bloggang.com mainmenu search


เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก
เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก โรคที่พบได้น้อยมากระดับ 5 ใน 1 ล้านคน แต่ถึงกระนั้นก็มีกรณีให้เห็นมาแล้ว และอาการยังรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

          จากกรณีเด็กชะอำเส้นเลือดแตก (อ่านข่าว: เปิดเอกสารขั้นตอนรักษา น้องนิว แพทย์ยันทำเต็มที่ เผยโรคนี้พบได้ 5 ใน 1 ล้านคน) และเสียชีวิตในโรงพยาบาล ซึ่งก็คือน้องนิว อายุ 15 ปี ที่มีอาการปวดท้องหนักมากและเข้ารับการรักษา แต่ในที่สุดน้องก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ได้ชี้แจงว่าน้องนิวมีอาการเส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก โดยโรคนี้พบได้น้อยมาก 5 ใน 1,000,000 คนแต่ถึงกระนั้นก็เป็นโรคที่มีความรุนแรงและเฉียบพลัน ฉะนั้นเรามาดูกันค่ะว่าโรคนี้คือโรคอะไร อันตรายมากแค่ไหน และเกิดจากอะไรได้บ้าง
เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก
เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก คืออะไร

          จริง ๆ แล้วโรคนี้คือ โรคหลอดเลือดแดงในช่องอกโป่งพอง (Thoracic Aortic Aneurysm) เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในชั้นผนังหลอดเลือด โดยความเป็นไปของโรคคือผนังหลอดเลือดแดงจะบางลง และยิ่งเกิดภาวะหลอดเลือดแดงโป่งพองเท่าไร ผนังหลอดเลือดก็จะบางมากขึ้น เสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดแดงแตกในที่สุด

เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก เกิดจากอะไรได้บ้าง

          การที่เส้นเลือดแดงใหญ่ในร่างกายจะแตกได้ มักจะเกิดอาการโป่งพองหรือปริแตกด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะพบอาการเส้นเลือดใหญ่โป่งพองในผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคมาร์แฟน ซินโดรม ซึ่งเป็นโรคที่มีความผิดปกติหลายระบบทั้งทางรูปลักษณ์ภายนอก รวมไปถึงความผิดปกติของหลอดเลือดด้วย หรือมักจะพบในผู้สูงอายุ วัย 40-70 ปี เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมสภาพ นอกจากนี้ยังพบได้ในกลุ่มของผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังอีกด้วย

เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก

เส้นเลือดในทรวงอกแตก อาการเป็นอย่างไร

          โรคนี้มักไม่แสดงอาการ แต่ส่วนใหญ่จะตรวจเจอโรคนี้ได้จากการตรวจอย่างอื่น โดยเฉพาะหากผู้ป่วยได้ทำการ X-ray ทรวงอก หรือทำการ CT Scan แต่หากเป็นกรณีที่ไม่เคยตรวจเลย ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกมักจะมีอาการแน่นหน้าอก อันเกิดจากการกดเบียดหลอดเลือดต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น หลอดเลือดกดเบียดหลอดลม ก็จะมีอาการหายใจลำบาก ถ้ากดเบียดหลอดอาหาร ก็จะมีอาการกลืนลำบาก หรือถ้าหลอดเลือดกดเบียดเส้นประสาทที่เลี้ยงกล่องเสียง ผู้ป่วยก็จะมีอาการเสียงแหบ หรือหากหลอดเลือดแดงใหญ่ไปกดเบียดท่อเลือดดำ (Superior Vena Cava) ซึ่งเป็นเส้นเลือดที่นำเลือดกลับจากหัว อก คอ และแขน เข้าสู่หัวใจ ผู้ป่วยก็จะมีอาการหน้าบวม แขนบวมขึ้นมาได้

ทว่าหากมีอาการแน่นหน้าอก ปวดหลัง หน้ามืด หมดสติ หรือไอเป็นเลือด กรณีนี้อาจบ่งชี้ว่ามีการปริแตกของหลอดเลือดแดงใหญ่ ส่วนผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้องโป่งพอง เคสนี้อาจคลำพบก้อนเต้นในช่องท้อง หรือมีอาการปวดท้อง ปวดหลัง ซึ่งหากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์โดยด่วน

เส้นเลือดใหญ่ในทรวงอกแตก

เส้นเลือดในทรวงอกแตก รักษาอย่างไร

ในกรณีที่พบโรคหลอดเลือดแดงในช่องอกโป่งพองตั้งแต่แรก ๆ แพทย์อาจเริ่มจากให้ผู้ป่วยควบคุมความดันโลหิต งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่าย เนื่องจากการความเสี่ยงของโรคนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่เป็นด้วย หากมีหลอดเลือดขนาดโต โป่งพองมาก โอกาสที่หลอดเลือดจะแตกก็ง่าย และภาวะความดันสูง รวมถึงปัจจัยดังกล่าวก็อาจกระตุ้นให้หลอดเลือดแตกได้ง่ายขึ้น

          นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคหลอดเลือดแดงในช่องอกโป่งพองด้วยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะเลือกรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมาก มีการปริแตก หรือกรณีที่หลอดเลือดแดงใหญ่โตเร็วผิดปกติ ทั้งนี้การรักษาด้วยการผ่าตัด มีอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน ดังนี้

1. การผ่าตัดใหญ่แบบเปิด

          ถือเป็นการผ่าตัดที่เป็นมาตรฐาน โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านทางช่องทรวงอกหรือช่องท้อง ขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพของหลอดเลือด แล้วใส่หลอดเทียมทดแทน

2. การผ่าตัดด้วยวิธีการสอดใส่หลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวด

          แพทย์จะสอดหลอดเลือดเทียมชนิดหุ้มด้วยขดลวดผ่านทางหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ เพื่อสอดหลอดเลือดเทียมเข้าไปใส่แทนที่หลอดเลือดแดงใหญ่ที่โป่งพองในช่องอกหรือช่องท้อง โดยวิธีนี้เป็นทางเลือกใหม่ สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการผ่าตัดใหญ่ เพราะการผ่าตัดวิธีนี้จะมีแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ลดอัตราความเสี่ยงและการให้เลือด ซึ่งผลการรักษาในระยะสั้นและระยะกลางยังมีประสิทธิภาพดี แต่ยังคงต้องติดตามผลการรักษาในระยะยาวต่อไป

อย่างไรก็ดี วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด โดยแพทย์จะคำนึงถึงตำแหน่งที่เกิดหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และสภาพร่างกายของผู้ป่วย เพราะนี่เป็นการผ่าตัดใหญ่ และส่วนมากผู้ป่วยก็จะสูงอายุ จึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบต่าง ๆ ได้ เช่น ระบบหัวใจ ปอด สมอง ไต ซึ่งบางครั้งอาจรุนแรงถึงชีวิต

เส้นเลือดในทรวงอกแตก อันตรายแค่ไหน

          จากสถิติแล้ว หากผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้รับการรักษา กล่าวคือไม่รู้ตัวว่ามีหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองมาก่อน โอกาสในการมีชีวิตรอดจะอยู่ที่ 5 ปีโดยประมาณ แต่หากหลอดเลือดแดงใหญ่แตกเมื่อไร อัตราการเสียชีวิตจะมากกว่า 50-90% เลยทีเดียว เพราะหากหลอดเลือดแตก อาการจะกำเริบรุนแรงและเฉียบพลันมาก จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องในเวลา 3-5 นาที

ด้วยความที่โรคนี้ไม่มีสัญญาณเตือนที่ชัดเจน ดังนั้นหากเกิดอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก ไอเป็นเลือด ปวดหลังมาก ปวดท้องหนักมาก ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการและความรุนแรงของโรคโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งให้ข้อมูลอาการป่วยอย่างชัดเจน ซึ่งก็จะช่วยให้การวางแผนการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและทันท่วงที
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
Create Date :31 กรกฎาคม 2560 Last Update :31 กรกฎาคม 2560 7:23:31 น. Counter : 2029 Pageviews. Comments :1