Green Dragon?

Green Dragon? - หรือมังกรจะกลับใจ


      Oversee ฉบับนี้เป็นเรื่องเขียวๆ อีกครั้ง โดยจะขอกล่าวถึงประเทศจีนที่กำลัง “ชดใช้” ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

      เงินทองที่ไหลมาเทมาหลังการเปิดการค้าเสรี ด้วยมลภาวะเป็นพิษ ปัญหาสังคม และชีวิตของคนงานเหมืองถ่านหินอันเป็นแหล่งพลังงานหลักของอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตสุดขีดจนละเลยหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน”

      จากการจัดอันดับ 20 เมือง “เน่า” ที่สุดในโลกของธนาคารโลก เมืองต่างๆ ของจีนเอาไปครอง 16 อันดับ โดยมีเมืองลินเฟน จังหวัดชางซี เป็นแชมป์โลก เมื่อปีที่แล้ว ดาวเทียมสำรวจสภาพบรรยากาศบนพื้นโลกของยุโรปรายงานว่า ในชั้นบรรยากาศของกรุงปักกิ่ง สถานที่จัดงานโอลิมปิคในอีก 2 ปีข้างหน้า มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึงระดับเป็นอันตรายต่อปอด และจะส่งผลให้มีคนตายก่อนเวลาอันควรถึง 400,000 คนต่อปี

     ตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา มีการฟ้องร้องเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมเป็นพิษในประเทศจีน 1,148 ล้านคดี และปีที่แล้วมีความขัดแย้งและการรวมตัวเดินขบวนเรียกร้องในเรื่องพรรณนี้ถึง 15,000 ครั้ง หรือตกประมาณวันละสี่สิบครั้งต่อวัน

     เข้าตำรา ของฟรีไม่มีในโลก

     หลังจากปล่อยให้เละเทะมานาน ดูเหมือนรัฐบาลจีนจะเริ่มเอะใจ เปิดหูเปิดตารับรู้ปัญหา ยอมเข้าร่วมในสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติมากขึ้น และออก White Book on China 21st Century สมุดขาวที่กำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในประเทศ ส่วนผลงานที่เป็นรูปธรรมเชิดหน้าชูตาแดนมังกร จะเปิดตัวในในงานเวิลด์ เอ๊กซ์โป ปี 2010 ที่นครเซียงไฮ้

     ผลงานที่ว่าคือเมือง “ดงตัน” (Dongtan) เมืองใหม่ที่ออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมเมืองแรกของโลก

     เมืองดงตันจะตั้งอยู่ไม่ไกลจากนครเซียงไฮ้ บนเกาะชงหมิงกลางแม่น้ำแยงซีเกียงที่เกิดจากการทับถมของเลนโคคลนที่กระแสน้ำพัดมา ห่างออกไป 3 กิโลเมตร เป็นบึงสงวนพันธุ์นกซึ่งบางประเภทกำลังจะสูญพันธุ์

     ฟังมาถึงตอนนี้ ดูเหมือนการกำหนดจุดสร้างเมือง “อนุรักษ์ธรรมชาติ” เมดอินไชนาแห่งนี้จะส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนามาตุๆ แต่ทางหน่วยงานเพื่อการลงทุนทางอุตสาหกรรมแห่งนครเซียงไฮ้ (Shanghai Industrial Investment Corporation หรือ SIIC) เจ้าของโครงการแจกแจงว่า จะอย่างไรการขยายแหล่งที่อยู่อาศัยให้ผู้คนที่อพยพจากชนบทเพิ่มขึ้นทุกปีต้องเกิดขึ้น ขณะนี้โครงการสร้างอุโมงค์และจากเซียงไฮ้ไปเกาะชงหมิงได้รับการอนุมัติแล้ว แทนที่เมืองจะเกิดอย่างไร้ทิศทางขาดการสร้างสรรค์ การคิดสร้างเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อมขึ้นมาก็น่าจะดีกว่าปล่อยไปตามบุญตามกรรมมิใช่หรือ

     เมืองอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งแรกของโลกเมืองนี้ ได้รับการออกแบบโดยบริษัทออกแบบผังเมืองที่อังกฤษชื่อ อรัป (Arup) เมืองดองตันจะเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ ไม่ปล่อยสารทำลายชั้นโอโซน (จีนเป็นประเทศที่ทำลายชั้นโอโชนเป็นอันดับสองของโลก ส่วนอันดับหนึ่งนั้น ลองทายดูว่าเป็นประเทศไหน) มีการหมุนเวียนใช้น้ำอย่างพอเพียง โดยมีเป้าหมายในการลดความสิ้นเปลืองลงถึงสองในสามของค่าเฉลี่ยการใช้พลังงานต่อหัวของประชาชนในประเทศ

     ผังเมืองดงตันได้รับการออกแบบให้เป็นกลุ่มหมู่บ้านตั้งอยู่ไม่ห่างจากกัน เมื่อเสร็จสิ้นโครงการทั้งหมดจะสามารถรับประชากรได้ 500,000 คน ประชาชนสามารถเดินเท้าหรือใช้จักรยานโดยไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ เพราะถึงมีก็ไม่น่าขับ เนื่องจากถนนเป็นทางเส้นเล็กๆ ออกแบบให้คนเดินมากกว่า สาธารณูปโภคต่างๆ ใช้ระบบพลังงานสะอาด ทั้งแรงน้ำ แรงลม และพลังงานนิวเคลียร์ อาคารบ้านเรือนจะผ่านการคิดค้นคว้ามาแล้วว่าไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ขยะจากเมืองจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีแหล่งทิ้งขยะ

     เฟสแรกของการก่อสร้างเมืองดงตัน เป็นหมู่บ้านริมอ่าวสำหรับประชากร 20,000 คน กำหนดแล้วเสร็จในปี 2010 ขณะนี้มีผู้ยื่นความประสงค์ขอเข้าอยู่ในสวรรค์น้อยๆ แห่งนี้แล้ว 80,000 คน

     เข้าตำรา มาช้า ดีกว่าไม่มา





ประกาศผล รางวัลแด่ผู้มีจรรยาบรรณของดิ ออบเซิร์ฟเวอร์ ( สืบเนื่องจาก Oversee ฉบับเดือนพฤษภาคม )

และผู้ได้รับรางวัลได้แก่....

     - เวบไซต์ เนเชอรัล คอลเล็คชั่น (www.naturalcollection.com) ในสาขา ร้านค้าปลีกแห่งปี (Retailer of the year)
     เนเชอรัล คอลเล็คชั่น เป็นกิจการร้านค้าออนไลน์ของสามีภรรยา จูเลียนกับโจ สเปตเตอร์ผู้สนใจการใช้ชีวิตแบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่สะดวกสบายไม่ต้องลงทุนปรับหัวใจเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ยุ่งยาก เมื่อเข้าไปในเวบไซต์แห่งนี้คุณจะแปลกใจกับรายการสินค้า “รักษ์ธรรมชาติ” ที่สั่งซื้อมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เลยนับพันชิ้น

     - องค์กร “ทำความยากจนให้เป็นอดีต” Make Poverty History (MPH) ในสาขา ผู้นำโครงการรณรงค์แห่งปี (Campaigner of the year)
     หัวใจขององค์กรแห่งนี้คือเรียกร้องให้ ชาติต่างๆ ดำเนินการค้าอย่างยุติธรรม ยกเลิกเงินกู้แก่ประเทศยากจน และการช่วยเหลือที่มากขึ้นและดีขึ้นจากรัฐบาลและองค์กรนานาชาติ ถึงแม้วัตถุประสงค์ขององค์กรแห่งนี้จะยังไม่บรรลุผล แต่ได้แสดงให้เห็นว่าผู้คนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ด้วยการใส่หนังยางริสแบนด์ขององค์กรเป็นจำนวนมาก

     - โรงเรียนประถมมีแอร์ วิลเลจ (Meare Village Primary school) ในสาขา ผู้นำโครงการรณรงค์รุ่นเยาว์ อายุต่ำกว่า 16 แห่งปี (Young Campaigner of the year, under 16s)
     เด็กๆ ในโรงเรียนประถมแห่งนี้รักษาธรรมชาติกันตั้งแต่กระดิ่งคาบแรกยังไม่ดัง กับโครงการเดินไปโรงเรียน ( walking bus) เพื่อลดมลภาวะจากรถยนต์ที่ผู้ปกครองขับไปส่งลูกหลานถึงหน้าโรงเรียน แต่แค่นั้นก็คงจะไม่สมศักดิ์ศรีผู้ชนะ เด็กๆ ที่นี่ยังมีโครงการเชื่อมต่อโรงเรียน (link school) กับโรงเรียนมุนดินี ในประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา กระตู้นให้เกิดการตระหนักถึงโครงการรักษาน้ำ กำจัดขยะ และการค้าขายอย่างยุติธรรม ระหว่างประเทศ

     - เอฟริล สเต็ดฟอร์ด จากเมือง อ๊อกฟอร์ด ในสาขา ทำเองได้ง่ายจังแห่งปี (Do-It-Yourself Award)
     คุณยายวัย 73 ผู้นี้ ขายบ้านประจำตระกูลที่ใหญ่เกินตัวหลังจากสามีของนางได้เสียชีวิต ไปอยู่ในบ้านหลังเล็กกว่าที่นางลงมือปรับปรุงให้มีการหมุนเวียนน้ำใช้ ติดระบบพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องเก็บกักความร้อน เป็นตัวอย่างให้คนในละแวกเดียวกันหันมาให้ความสนใจ โครงการล่าสุดที่คุณยายผู้ไม่ยอมอยู่เฉยๆ รอวันตายตั้งใจทำคือการผลิตกระแสไฟฟ้าบางส่วนเอาไว้ใช้เอง

     - องค์กรสถาปัตยกรรมเพื่อมนุษยชาติ (Architecture for humanity) ในสาขา นวัตกรรมแห่งปี (Innovation of the year)
     องค์กรสถาปนิคนี้มีอาสาสมัคร 2,700 คนใน 100 ประเทศ มีหลักการสองข้อคือนำสถาปัตยกรรมเข้าไปเกี่ยวโยงกับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ และการออกแบบที่เหมาะสมกับชุมชน สำหรับสถาปนิกที่ต้องการเป็นมากกว่าลิงคุมโปรแกรมออกแบบคอมพิวเตอร์ในโครงการแพงๆ การทำงานของโครงการนี้จะเข้าถึงพื้นที่และทำงานร่วมกับชาวบ้าน ช่วยสร้างงานและเสริมสร้างให้ชุมชนสร้างชีวิตด้วยตนเอง และสามารถนำแบบอาคารขององค์กรไปปรับใช้ได้ฟรี

     - ห้องสมุดจูบิลี เมืองไบรตัน (Jubilee Library )ในสาขา อาคารแห่งปี (Building of the year)
     อาคารห้องสมุดแห่งนี้นอกจากจะเป็นอาคารที่ใช้งบประมาณสร้างต่ำกว่าปกติ ยังเป็นถูกออกแบบให้ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศและทางเดินลมในระบบทำความร้อนและความเย็น ช่องหน้าต่างสูง 5เมตรช่วยในการรับความร้อนตอนกลางวันและระบายออกในตอนกลางคืน น้ำฝนที่เก็บกักไว้นำมาใช้ในห้องน้ำ ขณะที่ระบบชดเชยความร้อนนั้นเด็ดสุด คือนอกจากจะใช้จากโคมไฟแรงเทียนต่ำ เครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว ยังดูดจากความร้องที่ออกจากผู้มาใช้บริการด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้อาคารแห่งนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าอาคารราชการอื่นๆ อย่างน้อยเศษหนึ่งส่วนสามถึงครึ่งนึงเลยทีเดียว


ที่มา : The Guardian website






Create Date : 23 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2550 17:28:28 น. 0 comments
Counter : 762 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.