Copyleft : some rights reserved

Copyleft : some rights reserved


     คงเคยได้ยินกันผ่านหูกันมาบ้างว่า ไม่มีกวีบทไหน ไม่ได้รับแรงบันดาลใจจากกวีบทเก่า เช่นเดียวกับงานสร้างสรรค์ต่างๆก็ล้วนก่อเกิดแตกยอดมาจากสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วก่อนหน้าทั้งสิ้น หากในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างถูกขึ้นทะเบียนตีตรา จดสิทธิบัตร สงวนลิขสิทธิ์ไปเสียหมดอย่างในทุกวันนี้ ถ้าใครคิดขยับตัวทำอะไรก็ต้องคิดหน้าคิดหลัง ต้องตรวจสอบแล้วเล่าว่าไปละเมิดลิขสิทธิ์ของใครเข้าบ้างหรือเปล่า

     ข้อบังคับเรื่องลิขสิทธิ์อันเข้มงวดได้เพิ่มจำนวนผู้ไม่สบอารมณ์มากขึ้นทุกที และกฎหมายในหลายๆประเทศที่ออกมาขยายระยะเวลาการถือครองสิทธิของทายาท หลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิตจากห้าสิบปีเป็นเจ็ดสิบปีก่อนที่จะตกเป็นสมบัติสาธารณะ ทำให้ถูกมองว่าความจริงแล้ว ลิขสิทธิ์นั้นไม่ได้ปกป้องผู้สร้างสรรค์สักเท่าไหร่ หากเป็นเครื่องมือเพิ่มความร่ำรวยให้กับคนบางกลุ่มเสียมากกว่า

     ตัวอย่างเห็นได้จากบรรดาบริษัทผู้ผลิตสินค้ายักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่เริ่มให้ความสนใจกับผลงานศิลปะมากกว่าแต่ก่อน ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพราะความรักในศิลปะแต่อย่างใด พวกเขาคอยตรวจสอบว่าพวกศิลปินนำโลโก้ ผลิตภัณฑ์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นสมบัติของตนไปใช้ในงานหรือเปล่าต่างหาก ส่งผลให้ศิลปินร่วมสมัยถูกบริษัทต่างๆ ฟ้องข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ไปเป็นแถวๆ ตัวอย่างเช่น บริษัทมัทเทล (Mattel)ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ ร้องเรียน ทอม ฟอร์ซีท เจ้าของผลงานภาพถ่ายชุด ฟูด เชน บาร์บี้ (Food Chain Barbie) สำนักพิมพ์เจ้าแห่งนิยายโรมานซ์ ฮาร์ลกิน (Harlequin) สั่งให้ จิตรกรหญิง นาตาลกา ฮุซาร์ (Natalka Husar) เอาชื่อหนังสือนิยายเก่าๆ ของสำนักพิมพ์ที่เธอนำมาปะติดประกอบงานวาดชุด Library ของเธอออก หรือ การล้อเลียนโลโก้ร้านกาแฟสตาบัคส์ (Starbucks) ในผลงานชื่อ "Consumer Whore” ของนักเขียนภาพประกอบ เคียรอน ดิวเยอร์ (Kieron Dwyer) ก็ทำให้เกิดเรื่องราวถึงโรงถึงศาลกันมาแล้ว

     เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นสมบัติส่วนบุคคล ลิขสิทธิ์กลายเป็นกรอบกั้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ก็ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ “ทบทวน” บทบาทของกฎหมายลิขสิทธิ์ขึ้นในทุกวงการสร้างสรรค์ เพื่อปลดปล่อยวัฒนธรรมให้ดำเนินไปอย่างมีอิสระโดยเสรี

     การเริ่มต้นลงมือต้านพฤติกรรม “หวงลิขสิทธิ์” อย่างเป็นรูปธรรม กระทำกันในแวดวงคอมพิวเตอร์ นำโดย ฟรี ซอฟแวร์ เฟาน์เดชัน (Free Software Foundation (FSF) - กองทุนเพื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์เสรี) เริ่มก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1984 ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักการสร้างระบบปฏิบัติงานคอมพิวเตอร์สาธารณะเพื่อใช้ร่วมกันอย่างเสรี ด้วยมองเห็นว่า ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความต้องการด้านเทคนิคหรือไม่ก็เพื่อการค้า

     และเมื่อกองทุนฯมาได้พันธมิตรอย่าง ลินุส โทร์วาลด์ (Linus Torvalds) ผู้สร้างโปรแกรมปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux) ขึ้นมาได้สำเร็จในปี ค.ศ 1992 ก็ทำให้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบเสรีอย่างแท้จริงนั้นเป็นความจริงขึ้นมาได้ โดย ริชาร์ด แมทธิว สตอลแมน (Richard Matthew Stallman) ประธานกองทุนฯและเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งถึงกับกล่าวว่า “ ปัจจุบันนี้ ระบบร่วม GNU/Linux ที่เราสร้างขึ้น เป็นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพียงระบบเดียวที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลประโยชน์ตามสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริง” (รายละเอียดข้อสัญญาการใช้ในภาษาไทยสามารถหาอ่านได้ที่ //developer.thai.net/gpl/)

     แนวคิดของฟรี ซอฟแวร์ ฟาวน์เดชั่น ผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวสำหรับงานสร้างสรรค์อื่นๆ ทั้งงานศิลปะร่วมสมัย ดนตรี งานเขียน ภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อหลักการที่เรียกว่า ก๊อปปี้เลฟท์ (Copyleft – เป็นการเล่นคำจากคำว่า Copyright – ลิขสิทธิ์) ขึ้น โดย ก๊อปปีเลฟท์มุ่งมั่นเปิดโอกาสให้ทุกผู้ทุกคนสามารถคัดลอก เผยแพร่ และดัดแปลงผลงานต่างๆ เพื่อให้สามารถเผยแพร่ผลงานในวงกว้างและเปิดโอกาสให้คนอื่นๆร่วมพัฒนาผลงานต่อไปได้อย่างเสรี ภายใต้เงื่อนไขคือ ต้องเป็นการใช้ส่วนตัว ไม่เป็นไปเพื่อการค้าขาย และต้องแสดงชื่อของผู้สร้างสรรค์เมื่อมีการนำงานที่ใช้สัญญาลิขสิทธิ์ที่ทางแกนนำแนวคิดนี้ร่างขึ้นไปใช้

     หลายคนอาจจะมองหลักการของก๊อปปีเลฟท์ว่าเป็นเรื่องของพวกเพ้อฝัน มองโลกมองมนุษย์ในแง่ดีเกินไป ไม่อยู่บนฐานแห่งความเป็นจริง ใครกันล่ะที่อยากจะแจกจ่ายงานของตัวเองออกไปฟรีๆเปล่าๆปลี้ๆ แต่นั่นไม่ใช่ความคิดของกลุ่มนักเขียนอิตาลีชาวเมืองบูโลญ ที่รวมตัวกันในชื่อซึ่งมาจากภาษาจีนว่า วู หมิง (Wu Ming – นิรนาม) อันประกอบด้วย จอวานนี กัตตาบริกา (Giovanni Cattabriga) โรแบร์โต บุย (Roberto Bui) ลูกา ดิ เมโอ (Luca Di Meo) เฟรเดริโก กูกลิเอลมิ (Federico Guglielmi) ซึ่งในอดีตเคยใช้ชื่อโปรเจคของตนว่า ลูเธอร์ บลิสเส็ต (Luther Blissett) ตามชื่อนักฟุตบอลชาวจาไมกาในสังกัดทีมเอซี มิลาน

     กลุ่มวู หมิง รับหลักการของก๊ออปี้เลฟท์มาใช้อย่างแข็งขัน ผลงานพวกเขาจึงมีวางจำหน่ายทั้งในร้านหนังสือ และเปิดให้ดาวน์โหลดอ่านทั้งเรื่องฟรีๆในเวบไซต์ของกลุ่ม เพราะพวกเขามองว่า ความคิดดาดๆของสำนักพิมพ์ต่างๆที่ว่า “หนังสือที่ถูกก๊อปปี้โดยผิดกฎหมายเล่มหนึ่งเท่ากับหนังสือที่ไม่ได้ขายหนึ่งเล่ม” นั้น ไม่เป็นไปตามหลักเหตุผล ด้วยจะมีหลักการใดมาอธิบายปรากฏการณ์ที่หนังสือเรื่อง Q ของพวกเขา ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดอ่านฟรีๆมากว่าสามปีแล้วได้รับการพิมพ์ซ้ำถึงสิบสองรอบและขายไปได้กว่าสองแสนเล่ม ได้ดีกว่า “ในวงการหนังสือสิ่งพิมพ์ ยิ่งหนังสือแพร่หลายไปกว้างเท่าไหร่ ยอดขายก็จะยิ่งดีขึ้นเรื่อยๆตามไป”

     พวกเขาอธิบายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับหนังสือของพวกเขาก็คือ เมื่อมีนักอ่านเข้ามาดาวน์โหลดหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งจากเวบไซต์ของพวกเขาไปอ่าน นักอ่านคนนั้นอาจจะดาวน์โหลดจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทหรือของมหาวิทยาลัยซึ่งไม่ต้องจ่ายเงินเลยสักแดงเดียว เมื่ออ่านจบและเกิดชอบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมา เขาก็อยากจะมอบให้คนอื่นเป็นของขวัญ แต่ก็แน่ล่ะว่าการให้หนังสือพิมพ์บนปึกกระดาษเอสี่นั้นมันไม่ค่อยจะน่าดูสักเท่าไหร่ เขาก็เลยไปร้านหนังสือซื้อหนังสือ

     ด้วยประการฉะนี้ หนังสือที่ถูกก๊อปปี้ฟรีๆเล่มหนึ่งก็เท่ากับหนังสือที่ขายได้หนึ่งเล่ม และมีนักอ่านหลายคนที่ให้หนังสือเป็นของขวัญญาติมิตรไม่น้อยกว่าหกเจ็ดเล่ม ดังนั้น หนังสือที่ถูกก๊อปปี้ฟรีเล่มหนึ่งก็เท่ากับหนังสือที่ขายได้หลายเล่มไปในทันที และถ้าหากนักอ่านคนนั้นไม่มีเงินซื้อหนังสือจริงๆ เขาก็จะพูดถึงหนังสือเล่มนี้กับคนรอบข้าง ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องมีคนที่ได้ฟังไปซื้อหนังสือมาอ่าน ส่วนคนที่ดาวน์โหลดหนังสือไปอ่านแล้วไม่ชอบ อย่างน้อยเขาก็ไม่ต้องจ่ายค่าหนังสือไปให้มานั่งเสียดายเงินในภายหลัง

     การเปิดให้ดาวน์โหลดหนังสือจากอินเตอร์เน็ตนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นหลายเท่าๆตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นักเขียนหนังสือไซไฟ อีริก ฟลินต์ (Eric Flint) ได้เกลี้ยกล่อมให้สำนักพิมพ์ แบเอ็น บุกส์ (Baen Books )เปิดห้องสมุดเสมือนขึ้นพร้อมกับเปิดโอกาสให้ผู้อ่านดาวน์โหลดหนังสือนิยายกว่าหกสิบเล่มไปอ่านได้ฟรีๆ พร้อมๆไปกับการวางขายหนังสือเหล่านั้นตามร้านหนังสือ และสำนักพิมพ์ โอเรลลี (O’reilly) ซึ่งเชี่ยวชาญด้านหนังสือคู่มือคอมพิวเตอร์ก็เปิดให้ผู้อ่านดาวน์โหลดหนังสือส่วนหนึ่งจากเวบไซต์ของตนเช่นกัน

     เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่าแนวคิด ก๊อปปี้เลฟท์ กำลังขยายไปสู่วงการเพลง และวงการศิลปะร่วมสมัยมากขึ้นทุกทีและไม่ว่าจะเป็นการกระทำตามอุดมการณ์ยิ่งใหญ่เพื่อมนุษยชาติ หรือเพื่อผลทางการตลาด กระจายงานและชื่อเสียงของตนออกไปให้กว้างขวาง แนวคิดนี้ก็สามารถนำมาลอกเลียนแบบ ทำซ้ำ และดัดแปลงกับงานในเมืองไทยได้เสมอ จะตั้งชื่อเติมท้ายว่า ลิขสิทธิ์เอื้ออาทร ก็ยอม..เอ้า...



ที่มา Courrier Internationale “Culture libre” issue 689 (jan. 04)
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.illegal-art.org, //www.neteconomie.com , //www.gnu.org, //www.courrierinternationale.com, //www.wumingfoundation.com , //www.artlibre.org, //www.developer.thai.net





Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2550 21:27:23 น. 0 comments
Counter : 1419 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.