รู้รอบ เข้าใจชัด กับเรื่อง "บังสุกุล" ตอน ๑

          ผมเป็นคนไม่ค่อยชอบพิธีกรรมที่ไม่มีเหตุผลและหลักการที่ชัดเจนรองรับ   เพราฉะนั้นเรื่องการสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตาราศี ตัดกรรม แก้กรรม บังสุกุลตาย-บังสุกุลเป็น  ผมจึงไม่ค่อยได้เข้าร่วม   และถึงจะได้เคยเห็นพิธีกรรมเหล่านี้บ้าง ก็พยายามหาเหตุผลอยู่เสมอว่า จะทำไปทำไม ทำไปเพื่ออะไร  ถ้าไม่รู้เหตุผล ก็จะไม่เข้าร่วม ถึงจะมีใครบอกให้ไปทำ หรือว่ามีใครชวนให้ไปทำ ก็ตาม



          สาเหตุที่ต้องรู้เหตุผล ถึงจะทำ ก็เพราะว่า ถ้าไม่รู้เหตุผล ถึงทำไป ก็ไม่รู้ว่าเกิดประโยชน์อะไร



          เหมือนกับการที่ต้องไปไหว้หรือเคารพสิ่งต่างๆ  เราก็ต้องรู้เสียก่อนว่า เคารพสิ่งนี้เพื่ออะไร แล้วสิ่งนี้คืออะไร  ถ้าไม่รู้แล้วจะไปทำความเคารพได้อย่างไร



          เวลาที่เราจะกราบพระพุทธรูป  เราจะนับถือพระพุทธเจ้า  เราก็ต้องรู้จักว่าพระพุทธเจ้าคือใคร ถ้าไม่รู้จักพระพุทธเจ้า จะกราบจะเคารพพระองค์ไปได้อย่างไร



          คนไทยบางคน (หรือหลายคน) มีจุดอ่อนอยู่ที่ จะไหว้จะเคารพอะไร ก็ไหว้และเคารพด้วยความไม่รู้ แต่ด้วยความเชื่อว่าสิ่งนี้ศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลโน่นนี่นั่นให้ได้



          เหมือนอย่างพิธีกรรมทั้งหลายแหล่ ทั้งสะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา แก้กรรม  หรือจะบังสุกุลก็ตาม  ก็ต้องรู้ว่า  ทำไปทำไม แล้วทำไปเพื่ออะไร



          ถ้าไม่รู้ ก็จะพร่าๆ มัวๆ ไม่เกิดสติปัญญา ไม่รู้เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์หรือไม่ อย่างไร



          ดังนั้น  ในวันนี้จะขอว่ากันถึงเรื่อง บังสุกุล  ซึ่งเป็น คำง่ายๆ ที่เข้าใจกันยาก ในหลายๆแง่มุม  เพื่อให้ท่านผู้ได้อ่าน จะได้ รู้รอบ เข้าใจชัด กับเรื่อง "บังสุกุล" 



 



บังสุกุลคืออะไร?



          บังสุกุล  หรือ ปังสุกุล  (ปังสุกุละ)  แปลว่า   เปื้อนฝุ่น  เปื้อนเศษธุลี  หรือ เปื้อนหยากเยื่อ (เศษขยะ หรือสิ่งสกปรก)



         
ความหมายง่าย ๆ  "ที่เข้าใจกันได้ยาก" นี้ ทำให้ความหมายเดิมของคำว่า บังสุกุล ถูกลืมเลือนไป จนกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้   ปัจจุบัน บังสุกุล กลายเป็นคำกิริยา มากกว่าจะเป็นคำนาม  และหมายถึงพิธีการบำเพ็ญบุญไปจนถึง พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ต่อชะตา  จนต่อไม่ติด และสืบไปไม่ได้ถึงความหมายเดิม



          บังสุกุล  หมายถึงอะไรก็แล้วแต่  ที่เป็นของที่คนเขาทิ้งแล้ว  ไม่มีเจ้าของ  เป็นของเปื้อนฝุ่น เปื้อนธุลี เช่น เนื้อที่เขาทิ้งไว้ในป่า ไม่มีเจ้าของ พระสงฆ์เก็บมาฉันได้  หรือผ้าห่อศพ   หรือ ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว เป็นผ้าเปื้อนฝุ่น ผ้าเปื้อนธุลี   คนทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ  ไม่มีเจ้าของ  พระสงฆ์ก็จะเก็บผ้านั้นมาใช้ โดยการประกาศขึ้นสามครั้ง สิ่งนี้ มีเจ้าของหรือไม่  ถ้าไม่มี ท่านก็จะถือเอาเป็นของบังสุกุล โดยกล่าวว่า  ก็จะกล่าวว่า "อิมัง ปังสุกูลัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ"
   แปลว่า ของบังสุกุลนี้ ไม่มีเจ้าของ ย่อมถึงแก่เรา ( ย่อมเป็นของเรา)  แล้วก็จะนำผ้านั้น  มาซัก ตัด เย็บ ย้อม ทำเป็นจีวร  หรือผ้าบริขารประเภทอื่นๆ (ส่วนมากจะทำเป็นจีวร)



          ขอให้เข้าใจก่อนว่า  คำว่า จีวร  ในที่นี้ หมายถึงผ้าสามผืน  ทั้งที่เป็น ผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ  ทั้งสามอย่างนี้ ล้วนเรียกว่าจีวรทั้งหมด  คือ สบงก็เป็นจีวรแบบหนึ่ง  เป็นจีวรสำหรับนุ่ง เรียกว่า อันตรวาสก  ส่วน จีวร  ที่เข้าใจกัน ก็เป็นจีวรสำหรับห่ม  เรียกว่า  อุตตราสงค์   และ สังฆาฏิ  ก็เป็นจีวรเหมือนกัน  แต่เป็นจีวรสำหรับใช้ทาบ หรือห่มซ้อนอุตตราสงค์




          การใช้ผ้าบังสุกุล นั้น เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ท่านทำมาแต่เดิม ในสมัยแรกที่พระพุทธศาสนายังไม่แพร่หลาย ชาวบ้านยังไม่ได้ศรัทธาพระสงฆ์มากมายอะไรนัก   การได้ผ้าจีวรมา ก็ได้จากการหาผ้าเก่าๆ  มาทำเอง   ต่อมา มีผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น  แล้วพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์รับถวายจีวรจากญาติโยมผู้ศรัทธาได้   จีวรที่มีผู้ศรัทธาุถวายนี้ เรียกว่า  "คหปติจีวร"



          ทีนี้ พระสงฆ์บางรูปที่ท่านมักน้อย  และถือปฏิบัติในธุดงค์บางข้อ เช่น  ถือปฏิบัติใช้แต่ผ้าบังสุกุล
  ท่านก็จะไม่รับการถวายจีวรจากญาติโยม แต่จะแสวงหาผ้าเก่า หรือผ้าทิ้งแล้ว จากที่ต่างๆ มาตัดเย็บ ทำเป็นจีวร     ชาวบ้านที่ศรัทธาพระสงฆ์ อยากจะถวายผ้า จึงใช้วิธีเอาผ้า (ส่วนมากจะใหม่)  ไปทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ โดยอาจทำให้มีรอยเปื้อนบ้าง เพื่อให้เห็นว่าเป็นของเปื้อนฝุ่น ของทิ้งแล้ว  โดยมักสังเกตว่าทางไหนที่พระสงฆ์มักเดินผ่าน หรือจะไปแสวงหาผ้า ก็จะไปทิ้งตามที่นั้น  ก็เป็นการถวายผ้าเหมือนกัน แต่ถวายทางอ้อม ไม่ได้ถวายโดยตรง



          แต่ผ้าบังสุกุล นี้ ที่มักมีความหมายใกล้เคียงกับเรื่องศพ หรือพิธีศพ ก็เพราะสมัยก่อน ศพที่ไม่ได้เผา เขาก็จะนำไปทิ้งไว้ที่ป่าช้า หรือในสำนวนคัมภีร์พระพุทธศาสนาเรียกว่า ป่าช้าผีดิบ เป็นป่าช้าที่ทิ้งศพ   พระสงฆ์ที่ถือปฏิบัติ ใช้แต่ผ้าบังสุกุล ก็จะไปหาผ้าเก่าตามป่าช้า ซึ่งก็คือผ้าที่ห่อศพนั่นเอง   เมื่อพบแล้ว ท่านก็จะเอาไม้เขี่ยผ้าออกจากศพ  และบางทีศพนั้นมีกลิ่นรุนแรง ก็ต้องใช้ใบไม้มาปิดจมูกบ้าง   การที่ต้องใช้ไม้เขี่ยผ้าออกจากศพ  และต้องใช้ใบไม้มาปิดจมูกนี่เอง ต่อมา ไม้เขี่ยผ้าจากศพ และใบตาล หรือใบไม้ที่ปิดจมูก  จึงกลายมาเป็น ตาลปัตร



          ( ที่มาอีกอย่างหนึ่งของตาลปัตร  อาจมาจากพัดใบตาล ที่พระสงฆ์ใช้พัดคลายร้อน หรืออาจเอาไว้ใช้บังแดด ก็เป็นได้  ผมเคยได้ทราบว่า พระสงฆ์พม่าท่านจะถือพัดประเภทหนึ่ง ติดตัวไปในที่ต่างๆ ใช้เป็นทั้งตาลปัตร ถือ เวลาจะสวดมนต์ หรือแสดงธรรม  และเป็นที่บังแดดเวลาเดินไปที่ต่างๆด้วย)



          ในสมัยต่อมา (คือ ในสมัยห่างจากปัจจุบันไม่นานนัก)   พระสงฆ์ก็ไม่ค่อยได้แสวงหาผ้าห่อศพหรือผ้าทิ้งแล้ว ตามป่า มาตัดเย็บเป็นจีวร   ชาวบ้านก็เลยไม่ค่อยได้นำเอาผ้าไปทิ้งตามที่ต่างๆเพื่อถวายพระสงฆ์ทางอ้อมแล้ว  แต่ก็ยังคงติดเรื่องการถวายเป็นผ้าบังสุกุลอยู่นั่นเอง   ก็นึกถึงคติที่ติดมาว่า ผ้าบังสุกุล มีคติที่ใกล้เคียงกับเรื่องศพ (เพราะส่วนมากผ้าบังสุกุลก็ได้มาจากผ้าที่ห่อศพ)   ก็เลยถือเอาว่าเมื่อมีการจัดงานศพ  แล้วมีการถวายผ้า แด่พระสงฆ์  เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ในงานศพนั้น  เลยเรียกผ้าที่ถวายในงานนั้นว่า ผ้าบังสุกุล ไปด้วย โดยมักแบ่งวิธีการถวายเป็นสองลักษณะ คือ



          ๑) ถวายผ้าบังสุกุล ในพิธีสวดพระอภิธรรมแต่ละคืน หรือในการบำเพ็ญบุญประเภทอื่นๆ เช่นในการถวายภัตตาหารเป็นต้น    และ.



          ๒) ถวายผ้าบังสุกุล  ในพิธีฌาปนกิจศพ    ที่เรียกว่า "ทอดผ้าบังสุกุล", "ทอดผ้าไตรบังสุกุล"  (บางแห่งเรียกให้ดูใหญ่ หรือพิเศษ ว่า ทอดผ้าไตรมหาบังสุกุล   คำนี้ มักพบในงานพิธีที่เป็นการพระราชทานเพลิงศพ)



          ท่านที่เคยไปร่วมงานฌาปนกิจศพ ก็คงจะเคยเห็นพิธีการนี้  โดยก่อนจะมีการเผาศพ  ก็มีการถวายผ้าบังสุกุล ซึ่งถือว่าเป็นพิธีบำเพ็ญบุญประการสุดท้ายก่อนจะมีการฌาปนกิจศพ  และพิธีการนี้ ก็จะนิมนต์พระสงฆ์ ไป "ชักผ้าบังสุกุล" ที่หน้าศพ ก่อนจะมีพิธีเผา



          เหตุที่มีพิธีถวายผ้าบังสุกุล ที่หน้าศพ และนิมนต์พระสงฆ์ไปชักผ้าบังสุกุล ก็เนื่องจากว่า ชาวบ้านนั้นต้องการจะให้พระสงฆ์ ได้พิจารณาสังขารร่างกายของผู้ล่วงลับ เป็นการสนับสนุนให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรม คือ มรณานุสสติกรรมฐาน และ อสุภกรรมฐาน  คือ ได้มองเห็นศพ  มองเห็นความไม่สวยงามของร่างกาย  เห็นความไม่เที่ยงแท้ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ประมาท 



          ถ้าเป็นในสมัยก่อน  ก่อนที่จะมีพิธีการเผาศพ  ชาวบ้านก็จะนำผ้าไตรจีวร  หรือผ้าขาวก็แล้วแต่  ไปวางทอดไว้ที่ศพ   (ถ้าศพบรรจุโลง ก็จะมีการเปิดโลง แล้วนำผ้าที่จะถวายพระสงฆ์  วางที่ตัวศพ)  แล้วก็จะนิมนต์พระสงฆ์  "ชักผ้าบังสุกุล"   พระสงฆ์ที่ได้รับนิมนต์ ก็ต้องไปหยิบผ้าที่วางทอดไว้ที่ศพออกมา  เวลานั้นก็ได้เห็นสภาพศพ  อาจจะมีการขึ้นอืด พองเขียว มีการเน่าเปื่อยแล้ว เนื่องจากสมัยนั้น วิธีการรักษาสภาพศพยังไม่เจริญก้าวหน้า  น้ำยาฟอร์มาลีน น้ำยาฉีดรักษาสภาพศพก็ยังไม่มี   เมื่อพระสงฆ์ได้เห็นสภาพศพเน่าเปื่อยนั้นแหละ ก็จะเกิดความสลดสังเวชในสังขารร่างกาย  เป็นการย้ำเตือนให้ไม่ประมาทในชีวิต เร่งปฏิบัติธรรม หรืออย่างน้อย ก็จะเกิดความรู้สึกไม่ยินดีชมชอบในผ้าที่ได้มากนัก เพราะอาจจะเปื้อนน้ำเลือดน้ำเหลืองอะไรต่างๆ  หากนำไปใช้นุ่งห่ม ก็จะไม่รู้สึกยึดติด แต่ใช้ผ้านั้นตามจุดหมายแท้ คือใช้เพื่อปกปิดร่างกาย  กันความหนาวความร้อนเท่านั้น   
   ชาวบ้านเองก็เท่ากับว่าได้บุญสองต่อ  คือนอกจากได้บุญ จากการถวายผ้าแด่พระสงฆ์แล้ว ก็ยังช่วยเอื้อให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรมอีกด้วย



          แต่เดี๋ยวนี้วิธีการรักษาสภาพศพก็เจริญก้าวหน้า แถมยังไม่มีการเปิดโลงก่อนจะเผาอีกด้วย (บางแห่งอาจมีการเปิดโลงครั้งสุดท้ายก่อนเข้าเตา เพื่อให้ญาติได้ดูผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย  แต่ก็ไม่มีการเปิดโลง ในพิธีการทอดผ้าบังสุกุล)  ก็เลยทำให้คติที่จะช่วยให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติธรรม  ได้พิจารณาอสุภกรรมฐาน ลดลงไป แถมโลงสมัยนี้ก็ประดับประดาสวยงาม รูปภาพคนตายก็มีการตกแต่งให้ดูดีขึ้น  การวางทอดผ้า ก็วางที่แถบผ้าภูษาโยง หรือสายโยง (สายสิญจน์)  ที่โยงมาจากโลงศพ ก็เลยแทบไม่มีอะไรที่โยงไปถึงศพให้เห็นชัดเจน  พระสงฆ์ท่านก็เลยไม่รู้จะเกิดอารมณ์อสุภกรรมฐานได้อย่างไร   ก็อาจจะได้แค่มองภาพผู้ตาย แล้วก็คิดว่า  "เออ คนๆนี้ก็หน้าตาสวยดี" หรือ ""โยมคนนี้ก็หน้าตาหล่อไม่เบา" อะไรทำนองนั้น   แทนที่จะเกิดอสุภกรรมฐาน ก็ไปคิดเรื่อยเปื่อยแทน  (ดีไม่ดี อาจจะไปพิจารณาผ้าแล้ว ก็คิดว่า ผ้านี้เนื้อดี  ตัดเย็บดี เป็นของใหม่  ก็กลายเป็นยึดติดในลาภสักการะเข้าไปอีก)    ชาวบ้านก็เลยได้เพียงแค่บุญจากการถวายผ้าแด่พระสงฆ์



          ขอย้อนไปถึงเรื่องพิธีการถวายผ้าบังสุกุลในพิธีฌาปนกิจศพนิดหนึ่ง คือ เดี๋ยวนี้คำว่า "นิมนต์พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล"  เริ่มจะเลือนหายไป หรือแทบไม่ค่อยมี  แต่มีการเลือกใช้คำเพราะๆ   เช่น "นิมนต์พิจารณาผ้าบังสุกุล" ขึ้นมาแทน   ซึ่งความจริง การใช้คำว่า "ชักผ้าบังสุกุล" นั้นแหละ ถูกต้องแล้ว เพราะพระสงฆ์ ต้องไป  "ชัก"  (ดึง , หยิบ) ผ้า ออกมาจากตัวศพ  หรือจากผ้าภูษาโยง, สายโยง(สายสิญจน์) ที่โยงมาจากตัวศพ    



          แต่การใช้คำว่า "พิจารณาผ้าบังสุกุล" นั้น  ก็ไม่ใช่จะเป็นการใช้ผิดไปทีเดียว  เพราะความจริง คำนี้ก็เป็นรูปแบบวิธี "ย่อคำ" ของคนไทย โดยคำเต็มๆของคำว่า พิจารณาผ้าบังสุกุล ก็คือ  "นิมนต์พระสงฆ์พิจารณา อสุภะ (
=ศพ   หรือ พิจารณาสังขาร ก็ได้) และ ชัก ผ้าบังสุกุล"   นั่นเอง 



          เขียนมาก็นับว่ายาวมากแล้ว  เอาเป็นว่า ตอนนี้ขอพักเรื่อง บังสุกุล เอาไว้เพียงแค่ความหมายว่า "ผ้าบังสุกุล" เอาไว้ก่อน  ไว้มาต่อกันในบล๊อคคราวหน้า  จะพูดถึงเรื่อง "บทพิจารณา บังสุกุลตาย บังสุกุลเป็น
- อนิจจา วะตะ สังขารา "






Free TextEditor


Create Date : 22 ตุลาคม 2554
Last Update : 22 ตุลาคม 2554 18:33:01 น. 0 comments
Counter : 28972 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

chohokun
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




[Add chohokun's blog to your web]