bloggang.com mainmenu search


เมื่อวันที่ 5 กันยายน นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต

แถลงข่าวการสัมมนาทางวิชาการ “การป้องกันการฆ่าตัวตายในหลากสังคมหลายวัฒนธรรม (รักตัวเองบ้าง...นะ)“ ว่า กรมได้ดำเนินการชำระข้อมูลการฆ่าตัวตายของคนไทยตั้งแต่ปี 2540-2553 ทำให้ได้ข้อมูลว่า หลังจากที่กรมจัดทำโครงการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2542 อัตราการฆ่าตัวตายลดลงจากปีละ 5,700 ราย หรือคิดเป็น 8 ต่อประชากรแสนคน เหลือเพียง 5.9 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2553 หรือ 3,761 รายต่อปี เฉลี่ยวันละ 10 ราย โดยเพศชายมีอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 9.29 ต่อประชากรแสนคน สูงกว่าเพศหญิงที่มีอัตราอยู่ที่ 2.62 ต่อประชากรแสนคน

นพ.อภิชัยกล่าวอีกว่า เมื่อจำแนกตามช่วงอายุในกลุ่มเพศชาย พบว่า กลุ่มอายุ 80-84 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด อยู่ที่ 10.73 ต่อประชากรแสนคน

รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 75-79 ปี อยู่ที่ 10.19 ต่อประชากรแสนคน ตามด้วยอายุ 70-74 ปี 8.37 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ ภาคเหนือตอนบนยังเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดแม้ตัวเลขจะลดลง โดย 5 จังหวัดแรกที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุด คือ จ.ลำพูน เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน และเชียงใหม่ อยู่ที่ 20.02, 15.63, 14.45, 13.03 และ 12.47 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีอัตราต่ำสุด ได้แก่ จ.ปัตตานี หนองคาย นราธิวาส ยะลา และพิจิตร อยู่ที่ 0.77, 1.76, 1.77, 1.86 และ 2.17 ต่อประชากรแสนคน

วิธีการฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุด ได้แก่ การแขวนคอ/รัดคอ ร้อยละ 66.42 รองลงมา คือ พิษจากยาฆ่าศัตรูพืชและสัตว์ ร้อยละ 19.81 พิษจากยา ตัวยา และสารชีวภาพอื่น ร้อยละ 4.28 สารเคมีและสารพิษ ร้อยละ 3.67 กระสุนปืนร้อยละ 3.11 และอื่นๆ ร้อยละ 2.71


ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน
Create Date :06 กันยายน 2554 Last Update :6 กันยายน 2554 15:45:17 น. Counter : Pageviews. Comments :0