Time for Thai pens

Time for Thai pens : ได้เวลานักเขียนไทย


     Oversee เมื่อฉบับที่แล้ว ได้เล่าเรื่องราวของเหล่านักเขียนชาวจีนที่สร้างงานเขียนโด่งดังในต่างประเทศนอกประเทศบ้านเกิดแถวตะวันตกซีกโลกฝรั่งตาน้ำข้าวทั้งในอเมริกาและในยุโรปให้ทราบโดยทั่วกันไปแล้ว โดยทางยุโรปได้เน้นสถานการณ์ในประเทศฝรั่งเศสเป็นหลัก แต่เรื่องที่อยากเล่าให้ได้รู้กันก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว ก็เลยต้องขออนุญาตบ.ก.ของเรากล่าวถึงปรากฏการณ์งานวรรณกรรมต่างชาติในประเทศนี้ต่อในครั้งนี้ เรื่องที่จะพูดถึงต่อนี้เป็นเรื่องซึ่งเกิดขึ้นฝากโพ้นทะเลที่มองข้ามไปอย่างไม่น่าให้อภัยเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับงานเขียนของคนไทยเราๆนี่เอง

     วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2004 หน้าวรรณกรรมของหนังสือพิมพ์ชั้นนำของประเทศฝรั่งเศสอย่าง ลิเบราซิยง (Libération) ได้ใช้พื้นที่กว่าหน้าครึ่งกล่าวถึงหนังสือซึ่งแปลจากงานเขียนไทยเรื่อง “เจ้าการะเกด” ของเสน่ห์ สังห์สุข (นักเขียนและนักแปล “กากเดนมนุษย์” แห่งกระท่อมผู้ชนะ ตำบลหนองโสน จังหวัดเพชรบุรี เจ้าของนามปากกาหลากหลายทั้ง แดนอรัญ แสงทอง มายา และเชน จรัสเวียง) สรุปใจความได้ว่า ... เป็นหนังสือร้อยแก้วแสนสละสลวย เร้าความสนใจอย่างเหลือเชื่อ ไหลรื่นราวสายน้ำกลางฤดูฝน ร้อยเรียงเรื่องราวตำนานโบราณ ในฉากชนบทบ้านป่า ด้วยถ้อยคำที่นำผู้อ่านลื่นไหลตามไปสู่บทต่อๆไป…หนังสือแปลเล่มนี้วางแผงเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2004 และได้รับการลงคะแนนจากพนักงานเฟอนัค(Fnac) ร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศฝรั่งเศสให้เป็นหนึ่งในหนังสือในดวงใจผู้ขายหลังจากหนังสือวางแผงได้ไม่นานนัก

     ‘เจ้าการะเกด’ ภาคภาษาฝรั่งเศส หรือ ‘อุน อิสตัวร์ วิเยิย กอมม์ ลา ปลุย’ (Une histoire vieille comme la pluie – เรื่องบุร่ำโบราณดั่งสายฝนก็มิปาน) แปลโดยมาร์แซล บารังส์ (Marcel Barang) นักแปลชาวฝรั่งเศสผู้เปิดโลกวรรณกรรมไทยสู่ผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษมากว่าสิบปี เขาได้กล่าวถึงเสน่ห์ สังห์สุขในบทสัมภาษณ์ซึ่งปรากฏในลิเบ (ชื่อย่อของหนังสือพิมพ์ลิเบราซิยง) ในคอลัมน์ที่ลงพิมพ์ในคราเดียวกับบทความข้างต้นว่า “เสน่ห์ สังห์สุข เป็นหนึ่งในบรรดานักเขียนชั้นนำชาวไทยในปัจจุบัน และยังเป็นคนไทยที่มีความรู้ทางวรรณคดีตะวันตกเป็นอย่างดีคนหนึ่ง”

     นักแปลผู้นี้ได้แปลงานวรรณกรรมไทยให้นักอ่านชาวฝรั่งเศส (รวมถึงนักอ่านในประเทศผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสอื่นๆอย่าง เบลเยี่ยม สวิสเซอร์แลนด์ แคว้นควีเบค ประเทศแคนาดา) ได้มีโอกาสสัมผัสงานเขียนไทยที่เขาเรียกว่า Thai Modern Classics (วรรณกรรมไทยยุคใหม่ชั้นยอด) หลายต่อหลายเรื่อง เรื่องแรกในปี 1992 ได้แก่ ‘อุน อิสตัวร์ ออร์ดิแนร์’ (Une histoire ordinaire) หรือ ‘เรื่องธรรมดา’ นิยายของชาติ กอบจิตติ พร้อมแนบในเล่มด้วย ‘เลอ คูโต’ ( Le couteau –มีด) หรือ’ มีดประจำตัว’ ซึ่งเป็นงานเรื่องสั้นของนักเขียนท่านเดียวกัน ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ขายหมดไปเรียบร้อยแล้ว

     หลังจากนั้น ในปี 1998 ‘ลอมไพเยอร์ เดอ เรฟส์’ (L'empailleur de rêves - ผู้คงฝัน)ซึ่งแปลจากหนังสือเรื่อง ‘ ตลิ่งสูงซุงหนัก’ นิยายชื่อดังของนิคม รายาวา ก็ได้รับการตีพิมพ์ออกวางแผง และถูกกล่าวขวัญว่าเป็นหนังสือที่ส่องลำแสงความเรียบง่าย ความสดใหม่และความเป็นธรรมชาติ ไร้การแต้มแต่งหรือความซับซ้อนซ่อนงำ เป็นเรื่องเล่างามประณีตถึงการดำเนินอยู่และความวิจิตรของชีวิตมนุษย์ ถึงกับมีการนำเรื่องนี้ไปเปรียบเทียบระดับได้กับนิยายชั้นนำระดับโลกอย่าง ‘เฒ่ากับทะเล’ หรือ ‘The old man and the sea’ ของแฮมมิงเวย์เลยทีเดียว

     นอกจากภาษาฝรั่งเศสแล้ว ตลิ่งสูงซุงหนัก มีภาคภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในประเทศออสเตรเลีย (แปลโดยนักแปลท่านอื่น) และได้รับความสนใจเป็นอย่างสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าภาคภาษาฝรั่งเศสเลย

     ในปีเดียวกันมาร์แซล บารังส์ก็ได้นำเสนอ ‘วีฟว์ เดอบูต์’ (Vivre debout - ยืนหยัดอยู่) รวมเรื่องสั้นอัตชีวประวัติ 19 เรื่อง คัดสรรโดยผู้แปลจากบรรดาเรื่องสั้นในหนังสือสามเล่มของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซี่งกล่าวถึงเรื่องราวเมื่อคราวที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ในป่าหลังจากเหตุการณ์สิบสี่ตุลา คือหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า ห้วงยามแห่งความพ่ายแพ้ คลื่นเสรีภาพ และโลกเปลี่ยนต้องเปลี่ยนโลก วีฟว์ เดอบูต์ได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในหนังสือแนะนำประจำฉบับมีนาคม 1999 ของหนังสือพิมพ์รายเดือน เลอ มงด์ ดิโปลมาติก ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองทรงอิทธิพลในระดับนานาชาติในเครือหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศฝรั่งเศสอย่าง เลอ มงด์ (Le Monde) ได้รับการเชื่อถือในระดับโลกและเป็นผู้นำในด้านการต่อต้านจักรวรรดินิยมและโลกาภิวัฒน์ ตีพิมพ์กว่า 19 ภาษาและวางจำหน่ายในกว่า 60 ประเทศ

     อีกสามปีต่อมา ก็ถึงคิวของ ‘โลมบร์ บลองช์’ (L’ombre blanche-เงาสีขาว) จากหนังสืออัตชีวประวัติไร้ย่อหน้าเรื่อง ‘เงาสีขาว (ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน)’ ของเสน่ห์ สังห์สุข ซึ่งผู้แปลยกย่องว่าเป็นหนังสือยิ่งใหญ่ระดับโลกเล่มหนึ่ง ได้รับการแปลเป็นภาษาสเปนในชื่อ ‘ลา โซมบรา บลังคา’ (La Sombra blanca –เงาสีขาว) หลังจากภาคภาษาฝรั่งเศสออกวางตลาดไม่นานนัก ผู้อ่านชาวฝรั่งเศสยกย่อง ‘เงาสีขาว’ ให้เป็นหนังสือนิยายแหกคอกอันน่าทึ่งสำหรับผู้อ่านคอวรรณกรรมพันธุ์แท้ผู้รู้ว่าวรรณกรรมคือฉันใด

     ก่อนหน้านั้น เรื่องสั้นของเสน่ห์ สังห์สุข เรื่องที่ถูกเพิกเฉยจากบรรณาธิการชาวไทยในช่วงแรกๆคือ ‘อสรพิษ’ หรือ ‘เวอแน็ง’ (Venin - พิษงู) ในชื่อฝรั่งเศส ได้สร้างความฮือฮา ทำยอดขายสูงจนทุกวันนี้ถึงกว่า 40,000 เล่มในฝรั่งเศส มีการขายลิขสิทธิ์แปลไปแล้วสำหรับภาษากรีก คาตาลัน สเปน โปรตุเกส เยอรมัน ภาษาเบรลล์สำหรับคนตาบอด และตีพิมพ์เป็นตอนๆเป็นภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ (Bangkok Post) ก่อนที่สำนักพิมพ์แมวคราวจะจับมารวมเล่มเป็นหนังสือสองภาษา (ไทย-อังกฤษ) ในปี 2002

     พฤษภาคม 2002 ‘ซอนน์ เลอร์’ (Sonne l'Heure – เวลาลั่น) หรือในชื่อไทยคือ ‘เวลา’ หนังสือรางวัลซีไรต์เล่มที่สองของ ชาติ กอบจิตติ “หนังสือต้องอ่านสำหรับคนอายุสี่สิบขึ้นไป” ตามคำกล่าวของนักแปล ก็ปรากฏสู่สายตาของนักอ่านชาวฝรั่งเศส และตามติดด้วยภาคอังกฤษจากผลงานนักแปลท่านเดียวกัน

     2003 ได้เวลาของ “ไอ้ฟัก”และ “อีสมทรง”ออกมาโลดเล่นสู่สายตานักอ่านชาวฟรองโกโฟน(Francophone – ผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส) ในหนังสือเรื่อง ‘ ลา ชุต เดอ ฟัก’ (La Chute de Fak – การล่มสลายของฟัก) จากหนังสือการันตีคุณภาพรางวัลซีไรต์ ‘คำพิพากษา’ ของ ชาติ กอบจิตติ ที่ถูกสร้างเป็นละครทีวีและภาพยนตร์มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ได้รับการต้อนรับเป็นอันดีจาก เลอ มงด์ ดิโปลมาติก ในฉบับเดือนกันยายน 2003 ว่า เป็นเรื่องเล่าแสดงถึงการท้อถอยของปัจเจกใจกลางสังคมที่ถดถอยจากค่านิยมทางวัตถุที่เพิ่มพูนและปราศจากความปราณี นอกจากนั้นยังมีผู้อ่านชาวสวิสต์ผู้หนึ่งกล่าวถึงหนังสือเรื่องนี้อย่างน่าสะกิดใจชาวไทยว่า เป็นหนังสือที่กล่าวถึงการเผชิญหน้าระหว่างปัจเจกชนกับสังคมพื้นถิ่น ในสยามเมืองยิ้มและมีน้ำใจ หากเป็นเมืองไทยที่แสนโหดร้ายด้วยเช่นกัน...

     นอกจากหนังสือทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว มาร์แซล บารังส์ ยังได้แปลผลงานของวินทร์ เลียววาริณ นักเขียนประจำ a day ของเรา (ผู้ที่นักแปลเห็นว่าเป็น นักเขียนที่ไม่เหมือนใคร ผู้ใฝ่หาวิธีการเขียนได้น่าสนใจและแตกต่างจากนักขียนไทยและนักเขียนเทศทั้งปวง) เรื่อง ลา ปูเป้ (La poupée – ตุ๊กตา) เรื่องสั้นซึ่งใช้ประโยคคำถามในการเล่าเรื่อง และ อะมองต์ (Amant - ชู้) ซึ่งเป็นเรื่องสั้นเลี่ยงคำกิริยา ดำเนินเรื่องด้วยคำนาม คั่นสลับด้วยคำวิเศษณ์ ลงในนิตยสาร เออโรปา (Europa) นิตยสารหัวก้าวหน้าด้านวรรณกรรมและวัฒนธรรมในภาษาฝรั่งเศสที่จำหน่ายทั่วทวีปยุโรป

     นอกจากนั้นของนอกจากนี้ก็ยังมี ‘ลูกอีสาน’ ของคำพูน บุญทวี ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส (ไม่ปรากฏชื่อผู้แปล) และ ‘หลายชีวิต’ ของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ในชื่อ ปลุซซิเยอรฺ วี (Plusieurs vies – หลายชีวิต) โดย วิไลวัลย์และ คริสติยง เปลโลเมล ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายเมื่อมานานมานี้เอง

     เป็นที่น่าสังเกตว่าหนังสือไทยอันเป็นที่รู้จักและยอมรับหรือถูกจริตชาวฝรั่งเศสนั้น ส่วนใหญ่เป็นวรรณกรรมที่ยอดขายในเมืองไทยมิได้พุ่งกระฉูดถึงขนาดติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ จะเป็นที่รู้จัก บ้างชื่นชม บ้างชิงชัง ก็แต่เพียงในหมู่นักอ่านวรรณกรรมกลุ่มเล็กๆเพียงกระหยิบมือในบ้านเรา กระนั้น คงมิอาจสรุปได้ว่ารสนิยมของนักอ่านไทยหรือของนักอ่านเทศสูง-ต่ำกว่ากัน ด้วยความแตกต่างในด้านนี้หาวัดเป็นระดับเทียบเคียงเช่นนั้นได้ไม่ หากที่ทำได้ก็คงขอแรงพิจารณาว่าเพราะเหตุใดหนังสือเหล่านี้จึงได้รับการคัดเลือกแปล นำเสนอ ผ่านการพิจารณาตีพิมพ์จำหน่าย จนเป็นที่เลื่องลือในหมู่นักอ่านชาวฝรั่งเศสผู้เลื่องชื่อทั้งด้านคุณภาพและปริมาณหนอ

ขอขอบคุณ คุณมาร์แซล บารังส์ และนักแปลทุกท่านที่ลงแรงกายแรงใจแปลหนังสือไทยทุกเล่มสู่สายตาชาวเทศ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ Libération ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2004
ข้อมูลเพิ่มเติม //www.thaifiction.com, //www.biblio-idealis.com, //www.monde-diplomatique.fr, //www.amazon.fr





Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2550 14:50:54 น. 0 comments
Counter : 1764 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.