bloggang.com mainmenu search



























บันทึกลับ ของแอนน์ แฟร้งค์
(ฉบับสมบูรณ์เพิ่มเติม)*
แปลโดย สังวรณ์ ไกรฤกษ์

ฉันชอบ ‘บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์’ มาก เป็นบันทึกที่ดีมากเล่มหนึ่ง และที่แทบไม่น่าเชื่อคือเป็นบันทึกของสาวน้อยวัย 13 ปีเท่านั้น นั่นเป็นเพราะจากบันทึกความนึกคิดประจำวันใน‘ที่ซ่อนลับ’เป็นเวลากว่าสองปีนั้น น่าอ่าน น่าขบคิด หลายบทหลายตอนมีการวิเคราะห์เรื่องราวซับซ้อนได้ลึกซึ้งน่าฟัง เธอเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต ช่างวิเคราะห์วิจารณ์ กล้าหาญ มีเหตุผล เป็นผู้ใหญ่เกินตัวนั่นเพราะการอบรมเลี้ยงดูที่ได้รับการเปิดกว้างทางความคิดจากพ่อ พ่อผู้ซึ่งปลูกฝังให้ลูกใช้เหตุผล ให้เรียนรู้หลายภาษา ปูรากฐานที่ดีจากการสนับสนุนของครอบครัวและที่สำคัญคือความอัจฉริยะของเธอเองด้วย แม้ว่าอีกภาคหนึ่งของเธอคือการแสดงออกตรงไปตรงมา มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากจนคนทั่ว ๆ ไปอาจมองไม่เห็นความรู้สึกนึกคิดด้านในที่เป็นผู้ใหญ่เกินตัว หัวก้าวหน้าอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องสิทธิ เสรีภาพ

ฉันหลงรักความน่ารักของแอนน์ แฟรงค์ ชอบการมองโลกอย่างเป็นจริง กล้าพูดความรู้สึกจริง ๆ ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง แทบจะพูดได้ว่า เธอรู้จักความจริงของชีวิต ลดการเสียดทาน ความตึงเครียดจากภาวะรอบตัวในพื้นที่จำกัดได้อย่างดีเยี่ยมทั้งที่อายุยังน้อยมากท่ามภาวะสงครามทำลายล้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันเองเพียงเพราะความเกลียดชัง

ความเป็นอัจฉริยะภาพของแอนน์ แฟร้งค์ในการคิด การเขียนสืบเนื่องมาจากพ่อ หรืออ็อตโต้ แฟรงค์ที่เกริ่นไว้แต่แรก อ็อตโต้ แฟร้งค์เกิดในครอบครัวของชนชั้นสูง ได้รับการศึกษาดี ฉลาดเฉลียว เห็นได้จากการมีปฏิภาณไหวพริบของเขาเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจเยอรมันนี เขาคาดการณ์ได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่า คนยิวจะต้องเดือดร้อนเพราะความบ้าอำนาจของฮิตเลอร์ เขาจึงพาครอบครัวอพยพจากเยอรมันเพื่อไปตั้งรกรากอยู่ที่เนเธอร์แลนด์และเริ่มประกอบอาชีพ

คนยิวในเนเธอร์แลนด์มีความเป็นอยู่ค่อนข้างสุขสบาย ส่วนใหญ่ฐานะดีเพราะทำการค้า อยู่ในสังคมชั้นสูง ได้รับการศึกษาดี พ่อแม่ส่งเสริมโดยเฉพาะสนับสนุนให้อ่านหนังสือมากเป็นพิเศษ ด้วยความเชื่อมั่นว่าหนังสือคือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างคนให้มีคุณภาพได้

ในบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ จะกล่าวถึงหนังสือที่เธออ่านและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือ เธอเป็นนักอ่าน บางหน้าบันทึกเธอเขียนว่า ‘.. ค น ที่ ใ ช้ ชี วิ ต ธ ร ร ม ด า จะไม่รู้สึกดอกว่าหนังสือนั้นมีความหมายมากเพียงใด สำหรับเราผู้ถูกขังอยู่ที่นี่ การอ่าน การเขียนและวิทยุเท่านั้นที่เป็นสิ่งบันเทิงใจของพวกเรา’ เธอซึมซับการรักการอ่านหนังสือจากอ็อตโต้ พ่อของเธอ จนตั้งปณิธานว่าโตขึ้นจะเป็นนักเขียน
เธอเขียนบันทึกจริงจัง มีสาระ มีบทวิเคราะห์ทั้งเรื่องของคนถึงขั้นวิเคราะห์ด้านจิตวิทยา จากคำพูด ลักษณะท่าทาง นิสัยใจคอจนไปถึงเหตุการณ์ระหว่างสงครามที่ถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่งแม้ผู้คนจะไม่อยากอ่านเรื่องราวอันบอบช้ำของวันเวลาเหล่านั้นก็ตาม…

กล่าวกันว่า ‘ก ร ะ ด า ษ นั้ น อ ด ท น ก ว่ า ม นุ ษ ย์ ’ นี่คือที่มาของสมุดบันทึกที่เธอเริ่มเขียน ความตั้งใจแท้จริงแต่แรกนั้นเธอตั้งใจจะไว้อ่านคนเดียวเท่านั้น เธอตั้งชื่อให้ว่า ‘คิตตี้’ เป็นเสมือนเพื่อนแท้ที่เธอปรับทุกข์ได้เสมอทั้งเรื่องราวในชีวิตประจำวันใน‘ที่ซ่อนลับ’ซึ่งสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวกสบาย การอยู่ร่วมกันของสองครอบครัวและทันตแพทย์รวมเป็น 8 ชีวิต มีการจำกัดเวลาในการใช้ห้องน้ำให้เป็นเวลา การพูดคุยเบา ๆ จำกัดการใช้น้ำใช้ไฟในสภาพที่ไม่น่าพึงปรารถนาเป็นเวลานานกว่าสองปีก่อนที่จะถูกค้นพบ(และถูกนำไปยังค่ายกักกันหรือค่ายสังหารของเยอรมันทั้งในเยอรมันและประเทศต่าง ๆ ที่เยอรมันยึดครอง คะเนกันว่าชาวยิวมากกว่า 4 ล้านคนถูกฆ่าในค่ายต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิงและเด็ก ด้วยวิธีส่งเข้าเตาแก๊สมหึมาทีละนับร้อย ดังที่กล่าวไว้ในบทส่งท้าย)

ความกดดันที่เธอต้องเผชิญระหว่างนี้มีภาวะความขัดแย้งกับแม่และสมาชิกคนอื่น ๆ สะท้อนความคิดเห็น ความเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจนและมีภาพของแม่ในความนึกคิดที่เธอคาดหวังอย่างสูง ภาวะภายในตามธรรมชาติของเด็กสาว ไม่อยากเชื่อว่าวิธีคิดของเธอจะเป็นผู้ใหญ่ การถ่ายทอดเป็นภาษาเขียนได้น่าอ่าน สละสลวยมีการเรียบเรียงความคิดอ่านที่ดีและมีเสน่ห์มาก ๆเธอคงไม่คิดว่าบันทึกประจำวันและสภาพการณ์กลางสงครามนี้จะเป็นพยานหลักฐานจะถูกเผยแพร่ต่อชาวโลกภายหลังสงครามสิ้นสุดลงอย่างสาหัส แม้ว่าระหว่างการบันทึกเธอได้เขียนไว้ว่า ‘…หลังสงคราม ฉันจะพิมพ์หนังสือสักเรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่อง ‘ที่ซ่อนลับ’ จะใช้บันทึกของฉันเป็นพื้นฐาน ไม่รู้ว่าจะสำเร็จไหม’ แน่ล่ะ สงครามโลกครั้งที่ 2 คือมหายุคของความโหดเหี้ยมที่ฮิตเลอร์ได้กระทำไว้กับชนชาติยิว เกินกว่าที่เธอกล่าวไว้ด้วยซ้ำว่า ‘พวกเยอรมันนี่ช่างวิเศษแท้ ๆ มาคิด ๆ ดู ครั้งหนึ่ง ฉันเคยมีสัญชาติเยอรมัน แต่ฮิตเลอร์ริบสัญชาติเยอรมันของเราคืนไปนานแล้ว จริง ๆ นะ ชาติเยอรมันกับยิวนั้นเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’

‘...เราชาวยิวที่คล้ายกับถูกโซ่ตรวนจำกัดให้อยู่เฉพาะบริเวณที่ซ่อนลับเท่านั้น ไม่มีสิทธิเสรีใด ๆ แต่มีหน้าที่ร้อยแปดประการที่จะต้องก้มหน้ารับ เราคนยิวจะแสดงความรู้สึกใด ๆ ออกมาไม่ได้ เราจะต้องกล้าหาญและเข้มแข็ง จะต้องอยู่ในขอบเขตจำกัดของเราและไว้ใจพระเจ้า สักวันหนึ่งคงถึงเวลาที่เราจะได้เป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่เป็นเพียงคนยิวเท่านั้น

ใครหนอเป็นผู้กำหนดความทุกข์ทรมานเช่นนี้ให้แก่เรา ใครหนอที่ทำให้ชาวยิวต้องแตกต่างไปจากมนุษย์อื่น ใครหนอที่ให้เรามีทุกข์แสนสาหัสอยู่นานจนถึงบัดนี้ แต่แน่ละ จะต้องเป็นพระผู้เป็นเจ้าอีกนั่นแหละที่คุ้มครองเรา และยกเราขึ้นพ้นสภาพเช่นนี้ ในสายตาชาวโลก เราถูกสาป ถ้าเราสามารถทนต่อสภาพเลวร้ายนี้ได้จนสงครามยุติ เราก็จะได้รับยกย่องเป็นตัวอย่าง อาจเป็นได้ที่คนในโลกจะเรียนรู้ความดีจากศาสนาของเรา คงด้วยเหตุนี้กระมัง ตอนนี้เราจึงต้องอยู่ในความทุกข์แสนสาหัส เราไม่อาจกลายเป็นชาวเนเธอแลนด์ ชาวอังกฤษ หรือชาติใด ๆ ในโลกนี้ได้ เราต้องเป็นชาวยิวตลอดไปและเราก็ต้องการเป็นเช่นนั้น

จงกล้าหาญเถิด! ขอให้รู้จักตัวเอง รู้สภาพ รู้หน้าที่ของเราโดยไม่ต้องบ่น สักวันหนึ่งทางออกจะมีมาเอง พระผู้เป็นเจ้าไม่ทอดทิ้งดอก ตลอดทุกยุคทุกสมัยก็มีชาติยิว และทุกยุคทุกสมัยชาวยิวจะต้องชะตากรรม ได้รับทุกข์ทรมานอยู่เสมอ แต่ก็ทำให้แข็งแกร่ง คนอ่อนแอจะต้องล้มและพ่ายแพ้ ทว่า คนเข้มแข็งจะอยู่รอดและไม่ตกอยู่ใต้อำนาจพวกอ่อนแอ!...

เรามักจะถามตัวเองอย่างท้อแท้เสมอ ๆ ว่า ‘สงครามนั้นมีประโยชน์อะไร เหตุใดมนุษย์จึงอยู่ร่วมกันโดยสันติไม่ได้หรือ ทำไมมนุษย์ต้องก่อความหายนะทำลายล้างกันเช่นนี้’

น่าเสียดายที่ว่า หากเธอมีชีวิตยืนยาวถึงวันนี้ เราคงได้อ่านงานดี ๆ ของเธออีกมากมายสมดังที่เธอตั้งปณิธานไว้ว่าจะเป็นนักเขียน เธอฝากสิ่งดีมีคุณค่าต่อชาวโลกมาก เธอทำให้ฉันเชื่อว่าการอ่านและการเขียนของเธอเปี่ยมพลัง !

ขอบคุณค่ะ
ภูเพยีย


* ส่วนสำคัญในบันทึกเล่มนี้ที่หายไปจากฉบับพิมพ์ครั้งแรกคือ เรื่องราวที่เธอเขียนจากความรู้สึกภายใน ภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของเด็กสาว ความสนใจใคร่รู้สิ่งต้องห้าม ความรู้สึกทางเพศและความปรารถนาเร้นลับที่ไม่มีใครอธิบาย















Create Date :08 พฤษภาคม 2560 Last Update :8 พฤษภาคม 2560 8:23:07 น. Counter : 1215 Pageviews. Comments :3