bloggang.com mainmenu search





ปลาหลดชนิดใหม่ของโลก
ตั้งชื่อว่าปลาหลดงวงช้าง
เพราะมีลักษณะของจมูก
และจะงอยปากยาวเหมือนงวงช้าง




จากการประชุมวิชาการเนื่องในปีสากลแห่งป่าไม้ และวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ จัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งเปิดเวทีนำเสนอทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในด้านป่าไม้ สัตว์ป่าขึ้น

ดร.ชวลิต วิทยานนท์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหิน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของสายพันธุ์ปลา ที่พบในประเทศไทยนั้นมีมากถึง 500 ชนิด

โดยเป็นจากปลาที่อาศัยในแหล่งต้นน้ำมากถึง 300 สายพันธุ์ โดยเฉพาะปลาถ้ำ ถือว่าเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจากจีน เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา

หลังจากที่ผ่านมาสำรวจพบปลาถ้ำแล้ว 9 ชนิดจากถ้ำที่แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี พิษณุโลก ขณะที่ปัจจุบันทางสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) เพิ่งมีการสำรวจสถานภาพของปลาทั่วโลกในปี 2554

พบว่า 80 ชนิดอยู่ในบัญชีเรดลิสต์ หรือสถานภาพน่าเป็นห่วง และในจำนวนนี้ 34 จาก 55 ชนิด ซึ่งเป็นปลาที่อาศัยในระบบนิเวศน์ป่าชายเลน ป่าเขาของไทยรวมอยู่ด้วย เช่น ปลาเสือตอ ปลาทรงเครื่อง ฉนาก กระเบนราหู เป็นต้น

“ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปลาที่อาศัยในป่าพรุของไทย ซึ่งมีราว 60 ชนิดนั้น พบว่าอย่างน้อย 10 ชนิดอยู่ในภาวะคุกคามอย่างมาก เช่น ปลาก้างพระร่วง ปลากัดช้าง ปลากริมแรด ปลากะแมะ ปลาปักเป้าท้องตาข่าย เป็นต้น

เนื่องจากป่าพรุ ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งถูกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ และเกิดปัญหาไฟไหม้ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับปลาในป่าพรุ หากมีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์

นอกจากนี้ยังพบว่ายังมีการจับปลาจากป่าพรุ เช่น ปลาซิวข้างขวาน ที่มีสีสันสวยงาม และพบมากในป่าพรุโต๊ะแดง จ.นราธิวาส ถูกจับออกไปขายปีละหลายแสนตัว ทั้งในตลาดไทย ตลาดญี่ปุ่นและยุโรปที่มักนิยมเลี้ยงเป็นฝูงในตู้พันธุ์ไม้น้ำ

ดังนั้นถ้ายังปล่อยให้มีการจับกันมากๆ แบบนี้อนาคตก็จะหายไปจากธรรมชาติได้” ดร.ชวลิต ระบุ

ดร.ชวลิต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีข่าวดีว่า จากการสำรวจปลาในแม่น้ำโขง ยังได้พบปลาหลดชนิดใหม่ของโลกในสกุล Macrognathus ซึ่งตั้งชื่อว่าปลาหลดงวงช้าง

เพราะมีลักษณะของจมูก และจะงอยปากยาวเหมือนงวงช้าง มีดวงเป็นลายจุดตามลำตัว 4 จุดเฉพาะบริเวณครีบหาง และมีความยาวมีลำตัว 20 เซนติเมตรเท่านั้น โดยจะพบได้เฉพาะบริเวณแก่งหินของแม่น้ำโขงตั้งแต่ปากเซ ของลาวจนมาถึงปากมูน ในเขต จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น

ทั้งนี้ยังอยู่ในระหว่างการตีพิมพ์ผลงานต่อไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2553 ก็เพิ่งพบปลาอีด ซึ่งเป็นปลาชนิดใหม่ของโลกที่พบในเขตท้องนา และเขตพื้นที่ชุ่มน้ำของบึงโขงหลง หนองกุดทิง จ.หนองคาย มาแล้ว

โดยปลาอีด เป็นปลาขนาดเล็กเพียง 2-3 เซนติเมตร มีความโดดเด่นตรงครีบของมันที่เหมือนกับกีตาร์แซฟเฟอร์ลิน เลยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidocephalichthys zeppelini อย่างไรก็ตาม ปลาชนิดนี้ยังพบได้ในแม่น้ำของเวียดนาม กัมพูชาด้วยแต่เป็นปลาที่อาศัยในแหล่งน้ำคุณภาพดีเท่านั้น

“ในภาพรวมแม้ว่าประเทศไทย จะมีความหลากหลายทางชีวภาพของปลาสูงมากในระดับโลก แต่ก็มีปัจจัยเรื่องภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อปลาโดยตรงก็คือการทำลายป่า

เพราะเป็นระบบนิเวศน์ที่เชื่อมต่อกัน จากต้นน้ำไปจนถึงทะเล ขณะที่โครงการพัฒนาเขื่อนกั้นแม่น้ำสายหลัก ที่ขาดความรอบคอบในการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ก็ส่งผลให้ปลาในแม่น้ำหลายชนิดสูญพันธุ์ไปจากโครงการเหล่านี้ แม้แต่การสร้างฝายแม้ว

ซึ่งมีกรณีศึกษาชัดเจนจากการสร้างฝายกั้นลำธาร ในดอยอินทนนท์เมื่อปี 2552 ที่ส่งผลให้ปลาค้างคาวอินทนนท์ ที่เคยสำรวจพบมาก่อน มีฝายมาปิดกั้นไม่สามารถเดินทางข้ามฝายแม้วไปอีกฝั่งได้

จนกระทั่งต้องมีการรื้อฝายออกไป นอกจากนี้ยังมีภัยจากปลาต่างถิ่น ปลาเลี้ยงเข้ามาทดแทน โดยเฉพาะปลานิล ปลาซักเกอร์ ที่แพร่ระบาดในแม่น้ำเกือบทุกสายอีกด้วย" ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด ระบุ


ขอขอบคุณ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


วุธวารสวัสดิ์วัฒนาค่ะ
Create Date :22 มิถุนายน 2554 Last Update :22 มิถุนายน 2554 8:08:26 น. Counter : Pageviews. Comments :0