bloggang.com mainmenu search


นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้าเปิดเผยว่า ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตนับเป็นสื่อที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในโลกออนไลน์

โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มหลักในการใช้สื่อออนไลน์ เพราะสามารถเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้จากทุกมุมโลก แต่ปัญหาคือ หากใช้สื่อเหล่านี้มากเกินไปย่อมส่งผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม (Computer Vision Syndrome)
เกิดจากการพฤติกรรมการใช้เป็นเวลานาน และมองจอใกล้เกินกว่าครึ่งฟุต ทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อรอบดวงตาและประสาทตาในลักษณะเพ่งจอตลอดเวลา ก่อให้เกิดอาการดวงตาตึงเครียด ตาล้า ตาช้ำตาแดง แสบตา มองภาพได้ไม่ชัดเจน และมักจะเกิดอาการปวดศีรษะตามมาและยังมีโอกาสสายตาสั้นเพิ่มร้อยละ 30

ข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จะมีอายุระหว่าง 10-15 ปี มีปัญหาสายตาสั้นมากที่สุด 

นพ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า ปัญหาสายตาสั้น ดวงตาตึงเครียด เป็นปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กวัยเรียนมาก ทำให้มองไม่เห็นกระดานเรียนหน้าชั้น และยังส่งผลต่อการทำงานบางอาชีพที่ต้องใช้สายตาในอนาคต เช่น นักบิน ตำรวจ ทหาร ตัวเลขผู้ใช้คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือในปัจจุบันก็ยิ่งสูงขึ้น

"ข้อแนะนำไม่ควรเล่นเกินวันละ 1 ชั่วโมง ไม่ควรเล่นในห้องมืด ควรปรับความสว่างให้มีความพอดีเท่ากับความสว่างของห้อง แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลังเข้าหาจอ ปรับความคมชัดของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่รู้สึกว่าสบายตา และหากเป็นจอคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ควรใช้แผ่นกรองแสงและดูแลทำความสะอาดหน้าจอไม่ให้มีฝุ่นเกาะติดเพื่อให้มองเห็นชัดเจน" จักษุแพทย์กล่าว


เรียบเรียงโดย  never-age

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Create Date :06 สิงหาคม 2555 Last Update :6 สิงหาคม 2555 20:27:11 น. Counter : 1436 Pageviews. Comments :0