bloggang.com mainmenu search
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สาวๆ จำนวนไม่น้อยกลัวการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เมื่อเริ่มก้าวสู่บทบาทของคุณแม่  เพราะนอกจากท้องที่จะขยายขึ้น  ส่วนอื่นๆของร่างกายต่างพากันขยายจนดูบวมไปหมด หนำซ้ำคุณแม่บางคนยังผิวหมองคล้ำไม่สดใสเหมือนก่อน  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดนี้ ไม่ใช่เพราะคุณแม่ดูแลตัวเองไม่ดี แต่เป็นเพราะระดับฮอร์โมนและกระบวนการเปลี่ยนแปลงของร่างกายต่างหาก
   มาดูช่วงวันเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่มีส่งผลกระทบต่อความงามกัน! 

   โดยทั่วไป คุณหมอจะแบ่งการตั้งครรภ์ออกเป็น 3 ช่วง ไตรมาสแรกเป็นช่วงที่ฮอร์โมนของทั้งแม่และลูกเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย พอดิบพอดีที่จะส่งผลให้แม่ผุดผ่อง สวยงามเป็นพิเศษ แต่ฮอร์โมนตัวนี้เป็นตัวเดียวกับฮอร์โมนที่ผิวนำไปใช้ในการสร้างสี  เมื่อมันเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ประมาณ 2 เดือนผิวแม่จึงคล้ำขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

   ไตรมาสที่ 2  ผิวที่คล้ำขึ้นแสดงตัวชัดเจนที่ซอกคอ รักแร้ และข้อพับต่างๆ กลางหน้าท้องจากสะดือถึงหัวหน่าวมีเส้นดำคล้ำ  นอกจากนี้ผิวที่มันขึ้นยังทำให้เกิดสิวทั้งที่หน้าและหลัง บางคนอาจมีฝ้าร่วมด้วย

   ไตรมาสที่ 3  แม่ปรับตัวรับมือกับฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นได้แล้ว  ปัญหาต่างๆ จึงคงที่  แต่สิ่งที่เริ่มเห็นชัดเจนต่อเนื่องมาจากปลายไตรมาสที่ 2 คือ ร่างกายเริ่มขยาย เพราะทำหน้าที่สะสมไขมันเพื่อลูกอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่รับรู้ว่าควรสะสมตรงไหนบ้าง  ฉะนั้นแทนที่ร่างกายแม่จะใหญ่ขึ้นเฉพาะท้อง ก็ใหญ่ไปหมดทั้งแขน ขา ส่วนไหนขยายไม่ทันก็แตกลาย  โดยเฉพาะท้องซึ่งต้องรับสภาพมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหลายเท่าตัว

   ในเมื่อร่างกายของคุณแม่มีเปลี่ยนเปลงแตกต่างกันไปในแต่ละช่วง การเตรียมรับมือย่อมต้องเป็นไปตามความเหมาะสมด้วย  

   ช่วง 1-3 เดือนแรก ควรทาครีมบำรุงผิว นวดตัวด้วยคอลลาเจน เพื่อการขยายตัวของหน้าท้อง สำหรับคุณแม่ที่เริ่มมีปัญหาสิว ฝ้า ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เพราะตัวยาบางตัวส่งผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์  แต่สิ่งหนึ่งที่ใช้ได้โดยไม่ต้องกังวลมาก คือ พืชผักที่ได้จากธรรมชาติ เช่น มะนาวผสมน้ำผึ้ง ช่วงลดความมันและบำรุงผิวให้นุ่ม แตงกวาแว่นบางๆ วางแปะให้ทั่วผิวหน้าก็ช่วยลดปัญหาความมัน และช่วยให้สดชื่น
   ระยะนี้คุณแม่ไม่ควรขัดตัว เพราะครรภ์ยังอ่อนเกินไป ถ้าสครับรุนแรงอาจเสี่ยงต่อการแท้งได้ 

   ช่วง 3-6 เดือน สามารถทำสครับเพื่อทำความสะอาดผิวอย่างล้ำลึกได้ โดยเว้นบริเวณหน้าท้อง ประโยชน์ของการนวด คือเซลล์ผิวที่ได้รับกระตุ้น และมีสุขภาพดี ย่อมซึมซับครีมได้ดีกว่า อีกทั้งยังช่วยผ่อนคลาย กระตุ้นการไหลเวียนของของเหลวใต้ผิวหนัง ลดการบวม และถ้าใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มความยืดหยุ่นของผิวก็ยิ่งทำให้ผิวเตรียมรับการขยายตัวได้ดีขึ้น

   สีผิวที่คล้ำขึ้นสามารถใช้ไวเทนนิ่งช่วยได้ แต่ต้องเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคนท้องโดยเฉพาะ ช่วงนี้เริ่มชะโลมครีมป้องกันท้องลายให้หนักมือสักหน่อย ถ้าจะให้ดีควรทาให้ทั่วตัว   หากแพ้กลิ่นน้ำหอมในครีมต่างๆ ลองใช้น้ำมันจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา ก็ได้  นอกจากนี้ครีมกันแดดก็เป็นสิ่งจำเป็น เลือกที่เอสพีเอฟสูงๆ ไว้ก็ดีค่ะ  เพราะมีการวิจัยแล้วว่า ครีมกันแดดไม่สามารถซึมเข้าสู่ผิวจนเป็นอันตรายกับทารกในครรภ์ได้





   ส่วนการเปลี่ยนแปลงบางส่วนที่ควรมองข้ามไปบ้าง เช่น รอยดำคล้ำบริเวณข้อพับต่างๆ  ไม่ต้องพยายามขัดออกนะคะ เพราะจะทำให้เกิดผิวอักเสบเสียเปล่าๆ เพราะรอยเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะฮอร์โมน และจะหายไปเองหลังคลอด  สำหรับบางส่วนที่เห็นได้ชัด เช่น ลำคอ อาจใช้แป้งทาปกปิดได้บ้าง

   ผม เป็นเรื่องหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง เส้นผมคุณแม่อาจแห้ง ขาดน้ำหนักและหลุดร่วงบ้าง ลองเปลี่ยนมาไว้ทรงผมที่ดูแลง่าย และหลังคลอดแล้ววงจรการเติบโตของผมจะอยู่ในระยะพัก จึงไม่งอกใหม่ในระยะนี้ อาจหลุดร่วงไปเรื่อยๆ บางคนนานถึง 2 ปี  ไม่ต้องตกอกตกใจไปค่ะ ไม่ช้าผมชุดใหม่จะงอกออกมาสวยงามเหมือนเดิม

   การออกกำลังกายเบาๆ เช่น โยคะ ก็ช่วยให้คุณแม่มีความคล่องตัว และการเลือกกินอาหารที่ถูกต้อง คือ เน้นโปรตีน มากกว่าคาร์โบไฮเดรตก็ช่วยให้น้ำหนักไม่เพิ่มมากเกินไป  ลดการแตกลายของผิวได้

   หลังคลอดหน้าท้องที่ยุบลงอย่างรวดเร็วย่อมทำให้ขาดความกระชับ ดูหย่อนยาน เห็นรอยผิวแตกชัดเจนขึ้น...ยังไม่ต้องไปสนใจกับสิ่งนั้นมาก เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤติแม่กับลูกควรอยู่ใกล้กัน สนใจกันและกันให้มากที่สุด หลังจากนั้นประมาณ 6 สัปดาห์ ร่างกายแม่จึงกลับคืนสู่ภาวะปกติ มดลูกเข้าอู่ เซลล์ไขมันเริ่มลดลง 

   ตอนนี้พอจะสรุปได้แล้วว่า สิ่งที่เหลืออยู่คือไขมันส่วนเกิน เริ่มหาเวลาออกกำลังกายได้เลยค่ะ  ถ้ามีเวลามากพอจะเข้าสถานเสริมความงามเพื่อใช้เครื่องกำจัดเซลลูไลท์บ้างก็ได้ แต่ยังไม่ควรลดความอ้วนด้วยการอดอาหาร เพราะร่างกายยังคงต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์ไปสร้างน้ำนม สิ่งสำคัญคือ ให้ลูกกินนมแม่ให้นานที่สุดทำที่จะทำได้ รับรองทรวดทรงจะกลับคืนได้โดยไม่ยากเลย...

ที่มา: //www.vcharkarn.com/vblog/78327
Create Date :11 ตุลาคม 2555 Last Update :11 ตุลาคม 2555 21:22:20 น. Counter : 1415 Pageviews. Comments :0