bloggang.com mainmenu search

ภาพเมรุ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ.ท้องสนามหลวง
พระเมรุสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงมณฑปแปลง มีมุขยื่นทั้งสี่ด้าน สร้างขึ้นบนฐานชาลาใหญ่ ความสูงถึงยอดฉัตร ๓๕.๕๙ เมตร มุขหน้าด้านทิศตะวันตกเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน มุขด้านทิศเหนือมีสะพานเกรินสำหรับอัญเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธานภายในพระเมรุ มุขหลังด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่วางเตาเผาพระศพ บริเวณฐานชาลาทุกด้าน มีบันไดทางขึ้นลง รายล้อมด้วยรั้วราชวัติ ฉัตร โคม และเทวดาอัญเชิญฉัตรประกอบพระอิสริยยศ
พลอากาศตรีอาวุธ เงินชูกลิ่น สถาปนิกผู้ออกแบบเรียกเครื่องยอดลักษณะนี้ว่า เครื่องยอดทรงมณฑปแปลง เนื่องจากเป็นการประยุกต์ให้แตกต่างจากเครื่องยอดทรงมณฑปปกติ ซึ่งจะต้องมีชั้นเหมอยู่ใต้ชั้นบัวกลุ่ม แต่ครั้งนี้ พลอากาศตรีอาวุธ ได้ออกแบบทรงมณฑปนี้ใหม่โดยที่ไม่มีชั้นเหม จึงเรียกว่าเป็นทรงมณฑปแปลง
เครื่องยอดพระเมรุนี้ ประกอบด้วยชั้นเชิงกลอน ๕ ชั้น กึ่งกลางของเชิงกลอนแต่ละชั้นมีซุ้มบันแถลงซ้อนสองชั้น ที่มุมหลังคามีนาคปัก ส่วนบนเป็นองค์ระฆังรับบัลลังก์ เหนือบัลลังก์เป็นชุดบัวกลุ่ม ๕ ชั้น ปลียอดแบ่งเป็นสองส่วนคั่นด้วยลูกแก้ว ที่ยอดบนสุดประดิษฐานสัปตปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร ๗ ชั้น)
ภายในพระเมรุตั้งพระจิตกาธาน ประดิษฐานพระโกศไม้จันทน์
การตกแต่งพระเมรุ ใช้งานศิลปกรรมแบบซ้อนไม้ทดแทนการแกะสลักไม้จริง เป็นลักษณะพิเศษที่ใช้ในงานพระเมรุ อันถือเป็นงานลำลองสำหรับอาคารใช้งานชั่วคราว งานพระเมรุครั้งนี้ มีแนวคิดที่ลดการใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุหายาก จึงเสริมบางส่วนที่เป็นงานซ้อนไม้ด้วยวิธีการหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส การประดับตกแต่งส่วนอื่นๆ ใช้การปิดผ้าทองย่นสาบกระดาษสี แทนการปิดทองประดับกระจก
อาคารประกอบภายในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่
พระที่นั่งทรงธรรม
ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของพระเมรุ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับขณะบำเพ็ญพระราชกุศล มีบริเวณสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ทูตานุทูต นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เฝ้าฯ รับเสด็จ พระที่นั่งองค์นี้มีลักษณะเป็นอาคารโถง หลังคาจัตุรมุข ยกพื้นสูง หลังคาจั่วมีกันสาดปีกนก มุขหน้าและหลังมีมุขประเจิด พื้นที่ด้านหน้าอาคารต่อเป็นหลังคาปะรำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการใช้สอย
การที่สถาปนิกออกแบบให้พระนั่งทรงธรรมตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่พระเมรุ เนื่องจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพจะเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายไปจนถึงค่ำ ร่มเงาของพระที่นั่งทรงธรรมจะทอดสู่ลานและบันไดทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระเมรุ อีกทั้งผู้ที่อยู่บนพระที่นั่งทรงธรรมจะแลเห็นแสงเงาและสีสันอันงดงามของพระเมรุที่สะท้อนแสงอาทิตย์ในช่วงบ่ายถึงเย็น
พลับพลายกสนามหลวง
พลับพลายกสนามหลวง ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าปริมณฑลท้องสนามหลวงเป็นอาคารโถง สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ประทับขณะประกอบพิธีอัญเชิญพระโกศลงจากราชรถเข้าสู่มณฑลพิธี ผังอาคารเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจั่วตรีมุข มีมุขลดชั้น ปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว แบบเดียวกับทิมและทับเกษตร
ศาลาลูกขุน (๑๐ หลัง)
ศาลาลูกขุน ใช้เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพิธี เป็นอาคารโล่งชั้นเดียว ในครั้งนี้มีการปรับประยุกต์ใช้เต็นท์สำเร็จรูปเป็นโครงอาคาร และได้ออกแบบองค์ประกอบและลวดลายทางสถาปัตยกรรมไทย ตกแต่งให้เข้ากับหลังคาเต็นท์โค้ง
ทับเกษตร (๔ หลัง)
ทับเกษตร หมายถึงอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงขอบเขตมณฑลพิธี มักสร้างเป็นระเบียงล้อมรอบพระเมรุ ใช้เป็นที่นั่งของเจ้าหน้าที่ผู้มาร่วมงาน ส่วนกลางทับเกษตรเป็นอาคารยอดมณฑป ชั้นเชิงกลอนประดับด้วยซุ้มบันแถลงและนาคปักที่มุมทั้งสี่ บนหลังคาอาคารส่วนที่เป็นปีกทั้งสองด้านประดับฉัตรผ้าทองแผ่ลวด
ทิม (๘ หลัง)
คือที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง และเจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ประกอบพิธี สร้างติดแนวรั้วราชวัติ มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว หลังคาใช้เต็นท์ผ้าใบกันน้ำทรงจั่ว ตกแต่งปลายจั่วเป็นหน้าเหรา ยอดจั่วเป็นหน้ากาล
รั้วราชวัติและเสาโคม
รั้วราชวัติเป็นแนวกำหนดขอบเขตปริมณฑลพระเมรุ สร้างต่อเนื่องไปกับทิมและทับเกษตร รั้วเป็นเหล็ก โปร่งสูง ๙๐ เซนติเมตร ประดับดอกประจำยามหล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ตกแต่งเสารั้วด้วยโคมไฟแก้วขนาดเล็ก ส่วนเสาโคมส่องสว่าง ตั้งอยู่ที่ทางเข้าทั้งสี่ด้าน และเรียงรายอยู่ในเขตมณฑลพิธี ยอดเสาเป็นโคมแก้วลักษณะเดียวกับที่รั้วราชวัติ แต่มีขนาดใหญ่กว่า ยอดโคมเป็นยอดมงกุฎสีทอง เพื่อแทนความหมายของการเป็นดวงแก้ว แห่งพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้กรมศิลปากรยังรับผิดชอบจัดสร้างอาคารภายนอกมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ตามเส้นทางขบวน พระอิสริยยศเชิญพระโกศจากพระบรมมหาราชวัง เข้าสู่ท้องสนามหลวง ได้แก่
เกยลา
ตั้งอยู่ด้านนอกประตูกำแพงด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง มี ลักษณะเป็นแท่นฐานยกพื้นสี่เหลี่ยมย่อมุม ใช้สำหรับเชิญพระโกศขึ้นประดิษฐานบนพระยานมาศสามลำคาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของริ้วขบวนพระอิสริยยศเชิญพระโกศสู่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
ตั้งอยู่มุมกำแพงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เยื้องกรมการรักษาดินแดน เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ขณะเชิญพระโกศจาก พระยานมาศขึ้นสู่ราชรถ เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า พื้นที่ส่วนกลางยกฐานสูง หลังคาจัตุรมุข มีมุขลดชั้น ปีกซ้ายขวาเป็นหลังคาเต็นท์ผ้าใบกันน้ำสำเร็จรูปทรงจั่ว
พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท
พลับพลายกหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ขณะทอดพระเนตรริ้วขบวน มีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงปะรำ (หลังคาเรียบ) ประดับด้วยกระจัง เชิงชายแบบลูกฟักตกแต่งด้วยลายเฟื่อง ลูกฟักผนังอาคารเป็นลายโค้ง มีความนุ่มนวลเหมาะกับการเป็นอาคารที่ประทับของเจ้านายผู้หญิง
ซ่าง
ซ่าง คืออาคารที่สร้างบนฐานชาลาพระเมรุทั้ง ๔ มุม เป็นที่สำหรับพระพิธีธรรม ๔ ชุดสลับกันสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่เชิญพระโกศพระศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนเสร็จการพระราชทานเพลิง
หอเปลื้อง
หอเปลื้องเป็นอาคารขนาดเล็กชั้นเดียวหลังคาจั่ว ยกคอสอง มีหลังคาปีกนกโดยรอบ มีผนังโดยรอบ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระเมรุ เป็นที่เก็บพระโกศและเครื่องประกอบ หลังจากที่เปลื้องออกจากพระลองแล้ว และสำหรับเก็บเครื่องใช้เบ็ดเตล็ดในช่วงการพระราชทานเพลิงพระศพ
รูปจริงจากท้องสนามหลวง
งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี การดำเนินการก่อสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบในพระราชพิธี คืบหน้าไปมากกว่าร้อยละ 90 แล้ว

คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ 
และในวันที่ 3 เม.ย.จะพิธียกฉัตร 7 ชั้นประดับยอดพระเมรุ 



สำหรับการซักซ้อมริ้วขบวนพระราชพิธีอัญเชิญพระศพ พระอัฐิ 
และพระสรีรางคาร สมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ 
ในพื้นสถานที่จริงนั้น จะมีขึ้นในวันที่ 18 , 25 และ 31 มี.ค.นี้ 
โดยวันที่ 31 มี.ค.จะเป็นการซ้อมใหญ่แต่งกายเหมือนจริง  




การก่อสร้างพระเมรุในครั้งนี้ จะเห็นว่ามีขนาดเล็กกว่าการก่อสร้าง  
พระเมรุในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 


   เนื่องจากครั้งนี้พระศพประดิษฐานในพระโกศ   ขณะที่เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ นั้น
   พระศพประดิษฐานในหีบพระศพ  การก่อสร้างพระเมรุจึงมีขนาดเล็กกว่าเพราะใช้เนื้อที่น้อยกว่า


  ขณะที่โครงสีของพระเมรุโดยรวมเป็นสีทองและสีชมพู  ตามสีวันพระราชสมภพคือวันอังคาร
ภาพรวมของพระเมรุจึงมีความนุ่มนวลแบบอิสตรี


นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
มีพระราชดำริให้มีการจัดนิทรรศการ
ในสมเด็จพระเจ้าภคนีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ แบบถาวร 
ที่พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม 
เพื่อให้ประชาชนที่สนใจได้เข้าไปศึกษาต่อไปด้วย "


ทั้งนี้จะเปิดให้ประชาชนเข้าชมหลังจากวันที่ 11-17  เมษายน  2555

โปรดอย่าแสดงข้อความหรือคำพูดที่ไม่สุภาพต่อราชวงศ์ นะครับ

//board.postjung.com/609480.html

Create Date :03 เมษายน 2555 Last Update :3 เมษายน 2555 21:53:22 น. Counter : Pageviews. Comments :0