bloggang.com mainmenu search

 

 

 

       ถ้าเอ่ยถึง "กาแฟขี้ชะมด" แล้วละก็วันนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงชื่อเสียง ของกาแฟชนิดนี้ จุดเริ่มต้นที่มาของกาแฟขี้ชะมด มาจาก ประเทศอินโดนีเซีย แหล่งผลิตกาแฟโรบัสต้า แหล่งใหญ่ของโลก แต่สำหรับคนไทยแล้วละก็วันนี้ ไม่ว่าตลาดโลกต้องการอะไร คนไทย เราสามารถทำออกมาแข่งได้หมด วันนี้ ประเทศไทยเราก็มีแหล่งผลิตกาแฟขี้ชะมดออกมาจำหน่ายเช่นกัน

นายชินวัตร มนตรีประสาท เจ้าของฟาร์มกาแฟชะมด Goat ชุมพร

 

       วันนี้ ถ้าใครเดินทางไป จังหวัดชุมพร ของฝากที่ขึ้นชื่อ และติดไม้ติดมือมาฝากคนทางบ้าน หนึ่งในนั้น ก็ต้องเป็นกาแฟทูอินวัน หรือ เมล็ดกาแฟสด และชื่อเสียงที่โด่งดังของกาแฟชุมพร จึงได้เป็นที่มาของงาน คอฟฟี่เฟสติวัล ได้รวบรวมกาแฟขึ้นอยู่ของจังหวัดชุมพรมารวมไว้ที่งาน และหนึ่งในไฮไลท์ของงานนี้ ก็คือ กาแฟขี้ชะมด จากฟาร์ม ของ นายชินวัตร มนตรีประสาท เจ้าของฟาร์มกาแฟขี้ชะมด Goat หลังสวน จังหวัดชุมพร

กาแฟขี้ชะมด ในซองขนาด 100 กรัม ราคา 2,000 บาท        ก่อนอื่น แนะนำกาแฟขี้ชะมดให้รู้จักกันก่อน สำหรับคนที่ไม่ใช่คอกาแฟ กาแฟชนิดนี้มาจากไร่บนเกาะสุมาตรา โดยเริ่มต้นจากชาวไร่กาแฟจะเลี้ยงชะมดพันธุ์พื้นเมืองนี้ไว้ในไร่กาแฟและปล่อยให้มันกินผลของกาแฟสุกที่อยู่ในไร่ เมื่อชะมดถ่ายมูลของมันออกมาก็จะมีเมล็ดกาแฟติดออกมาด้วย

เห็นป้ายนี้ที่หลังสวน จ.ชุมพรแวะไปชิมกาแฟชะมดได้เลย

 

       ซึ่งที่มาของจุดเริ่มต้นจริง เกิดจากความบังเอิญ ที่ชาวอินโดนีเซียไปเดินป่าแล้วพบเห็น ขี้ชะมด มีกาแฟที่ไม่ถูกย่อย ยังคงเป็นรูปเมล็ดอยู่ จึงเกิดความเสียดายเอามาล้างและลองคั่วชงดื่มดู ปรากฏว่าได้รสชาติและกลิ่นที่หอมหวน แปลกใหม่ เข้มข้น แบบที่โรบัสต้าเดิมให้ไม่ได้ [จุดเด่นของกาแฟโรบัสต้า ขึ้นชื่อเรื่องความเข้มข้นของ Body แต่อ่อนเริ่องกลิ่นและรสชาติ] ต่อมาจึงเกิดการเพาะเลี้ยงชะมดในไร่กาแฟเป็นล่ำเป็นสันขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าโรบัสต้า
       
       สำหรับคอกาแฟ การดื่มกาแฟขี้ชะมด ถือว่า ได้ลิ้มรสชาติกาแฟ ที่ถือว่าสุดยอดแล้วในขณะนี้ เพราะเป็นกาแฟที่ราคาแพงและหายากที่สุดในขณะนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการได้มาของกาแฟขี้ชะมด ที่ยุ่งยาก และซับซ้อนกว่า การปลูกกาแฟทั่วไป เพราะชะมดเป็นสัตว์ที่กินยาก และเลือกกินเฉพาะเมล็ดกาแฟที่สุกดีแล้วเท่านั้น

 

       และสาเหตุที่ทำให้กาแฟขี้ชะมด มีกลิ่นหอมและลักษณะเฉพาะตัว เพราะในขณะที่ผลกาแฟอยู่ในท้องของตัวชะมดนั้นเมล็ดจะผสมกับเอมไซม์และสารเคมีที่อยู่ในกระบวนการย่อยของมัน ผู้เชี่ยวชาญกาแฟบางรายระบุว่ากาแฟที่เก็บจากมูลชะมดทำได้ยากกว่าเก็บจากต้นจึงทำให้กาแฟชนิดนี้มีราคาสูง
       
       สำหรับฟาร์มกาแฟขี้ชะมด ของลุงชินวัตร เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ เดิมลุงเลี้ยงชะมดไว้คู่หนึ่ง และที่อาชีพหลักของลุง คือ การปลูกกาแฟจำหน่าย และลองนำกาแฟมาให้ชะมดกิน ทำแบบลองผิดลองถูก มีความรู้เรื่องของกาแฟขึ้ชะมดอยู่บ้าง ว่าที่ประเทศอินโดนีเซีย เขามีกาแฟขี้ชะมดที่ราคาแพงมาก

ช่วงโปรโมทชั่นแก้วละ 199 บาท

 

       โดยลุงชินวัตร บอกกับเรา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชะมดเป็นสัตว์กินยาก เราต้องรู้จักวิธี ที่ทำให้เขากินกาแฟได้มาก โดยต้องศึกษาการเลี้ยงแบบลองผิดลองถูก และหาวิธีทำอย่างให้ให้เขามีกระเพาะอาหารที่ใหญ่ ก่อน เพื่อที่จะได้กินเมล็ดกาแฟได้มาก เริ่มจากให้เขากินอาหารอย่างอื่นก่อน พอกระเพาะใหญ่ได้ที่ เราก็จะให้กินเมล็ดกาแฟอย่างเดียว ก็จะกินเมล็ดกาแฟได้มาก พอถ่ายออกมาก็จะได้เมล็ดกาแฟออกมาในปริมาณที่ต้องการ ปัจจุบัน เมล็ดกาแฟ 20-30 กิโลกรัม จะได้กาแฟขึ้ชะมด เพียง 3 กิโลกรัมเท่านั้น
       
       สำหรับฟาร์มกาแฟชะมดที่หลังสวนแห่งนี้ ปัจจุบันมีชะมดอยู่ประมาณ 70 ตัว ให้ปริมาณกาแฟขี้ชะมดตัวละ 5 กิโลกรัมต่อปี ปริมาณที่ได้ถือว่า น้อยมาก ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งปัจจุบันมีส่งจำหน่ายที่ แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดชุมพร หลักๆ ที่สวนเกษตรลุงดำ ราคาขายต่อกิโลกรัมประมาณ 20,000 บาท ราคาจะขึ้นอยู่กับการเก็บบ่มเมล็ดกาแฟด้วย ถ้าบ่มนานราคายิ่งแพง อย่างถ้าบ่มนานถึง 9 เดือน หรือ 1 ปี ราคาสูงไปถึงกิโลกรัมละ 1 แสนบาท ถ้าเก็บถึง 3 ปี กิโลกรัมละ 2 แสนบาท อย่างฟาร์มกาแฟชะมดของลุง .... เก็บตั้งแต่ 3 เดือนถึง 9 เดือน

ชะมดพันธุ์เลี้ยงกินพืช

 

       ส่วนราคาขายกาแฟหน้าร้านต่อแก้ว ช่วงนี้ เดิมราคาแก้วละ 499 บาท สำหรับกาแฟเย็น แต่ช่วงนี้ เป็นช่วงจัดรายการ ทางร้านลุง ลดราคาให้พิเศษ เหลือ แก้วละ 199 บาท ซึ่งถ้าเป็นคอกาแฟแล้วละก็ถือว่าไม่แพง มีลูกค้านักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวชุมพร ก็จะต้องแวะมากินกาแฟขึ้ชะมด วันหนึ่ง ร้านกาแฟ ที่สวนลุงดำ ขายได้วันละ 30-40 แก้ว ยอดขายต่อเดือนอยู่ในหลักพันแก้ว ตอนนี้กำลังการผลิตยังไม่เพียงพอ จึงไม่ได้มีการขยายตลาดมากนัก
       
       สำหรับในส่วนของขั้นตอนเหมือนการทำกาแฟชนิดอื่นๆ ด้วยการนำไปล้างเอามูลชะมดออกให้หมดจด และตากแดดให้แห้ง 7-8 แดด ก่อนนำไปบ่ม และขั้นตอนสุดท้ายคือนำไปคั่วเพื่อพร้อมที่จะนำส่งให้บรรดาร้านกาแฟต่อไป ลุงบอกกับเรา จริงๆ การทำกาแฟชะมดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชะมดเป็นสัตว์ป่าการนำมาเลี้ยง ต้องใช้เวลาในการสร้างความคุ้นเคยกับธรรมชาติที่เรากำหนดให้ เพื่อจะได้ให้เขากินได้เยอะ วันหนึ่งต้องจ่ายค่าอาหารชะมดทั้ง 70 ตัวประมาณ 5,000 บาท ทุกวันนี้ กำไรในส่วนของกาแฟชะมดยังถือว่าได้ไม่มากนัก แต่รายได้หลักของเรามาจากกาแฟที่เราทำส่งให้กับทางเซเว่นอีเลฟเว่นมากกว่า
       
       โทร.08-1616-8992

เมล้ดกาแฟพันธุ์ โรบัสต้า สุกสีแดงอาหารของชะมด

 

       เก็บมาฝาก ปิดท้าย ด้วยข่าวขำ วงการกาแฟ
       กาแฟขี้ชะมดโดนล้มแช้มป์ โดย "กาแฟลิง"
       
       เมืองเกษตรกรรมอย่างไทยเรารู้จักใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์โดยนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงต้นไม้มานาน อีกทั้งรู้ว่าวัตถุดิบจากสัตว์บางชนิดสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคได้ ความมหัศจรรย์หนึ่งที่เกิดจากสัตว์แต่ไม่ได้ค้นพบในบ้านเรา ไปปรากฏที่อินโดนีเซีย คือขี้ชะมดนำไปทำกาแฟดื่มเรียกว่า กาแฟโกปิลูวัก (Kopi luwak) ก้าวขึ้นมาเป็นยอดกาแฟราคาแพงที่สุดในโลก แต่ล่าสุดกาแฟขี้ชะมดเสียแชมป์ด้านความอร่อยไปแล้วเมื่อนักชิมระดับโลกฟันธงว่ากาแฟขี้ชะมดรสชาติสู้ “กาแฟลิง” ไม่ได้
       
       ทิฟฟานี โซเปอร์ ประชาสัมพันธ์ของ 49th Parallel บริษัทจำหน่ายกาแฟชื่อดังแห่งแคนาดา เผยกับเหยี่ยวข่าว Vancouver Sun ว่ายอดกาแฟน้องใหม่มาแรงดังกล่าวชื่อ India Devon Estate 795 Arabica ปรุงจากเมล็ดกาแฟที่ลิงวอกในอินเดียบ้วนออกมา ลิงวอก (Rhesus Monkey) ชื่อวิทยาศาสตร์ Macaca mulatta

พบในภาคเหนือของไทย ในจีน และอัฟกานิสถานด้วย โซเปอร์เล่าว่าชาวไร่กาแฟในอินเดียนำเมล็ดกาแฟที่ลิงบ้วนทิ้งมาปรุงดื่มนานแล้ว แต่นำมาผสมกับเมล็ดกาแฟเก็บจากต้น ก่อนจะทดลองรสชาติกาแฟลิงล้วนๆเมื่อไม่นานที่ผ่านมา และพบว่ารสชาติโดนใจกว่า
       
       ผู้เชี่ยวชาญเผยว่ากาแฟลิงกลิ่นหอมยวนใจ รสชาติกลมกล่อมปิดท้ายด้วยรสหวานฉ่ำลิ้น เป็นผลมาจากเมล็ดกาแฟที่ลิงเลือกไปกินเปลือกนอกและบ้วนส่วนที่เหลือออกมาเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์และสุกเต็มที่ เว็บไซต์ Canada.com ระบุว่า ประธานคณะกรรมการตัดสินการปรุงกาแฟชิงแชมป์โลกเทคะแนนให้ India Devon Estate 795 Arabica ถึง 98 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100

ส่วนกาแฟขี้ชะมดได้ 74 คะแนน ร้าน 49th Parallel ขายกาแฟลิงปรุงแบบ Espresso ที่สาขาในแวนคูเวอร์ ถ้วยละ 2.36 ดอลลาร์สหรัฐ (75.50 บาท)
       

ขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์

สิริสวัสดิ์จันทรวารค่ะ

Create Date :07 ตุลาคม 2556 Last Update :7 ตุลาคม 2556 11:10:46 น. Counter : 3092 Pageviews. Comments :0