก และรู้จักโปรตีน ยีนที่ควบคุมโปรตีนหลายตัว และพบว่าหากยีนเหล่านี้มีความผิดปกติ จะสัมพันธ์กับการเกิดเกาต์มากกว่าระดับสมดุลกรดยูริกในเลือด หรือแม้แต่ปัจจัยพื้นฐานดั้งเดิมหลายอย่างที่เราพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดเกาต์มากกว่าระดับกรดยูริก เช่น ความอ้วน การดื้ออินซูลิน เส้นรอบเอว ค่าความดันโลหิตซิสโตลิก 7. ในยุคหลังที่การศึกษาเชิงลึกระดับโมเลกุลออกมาแล้วนั้น ได้มีการศึกษาที่รวบรวมงานวิจัยแบบ meta analysis ออกมาอีกหลายชิ้นงาน พบว่าระดับกรดยูริกในเลือดที่สูง สัมพันธ์กับการเกิดข้ออักเสบเกาต์เพียง 6-8% เท่านั้น เราพบปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการเกิดข้ออักเสบเกาต์ที่ชัดเจนกว่ามาก แต่ประเด็นคือ การตรวจทำได้ยาก ราคาแพง และทำได้เพียงบอกแนวโน้ม (ที่ดีกว่าระดับกรดยูริก) 8. โดยรวมแล้วการใช้ยีน คาดเดาการเกิดโรคเกาต์ได้ประมาณ 40-45% ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แค่ยีนอย่างเดียวที่ส่งผลกับการเกิดโรคข้ออักเสบเกาต์ แต่ก็ดีกว่าแม่นยำกว่าระดับกรดยูริกในเลือดหลายเท่า และ”ปัจจัยอื่น” ที่ไม่ใช่ยีน ก็มีสัดส่วนของผลจากระดับกรดยูริกในเลือดอยู่เพียงเล็กน้อย ดังนั้นถ้าถามว่าการวัดระดับยูริกในเลือด จะคาดเดาการเกิดเกาต์ได้ดีหรือไม่ ตอบว่า ไม่ครับ 9. แล้วทำไมยังใช้อยู่ ... ระดับกรดยูริกใช้ร่วมในการวินิจฉัยโรคเกาต์ได้ คือวินิจฉัยเกาต์ก่อน แล้วค่อยไปวัดระดับยูริก ไม่ใช่วัดระดับยูริกก่อนแล้วไปวินิจฉัยเกาต์หรือกลัวว่าจะเป็นเกาต์ อีกประการคือ แม้ระดับกรดยูริกจะสัมพันธ์กับการเกิดเกาต์ไม่ถึง 10% แต่เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ราคาถูก ทำได้ทุกที่ เพียงแต่จะแปลผลนั้นต้องระวังมาก ๆ (คิดเหมือนการตรวจ PSA) 10. ถึงแม้ความรู้จะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด แต่หลักการแห่งการวินิจฉัย คือ ประวัติ การตรวจร่างกาย ความเสี่ยงการเกิดโรค คือหลักในการคิดและประเมินความน่าจะเป็นก่อนการทดสอบ แล้วเลือกการทดสอบที่มีความไวความจำเพาะที่เหมาะสม หลังจากนั้นจึงเอาไปแปลผลเป็นโอกาสการเกิดโรคหลังทดสอบ อย่าให้เพียงผลการทดสอบอย่างเดียวมาแปลผลและวินิจฉัย ยังเป็นหลักการที่ดีและต้องใช้อยู่เสมอครับ
เครดิต
Create Date : 01 มีนาคม 2551 |
Last Update : 4 สิงหาคม 2565 1:09:21 น. |
|
12 comments
|
Counter : 80426 Pageviews. |
|
|
|