bloggang.com mainmenu search







นกขุนทอง (Common Hill Myna, ชื่อวิทยาศาสตร์: Gracula religiosa) หรือ นกเอี้ยงคำ (คำเมือง) เป็นนกในตระกูลนกเอี้ยง (Sturnidae) มีถิ่นอาศัยอยู่ทั่วไปในเอเชียใต้ มีนิสัยพูดเก่งเหมือนนกแก้ว จึงเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นนิยมสูง


ถิ่นที่อยู่อาศัย

ถิ่นแพร่พันธ์หลักของนกขุนทองพบได้ในบริเวณโคนเทือกเขาหิมาลัย, ใกล้เขตแดนอินเดีย, เนปาล และ ภูฏาน แต่พบได้ใน ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, เขมร, เวียดนาม, สุมาตรา, อินโดนีเซีย และ บอร์เนียว และถูกนำเข้าไปอเมริกาด้วย

สร้างรังบนกิ่งไม้สูง อาศัยอยู่เป็นกลุ่มประมาณ 6 ตัวขึ้นไป ในประเทศไทยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 โดยพบ 2 ชนิดย่อย คือ G. r. intermedia และ G. r. religiosa ที่ตัวใหญ่กว่าชนิดแรก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "นกขุนทองควาย"


ลักษณะทั่วไป

ลำตัวป้อมสีดำ มีเหนียงสีเหลืองอมส้มคลุมทั่วท้ายทอย และเหนียงสีเหลืองแดงสดใต้ตา ขนาดประมาณ 29 เซนติเมตร ขนสีดำเหลือบเขียว มีเงาสีม่วงบริเวณหัวและคอ มีสีขาวแซมใต้ปีก ปากสีแดงส้ม ขาสีเหลืองสด ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน

ชอบร้องเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ ร้องเป็นเสียหวีดสูงตามด้วยเสียงอื่น ๆ เคลื่อนไหวบนกิ่งโดยเน้นการกระโดดข้างแทนการเดินต่างจากนกเอี้ยงทั่วไป


เสียงร้อง

นกขุนทองนั้นมีชื่อเสียงเรื่องเสียงร้องหลากหลายชนิด ทั้งหวีด กรีดร้อง กลั้ว ร้องเป็นทำนอง รวมถึงเลียนแบบเสียงมนุษย์ ซึ่งทำได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย นกหนึ่งตัวจะมีเสียงร้องตั้งแต่ 3 ถึง 13 แบบ มีการเลียนแบบเสียงร้องกันโดยเฉพาะในเพศเดียวกัน

แต่รัศมีในการเรียนรู้นี้ส่วนใหญ่น้อยกว่า 15 กิโลเมตรลงไป

มีความเข้าใจผิดทั่วไปว่านกขุนทองนั้นชอบเลียนแบบเสียงร้องนกพันธุ์อื่น ๆ แต่ที่จริงแล้วพฤติกรรมนี้ไม่มีโดยธรรมชาติ แต่เฉพาะในสัตว์เลี้ยงเท่านั้น


อาหาร

นกขุนทองกินทุกอย่างทั้งพืชและสัตว์ เช่นผลไม้ ลูกไม้ น้ำดอกไม้ และแมลงต่าง ๆ



นกขุนทองมีชนิดย่อยทั้งหมด 8 ชนิด ได้แก่

G. r. andamanensis (Beavan, 1867) พบในเทือกเขาอันดามัน, หมู่เกาะอันดามัน, บริเวณตรงกลางของเกาะนิโคบาร์
G. r. batuensis พบในเกาะบาตูและเกาะมันตาวี
G. r. halibrecta (Oberholser, 1926) พบในส่วนอื่นของหมู่เกาะนิโคบาร์
G. r. intermedia ภาคเหนือและภาคตะวันตกของอินโดนีเซียและตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียและจีนตอนใต้ (นกขุนทองเหนือ)

G. r. palawanensis พบในเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์
G. r. peninsularis พบในภาคกลางของอินเดีย
G. r. religiosa พบในภูมิภาคซุนดา (ยกเว้นเกาะสุลาเวสี) และเพนนิซูลาร์ มาเลเซีย (นกขุนทองใต้)
G. r. venerata พบในภาคตะวันตกของภูมิภาคซุนดา



ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์อาทิตยวาร สิริมานปรีดิ์เขษมค่ะ
Create Date :26 มิถุนายน 2553 Last Update :27 มิถุนายน 2553 10:54:58 น. Counter : Pageviews. Comments :0