มติชน สุดฯ ฉบับวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2550

ฌอง-มารี เลอ เปน - “ชาวฝรั่งเศส” คนสุดท้าย


     เมื่อมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้จะถึงมือท่านผู้อ่าน เราคงจะได้รู้แล้วว่าในบรรดาผู้ประกาศตัวลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส 2007 ครั้งนี้ มีใครบ้างที่ผ่าน “ด่านขั้นแรก” คือ การรวบรวมลายเซ็นสนับสนุนจากสมาชิกสภาต่างๆ ได้ครบตามกำหนด

     ตามกติกา ผู้สมัครแต่ละคนต้องยื่นรายชื่อผู้สนับสนุนอย่างน้อย 500 คนให้สภารัฐธรรมนูญตรวจสอบคุณสมบัติ ก่อนจะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี และเปิดการรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการ

     ด้วยบารมีจากเครือข่ายในพรรคการเมืองของตน ตัวเก็งที่เป็นตัวแทนพรรคใหญ่ๆ อย่างนางเซโกแลน โรยัล จากพรรคสังคมนิยม และนายนิโกลาส์ ซาโกซี จากอูเอ็มเป พรรคฝ่ายขวาที่กุมเสียงข้างมากในรัฐสภา คงจะลอยฉิวข้ามผ่านด่านแรกนี้แบบสบายๆ ไร้กังวล

     ส่วนนายฟรองซัวส์ ไบรู “มือที่สาม” สังกัดพรรคอูเดเอฟ อันเป็นพรรคสายกลางที่มีขนาดกลางเช่นกันก็น่าจะอาศัยคะแนนความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ตามเก็บลายเซ็นมาครบถ้วนจนได้ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ ก่อนหน้านี้จะยังต้องมีลุ้นกันอยู่บ้าง

     เจ้าของลายเซ็นสนับสนุนดังกล่าวคือใคร

     พวกเขาคือผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนในสภาระดับต่างๆ ตั้งแต่สภาเทศบาลจนถึงสภาสหภาพยุโรปจำนวนรวมทั้งสิ้น 47,289 คน

     การหาเสียงเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการเริ่มเข้มข้นขึ้นทุกที แต่จนถึงบัดนี้ ผู้มีสิทธิลงชื่อสนับสนุนหลายคนยังคงลังเล ไม่ใคร่อยากใช้สิทธิแสดงตนว่าอยู่ฝ่ายไหนอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็น่าเห็นใจ เพราะคงไม่มีใครต้องการเสี่ยงเอาตำแหน่งของตนเข้าแลก หากพลั้งเผลอเดินหมากผิด

     เพราะตัวแทนประชาชนเหล่านี้ ถึงแม้จะมีอิสรเสรีภาพในการเลือกลงชื่อสนับสนุนผู้สมัครคนใดก็ได้ตามแต่ใจปรารถนา แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาจำเป็นต้องเอาตัวรอด ยังคงต้องนึกถึงการรักษาฐานเสียงของตนไว้ คงไม่มีใครอยากทำสิ่งที่อาจจะขัดใจคนที่ลงคะแนนเลือกตน หรือถูกมองว่ามีนอกมีในหรือได้รับสินบนจากพรรคใดพรรคหนึ่งให้เสื่อมเสียชื่อเสียง จนอาจจะต้องเสียเก้าอี้ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

     งานหนักเลยตกอยู่กับตัวแทนจากพรรคเล็กพรรคน้อย ในวินาทีนี้พวกเขาต้องทำทุกวิถีทางเพื่อล่าลายเซ็นสนับสนุนให้ครบ เนื่องจากกำหนดเวลายื่นรายชื่อคืบใกล้เข้ามาทุกที หนำซ้ำสื่อมวลชนต่างๆ ก็ยังไม่ค่อยจะสนใจเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของผู้สมัครรายย่อยเหล่านี้เท่าไรนัก จึงเท่ากับปิดโอกาสโฆษณาตนเองในวงกว้าง บีบบังคับผู้สมัครรับเลือกตั้งเหล่านี้ต้องใช้วิธีออกเดินสายหรือต่อโทรศัพท์ขอลายเซ็นแบบตัวต่อตัว

     ผลก็คือเจ้าของลายเซ็นหลายคนกล้อมแกล้มรับปากไปก่อนด้วยความเกรงใจ แต่จะลงชื่อให้จริงหรือไม่ ยังไม่มีใครรับประกันได้ บางคนทนลูกตื้อจากพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ไหว ตัดรำคาญด้วยการส่งแบบฟอร์มสำหรับลงชื่อสนับสนุนคืนสภารัฐธรรมนูญ พร้อมกับประกาศชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุนผู้สมัครคนไหนทั้งสิ้น

     พอเจอคำสัญญาลมๆ แล้งๆ จับต้องไม่ได้มากๆ เข้า หมากสุดท้ายที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายคนงัดออกมาใช้คือการอ้างว่าตนยังขาดคนสนับสนุนอีกไม่มากนัก ขอให้ผู้มีสิทธิลงชื่อที่ยังไม่ตกลงใจไปกับพรรคไหนได้โปรดเห็นใจให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้เพื่อเห็นแก่ระบอบประชาธิปไตยที่ควรเปิดให้ประชาชนมีตัวเลือกหลากหลาย ทำนองว่าไหนๆ ก็ลงแรงหามาได้ตั้งเยอะแล้ว กรุณาอย่าให้ต้องเสียแรงเปล่าเลย

     มีข้อสงสัยล่องมาลอยๆ ว่าประชาชนไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคำอ้างเรื่องจำนวนผู้สนับสนุนดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ ผู้สมัครบางคนอาจจะมีลายเซ็นครบแล้ว แต่ยังเอ่ยขออีกเพราะอยากจะสกัดกั้นไม่ให้ผู้สมัครคนอื่นได้รับลายเซ็นเพิ่ม

     อย่างไรก็ตาม วิธีการขอความเห็นใจแบบนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าใช้กับชาวฝรั่งเศสได้ผล สามารถช่วยเรียกคะแนนสงสารให้กับผู้สมัครมือรองบ่อนได้ไม่น้อย แม้แต่ผู้สมัครที่ขึ้นชื่อเลื่องลือว่าแข็งสุดขั้วอย่างเช่นนายฌอง-มารี เลอ เปน จากพรรคขวาติดขอบ ฟรงต์ นาซิยงนาล (Front National – FN) ยังต้องกลับมาสวมบทบาท “เหยื่อ” ผู้อ่อนแอที่ถูกระบบพรรคการเมืองใหญ่สองพรรครังแกปิดกั้นโอกาสลงสนามแข่ง ... อีกครั้ง


     อีกครั้ง เพราะเขาเคยใช้กลยุทธ์ทำคะแนนสงสารแบบนี้มาแล้วในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อน เมื่อปี ค.ศ. 2002 และประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย สามารถพลิกโพลล์เลือกตั้งทั้งหลาย ฝ่าด่านการเลือกตั้งรอบแรกไปชิงชัยแบบตัวต่อตัวกับประธานาธิบดีฌาร์ค ชีรัค ในการเลือกตั้งรอบที่สองภายใต้ความงุนงงแกมหวาดหวั่นของชาวฝรั่งเศส

     นายฌอง-มารี เลอ เปน หรือ ฌอง มารี หลุยส์ เลอ เปน (Jean Marie Louis Le Pen) เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ.1928 ที่เมืองลา ตรินิเต-ซุร์-แมร์ ในแคว้นเบรตาญทางตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส พ่อของเขาเป็นเจ้าของเรือประมงที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ส่วนแม่เป็นช่างเสื้อลูกสาวชาวบ้าน เมื่อปี ค.ศ. 1945 พ่อของเขาเสียชีวิตจากกับระเบิดที่คาดว่าเป็นของพวกเยอรมันซึ่งติดแหขึ้นมา เขาเลยได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐในฐานะเด็กกำพร้าที่พ่อเสียชีวิตเพื่อชาติ

     เด็กชายฌอง เลอ เปน มีรูปร่างใหญ่โตมาตั้งแต่กำเนิด เขามีนิสัยห้าวหาญชอบเป็นหัวโจกนำกลุ่มเพื่อนๆ ทำเรื่องซุกซน ถูกไล่ออกจากโรงเรียนหลายแห่ง แต่สุดท้ายก็เจอโรงเรียนที่สามารถกล่อมเกลาให้เขาสามารถเข้าเรียนต่อวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยที่ปารีสได้

     เขาเริ่มสนใจการเมืองขณะเรียนมหาวิทยาลัยนี่เอง โดยสมัครเป็นสมาชิกขององค์กรนักศึกษาหรือคอร์โป (Corpo) นิยมขวาที่มีจุดมุ่งหมายหลักคือการต่อต้านพวก “สีแดง” หรือคอมมิวนิสต์ ต่อมาไม่นาน ด้วยรูปร่างใหญ่โต อุปนิสัยชอบความโดดเด่นทะเยอทะยาน ในที่สุดก็ได้รับเลือกเป็นประธานองค์กร

     ฌอง เลอ เปน เปลี่ยนชื่อเป็น ฌอง-มารี เลอ เปน ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการเมืองใหม่ๆ ด้วยความเชื่อว่าจะช่วยดึงดูดคะแนนเสียงจากพวกคนนับถือศาสนาคริสต์เคร่งๆ ได้ เขาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อายุน้อยที่สุดในปี ค.ศ.1956 ด้วยวัยเพียง 27 ปี ขณะนั้นเขาสังกัดพรรคอูเอฟเฟอ (Union et fraternité française -UFF) ก่อนจะออกมาและกลายเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรคฟรงต์ นาซิยงนาล (Front National – FN) ในปี ค.ศ.1972 และดำรงตำแหน่งประธานพรรคเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

     ด้วยวัย 79 ปี นายฌอง-มารี เลอ เปน เป็นผู้มีอาวุโสที่สุดในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งครั้งนี้ และยังเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ชาวฝรั่งเศสรู้จักมากที่สุด เพราะเคยลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้วถึง 4 ครั้ง แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกๆ เขาจะถูกมองว่าเป็นไม้ประดับ แต่คะแนนที่ได้จากการเลือกตั้งก็เพิ่มสูงขึ้นทุกครั้ง จาก 0.74% ในครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1974 เป็น 14.38 % (1988) 15 % (1995) และ 17 .94% (2002) แสดงให้เห็นว่ามีผู้นิยมนโยบายชาตินิยมสุดโต่งของเขาเพิ่มขึ้นทุกที

     สำหรับในการเลือกตั้งปีนี้ ไม่ว่าจะเคยถูกเปรียบเทียบว่าเป็นเผด็จการชาตินิยมแบบอะดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือเป็นคนอันตรายเหยียดสีผิวเกลียดคนต่างเชื้อชาติ แต่คะแนนเสียงของนายฌอง-มารี เลอ เปนไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์อีกต่อไป ไม่ว่าบทบาทเหยื่อผู้น่าสงสารที่เขากำลังเล่นอยู่จะเป็นความจริงหรือไม่ จากการหยั่งเสียง ชาวฝรั่งเศสร้อยละ 62 คิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ หากเขาไม่ได้เข้าสู่การแข่งขันเพราะไม่มีลายเซ็นรับรองครบตามกำหนด

     ล่าสุด มีข่าวว่านายนิโกลาส์ ซาร์โกซี ผู้สมัครจากพรรคใหญ่ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิลงชื่อสนับสนุนนายฌอง มารี เลอ เปน โดยกล่าวว่าถึงตนเองจะไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของเลอ เปน แต่เขาก็ยังต้องการให้ผู้สมัครจากพรรคขวาจัดคนนี้เข้าสู่สนามการแข่งขัน

     ตอนที่ได้รู้ข่าวนี้ครั้งแรก ฉันแอบชื่นชมอยู่ในใจด้วยความไร้เดียงสาว่านักการเมืองฝรั่งเศสช่างแสนดี ยึดปฏิบัติตามหลักประชาธิปไตย ช่างมีน้ำใจ เคารพรักษาความหลากหลายทางความคิดเสียจริงๆ ไม่เหมือนกับ เอ่อ... ช่างเถอะ

     แต่ไม่นานนัก สื่อมวลชนของฝรั่งเศสก็เฉลยว่า ความจริงแล้วที่ซาร์โกซีออกมาทำอย่างนั้น เจตนาที่อาจจะแอบแฝงอยู่คือการฉวยโอกาสเจาะคะแนนจากฐานเสียงที่เคยเลือกนายฌอง-มารี เลอ เปน ในการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ให้มาอยู่ฝ่ายเขาในการเลือกตั้งรอบที่สองต่างหาก

     ครั้งหน้าจะถึงคราวของผู้สมัครจากพรรคเล็กพรรคน้อยที่ดิ้นรนหาลายเซ็นสนับสนุนครบจนผ่านด่านแรกมาจนได้ โดยจะบรรเลงแบบรวมมิตร

     ใครเป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงหาญลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งใหญ่ กล้าชนกับช้างสารในครั้งนี้

     โปรดติดตามในครั้งหน้าค่ะ







Create Date : 16 เมษายน 2550
Last Update : 16 เมษายน 2550 2:13:22 น. 0 comments
Counter : 793 Pageviews.

Mutation
Location :
somewhere in Hong Kong SAR

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ฉั น คื อ ใ ค ร

     สาวพฤษภชาวแกลงแห่งเมืองระยอง ลอยละล่องเรื่อยไปจนปาเข้าสามสิบ กว่าจะได้พบอาชีพที่ต้องจริตจนคิดตั้งตัวเป็นนักแปลรับจ้างเร่ร่อนไร้สังกัด ปัจจุบันเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อ "กำมะหยี่"

     จุดหมายในชีวิต หลังจากผันผ่านคืนวันมาหลายปีดีดัก ขอพักไม่หวังทำอะไรใหญ่โต ขอเพียงมีชีวิตสุขสงบ ได้ทำสิ่งที่ดีๆ ทำตามหน้าที่ของตนในทุกด้านอย่างดีที่สุด แค่นั้นพอ

      ฉันมีหวานใจ- สามี - สุดที่รักแสนดีชาวฝรั่งเศส แถมเรือพ่วงสองลำเล็กๆ ตอนนี้มาใช้ชีวิตกันอยู่ที่ฮ่องกง



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Mutation's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.