bloggang.com mainmenu search



























นั ก เ ขี ย น ตา ย แ ล้ ว นี่คือคำขวัญของสำนักโครงสร้างนิยมฝรั่งเศสที่บอกว่า บทวรรณกรรมสามารถอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวนักเขียน ความตั้งใจของนักเขียนในการเขียนงานชิ้นหนึ่งนั้นหาได้มีบทบาทที่แท้จริงไม่ นักเขียนไม่ได้เข้าใจสิ่งใดเกี่ยวกับวรรณกรรมทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ในงานของตนเอง...

ปัจจุบันในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ นั ก เ ขี ย น ไ ม่ ต า ย แ ล้ ว เขาเพลิดเพลินกับสถานะและชีวิตตนเองมากที่สุด เขาไม่ได้เป็นสิ่งจำทนในบทของตนอีกต่อไป

สถานการณ์เกือบกลับกันเลยทีเดียว ดังบทวรรณกรรมกลับเป็นเพียงภาพสะท้อนของตัวนักเขียนที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำนิยมหรือภาพ

ตัวอย่างเช่น การแสดงภาพความเยาว์บริสุทธิ์ที่สุดและความงามเกินบรรยายที่ปรากฏบนแผ่นพับนับไม่ถ้วนของสำนักพิมพ์ที่ว่านักเขียนหญิงหรือชายของหนังสือเล่มนี้มีตัวตนน่าประทับใจ ก่อนที่พวกเขาจะเขียนหรือก่อนที่เราจะได้อ่านงานของเขาหรือเธอสักสองสามบรรทัดเสียอีก เป็นการยกย่องความขัดแย้งในตัวเองอันชวนหลงใหล

นั่นคือ นักเขียนไม่ชายหรือหญิง ทั้งอายุน้อยทั้งมีเสน่ห์ มีเสน่ห์อย่างคาดไม่ถึงจนไม่อยากเชื่อ ราวกับเรากำลังพูดถึงความขัดแย้งในตนเองที่แสดงผลกระทบอันรุนแรงที่สุด พูดถึงความสำเร็จแบบอาว็องการ์ด หรือพวกศิลปะแนวทดลอง แม้ว่านักเขียนจะไม่ดึงดูด อย่างน้อยก็น่าสนใจ แม้ว่าไม่ใช่หน้าตาแต่อย่างน้อยประวัติของเขาก็น่าสนใจ

เช่น เกิดในอุซเบกิสถาน โตที่มอนเตเนโกร อาศัยอยู่ในอียิปต์ เป็นนักแสดงบทนโปเลียนในโทรทัศน์ที่นั่น ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสในวิหารคอพติก...นี่คือตัวอย่างอันโดดเด่นของประวัตฺย่อที่ทรงพลังซึ่งนักเขียนธรรมดาสามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่างได้ ประวัติย่อกลายเป็นนิยายขึ้นเรื่อย ๆ และตัวนักเขียนก็เป็นผลงานศิลปะเสียยเองอย่างที่ ออสการ์ ไวลด์เคยพูดไว้

พรสวรรค์ไม่ได้อยู่ที่งานศิลป์
แต่อยู่ในชีวิตต่างหาก

ความเป็นจริงจึงมีความสำคัญเป็นอันดับแรกเหนือเรื่องแต่ง ชีวประวัติย่อมสำคัญกว่าเรื่องที่คิดขึ้น ชีวิตย่อมสำคัญกว่าศิลปะ
::
(ช่วยอ่านสักนิด) นิยายวรรณกรรม
โยอาคิม เซลเทอร์ เขียน
เจนจิรา เสรีโยธิน แปล





เล่มนี้เพิ่งอ่านจบค่ะ น้องซึ่งเป็นอาจารย์สอนภาษาเยอรมันที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ฝากมาให้อ่าน เนื่องจากเพื่อนของเธอเป็นผู้แปลนวนิยายเล่มนี้จากภาษาเยอรมัน และเธอเป็นบรรณาธิการต้นฉบับ

อ่านจบก็ โอ๊ย...อะไรกันนี่ เขาพูดถึงเนื้อของภาษาและให้คุณค่ากับวรรณกรรมเยอรมันที่เกิดขึ้นในยุคนี้ หรือแอบพาดพิงถึงวรรณกรรมที่อื่น ๆ ด้วยก็ได้ที่เน้นผลทางธุรกิจมากกว่าความยืนยง มั่นคงของเนื้องานในฐานะนักเขียนที่บูชาวรรณกรรมสร้างสรรค์อย่างสูงส่ง อย่างที่คาดหวังว่าจะเป็นหนังสือดีอยู่ยงคงกระพันไปอีกหลายเจนเนอเรชั่นพันปีอย่างที่เคยมีมา ถ้าอ่านไม่ผิดก็น่าจะแนวนี้ซึ่งเขาคงรักวรรณกรรมมากจึงกล้าเขียนออกมา และก็น่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์พอควร ว่าแต่ระเบิดลูกนี้จะไปโดนใครเข้า

ใช่นะ หนังสือดีไม่มีวันตาย เขาเสียดสีแม้กระทั่งภาษาที่นักเขียนคนหนึ่งใช้ในเรื่อง มีความเป็นนักการตลาด เรียกร้องความสนใจโดยใช้ประวัติย่อที่น่าประทับใจ และยกคำพูดของออสการ์ ไวลด์มาประชดประชันได้เข้ากันพอดิบพอดี

เขากำลังพูดถึงการเป็นนักเขียนในยุคนี้ที่ต้องเกาะติดโลกโซเชี่ยล พล็อตต่าง ๆ ก็เน้นทางธุรกิจ นักเขียนต้องช่วยโปรโมตตัวเองมากขึ้นแทนที่จะเอาเวลาไปคิดงานสร้างสรรค์และทุ่มเทกับงานของตัวเองให้สุดตัว

เขาว่า ' มีนักเขียนอยู่สองประเภท
คนที่เริ่มเขียนและเมื่อประสบความสำเร็จ
ก็ยึดอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหลัก
กับคนที่ตัดสินใจจะเป็นนักเขียนก่อนและเริ่มเขียน...'


เขาคงส่งสารถึงนักเขียนและนักอยากเขียน...

แล้วงานแบบไหนล่ะ ที่จะมีคุณค่าคู่ควรกับการถูกเรียกว่าเป็นวรรณกรรม ความหมายที่แท้จริงของวรรณกรรมคืออะไร งานเขียนมีแตกต่างกันไป ไม่มีใครเขียนหนังสือแทนกันได้ นอกจากนี้ สิ่งที่นักเขียนควรมีคือซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ต่อตัวละครที่สร้างขึ้นมา รู้จริงและจริงใจกับสิ่งที่ตัวเองเขียน ทำให้ดีเท่าที่จะดีได้แล้วก็วาง ทุกงานเขียนไม่อาจถูกใจใครได้ทุกคน

หนังสือเล่มบางเล่มนี้มีอะไรให้คิดต่อ แต่เล่นเอาแสบ ๆ คัน ๆ ได้เหมือนกัน

ขอบคุณค่ะ
ภูพเยีย
8 พฤศจิกายน 2560












ห ม า ย เ ห ตุ :
คุ ย กั บ เ พื่ อ น

Kawaka Nalanta พรสวรรค์ไม่ได้อยู่ที่งานศิลป์
แต่อยู่ในชีวิตต่างหาก

ภู ภูพเยีย คำของออสการ์ ไวลด์น่ะโอเค แต่ในบริบทของนวนิยายที่ผู้เขียนยกมา พี่คิดว่าคือการประชดประชันเสียมากกว่า

เรื่องของเรื่องคือ ชายคนหนึ่งอยากเป็นนักเขียน พยายามเสนอต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และอยากสนิทชิดเชื้อกับนักเขียน เขาเรียกนักเขียนว่า คุณนะเขียน อยากติดสอยห้อยตามคุณนะเขียนของเขาไปทุกหนทุกแห่ง ขอให้เขาช่วยอ่านต้นฉบับและขัดเกลา จนกระทั่งงานได้ตีพิมพ์ ดังพลุแตก แต่ตัวนักเขียนจริง ๆ นั้นกลับตกอับ พล็อตประมาณนี้ แต่บทสนทนาจะเป็นแบบละคร น่าสนใจดี มีอะไรให้ตั้งคำถามมากมายและประเมินค่างานเขียนในแบบวรรณกรรมน่ะค่ะ สำหรับพี่ก็อ่านยากนิดนึง ไม่เข้าใจไปทุกอย่างน่ะค่ะ

ตัวผู้เขียนเองอาจจะเจอวิกฤติในแวดวงวรรณกรรมประเทศเขา เพื่อจะบอกว่า งานอยู่แม้คนไม่อยู่แล้ว แต่ปัจจุบัน คนมาก่อน ผลงานยังไงไม่รู้...




Kawaka Nalanta ภู ภูพเยีย ผมว่าประเทศเราตอนนี้นักเขียนก็เจอวิกฤตไม่แพ้กันเลยครับพี่ 5555

ภู ภูพเยีย มันก็มีสองแบบแบบในหนังสือว่านะว่า คุณจะเป็นนักเขียนต่อเมื่อผลงานคุณประสบความสำเร็จ หรือตัดสินใจเป็นนักเขียนเพราะเลือกว่าจะเป็น

ถ้าเลือกจะเป็นก็ไม่ต้องโอดครวญอะไร สำนักพิมพ์ก็มีบรรณาธิการที่เลือกงานของนักเขียนอยู่แล้ว ปัจจัยในการเลือกงานก็ไม่ได้อยู่ที่เรา ถ้างานของเราไม่มีใครตีพิมพ์เลยเพราะเขาคิดว่าขายไม่ได้แน่ เราจะเขียนอยู่มั้ย อันนี้ตอบเองในใจ

ส่วนในนิยายเล่มนี้นะ พี่ว่านักเขียนที่ถูกพล็อตทำให้อับแสง เสื่อมความนิยมน่ะ ก็คงเล่นกับกระแสโซเชี่ยลล่ะหนึ่ง แต่ถ้างานของนักเขียนที่ตกกระแสมีเนื้องานดี ก็น่าจะดีใจนะในแง่ที่ว่า มันก็มีมาตรฐานของมันไง นักเขียนตายแต่งานอยู่

สำหรับบ้านเรา พี่ไม่แน่ใจค่ะ ทั้งในแง่ของนักเขียนอาชีพและสำนักพิมพ์ ...


Kawaka Nalanta ผมมองไปที่การพิมพ์เอง ขายเอง ถ้าผลงานดีจริง ยังไงก็ต้องขายได้ แถมช่องทางการขายเปิดกว้างกว่าสมัยก่อนด้วยซ้ำ ที่ต้องขายผ่านสายส่งและร้านขายหนังสือ เพียงแต่ผมคิดว่าธรรมชาติของนักเขียนไม่ค่อยอยากยุ่งกับเรื่องการจัดการที่วุ่นวายทางธุรกิจ ถ้ามีคนจัดการให้ก็จะดีมาก นักเขียนจะได้ทุ่มเทสมาธิกับการเขียนอย่างเดียวไปเลยครับ



หนอน เมืองกรุง เห็นด้วยกับคุณก๋านะ


Kawaka Nalanta หนอน เมืองกรุง ผมแอบฝันเล็กๆนะครับพี่หนอน ว่าน่าจะมีสำนักพิมพ์เล็กๆหลายๆที่มารวมตัวกัน แล้วทำแอพพลิเคชั่นขึ้นมา ให้นักเขียนส่งงาน แล้วแอพฯนี้ก็ดูแล ออกแบบ จัดรูปเล่ม ทำบรู๊ฟ ตรวจต้นฉบับ จากนั้นก็เปิดโหลดขายแบบ หรือ Print on demand ด้วยยิ่งดี รายได้ก็แบ่งกันกับนักเขียน หรือจะดีกว่านั้นหาฝ่ายการตลาดเก่งๆ ช่วยประชาสัมพันธ์หนังสือยิ่งดีเลยครับ





ภู ภูพเยีย หนอน เมืองกรุง ความคิดเห็นส่วนตัวนะคะพี่หนอน การพิมพ์เองขายเองน่ะ เกิดจากการที่สำนักพิมพ์ไม่ตีพิมพ์เพราะเหตุผลของสำนักพิมพ์ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งหรือคุณสมบัติเราไม่ผ่านสักอย่างไม่ว่าจะเนื้อหาของงานและตัวเรา มันขายไม่ได้หรือทำสำนักพิมพ์เขาขาดทุน เราก็เคารพเขาตรงนั้นแล้วกลับมาดูว่างานของเราพอมีประโยชน์บ้างไหม หรือพอขอใครช่วยอ่านและแก้ไขได้บ้าง ตรงนี้แหละสำคัญ ขอใครก็เกรงใจไปหมด เขียนเองก็มองไม่เห็นภาพรวมของมัน มีใครสักคนช่วยอ่านน่าจะดี ขัดเกลาให้เต็มที่ ดีเท่าที่มันจะดีได้และพิมพ์เองเผื่อมีใครสนใจอยากอ่าน
เคยมีเพื่อนแซวทีเล่นทีจริงว่า เราไม่ง้อสำนักพิมพ์ ซึ่งไม่ใช่เลย (ยืนยันล้านหน) งานเราไม่ผ่านต่างหากค่ะ

หนังสือที่ถูกตีพิมพ์หรือที่เราอยากพิมพ์ควรอยู่ได้ด้วยเนื้อหาและผู้อ่าน(รวมทั้งเพื่อน) อยากทำหนังสือให้สวย ให้ดี มีคุูุณค่าในตัวของมันพอ ให้ผู้อ่านเลือกซื้อเพราะชอบและอยากอ่าน




ภู ภูพเยีย Kawaka Nalanta พี่เห็นด้วยกับคุณก๋าในเรื่องการทุ่มเทไปกับการเขียนนะคะ แต่พอเกี่ยวพันกับธุรกิจการขายก็คงต้องมีคนเข่้ามาร่วมตัดสินใจอยู่ดี





Kawaka Nalanta ภู ภูพเยีย พอนักเขียนต้องมายุ่งกับเรื่องธุรกิจ ผมว่ามันดึงสมาธิไปเยอะเลยนะครับพี่ ไม่เหมือนกับการเขียนๆๆๆๆๆๆ มุ่งไปเรื่องเดียว ยังไงก็ดีกว่า ไม่ต้องไปเสียเวลากับการโปรโมท ออกแบบปก หรือต่อรองเปอร์เซ็นต์กับสายส่ง ---- หลัง ๆถ้าต้องทำหนังสือ ไม่สนุกเลยครับ ผมเองยังถูกบอกให้ปรับงานเขียนให้เบาลง ให้เขียนเรื่องที่เข้าใจง่าย ๆ ขายง่าย ซึ่งผมก็เลือกที่จะไม่เขียนนะครับ ยอมไม่มีงานหนังสือออกมาเลยดีกว่า เอาเวลานี้ไปนั่งเขียนในสิ่งที่เราอยากเขียน เขียนเก็บไว้ แบ่งปีนให้เพื่อนๆอ่านในเฟซ ในบล็อก ถ้าพลังเหลือก็ทำหนังสือแบบ Print on demand ทำขายบ้าง แจกบ้าง สบายใจด้วยครับ 5555




Kawaka Nalanta ผมนึกถึงประโยคนี้ครับ พยายามลองตีความว่ามันหมายถึงอะไร หลายปีก่อนร้านขายหนังสือชื่อดังแจ้งต่อบรรณาธิการว่า หนังสือธรรมะขายยาก พิมพ์แนวอื่นที่ขายง่ายออกมาดีกว่า ผมฟังแล้วก็อึ้งไปครับ ว่านักเขียนต้องรับใช้ร้านขายหนังสือ จากนั้นก็รับใช้สำนักพิมพ์ แล้วตัวตนและความซื่อสัตย์ต่องานเขียนของตนเองจะอยู่ที่ใด



Kawaka Nalanta และมาสรุปลงตรงความรู้สึกของตนเองว่า "จงเขียนในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน และจงเขียนในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ว่าจะมีใครอยากอ่านหรือไม่ก็ตาม"





Lovereason Non ทำให้อยากอ่านอีกแล้วค่ะhtmlentities(' >')<<br>


ภู ภูพเยีย ช่วยกันอ่าน ช่วยกันตีความนะ เราอาจจะอ่านไม่แตก เข้าใจผิดก็ได้ แต่ก็แบบที่เขียนนั่นแหละ อ่านแล้วคุยกันอีกนะคะ :)




Lovereason Non เดี๋ยวอ่านบ้างค่า ^^



ภู ภูพเยีย หนังสือเล่มนี้ นักเขียนคงให้ผู้อ่านช่วยคิดหาคุณค่าและความหมายของคำว่าวรรณกรรมว่าแท้จริงคืออะไรกันแน่ นักเขียนคือใคร อะไรทำนองนั้น แต่ตอนที่เขาสะบัดมีดโกนเกี่ยวกับการรับงานของนักเขียนหน้าใหม่มาอ่านนี่ เลือดซิบเลย เราไม่รู้หรอกว่า ในสำนักพิมพ์จะมีนักอ่านต้นฉบับก่อนถึงมือบรรณาธิการตัวจริง มีแพทเทิร์นในการตอบปฏิเสธนักเขียนที่งานไม่ผ่านอย่างไม่ให้บอบช้ำและให้กำลังใจเขียนหนังสือต่อไปด้วย หนังสือเล่มนี้บางมากแต่เขาเก่งนะที่ยิงมาหลายประเด็นเลย เขาเขียนถึงบ้านเมืองเขานะ บ้านเราอย่างไรไม่ทราบ แต่เราคิดว่าหนังสือต้องมีบรรณาธิการค่ะ มาตรฐานของสำนักพิมพ์ก็คือบรรณาธิการนี่แหละ เขาคือผู้คัดสรรงานไปพิมพ์ ^^
















Create Date :08 พฤศจิกายน 2560 Last Update :10 พฤศจิกายน 2560 11:44:24 น. Counter : 820 Pageviews. Comments :1