ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
เมษายน 2564
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
22 เมษายน 2564
 
All Blogs
 
คชยุทธ์

“ยุทธหัตถี-คชยุทธ์” ศิลปศาสตร์และการสงครามบนหลังช้าง
"ช้าง" เป็นสัตว์ป่าขนาดใหญ่ มีถิ่นฐานที่อยู่อาศัยกระจัดกระจายทั่วผืนป่าและทุ่งกว้างในอินเดียกับแอฟริกา
.
ช้างกับมนุษย์ผูกพันกันมายาวนาน แต่ส่วนใหญ่มนุษย์จะอยู่ในฐานะของผู้ล่ามาตั้งแต่สมัยยุคน้ำแข็ง เมื่อกว่า 10,000 ปีที่แล้ว เราพบหลักฐานของโครงกระดูก "ช้างแมมมอธ" จำนวนมาก ที่ถูกนำมาใช้เป็นโครงสร้างที่พักอาศัย หนังนำมาทำเครื่องนุ่มห่ม กระดูกใช้ประดิษฐ์เป็นเครื่องเครื่องใช้ เครื่องทำนายและอาวุธครับ
.
ผ่านเวลามาอีกหลายพันปี ช้างกับมนุษย์เริ่มมีความสัมพันธ์ในเชิงเอื้อประโยชน์ระหว่างกันมากขึ้นกว่าแต่เดิม หลักฐานกว่า 4,000 ปี แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ในระยะเริ่มแรกระหว่างช้างกับมนุษย์ในภูมิภาคอินเดียเหนือ เมื่อมนุษย์สามารถนำช้างออกจากป่ามาเป็นพาหนะและอาวุธอันทรงพลัง ทั้งยังมีพัฒนาการของคติความเชื่อที่ทำให้ช้างกลายมาเป็น "สัตว์มงคล" ผู้ทรงพละกำลังและสง่างาม
.
แต่ก่อนที่จะใช้ช้างได้ ก็ต้องมีการ "คล้อง-จับช้าง" ออกมาจากป่าและมีต้องการ "ฝึกฝนช้าง" เพื่อใช้งานในงานด้านต่าง ๆ ให้ได้กันก่อนครับ 
.
นักบวชและปราชญ์โบราณในดินแดนอินเดียเหนือ ได้จดบันทึกพฤติกรรมของช้างไว้ แล้วนำมารวบรวมแบ่งหมวดหมู่ตามลักษณะของช้างประเภทต่าง ๆ เรียกว่า "ตำราคชศาสตร์" ต่อมาความรู้เรื่องการคล้องช้าง-สอนช้างจากอินเดียก็ได้เข้ามาสู่ชุมชนในลุ่มแม่น้ำต่าง ๆ ของภูมิภาคสุวรรณภูมิ ดินแดนที่มีช้างอาศัยอยู่มากมายพร้อม ๆ กับการเข้ามาของคติความเชื่อทางศาสนา เทคโนโลยี การปกครอง ผู้คนและการค้า
.
ตำราคชศาสตร์ของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงมีความคล้ายคลึงกับต้นกำเนิดในอินเดียมาก การสืบทอดภูมิปัญญาจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่งจะใช้วิธีการจดจำ การฝึกฝนปฏิบัติให้มีความชำนาญ มากกว่าจะเขียนเป็นตำรับตำราไว้ครับ
.
ตามตำราคชศาสตร์ฝ่ายสยาม จะเรียก "หมอเฒ่า" หรือหัวหน้าครูช้างในภาษาสันสกฤตว่า "พราหมณ์พฤติบาศ" และเรียก "ครูช้าง" ว่า "พราหมณ์หัศดาจารย์" ซึ่งนักบวชทั้งสองจะอยู่ร่วมกันในพิธีกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับช้างโดยเฉพาะ
.
*** ตำราคชศาสตร์แบ่งเป็น 2 ส่วนส่วนแรกเรียกว่า "คชลักษณ์" (Gajalakṣaṇa-Elephant Characteristics) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการดูลักษณะของช้างสำคัญ โดยให้สังเกตจากอวัยวะและสี เช่นลักษณะของช้างเผือกมีลักษณะอันเป็นมงคล 7 ประการคือ ตาสีขาว ขนสีขาว ผิวหนังสีขาว เพดานสีขาว เล็บสีขาว ขนหางขาวมีรูปคล้ายใบโพธิ์ และอวัยวะเพศสีขาว (คล้ายสีหม้อใหม่) ครับ
ถ้าเป็นช้างพลาย (เพศผู้) จะเรียกว่า "อัณฑโกศ" และช้างพัง (เพศเมีย) เรียกว่า "กระสอบ" ซึ่งลักษณะที่เป็นสีขาวมงคลใน "คชลักษณ์" จะมีหลายระดับด้วยกัน คือ ขาว เขียว เหลือง แดง ดำ ม่วง ไปจนถึงสีเมฆ
.
*** ส่วนที่สองของตำราคชศาสตร์ เรียกว่า "คชกรรม" (Gajakarma-Elephant Activities) เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการฝึกปฏิบัติ วิธีการสอน การฝึกหัดช้างป่า วิธีการหัดขี่ช้างเผือกหรือช้างมงคล การใช้เวทย์มนต์คาถาในการฝึกบังคับช้าง และวิธีปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน-ความสัมพันธ์กับช้างที่ฝึกครับ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยามี "กรมพระคชบาล" คอยดูแลเรื่องการฝึกฝนช้างและช้างศึกโดยเฉพาะ เล่ากันว่ากรมนี้น่าจะเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยเจ้าสามพระยา หลังจากตีเมืองเขมรพระนครหลวงเมืองนครธมได้ และได้กวาดต้อน นำพราหมณ์ที่เชี่ยวชาญด้านคชศาสตร์พร้อมตำราคชศาสตร์กลับมาด้วย
.
จนถึงสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศิลปศาสตร์แห่งคชสารเป็นที่นิยมมาก พระองค์เชี่ยวชาญวิชาคชศาสตร์และคชยุทธ ทรงฝึกฝนช้างทรงด้วยพระองค์เอง จนเป็นพระมหากษัตริย์นักรบบนหลังช้างที่ชำนาญการศึก จากหลักฐานบันทึกของชาวต่างชาติร่วมสมัยครับ 
.
ต่อมาในสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ทรงโปรดช้างมาก เพราะทรงฝึกฝนการขี่บังคับช้างมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อขึ้นครองราชย์จึงโปรดที่จะเสด็จออกโพนช้าง (กวาดต้อน) ด้วยพระองค์เองหลายครั้ง ทรงโปรดให้พัฒนาตั้งกรมพระคชบาลขึ้นเป็นกรมกองเป็นครั้งแรก
.
พระองค์ทรงมีกลเม็ดเคล็ดลับมากมายในการคล้องและฝึกช้าง จึงทรงโปรดให้รวบรวมเป็นตำราขึ้นเพื่อการสืบทอด โดยเน้นเฉพาะไปที่ผู้ที่จะมาเป็นตำแหน่ง “สมุหพระคชบาล” เท่านั้น ในขณะเดียวกันก็ทรงแยกกรมพระคชบาลให้ไปอยู่ในบังคับบัญชาของสมุหกลาโหม ทรงตั้ง “กรมช้างต้น” (ช้างหลวง) ขึ้นใหม่ สังกัดอยู่กับกรมวังเพื่อใช้ในกิจการของพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์โดยเฉพาะครับ
.
การคล้องและฝึกฝนช้างจึงถือเสมือนเป็นกีฬาหรือ "คชศาสตร์" แห่งกษัตริย์ ที่กษัตริย์ทุกพระองค์จะต้องฝึกฝนฝีมือศาสตร์แห่งคชสารสงครามนี้ไว้ จะได้มีความสามารถมากเพียงพอ ซึ่งพระเพทราชา ทรงเป็นเจ้าทรงกรมในกรมพระคชบาลมาในสมัยพระนารายณ์ จึงมีฐานอำนาจและกำลังเพียงพอที่จะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในเวลาต่อมา
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตำราคชศาสตร์ ยังคงมีความสำคัญและยังคงใช้ประกอบพิธีกรรมของกรมพระคชบาลอยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเจริญของบ้านเมืองและเทคโนโลยีสงครามสมัยใหม่รวมถึงการคมนาคมที่สะดวกสบายขึ้น การใช้ช้างเพื่อเป็นพาหนะและการสงครามจึงลดลงครับ
ช้างเริ่มกลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญประดับพระบารมีแห่งพระมหากษัตริย์ จนถึงปี ร.ศ.129 กรมพระคชบาลจึงถูกยกเลิกไป ส่วนกรมช้างต้นนั้นถูกยุบเป็นกองช้างต้นในสมัยรัชกาลที่ 7  
.
และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 "กองช้างต้น" ก็ถูกยุบลงอีกเช่นกัน ในปัจจุบันจึงคงเหลือเพียง หน่วยงานหนึ่งในแผนกราชพาหนะของสำนักพระราชวังครับ
.
-------------------------------------
*** ย้อนกลับมาที่การคล้องจับช้างมาใช้งานตามตำรา “คชกรรม” ที่เรียกกันว่า “การคล้องช้าง” (Elephant Round-up) ถือเป็นศิลปศาสตร์สำคัญของพระมหากษัตริย์ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ เจ้าทรงกรมและขุนศึกระดับสูงในอดีต เพื่อนำมาใช้เป็นพาหนะในยามสงบ และใช้เป็นคชาธารในยามพระราชสงคราม
.
ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงมักจะเสด็จออกเพื่อไปวังช้างด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ก็เพื่อฝึกฝนร่วมกับข้าราชบริพารให้มีความชำนาญ ทั้งยังฝึกการขับขี่ช้าง และฝึกใช้ช้างในการพระราชสงครามครับ
.
วิธีการคล้องช้างในสมัยโบราณมีอยู่สองแบบ แบบแรกคือไปจับในป่า แบ่งออกเป็นสองวิธี เรียกว่า “โพนช้าง” คือไล่ติดตามโขลงช้าง แล้วคล้องจับเอาเฉพาะตัวที่ต้องการออกมาเลย และ “วังช้าง” คือไปตั้งค่ายเป็นกับดักช้างในป่า จับช้างแบบยกโขลง 
.
แบบที่สองคือต้อนช้างมาคล้องที่เพนียด ไล่ต้อนให้ช้างเข้ามาจนมุม แล้วเลือกจับตัวที่ต้องการไว้ ส่วนตัวอื่น ๆ ก็ปล่อยกลับเข้าป่าไป เมื่อขาดช้างใช้งานก็ค่อยต้อนเข้ามาจับกันใหม่
..
เพนียด (ออกเสียงว่า พะ - เนียด) ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า kraal (คราล) หมายถึง "คอกสัตว์" ครับ
.
เพนียดสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะเมืองอยุธยา เรียกกันว่าเพนียดทุ่งทะเลหญ้า ซึ่งก็คล้องช้างหน้าพระที่นั่งให้แขกบ้านแขกเมืองชมกันจนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงเลิกราไป
.
การคล้องช้างในเพนียดกลายมาเป็นมหรสพในสมัยกรุงรัตโกสินทร์ ผู้คนต่างนิยมมาดูกันล้นหลามโดยเฉพาะวัยรุ่นชาย เพราะดูสนุก ตื่นเต้น ต้องคอยลุ้นให้ทางฝ่ายผู้คล้อง คือพวกเจ้าหน้าที่ในกรมพระคชบาลหรือกรมช้างนั้น คล้องช้างป่าที่ดุร้ายให้ได้ โดยอาศัยทั้งความกล้า ปฏิภาณและความชำนาญอย่างยิ่ง 
.
ส่วนผู้ชมนั้น ก็ต้องระมัดระวังตัวไม่แพ้กัน ช้างป่าไม่สนใจใครอยู่แล้ว ยิ่งอารมณ์เสีย ใครอยู่ใกล้ก็ซวยไปครับ !!!
.
องค์ประกอบของเพนียดคล้องช้าง มี “พระที่นั่งคชประเวศมหาปราสาท” เป็นที่สำหรับประทับทอดพระเนตร “ศาลปะกำ” สถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมก่อนจับช้างเข้าเพนียด “เสาซุงหัวบัว” ปักเว้นระยะเพื่อทำเป็นคอก “ช่องกุด” ประตูเล็กๆ สำหรับเจ้าหน้าที่เข้าออก “เชิงเทินก่ออิฐ” เป็นกำแพงล้อมรอบเพนียด “เสาโตงเตง” เป็นไม้ซุงท่อนใหญ่คู่ที่ห้อยจากด้านบน ปลายลอย มีเชือกดึงออกไปด้านข้าง เพื่อเปิดให้ช้างเข้า แต่ออกไม่ได้
.
--------------------------------------------
*** “ชาวกูย-กวย” เป็นกลุ่มชนที่เกี่ยวข้องและผูกพันกับการคล้องและเลี้ยงช้างมาแต่สมัยโบราณ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนนักว่า สืบทอดวิชาคชศาสตร์มาจากราชสำนักเขมรโบราณหรือจะเกี่ยวข้องกับราชสำนักอยุธยาในการคล้องการฝึกช้างอย่างไร 
.
ชาวส่วยเป็นกลุ่มคนเดียวในประเทศไทย ที่ยังคงมีตำราคชศาสตร์และการประกอบพิธีกรรมในการคล้องช้างอย่างมีระเบียบแบบแผนที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันครับ
.
ชาวส่วยจะออกไปจับช้างในป่าด้วยการคล้องช้าง เรียกกันว่า "โพนช้าง" โดยแบ่งหน้าที่เป็น “มะหรือจา” มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยควาญ เป็นผู้ถือท้ายหรือผู้ที่ช้างต่อ “หมอสะเดียง” เป็นผู้ชำนาญในการควบคุมช้าง มีประสบการณ์ในการจับช้างป่า จะขี่ช้างอยู่ตรงคอ “หมอสะดำ” ทำหน้าที่ควาญ เรียกว่า ควาญเบื้องขวา มีฐานะสูงกว่า สะเดียงสะดำต้องมีประสบการณ์เคยออกจับช้างป่า มาแล้วอย่างน้อย 11 เชือกขึ้นไป บางทีเรียกว่า “หมอใหญ่”
.
“ครูบา” เป็นหมอช้างใหญ่ เป็นหัวหน้าในกลุ่มย่อยหรือหมู่ช้างต่อ จะออกจับช้างป่าได้เมื่อได้รับอนุญาตจากครูบาใหญ่ บางครั้งครูบาออกจับช้างได้ตามลำพังครับ
.
“ครูบาใหญ่” เป็นหมอช้างใหญ่ “ประกำหลวง” หรือ “หมอเฒ่า” เป็นผู้อำนายการออกจับช้างแต่ละครั้ง เป็นประธานในพิธีเซ่นผีประกำ และในการประกอบพิธีกรรมทั้งหลาย ในขณะเดินป่าครูบาใหญ่ก็จะเป็นผู้ชี้ขาด และตัดสินใจ ในกลยุทธการคล้องช้างทุกครั้ง
..
---------------------------------------
*** ในการคชยุทธ์-ยุทธหัตถีบนหลังช้าง ช้างเป็นพาหนะสำคัญในการพระราชสงครามของยุคสงครามจารีต เมื่อเกิดสงคราม เหล่าช้างศึกพร้อมควาญจำนวนมากจะถูกเกณฑ์เข้ามาร่วมกองทัพ โดยมีกรมพระคชบาลเป็นแม่กองใหญ่ เหล่าขุนศึกผู้ควบคุมช้างจะจัดกระบวนทัพช้างเป็นแถวตามหลัก "พิชัยสงคราม" โดยมีพระมหากษัตริย์ที่ประทับบนคอช้างศึกเป็นผู้นำออกคำสั่งผ่านการโบกเครื่องหมายธงบนสัปคับหลังช้างครับ
.
ในสงครามครั้งหนึ่ง อาจจะมีช้างร่วมศึกด้วยข้างละประมาณ 200 - 300 เชือก หรือมากกว่า ช้างจะผ่านพิธีกรรม ลงยันต์ตามตัวเพื่อให้หนังเหนียวและศักดิ์สิทธิ์ พร้อมแต่งช้างให้พร้อมในการรบด้วยการใส่เกราะขาด้วยโซ่พันหรือเกราะมีหนาม ใส่เกราะงวงที่มีหนามแหลม ใส่เกราะงา แล้วกระตุ้นให้ช้างให้ตกน้ำมัน ดุร้าย ก่อนออกทำสงคราม หรือกรอกเหล้าเพื่อให้ช้างเมา ให้สูดฝิ่น-กัญชาหรือควันศักดิ์สิทธิ์ จนเกิดเมาเป็นความฮึกเหิม ใช้ผ้าสีแดงผืนใหญ่ที่เรียกว่า "ผ้าหน้าราหู” ปิดตาช้างให้เห็นแต่เฉพาะด้านหน้าเพื่อไม่ให้ช้างตกใจและเสียสมาธิในการพุ่งไปข้างหน้า หันมาชนกับช้างพวกเดียวกันที่อยู่ด้านข้าง 
.
ในการประจัญบาน ช้างศึกอาจมีคนนั่งเพียง 1 - 2 คน โดยถอดสัปคับหลังช้างออก ช้างศึกประเภทนี้มีมากในกองทัพ เคลื่อนที่เร็วตามฝีเท้า และสามารถเข้าตีทัพไพร่ราบฝ่ายศัตรูให้แตกกระจายได้ง่ายกว่าด้วยธนูและหอกซัดครับ
.
ส่วนช้างศึกหลวง มีตำแหน่งของหลังช้าง 3 คน คือ ตำแหน่งบนคอช้าง พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ มหาเสนาระดับแม่ทัพ จะเป็นผู้ควบคุมช้างเข้าทำการต่อสู้เอง โดยอาวุธประเภทต่าง ๆ ทั้งธนูและหอกซัดในระยะใกล้และใช้ง้าวเมื่อประชิดตัว ตำแหน่งกลางช้าง จะเป็นตำแหน่งที่จะให้สัญญาณการปรับรูปทัพและส่งอาวุธที่อยู่บนสับคับให้แก่คอช้าง โดยอาวุธได้แก่ ง้าว, หอก, โตมร, หอกซัด และเครื่องป้องกันต่าง ๆ เช่น โล่ เขนเป็นต้น และตำแหน่งควาญช้างท้าย ซึ่งจะเป็นผู้บังคับช้างจะนั่งอยู่หลังสุด คอยปัดอาวุธไม่ให้ศัตรูเข้ามาทำร้ายจากทางด้านหลัง
.
ช้างทรงของพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ จะมีขุนทหารฝีมือดี 4 คนประจำตำแหน่งเท้าช้างทั้ง 4 ข้างด้วย เรียกว่า "จาตุรงคบาท" ซึ่งไม่ว่าช้างทรงจะไปทางไหน จาตุรงคบาทต้องตามไปคุ้มกันด้วย และจะมี จาตุรงคบาทกลางช้างและท้ายช้างสำรอง ตามเสด็จช้างทรงอย่างคล่องแคล่วเพื่อสลับผลัดเปลี่ยนหากตำแหน่งนั้นตายลง
.
*** แต่กระนั้นการชนช้างแบบตัวต่อตัวระหว่างผู้นำหรือพระมหากษัตริย์ ในยุคกรุงศรีอยุธยา ที่เรียกว่า “การกระทำยุทธหัตถี" จะเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากเริ่มมีเทคโนโลยีการใช้ปืนตะวันตกเข้ามาเกี่ยวข้องในการสงครามมากขึ้น สงครามแบบโบราณเริ่มเปลี่ยนแปลงไป พระมหากษัตริย์ไม่นิยมนำช้างศึกออกนำหน้ากองทัพเองเช่นในอดีตอีกแล้ว เพราะเสี่ยงกับลูกปืนที่เล็งยิงตำแหน่งผู้นำที่ประทับบนคอช้างได้ง่ายครับ
เครดิต ; FB
วรณัย พงศาชลากร
EJeab Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 22 เมษายน 2564
Last Update : 6 พฤษภาคม 2564 22:00:42 น. 1 comments
Counter : 528 Pageviews.

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs links 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 13 พฤษภาคม 2564 เวลา:16:46:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.