bloggang.com mainmenu search
การปล่อยเต่าโดยไม่รู้จักชนิดและพฤติกรรมการอยู่อาศัย นอกจากไม่ได้บุญแล้วยังได้บาปด้วย เคยหยุดคิดกันก่อนหรือไม่ว่าปล่อย “เต่า” ไปแล้วจะได้บุญหรือบาป หลายคนไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่าสัตว์สี่ขาหลังขามุงกระเบื้องนี้ มีหลากหลายสายพันธุ์ และมีถิ่นอาศัยจำเพาะ บางชนิดอยู่ในน้ำไม่ได้ บางชนิดเอาชีวิตไม่รอดบนบก เฉพาะเมืองไทยก็มีเต่ามากถึง 30 ชนิด และนอกจากการปล่อยไม่ถูกที่ถูกทางแล้ว ถิ่นอาศัยของเต่าทั้งบนบก ในน้ำ ภูเขา ทะเล ก็ลดลงจนทำให้สัตว์อายุที่มีวิวัฒนาการมานานกว่า 220 ล้านปีใกล้จะสูญพันธุ์

รศ.ดร.กำธร ธีรคุปต์ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาเต่าไทยมากว่า 30 ปี บอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่า เต่ามีวิวัฒนาการนานกว่า 220 ล้านปี อาจจะสูญพันธุ์ในยุคปัจจุบันนี้ เพราะแหล่งที่อยู่อาศัยทั้งในป่า น้ำ ทะเล ถูก “มนุษย์” ทำลายจนเต่าแทบไม่มีที่อยู่ และยังมีความเชื่อผิดๆ ทั้งเรื่องการกินเต่าแล้วอายุยืน หรือการปล่อยเต่าโดยไม่รู้จักประเภท พฤติกรรมและที่อยู่อาศัยของเต่า ล้วนเป็นปัจจัยเสริมให้เต่าสูญพันธุ์เร็วขึ้น

จากการศึกษาของทั้งนักศึกษา นักวิจัยและอาจารย์ของภาควิชาชีววิทยา จุฬาฯ พบว่า มีเต่าไทยอยู่กว่า 30 ชนิด ซึ่งมีทั้งเต่าบก เต่าน้ำจืด เต่าทะเล และตะพาบ โดยมีประมาณ 20 ชนิดที่สามารถเก็บข้อมูลวิจัยทั้งเรื่องลักษณะ ที่อยู่ การกินอาหาร การผสมพันธุ์ การใช้ชีวิต ส่วนอีกประมาณ 10 ชนิดนั้น รศ.ดร.กำธร กล่าวว่า มีเพียงข้อมูลการสำรวจซึ่งเป็นข้อมูลที่ระบุเพียงว่า “มี” หรือ “ไม่มี” เต่าเหล่านั้น โดยการออกสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลวิจัยของนักชีววิทยาก็ไม่พบเต่าเหล่านั้น

ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยได้รู้จักเต่าและสะท้อนสภาพวิกฤตของเต่าไทย ทางองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)จึงร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการ “เต่า” (Turtles) ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ ชั้น 4 จามจุรีสแควร์ ตั้งแต่วันนี้จนถึงสิ้นเดือน ส.ค.55 และเพื่อร่วมฉลองปีเต่าสากล 2554 ที่กำหนดโดยองค์กรนานาชาติในการอนุรักษ์สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (Partners in Amphibian and Reptile Conservation: PARC)

ภายในนิทรรศการนำเสนอร่างสตัฟฟ์ของเต่าที่เก็บรวบรวมโดยนักชีววิทยา จุฬาฯ และปกติจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์เต่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โดย รศ.ดร.กำธร กล่าวว่า ตัวอย่างเต่าที่นำมาแสดงทั้งหมดนั้นได้จากเต่าที่ตายแล้วทั้งหมด และไม่ได้นำเต่าที่มีชีวิตมาทำสตัฟฟ์ และโดยหลักของการอนุรักษ์ นักชีววิทยาที่เข้าไปเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในแหล่งธรรมชาติ เมื่อพบและเก็บรายละเอียดแล้วก็จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

“ความจริงเราจะจัดนิทรรศการนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องน้ำท่วมเสียก่อน จึงต้องเลื่อนออกมา” รศ.ดร.กำธร นักชีววิทยาสัตว์เลื้อยคลานผู้สนใจศึกษาเต่าเป็นพิเศษเพราะเลี้ยงเต่ามาตั้งแต่เด็ก กล่าว

สำหรับไฮไลต์ของนิทรรศการนั้น ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า นิทรรศการที่จัดขึ้นนี้พยายามจะตอบคำถามของเด็กๆ เช่น เต่าวิ่งออกจากกระดองได้ไหม ขี้เต่าเหม็นไหม เต่าตัวผู้กับตัวเมียต่างกันยังไง เป็นต้น และอยากจะเน้นเรื่องการอนุรักษ์ เพราะเป็นสัตว์ที่อยู่คู่โลกมานาน แต่มีการปล่อยตามวัดแล้วตายกันไปเยอะ นอกจากนี้ อยากให้ทางจุฬาฯ มาให้พื้นที่ของจตุรัสวิทยาศาสตร์ให้มาก และอยากแสดงจุดแข็งในเรื่องงานวิจัยด้วย

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตัวอย่างเต่าที่นำมาจัดนิทรรศการในครั้งนี้เป็นเพียง 20% ของตัวอย่างเต่าทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์เต่า และคิดเป็นเพียง 1% ของนิทรรศการตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากเต่าแล้ว คณะยังมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องหอย กุ้ง ปู ซึ่งคาดว่าจะมีความร่วมมือกับ อพวช.ในการจัดนิทรรศการครั้งต่อไป

“ตอนนี้จะเริ่มต้นที่เรื่องเต่าก่อน เพราะเต่าเป็นวิกฤตระดับหนึ่งที่ถูกคุกคาม และภัยที่ร้ายแรงที่สุดของเต่าคือ “มนุษย์” ที่เอาเขาไปกิน เชื่อว่า เป็นยาอายุวัฒนะ หรือความเชื่อทางศาสนาในการเอาไปปล่อยอย่างไม่เหมาะสม แล้วทำให้เต่าตาย ซึ่งเราจัดนิทรรศการเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเต่าที่มีต่อระบบนิเวศ” ศ.ดร.สุพจน์ กล่าว

สำหรับนิทรรศการเต่านี้แบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน คือ ชีววิทยาเต่า ซึ่งจัดแสดงเกี่ยวกับสรีระวิทยาเต่า เพื่อมห้ผู้ชมเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายและพฤติกรรมในการดำรงชีวิตของเต่า เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเต่า รวมถึงวิถีชีวิตของคนกับเต่า ความเชื่อเกี่ยวกับเต่า งานศิลปะจากเต่า และ ความสำคัญและการอนุรักษ์ โดยนำเสนอให้เห็นสาเหตุที่เต่าลดจำนวน บทบาทของเต่าในระบบนิเวศ ปล่อยเต่าให้ได้บุญ ความสำคัญของการอนุรักษ์เต่า

ผู้สนใจนิทรรศการเต่าเข้าชมนิทรรศการไดตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือน ส.ค.55 ณ จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.ชั้น 4 อาคารจามจุรีสแควร์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.0-2160-5356 หรือดูรายละเอียดที่ www.nsm.or.th

ศ.ดร.กำธร ธีรคุปต์ ชี้ตัวอย่างลูกตะพาบม่านลายไทย โดยเมื่อโตเต็มวัยอาจมีกระดองหลังยาวกว่า 1 เมตร และอาจใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์และหายากมาก

วัชระ สงวนสมบัติ ผู้เชี่ยวชาญนก อพวช. ชี้ชวนดูโครงสร้างเต่า

นอกจากนิทรรศการเต่าแล้วยังมีมุม "โอริกามิ" พับกระดาษเป็นรูปเต่า

(ซ้ายไปขวา) รศ.ดร.กำธร ธีรคุปต์ ดร.พิชัย สนแจ้ง และ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว

นิทรรศการเต่า

นิทรรศการไขคำตอบ เต่าอยู่นอกกระดองเต่าได้หรือไม่

ศิลปะที่มีแรงบันดาลใจจากเต่า

ไข่เต่า

เต่าแพนเค้ก ตัวแบนๆ

กระดองงามๆ ของเต่าหกดำ

เต่าตนุ

โครงร่างของตะพาบลายม่านไทยที่ใกล้จะสูญพันธุ์


//board.postjung.com/620724.html
Create Date :22 มิถุนายน 2555 Last Update :22 มิถุนายน 2555 20:28:28 น. Counter : 1927 Pageviews. Comments :0