bloggang.com mainmenu search
ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนา เทศนากัณฑ์แรก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ก็ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะนับเป็นพระสงฆ์ สาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา

วันนั้นเป็นวันเพ็ญกลาง เดือนอาสาฬหะหรือเดือน ๘ เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ครบบริบูรณ์

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีเนื้อหาแสดงถึงการปฏิเสธส่วนที่สุดสองอย่าง และเสนอแนวทางดำเนินชีวิตโดยสายกลางอันเป็นแนวทางใหม่ให้มนุษย์

มีเนื้อหาแสดงถึงขั้นตอนและแนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงอริยสัจทั้ง 4 คืออริยมรรคมีองค์ 8 โดยเริ่มจากทำความเห็นให้ถูกทางสายกลางก่อน เพื่อดำเนินตามขั้นตอนการปฏิบัติรู้เพื่อละทุกข์ทั้งปวง เพื่อความดับทุกข์ อันได้แก่นิพพาน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา


เนื้อหาในพระสูตร
เนื้อหาที่เป็นประเด็นหลักในพระพุทธพจน์ที่ปรากฏในธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรโดยสรุปมีดังนี้

...ภิกษุทั้งหลาย ทุกขอริยสัจ คือ ความจริงที่ช่วยมนุษย์ให้เป็นผู้ประเสริฐเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นทุกข์ เป็นอย่างนี้ คือ การเข้าใจว่า "เกิด แก่ เจ็บ ตาย" ล้วนแต่ เป็นทุกข์

แม้แต่ความโศรกเศร้าเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กายทุกข์ใจ ทั้งความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์

ว่าโดยย่อ การยึดมั่นแบบฝังใจ ว่า เบญจขันธ์ (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ว่าเป็น อัตตา เป็นตัวเรา เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์แท้จริง

ภิกษุทั้งหลาย เหตุทำให้เกิดความทุกข์ (สมุหทัย) มีอย่างนี้ คือ ความอยากเกินควร ที่เรียกว่า ทะยานอยาก ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิด เป็นไปด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน มัวเพลิดเพลินอย่างหลงระเริงในสิ่งที่ก่อให้เกิดความกำหนัดรักใคร่นั้นๆ ได้แก่

ความทะยานอยากในสิ่งที่ก่อให้เกิดความใคร่
ความทะยานอยากในความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่
ความทะยานอยากในความที่จะพ้นจากภาวะที่ไม่อยากเป็๋น เช่น
ไม่อยากจะเป็นคนไร้เกียรติ ไร้ยศ เป็นต้น

อยากจะดับสูญไปเลย ถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย นิโรธ คือ ความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ ดับความกำหนัดอย่างสิ้นเชิง มิให้ตัณหาเหลืออยู่ สละตัณหา ปล่อยวางตัณหาข้ามพ้นจากตัณหา ไม่มีเยื่อใยในตัณหา

ภิกษุทั้งหลาย ทุกขโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จริง คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่

(1) ความเห็นชอบ
(2) ความดำริชอบ
(3) วาจาชอบ
(4) การงานชอบ
(5) เลี้ยงชีวิตชอบ
(6) ความเพียรชอบ
(7) ความระลึกชอบ
(8) ความตั้งจิตมั่นชอบ...

— ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

กล่าวโดยสรุป ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แสดงถึง

ส่วนที่สุดสองอย่าง ที่พระพุทธศาสนาปฏิเสธ อันได้แก่ "กามสุขัลลิกานุโยค" (หวังสบายเกิน ไม่ทำอะไร มัวอ้อนวอนพระเจ้า พึ่งหวังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หวังเสวยสุขโดยส่วนเดียว)

และ "อัตตกิลมถานุโยค" คือการปฏิบัติตนเพื่อพ้นทุกข์โดยลำบากเกินไปโดยปล่าวประโยชน์

มัชฌิมาปฏิปา คือปฏิปทาทางสายกลางที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ ได้แก่ มรรคมีองค์แปด

อริยสัจสี่ คือธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการ


ส่วนที่สุดสองอย่าง
ส่วนที่สุดสองอย่างอันบรรพชิตไม่ควรเสพ คือ

การประกอบตนให้พัวพันด้วยกามสุขในกามทั้งหลาย เป็นธรรมอันเลว เป็นของชาวบ้านเป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์

การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตน (เช่น บำเพ็ญทุกรกิริยา) เป็นความลำบาก ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์


ปฏิปทาทางสายกลาง

ปฏิปทาสายกลาง ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง ทำญาณให้เกิด ย่อมเป็นไปเพื่อความสงบเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

ปฏิปทาสายกลางนั้น ได้แก่อริยมรรคมีองค์แปด คือ

ปัญญาเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ)
ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)
เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)
การงานชอบ (สัมมากัมมันตะ)
เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ)
พยายามชอบ (สัมมาวายามะ)
ระลึกชอบ (สัมมาสติ)
ตั้งจิตชอบ (สัมมาสมาธิ)


อริยสัจสี่
อริยสัจสี่ ธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐสี่ประการคือ

ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ โดยย่นย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือ ตัณหา ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิน มีปกติเพลิดเพลินในอารมณ์นั้นๆ คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

ทุกขนิโรธอริยสัจ คือ ตัณหาดับโดยไม่เหลือด้วยมรรค คือวิราคะสละ สละคืน ปล่อยไป ไม่พัวพัน

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์แปด
อริยสัจสี่นี้

ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้.
ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละเสีย
ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือ อริยมรรคมีองค์แปด ควรเจริญ


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์โสรวาร ปรีดิ์มานกมลโชติค่ะ
Create Date :09 มกราคม 2553 Last Update :9 มกราคม 2553 9:02:10 น. Counter : Pageviews. Comments :0