bloggang.com mainmenu search

วีระชนไทยผู้ยิ่งใหญ่ แต่มีบันทึกให้ลูกหลานไว้อ่านแค่ไม่กี่บรรทัด





อนุสาวรีย์ขุนรองปลัดชู ที่วัดสี่ร้อย ตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

ประวัติ


ตามข้อมูลในท้องถิ่นอำเภอวิเศษชัยชาญกล่าวว่า ขุนรองปลัดชูมีชื่อตัวว่า
"ชู" เป็นครูดาบอาทมาตผู้มีฝีมือในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ
มีลูกศิษย์จำนวนมากและเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปในแถบนั้น
นายชูได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองวิเศษไชยชาญตำแหน่ง "ปลัดเมือง"
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อคนผู้นี้โดยทั่วไป
ว่า "ขุนรองปลัดชู"


เมื่อสามารถระดมไพร่พลเข้าเป็นอาสาสมัครกองอาทมาตได้ 400 คนแล้ว
ขุนรองปลัดชูได้นำกำลังของตนเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์
(พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกชื่อเป็น พระยาธรรมา)
ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปตั้งทัพสกัดกองทัพพม่าภายใต้การนำของเจ้ามังระราช
บุตรและมังฆ้องนรธา อันยกมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากตีทัพของพระยา
ยมราชแห่งอยุธยาที่แก่งตุ่มแขวงเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว
ทัพดังกล่าวจึงเดินทางข้ามด่านสิงขรมุ่งสู่เมืองกุยบุรีเพื่อใช้เส้นทาง
เลียบชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งรั้งทัพอยู่ที่กุยบุรีจึงส่งกองอาทมาตของขุนรองปลัดชู
ให้มาสกัดทัพอยู่ที่อ่าวหว้าขาว
(ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบ
คีรีขันธ์)


กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูได้ปะทะกับกองทัพพม่าซึ่งมีกำลังราว 8,000 คน
ตั้งแต่เช้าจรดเที่ยงก็ยังไม่แพ้ชนะ
แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและไม่ได้รับกำลังเสริมจากทัพของพระยารัตนาธิเบศร์
(พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า
ได้รับไพร่พลจากทัพหลักเป็นกองหนุนสมทบอีก 500 คน)
กองอาทมาตจึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะความอ่อนล้า
และถูกฝ่ายตรงข้ามไล่ต้อนลงทะเลฆ่าฟันจนเสียชีวิตทั้งหมดในวันนั้น ด้านทัพ
ของพระยารัตนาธิเบศร์เมื่อทราบว่ากองอาทมาตของขุนรองปลัดชูแตกพ่าย
จึงได้เร่งเลิกทัพหนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทัพของพระยายมราช
และกราบทูลรายงานการศึกว่า "ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย"
ส่วนกองทัพพม่าเมื่อผ่านเมืองกุยบุรีได้แล้วก็ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาโดย
สะดวก เนื่องจากแนวรับต่างๆ
ในลำดับถัดมาของฝ่ายอยุธยาถูกตีแตกในเวลาอันสั้น



บันทึกในพงศาวดาร
เรื่องราวของขุนรองปลัดชูมีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเพียงสั้นๆ ดังนี้ (ในที่นี้เน้นด้วยการขีดเส้นใต้)


ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสทราบ
นั้นแล้ว จึงดำรัสให้พระยายมราชเป็นทัพหน้า พลทหาร ๓๐๐๐ ทัพหนึ่ง
ให้พระยาธารมาถืออาญาเป็นแม่ทัพ พลทหาร ๒๐๐๐ ยกไปตั้งเมืองกุยบุรี
พะ
ม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราชณแกงตุมแตก พระยาธารมาจึงเกณฑ์ไพร่ ๕๐๐
เข้าบรรจบกองปลัดชู แล้วให้ยกไปตั้งตำบลอ่าวขาวริมทะเล
ฝ่ายทัพหน้าพะม่ายกขึ้นมาตี กองปลัดชูก็แตกพ่าย
 พระเจ้าอังวะจึงดำเนินทัพเข้ามาณเมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี










 ที่มา ศิลปากร, กรม. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 64 พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม).เจ้า
ภาพพิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภานพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยุรวงศาวาส
วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2479. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนาการ, 2479, หน้า
425.
Create Date :15 กุมภาพันธ์ 2555 Last Update :15 กุมภาพันธ์ 2555 20:49:42 น. Counter : Pageviews. Comments :0