bloggang.com mainmenu search


■ Title : Hi wa Mata Noboru / The Sun Also Rises
■Director: Jun Akiyama, Kazuhisa Imai
■Writer: Yumiko Inoue
■Network: TV Asahi July 21 - September 15, 2011
■Episodes: 9 ■TV Ratings: 11.3%


นักบินฝึกหัด - Good Luck
แอร์โฮสเตสฝึกหัด - Attention Please
แพทย์ฝึกหัด - Code Blue
นักกู้ภัยฝึกหัด - Rescue
นักรับเรื่องร้องเรียนฝึกหัด - Call Center

อืม พอไล่ดูอย่างนี้แล้ว ถึงเพิ่งรู้ตัวว่าเป็นคนชอบแนวฝึกๆ หัดๆ นะคะ
ดังนั้น เหตุผลที่เลือกดู Hi wa Mata Noboru เพราะนี่เป็นเรื่องราวของ
"ตำรวจฝึกหัด"

เป็น "มิอุระ ฮารุมะ" อีกแล้ว



ยังยืนยัน มิอุระ ฮารุมะ ไม่ใช่นักแสดงระดับ 'โปรดมาก' แม้จะเห็นกันมาเป็นเรื่องที่ 9 แล้ว (นี่ขนาดยังไม่ได้โปรดมากเท่าไหร่เลยนะ) แต่ที่เลือกดูผลงานของฮารุมะได้บ่อยเพราะฝีมือการแสดงที่มีดีพอตัว แล้วหน้าตาก็หล่อดีด้วย เหตุประการหลังมักช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เพราะถ้าเรื่องไม่สนุก อย่างน้อยพระเอกหน้าหล่อๆ ก็พอช่วยค้ำจุน เรื่องนี้ต่อให้ไม่ใช่ฮารุมะ ก็ยังน่าสนใจอยู่ดีเพราะนี่เป็นเรื่องของคนในเครื่องแบบ (ใครชอบคนในเครื่องแบบยกมือขึ้น)



Hi wa Mata Noboru

เรื่องราวของ "โทโนะ คาซึยูกิ" นายตำรวจสุดเก๋าผู้เป็นมือหนึ่งของแผนกสืบสวนที่หนึ่ง (First Investigation Devision) ซึ่งในวงการตำรวจถือเป็นหน่วยงานที่มีชื่อเสียงเกรียงไกร แต่แล้ว ตำรวจผู้เคยขับเคี่ยวกับคนร้ายอยู่แนวหน้า กลับมาลงเอยด้วยการเป็น “เคียวคัง” (ครูฝึก) ของโรงเรียนตำรวจนครบาลอยู่แนวหลัง (Metropolitan Police Academy) ราวกับเป็นตำรวจแก่ๆ ที่ถูกปลดระวางและหมดทางไป จนต้องหันมาเอาดีด้านการถ่ายทอดประสบการณ์เพื่อฝึกฝนตำรวจหน้าใหม่เข้าสู่วงการผู้พิทักษ์ประชาชน



ทำไมตำรวจมือวางอันดับหนึ่งของแผนกสืบสวนที่หนึ่ง ผู้ถูกคนร้ายด่าแทงใจดำเอาว่า

“อย่าพูดอะไรที่น่าขายหน้าอย่างนั้น คุณน่ะ เป็นตำรวจจนเข้ากระดูกแล้ว”

“หุบปากซะ! ถึงตายไปแล้ว แกก็เป็นตำรวจอยู่ดี!”

เป็นการด่าที่ช่วยให้เข้าใจเข้าใจทัศนคติของคนร้ายที่มีต่อคุณตำรวจได้แจ่มแจ้ง ว่าแกน่ะ เป็นตำรวจได้อย่างถึงแก่นแค่ไหน อย่ามาหลอกให้เชื่อใจแล้วจับกุมกันซะให้ยากเลย



แล้วเหตุไฉนคุณตำรวจโทโนะถึงลดตัวเองจากแนวหน้า มาเป็นครูสอนนักเรียนตำรวจอยู่แนวหลังกันเล่า จากการไล่ล่าคนร้ายในภาคสนามกับการขับเคี่ยวหาความจริงจากคนร้ายในห้องสอบสวน เขาเปลี่ยนมาอยู่ยืนอยู่หลังโพเดียมหน้าชั้นเรียนท่ามกลางเหล่านักเรียนที่ "มีปัญหา" เขาต้องเผชิญหน้ากับอุปนิสัย ทัศนคติ หลากหลาย เพื่อหลอมละลายและเคี่ยวกรำคนเหล่านี้ให้กลายเป็นตำรวจที่ดีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการต้องฝึกฝนคนเหล่านี้ บางทีการเผชิญหน้ากับคนร้ายในฐานะนายตำรวจสืบสวนยังจะง่ายซะกว่า




โดยปกติ ซีรีส์แนวนี้ควรจะขายหนุ่มๆ ได้เป็นแพ็ค แต่เท่าที่เห็นในเรื่องนี้ ดูเหมือนว่า มิอุระ ฮารุมะ จะทำงานหนักอยู่คนเดียว การที่เพื่อนๆ รอบตัวไม่ได้เป็นนักแสดงที่มีหน้าตาโดดเด่นและมีบทบาทสำคัญมาช่วยส่งเสริมกันและกันสักเท่าไรนัก ทำให้ความน่าดูของซีรีส์เรื่องนี้(ต่อผู้เขียน)ที่ตั้งเป้าไว้เต็มร้อยต่อหนุ่มในเครื่องแบบ ลดลงฮวบฮาบอย่างรวดเร็วตั้งแต่สองสามตอนแรก แต่ด้วยผู้เขียนไม่ค่อยมีนิสัยทอดทิ้งซีรีส์ที่ตัดสินใจเปิดดูแล้วไปง่ายๆ ดังนั้น คนอื่นๆ ไม่เด่นไม่เป็นไร พึ่งพลังหล่อของฮารุมะเอาก็ได้



มิยาตะ เอย์จิ

“หน้าของนายมันทะเล้น”

“เธอเป็นคนเหลาะแหละ เอาใจใส่คนอื่นอยู่เสมอ
กลัวถูกคนเกลียด กลัวความเงียบ ร้องไห้ง่าย
อยู่นิ่งไม่เป็น ให้กำลังใจคนอื่นเยอะเกินความจำเป็น
พูดตามตรงคือ มีคุณสมบัติจะเป็นตำรวจน้อยที่สุด"


"แต่ก็เป็นจริงอีกเช่นกัน ที่ชั้นเรียนนี้ก้าวข้ามความยากลำบากไปได้
เพราะมีเธออยู่ น้ำตาเธอจะสลายความขุ่นมัว จะช่วยปลดปล่อยทุกคน
และรอยยิ้มของเธอ จะทำให้คนเข้มแข็ง”


บทของมิยาตะ ไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นพระเอกเท่ๆ คู่ควรกับเครื่องแบบเท่ๆ อย่างที่คิดไว้หรอกนะคะ มิยาตะไม่ใช่เด็กมีปัญหานั่นจึงกลายเป็นปัญหากว่าใครๆ นักเรียนคนอื่นเข้ามาเพราะฝัน แรงบันดาลใจ ความจำเป็นในการหาอาชีพที่มั่นคงเพื่อรายได้ที่มั่นคงตาม บางคนก็เข้ามาเพราะปมในใจบางอย่าง แต่มิยาตะไม่มีเหตุผลอะไรเลย แค่ไม่มีอะไรอย่างอื่นทำ การเข้าโรงเรียนตำรวจมากินอยู่ทนฝึกหัดแค่ 6 เดือน ก็จะได้ออกมามีการมีงานทำเป็นตำรวจมีรายได้เลี้ยงตัว การฝึก 6 เดือน มันคงไม่ยากเย็นอะไร แม้กับคนไม่เอาถ่านก็เถอะ เพราะเขาไม่ได้เอาจริงเอาจัง มันจะเป็นไรไป ถ้าจะฝ่าฝืนกฏปีนรั้วหนีเที่ยวบ้าง อะไรบ้าง ถ้าที่สุดแล้วอยู่ไม่ได้ เพราะกฏมันมากนัก ถ้าต้องออกจากโรงเรียนก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ เมื่อไม่ได้เข้ามาเพราะอยากเป็นตำรวจอยู่แล้ว



การเป็นนักเรียนตำรวจในสังกัดชั้น "โทโนะ เคียวคัง" มันมีแต่เรื่องไม่สบอารมณ์ ขัดแย้งทางความคิด โดนทั้งหักหน้า ทั้งหักหาญน้ำใจ ถูกทำให้หมดกำลังใจ ถูกทำให้ร้องไห้เสียน้ำตาก็หลายครั้ง

"เขามันบ้า เคียวคังเผด็จการ เคียวคังห่วยแตก โทโนะห่วยแตก"

แต่ก็เคียวคังคนเดียวกันนี้แหละ ที่ทำให้มิยาตะ ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตขึ้น




ยูฮาระ ชูตะ

“เธอเป็นคนหัวรั้น ไม่ฟังความเห็นใคร
และคิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น
เธอก็เหมือนกัน ขาดคุณสมบัติในการเป็นตำรวจ
แม้ว่างานของพวกเรา จำเป็นต้องสงสัยคนมากกว่าคนอื่น
คำถามคือ เธอเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดมากแค่ไหน
ถ้าในเวลาสำคัญ เธอไม่ไว้ใจคู่หูของตัวเองเลย
เธอจะไม่สามารถใช้ศักยภาพของเธอได้”




เซกิเนะ

"เธอเป็นคนง่ายๆ รับเอาคำพูดของผู้คนง่ายๆ
แค่ดูหน้าดูตาพวกเขาก็เชื่อ โดยคิดสงสัยสักนิด
ธรรมชาติของเธอคือไม่รู้จักยับยั้งความรู้สึกของตัวเอง
เหมือนเด็กประถม คิดอย่างไร พูดอย่างนั้น
และตอบโต้ทันทีทันควัน"

"แต่เพราะเธอเป็นคนตรงไปตรงมา เธอจึงยอมรับความรู้สึก
ของคนอื่นได้อย่างไม่จำกัด และบังคับตัวเองให้ตอบสนองได้รวดเร็ว
นั่นเป็นข้อดีอย่างมากทั้งในวันนี้และวันข้างหน้าที่เธอต้องเผชิญหน้ากับดคีร้ายแรง"




ถ้าหากมิยาตะ เอย์จิ คือตัวแทนของความเหลาะแหละไม่จริงจัง ยูฮาระ ชูตะก็คือทุกสิ่งที่ "ตรงกันข้าม" เขาเป็นคนเก่งที่สุดจริงจัง แม้เป็นคนเคร่งขรึม ไม่ได้ตั้งใจจะแสดงความอวดรู้หรือโชว์พาว ข้าเก่ง ข้ารู้ ข้าถูกทุกอย่าง แต่มิยาตะก็อดรู้สึกอย่างนั้นไม่ได้ เพราะความจริงจังและรู้มากของเขามันน่าหมั่นไส้ (จริงๆนะ) ยูฮาระเป็นตัวละครโดดเด่นต่อสำคัญกับเนื้อหาของเรื่องคนหนึ่ง แต่นักแสดงไม่เป็นที่ปลื้มใจสักเท่าไหร่ (เขาเคยเล่นเป็นเพื่อนสนิทของซาโต้ ทาเครุ ใน Q10 ด้วยค่ะ)



ศรศิลป์ไม่กินกันตั้งแต่วันแรกรู้จักในฐานะเพื่อนนักเรียนร่วมชั้น อันที่จริงต้องโทษยูฮาระ เพียงคนเดียว เพราะมิยาตะไม่ได้ไปหาเรื่องอะไรกับเขาแต่เป็นยูฮาระต่างหากที่ชอบมาเอี่ยวกับมิยาตะ มาตำหนิติเตียนทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของตัว มิยาตะเป็นพวกรักสนุกเข้ากับคนง่าย เขาจึงมักอยู่ท่ามกลางเพื่อนๆ รุมล้อม แต่ระหว่างสนุกกัน ยูฮาระก็มักเข้ามาขัดคอให้เสียอารมณ์ ถ้าผู้เขียนเป็นมิยาตะคงอยากจะถามว่า "นายเป็นไรมากป่ะเนี่ย!" คนเราไม่สนิทกัน ถ้าไม่ชอบในนิสัยอีกฝ่ายที่แตกต่าง ก็อยู่เฉยๆ สิ ไม่ต้องมายุ่ง ครูฝึกก็มีอยู่แล้ว ไม่ต้องการมีครูฝึกเพิ่มอีกคน เป็นอะไรนักหนาเหรอ ถึงต้องมาจ้องตำหนิกันอยู่เรื่อย

มิยาตะเป็นเด็กเล่น ที่โดนเด็กเรียนยูฮาระเขม่นเอา คนจริงจังตั้งใจย่อมทนไม่ได้เมื่อเห็นใครทำตัวไร้สาระ อารมณ์มิยาตะคงประมาณว่า ก็รู้ล่ะ นายเป็นคนเก่ง คนดี แล้วไงล่ะ ก็อยู่ส่วนของนายสิ ฉันไปทำอะไรให้ ทำไมต้องมามีปัญหากับฉันนัก วันแรกยิ้มทักก็ทำเมิน ฉันเล่นอยู่กับเพื่อนไม่ได้เล่นกับนาย พวกเราจะหัวเราะเฮฮากัน แล้วนายเดือดร้อนอะไรมิทราบ

ยูฮาระกับมิยาตะจึงเริ่มสัมพันธ์ไม้เบื่อไม้เมา
เพราะมิยาตะเป็นตัวผิดวินัยเดินได้
ส่วนยูฮาระก็วางตัวราวกับเป็นผู้คุมกฏ (ห้ามตลอด)



คนลำบากใจคือหัวหน้าชั้น ผู้มีภรรยาหนึ่งลูกสองและที่อยู่ในท้องอีกหนึ่งกำลังจะเป็นสาม เขาเคยล้มเหลวกับอะไรหลายอย่าง และงานตำรวจเป็นทางเลือกที่มั่นคงสำหรับการมีรายได้ที่แน่นอนเพื่อเลี้ยงครอบครัว เขาไม่อยากถูกไล่ออกเพราะการก่อปัญหาของใคร แต่เพราะมิยาตะไม่ใช่คนแย่นัก เขาคือคนอายุสามสิบและมีครอบครัว แต่มิยาตะเพิ่งจะอายุ 22 เขายังเด็กและคึกคะนอง มัตสึโอกะเองตอนอายุเท่านั้นก็ไม่ได้แตกต่าง เขาไม่ได้โกรธมิยาตะที่มักเป็นตัวก่อเรื่อง แต่ก็ลำบากใจในฐานะหัวหน้าชั้นที่ต้องปกป้องตัวเองและระมัดระวังไม่ให้คนอื่นๆ พลอยถูกไล่ออกตามไปด้วย



แต่บทบาทของมัตสึโอกะกับเซกิเนะก็ไม่ได้โดดเด่นอะไรนัก แทบจะถูกกลืนหายไปเหมือนนักเรียนคนอื่นๆ เกี่ยวกับคาแร็คเตอร์ของนักเรียน นับว่ามีความคล้ายคลึงกับ Rescue อยู่บ้างเหมือนกัน ใน Rescue จะมีสองนักเรียนกู้ภัยตัวเด่นที่มีทัศนคติไปคนละทางระหว่าง การกู้ภัยด้วยหัวใจ กับการกู้ภัยด้วยสมอง บทของยูฮาระจะคล้ายคลึงกับฟุโด (ยามาโมโต้ ยูสุเกะ) นักเรียนคนเก่งที่ยึดมั่นในหลักการ ข้ารู้ ข้าถูก ข้าเก่ง แต่ฟุโดเป็นคนเย็นชาไม่สนใจใคร ต่างกับยูฮาระที่จะออกแนวทนไม่ได้กับพฤติกรรมของมิยาตะและมักจะส่งสายตาตำหนิมาถึง (ส่อแววชังน้ำหน้าด้วยนิดหน่อย) ผู้เขียนเองดูแล้วยังรู้สึกไม่ชอบใจตัวละครยูฮาระคนนี้ อยากถามคำถามเดิมแทนมิยาตะ "เป็นไรมากป่ะเนี่ย" ไม่ชอบก็อยู่เฉยๆ สิ จะแคร์อะไรฉันนักหนา



เรื่องการเป็นครูฝึกของ โทโนะ ก็มีความคล้ายคลึงกับเรื่อง Rescue เช่นกัน บอกแต่ว่าอะไรมันผิด ส่วนอะไรมันถูกไม่บอก(เฟ้ย) หาคำตอบกันเอาเองสิ! แต่ใน Rescue จะไม่ได้ดูสุดโต่งอย่างเรื่องนี้ บรรดานักกู้ภัยรุ่นเก๋าผู้เป็นซีเนียร์ของเด็กๆ ฝึกหัดไม่ได้มีใครมีนิสัยน่าหมั่นไส้อย่างโทโนะเคียวคังสักคน

ไม่ชอบใจนักเรียนยูฮาระคนหนึ่งแล้ว ยังต้องมาเกลียดตาเคียวคังนี่อีกคน เขาเป็นคนใจร้าย (แม้ในเรื่องจะมีตัวละครพูดถึงว่าเขามีมุมอ่อนโยนที่ซ่อนไว้ก็เหอะ) เป็นคนประเภทที่ผู้เขียนต้องรู้สึกนึกใช้ประโยคนี้อยู่บ่อยๆ

"ลุงเป็นไรมากป่ะเนี่ยยย!!!"



ใครอย่าได้มาพูดอะไรซึ้งๆ เพราะเขาจะเบรกออกมาซะหัวทิ่ม
ใครอย่าได้มาพูดอะไรเท่ๆ เพราะเขาจะเหยียบย่ำมันไม่เหลือชิ้นดี
ไม่ให้เหลือความภูมิใจติดไว้แม้แต่ในซอกหลืบ
ไม่มีหรอก เรื่องที่จะถนอมน้ำใจ รักษาความรู้สึกของนักเรียนหน้าไหน
ดังนั้น ใครพูดมากต่อหน้าเคียวคัง เป็นได้หน้าแหกแหลกราญกันทุกคน



สาเหตุที่มิยาตะต้องร้องไห้แล้วร้องไห้อีก เพราะเขาเป็นคนที่โดนแหกหน้า อยู่บ่อยๆ น่ะซิ ถึงจะไร้สาระ แต่มิยาตะก็เป็นเด็กมีน้ำใจ คอยจะนึกถึงและใส่ใจต่อคนอื่นอยู่เสมอ เขาจึงมักเป็นทุกข์เป็นร้อนแทนคนอื่น อดรนทนไม่ได้ต้องแสดงความคิดความเห็น แล้วก็ ....พูดมาก

ก็บอกแล้วตาแก่เคียวคังไม่เคยหรอกจะไว้หน้าใคร ทั้งตอกกลับ ทั้งเยาะเย้ย ถากถาง ลุงแกเล่นงานได้ทุกทางแหละ แต่มิยาตะก็น่านับถือตรงความดื้อด้าน ทุกครั้งที่เขาคิดว่าเคียวคังทำไม่ถูกหรือทำเกินไป เขาไม่เคยย่อท้อต่อการแสดงความเห็นคัดค้านหรือถกเถียงกับโทโนะเคียวคังเลย (ไม่ว่าจะโดนตอกหน้าหงายสักกี่ครั้งก็ตาม)



มันคงเป็นความสุขเล็กๆ ในใจลึกๆ ของเคียวคัง ที่จะได้เชือดเฉือนมิยาตะต่อหน้านักเรียนทั้งชั้น ไม่ว่าจะเรียนกันเคสอะไร เป็นต้องเรียก มิยาตะ ออกมาลองวิชา ให้สอบถามผู้ต้องสงสัย ให้ลองสอบสวนคนร้าย และคู่กรณีที่ตั้งตนเป็นผู้ร้ายให้มิยาตะลองวิชาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน โทโนะเคียวคังนี่แหละที่สมมติตัวเองเป็นคนร้ายแล้วก็ยียวนกวนประสาทซะตำรวจมิยาตะไปทางไหนไม่เป็น

เพราะเคียวคังไม่เคยสอนว่าต้องทำอย่างไร ต้องคิดเองทำเอง ผลคือ ......มองในแง่ร้ายก็เหมือนเรียกมิยาตะออกมาโชว์ห่วยเป็นตัวอย่างผิดๆ ให้เพื่อนร่วมชั้นได้เรียนรู้ว่าที่ผิดพลาดมันเป็นอย่างนี้ไง (ส่วนที่ถูกคิดเอาเอง) เขาชอบเรียกมิยาตะประหนึ่งเป็นอุปกรณ์การสอนประจำชั้น ถ้ามองในแง่ดีก็เพราะเคียวคังเห็นอะไรหลายอย่างในตัวมิยาตะ คนที่เคียวคังเห็นว่ามีคุณสมบัติจะเป็นตำรวจน้อยที่สุด แต่หากได้รับการขัดเกลาที่ดีเขาจะเป็นตำรวจที่มีความสามารถในอนาคต เพราะมิยาตะเป็นเด็กช่างคิดช่างใส่ใจคนอื่น มีความกล้าที่จะโต้แย้งเคียวคังผู้ได้ชื่อว่าเป็น "จอมโหด" อย่างไม่เกรงกลัว การดึงความคิดของเขาออกมา ก็เหมือนกับตีแผ่ความคิดที่อยู่ในใจของคนอื่นๆ ที่ไม่มีใครกล้าพูด ยิ่งกระตุ้นต่อมไม่พอใจของมิยาตะมากเท่าไหร่ เขายิ่งจะพ่นความคิดความรู้สึกภายในใจออกมา ให้เคียวคังได้สับเละจนนักเรียนได้เรียนรู้เข้าใจว่าอะไรควรคิดยึดถือ และอะไรควรปรับเปลี่ยน (ก็เลยเป็นเคราะห์ของมิยาตะไปที่ดันมีนิสัยอย่างนี้)



ถ้าสิ่งที่เขาคิด ที่เขารู้สึกมันไม่ถูกไม่ควร ไม่เหมาะกับการจะทำหน้าที่เป็นตำรวจก็แค่บอกว่ามันไม่เหมาะไม่ควรอย่างไรก็แค่นั้น

"ไม่เห็นจำเป็นต้องพูดขนาดนั้นนี่!"

ใช่! อย่างที่มิยาตะว่านั่นแหละ ไม่เห็นจำเป็นต้องพูดขนาดนั้น ไม่เห็นจำเป็นต้องย่ำยีความรู้สึกกัน แต่เพราะเขาคือโทโนะเคียวคังเขาย่อมต้องพูดขนาดนั้นแหละ ดังนั้นหากมิยาตะกับยูฮาระเป็นไม้เบื่อไม้เมา มิยาตะกับเคียวคังย่อมต้องเป็น ขิงก็ราข่าก็แรง แม้เคียวคังไม่เคยจนมุมให้มิยาตะ แต่หลายสิ่งหลายอย่างที่เด็กคนนี้คิดและพูดออกมาบางครั้งก็กระแทกใจ และทำให้เคียวคังได้ย้อนมองกลับมาที่ตัวเอง แต่เรื่องอะไรจะให้เด็กมันรู้ว่าครูหวั่นไหว เดี๋ยวมันก็ได้ใจน่ะสิ




ถ้าเทียบกับ Rescue เรื่อง Rescue จะมีประเด็นนำเสนอที่ชัดเจนกว่า คำตอบของการเป็นนักกู้ภัย ชีวิตของนักกู้ภัยกับนักประสบภัย ชีวิตไหนสำคัญกว่ากัน และอะไรคือเกียรติของเครื่องแบบสีส้ม เป็นเรื่องของจรรยาบรรณในอาชีพที่ดำเนินเรื่องได้อินกินใจ แต่สำหรับเรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าซีรีส์ต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ เพราะไม่ได้เน้นถึงจรรยาบรรณตำรวจ ไม่ได้เน้นหนักที่ตัวนักเรียน แต่น้ำหนักของเรื่องไปตกอยู่ที่ตัวครูฝึก โทโนะ เคียวคัง กับปัญหาชีวิตส่วนตัว ความสัมพันธ์เราสามคน ระหว่างตำรวจโทโนะ ภรรยาของเขา และผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม

นัตสึมิภรรยาของโทโนะเคียวคังได้หนีไปและเป็นไปได้ว่าเธอหนีไปกับผู้ต้องหาคดีฆ่าตำรวจที่ทางการกำลังตามล่าตัว และครั้งหนึ่งเขาคนนั้นเคยถูกจับกุมโดยโทโนะเคียวคังเมื่อครั้งยังเป็นนายตำรวจสืบสวนในอดีต นั่นเป็นปมที่ต้องติดตามเพื่อหาคำตอบว่าพวกเขามีความสัมพันธ์เป็นมาต่อกันอย่างไร



เรื่องความรักกับซีรีส์ ก็อยากให้มีความรักอยู่ทุกเรื่องนะ เช่นเรื่องนี้อยากให้มีตำรวจหญิงร่วมชั้นเรียน เป็นเพื่อนเป็นกำลังใจ อะไรทำนองนั้นตามประสาซีรีส์ญี่ปุ่น แต่เรื่องนี้ไม่ยักมี ก็ไม่เป็นไรถ้าจะไม่มีนางเอกเป็นยาใจให้ฮารุมะสักคน

แต่ถ้าจะมีเรื่องความรัก ทำไมต้องเป็นเธอคนนี้



เธอเป็นหัวหน้าแผนกฝึกตำรวจ เธอจึงเป็นหัวหน้าของโทโนะเคียวคัง เธอเขม่นนายตำรวจคนดัง(ในวงการสืบสวน)คนนี้ตั้งแต่แรก ไม่ชอบนิสัย ไม่ชอบการพูดจา ไม่ชอบวิธีการสอนที่ออกนอกลู่นอกทางไม่เป็นไปตามแบบแผนของเธอ แต่.... เธอแอบชอบเขา

ตอนเห็นเธอฝึกสอนนักเรียนตำรวจครั้งแรก หลงคิดว่าเธอจะมาในสไตล์ครูฝึกแอร์โฮสเตสแบบ Attention Please ซะอีก เดินไปเดินมาเธอเริ่มกลายเป็นสาวแก่ที่น่ารำคาญนิดหน่อย เพราะเธอมีความรู้สึกส่วนตัวต่อโทโนะ และเธอก็เริ่มจุ้นกับเรื่องส่วนตัวของเขาจนเอามาปะปนกับงาน เป็นความสับสนของเธอเองระหว่างความเป็นตำรวจกับความเป็นผู้หญิง



คุณหมอประจำโรงเรียนตำรวจ เธอถูกเรียกว่าหมอเถื่อน เพราะเธอบำบัดทั้งบาดแผลร่างกาย และชอบจะเสนอการบำบัดจิตใจด้วย ก็ไม่รู้ว่าใบประกอบโรคศิลป์ของเธอคือวิชาแพทย์ด้านไหนกันแน่ ชอบความนุ่มเย็นแปลกๆ กับน้ำเสียงสุดแบ๊วของเธอ เป็นคนที่จับความรู้สึกคนเก่ง แต่ก็ไม่มีใครยอมรับว่าได้เผลอระบายความรู้สึกกับเธอและถูกเธอบำบัด ยูผู้รับบทนี้เธอแก่แล้วแต่เธอดูเป็นคนที่น่ารัก



ผู้อำนวยการโรงเรียนตำรวจ รับบทประจำอยู่ที่โต๊ะผอ.รอรับคำฟ้องจากหัวหน้าสาว(แก่)มิโนชิมะ เกี่ยวกับความประพฤติอันไม่เหมาะไม่ควรของโทโนะเคียวคัง แต่ว่าตัวเขาเองนั้นมักจะเชื่อมั่นและสนับสนุนในวิธีการสอนของโทโนะเสมอ ทว่าการที่เขาขอตัวกับทางการให้โทโนะมาเป็นครูฝึกที่โรงเรียนตำรวจนั้น ตัวโทโนะตั้งข้อสงสัยคาใจว่าอาจมีวัตถุประสงค์อื่นใดซ่อนเร้นอยู่




ผู้ช่วยครูฝึก ไม่ได้มีความเข้มแข็ง เข้มงวดอะไรเลย คล้อยตามง่ายไม่ว่ากับโทโนะเคียวคังหรือกับนักเรียน เขาเป็นตัวกลางระหว่างนักเรียนกับเคียวคัง มีความพยายามจะโน้มน้าวความคิดทั้งสองฝ่าย ให้เคียวคังเข้าใจนักเรียนสักหน่อย และให้นักเรียนเข้าใจเคียวคังสักนิด แต่.. ไม่เป็นผลอะไรที่พอจะเรียกได้ว่าทำสำเร็จ แล้วยังอุตส่าห์พยายามจะตีซี้กับเคียวคังอย่างที่ครูฝึกกับผู้ช่วยทั่วไปควรสนิทกัน ไม่ได้ดูตัวอย่างจากนักเรียนที่เห็นในชั้นอยู่ทุกวันเล้ย ว่าการพยายามจะเข้าใจและสนิทกับเคียวคังมันส่งผลอย่างไร



แม่หม้ายเจ้าของร้านอาหารใกล้กับโรงเรียนตำรวจ สามีของเธอเคยเป็นตำรวจและเสียชีวิตในหน้าที่ระหว่างทำการจับกุมคนร้าย โทโนะเคียวคัง หัวหน้ามิโนชิมะ คุณหมอ และท่านผอ. ชอบมานั่งเครียดหรือไม่ก็นั่งหย่อนใจที่ร้านของเธอ

เนื้อเรื่องจะเหมือนแยกเป็นสองทาง ทางแรกคือเรื่องระหว่างโทโนะ กับภรรยา ผู้ต้องหาอันไซ และเพื่อนตำรวจของโทโนะผู้เป็นหัวหน้าแผนกสืบสวนที่หนึ่ง ในฐานะเพื่อนเขาคอยมาบอกข่าวความคืบหน้าของคดีเพราะมีนัตสึมิเข้าไปข้องเกี่ยว ในฐานะตำรวจเขาต้องติดตามความเคลื่อนไหวของโทโนะที่อาจจะมีการติดต่อกับภรรยา

ส่วนอีกทางคือ โทโนะกับการเป็นครูฝึกนักเรียนตำรวจ เป็นเรื่องสองทางที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกัน ดูๆ ไปก็เดาเอาว่า คงเป็นปมผิดพลาดอะไรสักอย่างที่จะชี้ให้เห็นระหว่าง ความเป็นตำรวจ กับความเป็นคนที่สะท้อนมาจากความล้มเหลวในชีวิตส่วนตัวเพราะมัวหมกมุ่นอยู่กับงานตำรวจ



ซีรีส์ค่อนข้างจะย้ำ ... โทโนะสอนนักเรียนก็จริง แต่จริงๆ แล้วคนที่ได้เรียนรู้มากกว่าใคร คือตัวโทโนะเอง สิ่งที่เขาสอนออกไป และผลที่สะท้อนกลับมาจากจากความคิดความรู้สึกของนักเรียน การยืนอยู่หลังโพเดียมหน้ากระดานดำหันหน้าเข้าหานักเรียนในชั้น เป็นเหมือนการส่องกระจกที่สะท้อนตัวเองให้เห็นความจริงบางอย่างที่เขาเพิ่งรู้ตัวว่าในชีวิตการเป็นตำรวจผ่านมาเขาได้ทำอะไรผิดพลาดไป โทโนะที่ค่อยๆ เรียนรู้จากนักเรียน แต่ขอยอมรับว่าผู้เขียนไม่ได้เรียนรู้ตาม (ก็ไม่ค่อยเก็ทอ่ะค่ะ)

จึงแอบเบื่อเป็นระยะในครึ่งเรื่องแรก และเริ่มดีขึ้นเมื่อเริ่มช่วงหลัง แล้วอยู่ๆ ก็สนุกชวนติดตามขึ้นมาในช่วง ep. 7 8 9 เพราะเรื่องสองทางที่ว่าได้มาบรรจบกันและข้องเกี่ยว



เหตุผลที่เขาถูกดึงตัวมาเป็นครูฝึก ปมคาใจในความสัมพันธ์ของเราสาม -

ตำรวจ
ฆาตกร
ภรรยาตำรวจ
และผู้หญิงของฆาตกรที่เป็นหญิงเดียวกัน

แต่ละคนล้วนน่าเห็นใจในความน่าสงสาร

"ถึงผมจะตาย ผมก็ไม่ไว้ตำรวจ"

"ท้ายที่สุดพวกแก ก็เป็นได้แค่แมลงสาบที่กินเงินหลวง และรังแกคนอ่อนแอ"


ค่อนข้างสับสนอยู่เหมือนกันว่าเรื่องนี้จะเอาไงแน่ ดราม่าชีวิตตำรวจ จรรยาบรรณอาชีพของผู้พิทักษ์ประชาชนที่ต้องมีความจริงใจ ไหวพริบปฏิภาณ และความกล้าหาญ หรือ เป็นเรื่องของตำรวจกับความเป็นคน การปฏิบัติหน้าที่กับการมีหัวใจและความรู้สึก เพื่อจะทำหน้าที่ต้องสละความรู้สึกส่วนตน อะไรทำน้องนั้น ? หรืออีกที คือนำเสนอทุกอย่างที่ว่า ก็เลยไม่แจ่มแจ้งสักอย่างตามที่เห็น



ดูจบแล้วถึงเพิ่งรู้ ซีรีส์เรื่องนี้เป็นภาคต่อจากซีรีส์เรื่อง Saigo no Bansan
ถึงมี นาริมิยะ ฮิโรกิ เป็นนักแสดงรับเชิญใน ep.แรก และ ep.สุดท้าย เพราะสงสัยอยู่เหมือนกันที่อันเชิญฮิโรกิมาเป็นนักโทษให้โทโนะมานั่งเยี่ยมด้วยบทสนทนาที่ไม่ช่วยให้เข้าใจอะไรดีนัก เพื่ออะไร

แต่ก็รู้สึกเป็นภาระให้อยากหามาดูเพราะชอบนาริมิยะ ฮิโรกิ ที่ดูจะเหมาะกับบทบาทของคนร้ายรอยยิ้มละไมซะจริงๆ (ติดภาพมาจากบทบาทของ J ใน Bloody Monday)

เรื่องนี้เป็นผลงานการเขียนบทของ Inoue Yumiko ค่อนข้างจะรู้สึกคุ้นชื่อจนต้องลองสอบถาม DramaWiki เห็นรายชื่อผลงานกว่า 24 เรื่อง ที่เคยดูก็มี Samurai High School , 14 Sai no haha , Engine , Good luck ทั้งหมดเป็นซีรีส์ที่ชอบในแง่ของเนื้อหามีข้อคิดจรรโลงใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็มีคมถ้อยคำให้ชวนจดจำอยู่บ้างเหมือนกัน

"ยิ่งวิ่งหนี ทางออกจะยิ่งมีน้อยลง"

"เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ บางครั้งเราจำเป็นต้องมองข้ามความจริงไปบ้าง" (จริงที่สุด)

"อย่าพูดจาใหญ่โต ถ้าเธอทำอะไรไม่ได้สักอย่าง"






เรื่องนี้ฮารุมะเป็นนักเรียนตำรวจที่โดดเด่นก็จริง แต่ต้องยอมรับว่าคนที่แย่งซีนฮารุมะไปเกินครึ่ง คือโทโนะเคียวคัง เพราะเขาเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่องทั้งสองทางเกี่ยวกับคดีอันไซ และการเป็นครูฝึกนักเรียนตำรวจ เคียวคังคนใหม่ผู้เข้ามาวันแรกก็บอกกับนักเรียน

"คืนเครื่องแบบทั้งหมดมา พวกเธอทุกคนถูกไล่ออก" (แรง!)

แล้ววันต่อมา ก็บอกกับนักเรียน

"ถ้าพวกเธอกลายมาเป็นตำรวจ ญี่ปุ่นคงหมดอนาคต" (แร้งงงได้อีก)

สมแล้วที่เขาจะถูกรุมขนานนาม

"เคียวคังที่ใจจืด! ใจดำ! เผด็จการ!"

"สิ่งที่เขาทำ สิ่งที่เขาต้องการ มันคือใช่ มันคือถูกต้อง" (พวกเราผิดตลอด)

"นี่มันเป็นการอำลากันแบบโหด ใจจืดใจดำ เคี่ยวคังจอมโหด"




บทสรุปของซีรีส์ทั้งในเรื่องของการเป็นตำรวจและการหาคำตอบของตัวตน ก็เน้นไปที่เคียวคังมากกว่าจะเป็นนักเรียนมิยาตะที่เข้ามาโดยไม่มีเป้าหมายอะไร ต่อมาถึงรู้ตัวว่าเขาเริ่มอยากจะเป็นตำรวจจริงๆ และท้ายที่สุดก็ได้คำตอบทำไมเขาถึงอยากเป็นตำรวจ ทางด้านเคียวคัง เด็กนักเรียนพวกนั้นทำให้เขาได้เรียนรู้ถึง ความอบอุ่นของผู้คน ความงดงามของน้ำตา และสีครามของท้องฟ้า (เป็นคำพูดของเคียวคังในเรื่องนะคะ) ที่สุดแล้วเขาก็เลิกเป็นตำรวจอย่างที่คิดจะเลิกไม่ได้ เพราะเขารู้แล้ว ทำไมเขายังต้องการเป็นตำรวจต่อไป



บทสรุปนี้ได้มาจากบทพูดและบทคิดของตัวละครผู้ส่งสาร ส่วนเนื้อเรื่องนั้นผู้เขียนไม่รู้สึกอินไปด้วยในทางนี้มากนัก (โทโนะไปรู้สึกถึงความอบอุ่นของผู้คนตอนไหนกัน ก็เห็นมีแต่ปากร้าย ชาดำเย็น และด่าด่าด่า) เปรียบกับ Rescue เรื่องนั้นเหนือกว่าตรงจังหวะการบรรยายความคิดความรู้สึกผ่านถ้อยคำอันคมคาย แล้วเน้นย้ำกันด้วยเนื้อเรื่องความเป็นไปของตัวละครที่สอดคล้องกันทำให้อินตามได้มากกว่า

ซาโต้ โคอิจิ เป็นนักแสดงที่ชวนให้คิดถึง นิรุตติ์ ศิริจรรยา นักแสดงอาวุโสบ้านเรานะคะ คือแม้จะแก่แล้วและไม่ใช่พระเอกก็ยังดูเป็นพระเอกตลอดเวลา อย่างนิรุตติ์เวลาแสดงเป็นคุณลุงก็ยังดูแปลกๆ เพราะมาดเป็นพระเอกเหลือเกิน นักแสดงคนนี้ก็เหมือนกันแม้จะแก่แล้วและไม่ได้หล่อ แต่ก็ดูเป็นพระเอกจังเลย ความจริงเรื่องนี้ก็ต้องเรียกว่าเป็นพระเอกนั่นแหละ เพราะเขาเด่นกว่าฮารุมะอีก ส่วนนางเอกคือเจ๊มากิ ที่แม้จะสูงวัยแต่ยังไงก็สวย



ถ้าถามว่าความสนุกของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน

ไม้เบื่อไม้เมา มิยาตะ -ยูฮาระ
ขิงก็ราข่าก็แรง มิยาตะ-โทโนะเคียวคัง

สองอย่างนี้ให้ความรู้สึกทั้งชอบทั้งชัง ดูแล้วมีอารมณ์หมั่นไส้คนนั้นที คนนี้ที ความจริงแล้วคนที่มักทำผิดคือมิยาตะ แต่ไม่รู้เป็นไร เจอยูฮาระจอมจริงจัง กับโทโนะเคียวคังตาแก่เขี้ยวลากดินเข้าไป มิยาตะกลายเป็นคนน่าสงสารไปเลย ทำอะไรก็โดนว่า โดนตำหนิ โดนหักหน้า เคียวคังพูดอะไรแต่ละอย่าง เจ็บๆ ทั้งน้านนน เขียนถึงยูฮาระอย่างนี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเขาเป็นคนน่าชัง เพราะความจริงเขาเป็นคนดีนะ เพียงแต่เขาเกินไปหน่อย แต่เขาก็ได้เรียนรู้จากสิ่งที่เขามองว่าเป็นความบกพร่องของมิยาตะนี่แหละ ที่ช่วยลดๆ ความเกินของเขาลงมาให้พอดีๆ ส่วนมิยาตะที่ขาดๆ ก็ได้ที่เกินๆ จากยูฮาระนั่นไงมาต่อเติม แล้วคนขาดๆ เกินๆ ก็เริ่มจะญาติดี มีความเป็นเพื่อนให้กัน(บ้าง) ดังนั้น ฉากที่ผู้เขียนชอบก็เกี่ยวกับสองคนนี่แหละ

ฉากที่ยูฮาระต่อยมิยาตะ

แม้ว่าจะมีเรื่องขัดแย้งกัน แต่มิยาตะที่โดนต่อยคว่ำ
พอเงยหน้าขึ้นมา สีหน้าอึ้งรับประทานของเขาอ่านได้ว่า

'นี่นายต่อยฉันจริงเหรอ? นายเอาจริงหรือวะเนี่ย!!!'

หน้าตาบอกภาษาประมาณนั้นเลย พอตระหนักได้นี่มันต่อยจริง เจ็บจริงนี่หว่า
มิยาตะเลยกระโจนเข้าใส่ยูฮาระบ้าง ( เจ็บอย่างนี้มันต้องเอาคืน )
เห็นแล้วไม่รู้จะสงสารหรือจะหัวเราะดี



อีกฉากคงเป็นช่วงไคลแมกซ์ของเรื่อง คิดว่านั่นเป็นไคลแมกซ์นะ เพราะเป็นช่วงสนุกสุดแล้วล่ะ

การเผชิญหน้ากับคนร้าย ที่สองหนุ่มพยายามจะสื่อสารกันด้วยสายตา
เพราะไม่ค่อยจะถูกกันมาก่อน พอมองตากันก็เลยเหมือนไม่แน่ใจ
ว่าเราเข้าใจสถานการณ์ตรงหน้าและสิ่งที่เรากำลังคิดจะทำ..ได้ตรงกันรึเปล่า

แต่ถึงจะไม่ถูกกัน พวกเขาก็มีช่วงเวลาดีๆ ต่อกันอยู่เรื่อยๆ นะ ทั้งตอนที่มิยาตะฝ่าฝืนทัณฑ์บนรอไล่ออกถ้าทำผิดอีกครั้ง แต่ก็ยังฝืนทำเพราะความจำเป็น หรือตอนที่ตกเป็นแพะรับบาปจนเกือบถูกไล่ออกอีกหน ก็บอกแล้วว่ายูฮาระเขาเป็นคนดี เพียงแต่เขาเป็นคนดีที่น่าหมั่นไส้



ชอบตอนจบของเรื่องช่วงพิธีแสดงความยินดีระหว่างนายตำรวจกับครูฝึก กับคำพูดสั้นๆ ที่เป็นเครื่องบอกความในใจ มันน่าขำ แม้ว่าเคียวคังจะเก๊กหน้าบึ้งตึงไม่ยอมแง้มรอยยิ้มสักนิดก็ตาม (ยังคงเป็นตาแก่ที่บึ้งตึงแต่ต้นจนจบ)

"เคียวคัง ... พาผมไปกินเหล้าบ้างนะ"

นี่คงอยากสนิทกับเคียวคังมากกว่านี้ล่ะสิ เพราะครั้งหนึ่งที่พวกเราเคยรู้สึกดีว่าเราได้ใกล้ชิดเคียวคังขึ้นมาอีกนิด เขาก็เบรกหัวทิ่มเอา มันช่วยไม่ได้นะ ถ้าการที่ฉันเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของฉันนิดหน่อย จะทำให้พวกเธอจะเข้าใจผิดกันไปไกลว่าเราสนิทกัน ขอบอกว่าฉันไม่ได้รู้สึกสนิทกับพวกเธอ พวกเธอไม่ได้รู้จักฉัน และฉัน ก็ไม่ได้เป็นเพื่อนกับพวกเธอด้วย ( ฮ่าฮ่า พูดประมาณนี้แหละ ลูกศิษย์กำลังจะซึ้ง แต่คำพูดของเขาสามารถเปลี่ยนบรรยากาศฟ้าใสให้เป็นฟ้าหม่นได้ฉับพลัน เขานี่แหละ โทโนะเคียวคัง นักฆ่าบรรยากาศ )

"เคียวคัง ...ผมจะเขียนจดหมายถึงเคียวคังบ้างได้ไหม"

นี่ก็คงจะอัดอั้นตันใจที่เคียวคังคอยวางตัวเหินห่างตลอดมา เคียวคังเหมือนบุคคลที่ยิ่งพยายามเข้าใกล้เท่าไหร่ ยิ่งห่างไกลออกไป แถมยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ (เจ็บใจเพราะโดนด่า)



"ผมจะเข้มแข็ง"

ด้วยความเคารพ ผมรักเคียวคัง นั่นคงเป็นความในใจของยูฮาระ เพราะเขาเป็นคนที่เพ่งมองและดูจะเข้าถึงตัวตนของเคียวคังได้มากกว่าใคร แต่ก็ได้แค่เก็บไว้ในใจ เพราะใครจะกล้าพูดออกไปให้โดนตอกหน้า คนที่มักจะทำอย่างนั้นโดยไม่รู้จักเข็ดหลาบ มีอยู่คนเดียวแหละ - มิยาตะ เอย์จิ

"เคียวคัง ....โปรดด่าผมอีกครั้ง"

ก็นี่ไงล่ะ คำเรียกร้องของมิยาตะ คู่วิวาทะของโทโนะเคียวคัง เพราะสำหรับมิยาตะแล้ว คำด่าของเคียวคัง คงเป็นคำอวยพรที่ดีที่สุด



แล้วชื่อบล็อก การเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ ......พระอาทิตย์ มันเกี่ยวอะไรกับใครตรงไหน

ขอแถลงแจ้งที่มา เพราะไม่รู้จะตั้งชื่อบล็อกว่าอะไรดี คิดไม่ออก

แล้วสุนทรพจน์อันสั้นกุดในวันปฐมนิเทศและพิธีจบการศึกษาเมื่อได้ผ่านหลักสูตรกลายเป็นตำรวจเต็มตัวก็ปิ๊งขึ้นมา ถ้าจะมองหาคำพูดเท่ๆ นี่แหละเท่ที่สุดแล้ว

"การเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ...
เข้มแข็งเหมือนพระอาทิตย์
ที่เอาชนะความมืดมิดทั้งปวงและไม่เคยหยุดขึ้น"


นั่นจึงเป็นที่มาของ "ตำรวจ" กับ "พระอาทิตย์" ไง!



Create Date :22 เมษายน 2555 Last Update :27 เมษายน 2555 20:23:37 น. Counter : Pageviews. Comments :5