bloggang.com mainmenu search

อิทธิฤทธิ์ของมนต์ดำที่คนเมืองเรียกว่า “ผ่าจ้าน” ผ่านพิธีกรรมและเครื่องรางหลายประเภท ทั้งตะกรุดยันต์ เทียนขี้ผึ้ง หรือหุ่นปั้น
มีอำนาจลึกลับถึงขั้นทำให้ชาย – หญิงที่เคยรักใคร่ ต้องพรากจากกันได้จริงหรือ ??

อะไรคือ “ผ่าจ้าน” ? สังคมล้านนายุคใหม่อาจจะหลงลืมคำนี้ไปนานแล้ว หลายคนไม่รู้จัก แต่ก็ยังพอมีบางคนที่เข้าใจว่า “ผ่าจ้าน”
คือมนต์ดำที่ใครก็ตามที่กระทำเข้าไปแล้วจะมีแต่การจากพราก เบาะแว้ง และเต็มไปด้วยทุกข์ !!

********


ขนบธรรมเนียม เรื่องคุณไสยในล้านนามีปรากฎเป็นหลักฐานไว้หลายกรณีแต่ที่เล่าขานกันมาสืบ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเห็นจะไม่มีตำนานไหนร่ำลือเด่นชัดเท่ากรณีของพระนาง จามเทวี ใช้ชายผ้าถุงพันรอบหมวกให้ขุนหลวงวิลังคะใส่ และใช้เหล้าใส่กระบอกลอดหว่างขาเพื่อข่มคาถาอาคม ทำให้ไม่สามารถพุ่งหอกไปถึงนครลำพูนได้

หรือในตำนาน สิบห้าราชวงศ์ตอนพระยาร่วมจำแลงกายหลบหนีการจับกุมและตอนพระเจ้าติโลกราช สามารถจับตัวหมอไสยศาสตร์ที่เข้ามาทำพิธีได้ ไปจนถึงยันต์เทียนของกษัตริย์เชียงใหม่ที่ปรากฎอยู่ในสมัยพระเมืองแก้ว ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ.2503 – 2064 โดยการสู้รบกับพม่า นอกจากจะใช้กำลังทหารแล้วยังใช้พลังไสยศาสตร์ ทำให้ไม่เสียเมืองแก่พม่าอีกด้วย


ไพฑูรย์ พรมวิจิตร จาก สถาบันวิจัยสังคม ม.ช. ศึกษาเรื่องยันต์ล้านนาระบุว่า ไสยศาสตร์ คือศาสตร์ที่ว่าด้วยการใช้พลังลึกลับให้เกิดประโยชน์แก่คน ทั้งทางสร้างสรรค์และทำลาย เป็นศาสตร์ว่าด้วยพลังของเวทย์มนต์และคาถาอาคม ตลอดถึงเครื่องรางของขลัง คนไทยน่าจะได้ศาสตร์นี้มาจากอาถรรพเวทของอินเดียและพุทธศาสนาแบบตันตระในยุค หลัง

ไสยศาสตร์มี ทั้งขาวและดำ มีการกระทำทั้งสร้างสรรค์และทำลาย มักกระทำเลียนแบบของจริง โดยอาศัยหลักการเปรียบเทียบความคิด เช่น เมื่อชายต้องการให้หญิงรักตน อาจไปว่าจ้างหมอไสยศาสตร์ให้นำดินเหนียวมาปั้นหญิงและชายหันหน้าเข้าหากัน และมัดติดกัน เสกคาถาแล้วนำไปฝังไว้ใต้บันไดบ้านหญิงสาว และเชื่อว่าหญิงจะรักชายทันที หรือในทางตรงกันข้าม ต้องการกระทำสิ่งร้ายต่อบุคคลใด ก็ทำหุ่นและสาบแช่งเข็มแทง ตัดคอ เผาไฟให้บุคคลนั้นตายในสามวันเจ็ดวันเป็นต้น

นอกจากการใช้ คาถาอาคมเพื่อข่มหรือทำลายแล้ว ในล้านนายังมีความเชื่อและพิธีกรรมปรากฏออกมาในรูปการใช้ยันต์เทียนตะกรุด และผ้ายันต์ที่หลากหลาย รวมทั้งยันต์และพิธีผ่าจ้านด้วย


ผ่าจ้าน มนต์ดำซึ่งมีที่มาจากการพรากแม่-ลูกของช้างในล้านนา


ศัพท์ “ผ่าจ้าน” ออกสู่สาธารณะผ่านภาพความทรมานในการพรากลูกช้างออกจากอกแม่ แต่คำว่า “ผ่าจ้าน” อันหมายถึงการทำให้แยกออกจากกันนั้น มิได้จำกัดเพียงเฉพาะช้างหรือสัตว์นั้น กับ “คน” ก็มีพิธีกรรมนี้ และไม่ได้ตีกรอบเฉพาะการพรากลูกออกจากแม่ ตรงกันข้าม การผ่าจ้านคน กลับมีข้อห้ามในเรื่องของการแยกแม่จากลูก แยกพี่จากน้องเสียด้วยซ้ำ หรือแม้แต่กับผัว–เมีย พิธีกรรมอันผสานกลมกลืนอย่างแยกไม่ออกกับวิถีพุทธ ยังมีคุณธรรมกำกับมิให้กระทำการผ่าจ้านความสัมพันธ์ทางสายเลือดและครอบครัว มิเช่นนั้นจะเป็นบาปหลวง


พระชื่อดังรูป หนึ่งในวัดกลางเมืองเชียงใหม่เล่าว่า การผ่าจ้านยังคงมีอยู่ในสังคมอยู่บ้าง เป็นพิธีกรรมที่เหมือนจะเป็นการปลดทุกข์ทางใจให้กับหญิงที่สามีนอกใจไปมี เมียใหม่ หากคนเป็นเมียหลวงมาขอให้หมอผ่าจ้านทำพิธีแยกผัวออกจากเมียน้อยกลับมาอยู่ กับครอบครัวเดิม อาจมีเหตุผลเพียงพอต่อการประกอบพิธี แต่หากเมียน้อยมาขอให้แยกผัวออกจากเมียเก่า หมอที่มีคุณธรรมมักจะปฏิเสธ

แต่ทุกกติกา ย่อมมีผู้แหกกฎ บางทีอามิสสินจ้างก็สามารถลบล้างคุณธรรมได้ ผ่าจ้านจึงกลายเป็นมนต์ดำ ที่เมียน้อยอาจใช้เป็นที่พึ่งเพื่อแย่งชิงของรักของผู้อื่นมาเป็นของตัว หรือพี่น้องต้องการแยกจากกันเพราะแคลงใจเรื่องมรดก ซึ่งถือเป็นการทำบาปใหญ่บาปหลวงถึงขั้นหมอผ่าจ้านจะต้องมีพิธีอีกพิธีหนึ่ง ขึ้นมาให้ผู้ว่าจ้างรับผลบาปของการกระทำนั้นตกอยู่แต่ที่ตัวเอง มิใช่ที่หมอและก่อนจะประกอบพิธีจะต้องมีการตรวจดูดวงชะตาของบุคคล ๆ นั้นด้วย หากเป็นผู้มีดวงแข็ง ทำผ่าจ้านไม่สำเร็จ มนต์ดำนั้นจะกลับมาถึงตัวผู้ว่าจ้าง ให้กลายเป็นคนบ้าใบ้เสียสติไปถึงขั้นนั้น

ยันต์เทียนเล่มนี้ถ้าจะให้รักกัน ลงใส่กระดาษใช้ฝ้ายจูงศพเป็นไส้พันหน้าเข้าหากัน ยันต์ผ่าจ้านลูกนี้ลงใส่ชิน แล้วตัดครึ่งเอาไปฝังไว้ซีกละฝั่งน้ำ
ถ้าอยากให้ผัวเมียแยกกัน ให้ตัดครึ่งจุดคนละที ตอนกลับอย่าเหลียวหลัง ทำให้หญิงชายคลาดจากกัน

สนั่น ธรรมมิ นักล้านนาคดีแห่งเมืองเชียงใหม่ เล่าถึงวิธีทำผ่าจ้านคนของล้านนาว่า มีลักษณะของการทำยันต์เทียนลงอักขระเขียนยันต์เป็นรูปหุ่นหญิงและชายเขียน ชื่อและวันเดือนปีเกิดของแต่ละคนไว้ โดยเขียนชื่อหญิงไว้ที่หุ่นหญิง ชื่อชายไว้ที่หุ่นชาย บางหมอให้นำเศษเล็บ เศษผม หรือเศษเสื้อผ้าของคน ๆ นั้นมาใส่ไว้ด้วย บริกรรมคาถาแล้ว นำหุ่นทั้งสองหันหลังชนกัน เสกคาถากำกับ ตัดแยกเอาเศษผู้ชายไปคลึงเป็นไส้เทียนของหญิง และนำเทียนไปจุดที่ปากแม่น้ำที่แยกจากกัน คนละฟากแม่น้ำ หรือจุดที่สองแพร่ง เพื่อให้คนทั้งสองเดินไปคนละทางโดยเชื่อกันว่าจะต้องจุดตอนกลางคืน ที่ขวัญของคนอ่อน พิธีกรรมจึงจะสัมฤทธิ์ผล

อีกวิธีหนึ่ง คือวิธีตัดกระดาษ เช่น มีหญิงมาขอให้หมอผ่าจ้านประกอบพิธี แยกสามีของตนออกจากเมียน้อย หมอก็จะเขียนชื่อและวันเดือนปีเกิดของคนทั้งสองในกระดาษคนละฟาก และหมอถือส่วนที่เป็นชื่อของฝ่ายชายไว้ แล้วตัดกระดาษให้ขาดโดยให้ชื่อฝ่ายหญิงหล่นลงไป จากนั้นก็มอบกระดาษที่เป็นชื่อฝ่ายชายคืนให้แก่ภรรยานำไปไว้ใต้หมอน ส่วนชื่อของภรรยาน้อยที่หล่นลงไป หมอผ่าจ้านก็จะขยำ ๆ และเผาไฟเสีย

บางตำราก็ใช้ วิธีผ่าจ้านด้วยผลไม้ที่สามารถตัดให้ขาดจากกันเป็น 2 ซีก ได้ เช่น มะนาว ส้ม ด้วยวิธีเขียนชื่อชายหญิงคนละฟากและบริกรรมคาถาตัดทั้งสองให้จากกันและบาง ตำราใช้ปู 2 ตัว โดยเขียนชื่อชายหญิงหลังกระดองปูแต่ละตัว นำด้วยสายสิญจ์มาผูกปูติดกัน ว่าคาถาเสร็จก็ตัดสายสิญจ์ให้ปูทั้งสองแยกจากกันไม่กลับมาหากันอีกเลย

เป็นที่สังเกต ว่า พิธีกรรมผ่าจ้านไม่ว่าจะทั้งช้างหรือคน มีลักษณะการกระทำเลียนแบบของจริงที่อาศัยหลักการเปรียบเทียบความคิด มีการผ่าการแยกออกจากหนึ่งเป็นสองที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ให้ประกอบพิธี รับรู้ถึงผลของการแบ่ง การแยกให้เห็นกับตา ส่วนผลที่ปรากฏจริงสืบเนื่องจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นลงไปแล้ว ชายกลับมาหาหญิงเดิมหรือแยกจากอีกฝ่ายหนึ่งแท้จริงอย่างไร เมื่อใดและจริงหรือไม่นั้น เราคงมิอาจนำมายืนยันหรือสรุปได้ ณ ที่นี้

การนำเสนอ พิธีกรรมผ่าจ้านคนครั้งนี้ เป็นเพียงการฉายปรากฎการณ์หนึ่งที่ยังมีอยู่ในความเชื่อของสังคมล้านนา ซึ่งได้คลี่คลายลงไปมาก แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าลบหายไปจากระบบ เพราะทุกวันนี้ คนที่เชื่อและประกอบพิธีกรรมผ่าจ้านคน ยังคงมีอยู่ในบางซอกมุมของล้านนา และพร้อมจะออกมาทำหน้าให้ สำหรับผู้ที่ต้องการที่พึ่งทางใจและเรียกร้องหาของรักของตนคืนมา…

ปั๊บสา ตำราไสยเวทย์แห่งล้านนา

มหาเสน่ห์ แป๋งหื้อคนฮักกั๋น.... ผ่าจ้าน ก้ายจังกั๋น.....

เครดิต :

//www.lannaworld.com/story/narrative/narrative34.php

Create Date :11 กันยายน 2554 Last Update :11 กันยายน 2554 16:10:14 น. Counter : Pageviews. Comments :4