"ส่าไข้" ฉันเกลียดแก
อานะเป็นส่าไข้ตอนอายุ 7 เดือน ย่างจะเข้า 8 เดือน บอกตรงๆ หัวเสียมากที่เจอเหตุการณ์นี้ เพราะก่อนหน้าที่ผื่นจะขึ้นวันเดียว ฝนได้รับข่าวดีจากทางนิตยสารรักลูกให้อานะไปแคสหน้าปก
เฮ้ย....แคสหน้าปก ไม่ไก่กานะเธออออ ที่ต้องลุ้นมากมายเพราะถ้าเด็กเกิน 8 เดือนมักไม่ได้ขึ้นหน้าปกของรักลูกแล้ว เราก็ลุ้นสิ คิดว่าไข้คงขึ้นเฉยๆ มั้ง ลูกแม่อย่าเป็นอะไรนะ เพี้ยงๆๆๆ เป่ากระหม่อมเช้าเย็น
แต่ที่ไหนได้ ... สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม มันเป็นโรคที่เด็กทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้
แต่ทว่า .. ทำไมต้องมาเป็นช่วงนี้ด้วย งานเข้าพอดี แอร๊ยยย..
สารร่าง... น่าสงสารสุดๆ เมื่อผื่นออกตัวก็จะเป็นเม็ดแดงๆ ผื่นยุบยิบเต็มไปหมด เอาล่ะเว้ย..ยาจีนและยาไทยประทะกันสุดฤทธิ์ อากงอาม๊าจัดมาอย่าง ยายจัดมาอย่าง แต่ไอ้ที่เห็นในรูปนี่คือ ยายเอายาเขียวผสมน้ำอุ่นพอกไว้ให้ เป็นความเชื่อคนโบราณที่เราก็แอบขำสภาพอานะจริงๆ 555+
ทิ้งท้ายด้วยข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับส่าไข้
..................................................................................................................................
รับมือส่าไข้ให้คลายกังวล ( Credit : Modernmom) โดย: พ.ญ.ดุษฎี อัครเมธาทิพย์
โรคหรืออาการที่เกิดขึ้นในเด็กนั้น บางชนิดมีอาการที่คล้ายคลึง จนทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายบ้าน เครียดกังวลไปกับอาการที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยทำ เอากินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายคืน หนึ่งโรคอาการที่สร้างความสับสนให้นั้นมีโรคส่าไข้อยู่ด้วยค่ะ ด้วยลักษณะอาการที่คล้ายคลึงกับโรคหัด หรืออีสุกอีใสในบางคราวด้วยนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องจะต้องทราบรายละเอียดค่ะ เพราะเป็นโรคที่ถือว่าพบได้บ่อยในเด็กเล็กตั้งแต่ 6-15 เดือนค่ะ
ที่บอกว่าพบได้บ่อยก็อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ เพราะโรคนี้เป็นเองหายเอง เพียงแต่ระหว่างที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลลูกน้อยอย่างดี เพราะอาจจะเกิดอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น อาการชักเพราะไข้สูงเกิดนั้นเองค่ะ
รับมือส่าไข้
เมื่อลูกมีไข้ควรหมั่นเช็ดตัวลูกบ่อยครั้งอย่างเบามือ : เพราะโรคส่าไข้จะทำให้เด็กมีอาการไข้สูง อาจสูงได้ 40องศาเซลเซียส ซึ่งเด็กบางคนอาจมีโอกาสชักได้ถึง 10-15%
ให้ลูกจิบน้ำบ่อยครั้ง : เพื่อลดอุณหภูมิความร้อนในร่างกายลง
รับประทานยาลดไข้ ยาลดน้ำมูก ตามอาการป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น : ควรเป็นยาที่คุณหมอแนะนำ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
หากลูกงอแง คุณพ่อคุณแม่อาจจะอุ้มเดิน ลูบที่หลังเบา ๆ อย่าดุหรือตวาดเพราะจะยิ่งทำให้ลูกไม่สบายใจและงอแงเพิ่มขึ้นไปอีก : ควรอยู่กับลูกตลอดเวลา ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าทีพี่เลี้ยง เพราะการได้ใกล้ชิดพ่อแม่จะทำให้ลูกสบายใจขึ้น
ผื่นจะเกิดขึ้นหลังวันที่ไข้ลดประมาณวันที่ 3 - 5 นั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องทายา ทาแป้ง หรือถูแรงเพื่อให้ผื่นหายเร็วๆ อาจจะทำให้ผิวบางๆ ของลูกอักเสบ ควรเช็ดตัวอย่างเบามือเช่นเคยค่ะ : ผื่นจากส่าไข้จะไม่ทำให้ลูกน้อยคันแต่อย่างใด แต่หากลูกคันอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น ซึ่งควรพบคุณหมอจะดีกว่า
Concern:
ปกติโรคส่าไข้หากผื่นขึ้นแล้วอาการของไข้จะค่อยลดลง แต่หากผื่นขึ้นจนจะจางหายแล้วลูกยังมีไข้สูงอยู่ อาจจะไม่ใช่โรคส่าไข้แล้วจึงควรรีบพบคุณหมอด่วนที่สุดเลยค่ะ
รู้จักส่าไข้ในวันที่ยังไม่เป็น
ส่าไข้ เป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Human Herpesvirus Type 6(HHV 6) โรคนี้มีชื่อทางการแพทย์ว่า Roseolar Infantum(หัดดอกกุหลาบ) หรือExantham Subitum หรือ Sixth Disease (เพราะเป็นโรคที่จะมีผื่นขึ้นประมาณวันที่6ของโรคส่าไข้) สามารถติดต่อกันได้ทางการหายใจ ไอหรือจามรดกัน อาการส่าไข้บางคนอาจจะมีน้ำมูกไหล เจ็บคอ รับประทานอาหารได้น้อย
ส่าไข้จะมีอาการไข้ประมาณ 3-5วัน แล้วอาการไข้จะลดลงประมาณ12-24 ชั่วโมง หลังไข้ลดจะมีผื่นตุ่มแดงเล็กๆ ขนาด 2-5 มิลลิเมตร สีออกแดงชมพูคล้ายสีดอกกุหลาบ(จึงเรียกอีกชื่อว่า Roseolar มาจาก Rose ที่แปลว่าดอกกุหลาบ) เริ่มขึ้นตั้งแต่บริเวณช่วงลำตัว จากนั้นจะลามไปที่ คอ หน้า และต้นแขนต้นขา โดยอาการผื่นจะเป็นประมาณ 1-3 วันแล้วจะจางหายไปเองโดยไม่มีรอยดำหรือแผลเป็นใดๆ
ดูอย่างไรส่าไข้ต่างจากหัดเยอรมันและอีสุกอีใส
หากลูกน้อยเป็นโรคหัด ในวันที่4 ของอาการไข้ ลูกน้อยจะมีผื่นขึ้น มีอาการไอที่รุนแรงมากกว่า โดยผื่นจะเริ่มขึ้นบริเวณหน้าก่อน ลามมาตามตัวไปจนถึงขา เมื่อผื่นถึงขาแล้วไข้จึงจะลด และหลังผื่นหายอาจจะมีรอยดำจาง ๆ ขณะที่ส่าไข้จะไม่เหลือรอยจางใด ๆ ที่ผิวลูกน้อย
ลักษณะตุ่มหนองหรือตุ่มใส คืออาการของโรคอีสุกอีใส และหากมีตุ่มหนองก็ควรรีบพบคุณหมอ เพราอาจจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดรุนแรง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้
ฝากไว้นิดค่ะว่า จริงแล้วไม่ว่าลูกน้อยจะป่วยด้วยโรคใดหรือมีอาการเช่นใด การจะให้ลูกน้อยก้าวผ่านอาการต่าง ๆ ไปให้ได้นั้น อยู่ที่สติของพ่อแม่เป็นหลักในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับลูกน้อยนะคะ
Tips:
หากลูกมีอาการชัก คุณพ่อคุณแม่ควรจับนอนตะแคงหน้าเพื่อป้องกันการสำลัก ไม่จำเป็นต้องหาช้อนหรืออะไรมางัดปากนะคะ เพราะอาจจะทำให้ฟันหักได้ รีบเช็ดตัวลดไข้แล้วนำส่งพบคุณหมอด้วยที่สุดค่ะ
Create Date : 07 กรกฎาคม 2555 |
Last Update : 7 กรกฎาคม 2555 22:14:46 น. |
|
0 comments
|
Counter : 2721 Pageviews. |
|
|