bloggang.com mainmenu search









พญาแร้ง .. ไม่แข็งแรง และหัวล้าน




แร้ง หรือ อีแร้ง เป็นนกขนาดใหญ่จำพวกหนึ่ง อยู่ในกลุ่มนกล่าเหยื่อเช่นเดียวกับเหยี่ยว อินทรี หรือนกเค้าแมว โดยที่แร้งถือว่าเป็นนกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนี้

แร้ง จะแตกต่างจากไปนกในกลุ่มนี้คือ จะไม่ล่าเหยื่อหรือกินสัตว์เป็น ๆ เป็นอาหาร แต่จะกินเฉพาะซากสัตว์ที่ตายแล้ว อันเนื่องจากอุ้งเท้าของแร้งนั้นไม่แข็งแรงพอที่จะขย้ำเหยื่อได้

แร้งมีรูปร่างโดยรวมคือ ปีกกว้าง หางสั้น มีคอที่ยาว หัวเล็ก บริเวณต้นคอมีขนสีขาวรอบเหมือนสวมพวงมาลัย มีลักษณะเด่นคือ ขนที่หัวและลำคอแทบไม่มีเลยจนดูเหมือนโล้นเลี่ยน

สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะพฤติกรรมการกินซากสัตว์ จึงไม่มีขนเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรค และเพื่อความสะดวกในการในการมุดกินซากด้วย แต่แร้งก็ยังสามาถจับสัตว์ขนาดเล็ก เช่น แมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก เช่น กิ้งก่า จิ้งจก หรือไข่นกชนิดอื่น กินเป็นอาหารในบางครั้งได้อีกด้วย


การจำแนก

แร้งแบ่งออกได้เป็น 2 วงศ์ใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ

แร้งโลกเก่า จัดอยู่ในวงศ์ Accipitridae อันเป็นวงศ์เดียวกับเหยี่ยวและอินทรี ทำรังและวางไข่บนต้นไม้หรือหน้าผาสูง และหาอาหารโดยการใช้สายตามองจากที่สูงขณะบินวนอยู่บนท้องฟ้า แร้งในวงศ์นี้พบได้ทั่วไปในทวีปแอฟริกา เอเชียและยุโรป

แร้งโลกใหม่ จัดอยู่ในวงศ์ Cathartidae มีรูปร่างที่แตกต่างไปจากแร้งโลกเก่าอย่างเห็นได้ชัด โดยแร้งในวงศ์นี้พบได้เฉพาะทวีปอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ มีชื่อสามัญเรียกในภาษาอังกฤษว่า Condor โดยทั่วไปแล้วจะมีสีสันที่สวยงามกว่าแร้งโลกเก่า วางไข่บนพื้นดิน โดยไม่ทำรัง และหาอาหารโดยการดมกลิ่น

แร้งทั้ง 2 กลุ่ม มีพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน คือ กินซากสัตว์หรือซากศพมนุษย์ที่ตายไป โดยมักจะอยู่รวมเป็นฝูง และบินวนไปรอบ ๆ ที่มีซากศพหรือซากสัตว์ตายเพื่อรอจังหวะกิน แร้งจะตะกละตะกลามมากเวลาลงกินอาหาร มักจะจิกตีหรือแย่งชิงกันเสียงดังบ่อย ๆ

เวลากิน จึงมีสำนวนในภาษาไทยว่า "แร้งทึ้ง" อันหมายถึง พฤติกรรมการแย่งชิงกันอย่างน่าเกลียด


ชนิดที่พบในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยพบแร้งทั้งหมด 5 ชนิด โดยแบ่งเป็นแร้งอพยพ 2 ชนิด คือ แร้งดำหิมาลัย (Aegypius monachus) และ แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Gyps himalayensis) แร้งประจำถิ่น 3 ชนิด คือ พญาแร้ง (Sarcogyps calvus), แร้งสีนํ้าตาล (Gyps indicus) และแร้งเทาหลังขาว (G. bengalensis) ซึ่งทุกชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองทั้งหมด

แร้งชนิดที่ได้ชื่อว่าหายากที่สุด คือ แร้งแคลิฟอร์เนีย (Gymnogyps californianus) หรือ แร้งคอนดอร์แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นแร้งในวงศ์แร้งโลกใหม่ โดยที่แร้งชนิดนี้เคยเกือบสูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ ในปี ค.ศ. 1986 มีแร้งชนิดนี้เหลืออยู่เพียงแค่ 5 ตัว ในธรรมชาติเท่านั้น โดยที่ปัจจุบันนี้ได้มีสวนสัตว์และนักอนุรักษ์จำนวนหนึ่งทำการเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว


ในวัฒนธรรมและความเชื่อของไทย

แร้งในความเชื่อของมนุษย์ แทบทุกวัฒนธรรมจะถือว่าเป็นนกที่อัปมงคล เพราะพฤติกรรมที่กินซากศพและรูปร่างหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัว ในความเชื่อของคนไทย แร้งเป็นนกที่นำมาซึ่งความอัปมงคลเช่นเดียวกับนกแสก

เมื่อสมัยอดีต ประเพณีการปลงศพในบางพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญหรือในบางวัฒนธรรม บางครั้งจะทิ้งซากศพไว้กลางแจ้ง มักจะมีแร้งมาเกาะคอยรอกินศพอยู่บริเวณรอบ ๆ นั้นเสมอ ๆ

และเมื่อครั้งที่เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างร้ายแรง ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๔ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๒ มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในพระนคร การเผาศพทำไม่ทัน จนต้องมีศพกองสุมกันที่วัดสระเกศ

มีแร้งลงมาจิกกินเป็นที่น่าสังเวชแก่ผู้พบเห็น จนมีคำกล่าวว่า "แร้งวัดสระเกศ" คู่กับ "เปรตวัดสุทัศน์"


และด้วยความที่แร้งเป็นนกขนาดใหญ่ที่หัวและคอล้านเลี่ยนดูคล้ายไก่งวง ในอดีตก็เคยมีคนไทยนำแร้งมาขายแก่ชาวต่างชาติ เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า โดยหลอกว่าเป็นไก่งวงมาแล้ว แต่ท้ายที่สุดความก็แตก เนื่องจากแร้งตัวนั้นได้บินหนีไปในที่สุด

ในวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป

แต่ในบางวัฒนธรรม แร้งก็มีความหมายที่แตกต่างออกไป เช่น ในสมัยอียิปต์โบราณ อักษรเฮียโรกริฟฟิกที่เป็นอักษรภาพตัวหนึ่ง (ในภาพ) หมายถึง "แม่" ก็นำมาจากแร้งอียิปต์ (Neophron percnopterus) ซึ่งเป็นแร้งชนิดหนึ่งในวงศ์แร้งโลกเก่าที่พบได้ในประเทศอียิปต์และแอฟริกาตอนเหนือ


สถานะในปัจจุบัน

ปัจจุบัน แร้งแทบทุกชนิดตกอยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์และหายาก เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกรุกราน และสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนไป ประเพณีการปลงศพก็ไม่ได้ทำอย่างในอดีต ทำให้แร้งจำนวนหนึ่งต้องตายลงเนื่องจากไม่มีอาหารกิน

และในอนุทวีปอินเดีย แร้งหลายตัวต้องตายลงเนื่องจากไปกินซากสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเคมีและเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ



ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์ศุกรวาร สิริมานรมเยศนะคะ
Create Date :17 ธันวาคม 2553 Last Update :17 ธันวาคม 2553 11:20:09 น. Counter : Pageviews. Comments :0