bloggang.com mainmenu search

ลองนึกสภาพบ่อโคลนขนาด 2 ไร่กว่าที่เต็มไปด้วยอึและฉี่ ล้อมรอบด้วยอาคาร 2 ชั้น อากาศร้อนอบอ้าวที่อบอวลไปด้วยกลิ่นของสุนัขกว่า 1,000 ตัว แมวอีก 300 ตัว ยังไม่นับกระต่ายและหมูอีกจำนวนหนึ่ง และลองนึกต่อไปอีกว่าหากต้องอาศัยอยู่ที่นี่ แต่ละวันต้องเนื้อตัวเปรอะเปื้อนอุจจาระ ต้องคอยปัดกวาดมูลสัตว์ นำซากสัตว์ที่ตายแล้วไปทิ้ง คอยห้ามไม่ให้สุนัขตีกัน ทุกสัปดาห์ยังต้องคอยรับสมาชิกสุนัขตัวใหม่ที่ถูกคนแอบนำมาวางไว้หน้าประตูบ้านอีก

คอนโดฯ สุนัข

ภาพฝันร้ายเหล่านี้เป็นเรื่องจริงของผู้หญิงวัยกลางคน 2 คนอย่างป้าเล็ก สุนีย์ สุขขาว และป้าแต๋ว วานิช สุขโต ทั้งคู่ทำงานที่คอนโดฯ สุนัขแห่งนี้มาหลายปีแล้วด้วยค่าแรงที่น้อยกว่า 200 บาทต่อวัน

สถานการณ์ที่คอนโดฯ สุนัขเลวร้ายลงอย่างมากช่วงวิกฤตน้ำท่วมปี 2554 สัตว์ทั้งหลายต้องพากันว่ายน้ำเกาะเศษไม้เศษกระป๋อง ไม่ก็กระโจนขึ้นไปที่สูงเพื่อรักษาชีวิตตัวเองไว้ให้ดีที่สุด ช่วงนั้นเองที่นักรณรงค์เรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์เริ่มเห็นความรุนแรงของปัญหาในสถานที่แห่งนี้

คอนโดฯ สุนัข มูลนิธิวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี 2546ให้เป็นแหล่งรองรับสุนัขจรจัดจากกรุงเทพมหานครสมัยการประชุมเอเปคปี 2550 เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศให้ดูดีในระดับสากล

ตัวคอนโดเป็นอาคาร 2 ชั้นรูปตัวแอลตั้งอยู่ชายขอบวัด มีกำแพงอิฐบล็อคช่วยกั้นอาคารออกจากศาลาวัด และเป็นร่มกำบังให้บรรดาสัตว์สี่ขา ตามทางเดินตรงกลางเต็มไปด้วยกรงสัตว์ที่บรรจุตั้งแต่สัตว์ตัวเดียวไปจนถึง 10 ตัว ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่เปิดโล่งไม่มีกำแพง สัตว์ที่อยู่ในกรงเหล่านี้คงรู้ดีว่าหากกรงตกลงไปพวกมันจะต้องเจ็บตัวขนาดไหน ถือเป็นสภาพความเป็นอยู่ที่น่าวิตกและเครียดไม่น้อย

สำหรับผู้เยี่ยมชมก็ไม่ต้องหวังว่าจะมีป้ายเตือนให้ระวังมูลสัตว์ร่วงลงมา เพราะบางครั้งพวกมันยังคุ้ยกินอุจจาระของกันและกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ป้าแต๋วป้าเล็กต้องเตือนคือเรื่องการสบตาสัตว์ เพราะอาจกระตุ้นให้สุนัขตีกันได้

เมื่อขึ้นมาชั้นสองจะได้เห็นฝูงสุนัขจำนวนมหึมาพากันส่งเสียงระงม กลิ่นตัวและอุจจาระฟุ้งไปทั่วบริเวณ เทอร์รี่ คริสพ์ ผู้จัดการโครงการของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์สากล (SPCAI) ค่อยๆ ย่ำรองเท้าบูทยางของเธอแหวกฝูงสุนัขเข้าไปข้างใน

“ฉันทำงานเรื่องสัตว์มากว่า 30 ปีแล้ว เคยใช้ประสานงานส่งมอบความช่วยเหลือให้สัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทั่วโลก เคยผ่านภัยพิบัติใหญ่ๆ กว่า 71 ครั้ง และเห็นสภาพความเป็นอยู่เลวร้ายของสัตว์มานับครั้งไม่ถ้วน บอกได้เลยว่าคอนโดฯ สุนัขเป็นหนึ่งในที่ที่เลวร้ายที่สุด” คริสพ์กล่าว

สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์สากลเริ่มมีบทบาทในประเทศไทยในช่วงน้ำท่วมหลังจากที่เคยช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอยจังหวัดภูเก็ต มูลนิธินี้ช่วยเหลืออาสาสมัครที่กรุงเทพฯ ในกิจกรรมทำความสะอาดต่างๆ และเป็นผู้แจ้งเรื่องคอนโดฯ สุนัขให้กับสมาคม

คอนโดฯ สุนัข

คริสพ์มาเยี่ยมคอนโดฯ สุนัขครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2554 และทางสมาคมตัดสินใจส่งทีมเข้ามาทำความสะอาดสถานที่แห่งนี้ “สภาพความเป็นอยู่ของสัตว์ที่นี่แย่จนน่่าตกใจ” คริสพ์เสริม

สมาคมกลับเข้ามาอีกครั้งเดือนมิถุนายนปีเดียวกันเพื่อฟื้นฟูคอนโดฯ สุนัขหลังถูกน้ำท่วมและหลังจากถูกปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รับความช่วยเหลือมานาน ส่วนคริสพ์และทีมอาสาสมัครกับเจ้าหน้าที่อีก 8 คนที่บินมาจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเข้ามาเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีมาช่วยเสริมทัพอีกแรง

“ก่อนหน้านี้พวกเขาต้องทำความสะอาดด้วยสายยางกับไม้กวาด เราจึงซื้อเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงกับสเปรย์ฉีดสารฆ่าเชื้อให้” คริสพ์อธิบาย อุปกรณ์ใหม่นี้ถือว่าช่วยป้าเล็ก ป้าแต๋ว และพี่ดอน ประดิษฐ์ นันฟั้น ผู้ดูแลคอนโดฯ สุนัขผ่อนแรงไปได้ค่อนข้างมาก

ปกติแล้วป้าเล็กจะได้เงินกะละ 160 บาท แต่เธอมักจะทุ่มเทเกินเวลาจนบางครั้งทำงานนานถึง 13 ชั่วโมงโดยไม่ต้องพูดถึงวันหยุด ส่วนป้าแต๋วได้เงินวันละ 190 บาท โดยเธอจะกินนอนอย่างอัตคัดอยู่ที่คอนโดฯ สุนัขตลอดวัน

ป้าแต๋วนอนอยู่ข้างตู้เย็นที่นี่มากว่า 6 ปีแล้ว ส่วนป้าเล็กเพิ่งมาเมื่อ 5 ปีก่อนหลังจากที่วัดอนุญาตให้เธอนำสุนัขจรจัดกว่า 300 ตัวมาด้วย ชีวิตของทั้งคู่วันๆ หมดไปกับการดูแลสัตว์ทั้งให้อาหาร ทำความสะอาด โดยไม่มีเครื่องมือที่ถูกสุขลักษณะ เป็นงานที่นับวันจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ

คอนโดฯสุนัข

บางคนหาว่าทั้งคู่เป็นบ้า เพ้อ หรือไม่ก็ส่งเสริมให้จำนวนสุนัขเพิ่มมากขึ้นที่จับพวกมันมารวมกัน แต่หากมองลึกลงไปแล้วจะเห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ของทั้งเธอและสัตว์ไม่ใช่เรื่องง่าย สุนัขบางตัวอยู่ในสภาพผิวหนังติดเชื้อ บางตัวตาบอด บางตัวมีกระดูกแทงทะลุออกมาจากเนื้อ ส่วนบางตัวก็กำลังจะตาย แม้แต่อาสาสมัครเองก็ยากที่จะเข้าใจโดยเฉพาะเมื่อพวกเขาต้องโดนเศษอุจจาระกระเด็นใส่ตลอดเวลา

“มีคนบอกฉันตอนเริ่มมาที่นี่ว่าองค์กรหรือบุคคลอื่นที่เคยเข้ามาช่วยมักไปได้ไม่ค่อยไกล เพราะป้าเล็กกับป้าแต๋วไม่ยอมให้ความร่วมมือ บางคร้งจึงยากที่จะทำให้บางอย่างลุล่วงไปได้” คริสพ์กล่าว

เธออธิบายว่าในช่วงแรกนั้นเธอพยายามสนใจป้าทั้ง 2 คนให้น้อยที่สุด และพุ่งความสนใจไปที่งานอย่างเดียว เวลาสบตากันก็เพียงแต่ยิ้มให้แล้วหันทำงานต่อ อุปสรรคด้านภาษาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การสื่อสารติดขัด แต่หลังจากที่สมาคมได้คุยกับพระพยอม กัลยาโณ รวมถึงพี่ดอน ความสัมพันธ์ของสมาคมกับป้าเล็ก ป้าแต๋วก็ค่อยๆ ดีขึ้น

“ก่อนหน้านี้ ฉันรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้ถามเลยเวลาที่พวกเขาจะทำอะไรก็ตาม นึกจะทำอะไรก็ทำ ซึ่งบางครั้งพวกเขาไม่เข้าใจว่ากำลังรื้อนู่นรื้อนี่อยู่ เพราะถ้าจะเอาสุนัขออกไปหมด ก็ไม่รู้จะเอาพวกมันไปวางที่ไหน แต่ครั้งนี้พวกเขาถามว่าจะทำนี่ได้ไหม ทำนั่นได้ไหน ฉันก็ตอบว่าได้ ทุกอย่างก็ดีขึ้น” ป้าเล็กอธิบายในช่วงพักเบรก

“เธอร้องไห้ด้วย” พี่ดอนเสริม

“รู้ไหมสุนัขบางตัว เวลามันจะกินมันมักจะแอบกิน แล้วเวลาไปเอานู่นนี่ออกหมด มันก็ไม่มีที่กิน ฉันก็เครียดมาก แต่ครั้งที่สองนี้เราสื่อสารกันได้ดีขึ้น” ป้าเล็กให้เหตุผล

ป้าเล็กยังช่วยไขข้อสงสัยด้วยว่าปัญหาในคอนโดฯ สุนัขจริงๆ แล้วเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

“สุนัขส่วนใหญ่ถูกทิ้งที่วัด พวกเขาเอามาทิ้งในลานจอดรถแล้วก็ไป ฉันเจอบางตัวอยู่นอกวัด บางครั้งเวลาเจอสุนัขในซอยออกลูก ฉันก็จะช่วยนำมาไว้ที่นี่ พวกเขาไร้ความรับผิดชอบมาก เวลาสุนัขเหล่านี้ยังเด็กยังน่ารัก พวกเขาก็เลี้ยงดูอย่างดี แต่เวลามันป่วยหรือแก่ ก็กลับทิ้งกัน บางคนยังขับรถเบนซ์ได้แต่ไม่สามารถดูแลสุนัขป่วยตัวเดียวได้ พวกเขาคิดว่าสุนัขเป็นแค่ของเล่น เป็นสิ่งของ ที่เวลาเก่าหรือหักก็แค่จับโยนทิ้ง” ป้าเล็กระบาย

เธอเล่าต่อว่าบางคนมาเพื่อนำลูกหมาไปเลี้ยง แต่ไม่กี่เดือนต่อมาก็เอามาคืนโดยบอกว่าพวกมันไม่น่ารักแล้วและไม่สามารถทนเลี้ยงต่อได้

อย่างที่ทราบกันว่าปัญหาสุนัขถูกทิ้งเกิดขึ้นทั่วไป และมีไม่กี่องค์การที่เข้ามาช่วยเหลือจริงจัง ตัวเลขจำนวนสุนัขจรจัดในกรุงเทพฯ ก็ยังไม่แน่ชัดนัก ดร.เบญจวรรณ ติชนาศัย แห่งสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข กทม. บอกว่าตัวเลขจากการสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2553 อยู่ที่ 102,490 ตัว ขณะที่จอห์น ดัลเลย์แห่งมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย อ้างว่าตัวเลขจริงๆ น่าจะอยู่ที่มากกว่า 300,000 ตัว หรือกว่าสองเท่าของประชากรในจังหวัดขอนแก่น

ปัญหาการแพร่พันธุ์ของสุนัขอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนการทำหมันที่พอเพียงของรัฐบาล ทำให้สุนัขเหล่านี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้องค์กรอย่างมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย สมาคมสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง (PAWS) และสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์สากลได้เข้าช่วยเหลือทำหมันให้สัตว์แล้ว แต่ก็ยังทำได้ไม่ทั่วถึงอีกมาก สถานที่อย่างคอนโดฯ สุนัขจึงต้องรับชะตากรรมนี้ต่อไป

“ฉันก็เหนื่อย แต่มันเป็นหน้าที่ จะทิ้งไปก็ไม่ได้ พวกมันก็มีชีวิตเหมือนกัน บางครั้งเหมือนเป็นงานที่ไม่รูัจักจบสิ้นเพราะหมาพวกนี้ออกลูกตลอด” ป้าเล็กเล่าให้ฟัง เธอเสริมว่าด้วยจำนวนสุนัขที่มากทำให้ยากจะทำหมันให้ครบ โดยเฉพาะบางครั้งก็ไม่รู้ว่าตัวไหนทำหมันแล้วตัวไหนยังไม่ทำ

คอนโดฯ สุนัข

เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์สากลและสมาคมสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงได้เข้ามาช่วยทำหมันสุนัขถึงที่ ช่วยติดตั้งระบบระบายน้ำ สร้างร่มกำบังให้สุนัขหลบแดด และจัดเก็บสายไฟที่พันกันยุ่งเหยิงให้เรียบร้อย ที่ผ่านมาสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์สากลได้ลงทุนไปกว่า 1.5 ล้านบาท ทำงานร่วม 12,000 ชั่วโมงเพื่อปรับปรุงคุณภาพคอนโดฯ สุนัข

ผลที่เห็นเป็นรูปธรรมเหล่านี้ถือว่าน่าพอใจในสายตาป้าเล็ก เธอบอกว่าในอดีตไม่เคยมีใครทำได้ขนาดนี้มาก่อน อย่างสัญญาเรื่องการก่อสร้างก็ไม่เคยเสร็จ สัตวแพทย์ก็ไม่มีความสามารถ และบางครั้งยังใช้คอนโดฯ สุนัขไปอ้างเพื่อหลอกเงินคนอีกด้วย

“เคยมีหมอคนหนึ่งที่ไปรับบริจาคจากนางแบบชื่อดัง บอกจะมาสร้างตึกใหม่ แต่อย่างที่เห็นว่าตอนนี้ยังมีแต่เสา และเคยมีครูคนหนึ่งที่อ้างผู้ปกครองเด็กนักเรียนว่าเธอเป็นเจ้าของคอนโดฯ สุนัข และให้พวกเขานำสุนัขมาฝากได้โดยคิดค่าฝากเดือนละ 10,000 บาท สุดท้ายดอนมาจับได้ เมื่อนักเรียนพากันร้องไห้เวลามาเจอสุนัขของพวกเขาในสภาพแบบนี้” ป้าเล็กเล่าให้ฟังอย่างฉุนเฉียว

แต่แม้ปัญหาการหลอกลวงจะถูกกำจัดไป งานที่กองอยู่ตรงหน้าก็ยังถือว่าหิน เพราะนอกจากจะทำความสะอาด ทำหมัน จัดระบบแล้ว สุดท้ายยังต้องทำโครงการให้คนมารับสุนัขไปเลี้ยงด้วย

เอมี บารอน ผู้อำนวการของสมาคมสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในช่วงน้ำท่วมใหญ่เช่นเดียวกัน และได้ช่วยเหลือมาตลอดถึงปัจจุบัน เธอได้ช่วยประสานงานกับชาวต่างชาติให้เรื่องการรับเลี้ยงสุนัข

“สิ่งแรกที่ฉันรู้สึกคือความเศร้าใจ เศร้าใจในแบบที่อธิบายออกมาไม่ได้ด้วยซ้ำ มันเหมือนความรู้สึกตกใจแต่ก็ไม่เชิง สภาพที่นี่เลวร้ายมาก มากถึงขั้นมากที่สุด” เอมีพูดถึงครั้งแรกที่เธอมาเยี่ยมคอนโดฯ สุนัข

ป้าเล็กเองก็เห็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากเช่นกัน เธอย้ำว่าถ้าใครอยากจะรับเลี้ยงสุนัขเหล่านี้ก็ให้ตั้งใจดูแลมันให้ดี แต่เธอมักพูดเสมอว่าถ้าวันใดที่ไม่ต้องการพวกมันแล้วก็ให้นำกลับมา อย่าไปปล่อยไว้เรี่ยราด อีกสิ่งหนึ่งที่ป้าเล็กต้องการคือห้องน้ำ เพราะทุกครั้งที่เธอต้องทำธุระ เธอต้องนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปเสมอ

ถึงแม้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของที่นี่จะพัฒนาขึ้น แต่หลายอย่างก็ยังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเช่นกัน

สำหรับผู้สนใจช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่ //www.facebook.com/pawsbangkok และ //spcai.org


MThai News

Create Date :19 มีนาคม 2556 Last Update :19 มีนาคม 2556 22:45:43 น. Counter : 1818 Pageviews. Comments :0