bloggang.com mainmenu search


จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

การประชันเริ่มตั้งแต่เพลงโหมโรงเพลงรับร้องเรื่อยไปจนถึงเดี่ยวระนาดเอกกันแบบ
เพลงต่อเพลง เริ่มด้วยเพลงพญาโศก เชิดนอกและเดี่ยวอื่นๆเรื่อยไปจนถึงเพลงกราวใน
ผลปรากฏว่าฝีมือก้ำกึ่งกันตลอดจนถึงเพลงเดี่ยวกราวในก็ยังไม่ปรากฏผลแพ้ชนะ
จึงต้องตัดสินกันที่เพลงเชิดต่อตัวซึ่งวัดความไหวทนเป็นสำคัญ

นายแช่มนั้นตีระนาดไหวแบบเก่าและใช้ไม้ตีปื้นหนาพันไม้แข็งนักจึงกินแรง
ประกอบกับรักษาความเจิดจ้าชัดเจนของเสียงระนาดไม่ยอมตีระให้เสียงเสีย
ส่วนจางวางศรจับไม้ให้ไหวร่อนใช้การเคลื่อนไหวข้อมือช่วยผ่อนกำลังแขน
จึงไหวร่อนได้เร็วกว่าแม้เสียงจะไม่จ้าเท่าตีด้วยกำลังแขนแต่ก็ไหวทนกว่า

ผลการต่อตัวเชิดครั้งนั้นปรากฏว่าในที่สุดพระเสนาะดุริยางค์เกิดอาการมือตาย
คือรับทัน แต่เมื่อตีด้วยความเร็วเท่าที่รับมาไปพักหนึ่งแล้วไม่สามารถรักษาความไหว
เร็วในระดับนี้ต่อไปได้ต้องหยุดตีหรือเกิดอาการกล้ามเนื้อเกร็งจนมือตาย
เคลื่อนไหวต่อไปไม่ได้ สรุปผลการประชันว่า นายศรชนะไหว นายแช่มชนะจ้า

พ.ศ. 2444
ทรงพระกรุณาให้อุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร 1 พรรษา
มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นอุปัชฌาย์
ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาจัดการแต่งงานให้กับ นางสาวโชติ หุราพันธ์
ธิดาพันโทพระประมวญประมาญพล

พ.ศ. 2451
ได้มีโอกาสตามเสด็จไปชวาได้นำเพลงชวาหลายเพลงมาเรียบเรียงแต่งขึ้นเป็นเพลงไทย
พร้อมกับได้นำอังกะลุง เข้ามาเล่นเพลงไทยโดยนำมาฝึกมหาดเล็กในวังบูรพาภิรมย์
จนสามารถนำออกแสดงครั้งแรกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดราชาธิวาส
จนการเล่นอังกะลุงกันอย่างแพร่หลายมาตราบเท่าทุกวันนี้

พ.ศ. 2454
สมเด็จวังบูรพานั้นท่านทรงเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ
เจ้าฟ้าฯกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เจ้าของวังลดาวัลย์ขณะนั้นเสด็จไปเป็นอุปราชมณฑลปักษ์ใต้
พอดีจางวางศรป่วย สมเด็จวังบูรพาเห็นว่าถ้าออกไปให้ย้ายสถานแลกินอากาศทะเลเสียได้
ดูเหมือนจะเป็นการดีเพราะหมอเดิมที่รักษาฟื้นขึ้นในครั้งแรกนั้นก็อยู่ในที่นั้นด้วยแล้วŽ

พ.ศ. 2459
สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงลพบุรีราเมศร์ได้โปรดให้จางวางศรปรับปรุงดนตรีไทยรับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จเลียบมณฑลนครศรีธรรมราช
จางวางศรได้นำเพลงเขมรเขาเขียว 2 ชั้น มาประดิษฐ์เป็น 3 ชั้น
ให้ชื่อว่าเขมรเลียบพระนคร เพลงนี้มีสำเนียงหวานไพเราะมาก

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงฟังแล้วพอพระราชหฤทัยทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าพระราชทานเหรียญราชรุจิทอง รัชกาลที่ 5 และราชรุจิทองรัชกาลที่ 6



จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศแปลก พิบูลสงคราม

พ.ศ. 2467
ได้ประดิษฐ์เพลงรับและร้องเพลงโอ้ต่าง ๆ เพื่อบรรเลงในการเล่นพิธีเปิดประตูน้ำท่าหลวง จังหวัดสระบุรี

พ.ศ. 2468
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้เข้าไปบรรเลงปี่พาทย์
ร่วมกับการแสดงโขนบรรดาศักดิ์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐ์ไพเราะ

พ.ศ. 2469
เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง สังกัดสำนักพระราชวัง
ได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีให้กับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมทั้งมีส่วนช่วยงาน
พระราชนิพนธ์เพลงสามเพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรละออองค์เถา
และ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง สามชั้น

13 มิถุนายน พ.ศ. 2471
จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์
กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ทรงเป็นต้นราชสกุลภาณุพันธุ์

พ.ศ. 2472
หลวงประดิษฐ์ไพเราะได้ดำรงตำแหน่งปลัดกรมปี่พาทย์และโขนหลวง
เมื่อกรมนี้โอนมาอยู่กรมศิลปากร ท่านรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกดุริยางค์ไทย
ได้ช่วยราชการด้านนี้เจริญขึ้นเป็นอันมาก เช่นการบันทึกเพลงไทยลงเป็นโน้ตสากล
ที่วังวรดิศ ซึ่งเริ่มขึ้นโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
พันตรี หลวงพิบูลสงครามได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร ในเปลี่ยนแปลงการปกครอง
รากฐานทางความรู้ของสังคมไทยแต่โบราณ บ้าน วัด และวังถูกทำลายลง

16 ธันวาคม พ.ศ. 2481
พันเอก หลวงพิบูลสงครามเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

24 มิถุนายน พ.ศ. 2482
รัฐบาลเริ่มประกาศ รัฐนิยมฉบับที่ 1 เรื่องเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ และประกาศต่อมารวม 12 ฉบับ

พ.ศ. 2484
หลวงประดิษฐ์ไพเราะเกษียณอายุทางราชการแต่ยังช่วยราชการทุกครั้งที่มีการขอร้อง

วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497
เวลา 19.45 น. ท่านได้ถึงแก่กรรม ณ บ้านศิลปบรรเลง ถนนบริพัตร เขตพระนคร
Create Date :10 กุมภาพันธ์ 2555 Last Update :15 กุมภาพันธ์ 2555 9:17:59 น. Counter : Pageviews. Comments :2