Group Blog
 
All Blogs
 
+++ How to Macro with Point & Shoot Digital Camera +++

+++ How to Macro with Point & Shoot Digital Camera +++

ขึ้นว่า How to Macro with Point & Shoot Digital Camera ก็จริง แต่จริงๆ แล้ว กล้องคอมแพ็คท์โดยทั่วไป ก็โฟกัสได้ใกล้มากอยู่แล้ว ถ้าพอใจกับขนาดของเฟรมที่ได้จากมาโครติดกล้องแล้ว ก็ขอให้ผ่านเนื้อหาไปเลยนะครับ ปวดหัวเปล่าๆ แต่ส่วนใครไม่พอใจกับขนาดของภาพที่ได้ และคิดว่าควรจะถ่ายได้ของชิ้นเล็กกว่านี้ ก็หวังว่าเนื้อหาที่เขียนจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยครับ

จริงๆ แล้ว ข้อจำกัดของการใช้กล้องคอมแพ็คท์มาถ่ายมาโครมันก็มีนะ ถ้าตัดปัญหาเรื่องความโค้งและความบิดเบี้ยวของภาพออกไป (field curvature and distortion) มันก็มีข้อดีดังนี้

ข้อดีของการใช้กล้องคอมแพ็คท์
- มี LCD live view ที่สมบูรณ์
- ระยะชัดลึกสูง ทำให้ไม่ต้องหรี่ f-number ก็ได้ระยะชัดลึกมากพอ ส่งผลให้ได้ความเร็วชัตเตอร์สูง
- แฟลชสัมพันธ์ได้ทุกความเร็วชัตเตอร์ (ในกล้องส่วนใหญ่)
- เลนส์ติดกล้องส่วนใหญ่โฟกัสได้ระยะใกล้มาก
- ราคาไม่สูง
- อุปกรณ์เสริมส่วนใหญ่ ราคาไม่แพง เพราะขนาดเลนส์ที่เล็ก
- สำหรับกล้อง superzoom (+10x zoom) จะได้กำลังขยายสูงมากหากใช้อุปกรณ์ให้เหมาะสม

ข้อด้อย
- โฟกัสอาจจะช้าไปบ้าง หรือบางรุ่นไม่มีโหมดแมนนวลโฟกัส
- การควบคุมกล้องและคุณภาพของภาพสู้ DSLR ไม่ได้
- บางรุ่นไม่มีโหมด M ทำให้คุมชัดลึกไม่ได้
- หลายรุ่นใช้แฟลชนอกไม่ได้ ทำให้เล่นกับทิศทางแสงไม่ได้ (ช่วยได้บ้างโดยใช้ optical slave flash)

ก่อนจะเข้าเนื้อหาเรื่องอุปกรณ์ อยากให้ทำความเข้าใจกับศัพท์ 2 คำนี้ก่อน คือ กำลังขยาย และ มาโคร vs โคลสอัพ

กำลังขยาย (magnification)

ในระบบฟิล์ม 135 ขนาดของฟิล์มเท่ากับ 24x36mm การถ่ายภาพให้ได้ขนาดของสิ่งของเท่ากับขนาดบนฟิล์ม เรียกได้ว่า ได้กำลังขยาย 1:1 (life size) ถ้าขนาดสิ่งของใหญ่กว่าฟิล์ม 2 เท่า ก็จะได้ กำลังขยาย 1:2 อย่างไรก็ดี ในระบบของกล้องดิจิทัล หากกำหนดกำลังขยายโดยใช้คำจำกัดความเดียวกัน (ขนาดของสิ่งของต่อขนาดของเซนเซอร์) คงจะปวดหัวดีพิลึก โดยเฉพาะกับระบบของกล้องคอมแพ็คท์ ที่ขนาดและอัตราส่วนของเซนเซอร์มีมากมาย (ยังไม่รวมถึงพื้นที่ใช้งานจริง ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละยี่ห้อ/รุ่น) และการคร็อปภาพที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในระดับซอฟแวร์ของกล้อง

โดยส่วนตัว ผมเลยกำหนดคำจำกัดความเองว่า ถ้า ขนาดของภาพที่ถ่ายได้ในด้านยาวหรือแนวนอน เท่ากับ 36mm นั่นคือ มาโครเทียบเท่า 1:1

จากคำจำกัดความนี้ หากถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาด 18mm ได้เต็มเฟรมแนวนอน จะคิดเป็น มาโครเทียบเท่า 2:1 หรือ ถ่ายภาพวัตถุที่มีขนาด 72mm ได้เต็มเฟรมแนวนอน จะคิดเป็น มาโครเทียบเท่า 1:2 เป็นต้น และจะใช้คำจำกัดความนี้ไปตลอดบทความนี้

หากต้องการศึกษาแบบละเอียด เกี่ยวกับกำลังขยายเทียบกับขนาดของเซนเซอร์ อ่านได้ที่ //www.cs.mtu.edu/~shene/DigiCam/User-Guide/Close-Up/BASICS/Magnification.html

มาโคร vs โคลสอัพ (Macro vs Close-up)

อ่านมา 2-3 ตำรา แต่ไม่ค่อยมีอันไหนลงความเห็นตรงกัน ผมขอกำหนดคำจำกัดความเอาเองตามใจชอบเลยละกัน

โคลสอัพ คือการถ่ายภาพที่กำลังขยายเทียบเท่า 1:4-1:10 (ขนาดของวัตถุเต็มเฟรมเท่ากับ 14.4-36cm)

มาโคร คือการถ่ายภาพที่กำลังขยายเทียบเท่า 2:1-1:2 (ขนาดของวัตถุเต็มเฟรมเท่ากับ 18-72mm)

มาโครสุดๆ (extreme macro) คือการถ่ายภาพที่กำลังขยายเทียบเท่า 10:1-4:1 (ขนาดของวัตถุเต็มเฟรมเท่ากับ 3.6-9mm)

ส่วนตัวเห็นว่า ทั่วๆ ไป ถ่ายเป็นงานอดิเรก และไม่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทางนัก ถ่ายมาโครก็สนุกพอแล้ว ถ้ามากกว่านี้ มันค่อนข้างเฉพาะทางเกินไปหน่อยและไม่ค่อยสนุกแล้วครับ :-)

ชนิดของอุปกรณ์เสริม

อันนี้ผมแบ่งเองตามรูปแบบการใช้อุปกรณ์เสริม ก็ได้คร่าวๆ 3 แบบใหญ่ๆ ใครนึกภาพไม่ออก ก็ลองเข้าไปศึกษาได้ที่ //www.jr-worldwi.de/photo/macro_technique.html

แบบสวมหน้าเลนส์
- โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ (close-up filter/lens)
- เลนส์กลับด้านแบบต่อหน้าเลนส์หลัก (Reversed lens in front of lens)

แบบต่อท้ายเลนส์
- ท่อเพิ่มระยะ (extension tubes)
- ตัวแปลงเลนส์เทเล (Teleconverter)
- ตัวแปลงเลนส์เทเลแบบโฟกัสระยะใกล้ (Macro focusing teleconverter)
- ตัวแปลงเลนส์มาโคร (Macro converter)

แบบอุปกรณ์เฉพาะ
- เลนส์กลับด้าน (Reversed lens)
- มาโครเลนส์มือหมุน (Manual focus macro lens)
- มาโครเลนส์ออโต้ (AUto focus macro lens)

แต่ละอุปกรณ์จะมีข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป ในที่นี้จะไม่ลงรายละเอียดของอุปกรณ์ที่ใช้ได้เฉพาะระบบ SLR (หมายถึง 2 แบบหลัง) สำหรับกล้องคอมแพ็คท์ ก็มีตัวเลือกไม่มากนัก ซึ่งก็จะอยู่ในกลุ่มของอุปกรณ์ที่ใช้สวมหน้าเลนส์เป็นหลัก

โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ แบบเลนส์เดี่ยว (Single element close-up filter/lens)

close-up filter ทำหน้าที่คล้ายเลนส์นูนสำหรับคนสายตายาว เมื่อสวมเข้าหน้าเลนส์ จะทำให้กล้องสายตาสั้น มองไกลๆ ได้ไม่ชัด และส่งผลให้ ระยะโฟกัสใกล้ที่สุดของชุดเลนส์บนกล้อง "ลดลง" ทำให้เอากล้องเข้าใกล้วัตถุเพื่อจะโฟกัสได้มากขึ้น

จะใกล้ได้มากขึ้นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับกำลังขยายที่ระบุไว้ในสเป็คของชุดเลนส์ close-up filter set ทั่วไปที่ขายๆ กัน ก็จะเป็น +1 +2 +4 โดยหลักการแล้ว สามารถใส่ซ้อนทับกันได้ (ตัวที่กำลังสูงสุดควรอยู่ใกล้กล้อง) และจะให้กำลังขยายเพิ่มขึ้นโดยประมาณเท่ากับเอาตัวเลขมากบวกกัน

กำลังขยาย +1 +2 +4 นี้ หมายถึง ค่า diopter ของเลนส์ ซึ่งจะเป็นสัดส่วนผกผันกับ ทางยาวโฟกัสในหน่วย 1 เมตร โดยที่ diopter value = 1 metr (100 cm) / focal length (cm) ดังนั้นค่า diopter ไม่มีหน่วย





รูปแสดงโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ แบบเลนส์เดี่ยว PANASONIC DMW-LC52 กำลังขยาย +3

โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ แบบเลนส์อรงค์ (Achromatic close-up filter/lens)

โคลสอัพที่เป็นเบอร์ diopter ที่เห็นขายกันอยู่ทั่วไปนี่มันเป็นเลนส์เดี่ยวที่มีเพียงแค่ 1 element ต่างกับโคลสอัพเลนส์ที่มียี่ห้อและมีราคาแพง ที่มีลักษณะเป็น เลนส์อรงค์ (achromatic lens) เพื่อลดปัญหาการคลาดสี เช่น NIKON 6T ที่มี 2 element(s) เวลาถ่ายภาพออกมาแล้วเปรียบเทียบกันดู จะเห็นได้ชัดว่าพวกเลนส์เดี่ยว จะมีอัตราการบิดเบือนของภาพสูงกว่ามาก โดยเฉพาะบริเวณขอบภาพ และ เมื่อใช้ซ้อนกันหลายๆ ชั้น ใครอยากศึกษาเรื่องเลนส์อรงค์ ลองเข้าไปอ่านได้ที่นี่ครับ //en.wikipedia.org/wiki/Achromatic_lens







รูปแสดงโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ แบบเลนส์อรงค์ RAYNOX Macroscopic lens 2x / 4x กำลังขยายประมาณ +6 และ +12 ตามลำดับ

ส่วนนี่ เป็นรายการของเลนส์อรงค์ที่มีขายในท้องตลาด //www.angelfire.com/ca/erker/closeups.html (ข้อมูลไม่ค่อยอัพเดท) ในปัจจุบัน ebay รวมถึงเมืองไทย ก็น่าจะหาบางตัวที่ไม่มีในลิสต์ได้ในราคาไม่แพงนัก เช่น Opteka 10x HD Achromatic Macro Lens และ Marumi DHG Macro +5/+3 ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องตามหาไอเท็มในตำนาน (อะไรซักอย่าง+6 นี่แหละ) ก็ได้นะครับ Smiley

ตัวแปลงเลนส์เทเล (Teleconverter) ต่อกับโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์

teleconverter แบบสวมข้างหน้าเลนส์ มีคุณสมบัติต่างจากแบบสวมหลังเลนส์ กล่าวคือ แบบสวมท้ายเลนส์ (สำหรับ SLR) จะไม่ทำให้คุณสมบัติการโฟกัสใกล้สุดของเลนส์เปลี่ยนไป ส่งผลให้ที่ระยะโฟกัสเดิม จะได้ขนาดของภาพที่ใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่า (หรือ x เท่า ตามกำลังขยายระบุ) อย่างไรก็ดี teleconverter แบบสวมท้ายเลนส์ส่งผลให้เสียแสงตามจำนวนเท่า โดยที่ 1.4x และ 2x จะเสียแสง 1 และ 2 สต๊อป ตามลำดับ ในขณะที่ teleconverter แบบสวมข้างหน้าเลนส์ จากประสบการณ์ พบว่าจะทำให้เลนส์เสียคุณสมบัติการโฟกัสใกล้สุดไป และไม่สามารถโฟกัสใกล้ๆ ได้ ทั้งนี้ teleconverter ชนิดนี้ ไม่ทำให้เสียแสงเหมือนแบบสวมท้ายเลนส์




เราสามารถใช้ประโยชน์จากทางยาวโฟกัสที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับการใช้โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ ได้ โดยที่ เมื่อใช้โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ตัวเดิม กับระบบกล้องที่เพิ่ม teleconverter เข้ามา จะได้เฟรมที่เล็กลงด้วยทางยาวโฟกัสที่เพิ่มขึ้น





เลนส์กลับด้านแบบต่อหน้าเลนส์หลัก (Reversed lens in front of lens)

เราสามารถใช้เลนส์ของกล้อง SLR มากลับด้านเพื่อต่อเข้าสู่หน้าเลนส์หลักของกล้องได้ โดยอาศัยแหวนจับคู่ (Reverse coupling ring) ซึ่งเป็นแหวนที่มีเกลียวตัวผู้ทั้ง 2 ด้าน



รูปแสดง Reverse coupling ring ขนาด 52-52mm



เลนส์ที่เหมาะจะนำมากลับด้านนั้น ควรเป็นเลนส์ที่ค่อนข้างสว่าง (f-number ต่ำกว่า 2 ลงไป) เพื่อลดปัญหาขอบมืด (vignette) โดยทั่วไปเลนส์ที่นิยมนำมากลับด้านมักจะเป็นเลนส์นอร์มอล (50mm) โดยเลนส์กลับด้านนี้ จะทำหน้าที่เป็นโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ กำลังขยายและคุณภาพสูง กล่าวคือ เลนส์ 50mm เมื่อคิดเป็น diopter จะได้กำลังขยาย 1000/50 = +20 diopters







รูปแสดงการต่อ step ring 37-52mm กับ reverse coupling ring 52-52mm และ step ring 49-52mm เข้ากับเลนส์ ZUIKO OM 50mm f/1.8 เพื่อแปลงเกลียวให้สามารถต่อกับ adapter tube ของ SONY W1 ที่ 37mm

ป.ล. กล้องคอมแพ็คท์ หรือ SLR ที่มีเกลียวด้านหน้าเลนส์ และออโต้โฟกัสโดยอาศัยการหมุนเลนส์ชิ้นหน้า อย่าได้ลองใช้วิธีเลนส์กลับด้านนี่เชียว มอเตอร์โฟกัสไหม้จะหาว่าไม่เตือน

ระยะโฟกัสและกำลังขยายเทียบเท่าโดยประมาณ เมื่อใช้โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์

ผู้ใช้งาน close-up filter แรกๆ ส่วนใหญ่มักจะงง เพราะว่ากล้องโฟกัสไม่ได้ แต่มีวิธีคำนวณคร่าวๆ ดังนี้

เมื่อโฟกัสเลนส์ไปที่ระยะอนันต์ ระยะโฟกัสจากหน้าเลนส์โดยประมาณในหน่วย cm คือ 100/diopter เช่น หากใช้ +10 โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ จะได้ระยะโฟกัสจากหน้าเลนส์ ราวๆ 100/10 = 10cm

เมื่อโฟกัสเลนส์ไปที่ระยะใกล้สุด ระยะโฟกัสจากหน้าเลนส์โดยประมาณในหน่วย cm คือ 100/total diopter โดยที่ total diopter คือ ค่า diopter ของโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ บวกกับ ระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์ที่แปลงเป็นค่า diopter เช่น หากใช้ +10 โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ และระยะโฟกัสใกล้สุดของเลนส์คือ 40cm (100/40 =2.5) จะได้ระยะโฟกัสจากหน้าเลนส์ ราวๆ 100/(10+2.5) = 100/12.5 = 8cm

ในระบบฟิล์ม 135 ถ้ากลับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเท่ากับเลนส์หลัก (เช่นเลนส์หลักและเลนส์กลับด้าน เป็นเลนส์ 50mm ทั้งคู่) และให้เลนส์หลักโฟกัสไปที่ระยะอนันต์ จะได้กำลังขยาย 1:1 ในทำนองเดียวกัน ถ้าใช้เลนส์ 100mm เป็นเลนส์หลัก กลับเลนส์ 50mm สวมด้านหน้า และให้เลนส์หลักโฟกัสไปที่ระยะอนันต์ จะได้กำลังขยาย 2:1

เราสามารถใช้หลักการเดียวกันมาคำนวณกำลังขยายเทียบเท่าได้ หากทราบค่า diopter ของโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ หรือ ทางยาวโฟกัสของโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์

โดยคำนวณได้จาก กำลังขยายเทียบเท่า (เมื่อโฟกัสที่ระยะอนันต์) เท่ากับ ทางยาวโฟกัสเทียบเท่าฟิล์ม 135 ของเลนส์หลัก / ทางยาวโฟกัสของโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์

หากทราบเพียงค่า diopter ของโคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ ให้แปลงกลับมาเป็นค่าทางยาวโฟกัสในหน่วย mm ก่อน คือ ทางยาวโฟกัส (mm) = 1000 mm / ค่า diopter

เช่น กล้อง SONY W1 ซูม 3x ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า 38-114mm หากใช้เลนส์ 50mm กลับด้าน จะได้กำลังขยายเทียบเท่า เท่ากับ 114 / 50 = 2.28:1 หรือคิดเป็นขนาดของวัตถุเต็มเฟรมเท่ากับ 36/2.28 = 15.8mm

หรือ กล้อง SONY W1 ซูม 3x ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า 38-114mm หากใช้โคลสอัพฟิลเตอร์/เลนส์ +3 (คิดเป็น ทางยาวโฟกัส 1000/3 = 333mm) จะได้กำลังขยายเทียบเท่า เท่ากับ 114 / 333 = 0.34:1 (หรือ 1:2.94) หรือคิดเป็นขนาดของวัตถุเต็มเฟรมเท่ากับ 36/0.34 = 105.9mm เป็นต้น

แต่หากเลนส์หลักโฟกัสที่ระยะใกล้สุด ขนาดของวัตถุเต็มเฟรมที่ได้ จะเล็กกว่าที่คำนวณได้จากการโฟกัสที่ระยะอนันต์ ต้องทดสอบเอาเอง

ก็คงจบเพียงเท่านี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วย

ขอให้ทุกท่านสนุกกับการถ่ายภาพครับ

เอกสาร/เว็บอ้างอิง
//www.cs.mtu.edu/~shene/DigiCam/User-Guide/Close-Up/BASICS/Magnification.html
//www.jr-worldwi.de/photo/macro_technique.html
//en.wikipedia.org/wiki/Achromatic_lens
//www.angelfire.com/ca/erker/closeups.html
John Shaw (1987), John Shaw's Closeups in Nature (Practical Photography Books)



ป.ล. เอาภาพมาฝากด้วย

DSC07251

DSC07198

DSC06635-1

DSC06626-1

DSC07296

DSC07664-2

DSC07689-1

DSC07738-1

DSC07756-1

DSC07799-1

DSC07837-1

DSC07854-1

DSC07876-1

DSC07889-1

DSC07945-1

DSC07881-1

DSC08056-1

DSC08073-1

DSC08079-1

Free TextEditor


Create Date : 28 มกราคม 2554
Last Update : 14 มีนาคม 2554 16:36:52 น. 1 comments
Counter : 1157 Pageviews.

 


โดย: bird_cpe วันที่: 23 ตุลาคม 2554 เวลา:4:48:52 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Akai Suisei
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Akai Suisei's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.