bloggang.com mainmenu search

มีผู้หญิงมากมายหลายล้านคนที่ทุกข์ทรมานจากโรคกระดูกพรุนทั่วโลก เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับอายุขัย ความเสื่อมของร่างกายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกระบบอวัยวะ หากเรารู้จักดูแลตัวเองแต่เนิ่นๆและเตรียมพร้อมรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

รู้ก่อนได้เปรียบกว่าเสมอนะคะ


วันนี้แป้งมีเรื่องราวของวิตามินที่เรียกได้ว่า นิยมรับประทานทั่วบ้านทั่วเมือง คือ แคลเซียม ( calcium ) มาให้ได้อ่านกันนะคะ


เรามาดูกันเลยว่า หากไม่ใช่ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง ) และสตรีมีครรภ์ ควรรับประทานแคลเซียมที่เป็นอาหารเสริมหรือไม่


แคลเซียมมีประโยชน์อย่างไร

1.แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับสุขภาพกระดูกเหงือกและฟัน

2.ป้องกันการเกิดโรคอ้วน ระดับแคลเซียมที่สมดุล จะช่วยรักษาน้ำหนักตัวที่เหมาะสมทั้งในเพศชายและหญิง

3.ป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปริมาณแคลเซียมเพียงพอ จะช่วยป้องกันความเสี่ยงโดยรวมของมะเร็งลำไส้ใหญ่และยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกที่สามารถนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง

4.ป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน ( Premenstrual ) เช่น เวียนศีรษะ, อารมณ์แปรปรวน, ความดันโลหิตสูง,ซึมเศร้า

5.ป้องกันการเกิดนิ่วในไต ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยพบว่า หากปริมาณแคลเซียมสูงหรือการดูดซึมแคลเซียมสูงในร่างกาย จะทำให้เกิดนิ่วในไต


การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การบริโภคอาหารแคลเซียมจากธรรมชาติในอัตราสูง สามารถลดความเสี่ยงของโรคนิ่วในไตได้มาก ซึ่งระยะสั้นอาหารธรรมชาติที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ไม่ก่อให้เกิดนิ่วในไต


แต่ปัจจุบันแคลเซียมส่วนเกิน จะทำให้เกิดนิ่วในไต นอกเหนือจากปัจจัยอื่น เช่น การบริโภคอาหารที่มีออกซาเลตสูงจากผักใบเขียว เช่น ใบชะพลู ใบยอ ปริมาณมาก อาจทำให้เกิดนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะได้ เนื่องจากใบชะพลู 100 กรัม มีสารออกซาเลต 1,088 มิลลิกรัม และใบยอ 100 กรัม มีสารออกซาเลต 387.6 มิลลิกรัม ออกซาเลตที่มากเกินไป จะตกผลึกเป็นนิ่วในไตหรือกระเพาะปัสสาวะได้


ออกซาเลต (oxalate) เป็นสารมีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิดในกระแสเลือด มีผลเสียต่อร่างกายคือ หากรับประทานเป็นประจำทุกวัน ในปริมาณมาก ออกซาเลตจะเข้าไปตกผลึกสะสมในไตและกระเพาะปัสสาวะทำให้เป็นนิ่ว


พืชที่มีออกซาเลตสูง ได้แก่ หน่อไม้ คะน้า ผักโขม ใบชะพลู ใบชา หัวผักกาด โกโก้ กลอย บอน


6.ปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจ แคลเซียมช่วยปกป้องกล้ามเนื้อหัวใจ ปริมาณที่เหมาะสมของแคลเซียม จะช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจจะหดตัวและคลายตัวอย่างเป็นจังหวะ อืม!! สำคัญเหมือนกันนะเนี่ย


7. แคลเซียมช่วยให้ระบบประสาท รักษาความดันที่เหมาะสมในหลอดเลือดแดง หากมีการลดลงของแคลเซียม ฮอร์โมนที่เรียกว่า calcitrol จะถูกปล่อยออกมาในกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดแดง ขณะที่ฮอร์โมนแคลซิโตนิน ( calcitonin ) หลั่งจากต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ลดระดับความเข้มข้นของแคลเซียม


8.ช่วยในการขนส่งสารอาหาร แคลเซียมมีส่วนให้การเคลื่อนไหวของสารอาหารทั่วเยื่อหุ้มเซลล์ง่ายขึ้น


แหล่งอาหารธรรมชาติของแคลเซียม : นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ผักใบเขียวรวมทั้ง ผักโขม น้ำส้ม ธัญพืช หอยนางรม ถั่วเหลือง อัลมอนด์ ถั่วเขียว


ผลข้างเคียงที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ


1.นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เพศชายที่รับประทานแคลเซียม ปริมาณ 1,000 มิลลิกรัมทุกวัน จะมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20% จากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม


มีความเป็นไปได้ว่า แคลเซียมสร้างขึ้นในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ อาจมีผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในบางคน


แคลเซียมหรือหินปูน อาจเกาะอยู่ผนังหลอดเลือด ลิ้นหัวใจ หรือเยื่อหุ้มหัวใจ ที่ควรระวังคือ หินปูนอาจเกาะผนังหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง และจะเกิดขึ้นก่อนเกิดอาการของโรคหัวใจนานหลายปี


จากการศึกษาพบว่า ภาวะแคลเซี่ยมเกาะที่หลอดเลือดนี้ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากหลอดเลือดอุดตันเฉียบพลัน


มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การรับประทานแคลเซียมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองด้วย แต่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองมีอัตราช้ากว่าและไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเกิดโอกาสเสี่ยงได้ ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง


ผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว การเสริมแคลเซียมมากก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้แก่ผู้สูงอายุ


แมกนีเซียมเป็นกุญแจสำคัญในการดูดซึมของร่างกายที่เหมาะสม หากเรากินแคลเซียมมากเกินไป โดยไม่มีแมกนีเซียม วิตามินดีและวิตามิน K2เพียงพอ แคลเซียมส่วนเกินจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ และอาจจะก่อให้เกิดการกลายเป็นหินปูนของหลอดเลือดแดง ที่นำไปสู่โรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดหัวใจ ข้อนี้ควรตระหนักอย่างยิ่งค่ะ



2.แคลเซียมมีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้สูญเสียการเคลื่อนไหวของลำไส้ โดยลำไส้แทบไม่มีการเคลื่อนไหวเลย เหตุผลนี้ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวช้าผิดปกติ เป็นที่มาของอาการท้องผูกเวลารับประทานแคลเซียม นั่นเอง แคลเซียมบางยี่ห้อ ไม่ว่าจะดื่มน้ำเพิ่มเป็นโอ่งหรือรับประทานผักทั้งสวน ก็ไม่อาจแก้ไขจุดนี้ได้ค่ะ

3.ระดับแคลเซียมที่สูง มีผลทำให้ปัสสาวะบ่อย


ทุกคนต้องการแคลเซียมเพื่อให้กระดูกแข็งแรง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พอถึงวัยหมดประจำเดือน ฮอร์โมนเพศ ( เอสโตรเจน ) ที่เกี่ยวข้องการเพิ่มการสะสมแคลเซียมเข้าสู่กระดูกจะหมดหน้าที่ทันที จึงเป็นที่มาของกระดูกพรุนไปจนถึงกระดูกผุ โอ๊ย!! น่ากลัวแท้


เมื่อขาดเอสโตรเจน ( estrogen ) ร่างกายจะไม่มีตัวช่วยยับยั้งกระบวนการสลายกระดูก ทำให้อัตราการสลายตัวของเนื้อกระดูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะช่วง 5 ปีแรกของการหมดประจำเดือน


ในต่างประเทศที่มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี ไม่ค่อยมีแสงแดด ซึ่งแสงแดดอ่อนๆจะมีวิตามินดี ช่วยในการดูดซึมแคลเซี่ยมและสะสมเกลือแร่ในกระดูก สตรีวัยทองจะมีภาวะกระดูกพรุน เป็นอันดับต้นๆเชียวนะคะ


นอกเหนือจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เกี่ยวข้องกับการสะสมแคลเซียมแล้ว ยังมีฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่สำคัญคือ พาราไทรอยด์ฮอร์โมน ( parathyriod hormone ) มีหน้าที่ทำให้ระดับความเข้มข้นของแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น และลดระดับของฟอสเฟต ( phosphate ) ที่กระดูก ไต และลำไส้เล็ก เพิ่มกระบวนการสลายแคลเซียมออกจากกระดูก และยับยั้งกระบวนการสร้างกระดูก


ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการดูดกลับของแคลเซียมที่ไต ทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น กระตุ้นการขับฟอสเฟต ( phosphate ) ออกไปกับปัสสาวะ พาราไทรอยด์ฮอร์โมนเร่งอัตราการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่ลำไส้เล็กโดยการทำงานร่วมกับวิตามินดี


ถ้ามีฮอร์โมนนี้น้อยเกินไปจะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ การดูดซึมแคลเซียมกลับที่ไตลดน้อยลง จะทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อไวต่อสิ่งเร้า มีอาการชาตามมือเท้า กล้ามเนื้อหดรัดตัว เกร็ง เป็นตะคริวที่มือและเท้า ชักกระตุก ( tetany ) บริเวณหน้า ปอดไม่ทำงาน และเสียชีวิตได้


ใครที่เป็นตะคริวบ่อยๆ ควรรับประทานแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติ เช่น ปลาฉิ้งฉ้าง 100 กรัม ให้แคลเซียมมากถึง 537 mg หรือ นม UHT 200 ml.มีแคลเซียม 240 mg เต้าหู้ 1 ก้อน มีแคลเซียม 240 mg ดูนะคะ


หากมีฮอร์โมนนี้มากเกินไป เช่น เกิดเนื้องอกของต่อมพาราไทรอยด์ จะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสเฟตต่ำ มีผลทำให้เกิดนิ่วที่ไต กระดูกเปราะบางได้ เนื่องจากมีการสลายของแคลเซียมที่กระดูกมาก


มาถึงตอนท้ายนี้ แป้งรู้แล้วว่า ควรกินแคลเซียมจากอาหารธรรมชาติดีที่สุด ไม่เสี่ยงเป็นริดสีดวงทวารจากอาการท้องผูก ไม่เป็นนิ่วในไตแถมมีภาวะเสี่ยงจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายอีก ถึงแม้จะมีเปอร์เซนต์มากน้อยแค่ไหน แป้งไม่ขอเสี่ยงหรอกค่ะ





ที่มา :

www.mayoclinic.org/disease-conditions/heart-attack..../calcium..fag-20

https://www.organicfacts.net/health-benefits/minerals/calcium.html

www.medicalnewtoday.com/articles/256791.php

www.health.havard.edu

Create Date :10 กุมภาพันธ์ 2559 Last Update :14 กุมภาพันธ์ 2559 18:44:22 น. Counter : 2691 Pageviews. Comments :0