bloggang.com mainmenu search

เรื่องเล่าประเภท “ โดนแท็กซี่มอมยา ” “ โดน ป้ายยาสลบ แล้วปลดทรัพย์จนหมดตัว ” “ รับนามบัตรจากคนแปลกหน้า แล้วโดนยาที่ป้ายบนแผ่นพับเล่นงานเอา” นั้นเป็นไปได้หรือไม่ ในความเห็นของวิสัญญีแพทย์หรือหมอดมยานั้นบอกว่า “ไม่มีหรอก ถ้ามียาแบบนี้ก็ดี หมอคงทำงานง่ายขึ้นอีกเยอะ” จะเป็นยาอื่นที่หมอดมยาไม่รู้จัก ก็ไม่ควรจะเป็นไปได้ และถึงจะมียาลับจริง แต่ก็ต้องใช้กลไกการนำยาเข้าสู่ร่างกายแบบเดียวกับยาอื่นๆ

woman with headache, migraine, stress, insomnia, hangover, asian caucasian indoor scene

1. ปรกติจะทำให้คนๆ หนึ่งหลับหรือสลบได้นั้น ทำอย่างไร
การออกฤทธิ์ของยานอนหลับหรือยาสลบนั้นออกฤทธิ์ที่สมอง ยาจำพวกยานอนหลับ เช่น diazepam, ฝิ่นและอนุพันธุ์ของมันนั้น มีโปรตีนตัวรับของยาอยู่ที่สมอง เมื่อยาไปจับกับโปรตีนตัวรับเหล่านี้จะออกฤทธิ์ระงับความรู้สึก เช่น เสริมฤทธิ์การทำงานของ GABA receptor ทำให้เพิ่มระดับของ GABA ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสมอง หรือมีผลต่อ neurotransmitter ทำให้นำกระแสประสาทไม่ดี
การให้ยาสลบที่ได้ผลรวดเร็วและแน่นอน คือ สลบแน่ๆ คือการฉีดเข้าเส้นเลือด (intravenous anesthesia) ซึ่งตัวที่หลับเร็วที่สุดคือ thiopenthal เมื่อฉีดแล้วใช้เวลาเพียง 1 arm-brain circulation (ประมาณ 10-15 วินาที) คนไข้ก็สลบแล้ว เพราะยาในกระแสเลือดไปออกฤทธิ์ที่สมองโดยตรง แต่ถ้าใช้วิธีอื่น เช่น สูดยาดมสลบ (inhalation anesthesia) ฉีดเข้ากล้าม (intramuscular injection) จะใช้เวลานานกว่านี้มาก มักจะทำในกรณีเปิดเส้นน้ำเกลือไม่ได้ ดังนั้นในการดมยาสลบทั่วไปจึงนิยมฉีดเข้าเส้นให้สลบก่อน จึงใช้ยาดมสลบ maintenanceต่อ เพื่อความรวดเร็ว และใช้ยาร่วมกันหลายๆ ตัว ได้แก่ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวดกลุ่มมอร์ฟีน เพื่อบาลานซ์ผลข้างเคียงซึ่งกันและกัน

anesthetic-4

2. การมอมยา โดยการรมผ่าน หน้ากากแอร์ นั้น เป็นไปได้หรือไม่
ยาสลบถ้าสูดผ่านจมูกเข้าไป จากนั้นต้องไปที่ปอด ถูกดูดซึมผ่านเส้นเลือดที่ปอด เส้นเลือดจากปอดไหลเวียนผ่านไปที่สมอง ดังนั้นต้องใช้เวลาพอสมควรทีเดียว ยาจึงจะไปออกฤทธิ์ที่สมองได้

การจะสลบช้า-เร็ว จึงขึ้นกับความเข้มข้นของยาสลบที่ใช้ การละลายได้ดีในไขมัน สมัยก่อนจึงมีการคิดค้นวิธีที่จะทำให้คนไข้หลับเร็วที่สุด ยาสลบตัวแรกๆ ได้แก่ Ether ซึ่งจะให้ยาสลบโดยหน้ากาก (mask) ซึ่งมีผ้ากอซ (gauze) หุ้มไว้ประมาณ 4-5 ชั้น และขวดยาอีเธอร์ สำหรับหยดลงบนหน้ากากให้ผู้ป่วย ซึ่งอีเธอร์นี้ใช้เวลาเป็นสิบนาทีกว่าผู้ป่วยจะหลับ และกลิ่นแย่มากๆ กระตุ้นทางเดินหายใจให้หดเกร็งและเสมหะเยอะ เวลาต่อมามีผู้คิดค้น chloroform ซึ่งกลิ่นดีกว่า ใช้ปริมาณน้อยและหลับเร็วกว่าแค่ 2-5 นาที แต่ต่อมาพบว่ามันกดหัวใจมากๆ ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้บ่อยๆเลยหยุดใช้ไป

ปัจจุบันเราใช้เครื่องดมยาสลบ ซึ่งสามารถควบคุมจำนวนออกซิเจนไอระเหย (vapor) ของยาดมสลบได้ในระดับที่จะทำให้ผู้ป่วยหลับตามที่ต้องการ มีท่อยางต่อออกจากเครื่องดมยาสลบนำออกซิเจนและยาดมสลบที่เป็นก๊าซหรือไอระเหยไปสู่คนไข้
ยาดมสลบที่มีในปัจจุบัน ถึงใช้ตัวที่ทำให้หลับเร็วที่สุด เปิดด้วยความเข้มข้นสูงที่สุดจากเครื่อง ยังใช้เวลาเป็นนาทีกว่าคนไข้จะสลบ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ยาที่บอกว่าพ่นมาจากช่องแอร์แท็กซี่จะทำให้หมดสติได้ (โดยที่คนขับไม่เป็นอะไรไปเสียก่อน)
บางคนเคยดมยาสลบแล้วคิดว่าดม gas ไม่กี่วินาทีก็หลับ จริงๆ แล้วที่หลับนั้นหลับจากยานำสลบที่ฉีดทางสายน้ำเกลือ gasที่ให้ดมผ่านหน้ากากมักเป็นออกซิเจน ถ้าให้ผู้ใหญ่ดม gas เพียวๆ เพื่อให้หลับจะกินเวลานานกว่าเด็กเล็กๆ

Taxi driver

3. การมอมยา ด้วยยาป้าย ป้ายยาสลบ มีจริงไหม?

ถ้ามียาป้ายให้สลบได้จริง วิสัญญีแพทย์คงทำงานง่ายขึ้นอีกเยอะโดยเฉพาะในกรณีที่พบว่ามีปัญหาในการแทงเส้นเพื่อที่จะให้ยาสลบ เช่น ในคนไข้เด็ก หรือคนไข้ที่อ้วนมากๆ และถ้ายาแปะให้หลับหรือสลบมีจริง มันต้องออกฤทธิ์ซึมผ่านผิวหนังเข้ากระแสเลือด ไปออกฤทธิ์ที่สมอง ทุกวันนี้มีการคิดค้นยาที่จะออกฤทธิ์ผ่านทางผิวหนัง ที่เรียกว่า “Transdermal drug delivery system” แต่ทำไม่ได้ง่ายๆ มียาที่ใช้ได้ไม่กี่ตัว (สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทผ่านทางผิวหนังเท่าที่มีใช้มีแต่ Fentanyl กับ Clonidine เท่านั้น) ความยากของมันมีตั้งแต่การซึมผ่านของยาผ่านทางผิวหนัง และการควบคุมยาให้มันออกฤทธิ์ตามที่ต้องการ

ผิวหนังของเราประกอบด้วยชั้นต่างๆ ที่สำคัญ 3 ชั้นได้แก่ epidermis, dermis และ subcutaneous ชั้น epidermis เป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการนำส่งยาไปยังชั้น dermis ซึ่งมีหลอดเลือดและท่อน้ำเหลืองที่สำคัญต่อการลำเลียงยาหรือสารเข้าสู่หลอดเลือด ดังนั้นยาที่สามารถใช้ได้ด้วยวิธีออกฤทธิ์ผ่านทางผิวหนังนี้จะต้องเป็นยาที่ค่อนข้างแรงและสามารถซึมผ่านผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยาต้องใช้เวลาค่อนข้างนานจึงจะออกฤทธิ์

ยกตัวอย่าง เช่น ยาชา Xylocain หรือ lidocaine แบบแปะ ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงในการออกฤทธิ์ซึมผ่านผิวหนังให้ชาเฉพาะที่ ยาแผ่นแปะซึ่งภายนอกมองดูเหมือนทำง่ายๆนั้น ข้างในมันซับซ้อนมาก ถ้ายาป้ายแล้วหลับมีจริง คงเป็นที่ต้องการอย่างมากของวงการแพทย์และสร้างรายได้มหาศาล

ยา Fentanyl ซึ่งอยู่ในกลุ่ม nacrotics คืออนุพันธ์ของฝิ่นตัวเดียวที่มีใช้ในรูปแบบนี้ ละลายในไขมันได้ดีและแรงกว่ามอร์ฟีนร้อยเท่า ยังใช้เวลากว่าจะออกฤทธิ์เต็มที่ 12-24 ชั่วโมง ดังนั้นการป้ายยาให้คนสลบจึงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากกว่าต้องใช้ยาปริมาณมากกว่ายาจะซึมผ่านผิวหนังไปได้ ต้องรอเป็นเวลานานกว่าจะออกฤทธิ์ อีกทั้งยังควบคุมไม่ได้ด้วยว่ายาจะออกฤทธิ์แค่ไหนอย่างไร
ส่วนยา Dormicum หรือ Midazolam ซึ่งมีการนำมาใช้ก่ออาชญากรรมจริง แต่ไม่มีการใช้ในรูปการป้ายยาหรือซึมผ่านผิวหนัง ใช้พ่นก็ไม่ได้ ในทางปฏิบัติใช้กินหรือฉีด มีบ้างที่ apply ใช้หยอดทางจมูกให้ยาซึมผ่านผิวที่เป็นเยื่อบุ (nasal mucosa) เข้าไป ซึ่งต้องใช้ปริมาณมากและรอระยะเวลานาน ใช้ป้ายผิวหนังจะป้ายเพียวๆ หรือผสมโลชันยังไงก็ไม่ออกฤทธิ์

สุดท้ายที่มักจะอ้างถึงกัน คือ แอลเอสดี (LSD : Lysergic acid diethylamide) แอลเอสดีเป็นยาเสพติดร้ายแรงประเภทที่ 1 อาจพบเป็นเม็ดยา แคปซูล หรือผสมในทอฟฟี่ รวมทั้งแผ่นกระดาษชุบสารแอลเอสดี มีความรุนแรงในการออกฤทธิ์ต่อสมองสูงคือ ใช้ในปริมาณแค่ 25 microgram (25/1 ล้านส่วนของกรัม การเสพทำได้ทั้งแบบฉีดหรือการนำกระดาษที่เคลือบแอลเอสดีอยู่มาเคี้ยวหรืออมหรือวางไว้บนลิ้น เพราะ LSD จะถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุภายในจมูก (nasal mucosa) ระบบทางเดินอาหารและเยื่อบุอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ผิวหนังของคนซึ่งมีการป้องกันเยอะกว่านั้นเยอะ จึงต้องใช้ปริมาณมากและรอนานเช่นกัน โดยพบว่าเมื่อให้ LSD ทางปากขนาด 2 ไมโครกรัม/ กก. จะให้ระดับความเข้มข้นของยาในกระแสเลือดสูงสุด (Tmax) ที่เวลาถึง 30-60 นาที

4. Chloroform Spray มีจริงหรือไม่
จาก Forward mail ที่ว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพมาแกล้งทำทีมาขายสเปรย์ปรับอากาศในรถยนต์ แต่จริงๆแล้วสารในสเปรย์กระป๋องนั้นคือ คลอโรฟอร์ม ที่จะแอบฉีดใส่ทำให้สลบได้ ความจริงแล้ว chloroform ไม่ได้เป็นยาสลบที่ทำให้คนสลบง่ายขนาดนั้น ขนาดนำมาทำการสลบหนู ยังต้องเอา chloroform ใส่ปิดฝาตั้งหลายนาทีกว่าหนูจะสลบ
ยาสลบที่เป็นแบบไอระเหย (vaporizer) นั้น ก็ไม่สามารถเอามาใส่กระป๋องทำเป็นสเปรย์กันได้ง่ายๆ vaporizer ทุกตัวต้องมี chamber พิเศษสำหรับมันทั้งนั้น

5. ยาป้ายที่ทำให้คนไม่รู้สึกตัว มาจากยาสลบที่ใช้ในสัตว์ได้ไหม
มียาตัวหนึ่งเป็นที่ต้องสงสัย คือ M99 หรือ Etorphine ซึ่งเป็นกลุ่มอนุพันธุ์ของฝิ่น การออกฤทธิ์เช่นเดียวกันกับ morphine แต่มีความแรงกว่าเป็นพันๆ เท่า ใช้ดมยาสลบในช้าง จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมาใช้ในคน เพราะแค่โดนนิดหน่อยก็คงตายแล้ว (คนป้าย ตายก่อน ) และจะควบคุมการใช้ได้อย่างไร

ยา Etorphine นี้มีราคาสูงมาก เป็นยาควบคุมตั้งแต่แหล่งผลิต ผู้จะซื้อต้องมีใบอนุญาตจากรัฐบาลประเทศที่จะใช้ ถึงจะขายได้และรัฐบาลที่จะซื้อนั้นจะต้องมีการล็อคยาไว้ในเซฟและให้ใช้โดยสัตวแพทย์ (ยุโรป และอเมริกา) หรือผู้ชำนาญการวางยาสลบสัตว์ป่า (อัฟริกาใต้) เท่านั้น และมีการรายงานการใช้ทุกๆ มิลลิกรัม ต่อหน่วยงานควบคุม ที่ทางผู้ผลิตเอง sensitive มากๆ ก็เพราะถ้ามีคนใช้ประกอบอาชญากรรม บริษัทที่ผลิตก็จะแย่ไปด้วย ตอนนี้บริษัทที่ผลิตจำหน่ายอยู่ในอเมริกา ความจริงแล้วยา Etorphine นี้ ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ทั่วไปแม้แต่จากหน่วยงานทางราชการเองที่นำมาใช้วางยาสลบสัตว์ป่าอย่างถูกต้องและเป็นวิชาการ ก็ยังไม่มีการนำเข้ามาใช้ทั่วไป อีกทั้งยังเป็นยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ใช้มากถึงแก่ชีวิตได้ ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ผู้ใช้ยานี้ก็เคยมีเสียชีวิตมาแล้ว

6. มียา Burundanga เคลือบนามบัตร จริงหรือ
จาก FW mail เตือนไม่ให้รับนามบัตรจากคนแปลกหน้า เพราะอาจจะมียา Burundanga ป้ายบนนามบัตร ให้หมดสติ ควบคุมตนเองไม่ได้ อาจถูกขโมยของหรือข่มขืนได้เนื่องจากยานี้มีประสิทธิภาพแรงกว่ายาที่ใช้ข่มขืนสาวๆ ถึง 4 เท่า
ยา Burundanga เป็นชื่อยาที่ถูกนำมาใช้ก่ออาชญากรรมจริง มีรายงานว่าผู้ใช้ยาสามารถควบคุมเหยื่อได้.เหยื่อบางรายตื่นขึ้นหลายชั่วโมงหรือเป็นวันหลังโดนยา. Burundanga เป็นสารสกัดได้จากพืชดอกในสกุล Brugmansia ซึ่งถิ่นต้นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ชื่ออื่นของยา burundanga คือ scopolamine โดยที่ยา scopolamine นี้มีแบบแปะด้วย ใช้แปะตรงกกหูแก้เมารถเมาเรือ
แต่อย่างไรก็ตาม การสัมผัสนามบัตรที่อ้างว่าเคลือบยา burundanga ไว้นั้นไม่ได้ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้หรอก จะต้องใช้การผสมน้ำหรืออาหารกิน ขณะที่ยานี้ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จึงไม่อาจจะได้กลิ่นจากนามบัตรได้ตามใน forward mail

สรุปสั้นๆ ได้ว่า
1. ยาพ่นให้สลบจากหน้ากากแอร์ ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากกว่าที่คนเราจะสลบด้วยวิธีนี้ได้ ต้องใช้เวลา เพราะว่าการสูดยาสลบเข้าไป จะต้องมีการดูดซึมของยาจากปอดไปสู่เส้นเลือดปอดหมุนเวียนไปที่สมอง และยาสลบจึงออกฤทธิ์ที่สมองได้ ในทางปฏิบัติทุกวัน ถ้าสูดดมยาสลบที่ความเข้มข้นสูงๆโดยตรงจากเครื่องดมยาสลบ ยังต้องใช้เวลาเป็นนาทีกว่าจะหลับหรือสลบ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่ยาที่บอกว่าพ่นมาจากช่องแอร์แท็กซี่จะทำให้หมดสติได้ โดยที่คนขับไม่เป็นอะไรไปเสียก่อน
2. ยาป้าย ถ้าออกฤทธิ์ผ่านผิวหนังทำให้สลบก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน เนื่องจากผิวหนังมีชั้นของผิวหนังที่ทำหน้าที่เป็นปราการกั้นยาตามธรรมชาติ ยาที่จะซึมผ่านไปได้นั้นต้องมีความแรงมาก ใช้เวลานาน ในทางปฏิบัติต้องใช้แผ่นแปะยาแบบพิเศษ กว่ายาจะออกฤทธิ์ก็เป็นชั่วโมง การป้ายยาให้คนสลบจึงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากกว่าจะซึมผ่านผิวหนังไปได้ต้องใช้ยาปริมาณมาก รอระยะเวลานาน อีกทั้งยังควบคุมไม่ได้ด้วย ว่ายาจะออกฤทธิ์แค่ไหน อย่างไร

anesthetic-3

ทั้งนี้ เคยมีบทความจาก หมอแมว ได้เคยพูดถึงกรณี เกี่ยวกับ อาการมึนงง ที่เกิดขึ้นบ่อยเมื่อขึ้นรถแท็กซี่ไว้ได้น่าสนใจ มาลองอ่านกัน

ขึ้น TAXI แล้วเกิดอาการมึนงง เกิดจากยาป้ายยาสลบในแท็กซี่หรือเปล่า ??

มีคำถามเกี่ยวยาป้ายยาสลบในรถแท็กซี่ หรือยาป้ายยาสั่งที่ทำให้คนหลับนั้นมีจริงหรือเปล่า จากประสบการณ์ของบางคนที่เกิดมึนงงหรือมีแม้แต่หลับแบบไม่รู้ตัวในรถแท็กซี่ อาการแปลกๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนั่งรถแท็กซี่นั้นเกิดจากอะไรได้บ้าง

1. Carbon monoxide Poisoning
อาการที่พบได้บ่อยเวลาหลายๆ คนขึ้นรถแท็กซี่คือ เมื่อขึ้นไปแล้วเกิดอาการเวียนหัวมึนงง อยากจะหลับ พยายามฝืนลืมตาให้ตื่นขึ้นก็แล้ว แต่ว่าก็จะไม่ไหว หลังจากลงจากรถมาแล้วก็มึนๆ งงๆ จำเหตุการณ์ไม่ค่อยชัดเจน ไม่ว่าอาการ เวียนหัว งง ง่วง คลื่นไส้อาเจียน จำเหตุการณ์ไม่ได้ จำหน้าตาคนขับหรือทะเบียนรถไม่ได้ และ หลับไปเป็นวันๆ

อาการเหล่านี้เข้าได้กับอาการ “ถูกพิษของก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์” ซึ่งก๊าซตัวนี้เกิดได้จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์รถคันนั้นและเกิดการรั่วซึมเข้ามาทางใดทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อก๊าซตัวนี้เข้าไปจับกับเม็ดเลือดแดงจะก่อให้เกิดสารที่เรียกว่า COHb (carboxyhemoglobin) ทำให้เม็ดเลือดนั้นขนส่งออกซิเจนไม่ได้ ร่างกายจะเกิดอาการของการขาดออกซิเจนขึ้นโดยอาการจะไปเกิดที่สมองเป็นอาการดังที่กล่าวมา

ในคนปกติในสังคมทั่วไปมีค่า COHb ได้ที่ 1-2% ส่วนในคนที่สัมผัสกับคาร์บอนมอนออกไซด์บ่อยๆเช่น คนที่สูบบุหรี่ ตำรวจจราจร หรือ คนขับรถที่มีรูรั่ว อาจจะมีค่า COHbได้สูงถึง 10%

ข้อสงสัยแรก : รถแท็กซี่ก็ดูดี ไม่น่ามีรั่ว คำตอบ : ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์นี้ไม่มีกลิ่นไม่มีสี ถ้ามีรูรั่วเยอะๆ นั่งรถแป๊บเดียวได้กลิ่นควันเสีย คนขับรถคงรู้ตัวและเอาไปซ่อมแล้ว แต่ถ้าหากการรั่วเกิดขึ้นช้าๆ น้อยๆ ในระดับที่เราไม่ได้กลิ่นไอเสียตัวอื่นๆ ร่วมกับเรานั่งรถเป็นระยะทางไกลๆ จะทำให้เกิดอาการได้

ข้อสงสัยสอง : ทำไมคนขับไม่เป็น แต่เราเป็น คำตอบ : คนขับแท็กซี่ขับรถทุกๆ วัน ดังนั้นหากคนขับได้รับคาร์บอนมอนออกไซด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะมีการปรับตัวช้าๆ โดยการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากเราเอาเลือดคนขับรถที่มีการรั่วของก๊าซนี้ไปตรวจ ก็จะพบว่ามีระดับของ COHb สูงร่วมกับมีความเข้มข้นของเลือดสูงกว่าปกติ

2. เมารถ : กลิ่น อาหาร นอนไม่พอ
อาการเมารถหรือ Motion Sickness เป็นอาการที่เกิดจากการที่ระบบประสาทที่ควบคุมการทรงตัวทำงานไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งระบบการทรงตัวของคนเราจะประกอบไปด้วย “ดวงตา – เส้นประสาทที่กล้ามเนื้อ – ระบบประสาทในหู – สมอง” ในการนั่งรถ เรารับรู้ว่ารถเคลื่อนตัวโดยตาเรามองเห็นว่าเราเคลื่อนไปในทิศทางไหน ระบบประสาทกล้ามเนื้อเรารับรู้ว่าเรานั่งยังไงเอนซ้ายขวาแบบไหน ระบบประสาทในหูบอกว่าเรานั่งในมุมใดองศาใด สุดท้าย สมองของเราจะบอกประมวลผลว่าเราไปในทิศแบบไหน
กรณีที่เราจะมึนงงเมารถได้ง่ายขึ้นคือ เมื่อเราไม่ใช่คนขับ จะทำให้เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเราจะเคลื่อนต่อไปอย่างไร กล้ามเนื้อและดวงตาจึงปรับตัวไม่ทัน ส่วนคนขับจะรู้ตัวล่วงหน้าก่อนว่ารถจะวิ่งไปมาแบบไหน ดังนั้นจึงไม่งง / เมื่อคนขับขับเร่งและเบรกไม่ดี เบรกกระตุก ออกตัวแรง เล่นคลัตช์ วิ่งฉวัดเฉวียน ทำให้ดวงตาซึ่งกำลังมองไปทางด้านหน้าปรับไม่ทัน รถกระชากไปทางซ้าย กล้ามเนื้อและหูบอกว่าไปทางซ้ายแต่ตายังมองตรง พอส่งสัญญาณไปสมอง สมองก็แปลผลผิด เกิดอาการงง / ถ้ากระจกรถฝ้าหมอกมัว จะทำให้ตาของเราโฟกัสตำแหน่งการมองไม่ได้ ดังนั้นสัญญาณจากตาที่ไปสมองก็จะผิดปกติไป / ถ้ามีสิ่งรบกวนหรือสิ่งที่ทำให้อาเจียนเวียนหัวง่ายขึ้น ไม่ว่ากลิ่นในรถที่เหม็น เสียงรบกวนของเครื่องยนต์ อาหารที่กินก่อนขึ้นรถ (กินมากไปหรือกินอาหารมันๆ) รายการวิทยุเสียงดังๆ จะทำให้เราอาเจียนเวียนหัวได้ง่ายขึ้น / และบางคนอดนอนมาหลายๆวัน พอมาขึ้นรถเบาะนุ่มๆก็หลับ

3. เจอยานอนหลับ
บางคนมีความรู้สึกว่างุนงงง่วงนอนจริงๆ และสงสัยว่าเกิดจากยานอนหลับ ถ้าเป็นยานอนหลับแบบฟุ้งกระจายหรือระเหยจริง คนจะใช้คงต้องระวังเพราะว่าถ้าวางไว้ในรถแล้วตัวเองย่อมโดนไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิธีที่บอกว่าเปิดกระจก/หันแอร์ไปทางคนนั่ง/หรือว่าออกจากรถไปฉี่ ของพวกนี้ไม่แน่นอนและมีการพูดในเชิงวิทยาศาสตร์มานานแล้วว่าเป็นไปไม่ได้

ส่วนยานอนหลับแบบกิน เช่น โรฮิปนอล ดอร์มิคุม ของพวกนี้ไม่ได้หากันง่ายๆและต้องใช้ในรูปกิน ถ้าไม่ได้รับของมากินจากแท็กซี่ ก็ไม่น่าจะเจอยานอนหลับได้ ยกเว้นแต่ไปเจอแก๊งแอบหย่อนยานอนหลับลงแก้วน้ำหรืออาหาร แล้วบังเอิญมาขึ้นแท็กซี่ต่อพอดี จึงจะเป็นไปได้

เรียบเรียงโดย Health.mthai.com

ที่มาบทความจากกระทู้ //pantip.com/topic/30208405 และ //topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2008/12/X7328809/X7328809.html

Create Date :12 กุมภาพันธ์ 2558 Last Update :12 กุมภาพันธ์ 2558 21:21:25 น. Counter : 2943 Pageviews. Comments :361