ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2563
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
1 ตุลาคม 2563
 
All Blogs
 
พระพุทธรูปนาคปรก

พระพุทธรูปนาคปรก
จากพระราชวังสนามจันทร์
วิษัยนครบายน ที่สาบสูญไปจากนครปฐม
“...ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังคงมีแนวเขตเมืองโบราณเพียงแห่งเดียวในขณะนั้นที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน ตรงบริเวณที่เป็นที่ตั้งของ “พระราชวังสนามจันทร์” (สระน้ำจันทร์) ในปัจจุบัน มีขนาดเล็กกว่าแนวเขตเมืองโบราณที่เพิ่งสำรวจพบใหม่ (เมืองรูปวงกลม) ในภายหลัง พระราชพงศาวดารในรัชกาลที่ 4 ได้ให้รายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งอาจทำให้เราสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่า บริเวณเดียวกันนี้เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิมของกษัตริย์แห่งเมืองนครไชยศรีมาก่อน ...ในช่วงแรกของการบูรณะพระปฐมเจดีย์นั้น ยังคงมีผู้พบเห็นซากปรักหักพังของเจดีย์และวัดโบราณจำนวนมาก อย่างที่ว่า “ติดเนื่องกันไปไม่ขาดระยะยิ่งกว่ากรุงเก่า” รวมทั้งซากพระราชวังเดิม ที่อยู่ห่างจากพระปฐมเจดีย์ไปทางตะวันตกประมาณ 30 เส้น (ราว 1,200 เมตร) หลักฐานการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ยืนยันว่าเป็นบริเวณเดียวกันกับพื้นที่ ที่เห็นแนวกำแพงดินชัดเจน กำแพงดินที่มีแผนผังคล้ายสี่เหลี่ยมคางหมูขนาดความกว้างวัดจากแต่ละด้าน ประมาณ 1,100 * 900 เมตร ซึ่งก็คือบริเวณที่เรียกว่า “สนามจันทร์” นั่นเอง ภายในบริเวณดังกล่าวยังมีซากโบราณสถานหลงเหลืออยู่ อาทิ ฐานปราสาทและท้องพระโรง โบสถ์พราหมณ์ สระน้ำ กำแพงชั้นในและชั้นนอก... 
...แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าซากโบราณสถานเหล่านี้ได้เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา รวมทั้งยังได้ถูกรื้อทำลายจนสูญหายไปหมดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องจากพวกจีนไปตั้งที่ดินทำไร่ ...ขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ความเสียหายก็ยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ...เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ตัดสินพระทัยก่อสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นในบริเวณเดียวกัน ... 
...สนามจันทร์ที่อาจเคยเป็น “พระราชวังเดิมของกษัตริย์แห่งนครไชยศิริ” (? ตามตำนาน) นั้น ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่บอกได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยใด....เป็นไปได้หรือไม่ที่แนวเมืองโบราณที่ไม่ชัดเจนสม่ำเสมอ ...ที่มีร่องรอยขงสระน้ำโบราณ ...จะเคยเป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างโบราณอย่างใดอย่างหนึ่งในอดีตมาก่อน... 
...พงศาวดารรัชกาลที่ 4 ให้รายละเอียดว่า ในการขุดสำรวจพื้นที่รอบพระปฐมเจดีย์ ได้มีการพบพระพุทธรูปอีกจำหนวนหนึ่งในจอมปลวกใหญ่ใกล้กับหมู่กุฏิสงฆ์ จึงได้นำมาเก็บรักษาไว้ในวัด พระพุทธรูปที่พบนั้นมีลักษณะตามแบบศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ใหม่ที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องจากเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่าที่ตั้งของเมืองนครปฐมโบราณ ยังคงมีความสำคัญอยู่มากในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 
     การสร้างพระเจดีย์ ได้มีการซื้ออิฐที่มีผู้รื้อมาจากวัดเก่า ๆ ในละแวก นำมาขาย ซึ่งได้ทำลายโบราณสถานหลายแห่ง นอกเหนือจากอิฐที่ไปขุดเอาจากโบราณสถานแล้ว ยังมีการสั่งเผาอิฐเพิ่มเติมอีก ...มีการจ้างกลุ่มชาวมอญ ที่อพยพมาจากพม่า รวมทั้งใช้แรงงานทาส จ้างแรงงานชาวจีนให้มาเผาอิฐและก่ออิฐ.... 
     ในปี 2403...การก่อสร้างพระปฐมเจดีย์หยุดชะงัก ด้วยเพราะพังทลาย เลือนทรุดลงมาจากเหตุพายุมรสุม ....จึงได้มีการเปลี่ยนจากการสร้างทับของโบราณเดิม มาเป็นครอบทับทั้งองค์โดยไม่มีส่วนใดยึดติดกับตัวเจดีย์เก่า ได้มีการปรับดินใหม่ โดยการขุดนำดินจากที่อื่นมาถม ...” ( เก็บความจาก ฌ็อง บวสเซอลิเยร์: การก่อสร้างปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ 2521 – เพ็ญศิริ เจริญพจน์ (แปล) 2552)
--------------------------------
     ในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่ออิทธิพลทางการเมืองของจักรวรรดิบายนในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ขยายออกมายังดินแดนลุ่มแม่น้ำท่าจีน คงได้เข้าครอบครองเมืองนครปฐมโบราณและได้สร้างเมืองที่มีกำแพงดินแผนผังสี่เหลี่ยมคางหมู (ตามที่เอกสารของ ฌ็อง บวสเซอลิเยร์ ระบุขนาดไว้) ทางตะวันตกของเมืองรูปวงกลม ซ้อนทับบนซากอาคารที่อาจเคยเป็นวัดหรือพระสถูปเจดีย์ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี  มีขนาดเท่ากับเมืองโบราณสระโกสินารายณ์ที่มีความกว้างยาวประมาณ 1*1 กิโลเมตร มีปราสาทก่อศิลาแลงที่เรียกว่า “จอมปราสาท” อยู่กึ่งกลาง ในเขตอำเภอบ้านโป่งจังหวัดราชบุรี 
     เมืองโบราณยุคบายนที่พระราชวังสนามจันทร์ จึงอาจเคยมีชื่อนามใดชื่อนามหนึ่งดังที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ (K.908) จำนวน 23 ตำบล ที่กล่าวว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงสร้างพระรัตนตรายา ชยพุทธมหานาถ (Ratnatraya – Jayabuddhamahánáthas) มาประดิษฐาน อย่างเมืองโกสินารายณ์ ที่อาจคือชื่อนาม ศัมพูกปัฏฏนะ เมืองสุโขทัย ที่อาจมีขื่อนามว่า ศรีชยเกษมบุรี ลพบุรีคือละโว้ทยปุระ สุพรรณภูมิคือสุวรรณปุระ ราชบุรีคือชยราชบุรี ปราสาทเมืองสิงห์คือศรีชยสิงหบุรี และเมืองเพชรบุรีคือศรีชยวัชรบุรี  
เมืองโบราณบายนที่พระราชวังสนามจันทร์ คงได้ถูกรื้อทำลายไปจนหมด เช่นเดียวกับเมืองโบราณบายนที่สระโกสินารายณ์ ทั้งเหตุจากในช่วงแรกของการบุกเบิกที่ดินโดยชาวจีนเพื่อทำการเกษตร ช่วงการสร้างพระปฐมเจดีย์ ที่มีการรื้ออิฐไปขาย ขุดดินไปถมฐานและการขุดดินนำมาเผาอิฐจำนวนมากนำไปใช้ในการก่อสร้างพระปฐมเจดีย์ทรงระฆังใหญ่ รวมทั้งการสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นใหม่ตรงบริเวณที่เรียกว่า “เนินปราสาท”
พระพุทธรูปนาคปรก (Buddha Sheltered by a Naga) ที่พบจากพระราชวังสนามจันทร์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน ใกล้กับอุโบสถทางตะวันออกของตัวพระเจดีย์ใหญ่) มีพุทธลักษณะตามแบบ “พระรัตนตรายา ชยพุทธมหานาถ” ในงานศิลปะนิยมแบบบายน เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งสมาธิประทับนั่งบนขนดนาค 3 ชั้น มีนาคปรก 7 เศียรแผ่พังพาน พระพักตร์ยิ้มแบบบายน มวยพระเกศาขมวดเป็นเม็ดพระศก ขีดเป็นตารางต่อเป็นแนวตรงขึ้นไป มีอุษณีษะ (พระเกตุมาลา)  มัดมวยผมรัดเกล้า 3 ชั้น แต่ละชั้นประดับด้วยกลีบบัวซ้อนขึ้นไป สุดปลายที่ดอกบัวตูมตรงส่วนยอด ไม่มีเครื่องประดับทั้งกรอศอ พาหุรัด แต่จะประดับกุณฑลที่ติ่งพระกรรณ   
นอกจากพระพุทธรูปนาคปรกตามแบบชยพุทธมหานาถแล้ว ยังได้มีการพบพระพุทธรูปนาคปรกในความหมายของ “พระอาทิพุทธะ – มหาไวโรจนะ” (Ādi - Mahāvairocana) สวมมงกุฎศิราภรณ์ทรงเทริดแบบราชา ตามคติวัชรยานในงานศิลปะแบบศิลปะบายน (พระยาศิริชัยบุรินทร์ (ปลัดเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี) มอบให้จัดแสดงอยู่ในพระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน) เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระพุทธรูปนาคปรกและชิ้นส่วนแตกหักที่ขุดพบจากจอมปลวกใหญ่ใกล้กับหมู่กุฏิสงฆ์ (ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพระปฐมเจดีย์พิพิธภัณฑสถาน) ปูนปั้นรูปบุคคลประดับศาสนสถาน ในงานศิลปะบายน จากเจดีย์จุลประโทน (เก็บรักษาในห้องคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์) รวมทั้งฐานรูปเคารพ “สนานโทรณี” หินทราย ตามขนบแบบบายน ที่ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ ก็ล้วนแต่ได้ช่วยยืนยันร่องรอยหลักฐานของเมืองโบราณบายน ที่สูญหายไปจากพระราชวังสนามจันทร์ครับ
เครดิต :FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy

ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
https://abhinop.blogspot.com
https://abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.




Create Date : 01 ตุลาคม 2563
Last Update : 23 มีนาคม 2564 15:44:16 น. 2 comments
Counter : 762 Pageviews.

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 20 ธันวาคม 2563 เวลา:16:52:30 น.  

 
ยังมีสาระเรื่องราวดี ๆ ที่อยากเล่าตามมาดูเราได้ที่ ;
My blogs link 👆
https://sites.google.com/site/dhammatharn/
//abhinop.blogspot.com
//abhinop.bloggang.com
ททมาโน ปิโยโหติ #ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 23 มีนาคม 2564 เวลา:15:23:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.