bloggang.com mainmenu search
10ข่าว-10ปม'ร้อน'เย้ยอำนาจรัฐ
ไร้ที่ทำกิน-นายทุน'อยากจน'
ชนวนเหตุรุกป่ากาญจน์เรื้อรัง 23 กรกฎาคม 2550 มีการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ จ.กาญจนบุรี กำลังทหารจากกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ และกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พร้อมด้วยตำรวจรวมกว่า 200 นาย ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าตรวจสอบที่ดินบริเวณหมู่ 4 บ้านหนองสองตอน ต.แก่งเสี้ยน อ.เมืองกาญจนบุรี กับฝ่ายชาวบ้านกว่า 200 คน ที่ยกขบวนกันเข้าไปจับจองที่ดิน พร้อมประกาศลั่นจะไม่ยอมออกจากพื้นที่ โดยอ้างสิทธิความเป็น'คนไทยผู้ไร้ที่ทำกิน' จนเกือบทำให้'แผ่นดินเมืองกาญจน์'ต้องลุกเป็นไฟด้วยข้อพิพาทที่ดินดังกล่าว แต่หลังสถานการณ์คลี่คลาย มีการตรวจสอบและสรุปผลชี้ชัดว่า บริเวณจุดพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ ตามพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ก.)กำหนดเขตหวงห้ามที่ดิน จ.กาญจนบุรี พ.ศ.2481 กองทัพบกในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบจึงแจ้งความดำเนินคดีกับนายทุนพร้อมพวกในข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐ ตามที่สืบทราบว่าเป็นผู้ชักใยให้ชาวบ้านเข้ามาบุกรุกเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งคดีนี้อัยการได้ส่งฟ้องศาลไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม...ปัญหานายทุนต้องการฮุบที่ดินโดยเอาประชาชนมาเป็นเกราะกำบังในการกระทำผิด รวมทั้งเข้ามากว้านซื้อที่ดิน ภ.บ.ท.ในเขต จ.กาญจนบุรีนั้นมีมากขึ้น โดยเฉพาะการนำผืนดินที่ได้รับหลักฐานการจับจองและเสียภาษีบำรุงท้องที่(ภ.บ.ท.5)ไปขายสิทธิให้นายทุน
จากนั้นนายทุนในคราบของผู้ยากจน-ไร้ที่ทำกิน จะนำที่ดินเหล่านั้นไปดำเนินการขอเช่าที่ดินจากภาครัฐอย่างถูกต้อง โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งประเด็นนี้ทำให้การบุกรุกที่ทำกินกลายเป็นปัญหาเรื้อรังไม่จบสิ้น และจะยิ่งทำให้สถานการณ์การบุกรุกที่ดินเมืองกาญจน์น่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น เพราะนี่อาจเป็นบรรทัดฐานที่หลายคนนำมาอ้างถึงก็เป็นได้...
ปักปันเขตแดนไทย-เขมรไม่คืบ ปมปริศนาคาใจชาวอรัญประเทศ
ณ วันนี้ ปัญหาการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ยังไม่คืบหน้าทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมานานกว่า 30 ปี
นับจากปี 2513 เมื่อครั้งเกิดสงครามเผ่าพันธุ์กันเองของประเทศกัมพูชา ประชาชนนับแสนคนอพยพหนีตายเข้ามาอาศัยในเขตไทย ด้านทิศตะวันออกของบ้านดงงู อ.อรัญประเทศ ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ก็เข้าใจกันดีว่าชาวกัมพูชาขอเข้ามาพักพิงชั่วคราวเท่านั้น
ครั้นเวลาล่วงมากว่า 30 ปี ความหวงแหนในพื้นที่ที่อยู่อาศัยจึงเกิดขึ้น ลูกหลานคนรุ่นใหม่ชาวกัมพูชา ต่างเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้คือบ้านเกิดเมืองนอน ขณะเดียวกันหลักเขตบางจุดที่ปักปันไว้แต่ดั้งเดิมถูกทำลาย ผู้ที่ร่วมสร้างร่วมทำเสียชีวิตไปแล้วก็มีมาก ที่หลงเหลืออยู่อายุมาก พูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง บ้างไม่สามารถเดินไปไหนได้
หลังสงครามสงบลง คนไทยเจ้าของที่ดินต้องการที่ดินกลับคืนจากการครอบครองของชาวกัมพูชา แต่ไม่สามารถขอคืนได้ ด้วยเหตุผลคือไม่มีหลักฐานเขตแดนที่ชัดเจน เพราะหลักเขตได้ทำลายทิ้งไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่มีใครรู้ คงทิ้งปริศนาให้คนรุ่นหลังโต้เถียงกันไม่สิ้นสุด
ที่สำคัญเป็นเรื่องแปลกที่ประชาชนกับเจ้าหน้าที่รัฐไทย ไม่สามารถหาทางออกร่วมกันได้ ทั้งเรื่องอธิปไตย การทำการค้าธุรกิจ ที่ไม่หนุนเนื่องกัน ปัญหาจึงถูก'กลบๆ'ไว้ตลอดมา
นายทุนท้าทายกฎเหล็ก'ทภ.3' ผุดรีสอร์ตบนที่ดิน'รอส.เขาค้อ'
ปี 2517 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯเยี่ยมทหารผู้บาดเจ็บจากการสู้รบกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์(ผกค.) ซึ่งยึด'เขาค้อ' อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เป็นฐานที่มั่น และทรงมีพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่สองข้างทางบน'เขาค้อ' เป็นการสร้างแนวป้องกัน ผกค.ไม่ให้กลับมายึดพื้นที่คืนได้อีก
'หมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนา'จึงถูกจัดตั้งขึ้น และมีการเปิดรับสมัครราษฎรอาสาสมัคร(รอส.)เข้ามาอยู่อาศัย พร้อมจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 15-20 ไร่ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามแบ่งแยก หรือโอนที่ดินให้แก่บุคคลอื่น เว้นแต่ตกทอดเป็นมรดก หากผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทันที หลังสิ้นเสียงปืนจนถึงปัจจุบัน ที่ดิน'รอส.เขาค้อ'ถูกพลิกโฉมจาก'สมรภูมิเลือด'กลายเป็นทำเลทอง มีนายทุนหมายปองเป็นเจ้าของ เพื่อทำธุรกิจรีสอร์ตและสร้างบ้านพักตากอากาศ
ยิ่งช่วงกลางปี 2550 ทภ.3 ต้องส่งมอบพื้นที่คืนให้กับกรมป่าไม้ หลังขอใช้พื้นที่ครบกำหนด 30 ปี ยิ่งมีการลอบซื้อขายที่ดิน รอส.กันเป็นจำนวนมาก รีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศก็เริ่มผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แบบท้าทายกฎเหล็กของ ทภ.3 ที่'ห้ามซื้อขาย'อย่างเคร่งครัด ทั้งที่ก่อนหน้านี้...ในเดือนตุลาคม 2549 กองพลทหารที่ 1 จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ทภ.3 ได้นำรายชื่อ 9 นายทุนเข้าแจ้งความต่อตำรวจ สภ.เขาค้อ กล่าวหาว่าบุกรุกและใช้ประโยชน์ในที่ดิน รอส.โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่คดีก็เงียบหายไป
มีนาคม 2550 กองพลทหารที่ 1 มีหนังสือแจ้งไปยัง รอส.และนายทุน 33 รายให้เข้าชี้แจง หลังพบว่าลอบซื้อขายและบุกรุกครอบครองที่ดิน รอส. โดยรายชื่อและคำชี้แจงได้ถูกส่งไปยัง ทภ.3 แต่ทุกอย่างก็ยังเงียบเฉกเช่นเดิม
แม้ล่าสุดผู้บุกรุกส่วนหนึ่งจะอยู่ระหว่างการส่งฟ้องของอัยการจังหวัดเพชรบูรณ์ แต่ก็เป็นผู้ถูกดำเนินการเพียงส่วนน้อยเท่านั้น! ที่ดิน'รอส.เขาค้อ'จึงยังเป็นปัญหาที่ถูกเฝ้าจับตาอย่างไม่กะพริบ!!
จับตาที่ดินพิพาทร.ฟ.ท.บุรีรัมย์ จับตาตรวจสอบที่ดิน'ชิดชอบ'
28 พฤษภาคม 2550 ตัวแทนชาวบ้าน หมู่ 4,15 ต.อิสาณ และหมู่ 9,11,16 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กว่า 100 คนชุมนุมประท้วงหน้าสถานีรถไฟบุรีรัมย์ เรียกร้องให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)เข้ามาแก้ไขกรณีมีการกล่าวหาราษฎรทั้ง 5 หมู่บ้านดังกล่าวกว่า 1,000 ครอบครัว บุกรุก-จับจองที่ดินทับที่ดินรถไฟ โดยชาวบ้านอ้างว่ามีความพยายามใช้อำนาจและกลไกรัฐ ในการขับไล่รวมถึงเพิกถอนสิทธิในที่ดินดังกล่าว ทั้งที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาเป็นระยะเวลายาวนาน รวมทั้งมีเอกสารสิทธิ์เป็น นส.3 และสค.1 ครอบครองอย่างถูกต้อง
การประท้วงครั้งนี้อุบัติขึ้น หลังจากที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เข้าไปตรวจสอบกรณีการรุกที่ดิน ร.ฟ.ท.ในพื้นที่จ.บุรีรัมย์ ของตระกูลนักการเมืองชื่อดังตระกูล'ชิดชอบ โดยกล่าวหาครอบครองโฉนดที่ดินหลายแปลงทับที่ดินของ ร.ฟ.ท.ใกล้วนอุทยานเขากระโดง ต.อิสาณ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับ 5 หมู่บ้าน ที่เกิดข้อพิพาทกับ ร.ฟ.ท.มาตลอดตั้งแต่ปี 2517 ชาวบ้านจึงเกรงอาจส่งผลให้มีการเพิกถอนสิทธิ์การครอบครองที่ดินตามไปด้วย ล่าสุดนายเกษม วัฒนธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ในฐานะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากรณีที่ดินของ ร.ฟ.ท.ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ระบุว่า สนช.ได้ส่งผลการตรวจสอบที่ดินแปลงของตระกูล'ชิดชอบ' ให้กรมที่ดินดำเนินการพิจารณาเพิกถอนโฉนด รวมถึงส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ.)ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยังไม่มีการเพิกถอนสิทธิ์ครอบครองแต่อย่างใด
เรือน้ำตาลล่ม-น้ำเน่าอ่างทอง
รง.ชูรสฟ้องแกนนำม็อบ58ล. - 12 มีนาคม 2550 เกิดเหตุปลาลอยตายเป็นเบือในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงรอยต่อ จ.อ่างทอง กับ จ.พระนครศรีอยุธยา เบื้องต้นหลายฝ่ายพุ่งเป้าไปยัง 2 สาเหตุ คือเรือบรรทุกน้ำตาลทรายแดง จำนวน 650 ตัน เกิดอุบัติเหตุล่มในพื้นที่ หมู่ 4 ต.โพสะ อ.เมืองอ่างทอง และโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ
14 มีนาคม ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลาในกระชัง สองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ลุกฮือปิดล้อมโรงงานผลิตผงชูรสยี่ห้อดัง เพื่อกดดันให้รับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย 47 ล้านบาท เพราะสงสัยมีการลักลอบปล่อยน้ำเสีย เป็นเหตุให้ปลาตายจำนวนมาก ทว่า...ต่อมากรมควบคุมมลพิษ(คพ.) สรุปผลวิเคราะห์ระบุสาเหตุมาจากเรือบรรทุกน้ำตาลล่ม พร้อมส่งข้อมูลให้อัยการจังหวัดอ่างทองดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้อง 41 ล้านบาท
จากผลสรุปดังกล่าว ทางโรงงานผลิตผงชูรสจึงยื่นฟ้องกลุ่มแกนนำชาวบ้านตกเป็นผู้ต้องหา ฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ มูลค่ากว่า 58 ล้านบาท ล่าสุดแกนนำม็อบปลาเน่าซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาได้เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา และขอให้การในชั้นศาล พร้อมตั้งทนายสู้คดีแล้ว
ชะตากรรม'ม้งลาว'เคว้ง หลังอเมริกาจับ'วัง เปา'
พลันที่ทางการสหรัฐอเมริกาส่งเจ้าหน้าที่จู่โจมจับกุมนายพลวัง เปา ผู้นำกองทัพม้งกู้ชาติ และพวกผู้ร่วมขบวนการต่อต้านลาว(ขตล.)ในแหล่งพำนักที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังพบเบาะแสวางแผนระดมเงินเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ สั่งซื้ออาวุธสงครามร้ายแรง เพื่อส่งต่อ'ขตล.'ที่เป็นม้งอพยพในไทย โดยมีเป้าปั่นป่วนกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปปล.)นั้น... ไม่เพียงเสมือนเป็นการดับฝันของชนชาวม้งในการกู้ชาติอีกครั้ง!
แต่ยังกระทบถึง'ม้งลาว'เกือบ 8,000 ชีวิต ซึ่งอพยพลี้ภัยอยู่ที่บ้านห้วยน้ำขาว ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดยคนเหล่านี้ตั้งความฝันว่าสักวันหนึ่งยูเอ็นเอชซีอาร์จะส่งไปยังประเทศที่สาม กลับต้องถูกเพ่งเล็งอีกครั้ง ขณะเดียวกันการส่งกลับ'ม้งลาว'ไปประเทศลาว ก็ต้องถูกชะลอทอดเวลาออกไปอย่างไร้กำหนด ทั้งที่ทางการไทย-ลาวจับมือกันเพื่อแก้ปัญหาหลังบรรลุข้อตกลงในระดับรัฐบาลแล้ว ล่าสุดยังมีเสียงขู่จากม้งลาวกลุ่มนี้ โดยยืนกราน'หากถูกส่งกลับขอตายบนแผ่นดินไทยดีกว่า' ถึงเวลานี้ชะตากรรมของม้งลาวบ้านห้วยน้ำขาวยังเคว้งคว้าง
ส่วนไทยก็ยังต้องแบกรับบทบาทเป็น'ม้าอารี'ต่อไป
กระแสอนุรักษ์โหมแรง - ต้าน3โรงไฟฟ้าถ่านหิน
เวลา 09.00น.วันที่ 3 กันยายน ชาวระยองกว่า 5,000คน รวมตัวกันที่บริเวณริมถนนสุขุมวิท หมู่ 5 ต.เชิงเนิน อ.เมืองระยอง ตรงข้ามบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไออาร์พีซี การชุมนุมเป็นอย่างยืดเยื้อจนถึงเวลา15.30น.วันที่ 5 กันยายน กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวน ไปยังบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดระยอง
นายพลวัต ชยานุวัชร ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ออกมาพบกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมกับแถลงว่า บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัท แม่ของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) ไม่มีนโยบายก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่จ.ระยอง ดังนั้นบริษัท ไออาร์พีซี ไม่สามารถยื่นซองประกวดราคาได้ในวันที่ 19 ตุลาคม 2550 สิ้นคำแถลงของนายพลวัต บรรดาชาวม็อบพากันไชโยโห่ร้องด้วยความยินดี
ขณะที่ชาวแม่กลอง นับหมื่นคนรวมตัวกันในวันที่ 5กันยายน ที่หน้าที่หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน ขนาด 800เมกกะวัตต์ บริษัท แบ็บค็อก แอนด์ บราวน์ ร่วมทุนกับบริษัท ล็อกซเล่ย์ ซึ่งมีแผนจัดสร้างที่ ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม การชุมนุมของชาวแม่กลองทำให้โครงการฯชะงักอย่างฉับพลัน
ถัดมาอีกเดือนเศษ คือวันที่ 25 ตุลาคม กลุ่มชาวฉะเชิงเทรา ระดมกำลังต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบางปะกง ซึ่งบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ขนาด 800 เมกกะวัตต์ มีแผนก่อสร้างริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงตรงข้ามที่ว่าการอำเภอบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
การผนึกกำลังของกลุ่มประชาชนในพื้นที่3จังหวัดเพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินในห้วงเวลาติดๆกันดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของชุมชนต่อกระแสอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการปฎิกริยาต่อต้านมลพิษ เพิ่มระดับความเข้มข้นจนเป็นน่าจับตา
10ปีเหยื่อตะกั่ว'คลิตี้' จับตา'เคมโก'ซ้ำรอยเดิม?
'คลิตี้'ชุมชนเล็กๆ ที่เงียบสงบในผืนป่าตะวันตกป่าติดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี กลับกลายเป็นแหล่งมลพิษ หลังโรงแต่งแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ'เหมืองคลิตี้' เข้าไปตั้งอยู่นั่น
ปี2541 ชาวคลิตี้พากันเจ็บป่วยกันระนาวเนื่องจากแหล่งน้ำในพื้นที่ปนเปื้อนไปด้วยตะกั่วที่มาหางแร่ตะกั่วของเหมืองคลิตี้ นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวคลิตี้ พร้อมพวกรวม 8 คน ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทฯ จำนวน119,036,400 บาทพร้อมเรียกร้องให้ฟื้นฟูลำห้วยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ปี 2549 ศาลชั้นต้นพิจารณาตัดสินคดีให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหาย 4 ล้านบาท ในข้อหาละเมิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 คดีอยู่ระหว่างอุทรณ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2550 นายยะเสอะ นาสวนสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี พร้อมชาวคลิตี้รวม 151 คน ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีเรียกค่าเสียหายกับบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ฯ จำนวน1,041ล้านบาท ด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน เนื่องจากชาวคลิตี้เห็นว่าค่าชดเชยน้อยกว่าที่ได้รับผลกระทบ และสภาพแวดล้อมยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ดีขึ้น ตะกอนตะกั่วยังคงอยู่ในท้องน้ำลำห้วยคลิตี้ถึง 14,989 ตัน
ขณะเดียวกัน บริษัท กาญจนบุรีเอ็คซ์โพลเรชั่น แอนด์ไมนิ่ง จำกัด(เคมโก) ในเครือบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์พยายามผลักดันให้รัฐอนุญาตนำแร่ของเหมืองคลิตี้ที่เหลืออยู่ราว 9หมื่นตันไปแต่งที่เหมืองเค็มโก ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ แต่องค์กรอนุรักษ์รวม 10 องค์กร ผนึกกำลังคัดค้านเพราะหวั่นเหตุซ้ำรอยเหมือนเช่น'เหมืองคลิตี้'
แกะรอยขบวนการค้าช้าง'ข้ามชาติ'
เพียงชั่วเดือนเดียวของมีนาคม2550 เจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยต่างๆ จับกุมขบวนการนำช้างทั้งเข้าและออกผ่านชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านได้ถึง 13เชือก โดยเมื่อวันที่ 4มีนาคม เจ้าหน้าที่จับกุมกลุ่มลักลอบนำลูกช้างป่าวัย4เดือนเศษ จากชายแดนฝั่งพม่าเข้ามายังฝั่งไทย ที่ปางช้างบริเวณหลังวัดอิติสุคโต ในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 10 มีนาคม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน จับกุมขบวนการลักลอบนำช้างป่า2เชือกจากประเทศพม่า โดยใช้เรือบรรทุกข้ามลำน้ำสาละวิน เข้าไทย ด้านอ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ต้องหาทั้ง5คนมีทั้งชาวไทยและพม่ายอมรับสารภาพเพียงว่าซื้อจากฝั่งพม่าในราคา 520,000บาท เพื่อนำไปส่งขายให้นายทุนฝั่งไทยราคา 560,000บาท
วันที่ 11มีนาคม เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ประจำด่านกักกันสัตว์สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จับกุมช้าง10เชือกพร้อมคณะควาญช้าง ต่อมาศาลพิพากษาในความผิดฐานไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 34 พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2499 เป็นเงิน 500 บาท และให้ปล่อยช้างของกลาง
พฤติการณ์ของกลุ่มนายทุนลักลอบนำเข้าช้างจากประเทศเพื่อนบ้านมุ่งเป้าเพื่อฟอกช้างป่าเป็นช้างบ้านก่อนส่งออกประเทศที่สาม ทำอย่างต่อเนื่องและถือเป็นขบวนการลึกลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง
คดี'ตายแล้วเกิดใหม่' สะท้อนกลไกรัฐ'เหลว'
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 ตำรวจชุดกลุ่มงานสืบสวน ภ.จว.ลพบุรี ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.พรชัย ไข่สนอง รองผู้กำกับการ บุกเข้ารวบตัวนายขาว ไชยายงค์ หรือชื่อเดิมส.อ.โกมล พุ่มยิ้ม อายุ 49 ปี อยู่บ้านตามบัตรประชาชนเลขที่ 317 หมู่ 2 ต.ลำพยนต์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ แต่เช่าบ้านอยู่ในต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จ.ลพบุรี ส.อ.โกมลรับสารภาพว่า เมื่อปี พ.ศ.2534 ตำรวจ สภ.ตาพระยา จ.สระแก้ว จับกุมตัวในคดีลักลอบขายอาวุธสงคราม จากนั้นถูกส่งตัวฟ้องต่อศาล และศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกเป็นเวลา 16 ปี จากนั้นได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ออกมา
ในระหว่างนั้นส.อ.โกมลลักลอบขายยาบ้า ตำรวจกลุ่มงานสืบสวน ภ.จว.ลพบุรี จับกุมได้อีกครั้งและส่งตัวฟ้องต่อศาลจังหวัดลพบุรี แต่ส.อ.โกมลยื่นขอประกันตัวออกมาสู้คดี ต่อมาวันที่ 7 กรกฎาคม 2541 ส.อ.โกมล พุ่มยิ้ม แจ้งตายที่อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และแจ้งเกิดพร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นนายขาว ไชยายงค์ ที่อ.เมือง จ.มุกดาหาร
หลังแจ้งเกิดใหม่ได้แล้ว ส.อ.โกมล พุ่มยิ้ม หรือชื่อใหม่นายขาว ไชยายงค์ ย้ายไปอยู่ที่อ.เขาสมิง จ.ตราด ขอทำบัตรประชาชนใหม่แล้วย้ายไปอยู่จังหวัดต่างๆอีกหลายจังหวัด วกกลับเข้าไปอยู่บ้านเลขที่ 317 หมู่ 2 ต.ลำพยนต์ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นบ้านเกิด เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้ว จึงย้อนกลับมาอยู่บ้านภรรยาที่ในจ.ลพบุรี ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวอีกครั้งดังกล่าว โดย ส.อ.โกมล พุ่มยิ้ม หรือชื่อใหม่นายขาว ไชยายงค์ หลังแจ้งตายและแจ้งเกิดใหม่แล้ว สามารถลอยนวลอยู่รวมกับคนดีในสังคมได้นานถึง 8 ปีเลยทีเดียว
ส.อ.โกมล พุ่มยิ้ม หรือนายขาว ไชยายงค์ รับสารภาพว่า เรื่องแจ้งตายแล้วแจ้งเกิดใหม่ นางสายหยุด พุ่มยิ้ม ภรรยา เป็นคนวิ่งเต้นทำเรื่องให้ โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิด กล่าวคือ ในส่วนของการแจ้งตายเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท ในส่วนของการแจ้งเกิดใหม่ ก็เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาท เช่นกัน ส.อ.โกมลให้ตัวแทนนำใบมรณะบัตรไปแสดงต่อศาลจังหวัดลพบุรี ขอปิดคดีจำหน่ายยาบ้า และนำไปยื่นต่อศาลจังหวัดสระแก้ว ปิดคดีลักลอบจำหน่ายอาวุธปืน จากนั้นขอถอนหลักทรัพย์ในการประกันตัวกลับคืน
การจับกุมส.อ.โกมล พุ่มยิ้ม เมื่อวันที่ 2พฤษภาคม 2550 เจ้าหน้าที่ขยายผลจับกุมนางสายหยุด พุ่มยิ้ม ภรรยา และนายประกัน พร้อมกับส่งฟ้องส.อ.โกมลต่อศาลจังหวัดลพบุรี ศาลตัดสินจำคุกในคดีปลอมและใช้เอกสารอันเป็นเท็จเป็นเวลา 1 ปี บวกกับคดีลักลอบจำหน่ายยาบ้าอีก 9 ปี เป็นจำคุก 10 ปี นอกจากนี้ยังต้องถูกจำคุกในคดีลักลอบจำหน่ายอาวุธสงครามอีก 16 ปี รวมทั้งหมด 26 ปีที่ต้องติดคุกชดใช้กรรมที่ทำไว้ จ.ลพบุรี ปิดคดีตายแล้วแจ้งเกิดใหม่ แต่ในจ.กาญจนบุรี จ.มุกดาหารและจ.ตราดซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าเกี่ยวข้องกับการออกหลักฐานเท็จให้กับส.อ.โกมล ปรากฎว่ายังไม่มีหน่วยงานใดเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องแม้แต่รายเดียว
คดีนี้สะท้อนให้เห็นระบบการตรวจสอบของฝ่ายรัฐที่ล้มเหลวชัดเจน


สารพัดข่าวร้อนแห่งปี 2550
1.น้ำแข็งขั้วโลกละลาย
กระแสข่าวโลกร้อนมาแรงแซงโค้งข่าวอื่นใด ตั้งแต่กลางปีองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา (นาซา) ออกแถลงการณ์การตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นตัวการหลักในการทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนในชั้นบรรยากาศโลกว่า ขณะนี้ถึงขั้นสูงสุดวัดได้ 383 ส่วนในล้านส่วน ยังไม่นับรวมถึงปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ระหว่างการเดินทางถึงชั้นบรรยากาศ ทั้งนี้ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดังกล่าวอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน 50-200 ปี นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดการณ์กันว่าอีกไม่ถึง 3 ปี จะเกิน 400 ส่วนในล้านส่วนแน่นอน และเมื่อใดที่เกิน 450 ส่วนในล้านส่วน อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส เมื่อนั้นอัตราความเร็วของการละลายน้ำแข็งขั้วโลกก็จะเพิ่มมากขึ้นด้วย ผลกระทบกับไทยคือ
คลื่นน้ำเย็นที่ไหลมาจากหมู่เกาะนิโคบาร์เข้ามาในน่านทะเลไทย ทำให้อุณภูมิน้ำทะเลอันดามันลดลงเหลือ 15 องศาเซลเซียส จากปกติอยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส กระแสคลื่นน้ำเย็น แม้จะเข้ามาเป็นช่วงๆ ครั้งละประมาณ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่ผลเสียคือทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำลง เป็นสาเหตุให้ปะการังอ่อนและสัตว์น้ำช็อคตาย
ระวัง !! อย่ามีลูก !! ดร.จิรพล สินธุนาวา นักวิชาการสิ่งแวดล้อม จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตือนคู่สมรสว่าไม่ควรมีลูก เพราะอีก 5-7 ปีข้างหน้า เด็กอาจจะมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก เพราะต้องผจญกับโรคภัยไข้เจ็บจากเชื้อโรคทั้งชนิดเก่าและใหม่ที่แข็งแรงมากขึ้น
ทะเลกรดเกิดจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยิ่งมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นเท่าไร ยิ่งมีส่วนเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเร็วขึ้น ในปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นนั้น ร้อยละ 48 ไม่ได้อยู่ในอากาศ แต่จะละลายลงไปในน้ำ และเกือบทั้งหมดอยู่ในน้ำทะเล ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างเปลี่ยนไป ทำให้วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตในทะเลเปลี่ยนไปด้วย หิ้งน้ำแข็ง คือ น้ำแข็งที่ตกลงมาจากยอดเขาบริเวณขั้วโลกใต้ลงสู่ทะเลรอบมหาสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งอุณหภูมิฤดูหนาวบริเวณขั้วโลกประมาณ -30 องศาเซลเซียสนั้น จะทำให้น้ำแข็งที่ตกลงมาไม่ละลาย แต่จะเกาะติดแน่นเป็นทางตามลาดไหล่เขาไปจนถึงบริเวณชายฝั่ง เมื่อถึงฤดูร้อนอุณหภูมิขั้วโลกจะลดเหลือประมาณ -10 องศาเซลเซียส เป็นเหตุให้หิ้งน้ำแข็งเหล่านั้นละลายมีปริมาตรหลายพันลูกบาศก์กิโลเมตร มากพอที่จะเพิ่มระดับน้ำทะเลให้สูงกว่าเดิมถึง 64 นิ้ว หรือ 163 เซนติเมตร ในปี พ.ศ.2643
2."นิวเคลียร์" ค่าโง่ที่รัฐลืม
โครงการก่อสร้างศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ที่ ปส.อาจจะต้องเสียค่าโง่กว่า 2,000 ล้านบาท เนื่องจากถูกบริษัท เจเนรัลอะตอมมิคส์ (จีเอ) ซึ่งรับเหมาดำเนินโครงการฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วยเหตุว่า ปส.ทำผิดสัญญานั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งรายงานผลการตรวจสอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ในฐานะที่กำกับดูแล ปส.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพราะมีมูลที่น่าเชื่อว่าเกิดจากการปฏิบัติราชการโดยมิชอบของข้าราชการบางคน แต่จนบัดนี้เป็นเวลากว่า 1 ปี ยังไม่สามารถหาตัวผู้รับผิดชอบได้
3.จับตา "ธีออส"
หลังจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ประกาศเปิดตัวดาวเทียมธีออส ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส มีบริษัท เอียดส์ แอสเตรียม (EADS Astruim) ประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 งบประมาณ 6,000 ล้านบาทเศษ กำหนดแล้วเสร็จและปล่อยขึ้นสู่อวกาศเดือนตุลาคม 2550 ที่ศูนย์อวกาศยาสนี ประเทศรัสเซีย สุดท้ายต้องเลื่อนกำหนดปล่อยดาวเทียมเป็นมกราคม 2551 ทั้งนี้ ปัญหาเกิดจากความไม่ลงตัวในการเจรจาความรับผิดชอบจัดเก็บเศษชิ้นส่วนดาวเทียมหลังปล่อยขึ้นสู่อวกาศ แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือ เมื่อดาวเทียมธีออสขึ้นสู่อวกาศ ประเทศไทยจะมีความคุ้มค่าในแง่ใดบ้าง เบื้องต้นพบว่า ดาวเทียมดังกล่าวสามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดภาพขาวดำ 2 เมตร และความละเอียดภาพสีแค่ 15 เมตร ซึ่งหากมีเมฆหรือช่วงเวลากลางคืนก็ไม่สามารถถ่ายภาพได้ และหากเกิดภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วม ก็ไม่สามารถถ่ายภาพเพื่อแจ้งเตือนได้ทันท่วงที แบบนี้เรียกว่าคุ้มค่าหรือไม่ คงต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณาเอง
4.พ.ร.บ.เหล้า การต่อสู้ที่ยังไม่จบ
ลุ้นกันตัวโก่งกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.... เนื่องจากมีกระแสคัดค้านกันรุนแรง แต่นักวิชาการ ภาคีเครือข่าย ก็ไม่ย่อท้อร่วมกันผลักดันโดยล่า 13 ล้านรายชื่อ เพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่โค้งสุดกฎหมายฉบับนี้ก็เกือบจะตกวาระ ในที่สุด สนช.ต้องยอมตัดมาตราที่ว่าด้วยเรื่องการห้ามโฆษณาออก เพื่อให้กฎหมายผ่านสภา โดยให้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดเกณฑ์การโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การควบคุมจะไม่ต่ำกว่ากฎหมายฉบับเดิม และยังมีการเพิ่มเติมรายละเอียด อาทิ การกำหนดอายุผู้ซื้อจาก 18 ปี เป็น 20 ปี และห้ามขายสุราให้แก่บุคคลที่อยู่ในอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ และเพิ่มวันห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาลนา วันครอบครัว โดยเชื่อว่า กฎเกณฑ์ที่เพิ่มขึ้น จะช่วยลดปัญหาที่เกิดจากน้ำเมาได้
5.ซีแอล ชัยชนะของคนไทย
ถือเป็นหนึ่งภารกิจที่สำคัญและเป็นผลงานชิ้นเอกของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่สามารถทำได้สำเร็จหลังจากที่มีความพยายามมาเกือบ 20 ปี แม้ว่าประเทศไทย ต้องเผชิญแรงกดดันจากบริษัทยาข้ามชาติทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เจตนารมณ์ที่ชัดเจน รวมถึงการทำงานอย่างเปิดเผย โปร่งใส ทำให้ไทยสามารถประกาศซีแอลกับยาตัวแรก คือ ยาต้านไวรัสเอดส์ เอฟฟาไวเรนซ์ ต่อมาในเดือนมกราคมปี 2550 ก็ประกาศซีแอลยาอีก 2 ตัว คือ ยาต้านไวรัส "คาเลตตร้า" และยาสลายลิ่มเลือดหัวใจและหลอดเลือด "พลาวิกซ์" และในช่วงต้นปี จะมีข่าวดีกับยารักษามะเร็ง 4 รายการ คือ ยารักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งทางเดินอาหาร "อิมาทินิบ" ยารักษามะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม "โดซีแทคเซล" ยารักษามะเร็งปอด "เออร์โลทินิบ" และยารักษามะเร็งเต้านม "เล็ทโทรโซล" ซึ่งเป็นยาที่ติดสิทธิบัตรทั้งหมด ถือเป็นข่าวดีของผู้ป่วยที่ไร้โอกาส และภาวนาว่ารัฐบาลต่อไป จะเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ไม่แพ้กัน
6."โรคระบาด"ปัญหาธรรมดาที่ไม่ธรรมดา
"โรคระบาด" และ "โรคติดต่อ" ยังเป็นปัญหาใหญ่ ในรอบปีมีการจากรายงานจากการสอบสวนการเกิดโรคระบาดในประเทศ ทั้งสิ้น 495 กรณี มีรายงานผู้เสียชีวิต และป่วยจำนวนมาก ทำให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องเพิ่มมาตรการป้องกัน และรักษาให้เข้มงวด เช่น ไข้หวัดใหญ่ เสียชีวิตมากกว่า 100 ราย ไข้เลือดออก ป่วย 60,625 ราย เสียชีวิต 83 ราย มาลาเรีย ป่วย 28,764 ราย เสียชีวิต 38 ราย อหิวาต์ ป่วย 927 ราย เสียชีวิต 7 ราย โรคบิด ป่วย 14,514 ราย โรค โรคมือ เท้า ปาก ป่วย 11,846 ราย และโรคไข้หวัดนก ขณะที่โรคระบาดใหม่ก็เป็นโรคที่น่ากังวล เช่น "โรคลิซมาเนีย" เป็นโรคในแถบตะวันออกกลางมีแมลงเป็นพาหะ ซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างมากเพราะจากรายงานพบคนไทยติดเชื้อถึง 3 ราย แต่ยังไม่สามารถหาวงจรของการติดเชื้อของโรคในไทยได้ นอกจากนี้ ยังมีโรคติดต่อข้ามแดนที่สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยนานแล้ว เช่น โปลิโอ วัณโรค
7.กองทุนสปส.บอร์ดฯ บริหารพลาด
ช่วงปี 2550 ถือได้ว่าเป็นย่างก้าวแห่งการทบทวนของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพราะมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เนื่องจากมีกองทุนกว่า 4 แสนล้านบาท ผู้ประกันตนราว 9 ล้านคน แต่คณะกรรมการ (บอร์ด) ประกันสังคมกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะนอกจากไม่สามารถรักษาผลประโยชน์เพื่อผู้ประกันตนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว ยังถูกครหาถึงเรื่องการทุจริต อาทิ การจัดซื้อที่ดินและอาคารวัฏจักร เพื่อสร้างเป็นสำนักงานเขตและศูนย์ฝึกอบรม ที่ถูกยกเลิกโครงการ และโครงการติดตั้งระบบข้อมูลสารสนเทศแรงงาน มูลค่า 2.8 พันล้านบาท ที่มีการงุบงิบเซ็นสัญญากับภาคเอกชน และนำเงินร้อยละ 10 ของกองทุนไปดำเนินโครงการ แต่สุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า สปส.ไม่สามารถนำเงินไปใช้ในโครงการดังกล่าวได้ ล่าสุด เรื่องนี้ถูกส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ
8."ไบโอดีเซล"แคมเปญโลกร้อน
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตื่นตัวลดโลกร้อน ในฐานะที่เป็นเมืองปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 7 ของโลก งานนี้ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ตกกระแสจัดแคมเปญลดโลกร้อนทุกวันที่ 9 ของเดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา 1 ในนั้นมีโครงการ Drop-off ในตลาดขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ต ทั่วกรุงเทพฯ ขอความร่วมมือให้ทุกบ้านเก็บน้ำมันประกอบอาหารที่ใช้แล้วส่งไปให้บริษัท บางจาก ผลิตไบโอดีเซล สนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังกำหนดให้โรงเรียนสังกัด กทม. 436 แห่ง เป็นจุดรับซื้อน้ำมันใช้แล้วเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551
9.ฝังไมโครชิปสุนัข
หลังจากที่ กทม.เปิดให้บริการการฝังไมโครชิปสุนัขฟรี 50,000 ชิ้น ภายใน 3 เดือน ซึ่งดีเดย์ไปเมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 5 มกราคมนี้ ปรากฏว่ายังมีไมโครชิปเหลืออีก 11,000 ชิ้น ล่าสุด มีกระแสข่าวว่า สำนักอนามัย กทม.จะทำเรื่องขออนุมัติ นายพงศ์ศักติ์ เสมสันต์ ปลัด กทม. ให้บริการฝังไมโครชิปที่เหลือจนกว่าจะหมด และจะขออนุมัติจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 10,000 ชิ้น เพื่อให้บริการแก่ประชาชนต่อไป
อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ หากสุนัขในเขตกรุงเทพฯ ตัวใดยังไม่ได้รับการฝังไมโครชิปและจดทะเบียนตามข้อบัญญัติ กทม. เจ้าของสุนัขรายนั้นๆ จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
10.คนกรุงได้ขนส่งมวลชน2ระบบ
ระบบขนส่งมวลชนเป็นปัญหาอันดับ 1 ของคนเมืองที่ยังแก้ไม่ตก แต่ในสมัยของ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ประกาศว่าจะเปิดให้บริการส่วนขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่วงสะพานตากสิน-ถนนตากสิน ระยะทาง 2.2 กม. 2 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี และสถานีวงเวียนใหญ่ ขณะนี้เหลือเพียงงานระบบอาณัติสัญญาณและระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อ และกำหนดเปิดให้บริการปลายปี 2551 นอกจากนี้ยังมี รถเมล์ด่วนบีอาร์ที สายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ ซึ่งวิ่งในเกาะกลางระยะทาง 15 กิโลเมตร 12 สถานี หลังจากได้รับอนุมัติเส้นทางเดินรถจากรัฐบาลไปเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 ใช้ระยะเวลาสร้าง 18 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนกรกฎาคม 2551 คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการ 50,000 คน/วัน ใช้ระยะเวลาวิ่งตลอดเส้นทาง 28-35 นาทีเท่านั้น ล่าสุด กทม.กำลังเจรจาการส่งมอบรถบีอาร์ที จำนวน 45 คัน โดย 20 คันแรก จะส่งมอบภายใน 180 วัน เพื่อนำมาวิ่งทดสอบในเดือนเมษายนนี้

10 ข่าว 'ดี เด่น ดัง' แวดวง 'ศึกษา-ศาสนา-วัฒนธรรม' วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10887 มติชน
ในปีหมูไฟ 2550 ที่กำลังจะผ่านไป มีข่าวคราวมากมายเกิดขึ้นในแวดวงการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมมากมาย ทั้งเหตุการณ์ร้ายๆ และเหตุการณ์ดีๆ ผสมปนเปกันไป 'ทีมข่าวการศึกษา มติชน' จึงได้คัดเลือก 10 ข่าวเด่น ที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั้งในและนอกแวดวงการเหล่านี้มานำเสนอ
1.'วิจิตร'มือปราบ'แป๊ะเจี๊ยะ'
แม้ว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ดูเหมือนว่าเด็กน้อยคนนัก โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาสหรือเด็กที่อยู่ห่างไกลตัวเมืองที่จะมีสิทธิเข้าศึกษาในโรงเรียนยอดนิยม เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้เน้นคัดเลือกเด็กเก่งเข้าเรียน กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ออกประกาศนโยบาย และแนวปฏิบัติการรับนักเรียนชั้น ม.1 ประจำปี 2551 ที่มุ่งให้เด็กได้เรียนโรงเรียนดีใกล้บ้าน โดยกำหนดสัดส่วนรับนักเรียนโรงเรียนยอดนิยมในเขต และนอกเขตพื้นที่บริการ 50 : 50 ซึ่งในเขตพื้นที่ฯต้องใช้วิธีสอบคัดเลือกหรือจับสลาก หรือทั้งสอบคัดเลือกและจับสลาก ทั้งยังจำกัดจำนวนนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 50 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ นายวิจิตร ศรีสอ้าน เจ้ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ลงนามประกาศนโยบาย และมาตรการรับนักเรียนประจำปีการศึกษา 2550 ห้ามสถานศึกษารับบริจาคทุกรูปแบบในช่วงรับนักเรียน เพราะอาจเข้าข่ายเรียกเก็บ 'แป๊ะเจี๊ยะ' เพื่อแลกที่นั่งเรียน ถ้าโรงเรียนเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะถือว่ามีความผิดทางวินัย แต่หลังจากการรับนักเรียน ม.1 เสร็จสิ้นลงก็มีเสียงสะท้อนจากนักวิชาการ และผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควร
แต่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ยืนยันว่าผลที่ได้รับเกินคาด เพราะจากข้อมูลที่มีผู้ร้องเรียนว่ามี 15 โรงเรียนดัง เรียกเก็บแป๊ะเจี๊ยะ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่ามีมูลเพียงโรงเรียนเดียว ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป อย่างไรก็ตาม การรับนักเรียน ม.1 ในปีการศึกษา 2551 ศธ.ได้เตรียมมาตรการป้องกันการรับ 'เด็กฝาก-แป๊ะเจี๊ยะ' ไว้ในนโยบายการรับนักเรียนแล้ว โดยลดสัดส่วนการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษเช่น ความสามารถพิเศษหรือผู้ประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการอนุเคราะห์ และข้อผูกพันในการก่อตั้งโรงเรียนลงเหลือเพียง 5% จากเดิม 10%
2.'สภามศก.'สั่งปลด'อธิการบดี'
กลายเป็นประเด็นร้อนๆ ในแวดวงอุดมศึกษา เมื่อการประชุมสภามหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) วาระพิเศษ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 ซึ่งมีนายชุมพล ศิลปอาชา นายกสภา มศก.เป็นประธาน มีมติให้ถอดถอนนายวิวัฒน์ชัย อัตถากร พ้นจากตำแหน่งอธิการบดี มศก. ด้วยคะแนนโหวตของกรรมการสภา มศก. 20 เสียง ต่อ 1 เสียง เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและการบริหารงาน หลังคณบดีจาก 10 กว่าคณะยื่นหนังสือร้องเรียน มติดังกล่าวเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสภา มศก.ตาม พ.ร.บ.มศก.พ.ศ.2530 มาตรา 16 (7) ที่ระบุว่า สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งนายภราเดช พยัฆวิเชียร กรรมการสภา มศก.เป็นรักษาการอธิการบดี อีกทั้งยังแต่งตั้งนายบุญชัย เบญจรงคกุล กรรมการสภา มศก.เป็นประธานกรรมการสรรหาอธิการบดีคนใหม่
ซึ่งนายวิวัฒน์ชัยได้ตอบโต้มติสภา มศก.โดยทันที ด้วยการออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อประชาคม มศก.และแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในทำนองว่าถูกกลั่นแกล้ง และเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล จึงเดินหน้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้เพิกถอนมติสภา มศก.ก่อนฟ้องศาลอาญา ซึ่งต่อมาศาลอาญาได้ยกฟ้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นอุทธรณ์ ส่วนการสรรหาอธิการบดี มศก.คนใหม่ก็อยู่ในขั้นสรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม คาดว่าเดือนมีนาคม 2551 จะเสนอชื่อให้สภา มศก.พิจารณาแต่งตั้งได้ เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของวงการอุดมศึกษาไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่สภามหาวิทยาลัยมีมติถอดถอนอธิการบดี!!
3.ทปอ.ปรับแอดมิสชั่นส์'53
นับเป็นปีที่ 2 ของการการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้ระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์ ที่นำมาใช้แทนระบบเอ็นทรานซ์ ซึ่งในปีการศึกษา 2550 ที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของเทคโนโลยีเหมือนปีแรก แต่มีปัญหาบ้างที่เกิดจากความผิดพลาดของคน เนื่องจากผู้เข้าสอบฝนรหัสผิด หรือลบรอยดินสอนบนกระดาษไม่สะอาด ทำให้เครื่องไม่สามารถอ่านกระดาษคำตอบได้กว่า 8 พันแผ่น อีกทั้ง การเฉลยคำตอบผิดพลาด รวมถึงกลุ่มผู้เข้าสอบที่จบก่อนปีการศึกษา 2549 หรือเด็กซิ่ลไม่สามารถสมัครแอดมิสชั่นส์ ปี 2550 ได้ เพราะที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้ใช้คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองขอนแก่น ส่งผลให้การประกาศผลแอดมิสชั่นส์ล่าช้า แต่ในที่สุดศาลปกครองขอนแก่นยกฟ้อง
หลังจากนั้น ทปอ.ได้ประชุมเพื่อหาแนวทางเกี่ยวกับรูปแบบของแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2553 และมีมติให้ปรับองค์ประกอบของแอดมิสชั่นส์ โดยใช้ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือจีพีเอกซ์ 20% คะแนนโอเน็ตจาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ 30% และคะแนนทดสอบวัดความถนัด หรือ Apititude test 50% โดยยกเลิกผลการเรียนเฉลี่ยรายกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือจีพีเอ และคะแนนทดสอบทางการศึกษาขั้นสูงหรือเอเน็ต นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยนำคะแนนความดีมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือก โดยจะใช้เป็นส่วนหนึ่งในการยื่นสมัครเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2551 ก่อนจะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2553 ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดทำหลักเกณฑ์เพื่อเสนอ ทปอ.
4.ต้าน'ม.นอกระบบ'เดือด
ดุเดือดมาตั้งแต่ต้นปี 2550 กับความเคลื่อนไหวคัดค้านการผลักดันมหาวิทยาลัยของรัฐให้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ หรือออกนอกระบบราชการ ของรัฐบาล 'ขิงแก่' ที่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งความพยายามแก้ปัญหาในเรื่องนี้อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง และของนายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยการเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ได้จำกัดอยู่แค่กลุ่มนิสิต-นักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเท่านั้น แต่ยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ การเคลื่อนไหวคัดค้านรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากกลุ่มเครือข่ายนิสิต-นักศึกษาประชาชนคัดค้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ประกาศชุมนุมประท้วงอดข้าวที่หน้ารัฐสภา เพื่อกดดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอนร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐออกจากการพิจารณาของ สนช.แต่ไม่สำเร็จ จึงทูลเกล้าฯถวายฎีกา ก่อนเผาโลงศพจำลองของนายวิจิตรและนายสุชาติ อุปถัมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) จากนั้นได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ปรับนายวิจิตรจากตำแหน่ง ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับหลายๆ ฉบับที่กำลังจ่อคิวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ต้องถูกส่งลับเพื่อทำประชาพิจารณ์หรือสอบถามความเห็นประชาคมใหม่ แต่ในที่สุด สนช.ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐถึง 7 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยมหิดล ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่าง พ.ร.บ.มบ.และร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ มีเพียงร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) เท่านั้น ที่ถูกถอนจากการพิจารณาของ สนช. ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายอย่างไรกับเรื่องนี้
5.รื้อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป็นที่รู้กันว่าหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ที่ใช้กันมา 6 ปี ประสบกับความล้มเหลว ซึ่งจะเห็นได้จากผลการประเมินการศึกษาขั้นพื้นฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) โดยพบว่า สถานศึกษาไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้ง รายงานวิจัยของสำนักบริหารและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมทั้ง รายงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก ชี้ตรงกันว่าเนื้อหาหลักสูตรซ้ำซ้อนไม่ชัดเจน แถมตัวชี้วัดแบบช่วงชั้นกว้างเกินไป ส่งผลให้สถานศึกษานำไปออกแบบการเรียนการสอนไม่เหมือนกัน กระทั่งบอร์ด สพฐ.ซึ่งมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน มีมติให้ปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับ ป.1-ม.6 ใหม่ โดยเน้นการกำหนดตัวชี้วัดแต่ละชั้นปีแทนการกำหนดเป็นช่วงชั้น เพื่อให้โรงเรียนออกแบบการเรียนการสอนได้ตามมาตรฐานชาติ ซึ่งได้รับเสียงหนุนจากนักวิชาการและครูจำนวนมาก เพราะเนื้อหาหลักสูตรเดิมอัดแน่นเกินไป เป็นต้นเหตุให้นักเรียนตายซาก ไม่รู้จักคิดวิเคราะห์ ล่าสุด สพฐ.ได้จัดทำร่างหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย
แว่วว่า..จะจัดทำประชาพิจารณ์ 5 ภูมิภาคในเดือนมกราคม 2551
6.'ยุบ-ไม่ยุบ' รวม พศ.กับ ศน.
เป็นเวลากว่า 5 ปี ที่การบริหารงานด้าน 'ศาสนา' ถูกแยกดำเนินการภายใต้การดูแลของ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกรมการศาสนา (ศน.) สังกัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดย พศ.ดูแลงานบุคลากรสงฆ์ ศาสนสถาน และศาสนวัตถุของพุทธศาสนา ส่วน ศน.รับผิดชอบงานเผยแผ่พุทธศาสนพิธีทุกศาสนา ในห้วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีเสียงวิพากษ์จากคณะสงฆ์จำนวนหนึ่งเป็นระยะๆ ในทำนองว่า การบริหารงานของทั้ง 2 หน่วยงาน ขาดความเป็นเอกภาพ ไม่สามารถสนองงานสงฆ์ได้เท่าที่ควร และเกิดความซ้ำซ้อนในอำนาจหน้าที่ กระทั่งนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล พศ.ได้ส่งหนังสือถึง พศ.ให้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการรวมงานของ พศ.กับ ศน.เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านพุทธศาสนามีเอกภาพ
แต่ก็มีเสียงคัดค้านจากผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองหลายคน ซึ่งมองว่าแนวคิดดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา จึงแนะให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ทำงานที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกันให้สำเร็จ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีมติให้ยุบรวม 2 หน่วยงาน คือ พศ.และ ศน.ไว้ที่เดียวกัน
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) มีคุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการ วธ.เป็นประธาน เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องรวบรวมข้อมูลและพิจารณาให้รอบคอบก่อน ก็ต้องติดตามกันว่า สุดท้าย พศ. และ ศน.จะถูกยุบรวมหรือไม่!!
7.ฮือฮา!! พจนานุกรมศัพท์โจ๋
กลายเป็นข่าวหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์มติชนไปหลายวัน เมื่อมีข่าวว่า 'ราชบัณฑิตยสถาน' ทำกิ๊บเก๋เตรียมจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งบรรจุคำศัพท์ใหม่ โดยเฉพาะคำศัพท์วัยรุ่นกว่า 1,500 คำ อาทิ คำว่า กิ๊ก แอ๊บแบ๊ว จ๊าบ เด็กแว้นซ์ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราชบัณฑิตยสถานต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ไหวแล้ว ซึ่งในอดีต ราชบัณฑิตยสถานจะถูกมองว่าหัวโบราณ คร่ำครึและไม่ค่อยยอมรับการคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะเกรงว่าจะทำให้ภาษาไทยวิบัติ แม้จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของราชบัณฑิตยสภาน แต่นักวิชาการบางคนก็ไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมการใช้ภาษาพูดแทนภาษาเขียน ตรงกันข้ามกับกลุ่มวัยโจ๋ที่สนับสนุนเต็มที่ เพราะจะทำให้คำศัพท์เหล่านี้ถูกนำไปใช้อย่างถูกต้อง และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังศึกษา ซึ่งตรงกับแนวคิดราชบัณฑิตยสถานยุคใหม่
ขณะเดียวกันราชบัณฑิตยสถานก็ได้เตรียมรวบรวมคำศัพท์เฉพาะกลุ่มเช่น กลุ่มสาวประเภทสอง ตุ๊ด เกย์ ฯลฯ ไว้แล้วบางส่วน เช่น คำว่า ประเทือง แอบจิต อีแอบ เพื่อจัดทำพจนานุกรมคำศัพท์เฉพาะกลุ่มในโอกาสต่อไป อย่างไรก็ตาม พจนานุกรมคำใหม่ได้วางจำหน่ายตามท้องตลาดตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็ต้องจับตาดูว่า ราชบัณฑิตยสถานยุคใหม่จะมีอะไรมานำเสนออีก
8.ถ่ายโอน ร.ร.ให้ อปท.ล็อต 2
ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อนุมัติให้ถ่ายโอนสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.พ.ศ.2542 ในบัญชี 2/2549 จำนวน 241 แห่ง จากทั้งทั้งหมด 292 แห่ง พร้อมเปิดโอกาสให้บุคลากรในสถานศึกษาที่ถูกถ่ายโอน และสมัครใจถ่ายโอน สามารถถ่ายโอนไปสังกัด อปท.ได้ แต่ถ้าไม่ต้องการถ่ายโอนก็ให้อยู่สังกัดเดิมได้ กระนั้น การถ่ายโอนก็ดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นนัก เพราะเกิดปัญหาตามมาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขาดครู เพราะครูไม่ถ่ายโอนไป อปท.หรือความแบ่งแยกระหว่างครูที่อยู่ช่วยราชการในสถานศึกษาที่ถ่ายโอนไปแล้ว และครูที่ถ่ายโอนไป อปท.เท่านั้นยังไม่พอ การถ่ายโอนสถานศึกษาที่เข้าข่ายโรงเรียนสงวน จำนวน 51 แห่ง ในบัญชี 2 ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีโรงเรียนเข้าข่ายโรงเรียนสงวนจริงกี่โรง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (กกถ.)
ขณะเดียวกัน กกถ.ได้เสนอร่างแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนกระจายอำนาจให้ อปท.ฉบับที่ 2 ต่อคณะรัฐมนตรี โดยระบุให้ถ่ายโอนห้องสมุดประชาชนระดับอำเภอ และจังหวัดที่มิได้เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ทำการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ (ศบอ.) และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัด (ศบจ.) จำนวน 320 แห่ง ให้กรุงเทพมหานคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาล ปี 2551-2553 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีเสียงค้านจากฝ่ายที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน
9.สรรหาอธิการบดี'มมส.-มก.'วุ่น
ช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา เกิดความขัดแย้งทางความคิดในเรื่องของกระบวนการสรรหาอธิการบดีหลายๆ แห่ง ที่กลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตถึงขั้นยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้สั่งยกเลิกกระบวนการสรรหา และการแต่งตั้งอธิการบดี มีด้วยกัน 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) ความเห็นที่แตกต่างมีต้นเหตุมาจากการดำเนินการสรรหาอธิการบดีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ถูกต้องตามกระบวนการ อย่างกรณี มก.มีประชาคมจำนวนไม่น้อยคัดค้านสภา มก.ที่มีมติแต่งตั้งนายวุฒิชัย กปิลกาญจน์ เป็นอธิการบดี มก.คนใหม่ ถึงขั้นนำพวงหรีดระบุชื่อนายกสภา มก.เพื่อประท้วง เนื่องจากนายวุฒิชัยได้คะแนนหยั่งเสียงอันดับ 2 แต่กลับได้รับการเสนอชื่อ กลุ่มผู้คัดค้านจึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้ยกเลิกมติสภา มก.ในการแต่งตั้งอธิการบดี ซึ่งศาลปกครองได้ตัดสินให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการสรรหาฯและมติสภา มก.เนื่องจากการเสนอชื่อนายวุฒิชัยของคณะกรรมการสรรหาฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ล่าสุดอยู่ระหว่างสภา มก.ยื่นอุทธรณ์ ขณะที่การสรรหาอธิการบดีของ มมส.ก็ยังไม่ได้อธิการบดี มมส.คนใหม่ เนื่องจากถูกศาลปกครองขอนแก่นให้ระงับการสรรหาอธิการบดีชั่วคราว ทำให้การสรรหาอธิการบดีสะดุด ล่าสุดศาลปกครองขอนแก่นได้วินิจฉัยว่า กระบวนการสรรหาอธิการบดี มมส.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภา มมส.เรียกประชุมกรรมการสภา มมส.นัดพิเศษ และมีมติให้เริ่มต้นกระบวนแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดีใหม่ พร้อมทั้งแต่งตั้ง ทพ.สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ เป็นรักษาการอธิการบดี ก็ต้องติดตามดูว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร
10.ครูฯเฮรับเงินวิทยฐานะ
ลุ้นกันจนตัวโก่งสำหรับเงินวิทยฐานะที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ดำเนินการเบิกจ่ายวิทยฐานะให้ข้าราชการครูฯที่ผ่านการประเมินวิทยฐานะ เพื่อยกระดับวิชาชีพครูชั้นสูงในระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ เริ่มตั้งแต่ปี 2549 ที่อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อนุมัติเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากงบประมาณชุดที่แล้วมีอยู่อย่างจำกัด ในที่สุดเพิ่งได้รับงบประมาณในช่วงต้นปี 2550 ในช่วงที่นายวิจิตร ศรีสอ้าน เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในรัฐบาลเฉพาะกิจ ทำให้ข้าราชการครูฯ มีขวัญและกำลังใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ข้าราชการครูไม่น้อยเร่งสร้างผลงานยื่นขอรับการประเมินวิทยฐานะ โดยเฉพาะระดับชำนาญการ มีข้าราชการครูหลายแสนคนผ่านการประเมิน อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2551 จะมีข้าราชการครูขอรับการประเมินวิทยฐานะเกือบ 3 แสนคน


H O M E


Create Date :17 กุมภาพันธ์ 2551 Last Update :22 กรกฎาคม 2551 23:11:34 น. Counter : Pageviews. Comments :232