bloggang.com mainmenu search
สมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี ดอร์เจ วังชุก เคยตรัสไว้ว่า
“ หากข้าพเจ้าสวดมนต์อ้อนวอนได้....จะขอภาวนาให้แผ่นดินของภูฏานในการปกครองของบุตรชายของข้าพเจ้าเป็นช่วงเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรืองและเป็นดินแดนแห่งสันติสุขเสียยิ่งกว่าวันเวลาของข้าพเจ้า”






เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี ดอร์เจ วังชุก สิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหัน ความหวังของประเทศจึงตกอยู่ที่ เจ้าชายมกุฏราชกุมารหนุ่ม หรือ Trongsa Penlop ผู้ปกครองหัวเมืองที่เตรียมพร้อมจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่ง Druke Gyalpo แห่งดินแดนมังกรสายฟ้านั้น ชื่อ ตำแหน่ง Trongsa Penlop นี้มีความเป็นมายาวนาน และเกี่ยวพันกับความเป็นมาของระบบการปกครองของประเทศราชอาณาจักรภูฏาน จึงขอกล่าวสรุปสังเขป ดังนี้






ราชวงศ์วังชุก เป็นราชวงศ์ผู้ปกครองผืนแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรภูฏานมายาวนาน หากสืบสาวประวัติการก่อเกิดประเทศนี้เรียบเรียงจาก “ภูฏาน มนต์เสน่ห์ ในอ้อมกอดหิมาลัย” ของคุณพิสมัย จันทวิมล ที่เล่าว่า “......นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีผู้คนมาตั้งหลักแหล่งในบริเวณนี้ตั้ง ๒๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล เรื่องที่เล่าขานผ่านปากต่อปาก ว่าชนที่มาอยู่กลุ่มแรกเป็นคนเลี้ยงสัตว์กึ่งเร่ร่อน หลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ คือเรื่องราวของการก่อสร้างพระอารามศักดิ์สิทธิ์คิชู (Kyichu) ที่เมือง พาโร (Paro) โดยกษัตริย์ทิเบตพระนามว่า พระเจ้า ซองท์เซน กัมโป ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๑๗๐ -๑๑๙๓ (ค.ศ. ๖๒๗ – ๖๕๐)…..”


นอกจากนี้ ยังมีตำนานเกี่ยวพันเกี่ยวกับการเข้ามาของศาสนาลัทธิมหายานในดินแดนนี้ คือตำนานของ กูรู รินโปเช (Kuru Rinpoche) พระลามะผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่มาช่วยเหลือพระเจ้าสินธุราชา ณ เมือง บุมทัง (Bumptung) เนื่องจากถูกเทวดาอีกตนหนึ่งขโมยหัวใจไปทำให้ประชวรล้มเจ็บ กูรู รินโปเช ได้มาช่วยเหลือ พร้อมกับรับมอบพระธิดาของพระเจ้าสินธุราชาเป็นมเหสี ที่กูรู รินโปเช สามารถมีมเหสีได้ เนื่องจากลัทธิมหายานของเขานั้น ถือการปฏิบัติเรื่องกาเมเป็นส่วนหนึ่งของการบรรลุนิพพานได้เช่นกัน ไม่ถือเป็นข้อห้ามเหมือนดังเช่นศาสนาพุทธนิกายอื่น กูรู รินโปเชกับพระธิดาของพระเจ้าสินธุราชาได้บำเพ็ญตบะ แล้วแปลงร่างออกมาร่ายระบำให้เทวดาที่คาบหัวใจของพระเจ้าสินธุราชา งวยงง เทวดาที่คาบหัวใจของพระเจ้าสินธุราชาเห็นการร่ายระบำอันวิจิตรงดงามเช่นนั้น ก็แปลงร่างเป็นเสือมายืนมองดูการร่ายรำอย่างเพลิดเพลิน ขณะที่กำลังเพลินอยู่ กูรู รินโปเช ได้แปลงร่างเป็นนกเข้ามาแย่งหัวใจพระเจ้าสินธุราชา ออกจากปากของเสือตนนั้น และนำไปคืนพระเจ้าสินธุราชาได้สำเร็จ และพระเจ้าสินธุราชาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงสร้างพระอารามหลวงไว้หลายแห่งและเก็บคัมภีร์สำคัญตกทอดกันมายาวนาน นั่นเป็นที่มาของการร่ายระบำชุดหนึ่งประจำพิธีเทศกาลสำคัญของประเทศราชอาณาจักรภูฏาน การร่ายระบำเพื่อให้ชาวภูฏานระลึกถึงการต่อสู้ของบรรพชน ที่มาจากนิทานปรัมปรา แต่เป็นวิธีคิดที่หยั่งรากลึกของชาวภูฏาน เกี่ยวพันกับทั้งสังคมประเพณีวัฒนธรรม และการปฏิบัติเคร่งครัดต่อพุทธศาสนา สืบทอดกันต่อมา






ในปี พ.ศ. ๒๑๕๙ ทิเบตมีปัญหาภายในประเทศ ท่านชาปดรุง นาวัง นัมเกล (Zhabdrung Ngawang Namgyel) ได้ลี้ภัยจากประเทศทิเบต มายังประเทศภูฏาน และปกครองดินแดนแถบนี้ในลักษณะปกครองสองส่วนคือ การเมือง และศาสนา กำหนดสมณศักดิ์พระสงฆ์ ที่เรียกพระสังฆราชว่า เจ คเยนโป (Je Khenpo) และสามัญชนที่ทำหน้าที่ฝ่ายปกครองการเมือง แบ่งเป็นลักษณะหัวเมืองต่างๆ ที่เรียกว่า เดสี (Desi) ท่านชาปดรุง นาวัง นัมเกล ได้จัดระบบเกี่ยวกับวัดวาอาราม เป็นผู้สร้าง ซอง Dzong หลายแห่ง โดยเฉพาะเมือง พูนาคา (Punaka) ที่วัดมีลักษณะคล้ายป้อมปราการหลายต่อหลายแห่งเนื่องจากช่วงนั้น ภูฏานจำเป็นต้องป้องกันตัวเองจากการรุกรานของทิเบตและชาวมองโกล การปกครองในส่วนของสงฆ์และฆราวาสนี้มีส่วนทำให้ประเทศภูฏานรอดพ้นจากการรุกรานดังกล่าวไปอีกยาวนาน ลักษณะการปกครองประเทศของภูฏานแบ่งออกเป็นสองส่วนเช่นนี้ จนกระทั่งเข้าสู่การปกครองของ ราชวงศ์วังชุก






ราชวงศ์วังชุก เริ่มต้นนับจากท่าน อูเก็น วังชุก ( Ugyen Wangchuk) บุตรชายของท่านจิกมี นัมเกล (Jigme Namgyel ค.ศ. ๑๘๒๕ - ๑๘๘๒)

ท่าน จิกมี นัมเกล เป็นผู้ปกครองเมืองตองสา(Trongsa) ที่สามารถกรีธาทัพขับไล่กองทัพอังกฤษที่เข้ามารุกรานชายแดนภาคใต้ของเมืองตองสา ประสบชัยชนะในสงคราม Duar War เมื่อบุตรชายของท่านคือ ท่านอูเก็น วังชุก ได้สืบทอดตำแหน่งของบิดา ก็ยังได้นำทัพต่อสู้กับผู้รุกรานประเทศเรื่อยมา และปกป้องหัวเมืองใหญ่ๆของ ประเทศภูฏานได้ ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๗ ท่านอูเก็น วังชุก จึงได้รับการยอมรับจากบรรดาผู้ปกครองหัวเมืองต่างๆ และ ฝ่ายสงฆ์ ให้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดีพระองค์แรกของ ประเทศราชอาณาจักรภูฏาน รวบการปกครองในลักษณะ ของ Khenpo และ Desi ไว้ด้วยกัน เป็นประมุขแห่งดินแดนมังกรสายฟ้าพระองค์แรกเรียกว่า Druk Gyalpo และด้วยเหตุที่ท่าน จิกมี วังชุก เคยเป็นผู้ปกครองเมืองตองสามาก่อน องค์มกุฏราชกุมารจะได้ดำรงตำแหน่งปกครองหัวเมืองตองสา Trongsa Penlope หรือหัวเมืองสำคัญๆ ก่อนครองราชย์เป็นโบราณราชประเพณี

สมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี วังชุก (Jigme Wangchuk) พระราชโอรส สมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าอูเก็น วังชุก ได้ครองราชย์สืบทอดเป็นรัชกาลที่ ๒

เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ใน ปี ค.ศ. ๑๙๕๒ สมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี ดอร์เจ วังชุก (Jigme Dorje Wangchuk) จึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๓ จนถึงปี ค.ศ. ๑๙๗๒ ในรัชสมัยนี้ ประเทศราชอาณาจักรภูฏานได้รับการกล่าวขานว่าเป็นยุคก้าวหน้า สมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี ดอร์เจ วังชุก ได้ทำการปฏิรูปการปกครองประเทศโดยมีการจัดตั้งรัฐสภา มีตัวแทนของราษฎรเข้ามานั่งในสภาดังกล่าว มีการจัดตั้งศาลยุติธรรม มีการเลิกทาส และเป็นสมาชิกองค์การ สหประชาชาติในปี ค.ศ. ๑๙๗๑


สมเด็จพระราชาธิบดี พระเจ้าจิกมี ซิงเก วังชุก (Jigme Singye Wangchuk) หรือ Trongsa Penlop เจ้าชายมกุฏราชกุมารในขณะนั้น จึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ ต่อจากพระบรมชนกนาถ ในช่วงเวลาปี ค.ศ. ๑๙๗๒ ดังกล่าว ประเทศราชอาณาจักรภูฏานกลางเทือกเขาหิมาลัย ยังเป็นผืนแผ่นดินอันแสนทุกข์ยาก ประชาชนใช้ชีวิตขัดสนท่ามกลางความหนาวเย็น ระหว่างหัวเมืองต่างๆสัญจรติดต่อกันด้วยทางเท้า ปีนเขา ไม่มีโทรศัพท์ ยังขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานจำเป็นต่อการดำรงชีวิตใดๆ ทั้งสิ้น

ทว่า.....นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา.....กษัตริย์หนุ่มวัยเพียงสิบเจ็ดชันษา ต้องรับพระราชภารกิจสานต่อพระปณิธานของพระบิดาในการเปิดกว้างประเทศสู่โลกภายนอกภายใต้ภาวะพัฒนาประเทศชาติและจำต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศร่วมไปด้วยในขณะเดียวกัน :::@:::



Create Date :01 พฤศจิกายน 2549 Last Update :2 พฤศจิกายน 2549 18:28:16 น. Counter : Pageviews. Comments :13