Group Blog
 
 
ธันวาคม 2560
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
22 ธันวาคม 2560
 
All Blogs
 
รางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี



22 ธันวาคม 2560




 






ผมมีโอกาสได้ไปร่วมงาน การประกาศและพิธีมอบรางวัล การประกวดวรรณกรรมรางวัล “วรรณศิลป์อุชเชนี” ในหัวข้อ “มิ่งมิตร” ครั้งที่ 1 ประจำปี พ.ศ. 2560 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560 ณ ห้งอโนมาแกรนด์ ชั้น 3 โรงแรมอโนมาแกรด์กรุงเทพ ซึ่งมีรายละเอียดของงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวรรณกรรมบ้านเรา ผมจึงขอนำเสนอให้ท่านที่สนใจได้รับทราบดังนี้

(รายละเอียดจากการพูดคุยและเสวนา ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด หรือคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ผมก็ต้องขออภัยมา ณโอกาสนี้ด้วยครับ ขอบคุณมากครับ)





 






คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล ศิลปินนักเขียน กล่าวความรู้สึกถึงอุชเชนี

-เช้าวันนี้ผมตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเดินทางจากต่างจังหวัดมางานนี้ ตอนที่อยู่บนเครื่องบินผมมองออกไปนอกหน้าต่างเห็นขอบฟ้าขลิบทอง จึงถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เป็นปีที่เรืองรองสำหรับงานประกวดฯ ในครั้งนี้

-อุชเชนี เป็นบุคคลที่มีบุญคุโณปการต่อชีวิตผมมาก เป็นประจำทุกปีในช่วงใกล้เทศกาลคริสต์มาสผมจะสงการ์ดอวยพรให้อาจารย์ โดยบางปีผมก็วาดรูปส่งให้ท่าน

-กว่า 30 ปีมาแล้วที่ผมทำนิตยสาร “สู่ขวัญ” ซึ่งเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับบทกวี อาจารย์อุชเชนีก็อยู่เบื้องหลังการทำงานของผมมาโดยตลอด ทั้งให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำ รวมทั้งอนุญาตให้ผมนำบทกวีของท่านมาลงในนิตยสารดังกล่าวด้วย

-บทกวีของอาจารย์อุชเชนีนั้นเป็นบทกวีในเชิงอุดมคติ ที่มีความประทับใจในความเป็นมนุษย์นิยมอยู่เสมอ เป็นงานเขียนที่มีพลัง ที่อาจเรียกได้ว่า “ในพจน์มีภาพ (พจน์ คือ คำพูด,ถ้อยคำ) ในภาพมีเพลง ในเพลงมีฝัน” เป็นงานเขียนที่มีความโรแมนติค แต่ก็มีเมตตาธรรมแฝงรวมอยู่ด้วย

-อุชเชนีถือได้ว่า เป็นมหากวีผู้ยิ่งใหญ่ผู้มีขุมทรัพย์แห่งคำคลังในการประพันธ์

-บทกวี “ขอบฟ้าขลิบทอง” อ่านแล้วเกิความฝันอยากเป็นกวี ถ้อยคำของอุชเชนีมีพลัง , มีแรงบันดาลใจ และมีแรงผลักดัน ทำให้ผู้อ่านอยากเขียนบทกวีที่งดงามแบบอุชเชนี

-อาจารย์อุชเชนีที่ผมรู้จักเป็นคนที่มีเมตตามาก ท่านมีจิตใจที่อ่อนโยน พร้อมช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เหมือนกับงานของท่าน ที่แม้จะเป็นงานเชิงอุดมคติแต่ก็มีความจริงแฝงอยู่ มีภาพชีวิตให้เห็นอยู่ด้วย





 






การเสวนา “รางวัลวรรณกรรมวรรณศิลป์อุชเชนี กับสังคมไทย”

ผู้ร่วมสัมนา อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ , อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง และบาทหลวงอนุชา ไชยเดช ดำเนินรายการโดย คุณณรงค์ฤทธิ์ ยงจินดา (ปะการัง)


@@@@@@@@@@


พิธีกร (ปะการัง) ถามว่าแต่ละท่านรู้สึกอย่างไรกับภาพรวมของการประกวดฯ ในครั้งนี้

อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกรรมการตัดสินประเภทกลอนสุภาพ ตอบว่า

-มีคำกล่าวว่า บทกวีเป็นมงกุฎของวรรณกรรม เป็นการเจียระไนถ้อยคำออกมาเหมือนการทำเพชรพลอย จึงมีความไพเราะ มีจังหวะจะโคน และมีสัมผัส

-น่าเสียดายที่ยุคสมัยนี้บทกวีไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควร อาจพูดได้ว่ายังไม่เจิดจรัสเท่าที่ควร หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นยุค “กวีฤาแล้งแหล่งสยาม” ใช่หรือไม่? อย่างเช่นในวาระสำคัญที่ผ่านมา (งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ) สังคมไทยควรจะต้องมีบทกวีที่เฉิดฉาย มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีความลึกซึ้งกินใจ แต่เท่าที่ผ่านมาแทบไม่มีบทกวีในลักษณะดังกล่าวเลย

-ในปัจจุบันงานวรรณกรรมมักจะถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีใหม่ จึงเหมือนกับว่าพื้นที่สำหรับงานวรรณกรรมนั้นลดน้อยลง ดังนั้นเวทีประกวดจึงถือเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับงานวรรณกรรมที่จะแจ้งเกิดนักเขียนหน้าใหม่ จึงเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้คนส่งผลลงานวรรณกรรมเข้ามาประกวดเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายคนสามารถแจ้งเกิดได้จากเวทีประกวดเหล่านี้

-งานของอุชเชนีถือว่าเป็นวรรณกรรมที่สูงส่ง ท่านเป็นเอกอุกวี ที่นักกวีรุ่นใหม่ยังไม่สามารถสร้างสรค์งานได้เทียบเท่า งานของอุชเชนีจึงถือว่าเป็นบรรทัดฐานที่นักกวีรุ่นใหม่จะต้องทาบเทียบให้ได้ โดยเฉพาะบทกวี “ขอบฟ้าขลิบทอง” บทเดียวนี้ถือว่าเป็นธงนำแก่กวีในยุคสมัยนี้

-บทกวีของอุชเชนีมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ 1.คำกวี 2.โวหารกวี 3.จิตวิญญาณกวี


อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง ประธานกรรมการตัดสินประเภทความเรียง ตอบในประเด็นภาพรวมว่า

-ในการประกวดประเภทความเรียงนี้ยังเป็นของใหม่สำหรับคนในสังคมบ้านเรา ที่ต้องทำความเข้าใจว่า “ความเรียง” นั้นแตกต่างจาก “เรียงความ” โดยเฉพาะในระดับนักเรียนนั้นผลงานที่ส่งมาส่วนใหญ่จะเป็นเรียงความทั้งหมด ซี่งผิดกติกาเนื่องจากครั้งนี้เป็นการประกวดความเรียง

-ถ้าจะให้ความแตกต่างเบื้องต้นก็ตือ การเขียน “เรียงความ” คือการตั้งหัวข้อขึ้นมาแล้วหาเนื้อหามาสนับสนุนหัวข้อนั้น แต่การเขียน “ความเรียง” คือการเขียนเรื่องในลักษณะการเล่าเรื่องราวที่มีประเด็นชัดเจน อาจจะมีลักษณะคล้ายเรื่องสั้นก็ได้ คือมีตัวละครได้ มีการกระทำได้ มีภาพให้เห็นได้ ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือต้องเขียนด้วยภาษาที่งดงาม จึงทำให้เกิดข้อเท็จจริงที่ว่า “เรียงความอ่านแล้วไม่สนุก แต่ความเรียงอ่านแล้วประทับใจ”

-ถ้าจะยกตัวอย่างความเรียงที่ควรจะอ่านเพื่อความเข้าใจนั้น อยากจะให้อ่านความเรียงเรื่อง “เพียงแค่เม็ดทราย” ของอุชเชนี ซึ่งเป็นความเรียงที่มีความไพเราะมาก มีความงดงามทางภาษา และมีแนวคิดในเรื่องที่ชัดเจนมาก เป็นงานวรรณกรรมอันงดงามซึ่งแฝงไว้ด้วยความเห็นใจแก่เพื่อนมนุษย์


บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ผู้อำนวยการสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย เจ้าภาพของการประกวดในครั้งนี้ตอบความเห็นในภาพรวมของงานว่า

-จริงๆ แล้วในตอนแรกก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเป็นองค์กรทางศาสนาแล้วมายุ่งเกี่ยวอะไรกับวรรณกรรม? แล้วก็ได้ให้คำตอบแก่ตัวเองว่า เราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม งานวรรณกรรมนั้นสะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างดียิ่ง ดังนั้นถ้ามีการเวทีการประกวดวรรณกรรมแบบนี้เยอะๆ ก็คงดี สังคมไทยก็คงจะดีขึ้นด้วย เพราะว่าการจัดประกวดวรรณกรรมในแต่ละครั้งนั้นต้องมีความร่วมมือกันหลายฝ่าย

-ในการทำงานรวมกันในครั้งนี้เกิดความอัศจรรย์ใจขึ้นเมื่อได้เห็นภาพของนักคิดนักเขียนที่ลุกขึ้นอภิปายถึงผลงานเขียนที่ส่งเข้ามาประกวด โดยแต่ละท่านต่างให้เหตุผลของตัวเองที่เลือกผลงานชิ้นใด แต่ก็รับฟังเหตุผลของผู้อื่นในการเลือผลงานชิ้นอื่นด้วย ถือเป็นการระดมสมองด้วยเหตุผลที่หนักแน่นอย่างแท้จริง


@@@@@@@@@@


คุณปะการังเปิดประเด็นว่า ปัจจุบันนี้แวดวงหนังสือถือว่าอยู่ในช่วงขาลง จึงอยากจะทราบว่าการประกวดเวทีต่างๆ จะช่วยส่งเสริมวงการวรรณกรรมมากขึ้นไหม? หรือว่าจะทำหนักเขียนติดกับดักทางรางวัล ติดดับดักการประกวดด้วยไหม?

อาจารย์เนาวรัตน์ ให้ความเห็นว่า

-นักเขียนทุกคนต้องการเวทีการแจ้งเกิด จนทำให้บางคนทุ่มเทไปกับการประกวดอย่างหัวปักหัวปำ ทำให้เกิดกิเลสทางวรรณกรรม นักเขียนเกิดกิเลสอยากชนะเลิศการประกวด สำนักพิมพ์เกิดกิเลสอยากจะจัดพิมพ์แต่งานที่ชนะการประกวด จนบางสำนักพิมพ์ถึงกับทุ่มเงินจัดการประกวดเองเลย คนอ่านก็เลยเกิดกิเลสอากจะอ่านแต่ผลงานที่ได้รับรางวัลเช่นกัน จนทำให้เกิดน้ำเน่าเขาวงกตทางวรรณกรรมขึ้นมา

-แต่ข้อดีของการประกวดวรรณกรรมก็มี คือได้คัดสรรผลงานที่ดีจริงๆ ออกสู่สังคม ถือว่าเป็นนิมิตรหมายใหม่ในวงการวรรณกรรมที่นักเขียนจะต้องสร้างผลงานที่ดีและเป็นที่สนใจสำหรับผู้อ่านด้วย เพราะว่าวงการวรรณกรรมบ้านเรายังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ยังมีความอิหลักอิเหลื่อที่ไม่ชัดเจนอยู่เยอะ

-ถามว่าการประกวดจะสามารถก้าวข้ามกับดักทางวรรณกรรมไปได้ไหม? ต้องตอบว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องเร่งส่งเสริมความรู้ทางการประพันธ์ไปควบคู่กับการประกวดด้วย อย่างเช่นการสร้างค่ายนักเขียนขึ้นมา โดยให้ความรู้ทางด้านการเขียนสำหรับต่อยอดไปสู่การประกวดงานวรรณกรรมในอนาคต


อาจารย์ชมัยภร ให้ความเห็นว่า

-อาจารย์ชมัยภรเล่าถึงการได้นำทีมจากสมาคมนักเขียนฯ ไปสอนการเขียนให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ ที่ทัณฑสถานหญิงที่สีคิ้ว ที่จองจำนักโทษคดีหนัก เข้าไปสอนด้วยแนวคิดที่ว่า จะเอางานเขียนเข้าไปเยียวยาให้แก่เขา เพื่อให้เขาได้เขียนแสดงความคิดเห็นออกมา เขียนเพื่อระบายความอัดอั้นตันใจออกมา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับพวกเขา

-ในการที่ได้เข้าสอนการเขียนที่ทัณฑสถานหญิงที่สีคิ้ว มีผู้เข้ารับการอบรม 40 คน โดยในการประกวดรางวัลวรรณศิลป์อุชเชนีนี้มีผลงานจากในที่แห่งนี้ส่งเข้ามา 17 ชิ้น ในแง่ของการเรียนการสอนถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

-สำหรับผลงานที่ชนะเลิศประเภทความเรียงในการประกวดปีนี้ เป็นผลงานของลูกศิษย์ซึ่งอยู่ในแดนกักขัง ที่ครั้งหนึ่งอาจารย์ชมัยภรเคยคัดเลือกเรื่องสั้นของเธอลงในนิยตสรสกุลไทยมาแล้ว

-สำหรับคำว่ากิเลสในการประกวดครั้งนี้ก็คือเงินรางวัลนั้นเอง ถือว่าเป็นการประกวดวรรณกรรมที่ให้เงินรางวัลเยอะมากเวทีหนึ่งเลย ชนะเลิศได้เงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลชมเชยได้เงินรางวัล 10,000 บาท ถือว่ารางวัลชมเชยคือรางวัลรองชนะเลิศได้เลย


บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ให้ความเห็นว่า

-สำหรับการประกวดฯ ในครั้งนี้ ใครได้เงินรางวัลก็ขอแสดงความยินดีด้วย ส่วนใครที่ผลงานยังไม่ผ่านเกณฑ์ก็ขอให้เขียนต่อไป การประกวดหรือเงินรางวัลคุณพ่ออนุชามองว่าเหมือนเราเดินผ่านไปเจอสวนสวยๆ ที่อยู่ข้างทาง บางคนสนใจก็แวะเข้าไปชม บางคนไม่สนใจหรือไม่มีเวลาก็อาจจะผ่านเลยไปก็ได้ สำหรับคนที่แวะเข้าไปในสวนอาจจะได้เด็ดดอกไม้งามที่ตัวเองต้องการก็ได้ หรืออาจจะไม่ได้เด็ดดอกไม้ในสวนนี้เลยก็ไม่เป็นไร เพราะว่าตามรายทางข้างหน้ายังคงมีสวนดอกไม้ให้แวะชมอีกเยอะ

-คุณพ่ออนุชาเชื่อว่าแต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง เราต้องพยายามพัฒนาการทำหน้าที่ของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อะไรในหน้าที่เราทำได้ไม่ดีก็ควรหยุดเพื่อคิดสักนิด เพื่อแก้ไขและปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไป


@@@@@@@@@@


คุณปะการัง ถามคำถามต่อว่า ในตอนที่คณะทำงานคิดจัดตั้งรางวัลนี้ขึ้นมานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องไปศึกษางานของอุชเชนีด้วย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รู้จักชีวิตอุชเชนี ในประเด็นนี้ถือว่าทำได้สำเร็จหรือไม่?

บาทหลวงอนุชา ไชยเดช ให้ความเห็นว่า

-ส่วนตัวคิดว่าประสบความสำเร็จ เชื่อว่าผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกคนต้องทำการบ้าน โดยการไปหาผลงานของอุชเชนีมาอ่านก่อนแน่ๆ ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ต่างจากการประกวดอื่นๆ คือ กวีต้องเขียนกวีด้วยชีวิตแบบอุชเชนี และกวีต้องใช้ชีวิตที่สวยงามแบบอุชเชนีด้วย

-ส่วนตัวคิดว่าเวลาที่เราเห็นอะไรที่ดีๆ เราก็อยากบอกต่อให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย การประกวดในครั้งนี้คือการบอกต่อให้ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกท่านเข้าไปอ่านงานของอุชเชนี บางคนอาจไม่เคยอ่านงานของอุชเชนีเลย แต่พอได้อ่านแล้วเกิดพลัง เกิดอยากทำความดี เกิดอยากจะเขียนบทกวีที่ดีๆ ขึ้นมาบ้าง


อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ให้ความเห็นว่า

-ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทุกคนควรจะต้องอ่านผลงานของอุชเชนี ซึ่งมีทั้งสัมผัสนอก สัมผัสใน และสัมผัสใจด้วย อ่านแล้วทบทวนเพื่อเอาเป็นแบบอย่าง เพื่อให้เขียนได้เหมือนที่อุชเชนีเขียน

-อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า งานของอุชเชนีนั้นมีองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1.มีคำกวี 2.มีโวหารกวี (โวหารคือ ชั้นเชิงหรือสำนวนแต่งหนังสือ) 3.มีจิตวิญญาณกวี

-คำกวีที่พูดถึงนี้ ขอยกตัวอย่างจากบทกวี “ขอบฟ้าขลิบทอง” จะเห็นได้ว่ามีคำกวีอยู่หลายคำ เช่นคำว่า “เกลาทางกู้” คำนี้กวีเท่านั้นที่ใช้ได้ , คำว่า “เกี่ยวโลมเรียวข้าว” ไม่ใช่คำที่ใช้กันทั่วไป แต่กวีใช้เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตาม ฯลฯ


อาจารย์ชมัยภร ให้ความเห็นว่า

-อยากจะแนะนำผู้จัดว่า อยากจะให้จัดงานทั้งวันเพื่อให้มีเวลาพูดถึงงานของอุชเชนีได้มากกว่านี้ อาจจะจัดในงานสัปดาห์หนังสือฯ ก็ได้ โดยช่วงเช้าอยากให้จัดเป็นการอ่านงานของอุชเชนี โดยมีการอ่านออกเสียงเพื่อให้ได้ยินความงดงามของคำ มีการเสวนาถึงงานเขียนของอุชเชนี แล้วภาคบ่ายค่อยมีพิธีแจกรางวัลฯ ประมาณนี้น่าจะได้ทราบซึ้งถึงผลงานของอุชเชนีมากขึ้น


@@@@@@@@@@


ท้ายสุดคุณปะการังถามคุณพ่ออนุชาว่า ปีหน้าจะมีงานนี้อีกไหม?

บาทหลวงอนุชา บอกว่า ต้องยอมรับว่าเหนื่อยสำหรับงานประกวดฯ ในครั้งนี้ แต่ไม่กล้ารับปากว่าปีหน้าจะมีงานอีกหรือไม่? เพราะว่างานนี้จัดขึ้นได้ด้วยวามร่วมมือกันหลายฝ่าย ทั้งสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย , สภาการศึกษาคาทอลิก , คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร , กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ดังนั้นการจัดงานที่เป็นความร่วมมือกันหลายฝ่ายแบบนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือและการผลักดันอย่างต่อเนื่อง

-ในปีหน้าคุณพ่ออนุชาจะพยายามทำให้มีต่อเนื่อง แต่อาจปรับในเรื่องของระยะเวลาให้ร่นขึ้นมาหน่อย เพราะว่างานปีนี้มาสิ้นสุดจนเกือบถึงคริสต์มาสแล้ว ซึ่งแต่ละหน่วยงานอาจจะติดภารกิจสำคัญ จึงอยากจัดงานให้ระยะเวลาเสร็จสิ้นเร็วขึ้น อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ที่สนใจโปรดติดตมข่าวในลำดับต่อไป


@@@@@@@@@@@

ท้ายสุดจริงๆ คุณปะการังปิดการเสวนาด้วยถ้อยคำอมตะของอุชเชนีที่บอกว่า ....

“ที่ใดมีชีวิต ที่นั้นมีความหวัง”

อุชเชนี กวีเพื่อเพื่อนมุษย์





 








@@@@@@@@@@@


บทกวี "ขอบฟ้าขลิบทอง"
(๒๔๙๕) โดย ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา

          มิ่งมิตร                                     เธอมีสิทธิ์ที่จะล่องแม่น้ำรื่น
ที่จะบุกดงดำกลางค่ำคืน                         ที่จะชื่นใจหลายกับสายลม

          ที่จะร่ำเพลงเกี่ยวโลมเรียวข้าว        ที่จะยิ้มกับดาวพราวผสม
ที่จะเหม่อมองหญ้าน้ำตาพรม                   ที่จะขมขื่นลึกโลกหมึกมน

          ที่จะแล่นเริงเล่นเช่นหงส์ร่อน          ที่จะถอนใจทอดกับยอดสน
ที่จะหว่านสุขไว้กลางใจคน                      ที่จะทนทุกข์เข้มเต็มหัวใจ

          ที่จะเกลาทางกู้สู่คนยาก               ที่จะจากผมนิ่มปิ้มเส้นไหม
ที่จะหาญผสานท้านัยน์ตาใคร                  ที่จะให้สิ่งสิ้นเธอจินต์จง

          ที่จะอยู่เพื่อคนที่เธอรัก                 ที่จะหักพาลแพรกแหลกเป็นผง
ที่จะมุ่งจุดหมายปรายทะนง                      ที่จะคงธรรมเที่ยงเคียงโลกา

      เพื่อโค้งเคียวเรียวเดือนและเพื่อนโพ้น   เพื่อไผ่โอนพริ้วพ้อล้อภูผา
เพื่อเรืองข้าวพราวแพร้วทั่วแนวนา              เพื่อขอบฟ้าขลิบทองรองอรุณ





@@@@@@@@@@@@





Create Date : 22 ธันวาคม 2560
Last Update : 24 ธันวาคม 2560 15:33:50 น. 32 comments
Counter : 2416 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณหอมกร, คุณบาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน, คุณไวน์กับสายน้ำ, คุณnewyorknurse, คุณกะว่าก๋า, คุณtoor36, คุณtuk-tuk@korat, คุณTui Laksi, คุณmastana, คุณkae+aoe, คุณRinsa Yoyolive, คุณอาจารย์สุวิมล, คุณสองแผ่นดิน, คุณอุ้มสี, คุณInsignia_Museum, คุณSweet_pills, คุณเนินน้ำ, คุณชีริว, คุณThe Kop Civil, คุณhaiku, คุณMrTreeT-28, คุณLikLi Sympathy, คุณสายหมอกและก้อนเมฆ, คุณโอพีย์, คุณruennara, คุณซองขาวเบอร์ 9, คุณlovereason


 

อาคุงกล่อง Literature Blog ดู Blog


แวะมาโหวตให้คุณต่อจ้า



โดย: หอมกร วันที่: 22 ธันวาคม 2560 เวลา:15:04:49 น.  

 
คุณกล่องจดเลคเชอร์ได้ละเอียดดีเลยค่ะ

นักเขียนทุกคนต้องการเวทีการแจ้งเกิด จนทำให้บางคนทุ่มเทไปกับการประกวดอย่างหัวปักหัวปำ ทำให้เกิดกิเลสทางวรรณกรรม นั่นสินะคะ การให้รางวัลถือว่าเป็นเรื่องดีเป็นกำลังใจนะคะ ได้มีผลงานดีๆ ต่อไป

ปล.คิดถึงนะคะ


โดย: kae+aoe วันที่: 22 ธันวาคม 2560 เวลา:16:39:32 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคะแนนโหวตครับพี่อาคุงกล่อง

ผมไม่ทันได้อ่านงานของท่านครับพี่
งานของอาจารย์เนาวรัตน์ผมยังพอทันได้อ่าน
ชอบคำที่ท่านกล่าวว่า


บทกวีที่ดีต้องมีสัมผัสนอก สัมผัสใน และสัมผัสใจ

ขอบคุณพี่อาคุงด้วยนะครับ
ที่เรียบเรียงบทความดีดีมาให้ได้อ่านกัน
แสดงว่าพี่ตั้งใจฟัง ตั้งใจจดมากเลยครับ





ปล. เห็นด้วยกับเม้นท์ของพี่ที่บล้อกผมครับ



โดย: กะว่าก๋า วันที่: 22 ธันวาคม 2560 เวลา:19:06:23 น.  

 
ขอบคุณที่แวะไปชมดอกไม้นะคะ

เรื่องราวที่นี่น่าสนใจมาก
ไว้กลับมาอ่านตอนกลางวันค่ะ

อากาศเย็น รักษาสุขภาพด้วยนะคะ



โดย: ภาวิดา (คนบ้านป่า ) วันที่: 22 ธันวาคม 2560 เวลา:20:38:33 น.  

 
คุณกล่องเก็บรายละเอียดได้เยอะมากๆเลยค่


โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน วันที่: 22 ธันวาคม 2560 เวลา:22:07:22 น.  

 
คุณกล่อง เก่งจัง จดเล็คเชอร์ได้.. คงชินจาก มหาลัยมา..

ผมระยะหลัง ลายมือเต็มทน.. ข้ามคืนยังอ่านของตัวเองเขียนไมา
ออกเลย555

ไปแบบนี้ผมมักจะนั่งใกล้ลำโพง.. บันทึกเสียงเอาครับจากมือถือ
แต่ไม่ค่อยทำเท่าใด... ส่วนมากจะเน้น ที่วิทยากรพูด จับใจ
ความเอา..

....

คุณกล่องโชคดีจัง ได้ไปพบไปฟัง นักเขียน กวี ด้วยตนเอง
เลยได้ความรู้มากมาย.. จากแนวคิด การเตรียมการเขียน
อาจจะได้ ทริค จากท่านเหล่านั้น.. งั้นผมโหวตให้ครับ


....

จากบล๊อกของผม จอแบนที่ใช้โซนี่ .... ผมใช้มาตั้งแต่จอสี
เล็กโซนี่ เลือนมา 19 นิ้วอีก 2 เครื่อง(จอแก้ว)

พอมันเสีย เลยเข้าดูในเวฟต่าง ๆ เลยรู้ว่า ปัจจุบันรับประกัน
สั้นมากเพียง 1 ปี 3 เดือน เกือบทุกยี่ห้อ..เท่ากับอายุการ
ใช้งานส้้นมาก..

พลาสม่าไม่ได้ใช้ ผมใช้ led เหนือกว่า lcd นิดหน่อย
สีจะสวยกว่า การยิงแสงแบบ lcd ครับ.. แต่ทั้งสองอายุ
การใช้สั้นจริง ๆ เซ็งครับ


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:5:07:05 น.  

 
สวัสดีค่ะ
คุณน้องอาคุงกล่อง จดรายละเอียดครบถ้วนเลย

ขอบคุณที่แวะไปที่บล็อกค่ะ
หน้าหนาวรถใหญ๋ๆ บางทีเอาโซ่คล้องล้อรถจะได้ขับ
ถนนที่มีหิมะ สะดวก และไม่ลืน ช่วยให้ปลอดภัยขี้นค่ะ


โดย: newyorknurse วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:5:50:05 น.  

 



สวัสดีครับพี่อาคุง

โหวตครับพี่


โดย: กะว่าก๋า วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:6:31:47 น.  

 
คนสนใจเรื่องบทกวีน้อย แสดงให้เห็นถึงสภาพบ้านเมือง ซึ่งคนจะมุ่งไปที่เรื่องปากท้องก่อน แต่ก็ปฏิเศธไม่ได้หรอกว่าปัจจุบันต่อให้สภาพบ้านเมืองดีคนก็สนใจพวกบทกวีน้อยลง

หลายๆ อย่างมันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียครับ

จากบล็อก
เรื่อง KPI ผมเห็นหลายที่พังมาเยอะแล้วเหมือนกัน


โดย: คุณต่อ (toor36 ) วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:7:52:46 น.  

 
ขอให้จัดต่อ ๆ ไปได้ค่ะ
เพราะมีคนสนใจด้านนี้อยู่ไม่น้อย จะได้มีเวทีแห่งกำลังใจค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:8:29:11 น.  

 
สวัสดีคะคุณอาคุงกล่อง
อ่านแล้วชื่นชม จขบ.เลย ให้รายละเอียดเป็นความรู้ดีมาก
แม้งานแบบนี้เราไม่ค่อยได้เข้าถึงสักเท่ารัย
แต่ได้มาอ่านบล๊อกนี้ ได้เห็นถึงศักยภาพและคุณค่าของนักกวีไทยบรมครูหลายท่าน
ขอบคุณมากๆคะ


โดย: Tui Laksi วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:8:30:45 น.  

 
ขอบคุณที่นำเรื่องราวน่าสนใจมาแบ่งปันค่ะ


โดย: Gorjai Writer วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:9:34:55 น.  

 
สวัสดีค่ะอาคุงกล่อง ไปงานมอบรางวัลวรรณศิลป์อุชเชนีด้วยค่ะ
อ่านแล้วมีความรู้สึกว่าคนเขียนต้องมีความตั้งใจ มีความจดจำ
สิ่งรอบตัวในการมางานนี้ดีมากๆนะคะอ่านแล้วเหมือนได้เข้าไป
ร่วมงานวรรณศิลป์อุชเชนี งานแห่งขุมทรัพย์ทางวรรณกรรม
ที่ผู้มีความสนใจทางบทประพันธ์และวรรณกรรมไม่ควรพลาดงานนี้
คำกล่าวที่ว่า บทกวีเป็นมงกุฏแห่งวรรณกรรม เนื่องเพราะความ
สวยงามความลึกซึ้ง ในสัมผัสของภาษาในบทกวีอันนี้ชอบมากค่ะ
น่าเสียดายที่ปัจจุบันบทกวีมีคนสนใจน้อยกว่าบทความในร้อยแก้ว

ชอบบทความที่คุณอาคุงกล่องเรียบเรียงและถ่ายทอดเป็นบทความ
ที่น่าอ่านมากๆนอกจากการเขียนที่ให้รายละเอียดอย่างดีเยี่ยมแล้ว
ยังได้รับคุณค่าในจิตใจได้ความรู้เรื่องราวในแวดวงวรรณกรรณมากขึ้นด้วยนะคะ


ขอบคุณมากๆค่ะ


โดย: mastana วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:10:44:54 น.  

 
อย่างน้อยงานแบบนี้ปีหน้าก็ต้องช่วยกันดันหลายฝ่ายค่ะ
แม้จะซบเซาตามแนวทางการสนใจหรือการอ่านของผู้บริโภคบ้างก็ตาม
แต่ยังเป็นเอกลักษณ์ที่หลายคนก็อยากให้รักษาไว้ค่า



โดย: Rinsa Yoyolive วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:23:22:40 น.  

 
สวัสดี น้องกล่อง

ดีใจนะ ที่น้องกล่องเข้ามาเยี่ยมที่บล็อกครู หายไปนานมาก เลยนะจ๊ะ แต่ครูยังกล่องได้เสมอ

มาโหวดก่อนนะ เม้นท์ไม่ไหว เพิ่งกลับจากชมพระเมรุมาศภาคกลางคืน อิอิ

โหวด หมวดงานเขียน นะจ๊ะ แล้วจะมาอ่านรายละเอียดอีกครั้ง


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 23 ธันวาคม 2560 เวลา:23:25:08 น.  

 
เข้ามาซึมซับ...ดีใจที่ได้เห็นน้องกล่อง
เวลคัมทูบล็อกแก๊ง
โหวต


โดย: อุ้มสี วันที่: 24 ธันวาคม 2560 เวลา:7:13:06 น.  

 
ผมได้อ่านทุกข้อความ คุณกล่องสรุปได้ชัดเจน น่าจะครบถ้วน อ่านแล้วได้เห็นบรรยากาศและมุมมองของคณะกรรมการจัดการประกวด พวกเขาคงทำงานหนักมากกว่างานนี้จะสำเร็จ จึงไม่รับปากในครั้งต่อไป
ขอบคุณสำหรับบทกวีตอนท้ายครับ


โดย: Insignia_Museum วันที่: 24 ธันวาคม 2560 เวลา:8:24:15 น.  

 
อาจารย์เนาวรัตน์กล่าวว่าเวทีประกวดเป็นพื้นฐานที่สำคัญ
ของงานวรรณกรรมที่จะแจ้งเกิดนักเขียนหน้าใหม่
ทำให้ได้คัดสรรผลงานที่ดีจริงๆออกสู่สังคม
ขอให้งานประกวดได้จัดในปีต่อๆไปด้วยนะคะ



โดย: Sweet_pills วันที่: 24 ธันวาคม 2560 เวลา:9:04:35 น.  

 
สวัสดี จ้ะ น้องกล่อง

มาอ่านอย่างละเอียดอีกครั้งจ้ะ เป็นการบันทึกการฟังได้อย่างละเอียด แสดงให้เห็นว่า ตั้งใจฟังอย่างดี จึงสามารถเล่าได้อย่างละเอียด บรรยายสรุปการพูดของวิทยากรแต่ละคนได้ชัดเจนและข้อสำคัญได้ข้อคิดในการเขียนร้อยกรอง และร้อยแก้ว ความเรียง เรียงความ มีข้อแตกต่างกันอย่างไร เป็นความรู้สำหรับคน
ที่ต้องการเขียนร้อยแก้ว
สำหรับร้อยกรอง เห็นด้วยกับ อ.เนาวรัตน์ จ้ะ เด็กปัจจุบัน รวมทั้งผู้ใหญ่ด้วย ไม่ชอบเขียนร้อยกรอง คนเขียนร้อยกรอง มีน้อยลงทุกวัน อาจเพราะมันมีข้อบังคับ มากกว่าร้อยแก้ว การเลือกสรรคำที่ลำบากมากสำหรับคนที่ไม่มีคลังคำ
สะสมไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ควรมีการจัดประกวดตามโรงเรียน
ตามหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยกันรักษา ร้อยกรอง อันทรงคุณค่าของไทยเราไว้
ผลงานของอุชเชนี เป็นผลงานที่ทรงคุณค่าแน่นอน เพราะ ได้รับการคัดเลือกมาให้นักเรียน ม.ปลายเรียนด้วย นะจ๊ะ

ขอบใจที่เข้ามาอ่าน ทวาทศมาส เดือน มกราคม 60 ของครู จ้ะ นี่เขียนน้อยมากนะจ๊ะ อิอิ มีรูปเป็นส่วนใหญ่ ห้าห้า


โดย: อาจารย์สุวิมล วันที่: 24 ธันวาคม 2560 เวลา:17:02:05 น.  

 
สวัสดีค่ะอาคุงกล่อง
ไม่ได้เห็นบล็อกซะนานเลย
ขอบคุณที่นำมาเขียนให้อ่านโดยละเอียดเลยค่ะ


โดย: เนินน้ำ วันที่: 24 ธันวาคม 2560 เวลา:18:36:29 น.  

 
ไปร่วมงานจดเล็คเชอร์มาอย่างกับจะทำรายงานส่ง สวดยวดเลยครับอาคุงกล่องหนอนหนังสือตัวเอ้ของบล็อกแก๊ง
อยากรู้ตั้งแต่เห็นชื่อรางวัลแล้วครับว่าอุชเชนีคืออะไร? เป็นอาจารย์และแบบอย่างของเหล่านักเขียนนี่เอง

งานพระราชพิธีมีบทกวีออกมาเยอะมากเลยครับ ผมเปิดวิทยุฟังตอนขับรถฟังบทกวีถวายถ้อยคำอาลัยของสปอนเซอร์เป็นสิบๆรายจนท่องได้เกือบทุกอัน แต่คงไม่มีอันไหนโดนใจ อ.เนาวรัตน์ ส่วนที่ว่าวรรณกรรมมักจะถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีใหม่ ผมว่าเทคโนโลยีใหม่เป็นเครื่องมือให้วรรณกรรมถูกสร้างและเผยแพร่ได้แพร่หลายมากขึ้น แต่ตลาดที่ขยายออกไปและนักเขียนแนวใหม่ๆก็คงไม่ตรงจริตคนเขียนรุ่นเก่าอีกนั่นแหละ

วงการหนังสือช่วงนี้ขาลงหนักมากครับ อันที่จริงทั้งวงการสิ่งพิมพ์เลย ปิดตัวทั้งร้านหนังสือทั้งสำนักพิมพ์กันระนาว ไปเล่น e-book กันก็เยอะ แต่ก็ใช่ว่ายอดจะดีเหมือนเก่า

เพิ่งจะรู้จักคำว่าความเรียงก็วันนี้แหละ การไม่ให้เกิดวังวนวรรณกรรมน้ำเน่าก็เป็นหน้าที่ของกรรมการ หรือคนคัดบทความดีๆไปพิมพ์ด้วยนะครับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางทีวรรณกรรมน้ำเน่ามันก็ขายดี


โดย: ชีริว วันที่: 24 ธันวาคม 2560 เวลา:20:58:57 น.  

 
หวัดดีครับคุณกล่อง.....

อ่านที่คุณกล่องไปเม้นท์ที่บล๊อกผม... ผมว่าคุณกล่องมีเรื่อง
เขียนเยอะมาก แต่จะเขียนในแนวไหนอีกเรื่อง

ของผมเองก็ใช้เป็นสื่อถ่ายทอดบางอย่างหรือแนวคิด..ออกไป
จุดใหญ่อยู่ตรง แนวคิดครับ


โดย: ไวน์กับสายน้ำ วันที่: 25 ธันวาคม 2560 เวลา:19:52:52 น.  

 


โดย: หอมกร วันที่: 25 ธันวาคม 2560 เวลา:21:53:27 น.  

 
จดและเล่าได้ละเอียดมากค่ะ

***ขอบคุณค่ะ


โดย: สายหมอกและก้อนเมฆ วันที่: 26 ธันวาคม 2560 เวลา:19:49:17 น.  

 


โดย: เมษาโชดดี วันที่: 27 ธันวาคม 2560 เวลา:2:09:26 น.  

 
นานเลยไม่ได้เข้ามา
ได้อ่านข้อความที่เขียนลงบล๊อกอย่างละเอียด
เป็นบล๊อกยอดเยี่ยมอีกบล๊อกนึงค่ะ

คิดถึงเสมอค่ะคุณกล่อง


โดย: ซองขาวเบอร์ 9 วันที่: 30 ธันวาคม 2560 เวลา:21:10:51 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณกล่อง ^^
เพิ่งได้มาตามอ่านค่ะ
เห็นเพื่อนโพสกันเรื่องงานนี้แต่ไม่ละเอียด
มาอ่านแล้วแบบน่าไปมาก
นักเขียนแต่ละท่านแบบสุดยอด
ต้องได้อะไรมากแน่ๆ
ขอบคุณมากๆ เลยค่า


โดย: lovereason วันที่: 31 ธันวาคม 2560 เวลา:15:41:45 น.  

 


ปีใหม่นี้ขอให้คุณกล่องและครอบครัวมีความสุขมาก ๆ ไม่เจ็บไม่จน และโชคดีตลอดทั้งปี สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ


โดย: haiku วันที่: 31 ธันวาคม 2560 เวลา:20:43:34 น.  

 
สวัสดีปีใหม่อาคุงกล่อง

ขอให้อาคุงกล่องและครอบครัว

มีความสุขมาก ๆ สุขภาพแข็งแรง

และค่อยไปทำบุญด้วยกันนะ



โดย: อ้อมแอ้ม (คนผ่านทางมาเจอ ) วันที่: 1 มกราคม 2561 เวลา:21:51:27 น.  

 
ชอบผลงานของอุชเชนีมากครับ กลอนทรงพลังจนรู้สึกได้เลย


โดย: ruennara วันที่: 3 มกราคม 2561 เวลา:21:11:40 น.  

 
สวัสดีปีใหม่ค่ะคุณกล่อง


โดย: บาบิบูเบะ...แปลงกายเป็นบูริน วันที่: 5 มกราคม 2561 เวลา:13:03:51 น.  

 
สวัสดีวันเสาร์แสนสุขและขอบคุณที่เข้าไปอ่านกลอนครับ


โดย: ruennara วันที่: 6 มกราคม 2561 เวลา:4:14:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

อาคุงกล่อง
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 62 คน [?]




อาคุงกล่องเป็นชายไทยนิสัยดีมีความฝัน ผู้ผันตัวมาเป็นทาสวรรณกรรมอย่างแท้จริง ใช้ชื่อกำหนดตัวตนว่า “อาคุงกล่อง” เป็นนามปากกาสร้างสรรค์ผลงานในเชิงหัสนิยาย และงานเขียนในรูปแบบต่าง ๆ อาทิเช่น เรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ความเรียง บทกลอน ไดอารี่เพ้อเจ้อละเมอเพ้อฝันต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน “อาคุงกล่อง” เป็นนักอ่าน นักคิดและนักเขียน รวมทั้งเป็นนักจินตนาการออกมาเป็นตัวอักษรด้วย ผู้มีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักเขียนมีคุณภาพที่สรรค์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ คาดว่าในเวลาอันใกล้นี้นาม “อาคุงกล่อง” จะเกิดปรากฎชัดในโลกวรรณกรรม จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่หนอนนักอ่านทั่วไทย



"ในชีวิตจริงของคนเรา มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องรับรู้และรับผิดชอบ ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะหัวเราะได้สักกี่ครั้ง? แต่ถ้าเราได้มีโอกาสหัวเราะเสียบ้างเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือคลายเครียด ก็คงจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ"

ถ้าคุณเข้ามาในบล็อคของผมแล้ว คุณสามารถอมยิ้มหรือหัวเราะได้ ผมก็คงจะดีใจแล้วครับ (กรุณาช่วยทิ้งคอมเม้นท์วิจารณ์ไว้ให้ผมด้วยนะครับ จักขอบพระคุณมากเลยครับ)

akungklong@gmail.com
Friends' blogs
[Add อาคุงกล่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.