bloggang.com mainmenu search






....ชีวิต...งาน....เกียรติยศ...

“ จินตนาการไม่ออกเลยว่า หากไม่มีนิยายกำลังภายในของกิมย้ง
โลกวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 คงจะจืดชืดไปถนัด
คุณจา (จาเหลียงยง) ได้พิสูจน์มุมมองทฤษฎีอย่างหนึ่งของวรรณกรรมบริสุทธิ์ .....
ว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่เขียนอะไร แต่อยู่ที่เขียนอย่างไร” อี่ว์ฮุ่ย ((宇慧))

กิมย้ง
"ผู้อาวุโส กิมย้ง ในวันนี้"

ข้อมูลส่วนตัว:

ชื่อ: จินยง (กิมย้ง)
ชื่อเดิม: จาเหลียงยง
ชื่อภาษาอังกฤษ: Louis Cha
วันเดือนปีเกิด: 6 มิถุนายน ค.ศ.1924 ( พ.ศ. 2467)
ปัจจุบัน (ปี 2007) อายุ 83 ปี
ศาสนา: พุทธ
บ้านเกิด: เขตไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียงแห่งภาคตะวันออกของจีน
ครอบครัว: เป็นบุตรคนที่สองของตระกูลที่มีฐานะ และมีการศึกษา


สิ่งที่ชอบที่สุด:

นักเขียน: จีนhtmlentities(' >') เสิ่นฉงเหวิน, ต่างประเทศhtmlentities(' >') อเล็กซานเดอร์ ดูมาส์
กวี: ซูตงปอ
บุคคลในประวัติศาสตร์: ฟ่านหลี่ และ จางเหลียง
อาหาร: ขนมหวาน
ดนตรีที่ชอบ: เพลงอุปรากรจีนหรืองิ้วผิงจี้ว์( (评剧))
ซึ่งเป็นงิ้วของชาวจีนในฮวาเป่ย ตงเป่ย อยู่บริเวณเหนือปักกิ่งขึ้นไป
ประเภทภาพยนตร์: ภาพยนตร์เพลงยุคเก่า ภาพยนตร์เพลง-เต้นรำ
ยุคสมัย: ราชวงศ์ถัง
เมืองที่อยากไปอยู่ที่สุด: หังโจว
สิ่งที่อยากทำ: เรียนต่อ, เป็นนักวิชาการ

แปดเทพฯ
“แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” จีนแผ่นดินใหญ่ได้คัดเลือกตอนที่ 41
ของแปดเทพอสูรมังกรฟ้าเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กนักเรียนชั้นมัธยม


การศึกษา:

เริ่มการศึกษาปี ค.ศ. 1929 ที่โรงเรียนเจียเซียง ไห่หนิง มณฑลเจ้อเจียง
- ปี ค.ศ.1944 เข้าเรียนในภาควิชาภาษาต่างประเทศ
ที่มหาวิทยาลัยการเมืองแห่งรัฐบาลกลาง( (中央政治大学))
- ปี ค.ศ. 1946 ได้ย้ายมาเรียนที่ภาควิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยตงอู๋
แห่งเซี่ยงไฮ้ เอกกฎหมายระหว่างประเทศ
- ปี ค.ศ. 2005 ได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์
- ปี ค.ศ. 2006 ศึกษาปริญญาเอก ในภาควิชาการศึกษาตะวันออก
เอกประวัติศาสตร์จีน ที่ เซนต์ จอห์น คอลเลจ มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์

บัตรกิมย้ง
กระแส "กิมย้งฟีเวอร์" ร้อนแรงในไต้หวัน ถึงขนาดสำนักพิมพ์ในไต้หวันและ
ธนาคารจงกั๋วซ่งหยิน ได้จับมือกันทำเครดิตการ์ดรุ่น "กิมย้ง"
โดยออกแบบพิมพ์ลายสือศิลป์ชื่อนิยายกิมย้งบนหน้าบัตร


อาชีพการงาน:

- ปี ค.ศ. 1947 เริ่มเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นผู้สื่อข่าวและนักแปล
ประจำหนังสือพิมพ์ต้ากงเป้า( (大公报)) ต่อมาได้ย้ายไปประจำที่ฮ่องกง
โดยนั่งตำแหน่ง Copy Editor

- ปี ค.ศ. 1955 เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ ซินหวั่นเป้า ((新晚报)) ที่นี่เอง
กิมย้งได้พบกับ เฉินเหวินถง ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน
เฉินได้สร้างแรงบันดาลใจแก่กิมย้งในการเขียนนิยาย

- ปี ค.ศ. 1955 เริ่มเขียนนิยายกำลังภายในเรื่องแรกเป็นตอนๆ ลงในซินหวั่นเป้า
คือ เรื่อง “จอมใจจอมยุทธ” ((书剑仇恩录) โดยใช้นามปากกาจินยงหรือกิมย้ง

- ปี ค.ศ. 1957 ลาออกจากงานหนังสือพิมพ์ มาเป็นผู้กำกับด้านฉาก และ
ผู้เขียนบท ที่ เกรทวอลล์ มูวี่ฟ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ และบริษัทโฟนิกซ์ ฟิลม์
ระหว่างนี้ ก็ยังเขียนนิยายกำลังภายในเป็นตอนๆ

- ปี ค. ศ. 1959 หวนกลับสู่วงการน้ำหมึก โดยจับมือกับ "เสิ่นเป่าซิน"
เพื่อนร่วมชั้นเรียนระดับมัธยม ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ "หมิงเป้า" ในฮ่องกง
โดยอยู่ในตำแหน่งบรรณาธิการใหญ่เป็นเวลาหลายปี เขียนบทบรรณาธิการ
และนิยายเป็นตอนๆ หมิงเป้าสร้างชื่อเป็นหนังสือพิมพ์ชั้นนำยอดนิยมแห่งฮ่องกง

- ปี ค.ศ.1972 เขียนนิยายกำลังภายในเรื่องสุดท้ายคือ "อุ้ยเซี่ยวป้อ ((鹿鼎纪))"
พร้อมประกาศวางปากกาอย่างเป็นทางการ
จากนั้น ได้ใช้เวลาหลายปีในการทบทวนและแก้ไขปรับปรุงงานเขียนของตน

ระหว่างนั้น นิยายกำลังภายในภายใต้นามปากกา "กิมย้ง"
ได้รับความนิยมอย่างมากมายมหาศาลจนกลายเป็น "กิมย้งฟีเวอร์"
ในหมู่คนที่พูดภาษาจีนในดินแดนต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็ได้รับการนำไปสร้าง
ภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ นำเสนอเป็นตอนๆ ตลอดจนละครวิทยุ และ
งิ้วในฮ่องกง ไต้หวัน และแผ่นดินใหญ่

- ช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 จาเหลียงยง/กิมย้ง ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรม
การเมืองในฮ่องกงเป็นหนึ่งในผู้ร่างกฎหมายแม่บทซึ่งเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ฮ่องกง (Basic Law)
ภายหลังเหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่จตุรัสเทียนเหมินในปี ค.ศ.1989 จาเหลียงยง/กิมย้ง ได้ลาออกจากสังเวียนการเมือง แต่ก็ยังเข้าร่วมเป็น
คณะกรรมาธิการเตรียมการที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1996
เพื่อดูแลการถ่ายโอนอำนาจปกครองฮ่องกงสู่รัฐบาลกลางแห่งปักกิ่ง

- ปี ค.ศ. 1993 จาเหลียงยง/กิมย้ง อำลางานหนังสือพิมพ์ ขายหุ้นในหมิงเป้า
โดยมีสินทรัพย์จากการขายหุ้นหมิงเป้า และค่าลิขสิทธิ์ หรือ ค่าโรยัลตี้
จากงานของเขารวมประมาณ 600 ล้านเหรียญฮ่องกง

มังกรหยก
" นิยายกิมยังยืนยงในโลกบันเทิงทั้งจอเงิน จอแก้ว
ในภาพ: คู่ขวัญยอดนิยมในภาพยนตร์มังกรหยกภาคแรก ก๋วยเจ๋งและอึ้งย้ง
ภาพบนสุดเวอร์ชั่นปี 1983 ของ TVB-ฮ่องกง สวมบทบาทโดยหวงเย่อหัว-องเหม่ยหลิง
ภาพกลางเวอร์ชั่นปี 1994 ของTVB-ฮ่องกง สวมบทโดยจางจื่อหลิน-จูอิน
ภาพล่างเวอร์ชั่นปี 2003 ของCCTV สวมบทโดยหลี่ย่าเผิง-โจวซิ่น "


เกียรติประวัติ:

จาเหลียงยง/กิมย้ง ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มากมายจากประเทศต่างๆ
ของโลก อาทิเช่นรางวัลเกียรติยศจากฝรั่งเศส ได้แก่
- Chevalier de la Legion d’Honneur (1992)
- Commandeur de l’Ordre des Arts et des Letteres (2004)

และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอังกฤษ OBE – Order of the British Empire
ตลอดจนได้รับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ ในเดือนมิถุนายน ปี 2005

จาเหลียงยง/กิมย้ง ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นอาจารย์กิตติมศักดิ์
จากกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้แก่ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง, มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง,
มหาวิทยาลัยหนันคาย, มหาวิทยาลัยชูโจว, มหาวิทยาลัยหัวเฉียว,
มหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว, มหาวิทยาลัยฮ่องกง,
มหาวิทยาลัยบริชติชโคลัมเบีย, มหาวิทยาลัยเสฉวน, มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์

นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของเซนต์ แอนโทนี่ คอลเลจ,
ออกซ์ฟอร์ด& โรบินสัน คอลเลจ, แคมบริดจ์ และ Wynflete Fellow
ของ แมกดาเลน คอลเลจ, ออกซ์ฟอร์ด


...นิยายกำลังภายใน 15 เรื่อง จากพู่กันเหล็ก…

กิมย้ง/จาเหลียงยง ได้รังสรรค์งานเขียนทั้งหมด 15 เรื่องด้วยกัน
โดยเป็นนิยายกำลังภายใน 14 เรื่อง มีเพียง “เยี่ยว์หนู่เจี้ยน” ((越女剑))
เรื่องเดียวที่เป็นเรื่องสั้น
นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนประเภทอื่นๆได้แก่ บทบรรณาธิการ,
บทวิพากษ์วิจารณ์สังคม, ปกิณกะ, เรื่องแปล และบทภาพยนตร์

สำหรับนิยายกำลังภายใน ที่สร้างชื่อให้แก่กิมย้ง
(เรียงลำดับตามการเขียนและการเผยแพร่) ได้แก่

1. ซูเจี้ยนเอินโฉวลู่ (书剑恩仇录) ตีพิมพ์ครั้งแรกในเดอะ นิวส์ อีฟนิ่ง โพสต์ ปี 1955
ฉบับพากษ์ไทยโดย น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “จอมใจจอมยุทธ”
ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับภาพยนตร์โทรทัศน์
จอมในจอมยุทธ
"ปก 'ซูเจี้ยนเอินโฉวลู่ หรือ จอมใจจอมยุทธ' ฉบับภาษาญี่ปุ่น
นิยายกำลังภายในเรื่องแรกของกิมย้ง"

2. ปี้เสี่ยว์ซัน (碧血剑) ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่ ปี 1956
ฉบับพากษ์ไทยของ จำลอง พิศนาคะ และ น.นพรัตน์ รวมทั้งบทภาพยนตร์
ซึ่งถอดเสียงจากชื่อเรื่องภาษาจีน(แต้จิ๋ว) “เพ็กฮวยเกี่ยม”

3. เส้อเตียวอิงสงจ้วน (射雕英雄传) ตีพิมพ์ครั้งแรกในฮ่องกง คอมเมอร์เชียล เดลี่
ปี 1957 ฉบับพากษ์ไทยโดยจำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง “มังกรหยก ภาค 1”
ส่วนฉบับพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อ “ก๊วยเจ๋ง ยอดวีรบุรุษ”

มังกรหยก
" มังกรหยก ภาค 1 และ 2 "

4. เสี่ยว์ซันเฟยหู (雪山飞狐) เริ่มตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หมิงเป้าในปี 1959
ฉบับพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “จิ้งจอกภูเขาหิมะ”
ส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ไทยก็ใช้ชื่อเดียวกันนี้

5. เสินเตียวเสียหลู่ (神雕侠侣) เริ่มตีพิมพ์ ในปี 1959 ฉบับพากษ์ไทยโดย
จำลอง พิศนาคะใช้ชื่อเรื่อง “มังกรหยก ภาค 2” ส่วนฉบับพากษ์ไทยของ
น.นพรัตน์ใช้ “เอี้ยก้วย เจ้าอินทรี” และ ว.ณ.เมืองลุงใช้ “อินทรีเจ้ายุทธจักร”

6. เฟยหูไหว่จ้วน (飞狐外传) เริ่มตีพิมพ์ในปี 1960 ฉบับพากษ์ไทยของน.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “จิ้งจอกอหังการ”

7. ไป๋หม่าเซี่ยวซีเฟิง (白马啸西风) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1961
ฉบับพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “เทพธิดาม้าขาว”

เทพธิดาฯ
" เทพธิดาม้าขาว (ไป๋หม่าเซี่ยวซีเฟิง) ฉบับภาษาไทยโดย น.นพรัตน์ "

8. ยวนยัง เตา (鸳鸯刀) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1961 ฉบับพากษ์ไทยโดย
น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “อวงเอียตอ” สำหรับ “อวงเอียตอ” ฉบับภาษาไทยนี้
รวมเล่มเดียวกับ “กระบี่นางพญา”

9. อี่เทียนถู่หลงจี้ (倚天屠龙记) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1961 ฉบับพากษ์ไทย
โดยจำลอง พิศนาคะ ใช้ชื่อเรื่อง “มังกรหยกภาคสามและสี่” สำหรับฉบับแปลโดย
น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “ดาบมังกรหยก"

10. เหลียนเฉิงเจี๋ยว์ (连城诀) ตีพิมพ์ครั้งแรกในเซาท์ อีสต์ เอเชียวีคลี่ ปี 1963
ฉบับแปลพากษ์ไทยของ น.นพรัตน์ ใช้ชื่อเรื่อง “หลั่งเลือดมังกร”
ต่อมาผู้แปลคนเดียวกันใช้ชื่อเรื่องใหม่ว่า “กระบี่ใจพิสุทธิ์”
ส่วนภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อ “มังกรสะท้านบู๊ลิ้ม”

11. เทียนหลงปาปู้ (天龙八部) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1963 ฉบับพากษ์ไทยโดย
น.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “แปดเทพอสูรมังกรฟ้า” ส่วนฉบับแปลโดยจำลอง พิศนาคะ
ชื่อเรื่อง “มังกรหยกภาคห้า” หรือ “มังกรหยกภาคสมบูรณ์”

12. เสียเค่อสิง (侠客行) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 ฉบับพากษ์ไทยโดยน.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “เทพบุตรทลายฟ้า”

เทพบุตรฯ
" เทพบุตรทลายฟ้า (เสียเค่อสิง ) แปลโดย น.นพรัตน์ "

13. เซี่ยวอาวเจียงหู (笑傲江湖) ตีพิมพ์ครั้งแรกในหมิงเป้าปี 1967
ฉบับพากษ์ไทยโดยน.นพรัตน์ใช้ชื่อเรื่อง “กระบี่เย้ยยุทธจักร”

14. ลู่ติ๋งจี้ (鹿鼎记) ตีพิมพ์ปี 1969-1972 ฉบับพากษ์ไทยโดย น.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “อุ้ยเซี่ยวป้อ”

15. เยี่ยว์หนี่ว์เจี้ยน (越女剑)* ตีพิมพ์ 1970 ฉบับพากษ์ไทยโดย น.นพรัตน์
ใช้ชื่อเรื่อง “กระบี่นางพญา” สำหรับภาพยนตร์โทรทัศน์ใช้ชื่อเรื่องเดียวกันนี้
สำหรับ “กระบี่นางพญา” ฉบับภาษาไทยนี้ รวมเล่มเดียวกันกับ “อวงเอียตอ”
และ “เทพธิดาม้าขาว”

*ชื่อเรื่องแปลว่า จอมยุทธสาวแห่งแคว้นเยี่ยว์ (แคว้นเยี่ยว์แห่งยุคชุนชิว
จ้านกั่ว 770-221 ก่อนคริสต์ศักราช อยู่บริเวณที่เป็นมณฑลเจ้อเจียงปัจจุบัน
ในยุคนั้น เป็นดินแดนของคนที่พูดภาษาตระกูลไท)

กระบี่นางพญา
" ปกเยี่ยว์หนี่ว์เจี้ยน ฉบับภาษาญี่ปุ่น "

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1970 ถึงค.ศ. 1980 กิมย้งได้ปรับปรุงแก้ไข
งานประพันธ์ของตนทั้งหมด และได้ระบุกำกับเป็น “ฉบับปรับปรุงใหม่” และระหว่าง
ปี ค.ศ.1999 - ค.ศ.2006 ยังได้ปรับปรุงแก้ไขนิยายเหล่านี้ เป็นครั้งที่ 2
(อาจเป็นครั้งสุดท้าย) และเสร็จเรียบร้อยในต้นปี ค.ศ. 2006

*สำหรับเรื่อง ลูติ่งจี้ หรืออุ้ยเสียวป้อ หากใครที่อ่านภาษาจีน อยากหาซื้อ
ฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด สังเกตคำว่า 世纪新修版 (ฉบับปรับปรุงใหม่แห่งศตวรรษ )
หรือ 新修版 หรือ 新新修版 ไม่ใช่ 新版 ฉบับแก้ไขปรับปรุงล่าสุดนี้ กิมย้งได้ตอบ
กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์ ในงานชิ้นนี้ของเขาไว้ด้วย


...มีอะไรในดงอักษรของกิมย้ง …

สำหรับสารัตถะของนิยายของกิมย้ง มักมุ่งไปที่ลัทธิชาตินิยมจีน
นิยายหลายเรื่องของเขาให้ความสำคัญอย่างมากแก่อัตลักษณ์ของชาวฮั่น(จีน)
งานหลายชิ้น เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ในช่วงที่ฮั่นถูกคุกคามหรือยึดครอง
โดยชนชาติจากดินแดนเหนือ อาทิ คีตัน, หนี่ว์เจิน, มองโกล หรือแมนจู

อย่างไรก็ตาม กิมย้งก็ค่อยๆ ผนวกลัทธิชาตินิยมจีนเข้ากับแนวคิด
ของนักลัทธิผสมผสาน (inclusionist) ซึ่งได้รวมฮั่นเข้ากับชนส่วนน้อย
กิมย้งยังได้แสดงความชื่นชมต่อความโดดเด่นทางบุคลิกของชนเผ่าอื่นอย่าง
มองโกล และ แมนจู อาทิ ใน "มังกรหยกภาค 1" กิมย้งได้กำหนดเจงกิสข่านและ
บุตรชาย เป็นผู้ทรงความสามารถ เป็นผู้นำทหารที่ปราดเปรื่อง ต่อสู้กับคอรัปชั่น
และข้ารัฐการที่ไร้น้ำยาของฮั่นในยุคราชวงศ์ซ่ง ใน "อุ้ยเซี่ยวป้อ" เขายังฉาย
ภาพลักษณ์ของจักรพรรดิคังซีแห่งแมนจู เป็นผู้ปกครองที่ทรงพระเมตตา
และปรีชาสามารถ

นอกจากนี้ นิยายของกิมย้งยังมักได้รับสมญาว่าเป็นเอ็นไซโครพีเดีย
เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี จารีตขนบธรรมเนียมของชนชาติจีน ไม่ว่าจะเป็น
วัฒนธรรมด้านยาแผนจีน การฝังเข็ม ศิลปะการต่อสู้ ดนตรี ลายสือศิลป์ ชา
รวมทั้งเรื่องราวของสำนักคิดต่างๆ อย่าง ขงจื่อ พุทธ และเต๋า ตลอดจนประวัติ
ศาสตร์ราชวงศ์จีน บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ถูกผสมผสานเข้กับบุคคล
ที่จินตนาการขึ้น

งานประพันธ์ของกิมย้งยกย่องเชิดชูคุณค่าประเพณีจีนอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดของขงจื่อ ที่ชี้แนะความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่าง
ผู้ปกครองและประชาชน พ่อกับลูก ผู้อาวุโสและผู้น้อย อาจารย์กับศิษย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม บางครั้ง เขาก็ได้ตั้งคำถามกับคุณค่าเหล่านี้ในเงื่อนไขของสังคม
ยุคสมัยใหม่ ดังที่สะท้อนในมังกรหยกภาคสอง จากชีวิตที่ถูกขับออกจากสังคม
และความรักแสนโรแมนติกระหว่างหยังกั้ว (เอี้ยก้วย) และเสี่ยวหลงหนี่ว์
(เซียวเหล่งนึ้ง)
ซึ่งถือว่าขัดต่อจารีตสังคมที่ถูกครอบงำด้วยความคิดขงจื่ออย่างรุนแรง

กิมย้งยังได้ให้ความสำคัญอย่างมากแก่คุณค่าเก่าอาทิ หน้าตาและเกียรติยศ
แต่ที่สุด กิมย้งก็แหกกฎเกณฑ์ทั้งหมดในงานชิ้นสุดท้ายของเขา คือ
“อุ้ยเซี่ยวป้อ” โดยกำหนดให้บุคลิกต่อต้านวีรบุรุษแก่ตัวเอกหรือตัวชูโรง
อุ้ยเซี่ยวป้อ เป็นเด็กชายผู้ต่ำต้อยถ่อยสามานย์ที่เกิดในซ่องโสเภณี
โลภ ขี้เกียจ ฉ้อฉล กะล่อน ปลิ้นปล้อน เหล่านี้ล้วนเป็นรอยมลทินของประเพณี
อันดีงามของสังคม ซึ่ง " กิมย้ง " ได้ฝากไว้ในบทประพันธ์ เพื่อสอนใจคนรุ่นหลัง
สืบต่อไปตราบนานเท่านาน...


***ขอขอบคุณ (Thanh You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ

- ผู้จัดการออนไลน์ 22 มิถุนายน 2548
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9480000083231

- ผู้จัดการออนไลน์ 8 สิงหาคม 2549
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9490000101008


Create Date :03 กันยายน 2550 Last Update :3 กันยายน 2550 21:27:52 น. Counter : Pageviews. Comments :10