bloggang.com mainmenu search
เรื่องราวประวัติของสุนทรภู่ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นเรื่องราวที่เชื่อกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่นัก ทั้งนี้ก็ด้วยสาเหตุจากการที่สุนทรภู่เคย " หักหน้า" พระองค์ไว้คราวประชุมกวีสองคราว ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เรื่องพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่นั้น เป็นที่สงสัยถกเถียงกันมากกว่าจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพราะมีเหตุผลบางประการ ทำให้คิดได้ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่ทรงโปรดสุนทรภู่จริง แต่น่าจะเป็นด้วยเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่า เรื่องดังกล่าวซึ่งทำให้สุนทรภู่ต้องรำพันให้เกิดภาพพจน์ที่สร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่งว่า

เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้
ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย
ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ
เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

กลอนบทนี้บอกเราว่า สุนทรภู่นั้นเคราะห์ร้ายนัก หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งชื่อเสียงเกียรติยศ ไร้ญาติขาดมิตร ที่สำคัญคือ " ไม่มีพสุธาจะอาศัย " ดำเนินชีวิตอย่างเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย ปราศจากผู้อุปถัมภ์ ดังที่กล่าวว่า " ทั้งบ้าน ทั้งวังวัดเป็นศัตรู " ทุกคนจึงสงสารสุนทรภู่ เมื่อสงสารแล้วอาจจะพาลไม่ชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงได้ทำการศึกษาเรื่องราวในยุคสมัยสุนทรภู่อย่างจริงจังนับว่าเป็นการเรียบเรียงโดยการรวบรวม ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และข้อสังเกตบางประการมาไว้ในที่นี้ ส่วนการวินิจฉัยในกรณีดังกล่าว เป็นของ ผู้อ่านแต่ฝ่ายเดียว

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) ประสูติเมื่อพระราชบิดาทรงดำรงยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร ขณะที่พระราชบิดามีพระชนมายุได้ ๒๐ พรรษา ยังไม่ได้เป็นรัชทายาท เพราะขณะนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (วังหน้าหรืออุปราชในรัชกาลที่ ๑) เป็นอุปราชสืบราชบัลลังก์อยู่ มีพระนามแรกประสูติว่าหม่อนเจ้าทับ ปีที่ประสูติ คือ พ.ศ.๒๓๓๐ หลังสมเด็จ พระอัยกาธิราช (รัชกาลที่ ๑) เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ ๕ ปี นับว่าเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชชนนีของพระองค์คือ สมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงเป็น พระสนมเอก ทรงเฉลียวฉลาดและมีพระจริยวัตรงดงามมาก มีน้ำพระหฤทัยประเสริฐ ทรง โอบอ้อมอารี และเป็นกำลังสำคัญสนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ พระญาติวงศ์ ขุนนางตลอดจนราษฎรทั้งปวงที่หน้าวังของท่าน (วังท่าพระ ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัย ศิลปากร) ตั้งโรงทานสำหรับราษฎรไม่เลือกหน้า ส่วนในวังนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง พอกลับจากเข้าเฝ้าในวังหลวงแล้ว ก็มักจะแวะเสวยและรับประทานอาหารที่นั่น โดยมีสมเด็จ พระศรีสุลาลัยทรงช่วยดูแลให้พระราชโอรส จากการที่พระราชชนนี ทรงมีพระจริยวัตรงดงาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงมีพระทัยบุญ โปรดการทะนุบำรุงพระศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรดการทรงธรรมวันพระก็ทรงปล่อยสัตว์ แจกอาหารคนชราคนยากจน ไม่โปรดละคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้นทรงกำกับงานราชการสำคัญ ๆ ต่างพระเนตร พระกรรณพระราชบิดามาตลอดรัชกาล ทรงเป็นนักรบผู้แกร่งกล้า ทรงทำศึกสงครามอย่างกล้าหาญ และได้ชัยชนะ แต่กระนั้นก็มิได้มีพระราชหฤทัยหยาบกระด้าง ทรงมีพระราชอัชฌาสัยที่เข้มแข็งแต่อ่อนโยน ดังจะเห็นได้จาก บทพระราชนิพนธ์ ดังต่อไปนี้

เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ เจ้าเห็นเขางาม เจ้าตามเขาไป
เขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย เขาสิ้นอาลัย เจ้าแล้วหรือเอย

บทพระราชนิพนธ์บทนี้ ก่อให้เกิดความสะเทือนใจอย่างยิ่ง ดูราวกับผู้ทรงพระราชนิพนธ์จะปลอบโยนใครสักคน แม้เนื้อหาเหมือนกับจะซ้ำเติม แต่ถ้อยคำที่ทรงใช้นุ่มนวลนัก จึงสมควรแล้วที่ คุณพุ่ม (บุษบาท่าเรือจ้าง) " สาวเปรี้ยว " ผู้เป็นพนักงานเชิญพระแสงของพระองค์ได้กราบถวายบังคมลา จากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับมายังวังหลวงไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ดังที่ นายสมภพ จันทรประภา ได้กล่าวถึงพระองค์ในหนังสือแผ่นดินที่สามว่า

" การคลังของท่านไม่มีติดลบ ท่านเป็นจอมทัพที่ "สะกด" แม่ทัพนายกองให้อยู่ในอำนาจ ท่านเป็นนักการเมืองที่เล่นการเมืองอย่างขาวสะอาด ทั้ง ๆ ที่มีการต่อสู้ ท่านก็ทรงต่อสู้ตามวิถีทางการเมืองและก็แน่ละ อย่างมีชั้นเชิงด้วย เหนือสิ่งอื่นใดของท่าน คือ "แผ่นดิน" ไม่ใช่ลูกท่าน ไม่ใช่พวกพ้องของท่าน นับว่าเป็นบุญของเมืองไทย ด้วยตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น เราเพิ่งจะฟื้นตัวจากการทำศึกสงครามเพื่อกอบกู้บ้านเมือง พอพ้นจากเรื่องศึกสงคราม ก็ต้องใช้เงินในการทะนุบำรุงบ้านเมืองอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นนักการค้าผู้สามารถมีพระสติปัญญาเฉียบแหลม ทรงหาเงินเก่งจากการค้าขายกับต่างประเทศ นอกจากนี้ในขณะที่ ยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น เมื่อใดที่เงินแผ่นดินไม่พอจ่ายแก่ราชการ เมื่อนั้นพระองค์จะทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่บ้านเมือง ดังมีข้อความปรากฏใน ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๓ ตอนหนึ่งว่า แลการแต่งสำเภาไป ขายเมืองจีนนี้…. ถึงแม้ว่าเป็นเวลาซึ่งการค้าขายมิได้บริบูรณ์ พระราชทรัพย์ซึ่งจะได้จากส่วนกำไรในการค้าขาย บกพร่องไม่พอจ่ายราชการ พระองค์ก็ทรงพระอุตสาหะขวนขวายมิให้เป็นที่ ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุรลีพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ….เป็นเหตุให้สมเด็จพระชนกนาถ ทรงพระมหากรุณา ตรัสประภาษ ออกพระนามว่า เจ้าสัว เสมอมา…."

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่กล้าหาญ ทรงนึกถึงทุกข์สุขของราษฎรเป็นการแรก แม้บางครั้งการตัดสินพระทัยที่จะทรงทำเพื่อราษฎร อาจจะส่งผลถึงพระราชบัลลังก์ ก็มิได้ทรงหวั่นเกรง ดังที่ทรงออกกฎหมายค่านาใหม่ ในปี พ.ศ.๒๓๖๗ ให้ข้าราชการจ่ายอากรค่านา เหมือนราษฎรทุกประการ และทรงวางกฎเกณฑ์อีกหลายข้อ เพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานคดโกงราษฎร ซึ่ง ชัย เรืองศิลป์ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า

" การรอนเอกสิทธิ์ของข้าราชการครั้งนี้ เห็นจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เมืองไทย ต้องนับว่า เป็นความห้าวหาญชาญชัยของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างน่าชม ที่กล้าเสี่ยงต่อความไม่พอใจของผู้ค้ำพระราชบัลลังก์ของพระองค์ "

เรื่องราวในรัชสมัย ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มีการกล่าวถึงบางประการในพงศาวดารกระซิบกระซาบ เพราะในเรื่องของการเมืองนั้น เป็นธรรมดาที่จะต้องแบ่งเป็นฝ่ายเป็นพวก นอกจากเรื่องสิทธิในพระราชบัลลังก์ระหว่างพระองค์กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ แล้ว ก็ยังมีผู้อื่นที่อยากได้พระราชบัลลังก์ ก่อความไม่สงบอยู่เนือง ๆ ภัยนั้นลุกลามไปถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ในขณะทรงผนวชด้วย ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงทราบ จะทรงปกป้องพระอนุชาให้พ้นภัยเสมอ ทรงยกย่องและระมัดระวังมิให้พระอนุชาน้อยพระทัย ดังจะเห็นว่าไม่ทรงรับ เจ้านายผู้หญิงพระองค์ใดขึ้นเป็นพระอัครมเหสี เพราะทรงเกรงว่าจะมีพระโอรสเป็นเจ้าฟ้า อันอาจทำให้วุ่นวายขึ้นในเรื่อง "สิทธิ" ระหว่างเจ้าฟ้าพระราชอนุชากับเจ้าฟ้าพระราชโอรส เรื่องนี้แม้มีผู้กระซิบเป็นอื่น แต่ขอให้ดูน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์เถิดว่า เมื่อพระองค์สวรรคตนั้น พระองค์ทรงเสียสละเพื่อ "แผ่นดิน" มากเพียงใด ดังที่ นายสมภพ จันทรประภา เขียนไว้ใน แผ่นดินที่สามว่า

" ขณะนั้นแผ่นดินไทยมีเงินเหลืออยู่ในท้องพระคลังถึง ๔๐,๐๐๐ ชั่ง เงินเหล่านี้ถ้า ทรงนำมาแจกจ่ายให้เชื้อสายของพระองค์ก็คงจะมั่งมีกันทั่วหน้า แต่พระองค์ไม่ทรงทำเช่นนั้น เพราะทรงนึกถึงแผ่นดินเป็นสำคัญ "

สุนทรภู่เกิดที่พระราชวังหลังหรือที่บ้านหลังป้อมวังหลัง ใช้ชีวิตในเขตชุมชนวัดระฆังฯ มาตั้งแต่เกิด เป็นศิษย์ท่านพระครูวิมังคลาจารย์ วัดระฆังฯ เรียนหนังสือไทยกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) ที่วัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร) เมื่อบวชเป็นเณรนั้น สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สุนทรภู่บวชเป็นพระครั้งแรกที่วัดระฆังฯ (วัดบางหว้าใหญ่) โดยมีพระวิกรมมุนี (ใน) เป็นพระอุชปัชาฌาย์ ในระหว่างที่บวชอยู่ที่วัดระฆังฯ นั้น ได้ถวายพระอักษร (ก.ข.) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้า ลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี โดยสุนทรภู่ได้แต่งสวัสดิรักษาคำกลอนถวาย ดังมีข้อความว่า

สุนทรทำคำสวัสดิรักษา ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน

สุนทรภู่เป็นข้าพระราชวังหลังโดยกำเนิด โดยมารดารับราชการในกรมพระราชวังหลัง กรมพระราชวังหลัง (กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข) มีพระโอรสองค์หนึ่งที่มีวัยใกล้เคียงกับ สุนทรภู่ คือ พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ประสูติ ปี พ.ศ.๒๓๒๕ ส่วนสุนทรภู่เกิดปี พ.ศ.๒๓๒๙ มีอายุห่างกัน ๔ ปี พระองค์เจ้าปฐมวงศ์ทรงผนวชอยู่วัดระฆังฯ เช่นเดียวกับพระเชษฐาทั้ง ๓ พระองค์ คือ กรมหมื่นนราเทเวศร์ กรมหมื่นนเรศร์โยธี กรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ แต่สุนทรภู่ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ดังปรากฏข้อความอยู่ในนิราศพระบาท นอกจากนี้ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ได้สัมภาษณ์ พระพิมลธรรม (ใย) พระวัดระฆังฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้ความว่า " พระสุนทรภู่ได้เคยพำนักอยู่วัดระฆังฯ โดยมาก คือ กินวัดนอนวัด ด้วยหมายความว่า เป็นข้าพึ่งบุญอยู่ในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ซึ่งทรงผนวชอยู่วัดนั้น " สุนทรภู่เมื่ออยู่ที่ วัดระฆังฯ กล่าวกันว่าอยู่ที่ตำหนัก น่าจะเป็นตำหนักที่ประทับของพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ซึ่งทรงผนวชตลอดพระชนม์ชีพ เรื่องราวของสุนทรภู่ เมื่อครั้งรุ่งเรืองและตกอับเป็นที่รู้จักกันอยู่ทั่วไป ประวัติสุนทรภู่มักจะหยุด ชะงักลงเมื่อไปพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระบวรราชวัง อยู่จนถึงแก่กรรม โดยเรื่องถึงแก่กรรมนี้ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี กล่าวว่า ถึงแก่กรรมที่บ้านพระยามณเฑียรบาล (บัว) แต่ ฉันท์ ขำวิไล เชื่อว่าน่าจะถึงแก่กรรมในบ้านที่ได้รับพระราชทานให้อยู่ ณ บริเวณพระบวรราชวังมากกว่า จากหลักฐานที่พระยาปริยัติธรรมธาดา ได้สัมภาษณ์เจ้าคุณธรรมถาวร วัดระฆังฯ ได้ความว่า

"เมื่อท่านสุนทรภู่ชราลงแล้ว กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ รวบรวมได้ทุนทรัพย์ได้พอสมควร แล้วไปซื้อสวนอยู่ตำบลบางระมาด ติดกับสวนที่บ้านของเจ้าคุณ แลสวนนั้นก็ไม่ได้ทำประโยชน์อันใด ให้ไอ้โข่บ่าวดูแลรักษา ท่านสุนทรภู่ก็อยู่ที่สวนนั้น หากินทางแต่งหนังสือบทกลอนเพลงยาวไปตามเพลง นัยกล่าวว่าท่านชราหนักลงก็ได้ถึงแก่กรรมที่บ้านสวนนั้นเอง…."

หลวงพรหมา (จัน) ยืนยันว่าได้เป็นผู้คุ้นเคยกับท่านสุนทรภู่มาก ว่าเวลาทำศพที่วัดใหม่ชิโนรสนี้เอง ท่านยังได้ไปขมาศพในการฌาปนกิจศพด้วย ส่วนที่ว่าสุนทรภู่กราบถวายบังคมลาออกจากราชการนั้น น่าจะเป็นเพราะความชรา รับราชการต่อไปไม่ได้ ดังที่พระอมรสินธพ (นก) เล่าว่า

"…ได้รับราชการอยู่ อายุก็จะจวนหง่อม ๆ รวม ๗๐ เศษ เพราะเวลาเดิน มีหลานชายคอยประคองปีในที่บางแห่งอยู่เสมอ…."

เรื่องราวของสุนทรภู่จะกล่าวถึงเฉพาะในส่วนที่ไม่ได้เขียนไว้ในที่อื่นดังนี้ ด้วยจุดประสงค์จะให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องสุนทรภู่ได้มีแนวทางมที่จะศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับสุนทรภู่เพิ่มขึ้น และยังเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณของสุนทรภู่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย เมื่อทราบพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และประวัติของสุนทรภู่แล้ว จะกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกันตามลำดับ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าพระองค์ทรงโปรดกวี และสุนทรภู่ก็เป็นผู้หนึ่งที่ทรงโปรดปรานมาก ทั้งนี้เพราะสุนทรภู่เป็นปฏิภาณกวี แต่งกลอนถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัยหลายครั้ง แต่สุนทรภู่นั้น ตามประวัติเล่าว่าชอบเสพสุราแลต้องโทษหลายครั้ง ในเวลาที่สุนทรภู่ต้องโทษ ถ้าทรงติดขัดในบทพระราชนิพนธ์ใด ก็มักจะทรงให้เบิกตัวสุนทรภู่ออกมาแก้ไข และสุนทรภู่ก็มีปฏิภาณ ทำให้เอาตัวรอด ได้รับพระราชทานอภัยโทษ อยู่เสมอ ดังที่มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งขณะที่สุนทรภู่ต้องโทษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงตั้งกระทู้ต้นบทกลอนให้กวีในพระราชสำนักลองแต่งไว้ว่า

"กะรุ่งกะริ่ง กะฉุ่งกะฉิ่ง"

ไม่มีใครต่อกลอนบทนี้ได้ จึงรับสั่งให้เอาไปให้สุนทรภู่ สุนทรภู่ได้แต่งถวาย ดังนี้

" เข็ดแล้วจริง ๆ ไม่ทำต่อไป "

ครั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก็ทรงพระราชทานอภัยโทษ ให้หลุดจากเวรจำตั้งแต่วันนั้นตามขอ กวีในพระราชสำนักสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มีอยู่หลายองค์และหลายคน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นกวีด้วยพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นจินตกวีที่มีพระปรีชาสามารถ เคยทรงประลองกลอนสดกับสุนทรภู่หลายครั้ง ครั้งหนึ่งเล่ากันว่า เมื่อทรงพบกับสุนทรภู่ ก็ทรงถามเป็นกลอนสดด้วยปฏิภาณเกี่ยวกับสิงโตหินทันทีว่า

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า - โสติงสิงตั้งเหมือนดั่งเป็น (โสติง เป็นคำผวนของสิงโต)
สุนทรภู่ - ดูผงกผกเผ่นผันผยอง
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ - มาแต่ไหนใหม่ตัวนี้มีทำนอง
สุนทรภู่ - เลือกไม่ไปไสไม่คล่องมาแต่จีน

นอกจากนี้ ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี ทรงรวบรวมเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จ พระพุทธเลิศหล้าฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และสุนทรภู่ ได้ร่วมเล่นสักวากลอนสดที่ลงท้ายด้วยคำตาย ซึ่งหาคำมารับสัมผัสยาก ปรากฏว่าต่างก็สามารถต่อกลอนสักวากันได้อย่างรวดเร็ว ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ : สักวาระเด่นมนตรี จรลีเลยลงสรงในสระ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ : เอาพระหัตถ์ขัดพระองค์ทรงชำระ
สุนทรภู่ : แล้วเรียกพระอนุชามากระซิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ : นั่นกอบัวมีดอกเพิ่งออกฝัก
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ : จงไปหักเอาแต่ฝักบัวดิบ
สุนทรภู่ : โน่นอีกกอแลไปไกลลิบลิบ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ : ให้ข้างใน ไปหยิบเอามาเอย

นับว่าสักวาบทนี้ แสดงปฏิภาณไหวพริบ และความสามารถในการแต่งกลอนที่ทัดเทียมกันได้อย่างชัดเจน ถ้าจะดูความสัมพันธ์จากเหตุการณ์ข้างต้น เหตุการณ์นั้นพอจะบอกได้ว่าทั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯต่างก็ทรงพระเมตตาสุนทรภู่อยู่ไม่น้อยที่ สุนทรภู่ได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังทรงปรึกษาสุนทรภู่เกี่ยวกับบทพระราชนิพนธ์บางตอน เช่น มีรับสั่งวานตรวจแก้บทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาเล่นธารเมื่อท้าวดาหาไปใช้บน ตอนนั้นสุนทรภู่กราบทูลว่าดีแล้ว ครั้นถึงเวลาที่ทรงอ่านถวายพระราชบิดาต่อหน้ากวีที่ปรึกษาทั้งหมด สุนทรภู่กลับขอแก้บทพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

" น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว ว่ายแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว "

สุนทรภู่ก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตรงนี้ความไม่ชัดเจนว่าเห็นตัวอะไร ขอพระราชทานแก้เป็น

" น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว "

ตามเรื่องว่า ไม่มีใครออกความเห็นว่าอย่างไร ในที่สุดก็โปรดให้แก้ตามสุนทรภู่ อย่างไรก็ตาม การแก้กลอนตอนนี้ คงจะทำให้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่พอพระทัย พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้นลับพระองค์ไปแล้ว ทรงหันไปต่อว่าสุนทรภู่ทันทีว่า " ตอนที่เอาไปให้ตรวจแก้ ทำไม่แก้ มาแก้หน้าพระที่นั่ง หวังจะติหักหน้าเล่นหรืออย่างไร " อีกครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่า เมื่อทรงบทละคร เรื่องสังข์ทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชทานตอนท้าวสามลจะให้ธิดาทั้งเจ็ด เลือกคู่ แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ซึ่งได้พระราชนิพนธ์คำปรารภของท้าวสามลว่า

" จำจะคิดปลูกฝังเสียยังแล้ว ให้ลูกแก้วสมมาดปรารถนา "

คราวนี้ไม่ปรากฏว่าทรงนำไปให้สุนทรภู่ตรวจแก้ จะเป็นเพราะไม่พอพระทัยมาแต่ครั้งก่อนหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เมื่อเวลาอ่านถวาย

" สุนทรภู่เปรยขัดขึ้นว่า ลูกปรารถนาอะไร "

คำทักของสุนทรภู่นั้น กล่าวกันว่า เป็นการท้วงแบบการเมืองกลาย ๆ เพราะขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ มีอำนาจหน้าที่อยู่ในราชการอยู่เป็นอันมาก คำทักนั้นจึงดูเหมือนลูกแก้วปรารถนาสมบัติหรือปรารถนาอะไรกันแน่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์แก้เสียใหม่ว่า

" ให้ลูกแก้วมีคู่เสน่หา "

คราวนี้ไม่มีการต่อว่า เพราะไม่ได้ปรึกษามาก่อน ถึงกระนั้นก็เป็นการแก้หน้าพระที่นั่ง ซึ่งออกจะไม่เหมาะอยู่สักหน่อย คิดดูก็แปลก หากเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ไม่ว่าสุนทรภู่จะมีเจตนาทักท้วงหรือไม่ก็ตาม ต้องนับว่ากล้าหาญชาญชัยอย่างยิ่ง เพราะขณะนั้นสุนทรภู่เป็นเพียงขุนนางเล็ก ๆ ในกรมพระอาลักษณ์ ไม่มีบทบาทในราชการแผ่นดินด้านอื่น แม้จะเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯแต่ความสำคัญไม่อาจเทียบ ได้กับพระโอรสองค์ใหญ่ ผู้ทรงมีอำนาจดุจผู้สำเร็จราชการอย่างแน่นอน แล้วเหตุไฉนสุนทรภู่จึงกล้ากระทำการทักท้วงหน้าพระที่นั่ง หากกล่าวว่า การกระทำเช่นนั้น เป็นการทักท้วงแบบการเมือง ทำนองว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปรารถนาพระราชสมบัติ ก็ต้องมาติดตามกันว่า การเมืองในสมัยนั้นเป็นอย่างไร กิจการงานเมือง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มีเจ้านายเป็นหลักในราชการอยู่ 3 พระองค์คือ

๑. สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ทรงกำกับราชการแผ่นดิน ต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป
๒. สมเด็จ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ทรงกำกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงวัง
๓. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงกำกับกระทรวงการต่างประเทศและการคลัง

ครั้งเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต การกำกับราชการแผ่นดิน ต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไปก็ตกแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ส่วนการในกรมพระตำรวจ และความรับสั่งทั้งปวงไปตกแก่พระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าฯ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีนี้เป็นโอรสของพระพี่นางองค์น้อย ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี (เจ้าฟ้าบุญรอด) พระอัครมเหสีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงมีศักดิ์เป็นพระเจ้าน้าพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ มาก ทรงปรึกษาหารือราชการทั่วไป จนกล่าวกันว่าเป็นผู้สำเร็จราชการก็มี ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต จึงมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี และ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เพียง ๒ พระองค์ที่ทรงเป็นกำลังสำคัญในแผ่นดิน นายสมภพ จันทรประภา ได้เขียนไว้ในหนังสือแผ่นดินที่สาม มีข้อความว่า “สุนทรภู่นั้น นอกจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จะทรงโปรดแล้ว สมเด็จ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีคงจะโปรดด้วย และสุนทรภู่คงจะฝักใฝ่อยู่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีนี้ นอกจากมีอำนาจเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังทรงมีความสามารถในกระบวนฟ้อนรำอีกด้วย ท่ารำสวย ๆ ของละครทุกวันนี้ มาจากสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทีนี้ท่ารำนั้นต้องใส่ลงคำกลอนด้วย แล้วกระบวนแต่งให้ลงคำ ไม่มีใครเกินสุนทรภู่ อย่าตอนสีดาผูกคอตาย แต่งกันเท่าไหร่ คนรำก็รำไม่ได้ เพราะจะตายเอาจริง ๆ สุนทรภู่แก้พริบตาเดียวตรงบทหนุมานว่า

บัดนั้น วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย ไม่มามัวตกอกตกใจ เอะอะวุ่นวายกว่าจะแก้

คำกล่าวนี้มีข้อสนับสนุนยืนยัน ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ ๒ ว่า " …บทละครที่แต่งครั้งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งไม่ได้แต่งเข้ากับวิธีรำ เล่นบทละครมักจะยืดยาวและรำไม่ได้สะดวก จึงทรงพระราชนิพนธ์บทละครขึ้นใหม่ ๗ เรื่อง…ลักษณะที่ทรงพระราชนิพนธ์ในรัชกาล ที่ ๒ ทราบว่าบางเรื่องแบ่งกันเป็นตอน ๆ แต่ผู้ที่ได้รับแบ่งนั้นน้อยตัวได้ยินแต่สามคือ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ) และขุนสุนทร (ภู่) ประชุมแต่งหน้าพระที่นั่งหรือแต่งแล้วมาตรวจแก้หน้าพระที่นั่ง แต่โดยมากนั้น ทรงพระราชนิพนธ์เอง เมื่อพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องใดแล้ว พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีคิดวิธีรำท่าบท บางทีบทใดรำขัดข้องต้องแก้บท เข้าหาวิธีรำก็มี ด้วยเหตุนี้ บทละครพระราชนิพนธ์รัชกาล ที่ ๒ ซึ่งเล่นละครได้เรียบร้อยดี นับว่าเป็นหนังสือบทละครที่ได้เล่นกันแพร่หลาย… "

ส่วนในทางการเมือง สมเด็จเจ้าฟ้างกรมหลวงพิทักษ์มนตรีนี้ ทรงไม่ลงรอยกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในเรื่องตั้งเจ้าครองเมืองจำปาศักดิ์ ครั้งนั้นเจ้าอนุวงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีไม่ทรงเห็นชอบด้วย พอพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เสด็จขึ้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีได้มีรับสั่งขึ้นดัง ๆ ต่อหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ และเข้านายหลายพระองค์ว่า อยากรู้นักว่าใครเป็นผู้จัดแจง เพ็ดทูลให้เจ้าราชบุตรเวียงจันทน์ไปเป็นเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ แต่เพียงพ่อมีอำนาจอยู่ทางฝ่ายเหนือก็พออยู่แล้ว ยังจะไปเพิ่มเติมให้ลูกไปมีอำนาจ โอบลงมาทางฝ่ายตะวันออกอีกต่อไปจะได้ความร้อนใจ ด้วยเรื่องนี้….พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ก็ทรงได้ยินที่รับสั่งนี้ แต่ทรงนิ่งเฉยเสีย นอกจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะทรงไม่ลงรอยกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีแล้ว กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ (เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครอง ราชสมบัติ ได้ทรงสถาปนา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิเสพย์เป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์) ก็ไม่ชอบพระทัยสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้เหมือนกันเพราะเคยถูกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ต่อว่าอย่างรุนแรง เมื่อครั้งจักกายแมงยกทัพพม่าจะมาตีไทยแล้วกรมหมื่นศักดิพลเสพย์ ทรงยกทัพไปขัตตาทัพที่เพชรบุรี ครั้งนั้นทหารในกองทัพประพฤติการเกะกะแก่พลเมือง ความทราบเข้ามาถึงในกรุง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี จึงมีลายพระหัตถ์ไปถึงแม่ทัพ บอกเล่าความเหลวแหลกของทหารในกองทัพ และลงท้ายว่า " …ด้วยเหตุว่าหามีผู้เตือนสติไม่ จึงเกิดความฟุ้งเฟื่องเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ดังนี้ไม่ควรที่จะให้เกิดความเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และอายแก่ชาวเมืองเพชรบุรี… " ต่อมา เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ งานมหาดไทยและงานวังก็ตกมาที่กรมหลวงรักษรณเรศ (หม่อมไกรสร) กรมหลวงฯ พระองค์นี้เป็นพระเจ้าอาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แต่เนื่องจากพระชันษาไม่ห่างไกลกัน จึงทรงคบหากันสนิท ถือกันว่าเป็นเพื่อนยาก เพราะทรงถูกบัตรสนเท่ห์มาด้วยกัน ครั้งชำระความพระราชาคณะ ๓ รูปเป็นปาราชิก ซึ่งทั้ง ๓ รับเป็นสัตว์ถูกจำคุก บัตรสนเท่ห์นั้นกล่าวความหยาบช้า ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ และกรมหลวงรักษรณเรศ มีความว่า

" ไกรสรพระเสด็จได้ สึกชี
กรมเจษฎาบดี เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ "

ปีนั้นเป็นปี พ.ศ.๒๓๕๙ สุนทรภู่เป็นผู้หนึ่งที่ถูกสงสัยว่า เป็นผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ จึงได้หนีราชภัยไปหลบซ่อนอยู่ในถ้ำเขาหลวง เมืองเพชรบุรี ดังปรากฏข้อความในนิราศเมืองเพชรว่า

" ………………….. คิดถึงปีที่เป็นบ้าเคยมานอน ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอนเห็นห้องหินศิลาน่าอาวรณ์ เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี "

แม้ครั้งนั้น กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะเป็น ผู้ชำระโทษ แต่ในเมื่อสุนทรภู่ก็ต้องสงสัยด้วย เจ้านายที่มีพระนามในบัตรสนเท่ห์นั้น จะทรงพระเมตตาสุนทรภู่ ได้สนิทพระทัยเชียวหรือ นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุอื่นที่อาจทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ไม่พอพระทัยสุนทรภู่ ดังที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้เล่าเรื่องสุนทรภู่ไว้ในหนังสือสยามประเภท ฉบับวันที่ ๕ กรกฎาคม ร.ศ.๑๒๓ (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๔๗) (ปัจจุบันได้ถ่ายเป็นไมโครฟิล์ม รหัส ส.๕๗ ม้วนที่ ๕ เก็บรักษา ไว้ที่ห้องไมโครฟิล์ม หอสมุดแห่งชาติ) โดยอ้างว่าได้ฟังมาจาก นายพัด บุตรของ สุนทรภู่ว่า ครั้งหนึ่งพระยาไชยา (ซุ้ย) ได้ถวายมาดเรือยาวเส้นเศษ ได้พระราชทานนามว่า " ใบตองปลิว " ด้วยทรงพอพระทัยมาก รับสั่งถามว่า ใครจะรู้ว่า กษัตริย์องค์ใดหรือกษัตริย์เมืองใด มีเรือพระที่นั่งราวเท่านี้บ้าง ทุกคนก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าไม่เคยได้ยินว่าใครมีเรือพระที่นั่งราวเท่านี้มาก่อน พระองค์จึงทรงถามสุนทรภู่ สุนทรภู่ก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตนเคยได้ยินเขาโจษกันว่า มีเรือยาวกว่าเรือใบตองปลิว พระองค์จึงทรงถามว่า ยาวเท่าใด สุนทรภู่ก็กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เคยได้ยินเด็ก ๆ ร้องกันว่า

" เรือเอ๋ยเรือเล่น ยาวสามเส้นสิบห้าวา
จอดไว้หน้าท่า คนลงเต็มลำ…. "

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระสรวลอย่างพอพระทัย แต่เรื่องนี้ ก.ศ.ร. กุหลาบ อธิบายได้ว่า เรื่องนี้ทำให้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กริ้วสุนทรภู่เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ มีรับสั่งว่า

" อ้ายภู่ มันล้อพ่อกูเล่นเช่นเพื่อนของมัน ทั้งมันร้องตะโกนข้ามหัวกูไปด้วย จะเลี้ยงมันไว้ได้ "

ทรงให้ถอดเสียจากกรมพระอาลักษณ์ และทรงให้ไล่เสียจากที่อยู่ต่อไปจะกล่าวถึงเรื่องสุนทรภู่ถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ และถูกให้ออกจากราชการ เรื่องนี้ไม่มีผู้ยืนยันว่าจริงหรือไม่ ได้แต่สันนิษฐานไปตามเหตุผลที่ค้นพบจากงานของสุนทรภู่ หรือจากการบอกเล่าต่อ ๆ กันมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์เรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ มีความตอนหนึ่งว่า

" น่าจะเป็นจริงเช่นนั้น คนทั้งหลายจึงได้เรียกกันว่า " สุนทรภู่ " เห็นจะมีเหตุอย่างใดอย่าหนึ่ง ให้ต้องถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ แล้วจึงออกบวช ถ้าเวลาบวชแล้วยังเป็นขุนนาง คงจะได้รับพระราชูปถัมภ์ ไหนจะอนาถาดังปรากฏในเรื่องประวัติ "

นอกจากนี้ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อคราวแต่งจารึกวัดพระเชตุพนฯ ไม่ปรากฏชื่อสุนทรภู่แต่งจารึกแต่อย่างใด ทำให้เข้าใจว่าถูกถอน อย่างไรก็ตาม พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ได้สัมภาษณ์พระอมรสินธพ (นก) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ขณะนั้นพระอมรสินธพ (นก) มีอายุ ๗๗ ปี ได้กล่าวถึงเรื่องถูกถอดจากบรรดาศักดิ์ มีความว่า

" เรื่องนี้เป็นแต่คำเล่าลือ ซึ่งผู้รู้แท้คัดค้านว่า ปราศจากมูลความจริง ห่างไกลจากเหตุที่จริงไปมาก นัยว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ หาได้มีการกริ้วกราด หรือบาดหมางอันใดไม่เลยแต่นิดเดียว มีเรื่องอยู่นิดหนึ่งที่ทำให้ท่านอาจารย์หวั่นไหวนั้นจริง ครั้งหนึ่งพระยาราชมนตรี (ภู่) ซึ่งเป็นคนโปรดสนิทชิดเชื้อของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะเรียกว่า รักร่วมพระราชหฤทัยก็ว่าได้ "

ครั้งนั้นยังเป็นได้ ถูกคนเขียนหนังสือว่าประวัติเสียดสี ทำนองอย่างว่า มหาเทพ (ปาน) ครั้งเป็นราชามาตย์นั้น ท่านผู้นั้นนำหนังสือนั้นถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอ่าน ๆ จบแล้วรับสั่งว่า โวหารอย่างนี้ไม่มีใคร คงเป็นอาจารย์ภู่นั้น เมื่อว่าเจ้าคุณลงไปเช่นนี้ ก็เหมือนกับว่าฉันด้วยเหมือนกัน ในเรื่องจริงเหตุเพียงเท่านี้ แต่หนังสือนั้นจะพาดพิงหนักเบาเท่าไรหามีใครจำได้ไม่ ฝ่ายอาจารย์ภู่ก็ทีจะเขียนไว้จริง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเป็นจินตกวีและเคยชำนาญทางจินตกวีองค์หนึ่ง ซึ่งจับโวหารอาจารย์ภู่ได้ ก็เป็นที่ละอายใจและอัปยศอดสูมากอยู่ จนถึงเข้าหน้าคือเฝ้าแหนหรือประสบพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ ต้องหลีกเลี่ยงในอันจำเป็นอยู่แล้ว ก็พอจะเป็นคราวสวรรคตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นคราวเคราะห์ดีที่จะได้อุปสมบท คือทำนองก็จะไม่สมัครรับราชการนั่นเอง ให้มีกริ่งเกรงว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเอาตัวอยู่เสมอ… บทสัมภาษณ์ดังกล่าวดูจะสนับสนุนบทกลอนในรำพันพิลาปที่สุนทรภู่อ้างว่าเขียนจากความฝัน สุนทรภู่ได้รำพึงถึงความหลังตั้งแต่ครั้งออกบวชปี พ.ศ.๒๓๖๗ ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สวรรคต อันเป็นช่วยที่หมดยุคความรุ่งเรืองในวัยหนุ่มของตน มีใจความว่า

" แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ
บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
เหมือนลอยล่องท้องชะเลอยู่เอกา
เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล

น่าสงสัยว่า ทำไมสุนทรภู่จึงใช้คำว่า "ออกขาดราชกิจ" จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าสุนทรภู่กราบถวายบังคมลาออกจากราชกิจ หันหน้าเข้าพึ่งพระศาสนา เพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดทะนุบำรุงพระศาสนา นอกจากนี้ มีข้อสังเกตอีกประการในบทกลอนที่ว่า "เหมือนลอยล่องท้องชะเลอยู่เอกา เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล" จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า เหตุใดสุนทรภู่จึงต้องรำพันว่า "เหมือนลอยล่องท้องชะเลอยู่เอกา" ทำไมจึงไม่กลับไปพระราชวังหลังหรือวัดระฆังฯ สุนทรภู่นั้นเป็นข้าพระราชวังหลังโดยกำเนิด ลูกเมียก็ยังอาศัยอยู่ในวังนั้น "เจ้าข้างใน" หรือ "เจ้าครอกข้างใน" ซึ่งทรงเป็นพระอัครชายา ของกรมพระราชวังหลังก็ยังอยู่ กรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ พระโอรสของกรมพระราชวังหลังก็ยังทรงมีบุญอยู่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธ เลิศหล้าฯสวรรคตแล้ว สุนทรภู่จะกลับไปพระราชวังหลังอีกก็ย่อมได้ เพราะเจ้าครอกข้างในยังทรงพระเมตตาสุนทรภู่อยู่เสมอ ดังหลักฐานในนิราศวัดเจ้าฟ้ามีว่า

" ถึงจนยากบากมาเป็นข้าบาท ไม่ขัดขาดข้าวเกลือช่วยเกื้อหนุน "

แต่สุนทรภู่ก็ไม่กลับไปพระราชวังหลัง แล้วยังรำพันไว้ในนิราศภูเขาทองว่า

"สิ้นแผ่นดินสิ้นนามตามเสด็จ ต้องเที่ยวเตร็ดเตรีหาที่อาศัย และ ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา"

ถ้าจะมองสภาพการเมืองในสมัยนั้น จะเห็นว่า กรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ พระโอรสกรมพระราชวังหลัง ทรงเป็น "น้ำหนึ่งใจเดียว" กันกับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ดังปรากฏว่าทรงคบหาสนิทสนมจนเห็นพระทัยกัน นอกจากจะคบหากันเป็นพระสหายสนิทแล้ว พระโอรสของกรมพระราชวังหลังทั้ง ๓ พระองค์ยังทรงเป็นกำลังสำคัญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในการคุมทหารของกรมพระราชวังหลังอีกด้วย จากเหตุผลนี้ หากสุนทรภู่ฝักใฝ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีจริงแล้ว สุนทรภู่ก็คงไม่กล้ากลับไปพระราชวังหลังอย่างแน่นอน ซึ่งรวมทั้งไม่กลับไปวัดระฆังฯ ด้วย เพราะพระราชวังหลังกับวัดระฆังฯ นั้น เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาตลอดกาล ดังที่กล่าวกันมาจนถึงปัจจุบันว่า "ถ้าพูดถึงวัดระฆังฯ ต้องพูดถึงวังหลัง ถ้าพูดถึงวังหลังก็ต้องกล่าวถึงวัดระฆัง" ทั้งนี้เพราะวัดระฆังฯเป็นวัดที่เจ้านายพระราชวังหลังทรงบำรุงอยู่ หากการ "หักหน้า" ในขณะประชุมกวีเป็นการติชมเรื่องการแต่งบทกวีโดยสุจริตใจแล้ว ก็ไม่น่าที่สุนทรภู่จะต้องไปพึ่งพระศาสนาในปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ แต่ถ้าเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องการเมืองในพระราชสำนัก สุนทรภู่ก็คงได้รับความลำบางกในการรับราชการต่อไป เพราะเจ้านายและขุนนางที่ปกระกาศตนเป็นคนละฝ่ายกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ก็ยังมีอยู่มากที่พร้อมจะเกียดกัน กลั่นแกล้ง โดยเฉพาะในเวลานั้นฝ่ายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรียังมีเพียง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ พระเจ้าหน้าพระองค์น้อยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เพียงพระองค์เดียวที่ยังมีอำนาจทางการเมืองอยู่ อย่าว่าแต่สุนทรภู่จะถูกรังแกเลย แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงปกป้องและระวังมิให้น้อยพระทัยอย่างที่สุดก็มิวายจะถูกรังแก ดังพระราชหัตถเลขาส่วยพระองค์ฉบับหนึ่งที่ทรงมีถึงพระยาวิชิตชลธีว่า

" ครั้งนั้นไซร้ วาสนาของข้าพเจ้าก็เป็นคนต่ำคนเลว มีชีวิตเหมือนต้นกล้วยแลชีวิตต้นไผ่… " พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงถูกรังควานจากกรมหลวงรักษรณเรศร (หม่อมไกรสร) ซึ่งว่าราชการกรมธรรมการ (กรมการศาสนา) ทรงแกล้งจับพระอุปัชฌาย์ของภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฏ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) สึกในข้อหาปาราชิก กระทำการกระทบพระองค์โดยการเอาข้าวต้มร้อน ๆ ใส่บาตรพระสงฆ์ ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ทั้งนี้ เพราะกรมหลวงรักษรณเรศรมีความปรารถนาอยู่ว่า " ถ้าสิ้นแผ่นดินไป ก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร " หมายความว่า เมื่อสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แล้ว กรมหลวงรักษรณเรศรก็จะขึ้นครองราชย์เสียเอง ในพระนิพนธ์ " ความทรงจำ " สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวไว้ว่า

" พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถูกหม่อมไกรสร เป็นตัวมารใส่ร้ายต่าง ๆ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนผลกรรมบันดาลให้ตัวต้องราชภัยเป็นอันตรายไปเอง "

เหตุการณ์ต่าง ๆ นี้ จะใช้หรือไม่ ที่ทำให้สุนทรภู่เขียนไว้ในรำพันพิลาปว่า "เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล" เพราะสุนทรภู่เองก็ประสบชะตากรรม ดังที่เขียนไว้ในนิราศประประธมว่า

ถึงคลองย่านบ้านบางสุนัขบ้า เหมือนขี้ข้านอกเจ้าเฉาฉงาย
เป็นบ้าจิตคิดแค้นด้วยแสนร้าย ใครใกล้กรายเกลียดกลัวทุกตัวคน

ดูราวกับว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะไม่ได้ใส่พระราชหฤทัยในตัวสุนทรภู่มากนัก ด้วยพระราชกิจทั้งการศึกภายในภายนอก และกิจทางการค้าก็มีอยู่มากมาย ทั้งพระองค์มิได้โปรดการละครหรือการกวีมากนัก ถ้าเทียบกับพระราชภาระแล้ว เรื่องสุนทรภู่ก็ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สุนทรภู่นั้นถูกพวก "ขี้ข้านอกเจ้า" ติดตามรังควานอยู่ไม่น้อย อยู่วัดใดก็มักจะมีเรื่อง "ร้อน" อยู่ตลอดเวลา ถ้าจะกล่าว่า เป็นเพราะกรมหลวงรักษรณเรศรว่าราชการกรมธรรมการ และยังแคลงพระทัยสุนทรภู่เรื่องบัตรสนเท่ห์ หรือหมางพระทัยว่าสุนทรภู่เป็นพวก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี จะเป็นไปได้หรือไม่ กล่าวเช่นนี้จะเป็นธรรมหรือไม่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงตอนสุนทรภู่ตกยากว่า "เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ ก็ไม่มีพระองค์ใด และท่านผู้ใดกล้าเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผยด้วยเกรงว่าจะเป็นที่ฝ่าฝืนพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แม้เจ้าฟ้าอาภรณ์ ซึ่งเป็นศิษย์ก็ต้องทำเพิกเฉยมึนตึง" ดังที่สุนทรภู่ได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า

สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม

มีคำถามว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์คือใคร เจ้าฟ้าอาภรณ์เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ประสูติแต่สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงมีพระอนุชาร่วมพระชนนีเดียวกันอีก ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากลาง และเจ้าฟ้าปิ๋ว เจ้าฟ้าทั้ง ๓ พระองค์นี้ต่างก็เป็นศิษย์ของสุนทรภู่ในเวลาที่ต่างกัน โดยสุนทรภู่ได้มีโอกาสถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์ ในขณะที่ยังรุ่งเรืองอยู่ในกรมพระอาลักษณ์ ส่วนเจ้าฟ้ากลางและเจ้าฟ้าปิ๋วนั่น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงมอบให้สุนทรภู่เป็นพระอาจารย์ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ในปี พ.ศ.๒๓๗๒ ซึ่งเวลานั้นสุนทรภู่ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการแล้ว ดังนั้นที่กล่าวว่า เจ้านายไม่มีพระองค์ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย จึงไม่เป็นความจริง เพราะสุนทรภู่เองก็ได้กล่าวไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทว่า

" เคยฉันของสององค์ส่งถวาย มิได้วายเว้นหน้าท่านข้าหลวง "

ด้วยเหตุนี้ การที่กล่าวว่า เจ้าฟ้าอาภรณ์ต้องทำเพิกเฉยมึนตึงกันสุนทรภู่ เพราะกรงจะเป็นการฝ่าฝืนพระราชนิยมนั้น ไม่น่าจะใช่ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าพระมารดาก็ยังโปรดอุปการะสุนทรภู่อยู่ มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทิพยวดีก็คือทรงเป็นพระราชธิดาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก อันประสูติแต่เจ้าหญิงทองสุก ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าอินทวงศ์ แห่งนครเวียงจันทน์ ราชอาณาจักรลาว ไม่มีพระญาติข้างพระมารดาอยู่ในเมืองไทย ยิ่งกว่านั้นในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์พระญาติฝ่ายเวียงจันทน์ก่อการกบฏ เจ้าอนุวงศ์และครอบครัวถูกจับตัวเป็นเชลย ส่งมากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.๒๓๗๐ ดังมีข้อความปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์ กรุงรัตนโกสินทร์ เล่มที่ ๑ ว่า

" …เจ้าอนุวงศ์กับบุตรหลาน โปรดให้ใส่กรงเหล็กประจานไว้ที่หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ เวลาค่ำก็เอาไปจำขังไว้ ประมาณ ๗ - ๘ วัน เจ้าอนุวงศ์ก็ถึงแก่พิราลัย เจ้าสุทธิสารต่อมาโปรดให้พ้นโทษ บุตรหลายก็มิได้ถูกประหารชีวิต "

ปี พ.ศ.๒๓๗๐ เจ้าฟ้าอาภรณ์มีพระชนมายุ ๑๐ - ๑๑ พรรษา ยังอ่อนเยาว์นัก และต้องมาอับอายกับเรื่องของ "ญาติพี่น้องฝ่ายพระมารดา" จึงเกิดความรู้สึกอ้างว้างไร้มี่พึ่ง ได้ฝากตัวเป็นหลานสนิทของกรมหลวงรักษรณเรศร ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เจ้าฟ้าอาภรณ์จะทำมึนตึงกับสุนทรภู่ เพราะเจ้าฟ้าอาภรณ์คบหากับ คนเช่นกรมหลวงรักษรณเรศร ในบั้นปลายของชีวิตจึงถูกคุมขังและสิ้นพระชนม์ในที่นั้น ส่วนข้อสังเกตเกี่ยวกับสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็คือ เมื่อปีที่พระญาติวงศ์ของ พระองค์ก่อการกบฎขึ้นนั้น ฐานะของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ก็คงจะสั่นคลอนไม่น้อย เพราะพระมารดาสิ้น พระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา พระราชสวามีก็มาด่วนจากไป หลังจากนั้นอีก ๓ ปี พระญาติก็ก่อการกบฎ ถูกประจานหน้าพระที่นั่ง พระเกียรติยศคงจะตกต่ำมิใช่น้อย การที่จะทรงทำอะไรก็คงจะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัย ดังนั้น ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กริ้วสุนทรภู่จริงแล้ว อีก ๒ ปีถัดมา สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็คงจะไม่กล้าฝากพระโอรสให้เป็นศิษย์ของสุนทรภู่ให้เป็นที่ระคายเคือง พระราชหฤทัย มีข้อสนับสนุนบางประการที่แสดงว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ มิได้กริ้วสุนทรภู่ หรือหากกริ้ว ก็คงจะพระราชทานอภัยโทษไปนานแล้วนั่นก็คือไม่ทรงขัดขวางที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชโอรสและพระราชธิดาที่พระองค์ทรงโปรดปรานมาก ได้ทรงให้การชุบเลี้ยงสุนทรภู่ต่อจากสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑทิพยาวดี แต่ สุนทรภู่นั้นบุญน้อยนัก พอเจ้านายทรงพระเมตตาไม่ทันไร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ก็ด่วนสิ้นพระชนม์เสียตั้งแต่พระชนมายุเพียง ๒๓ พรรษา ทิ้งพระธิดาพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี (ภายหลังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระมเหสีพระองค์แรกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) ไว้ให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงเลี้ยงดู ซึ่งปรากฏว่าทรงพระเมตตาพระราชนัดดายิ่งนัก เรื่องราวของสุนทรภู่ในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะจบลงโดยสมบูรณ์ไม่ได้ ถ้ามิได้กล่าวถึง กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (พระองค์เจ้าหญิงวิลาส) พระราชธิดาที่กล่าวกันว่าเป็น "นางแก้ว" ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ด้วยพระองค์ไม่ได้สถาปนาเจ้านายผู้หญิงพระองค์ใดเป็นพระอัครมเหสี เรื่องราวของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นที่เลื่องลือกันมากในเรื่องของความงาม ดังปรากฏในข้อความที่ พระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตอนหนึ่งว่า

" กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพเป็นถึงพระราชบุตรีโปรดปรานมาก คนที่เข้าพึ่งพระบารมีทั้งแผ่นดิน และสิ่งที่เชิดชูพระนามของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพให้เลื่องลือไปทั่วแผ่นดินนั้น อีกประการหนึ่งก็คือพระสิริโฉมของ พระองค์ ซึ่งลือกันว่า งามเลิศหาใครเสมอเหมือนได้ยาก "

ในเรื่องที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพทรงให้ความอุปการะสุนทรภู่ สืบเนื่องมาจาก ได้ทรงรู้จักสุนทรภู่จากหนังสือที่ตกทอดมาจากพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ผู้เป็นพระอนุชา เพราะปรากฏว่าทรงโปรดเรื่องพระอภัยมณีมาก ถึงกับมีรับสั่งให้สุนทรภู่แต่งถวายเดือนละเล่ม (สมุดไทย) นอกจากนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงสถาปนาวัดพระยาไกรสวนหลวง พระราชทานนามเป็นวัดเทพธิดาราม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระราชทานแก่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ.๒๓๘๒ ได้ทรงนิมนต์พระภิกษุภู่หรือสุนทรภู่ให้มาจำพรรษาในวัดเทพธิดาราม และได้อยู่ที่นี่ตลอดมาจนลาสิกขาบทในปี พ.ศ.๒๓๘๕ ระยะเวลาสี่ปีที่วัดเทพธิดาราม สุนทรภู่ได้สร้างผลงานประพันธ์ร้อยกรองไว้หลายเรื่อง เช่น กาพย์เรื่องพระไชยสุริยา โคลงนิราศสุพรรณ พระอภัยมณี และรำพันพิลาป (กรมศิลปากร : ๒๕๐๔) ผลงานทั้ง ๔ เรื่องนี้ ไม่มีเรื่องใดผิดสังเกตเท่าเรื่อง "รำพันพิลาป" ซึ่งสุนทรภู่รำพึงรำพันถึงความรักความอาลัยต่อสตรีเพศท่านหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ซ้ำยัง " ฝัน " ที่จะลักพานางหลบลี้หนีไปให้พ้นแผ่นดินไทย ไปเสพสุขในต่างแดน การรำพันรักคราวนี้ สุนทรภู่เขียนในขณะครองเพศภิกษุจำพรรษาอยู่ ณ วัดเทพธิดาราม โดยมีทางออกให้ตัวเองอย่างแนบเนียนว่า "สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน" อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ผู้รอบรู้เรื่องวรรณคดีและประวัติวรรณคดีอย่างมาก กล่าวว่าสุนทรภู่มีความ รู้สึกนึกคิดที่ลึกลับลึกซึ้งต่อกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพซ่อนอยู่ "ในฝัน" เป็นอันมาก จะเป็นจริงดังกล่าวหรือไม่ ขอให้ลองพิจารณาบทกลอนเหล่านี้ดู

ด้วยเดิมฉันฝันได้ผลวิมลพักตร์ สุดแสนรักลักประโลมโฉมฉวี
ถวิลหวังตั้งแต่นั้นจนวันนี้ ขออย่ามีโทษโปรดยกโทษภรณ์
ด้วยเกิดเป็นเช่นมนุษย์บุรุษราช มาหมายมาตนางสวรรค์ร่วมบรรจถรณ์
ขอษมาการุณพระสุนทร ให้ถาพรภิญโญเดโชชัย ฯลฯ

จึงเอื้อนอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น ให้อ่านเล่นเป็นเล่หเสน่หา
ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา รักแต่เทพธิดาสุราลัย ฯลฯ

โอ้อกเอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นแช่ม เชยที่แย้มยิ้มพรายไม่หายหอม
แต่หัสนัยน์ตรัยตรึงส์ท่านถึงจอม ยังแปลกปลอมเปลื้องปลิดไพจิตรา
ได้บุตรีที่รักยักษ์อสูร สืบประยูรอยู่ถึงดาวดึงสา
เราเป็นมนุษย์สุดรักต้องลักพา เหมือนอินทราตรึงส์ตรัยเป็นไรมี ฯลฯ

ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี
ใส่เครื่องทรงมุงกุฏดังบุตรี แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง ฯลฯ

สุนทรภู่มีพิรุธมากในเรื่อง "ความในใจ" ซึ่งเรื่องนี้ถ้ารั่วไหลออกไปจะชักนำเอา "ราชภัย" มาสู่ตนเองได้ หากก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จะไม่ทรงโปรดสุนทรภู่อยู่แล้ว ถ้าทรงทราบถึงสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในใจของสุนทรภู่ ก็คงจะกริ้วจนเกินกว่าจะพระราชทานอภัยโทษสุนทรภู่ได้ เพราะความในใจนั้นแจ่มชัดมากกว่า จึงแต่งตามความฝันรำพันพิลาป ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาลัย จะสั่งสาวชาวบางกอกข้างนอกใน ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา สุนทรภู่ก็ควรจะ "ขยาดพระราชอาชญา" ถ้าบังอาจไปใฝ่ฝันในพระราชธิดาของ พระองค์ ดังนั้นเรื่องรำพันพิลาปจึงต้องเก็บซุกซ่อนไว้ กว่าต้นฉบับตัวเขียนในสมุดไทยจะถูกค้นพบ เวลานั้นก็ล่วงเลยมาจนถึง พ.ศ.๒๔๘๐ โดยอาจารย์เปลื้อง ณ นคร เล่าว่า ต้นฉบับนี้ พระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) เป็นผู้ค้นพบ แล้วนำไปให้พระยาอนุมานราชธน มอบต่อให้กรมศิลปากร ส่วนพระยาราชสมบัติจะได้ต้นฉบับมาจากที่ใดไม่ปรากฏชัดเจน มีแต่เรื่องเล่าว่า…วันหนึ่งกุฏิพระวัดเทพธิดารามซึ่งปัจจุบันเป็นกุฏิคณะ ๗ ข. มีฝ้าเพดานผุกร่อนหล่นลงมาพร้อมกันนั้นก็มีต้นฉบับคำกลอนลายมือเขียนในสมุดไทยหล่นลงมาด้วยหลายเล่ม ล้วนแต่เป็นคำกลอนสุนทรภู่หลายเรื่อง ในจำนวนเหล่านั้นน่าจะมีเรื่องรำพันพิลาปรวมอยู่ด้วย เรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กับสุนทรภู่นั้นเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันมาก แม้เวลาจะล่วงเลยมานานแล้ว ผู้ใฝ่รู้เรื่องสุนทรภู่ก็ยังหาเหตุผลมาเป็นข้อยุติไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานแน่ชัด ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯอาจจะกริ้วหรือไม่กริ้วสุนทรภู่ได้ทั้งสองกรณี ผู้เรียบเรียงได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่า จะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลและ ข้อสังเกตบางประการมาเสนอให้ผู้อ่านนำไปศึกษาต่อตามสมควร ด้วยความสนใจ ใฝ่รู้ในตัวสุนทรภู่มหากวีผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีฝีมืออันยิ่งยง ไม่เคยหมดสิ้นไป จากใจของคนไทยเหมือนดังที่สุนทรภู่ได้เขียนกลอนบ่งบอกถึงความภาคภูมิใจในตนเองไว้ว่า

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
พอลับตัวก็แต่ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร
เพลงยาวถวายโอวาท
Create Date :30 เมษายน 2550 Last Update :6 ธันวาคม 2551 7:09:30 น. Counter : Pageviews. Comments :4