bloggang.com mainmenu search





ปลาตะพัดออสเตรเลียจุด




ปลาตะพัดออสเตรเลียจุด ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scleropages leichardti ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) มีรูปร่างใกล้เคียงปลาตะพัด (S. formosus) ที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด แต่มีเกล็ดขนาดเล็กกว่า

ลักษณะลำตัวยาวเรียวกว่าปลาตะพัดชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด บริเวณสันหลังตรง ลำตัวบริเวณด้านหลังและด้านข้างลำตัวเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมเขียว หรือเหลืองอมเขียว บริเวณส่วนท้องสีจางกว่าลำตัว มีเกล็ดตามเส้นข้างตัว 35 เกล็ด

มีจุดสีส้มอมแดงหรือชมพู สะท้อนแสงบนเกล็ดแต่ละเกล็ดจำนวน 1-2 จุด ยิ่งโดยเฉพาะในปลาที่โตเต็มที่จะเห็นได้ชัดเจน อันเป็นที่มาของชื่อ ครีบมีขนาดเล็กกว่าปลาตะพัด ครีบหลังและครีบก้นสีส้ม ขอบครีบทั้งสองมีแถบสีน้ำตาลดำ

ครีบก้นยาวกว่าครีบหลังเล็กน้อยมีก้านครีบ 31 ก้าน ครีบหลังมีก้านครีบ 20 ก้าน หัวมีลักษณะกลมป้านและสั้นกว่าปลาตะพัด หนวดทั้งคู่ม้วนงอเข้าหาหัว ปลาในวัยเล็กไม่มีจุดสีแดงดังกล่าวและมีสีลำตัวออกเงินแวววาว

โตเต็มที่ประมาณ 90 เซนติเมตร พบในภาคตะวันออกและเหนือของประเทศออสเตรเลีย บริเวณรัฐควีนส์แลนด์และนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี นอกจากนี้ยังพบในประเทศอินโดนีเซีย บริเวณอิเรียนจายาและเกาะนิวกินี ด้วย

ปัจจุบันมีสถานภาพเป็นปลาที่ขึ้นบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เป็นปลาที่พบได้ยากในธรรมชาติ แต่สามารถเพาะขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงได้แล้ว

นิยมเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก จึงจัดเป็นปลาหายากในแวดวงปลาตู้ ทำให้มีราคาซื้อขายค่อนข้างสูง ซึ่งปลาตะพัดชนิดนี้มีนิสัยขี้ตกใจมากที่สุดในบรรดาปลาตะพัดทั้งหมด

มีชื่อเรียกในภาษาพื้นถิ่นว่า บารามุนดี (Barramundi) หรือ ซาราโตก้า (Saratoga)


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สวัสดิ์สิริศนิวาร สิริมานรมณีย์ค่ะ
Create Date :01 พฤษภาคม 2553 Last Update :1 พฤษภาคม 2553 23:28:12 น. Counter : Pageviews. Comments :0