bloggang.com mainmenu search





มังกรโคโมโด




มังกรโคโมโด (Komodo dragon, ชื่อวิทยาศาสตร์: Varanus komodoensis) เป็นสัตว์เลื้อยคลานในอันดับกิ้งก่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะโคโมโด รินคา ฟลอเรส และกิลีโมตาง ในอินโดนีเซีย

อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกับเหี้ย จัดเป็นเหี้ยชนิดที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบันนี้ ตัวโตเต็มวัยมีขนาดความยาวโดยเฉลี่ย 2-3 เมตร (6.6 ถึง 9.8 ฟุต) และมีน้ำหนักประมาณ 90 กิโลกรัม (150 ปอนด์)

มังกรโคโมโด มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเหี้ยชนิดอื่นทั่วไป แต่ทว่ามีลำตัวใหญ่และยาวกว่ามาก มีลำตัวสีเทาออกดำกว่า


ประวัติ

มังกรโคโมโด เป็นที่รู้จักครั้งแรกของชาวโลก เมื่อ พันตรีปีเตอร์ อูเวนส์ ทหารชาวดัตช์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสวนพฤกษชาติชวาที่เบาเตนซอร์ก (ปัจจุบัน คือ กรุงจาการ์ตา) ได้ยินเรื่องของมันและสนใจและต้องการข้อมูลของมัน

ดังนั้นในปี ค.ศ. 1910 เขาได้ติดต่อไปยังข้าหลวงของเกาะฟลอเรส ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะโคโมโด ท่านข้าหลวงซึ่งเป็นนักธรรมชาติวิทยาสมัครเล่นคนหนึ่ง รับปากว่าจะหาข้อมูลมาให้

ต่อมาในปี ค.ศ. 1912 นักบินผู้หนึ่งเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องขณะบินผ่านเกาะโคโมโด จึงต้องนำเครื่องลงฉุกเฉินที่นั่น เครื่องบินเสียหายแต่ตัวนักบินไม่เป็นอะไร

ทว่าเมื่อเขาออกมาจากเครื่องก็ต้องตกใจ เมื่อพบว่ามีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ หน้าตาเหมือนสัตว์ดึกดำบรรพ์รายล้อมเครื่องบิน เขารีบวิ่งหนีออกมาทันที และรอดชีวิตออกมาได้ นี่นับเป็นครั้งแรกที่ชาวยุโรปได้พบกับจระเข้บกในตำนานของชาวพื้นเมือง

ในปีเดียวกันท่านข้าหลวงแห่งเกาะฟลอเรสได้ไปที่นั่น และได้รับการยืนยันเรื่องสัตว์ดังกล่าว จากนั้นท่านข้าหลวงได้มีโอกาสยิงสัตว์ดังกล่าวได้ตัวหนึ่ง และส่งหนังยาว 2.20 เมตร ของมันไปให้อูเวนส์ และบอกว่ามันไม่ใช่จระเข้ แต่ใกล้เคียงพวกเหี้ยมากกว่า

จากนั้นไม่นาน ทางสวนพฤกษชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังเกาะโคโมโด และสามารถจับสัตว์ดังกล่าวเป็น ๆ ได้ถึง 4 ตัว มีอยู่ตัวหนึ่งยาวถึง 3 เมตร อูเวนส์ได้เขียนเรื่องของมันลงวารสารวิชาการ และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้มันว่า "วารานัส โคโมโดเอนซิส" (Varanus komodoensis)

หมายถึง เหี้ยแห่งโคโมโด แต่ด้วยขนาดอันใหญ่โตของมัน ทำให้ผู้คนเรียกมันว่า มังกรโคโมโด (Komodo Dragon) อย่างที่รู้จักกัน


อุปนิสัยและนิเวศวิทยา

มังกรโคโมโด เป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะบนเกาะโคโมโด และหมู่เกาะใกล้เคียงเท่านั้น โดยไม่พบในที่อื่นใดของโลกอีก มีอุปนิสัยดุร้าย ชอบอยู่เป็นฝูง มังกรโคโมโดเป็นสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร จะวิ่งล่าเหยื่อด้วยการซุ่มจู่โจมกัดเหยื่อด้วยฟันที่คม

แต่มันจะวิ่งไล่ได้เพียงครั้งเดียว ถ้าหากมันจับเหยื่อไม่ได้ มันจะต้องหยุดนิ่งเพื่อชาร์จพลัง สำหรับการวิ่งครั้งใหม่ มังกรโคโมโดเป็นสัตว์ไม่มีพิษแต่ก็เสมือนว่ามีพิษ เนื่องจากในน้ำลายของมันมีเชื้อแบคทีเรียอยู่มากกว่าถึง 50 ชนิด

เหยื่อที่ถูกกัดจะเกิดอาการโลหิตเป็นพิษ และจะถึงแก่ความตายในเวลาไม่เกิน 3 วัน ซึ่งบางครั้งเมื่อเหยื่อที่มังกรโคโมโดกัดและทิ้งน้ำลายไว้ในแผล หลบหนีไป มังกรโคโมโดจะติดตามไปเพื่อรอให้เหยื่อตายก่อนจะลงมือกินอีกด้วย

เหยื่อของมังกรโคโมโดตามธรรมชาตินั้น มักเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น กวาง หรือวัวควายของชาวบ้าน

มังกรโคโมโดอาจจู่โจมมนุษย์บ้าง แต่มีไม่บ่อยนัก ซึ่งผู้ที่มันจะจู่โจมมักจะเป็นผู้ที่อ่อนแอหรือบาดเจ็บ แต่ในต้นปี พ.ศ. 2552 มีรายงานว่ามังกรโคโมโดได้รุมกัดชายหนุ่มคนหนึ่งจนถึงแก่ชีวิต ขณะที่เขากำลังเก็บผลไม้อยู่

เคยมีกรณีที่มังกรโคโมโดตัวเมียที่สวนสัตว์เชสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ 2 ตัว ได้ออกไข่แล้วฟักออกมาเป็นตัวโดยที่ไม่ต้องมีการผสมพันธุ์กับตัวผู้ นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า

การสืบพันธุ์โดยไม่ใช้เพศนั้น (การเกิดโดยไม่ผสมพันธุ์) เกิดขึ้นกับสัตว์มีกระดูกสันหลังราว 70 ชนิด เช่น งู, ปลาฉลาม, กิ้งก่า หรือแม้แต่ไก่งวงหรือปลากระเบน แต่มักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก การให้กำเนิดโดยไม่ใช้เพศผู้ ของมังกรโคโมโดนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจทีเดียว

ในปัจจุบันนี้มีมังกรโคโมโดจัดเป็นสัตว์ที่มีสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยมีปริมาณเหลืออยู่ราว 4,000 ตัว จากสาเหตุจำนวนผู้คนที่อาศัยอยู่บนเกาะเพิ่มขึ้น เหยื่อของมันถูกล่าจนลดน้อยลง การขยายตัวของกสิกรรมทำลายพื้นที่หากินของมัน อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่พบได้เฉพาะถิ่นหรือ endemic


ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

ด้วยความใหญ่โตและอุปนิสัยอันน่าสะพรึงกลัว ทำให้มังกรโคโมโดได้ถูกกล่าวถึงในวัฒนธรรมร่วมสมัยมากมาย เช่น ภาพยนตร์สัญชาติฮอลลีวูดเรื่อง Komodo ในปี ค.ศ. 1999 The Curse of the Komodo ในปี ค.ศ. 2004 และ Komodo vs King Cobra ในปี ค.ศ. 2005 เป็นต้น


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์ภุมวาร สิริมานปรีดิ์เกษมนะคะ
Create Date :22 มีนาคม 2554 Last Update :22 มีนาคม 2554 8:43:22 น. Counter : Pageviews. Comments :0