9 ริคเตอร์ : นิยายกึ่งบันทึกเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งใหญ่ในไทย ... "สึนามิ"
เล่มนี้อ่านแล้วตอบโจทย์ HHR ข้อ
25-3. [Clear Ice] อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับ "ภัยพิบัติ" หรือ หนังสือที่ภัยพิบัติส่งผลกระทบต่อแกนหลักของเรื่อง ภัยพิบัตินี้จะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ไฟป่า หรืออะไรก็ได้ที่เกิดจากความรุนแรงตามธรรมชาติ
ภัยพิบัติในเรื่องคือ "สึนามิ" ค่ะ
หนังสือ : 9 ริคเตอร์ (ANDAMAN AFTER 9 RICHTERS) เขียนโดย : ปนาพันธ์ นุตร์อำพันธ์ สำนักพิมพ์ : มติชน จำนวนหน้า : 586 หน้า ภาษา : ไทย
รายละเอียดจากปกหลัง
คุณจะเชื่อหรือไม่?... หากมีใครสักคนเตือนคุณว่าจงออกจากพื้นที่ชายฝั่งอันดามันทันทีภายหลังการขยับตัวของแผ่นดิน สถานที่ท่องเที่ยวสวยงามระดับโลกจะกลายเป็นป่าช้าบนลานวัดอันกว้างใหญ่จะเต็มไปด้วยศพนอนเรียงราย ตั้งแต่เศรษฐีจนถึงคนยากจน อวลด้วยกลิ่นเน่าเหม็นจากร่างที่แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร
คุณจะคาดคิดหรือไม่?... หลังการฉลองในค่ำคืนแห่งเทศกาลคริสต์มาส ภัยใหญ่หลวงกำลังเคลื่อนที่เข้ามาในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า เป็นพิบัติภัยที่ในหลายชั่วอายุคนไม่เคยมี และไม่เคยปรากฎในประวัติศาสตร์ชาติไทย
....
หนังสือเล่มนี้เป็นนิยายเชิงบันทึกเหตุการณ์ระหว่างวันที่ 24 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2548 โดยใช้ข้อมูลจากเรื่องจริง 70-80% ดังนั้นจะมี "ตัวละคร" หลายคนเป็นบุคคลจริง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวสมิธที่มีหนูน้อยทิลลี่ซึ่งได้ฉายา "นางฟ้าบนชายหาด" เพราะเตือนภัยสึนามิหลังเห็นน้ำลด ช่วยชีวิตคนได้มากมาย / ช่างกล้อง-นางแบบ / เหล่าข้าราชการ / คุณหมอพรทิพย์ ฯลฯ
เนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง
25% แรกจะเป็นช่วงเวลา "ก่อน" การเกิดคลื่นสึนามิ 25% ต่อมาจะเป็นช่วงเวลา "ระหว่าง" การเกิดคลื่นสึนามิ 50% สุดท้ายเป็นช่วงเวลา "หลัง" การเกิดคลื่นสึนามิ
อารมณ์การอ่านเรื่องจะเหมือนนั่งอยู่ในห้องที่มีจอโทรทัศน์สักสิบสักร้อยจอ ฉายภาพเหตุการณ์ ณ เวลาเดียวกัน จากจุดต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็น ต่างประเทศอย่าง ศรีลังกา อินโดเนเซีย สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยหลายจังหวัด กระบี่ พังงา ภูเก็ต อ่าวและเกาะต่างๆ รวมไปถึงความเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ ด้วย
ช่วง "ก่อน" เกิดสึนามิ
เปิดตัว "ละคร" หลากหลายอายุ อาชีพ สัญชาติ ทำกิจกรรมต่างๆ กันระหว่างวันที่ 24 ธ.ค. ถึงเช้าวันที่ 26 ธ.ค.
มีสัญญาณเตือนภัยหลายอย่าง เช่น มดและนกอพยพ สัญญาณแผ่นดินไหว ... บางคนรู้สึกใจคอไม่ดี บางคนฝันร้าย บางคนได้รับการเตือนจากผู้ทรงศีล
ช่วง "ระหว่าง" เกิดสึนามิ
การประสบภัยของเหล่าผู้คนในสถานที่ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นบริเวณใกล้ชาดหาด บนเกาะ บริเวณอ่าว บนที่สูงอย่างเขาหลัก ผู้ที่ประสบภัยจังๆ พยายามเอาตัวรอด แต่ก็ไม่ยอมที่จะทิ้งคนที่ต้องการความช่วยเหลือ การเตรียมพร้อมช่วยเหลือของคนอื่นๆ ที่ทราบข่าวและสามารถให้ความช่วยเหลือได้ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล ฯลฯ
ช่วง "หลัง" เกิดสึนามิ
จะเป็นการค้นหาคนสูญหาย การจัดการกับศพ การแยกศพ ... การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่ว่าจะเป็นเหล่าอาสา การบริจาคสิ่งของและเงินทอง ฯลฯ
....
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วเหมือนกันนะคะ ... จำได้ว่าน้องชายไอซ์ก็ไปภูเก็ตค่ะ แต่กลับมาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 25 ธ.ค. ... ถ้าอยู่ต่อนี่ไม่อยากคิดเลย เพราะน้องอยู่โรงแรมติดชายหาด ... น้องยังบอกเลยว่าไม่รู้ว่าคนพายเรือ คนงานในร้านที่ไปทานอาหาร คนงานในโรงแรม คนอื่นๆ ที่ได้พบเจอจะเป็นยังไงบ้าง
ตอนแรกที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านก็กลัวนิดๆ ว่า จะอ่านไม่รอดเพราะความหดหู่ แต่...ผิดคาดค่ะ ... ความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้อ่านเรื่องราวที่เคยรับรู้มาก่อนแล้ว เศร้าและหดหู่มาก่อนแล้ว และก็ได้รับการเยียวยามาในระดับหนึ่งแล้ว...
เห็นได้ชัดว่าผู้เขียนทำการบ้านมาดีมากๆ ด้วยการหาข้อมูลจากข่าว บทสัมภาษณ์ ฯลฯ นำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราว ... อ่านแล้วคล้ายกับได้อ่านข่าวรวมอีกครั้ง
ที่สำคัญ ดูเหมือนว่าผู้เขียนตั้งใจที่จะเน้นเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่น่าเศร้านี้ เน้นที่น้ำมิตรน้ำใจของผู้คนต่อคนแปลกหน้า เน้นความประทับใจหลังเกิดเหตุการณ์ ((สังเกตว่าจะเป็นช่วงที่ยาวที่สุด)) มากกว่า
อ่านแล้วรู้สึกว่ามันเป็น "โลกอุดมคติ" อยู่หน่อยๆ เพราะผู้เขียนเลือกแต่ "ด้านดีๆ" ของเหตุการณ์มาเขียน ทุกคนไม่ทิ้งกัน ทุกคนช่วยเหลือกันไม่เกี่ยงสัญชาติ ตัวละครเกือบทั้งหมดเป็นคนดี คนต่างชาติที่ประสบภัยก็เข้าอกเข้าใจคนไทย บอกว่ารักประเทศไทย จะมาเที่ยวที่ไทยอีก ... ครอบครัวหนึ่งไปรับศพลูกสาว พบว่าศพผิดตัวก็ไม่ว่าอะไร บอกว่าเข้าใจทุกประการ เหล่าอาสาสมัครที่มาด้วยใจ ฯลฯ
เรื่องแย่ๆ ก็มีบ้างค่ะ แต่แตะนิดๆ หน่อยๆ สั้นๆ เท่านั้น เช่น การรายงานข่าวที่ล่าช้าของข่าวในประเทศไทย / เหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะเอาตัวรอด / การสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพ / การที่เหล่าทีมอาสาต้องทำงานท่ามกลางตวามไม่พร้อมอยู่หลายวัน ก่อนที่จู่ๆ ตำรวจบอกว่าจะมารับช่วงต่อ กับคำถามที่ว่า ตอนที่เขาทำงานกันง่วนอยู่ ตำรวจหายหัวไปไหน / การฉวยโอกาสในความโชคร้ายของคนอื่น / การแอบอ้างรับศพเพื่อไปรับเงินช่วยเหลือ ฯลฯ
มาพูดถึงการเขียนบ้าง
- ไอซ์ชอบสำนวนของนักเขียนท่านนี้ค่ะ เลือกคำได้ดีจริงๆ ทั้งๆ ที่ต้องอ่านเรื่องราวที่ค่อนข้าง "ซ้ำซาก" จากเหตุการณ์คล้ายๆ กันในจุดเกิดเหตุที่ต่างกัน ก็ยังทำให้คนอ่านคนนี้อ่านได้โดยไม่คิดจะเปิดอ่านข้ามๆ ((แต่ก็รู้สึกอยู่นะว่า ซ้ำๆ แหะๆ)) ไอซ์ไม่เคยรู้จักผู้เขียนคนนี้มาก่อน แต่อ่านสำนวนแล้วได้ความรู้สึกว่าผู้เขียนน่าจะเป็นผู้ชายที่มีอายุประมาณหนึ่ง ... จากความรู้สึกน่ะค่ะ เพราะสำนวนที่กระชับ ตรงไปตรงมา ออกแนวแมนๆ และ...การเปรียบเทียบที่ old fashion นิดหน่อย เช่น เพลงต่างๆ เป็นเพลงค่อนข้างเก่า
- ถ้าพูดในแง่ "นิยายกึ่งสารคดี" ที่พยายามจะบันทึกเหตุการณ์จริง เรื่องนี้ทำได้ดีเชียวค่ะ ผู้เขียนทำการบ้านมาดี และร้อยเรียงเหตุการณ์จากหลายๆ แหล่งมารวมกันได้อย่างแนบเนียนและลื่นไหล
- แต่...ถ้าพูดถึงในแง่ "นิยาย" การที่ตัวละครเยอะมากๆๆ ทำให้คนอ่านอย่างไอซ์ไม่รู้สึก "อิน" ไปกับตัวละครตัวไหนเลย การกระจายน้ำหนักของตัวละครมากไปจนคนอ่านไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครได้ ... ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็น "วันชัย" นักทำดนตรีประกอบภาพยนต์ที่มากับภรรยาชื่ออารยา ในช่วงหลังจะเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ตัวละครที่พลัดพรากหลายๆ ตัวได้พบกัน แต่...ถึงจะบอกว่าเด่น ก็มีบทบาทอยู่ไม่ถึง 15% ในเล่มน่ะค่ะ นอกนั้นผลุบๆ โผล่ๆ มากกว่าเสียอีก
สิ่งที่อ่านแล้วรำคาญมากคือ
บางช่วงที่ใส่ภาษาอังกฤษเข้ามาในบทสนทนา ... ใส่เข้ามาแล้วโดดมากค่ะ คือบทสนทนาก่อนหน้าก็เป็นภาษาไทยธรรมดา ((คนต่างชาติคุยกับคนไทย - คนต่างชาติคุยกัน)) แล้วจู่ๆ ก็มีประโยคภาษาอังกฤษปนมาด้วย มันไม่ได้เป็นประโยคที่เป็น pun หรือมีความสำคัญอะไร ใส่มาแล้วไม่ได้ช่วยเสริมความโดดเด่นให้กับบทสนทนา และที่สำคัญ ... มันผิด -_-"
ยกตัวอย่าง
หน้า 289 -
เขา ((ฝรั่งชื่อแรนซ์)) ล้วงมือเข้าไปในเป้แล้วหยิบนกหวีดออกมาอันหนึ่ง "หากผมยังไม่มา คุณเป่ามันเพื่อให้คนได้ยิน" "ขอบคุณค่ะ" ((คนไทย)) "Don't worry tomorrow a new day." "Thank you."
หน้า 520 -
"ได้ค่ะ...บางทีพรุ่งนี้ฉันจะมาเองแม้ยังไม่พบเขา" "ยินดีครับมาดาม" "อ้อ พวกคุณวิเศษมาก" เธอเม้มปากพยายามที่จะเก็บอารมณ์ "ไม่ว่าคุณจะพบเขาหรือไม่ฉันจะจดจำคนบนผืนแผ่นดินนี้ไปตลอด" "Every will work out fine." "Thank you very much."
อย่าบอกว่าเป็นเพราะภาษาพูดนะคะ เพราะคนพูดกันเขาก็ไม่พูดแบบนี้ง่ะ หรือถ้าจะพิมพ์ผิดพิมพ์ตกก็แย่อยู่ดีค่ะ มันไม่เป็นประโยคไปเลย
...
แต่สรุปโดยรวม ... ไอซ์คิดว่าหนังสือเล่มนี้ทำได้ดีค่ะ ยังไงลองอ่านกันดูนะคะ
ไว้ไอซ์จะลองไปหาผลงามเล่มอื่นๆ ของนักเขียนคนนี้มาอ่านบ้าง ... มีใครแนะนำเรื่องอะไรไหมคะ ^^
ดู Index รายชื่อหนังสืออื่นๆ ที่ไอซ์ได้รีวิวไปแล้วตามลิงก์ข้างล่างค่ะ
- หนังสือภาษาอังกฤษ Index Bookshelf : English Books
- หนังสือแปล Index Bookshelf : Translated Books
- หนังสือภาษาไทย Index Bookshelf : Thai Books
Create Date : 22 เมษายน 2553 |
Last Update : 8 พฤษภาคม 2553 10:25:35 น. |
|
4 comments
|
Counter : 2414 Pageviews. |
|
|
|
ขออ่านรีวิวของไอซ์อย่างเดียวล่ะกัน
คิดถึงนะ ไม่ได้คุยกันนานเลย สบายดีนะจ้ะ