ท่าทุ่มยูโด koshi guruma
โคชิกุรุม่าเป็นท่าที่โทริจับและควบคุมคอของอุเกะด้วยแขนขวา (จับขวา) แล้วเอาเอวกับสะโพกเข้าลึก จากนั้นทุ่มอุเกะเป็นวงกลมโดยมีจุดศูนย์กลางวงอยู่ที่ลำตัวของอุเกะ
รูปแบบที่1 การใช้เอวเข้าลึก การจับสำหรับท่าโคชิกุรุม่าจะมีลักษณะพิเศษกว่าท่าพื้นฐานอื่นๆ นั้นคือมือขวา(ทรึริเทะ) จะจับลึกไปถึงคอเสื้อด้านหลัง (การจับปกติจะจับคอเสื้อที่ด้านหน้าบริเวณระหว่างไหล่กับหน้าอก) - โทริเดินถอยหลังด้วยขาซ้าย ขวา และ ซ้าย ระหว่างที่ถอยหลังจะดึงอุเกะลงมาด้านหน้าด้วยแขนทั้งสองข้าง - อุเกะถูกโทริดึงมาด้านหน้า เดินด้วยขาขวา ซ้าย และ ขวา ตามสเต็ปของโทริ พร้อมๆกับการถูกดึงให้อุเกะเสียหลักก้มตัวมาทางด้านหน้า - อุเกะออกแรงต้านไม่ให้ลำตัวด้านบนก้มลงไปด้านหน้า โดยการดันลำตัวยกขึ้น ขณะเดียวกันนั้น โทริถอนแรงออก - โทริก้าวขาขวาออกไปด้านหน้าซ้ายเล็กน้อย (ประมาณหัวนิ้วโป้งขาขวาของโทริ ชี้ไปทางหัวนิ้วโป้งขาขวาของอุเกะ) ตามด้วยโทริเปิดลำตัวออกด้านข้าง พร้อมๆกับมือขวาและมือซ้ายของโทริดึงขึ้นด้านบน ทำคุสุชิให้อุเกะเสียหลักมาทางด้านหน้าขวา - โทริปล่อยแขนขวา (ทรึริเทะ) เปลี่ยนเป็นเอาแขนคล้องคออุเกะ โทริคล้องคอโดยใช้ข้อพับแขนขวาเป็นตัวควบคุมคอของอุเกะ - จากนั้นใช้ขาส่วนหน้าเป็นตัวหมุน (อย่าวางขาลงทั้งส้นเท้าทั้งหมดเพราะขาจะตายและขยับช้า) พร้อมกับก้าวขาซ้ายหมุนเป็นวงกลมไปด้านหลัง โทริขยับสะโพกและเอวออก ขณะเดียวกันดึงอุเกะให้ตัวติดกับโทริให้มากที่สุด - ลักษณะการทุ่มจะเหวี่ยงเป็นวงรีมาลงด้านหน้า โดยให้จุดศูนย์กลางการหมุนของโทริคือสะโพกกับเอว ส่วนจุดศูนย์กลางการหมุนของอุเกะคือกึ่งกลางลำตัว
จุดสำคัญของท่า - การเอาแขนคล้องคอและยัดสะโพกเข้าไป - แขนของโทริที่คล้องต้องเข้าลึกไปคุมไหล่ซ้ายของอุเกะ - แขนซ้ายของโทริ (ฮิกิเทะ) ดึงแขนขวาของอุเกะให้แน่น โดยโทริวางแขนซ้ายไว้บริเวณระหว่างหน้าอกกับท้องของโทริ ท่านี้จะใช้ไม่ออกถ้าหากตัวของโทริและอุเกะอยู่ห่างกันหรืออยู่ในลักษณะหลวมๆ - ท่านี้โทริต้องเอาสะโพกยัดเข้าลึกจนถึงขั้นเลยปลิ้นตัวอุเกะออกมาด้านขวา เอาให้เอวฝั่งซ้ายของโทริอยู่ด้านหน้าตรงช่วงท้องของอุเกะ การวางขาของโทริคือหมุนเกินรอบ จนมาอยู่ในลักษณะ90องศากับตัวอุเกะ ท่าโคชิกุรุม่า ตามตำราโบราณจะมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "จุจิ โกชิ / juji-goshi" (จุจิแปลว่ากากบาท โคชิคือสะโพก) - จุดศูนย์กลางของการปะทะกันคือ สะโพกกับเอวของโทริ กับกึ่งกลางลำตัวของอุเกะ
รูปแบบที่1กับการประยุกต์ใช้กับท่าโอโซโตการิ - โทริจับขวา (ทรึริเทะจับลึกไปคอเสื้อด้านหลัง) เข้าโอโซโตการิปกติ พร้อมกับยกขาขวาขึ้นปัดตามท่าโอโซโตการิ - อุเกะฝืนโดยการเอียงตัวมาด้านหน้า (เพราะท่าโอโซโตคุสุชิไปด้านหลัง การจะฝืนให้ทุ่มยากคือการเทตัวกลับมาด้านหน้า) - โทริวางขาขวาข้างที่ปัดลงพื้น ย้ายแขนขวาไปคล้อยคออุเกะ โทริดึงอุเกะให้เข้ามาติดกัน จากนั้นสเต็ปขาซ้ายหมุนเข้าไป พร้อมๆกับเอาสะโพกยัดเข้าลึก (ลึกจนปลิ้นตามรูปแบบที่1 ด้านบน) - สิ่งสำคัญของจังหวะตรงนี้คือช่องว่างระหว่างตัวโทริกับอุเกะ ต้องพยายามทำให้ติดกัน และตัวแปรสำคัญคือขาซ้ายของโทริ ถ้าหมุนแล้วอยู่ไกลสะโพกจะทำให้ไม่สามารถยัดเข้าไปได้ลึก - วงจรการทุ่มต้องไหลลื่นโดยเริ่มจากการวางขาขวาลง ไปจนถึงการหมุนขาซ้ายและการยัดสะโพก ไปจนถึงการหมุนและทุ่มจะต้องต่อเนื่อง ไม่หยุดหรือสะดุดระหว่างทาง
รูปแบบที่2 การเข้าแบบสะโพกไม่ลึก การเข้าท่าในรูปแบบนี้ใกล้เคียงกับท่าพื้นฐานอย่างท่าโอโกชิ สิ่งสำคัญสำหรับรูปแบบที่สอง คือโทริต้องจับอุเกะให้แน่นติดกับตัว และโทริต้องย่อให้ต่ำกว่าอุเกะ สะโพกด้านหลังของโทริจะต้องปะทะกับท้องด้านหน้าของอุเกะ จังหวะทุ่มให้ดันเข่าเอาสะโพกยกอุเกะขึ้นทุ่ม จังหวะการเข้าในรูปแบบนี้มักเอามาประยุกต์ใช้กับท่าอุชิโร่โกชิ
รูปแบบที่2กับการประยุกต์ใช้กับท่าฮาเนโกชิ - เป็นจังหวะท่าที่โทริใช้ต่อจากท่าฮาเนโกชิ แต่อุเกะกันและเตรียมสวนกลับ - ระหว่างที่เข้าฮาเนโกชิ อุเกะกันโดยการเอามือซ้ายมาโอบเอวของโทริเอาไว้ อุเกะสวนกลับในลักษณะของท่าอุชิโร่โกชิ - โทริวางขาข้างที่จะฮาเนขึ้นไปลงพื้น พร้อมกับย่อเข่าลง ยืนรักษาสมดุลย์ พร้อมกับเปลี่ยนทรึริเทะไปเป็นการคล้องคอ ช่วงที่เปลี่ยนเป็นคล้องคอ มือซ้ายของโทริดึงอุเกะให้มาอยู่ติดเป็นก้อนเดียวกัน - จากนั้นดันเข่าขึ้น สะโพกของโทริที่ติดกับอุเกะจะดันอุเกะขึ้นด้านบนในการทุ่ม - ถ้าเปลี่ยนจากการคล้องแขนที่คอเป็นเอารักแร้หนีบแขนขวาของอุเกะ และทุ่มลงจะเป็นท่า "โซโตมากิโกมิ / soto-makikomi"
Create Date : 20 มิถุนายน 2559 |
Last Update : 20 มิถุนายน 2559 23:51:53 น. |
|
0 comments
|
Counter : 10691 Pageviews. |
 |
|