Chinese pens out of China

Chinese pens out of China : นักเขียนจีนในต่างแดน


     ช่วงนี้เราได้ยินคนรอบๆข้างและสื่อมวลชนต่างๆพูดถึงประเทศจีนกันหนาหู หนังสือพิมพ์หลายฉบับเพิ่มคอลัมน์ว่าด้วยประเทศนี้โดยเฉพาะ ไหนจะสถาบันสอนภาษาจีนผุดขึ้นมาเพียบแทบจะทุกหัวระแหง ส่วนที่เห็นกันชัดๆคือ สินค้าจากประเทศจีนทะลักเข้ามาจนแทบตั้งตัวไม่ติดทั้งบนห้างและตามแบกะดิน

     ไม่ต้องบอกใครๆก็เดาออกว่าเหตุผลหลักที่ทำให้กระแสน้ำจากเมืองจีนไหลเชี่ยวกรากข้ามเขื่อนใหญ่ที่เคยกักกั้นไว้ในอดีตออกสู่โลกภายนอกกำแพงเมืองจีนก็คือ การเปิดประตูการค้าเข้าเป็นสมาชิกองค์การค้าโลก (World Trade Organization - WTO) เมื่อปลายปี 2001

     ขณะที่การค้าและอุตสาหกรรมกำลังโตวันคืน หลังจากจีนเข้าสู่ระบบการค้าเสรีติดต่อกับทั่วโลกมากขึ้น วงการหนังสือที่นั่นก็พุ่งกระฉูดไม่แพ้กัน แม้ว่าจะพูดไม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่ามีความ “เสรี” เต็มที่เนื่องจากสำนักพิมพ์ทุกแห่งยังอยู่ภายใต้การควบคุมและดำเนินการจากรัฐบาล แต่ก็ว่ากันว่าร้านหนังสือต่างๆในเมืองจีนจะมีลูกค้าเต็มร้านตลอด

     นอกจากนักเขียนรุ่นใหม่ๆที่เขียนเรื่องราวใหม่ๆและบางครั้งเปิดเผยจนน่าตกใจและเปิดโปงจนถูกแบนไม่ให้พิมพ์ขายอย่างเป็นทางการ (แน่ล่ะ ว่ามีการลักลอบพิมพ์ออกมาเกลื่อนเมือง) เช่น เซี่ยงไฮ้ เบบี้ (Shanghai Baby) ของ เว่ย ฮุ่ย และที่ตามมาติดๆคือ ปักกิ่ง ดอลล์ (Beijing Doll) ของ ชุน ซู่ (Chun Sue) แล้ว ยังมีนักเขียนจีนมากมายออกไปอยู่ต่างประเทศและเขียนงานให้ฝรั่งอ่านชนิดได้ทั้งเงินได้ทั้งกล่อง และก็ไม่พ้นถูกรัฐบาลจีนแบนไม่ให้พิมพ์ขายในประเทศไปหลายเล่มเช่นกัน ผลจากการเล่าเรื่องราวลึกๆอย่างอิสระจนเป็นกระจกส่องที่ใสเกินไป

     หนังสือของนักเขียนจีนในต่างแดนหลายคนนอกจากจะขายดีระดับเบสต์เซลเลอร์ทั้งในยุโรปและที่ฝั่งอเมริกาแล้ว ยังได้รับรางวัลต่างๆทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อย่างเช่น รางวัลโนเบลในปี 2000 นักเขียนผู้ได้รับรางวัลสาขาวรรณกรรมคือ นักเขียนจีนผู้ตั้งรกรากในประเทศฝรั่งเศสที่ชื่อ เกาสิงเจี้ยง (Gao Xingjian) จากหนังสือเรื่องมงตาญ เดอ ลาม (Montagne de l’âme หรือในชื่อไทยว่า ขุนเขาแห่งจิตวิญาณ)

     นักเขียนพลัดถิ่นของจีนมีทั้งที่ออกจากประเทศด้วยความสมัครใจและใฝ่ฝันถึงอิสระเสรีภาพแบบตะวันตก ส่วนอีกหลายคนถูกบีบบังคับให้จากบ้านเกิดแบบผู้ลี้ภัยทางการเมืองโดยส่วนใหญ่จะเป็นพวกปัญญาชนชั้นนำผู้มีการศึกษา จึงไม่น่าแปลกใจที่หัวกะทิไกลบ้านเหล่านี้นั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในสถานภาพไหนจะอดจะจับปากกาขึ้นเขียนหนังสือไม่ได้

     ในเรื่องการเลือกใช้ภาษาเขียน นักเขียนแต่ละคนจะมีความถนัดและเลือกใช้ภาษาเล่าเรื่องต่างกันออกไป หลายคนพอใจที่จะเขียนหนังสือโดยใช้ภาษาจีนที่ตนเชี่ยวชาญและเผยแพร่งานของตนผ่านการแปล แต่ก็มีไม่น้อยที่ลงมือเขียนด้วยภาษาที่ใช้ในประเทศที่ตนไปพำนักอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ไปจนถึงภาษาดัชท์ (ภาษาฮอลล์แลนด์)

     ทางฝั่งยุโรป กระแสงานเขียนของนักเขียนจีนที่มาแรงอย่างเห็นได้ชัดอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มีนักเขียนจากเมืองจีนหลายคนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับจากนักอ่านอย่างกว้างขวาง และเป็นที่ต้องการถึงกับมีคดีความขึ้นโรงขึ้นศาลกันระหว่างสำนักพิมพ์สองแห่งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์การพิมพ์หนังสือของ ชาน ซา (Shan Sa) นักเขียนหญิงชาวจีนผู้มีผลงานเขียนขายดีอันดับต้นๆผู้เขียนงานเป็นภาษาฝรั่งเศส

     งานเขียนของชาน ซา สามารถข้ามกำแพงความแตกต่างทางวัฒนธรรมสื่อความคิดแบบตะวันออกให้คนตะวันตกซาบซึ้งได้อย่างเรียบง่ายหากลึกซึ้ง จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือเรื่องเด่นของเธอเรื่องหนึ่งคือ ลา ฌูเอิส เดอ โก (La joueuse de Go) เจ้าของรางวัลรางวัลกงกูรท์ เดส์ ลีเซียนส์ (Goncourt des Lycéens) ปี 2001 ซึ่งเป็นเรื่องราวของเด็กหญิงนักเล่นหมากล้อมชาวจีนกับคู่แข่งเป็นชายหนุ่มลึกลับซึ่งความจริงแล้วเป็นทหารญี่ปุ่นที่มาบุกรุกเมืองจีน ได้รับการแปลออกไปหลายภาษารวมทั้งภาษาจีนและไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยเราด้วย

     ส่วนผลการตัดสินคดีข้อขัดแย้งที่กล่าวถึงนั้นทำให้สำนักพิมพ์ที่แพ้คดีต้องเก็บหนังสือที่วางแผงไปแล้วกลับสำนักพิมพ์ไป นับเป็นคดีที่สร้างความฮือฮาให้เมืองน้ำหอมไม่น้อยเมื่อปลายปีที่แล้ว

     นักเขียนจีนอีกคนที่ติดอันดับขายดีและเป็นมือรางวัลในฝรั่งเศสเช่นเดียวกันคือได ซีจือ (Dai Sijie) เจ้าของ ผลงานเรื่องบัลซัค เอท์ ลา เปอติต ตัยเยิส ชินวซ (BALZAC ET LA PETITE TAILLEUSE CHINOISE) (2001) เรื่องราวของเยาวชนในช่วงการปฏิบัติวัฒนธรรมและความผูกพันกับหนังสือของบัลซัค นักเขียนใหญ่ในอดีตของฝรั่งเศส ในปี 2003เขาออกหนังสือเรื่อง เลอ คงเปล๊กซ์ เดอ ดิ (LE COMPLEXE DE DI) มาตอกย้ำความสำเร็จ ด้วยหนังสือสองเล่มนี้กวาดรางวัลจากการประกวดหนังสือชั้นนำในฝรั่งเศสไปหลายรางวัลเลยทีเดียว

     นอกจากเรื่องยอดขายจากกระแสความฮิตแล้ว ด้านความลึกซึ้งในเชิงภาษาและวรรณกรรม นักเขียนจีนก็ได้รับการยกย่องไม่ยิ่งหย่อนกว่าใคร ฟรองซัวส์ เช็ง (François Cheng) หรือ เช็ง เบายี (Cheng Baoyi) นักเขียนเชื้อสายจีนที่อาศัยในฝรั่งเศสและได้รับสัญชาติฝรั่งเศสเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมอันทรงเกียรติเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วให้เป็นสมาชิกในอาคาเดมี ฟรองเซส (Académie française) ซึ่งเป็นองค์กรนักเขียนนักปราชญ์อันเก่าแก่และได้รับความเชื่อถือในระดับชาติ


     ข้ามไปฝั่งอเมริกากันบ้าง

     ณ โลกใหม่ดินแดนแห่งเสรีแห่งนี้ยังคงมนต์ขลังไม่เสื่อมคลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักเขียนจีนที่อพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่นั่นต่างได้เจอประสบการณ์แตกต่างกันออกไป บางคนต้องไปเริ่มต้นชีวิตโดยการส่งของกินตามบ้าน บ้างต้องยังชีพด้วยการรับจ้างเขียนป้ายตัวอักษรจีน หากความฝันแบบอเมริกา (American’s dream) ยังปรากฏให้เห็นเป็นความจริงสำหรับผู้ที่ต่อสู้ชีวิตเสมอ อันฉี-หมิง (Anchee Min) เจ้าของหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติซึ่งขายดิบขายดีในปี 1994 เรื่องเรด อเซเลีย (Red Azalea – อะเซเลียสีแดง ) เคยสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะแห่งหนึ่งในอเมริกาโดยเพื่อนเธอกรอกใบสมัครให้ว่าภาษาอังกฤษดีเยี่ยม และเมื่อถึงเวลาเข้าสอบสัมภาษณ์ ปรากฏว่าเธอพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ทางโรงเรียนก็เลยบอกให้เธอไปพูดภาษาอังกฤษมาให้ได้ก่อน และอีก 6 เดือนให้หลัง อันฉี-หมิงร่ำเรียนฝึกฝนภาษาอังกฤษจนได้เข้าเรียนในโรงเรียนนั้น และอีกไม่กี่ปีต่อมาเธอเขียนหนังสือเป็นภาษาอังกฤษออกขายและเป็นหนังสือที่ติดอันดับขายดี

     ดูเหมือนเรื่องราวประวัติชีวิตของคนจีนจะเป็นที่สนใจของคนอเมริกันมาก ในปี 1998 จี-ลี เจียง (Ji-li Jiang) เจ้าของหนังสือเรื่อง เรด สคาร์ฟ เกิร์ล (Red Scarf Girl) อัตชีวประวัติเรื่องราวชะตาชีวิตของเด็กหญิงจากครอบครัวปัญญาชนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ได้รางวัลหนังสือเด็กยอดเยี่ยมและรางวัลจากผู้ปกครองนักเรียนที่อเมริกา

     ส่วนที่โดดเด่นได้รับการยอมรับเชิงวรรณกรรมระดับประเทศ คือ ฮา จิน (Ha Jin ) อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ตัดสินใจตั้งรกรากในอเมริกาหลังจากดูการถ่ายทอดเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อ 15 ปีก่อน ในช่วงแรกๆขณะที่รอการจ้างงานในมหาวิทยาลัย เขาต้องดิ้นรนไปเป็นยามเฝ้ากลางคืนและกระเป๋ารถเมล์ ต่อมาจึงเริ่มเขียนหนังสือออกมาเป็นภาษาอังกฤษเรื่อยมาจนได้รับรางวัล เนชันแนล บุคส์ อวอร์ด ในปี 1999 จากหนังสือเรื่องเวททิง (Waiting) ซึ่งเล่าถึงความขัดแย้งในจิตใจของคนจีนในช่วงก้าวจากยุคเก่าเข้าสู่การปฏิวัติวัฒธรรม

     ปรากฏการณ์ที่เรื่องจีนๆ ขายดีในหมู่ฝรั่งนั้น คนไทยหลายคนอาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะเป็นธรรมดาที่คนเราเวลาอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวในดินแดนอื่นๆที่ไม่คุ้นเคย ก็มักจะรู้สึกว่าชีวิตแปลกถิ่นที่อ่านอยู่นั้นน่าสนใจ แต่ก็ไม่ควรลืมว่าชีวิตทุกชีวิตที่เจ้าของอาจมองว่าธรรมดาสามัญนั้นล้วนเป็นเรื่องราว “แปลกถิ่น” ของคนในประเทศอื่นๆเช่นกัน ชีวิตไทยๆเราเองก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเฉพาะตัวที่น่าสนใจไม่น้อยกว่าเรื่องจีนๆของนักเขียนเหล่านี้ แล้วทำไมชีวิตไทยๆของเราถึงถูกเก็บนิ่งเฉยไว้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยมีใครคิดเล่าออกไปให้โลกรู้บ้าง ทั้งๆที่เราก็มีสองมือ สองเท้า หนึ่งสมอง กับหนึ่งชีวิต เหมือนเขาไม่มีผิด


ที่มา Website นิตยสาร Time Asia (www.time.com)
ข้อมูลเพิ่มเติม นิตยสาร LIVRESHEBDO (France), //www.nobel.se, //www.academie-francaise.fr,
//www.peopledaily.com.cn, //www.wto.org, //www.chineseculture.net, //www.powells.com/

ข้อมูลอ้างอิงหนังสือที่ได้รับการจัดแปลและพิมพ์ในภาษาไทยแล้วเท่าที่ผู้เรียบเรียงทราบ

-Shanghai Baby (เซี่ยงไฮ้ เบบี้) เขียนโดย เว่ย ฮุ่ย, แปลโดย คำ ผกา , แพรวสำนักพิมพ์, 2546
-La joueuse de Go (หมากรัก หมากชีวิต) เขียนโดย ชาน ซา, แปลโดย อรจิรา, สยามอินเตอร์บุคส์, 2547
-Montagne de l’âme (ขุนเขาแห่งจิตวิญาณ) เขียนโดย เกา สิงเจี้ยง, แปลโดย รำพรรณ รักศรีอักษร, นานมีบุคส์, 2545
-Red Azalea (อะเซเลียสีแดง) เขียนโดย อันฉี หมิง, แปลโดย นารียา, สำนักพิมพ์มติชน, 2546

หมายเหตุ : ผู้รวบเรียงบทความขออภัยหากเอ่ยชื่อของนักเขียนจีนบางท่านผิดเพี้ยนไป ด้วยมิถนัดในภาษานี้และข้อมูลที่ใช้ประกอบการเขียนก็ล้วนแล้วแต่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส ไม่มีตัวอักษรภาษาจีนกำกับให้สามารถสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญได้ ผู้ใดทราบคำอ่านที่จริงแท้ กรุณาแก้ไขผ่าน บ.ก. มาด้วยนะคะ จะได้จดจำไว้เรียกให้ถูกต้องต่อไป ขอบคุณค่ะ






Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2550
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2550 14:34:05 น. 0 comments
Counter : 953 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.