bloggang.com mainmenu search


ความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องชีวิตคือบทเริ่มต้นของการ “สำรวจศรัทธา“
บันทึกการเดินทางของนักเขียน-ดนตรีหนุ่ม ผู้ไม่ยอมมอบศรัทธา
กับสิ่งใดอย่างง่ายๆโดยไม่ได้ท้าทายหรือสำรวจจนพอใจเสียก่อน
เวลาออกอากาศ : ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.20 - 21.15 น ทาง TPBS


สารคดีชุดนี้เป็นการเดินทางตามรอยเท้าของพระถั๋งซัมจั๋ง (ภาษาไทย)
หรือ เสวียนจั้ง ตามสำเนียงจีนกลาง (มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1145- 1207)
พระภิกษุที่ออกบวชมาแต่อายุยังน้อย และได้ศึกษาธรรมที่วัดหลายแห่ง
พบว่าแต่ละวัดล้วนมีคำสอนที่แตกต่างกัน จากการถ่ายทอดต่อๆ กันมา

ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจพุทธศาสนาได้อย่างถ่องแท้และลึกซึ้ง
จำเป็นต้องเดินทางไปยังต้นธารแห่งพุทธศาสนาและอัญเชิญพระไตรปิฏก
อันเป็นคำสอนที่เชื่อว่า ถูกเขียนขึ้นหลังพรพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานกลับมา
เพื่อให้การศึกษาพุทธศาสนาในประเทศจีนนั้นถูกต้องสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง

ท่านได้ออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 1170 ในปีเจินกว้านที่ 1
โดยลักลอบเดินทางออกนอกประเทศเพียงคนเดียวในตอนกลางคืน
เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงสงครามเปลี่ยนผ่านจากราชวงศ์สุยเป็นราชวงศ์ถัง
จึงมีกฎห้ามประชาชนเดินทางออกนอกพรมแดน

จากเมืองหลวงฉางอัน อาศัยเส้นทางสายไหม ผ่านภูเขาสูงชัน
ไปยังดินแดนทะเลทรายอันไร้ขอบเขตผ่านมณฑลซินเกียง
ประเทศคาซัคสถาน จากนี้เส้นทางหลักจะมุ่งไปยังอาหรับ
แต่มีทางแยกไปยังอัฟกานิสถาน และวกเข้าอินเดียในที่สุด

การเดินทางที่ต้องผ่านดินแดนต่างๆ อันยากลำบากนี้กินเวลากว่า 17 ปี
ระยะทางกว่า 25000 กิโลเมตร ซึ่งพระถังซัมจั๋งไม่ใช่พระภิกษุคนแรกที่คิดเดินทาง
ไปอัญเชิญพระไตรปิฏก แต่ท่านเป็นพระภิกษุท่านแรกที่สามารถทำได้สำเร็จ
และจุดหมายคือมหาวิทยาลัยนาลันทาอันเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา





เมื่อไปถึงได้ใช้เวลาที่จะเรียนภาษาอินเดียและภาษาบาลีให้เข้าใจ
เพื่อที่จะสามารถแปลและคัดลอกพระไตรปิฏกและพระสูตรเป็นภาษาจีน
โดยได้แปลคัมภีร์ทั้งหมด 75 เรื่อง จำนวน 1335 ม้วน
และมีความเชี่ยวชาญในพุทธศาสนาจนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดี

พ.ศ. 1188 หลังจากอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 19 ปี ท่านก็ได้ออกเดินทางกลับทางทะเล
ทั้งที่ในขาไปเป็นการหลบหนีออกจากเมือง แต่ในขากลับท่านได้รับการต้อนรับ
อย่างยิ่งใหญ่จากพระเจ้าถังไท่จง ผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
โดยได้สร้างวิหารสูงแปดชั้นเพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎกเพื่อเผยแพร่ต่อไป

พ.ศ. 1189 มีรับสั่งให้เขียนบันทึกการเดินทางที่ผ่านไปเพื่อเป็นหลักฐาน
ถึงภูมิประเทศ ความเป็นอยู่ ธรรมเนียมการปกครองของดินแดนต่างๆ
เรียกว่า จดหมายเหตุ การเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง
พ.ศ. 1207 พระถั๋งซัมจั๋งได้มรณภาพ โดยทิ้งงานเขียนที่สำคัญไว้เบื้องหลัง

ในโลกปัจจุบันงานเขียนชิ้นนี้ให้ภาพของความเจริญรุ่งเรืองของพุทธศาสนา
บนเส้นทางสายไหม เป็นบันทึกที่นักโบราณคดีใช้ศึกษาเพื่อหาเมืองต่างๆ
ใน 110 แว่นแคว้นที่ท่านได้เดินทางผ่าน และอีก 28 แคว้นจากคำบอกเล่า
ของเอเชียกลางและเอเชียใต้ที่เคยรุ่งเรืองบนทางการค้าเมื่อหนึ่งพันปีก่อน

และเป็นบันทึกที่ทำให้เราได้เห็นภาพของความยิ่งใหญ่ของหมาวิทยาลัยนาลันทา

บันทึกการเดินทางนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้อู๋เฉิงเอิน นักประพันธ์ชาวจีน
แต่งเป็นวรรณกรรมสำคัญในเรื่อง ไซอิ๋วในปี ค.ศ. 1590 ช่วงราชวงศ์หมิง
โดยเปลี่ยนเนื้อหาว่าพระถังซัมจั๋ง) เป็นผู้มีบุญมาเกิด โดยลอยมาตามน้ำ
พระภิกษุรูปหนึ่งเก็บได้ และเลี้ยงให้เติบใหญ่ โดยเป็นผู้ที่ใฝ่ในพระธรรม

จนกระทั่งได้รับการอุปถัมภ์จากถังไท่จงฮ่องเต้ นับถือเป็นน้องชายบุญธรรม
และมอบหมายให้เป็นผู้ไปอัญเชิญพระไตรปิฏก ณ ชมพูทวีป อันห่างไกล
ตลอดระยะเวลาการเดินทาง พระถังซัมจั๋ง ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ
ถูกปิศาจจับตัวบ่อยครั้ง เพราะเชื่อว่าเนื้อพระถังซัมจั๋งกินแล้วอายุยืนหมื่นปี





บันทึกการเดินทางฉบับนี้ถ่ายทำเป็นสารคดีในช่อง TPBS จำนวน 9 ตอน
ออกฉายในช่วงกลางปี พ.ศ. 2557 สามารถชมย้อนหลังได้ทาง youtube
แบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกดำเนินรายการโดย คุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์
เพื่อตามหาแรงบันดาลใจของการเดินทางในประเทศจีน

โดยย้อนกลับไปในช่วงพุทธสตวรรษที่ 10 ที่พุทธศาสนาเบ่งบานในจีน
ตามการเดินทางของพ่อค้าจากเส้นทางสายไหม จากอินเดียมายังจีน
แต่ปัญหาก็คือประเทศจีนที่อยู่ลึกเข้าไป คำสอนจึงขาดหายไม่สมบูรณ์
การตามรอยย้อนออกมายังเทือกเขาคุนลุ้นและทะเลทรายในเอเชียกลาง

ช่วงครึ่งหลังดำเนินรายการโดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุลตามรอยจาก
จุดกำเนิดของพุทธศาสนาในเนปาลย้อนไปยังประเทศอินเดีย
ก่อนที่จะพาเราตามรอยขึ้นไปยังอัฟกานิสถานและคาซัคสถาน
เพื่อตามหาว่า สังคมอินเดียเกิดอะไรในช่วงเวลานั้นจึงได้เกิดพุทธศาสนา

การแตกแยกของนิกายเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานลง
การรุ่งเรืองอย่างถึงขีดสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 4 โดยพระเจ้าอโศก
การผสมผสานกับโรมันที่ให้กำเนิดพระพุทธรูปอย่างแคว้นคันธาระ
ความยิ่งใหญ่มหาวิทยาลัยนาลันทาก่อนถึงจุดจบของพุทธศาสนาในอินเดีย

อะไรคือต้นเหตุของการออกค้นหาสัจธรรมของเจ้าชายสิทธัตถะ
อะไรที่ทำให้พุทธนิกายมหายานที่ยังสืบทอดอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย
อะไรที่ทำให้ศาสนาอิสลามเข้ามารุ่งเรืองในเส้นทางสายไหม
อะไรที่ทำให้พุทธนิกายหินยานถึงแก่กาลวิบัติสูญหายไปจากชมพูทวีป

พบคำตอบได้ใน พื้นที่ชีวิต : ตามรอยพระถังซัมจั๋ง
Create Date :16 มกราคม 2558 Last Update :20 มกราคม 2558 14:38:46 น. Counter : 2140 Pageviews. Comments :4